สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 015
สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ ๑๕
วันจันทร์ที่ ๑ กรกฏาคม ๒๕๔๕
ท่านอาจารย์ ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เราได้ฟังกันมา สอง สาม ครั้งแล้ว แต่ก็คงจะต้องฟังกันต่อไปอีกมากจนกว่าจะเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพราะเหตุว่าธรรมก็คือสิ่งที่มีจริง แล้วก็ตลอดชีวิตของเรานี้จะไม่ขาดธรรมเลย เพราะเหตุว่าที่เราเคยเข้าใจว่าเป็นเรา แท้ที่จริงก็เป็นธรรมทั้งหมด เช่น เห็น ขณะนี้มีจริงเป็นธรรม ซึ่งในคราวก่อนก็ทราบแล้วว่าธรรมมี ๒ อย่าง คือ สภาพธรรมที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยอย่างหนึ่ง แล้วก็อีกอย่างหนึ่งก็เป็นสภาพรู้ ถ้าไม่มีสภาพรู้ซึ่งเป็นนามธรรม อะไรอะไรก็ไม่ปรากฏเลย เพราะฉะนั้นในขณะนี้ที่สิ่งหนึ่งสิ่งใดกำลังปรากฏ เราหลงลืมว่าแท้ที่จริงแล้วก็ต้องมีสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเกิดขึ้น และ สามารถจะรู้สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ถ้าพูดอย่างนี้ก็รู้สึกว่าจะยาก แต่ถ้าบอกว่าทุกคนมีจิต เริ่มที่จะเข้าใจความต่างของจิตกับรูปร่างกาย เพราะเหตุว่ารูปร่างกายไม่ สามารถที่จะรู้อะไรได้เลย แต่จิตเป็นสภาพรู้ สามารถที่จะรู้ สามารถที่จะจำได้ เพราะฉะนั้นก่อนอื่นก็ต้องทราบว่า ธรรมที่มีจริงๆ ก็ต่างกันเป็น ๒ อย่าง คือ นามธรรมกับรูปธรรม ไม่ว่าที่ไหนทั้งสิ้น จะอยู่ในโลกนี้ทั้งหมด หรือนอกโลกหรือในจักรวาล ก็จะไม่พ้นจากธรรม ซึ่งต้องเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดใน ๒ อย่าง คือเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม
จิต สำคัญที่สุด จะสุข จะทุกข์ก็คือจิต ไม่ว่าเรื่องราวใดๆ ที่เกิดขึ้นปรากฏในชีวิตก็เพราะมีจิตรู้เรื่องนั้น ชื่อของจิต ได้แก่ คำว่า วิญญาณ หทย หรือ หทัย คำว่าวิญญาณ ก็เป็นอีกคำหนึ่งของจิต ใช้แทนกันได้ตลอดแล้วแต่ว่าจะกล่าวถึงที่ไหน และใช้คำไหน เช่นเวลาที่กล่าวถึงขันธ์ ก็ใช้คำว่ารูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ คำว่าวิญญาณก็คือจิตนั่นเอง วิญญาณไม่มีใครสามารถที่จะเห็นได้เพราะเหตุว่าไม่ใช่สิ่งที่มีรูปร่างใดๆ เจือปนทั้งสิ้น เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อเกิดก็ต้องเป็นสภาพที่รู้สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่กำลังปรากฏ เมื่อคนเกิดก็คือจิตเกิด หรือจะใช้คำว่าวิญญาณเกิดก็ได้ และเวลาที่จิตขณะสุดท้ายดับ ทำให้พ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ ก็ใช้คำว่าจิตดับ หรือว่าจุติจิต หรือเรียกว่าวิญญาณดับก็ได้ เพราะฉะนั้นไม่ใช่หมายความว่าวิญญาณเป็นสภาพธรรมต่างหากจากจิต ถ้าใครจะหาวิญญาณ ก็หาที่สภาพธรรมที่มีจริงเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่ไปหาที่อื่น พอจะหาวิญญาณพบไหม ขณะนี้กำลังเห็นนี้เป็นจิต หรือจะใช้คำว่าวิญญาณก็ได้หรือจักขุวิญญาณ เป็นจิตที่ต้องอาศัยจักขุประสาท ถ้าเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ อีกคำหนึ่งที่ได้กล่าวถึงแล้วในคราวก่อนก็คือคำว่าหทย ซึ่งหมายความถึงจิตนั่นเอง แต่ว่าเป็นสภาพที่อยู่ภายใน ขณะนี้จิตอยู่ที่ไหน ไม่ได้อยู่ข้างนอกเลย แต่อยู่ภายใน ในที่สุด เพราะเหตุว่า มีเจตสิกประเภทนั้นเกิดประกอบกับจิตนั้นแล้วก็ดับไป แล้วก็มีจิตเสมอไม่เคยขาดเลย แล้วก็มีเจตสิกอื่นเกิดขึ้นประกอบ เพราะฉะนั้นส่วนที่ในที่สุดของทุกคนก็คือจิต ทุกคนก็ยึดถือจิตหรือวิญญาณว่าเป็นเราแล้วก็ยึดถือสภาพธรรมที่เกิดกับจิตว่าเป็นเราด้วย เช่น เวลาโกรธเกิดขึ้นกับจิต ก็ยึดถือว่าเราโกรธ
อ. สุภีร์ ชื่อของจิต วิญญาณกับหทยะหรือว่าหทัย ซึ่งสองคำนี้เราก็คงคุ้นเคยกันดี อีกชื่อหนึ่งของจิต ถ้าโดยภาษาบาลีเรียกว่าจิตตัง ที่ชื่อว่าจิตนี้เพราะเหตุว่าเป็นธรรมชาติที่วิจิตร คำว่าธรรมชาติที่วิจิตร ซึ่งเป็นชื่อของจิตนี้ เพราะเหตุว่าจิตไม่ใช่มีอย่างเดียว จิตมีหลายๆ จิตใช่ไหม จิตเห็นก็มี จิตได้ยินก็มี จิตได้กลิ่นก็มี จิตลิ้มรสก็มี จิตที่กระทบสัมผัสก็มี จิตคิดนึกเรื่องราวต่างๆ ก็มี จิตโกรธก็มี จิตโลภก็มี จิตชอบไม่ชอบก็มีมากมายเต็มไปหมดฉะนั้น จิตนี้จึงเชื่อว่าจิตหรือภาษาบาลีเรียกว่าจิตตัง เพราะว่าเป็นธรรมชาติที่วิจิตร วิจิตรหมายถึงว่ามีต่างๆ กันมากมาย
ท่าอาจารย์ ทุกอย่างที่นี่วิจิตรมากไหมถ้าจะมองดูแต่ละอย่าง บนโต๊ะนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ถ้าไม่มีจิตที่วิจิตรสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน ที่บ้านหรือว่าบนรถที่อาคารสถานที่ใดในตลาด หรือว่าที่ไหนก็ตามความวิจิตรมีตลอดเพราะว่าเห็นสิ่งที่วิจิตร แต่จริงๆ แล้วเรามองดูสิ่งภายนอกว่าวิจิตร แต่สิ่งต่างๆ เหล่านั้นวิจิตรเพราะจิต ถ้าจิตไม่วิจิตร สิ่งต่างๆ เหล่านั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้ อย่างเช่นเก้าอี้ตัวหนึ่ง ทุกคนที่เป็นช่างออกแบบก็จะออกแบบต่างๆ กัน ไม่เหมือนกัน ก็เพราะจิตวิจิตรทุกอย่างหมดเลย เพราะฉะนั้นตัวจิตจริงๆ นี้วิจิตรมากจนกระทั่งเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้รูปร่างกายของแต่ละคนวิจิตร ไปตามกรรมที่ได้กระทำแล้ว ซึ่งถ้าเป็นมนุษย์ เราจะเห็นว่าเราก็มีจิตใจซึ่งวิจิตรมาก แล้วก็เวลาที่เกิดขณะแรก จิตก็ต่างกันไป ขณะแรกที่จิตเกิด บางจิตหรือบางคนก็ประกอบด้วยปัญญา แต่ปฏิสนธิจิตหรือจิตขณะแรกที่เกิดของบางคนก็ไม่ประกอบด้วยปัญญาเลย นี่เพียงขณะแรกที่เกิด แต่เราเกิดมานานเท่าไร ตั้งแต่เด็ก ที่เรียนหนังสือมีความรู้ความสามารถต่างกันพอจบแล้ว ความวิจิตรของสาขาวิชาการต่างๆ ก็วิจิตรต่างกันไปอีก จนกระทั่งกรรมหรือความนึกคิดดีชั่วต่างๆ ของแต่ละคนก็ต่างกัน เพราะฉะนั้นจะให้ชาติต่อไปรูปร่างหน้าตาของแต่ละคนเหมือนกันได้ไหม ต้องวิจิตรตามกรรมคือความวิจิตรของจิต นี้ก็เป็นความหมายหนึ่งของคำว่า เพราะจิตวิจิตร ทุกสิ่งทุกอย่างก็วิจิตร แม้แต่แต่ละบุคคล ถ้าเป็นมนุษย์ก็ยังเห็นว่าวิจิตรอย่างนี้ ถ้าเป็นสัตว์นี้ยิ่งวิจิตรมาก สัตว์บางประเภทไม่มีขาเลย บางประเภทก็มีขามาก บางประเภทก็มีปีกบินได้ด้วย บางประเภทก็ต้องอยู่ในน้ำออกมาข้างนอกน้ำไม่ได้เลย นี้ก็เป็นเพราะความวิจิตรของจิต เพราะฉะนั้นถ้าเห็นโลกวิจิตร ให้ทราบว่าวิจิตรเพราะจิตด้วย
