สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 016
สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ ๑๖
วันจันทร