อ. กฤษณา จิตที่วิจิตร วิจิตรก็คือต่างๆ มากมายหลากหลาย เพราะฉะนั้นจิตที่วิจิตรก็เป็นจิตที่มีประเภทต่างๆ มากมายหลากหลาย และการที่จิตมีประเภทมากมายต่างๆ หลากหลาย ในเมื่อจิตเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ เพราะฉะนั้นอารมณ์ของจิตก็มีต่างๆ มากมายหลากหลาย จิตเห็นไม่สามารถที่จะได้ยินเสียง แต่จิตเห็นมีอารมณ์คือสีสันวรรณะต่างๆ สีสันวรรณะต่างๆ เป็นอารมณ์ของจิตเห็น เสียงเป็นอารมณ์ของจิตได้ยิน กลิ่นเป็นอารมณ์ของจิตที่รู้กลิ่น เป็นต้น เพราะฉะนั้นการที่จิตวิจิตร วิจิตรเพราะอารมณ์ ต่างๆ มากมายหลากหลายจึงทำให้จิตรู้อารมณ์ต่างๆ เหล่านั้น เพราะฉะนั้นจิตก็วิจิตรตามที่อารมณ์ของจิตซึ่งมีอยู่ต่างๆ มากมายหลากหลายด้วย และ
นอกจากนี้จิตก็ยังวิจิตรเพราะสิ่งที่เกิดร่วมด้วยกับจิตคือเจตสิก ที่เราได้ทราบกันไปในครั้งก่อนๆ แล้ว คือธรรมชาติที่เกิดพร้อมกับจิต ประกอบกับจิต ทำให้จิตแตกต่างกันไปเป็นหลายๆ ชนิดหลายๆ ประเภท เพราะว่าจิตบางประเภทเกิดขึ้นก็มีเจตสิกฝ่ายที่ไม่ดีงาม เป็นอกุศลก็ทำให้จิตนั้นเป็นอกุศลจิต ซึ่งก็ต่างกับจิตที่เป็นกุศลจิตซึ่งจะต้องเกิดพร้อมกับเจตสิกที่เป็นฝ่ายที่ดีงาม เพราะฉะนั้นการที่จิตจะแตกต่างกันไปมากมายหลายอย่างหลายประเภทก็เพราะว่า เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยนั้นก็เป็นมากมายหลายๆ อย่างด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นการที่จิตแตกต่างกันไปหลายๆ ประการหลายๆ ประเภทก็เพราะอารมณ์แตกต่างกัน และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็แตกต่างกันไปตามประเภทของจิตด้วย
ท่านอาจารย์ คุณสุภีร์จะกล่าวถึงชื่ออื่นของจิตไหม
อ. สุภีร์ ชื่อของ จิต คือ จิตตะ หทยะ และวิญญาณ ต่อไป คือ มโน หรือ มนัส แปลว่าใจ ชื่อว่ามโน เพราะว่ารู้อารมณ์ นามธรรมที่รู้อารมณ์มี ๒ อย่างก็ คือจิต และเจตสิก จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์ จิตจึงชื่อว่ามโน เพราะว่าเป็นธรรมชาติที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นประธาน ซึ่งมีพระสูตรที่เกี่ยวกับจิตที่ชื่อว่ามโน เพราะเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์ หรือเป็นธรรมชาติที่เป็นใหญ่เป็นประธาน
อ. กฤษณา พระสูตร จากพระสุตตันปิฏก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ยมกวรรค มีข้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเป็นภาษาบาลีว่า มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนมยา; มนสา เจ ปสนฺเนน ภาสติ วา กโรติ วา,ตโต นํ สุขมเนฺวติ ฉายา ว อนุปายินีติ ซึ่งมีความหมายว่า ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ ถ้าบุคคลมีใจผ่องใสแล้ว พูดอยู่ก็ดี ทำอยู่ก็ดี ความสุขย่อมไปตามเขา เพราะเหตุนั้นเหมือนเงาไปตามตัวฉะนั้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่แสดงถึงธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีเรื่องที่แสดงเกี่ยวกับพระพุทธพจน์นี้ เป็นเรื่องของมัฎฐกุณฑลี ประกอบกับในพระคาถานี้ คือ ในกรุงสาวัตถี มีพราหมณ์คนหนึ่ง เป็นผู้ที่ไม่เคยให้สิ่งของอะไรอะไรแก่ใครๆ เลย เพราะฉะนั้นคนทั้งหลายก็ตั้งชื่อให้เขาว่า อทินนปุพพกะ หมายความว่าผู้ไม่เคยให้อะไรแก่ใครเลย พราหมณ์คนนี้มีบุตรคนเดียวเป็นที่รักใคร่ พราหมณ์ก็อยากจะทำเครื่องประดับให้บุตร ก็คิดว่าถ้าจะทำเครื่องประดับคือตุ้มหูให้บุตร ถ้าจ้างช่างทองมาก็จะต้องให้ค่าบำเหน็จ จะต้องเสียเงิน เขาก็แผ่ทองคำ ทำให้เป็นตุ้มหูเกลี้ยงให้กับบุตรของตน บุตรของเขาก็ได้ชื่อว่ามัฏฐกุณฑลี ต่อมา บุตรของเขาอายุได้ ๑๖ ปี ก็เกิดเป็นโรคผอมเหลือง มารดาของบุตรนั้นดูแลแล้วก็กล่าวกับพราหมณ์สามีว่า ลูกป่วยขอให้หาหมอมารักษา พราหมณ์ก็บอกว่าถ้าเราจะหาหมอมา เราก็จะต้องให้ค่าจ้างรางวัลก็จะต้องสิ้นเปลืองทรัพย์ นางพราหมณีก็ถามว่าเมื่อเป็นอย่างนี้แล้วท่านจะทำอย่างไร พราหมณ์ก็ตอบว่าทรัพย์ของเราจะไม่ขาดไปได้อย่างใดเราจะทำอย่างนั้น พราห์มนั้นก็ไปที่สำนักของหมอแล้วไปถามหมอว่าพวกท่านวางยาขนานไหนกับคนที่เป็นโรคชนิดนั้น หมอก็บอกยาเกล็ดที่เข้าเปลือกไม้กับเขา เขาก็ไปหารากไม้แล้วก็ตัวยาอื่นๆ ด้วยที่หมอบอกมา แล้วก็ทำยาให้กับบุตร แต่โรคก็ยิ่งกำเริบหนักขึ้นก็ไม่มีใครที่จะเยียวยาได้ พราหมณ์ก็รู้ว่าบุตรทุพพลภาพลงมากแล้วก็ไปหาหมอมาคนหนึ่ง หมอนั้นก็มาตรวจดูแล้วก็พูดเลี่ยงๆ ว่าเขามีกิจอยู่อย่างหนึ่ง ขอให้ไปหาหมอคนอื่นมารักษาแล้วก็บอกลาไป พราหมณ์ก็รู้ว่าบุตรนี้จวนจะตายแล้ว ก็คิดว่าคนที่จะมาเยี่ยมบุตรนี้ ถ้ามาเยี่ยมแล้วก็จะเห็นทรัพย์สมบัติภายในเรือน ก็เลยเอาบุตรออกมาให้นอนที่ระเบียงเรือนข้างนอก พระผู้มีพระภาค ทรงเล็งเห็นอุปนิสัยของมัฏฐกุณฑลี ในเวลาที่จวนสว่างวันนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าก็เสด็จออกจากพระมหากรุณาสมาบัติ ทรงเล็งดูโลกด้วยพุทธจักษุเพื่อทอดพระเนตรเหล่าสัตว์ผู้เป็นเผ่าพันธุ์อันพระองค์พอจะแนะนำได้ มัฏฐกุณฑลีมานพก็ปรากฏในข่ายพระญาณ ก็ทรงเล็งเห็นประโยชน์ในการที่พระองค์จะเสด็จไปโปรดเขา เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จไปที่กรุงสาวัตถีเพื่อบิณฑบาต เสด็จถึงประตูเรือนของพราหมณ์ ในขณะที่มัฏฐกุณฑลีมานพกำลังนอนหันหน้าเข้าไปทางในเรือน พระศาสดาก็ทรงทราบว่าเขาไม่เห็นพระองค์ ก็ได้เปล่งพระรัศมีไปวาบหนึ่ง มานพก็คิดว่านี้เป็นแสงสว่างอะไร ก็นอนพลิกกลับมาก็เห็นพระศาสดา ก็คิดว่าเรานี้อาศัยบิดาเป็นอันธพาลก็เลยไม่ได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ไม่ได้ถวายทาน ไม่ได้ฟังธรรม เดี๋ยวนี้แม้แต่ที่จะยกมือสองข้างขึ้นถวายอัญชลีเฉพาะพระพักตร์ก็ยกไม่ไหว กิจที่ควรทำอย่างอื่นก็ทำไม่ได้ คิดอย่างนี้แล้วก็ทำใจเท่านั้นให้เลื่อมใส มัฏฐกุณฑลีมานพนั้น เพราะใจเลื่อมใสก็กระทำกาลคือตาย ไปเกิดในเทวโลกภพดาวดึงส์ในวิมานทองสูงประมาณ ๓๐ โยชน์
ฝ่ายพราหมณ์นั้นก็พอบุตรตายก็ทำฌาปนกิจบุตร ร้องไห้ไปที่ป่าช้าทุกวันทุกวันร้องไห้พลางก็บ่นพลางว่าลูกคนเดียวของพ่ออยู่ไหน ลูกคนเดียวของพ่ออยู่ไหน ฝ่ายลูกชายซึ่งไปเกิดเป็นเทพบุตรแล้ว ก็แลดูสมบัติในสวรรค์ของตนก็คิดว่าสมบัตินี้เราได้ด้วยกรรมอะไร เมื่อพิจารณาไปก็รู้ว่าได้ด้วยใจที่เลื่อมใสในพระศาสดา ก็คิดต่อไปว่าพราหมณ์ผู้นี้ ในเมื่อเราไม่สบายก็ไม่ได้ให้หมอมาประกอบยา แต่เดี๋ยวนี้ ไปป่าช้าร้องไห้อยู่ เราจะทำให้พราหมณ์คนนี้ประหลาดใจ จึงได้จำแลงแปลงตัวเหมือนกับมัฏฐกุณฑลีมานพ แล้วไปกอดแขนยืนร้องให้อยู่ในที่ไม่ไกลป่าช้า ฝ่ายพราหมณ์ก็เห็นเทพบุตรจำแลงนี้มาเป็นมัฏฐกุณฑลีมานพ เห็นแล้วก็คิดว่าเรานี้ร้องไห้เพราะเศร้าโศกถึงบุตรก่อน ก็มานพนั้นมาร้องไห้เพราะต้องการอะไร เราจะถามดู ก็ถามว่าท่านตกแต่งแล้วเหมือนมัฏฐกุณฑลี คร่ำครวญอยู่ในกลางป่าช้า ท่านเป็นทุกข์อะไรหรือ มานพก็ตอบว่าเรือนรถทำด้วยทองคำผุดผ่องเกิดขึ้นแล้วแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าหาคู่ล้อของมันยังไม่ได้ ข้าพเจ้าจักยอมเสียชีวิตเพราะความทุกข์นั้น พราหมณ์ก็พูดกับเขาว่าคู่ล้อของมันนั้นจะทำด้วยทองคำก็ตาม ทำด้วยแก้วก็ตาม ทำด้วยโลหะก็ตาม ทำด้วยเงินก็ตาม ท่านจงบอกข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้าจะรับประกันให้ท่านได้คู่ล้อของมัน
ฝ่ายเทพบุตรจำแลงที่เป็นมานพนั้นก็คิดว่า พราหมณ์ผู้นี้ไม่ได้ทำยาให้แก่บุตร ครั้นมาเห็นเรารูปร่างคล้ายบุตรร้องไห้อยู่ ยังพูดว่าเราจะทำล้อรถซึ่งทำด้วยทองคำให้ ช่างเถอะ เราจะแกล้งแกเล่นก่อน แล้วก็พูดว่าท่านจะทำคู่ล้อให้แก่ข้าพเจ้าโตเท่าไร คือใหญ่ประมาณเท่าไร พราหมณ์นั้นก็กล่าวว่า ท่านจะต้องการโตเท่าไร มานพก็บอกว่าข้าพเจ้าต้องการด้วยพระจันทร์ และพระอาทิตย์ทั้ง๒ ดวง ข้าพเจ้าขอท่านแล้วโปรดให้พระจันทร์พระอาทิตย์ทั้ง ๒ นั้นแก่ข้าพเจ้าเถิด มานพก็กล่าวซ้ำว่าพระจันทร์ และพระอาทิตย์นั้นส่องแสงเป็นคู่กันในวิถีโคจรทั้ง ๒ รถของข้าพเจ้าทำด้วยทองคำก็ย่อมจะงามสมกับคู่ล้อรถอันนั้น พราหมณ์ก็พูดกับเขาว่าท่านปรารถนาของที่ไม่ควรปรารถนา เป็นคนเขลาแท้ๆ ข้าพเจ้าเข้าใจว่าท่านจักตายไปเสียเปล่าๆ จักไม่ได้พระจันทร์ และพระอาทิตย์ทั้งสอง
มานพก็พูดกับพราหมณ์นั้นว่าก็บุคคลผู้ร้องไห้เพื่อต้องการสิ่งซึ่งปรากฏอยู่เป็นคนเขลา หรือว่าบุคคลผู้ร้องไห้เพื่อต้องการสิ่งซึ่งไม่ปรากฏอยู่เป็นคนเขลาเล่า แล้วก็กล่าวต่อไปว่า แม้ความไป และความมาของพระจันทร์ และพระอาทิตย์ก็ปรากฏอยู่ ธาตุคือวรรณะแห่งพระจันทร์ และพระอาทิตย์ก็ปรากฏอยู่ในวิถีโคจรทั้ง๒ ส่วน ชนที่ทำกาละ ละไปแล้วใครก็ไม่แลเห็น บรรดาเราทั้งสองผู้คร่ำครวญอยู่ในที่นี้ใครจะเป็นคนเขลากว่ากัน ฝ่ายพราหมณ์เมื่อได้ฟังคำนั้นแล้วก็คิดได้ว่ามานพนี้พูดถูก ก็กล่าวกับมานพว่าท่านพูดจริงทีเดียว บรรดาเรา ๒ คนนี้ผู้คร่ำครวญอยู่ในที่นี้ข้าพเจ้าเป็นคนเขลากว่า ข้าพเจ้าอยากได้บุตรที่ทำกาละแล้วคืนมา เป็นเหมือนทารกร้องไห้อยากได้พระจันทร์ พูดอย่างนี้แล้วเขาก็หายโศก เพราะว่าคิดได้ ก็หายโศกเพราะว่าถ้อยคำของมานพนั้น ฝ่ายพราหมณ์ก็อยากจะทราบว่ามานพคนนี้เป็นใครก็ซักถาม ว่าเป็นใคร ชื่ออะไร มานพก็ตอบกับพราหมณ์ว่าท่านเผาบุตรคนใดในป่าช้าเองแล้วย่อมคร่ำครวญ และร้องไห้ถึงบุคคลใด บุคคลนั้นคือข้าพเจ้า ทำกุศลธรรมแล้วถึงความเป็นเพื่อนของเหล่าเทพยดา พราหมณ์ก็กล่าวว่าท่านไปเทวโลกเพราะกรรมอะไร มานพก็บอกว่าเขาเกิดในเทวโลกเพราะจิตที่เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พราหมณ์ฟังคำของมานพแล้วก็เกิดปีติเบิกบานใจ มีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ เทพบุตรก็ให้โอวาทพราหมณ์อีกว่า ท่านจงเป็นผู้มีจิตเลื่อมใสแล้วถึงพระพุทธเจ้า ทั้งพระธรรม ทั้งพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะในวันนี้แล ท่านจงเป็นผู้มีจิตเลื่อมใสอย่างนั้นนั่นแล สมาทานสิกขาบท ๕ อย่าให้ขาด จงรีบเว้นจากปาณาติบาต จงเว้นของที่เจ้าของยังไม่ให้ในโลก จงอย่าดื่มน้ำเมา จงอย่าพูดปด และจงเป็นผู้เต็มใจด้วยภรรยาของตน พราหมณ์ก็รับว่าจะทำตามถ้อยคำของเทพบุตรแล้วก็ยกย่องให้เขาเป็นอาจารย์ เทพบุตรก็กล่าวกับพราหมณ์ว่า ทรัพย์ในเรือนของท่านมีมาก ท่านจงเข้าไปเฝ้าพระศาสดาแล้วถวายทาน จงฟังธรรม จงถามปัญหา เมื่อกล่าวอย่างนี้แล้วเทพบุตรนั้นก็อันตรธานไป
ฝ่ายพราหมณ์เมื่อมีโอกาสได้ไปกราบทูลถามปัญหาพระผู้มีพระภาค ก็ได้กราบทูลถามว่า พระโคดมผู้เจริญมีหรือขึ้นชื่อว่าชนเหล่าที่ไม่ได้ถวายทานแก่พระองค์ ไม่ได้บูชาพระองค์ ไม่ได้ฟังธรรม ไม่ได้รักษาอุโบสถเลย ได้ไปเกิดในสวรรค์ มีแต่เพียงใจเลื่อมใสอย่างเดียวเท่านั้น มีหรือ
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 001
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 002
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 003
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 004
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 005
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 006
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 007
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 008
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 009
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 010
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 011
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 012
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 013
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 014
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 015
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 016
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 017
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 018
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 019
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 020
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 021
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 022
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 023
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 024
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 025
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 026
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 027
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 028
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 029
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 030
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 031
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 032
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 033
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 034
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 035
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 036
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 037
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 038
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 039
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 040
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 041
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 042
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 043
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 044
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 045
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 046
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 047
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 048
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 049
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 050
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 051
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 052
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 053
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 054
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 055
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 056
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 057
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 058
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 059
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 060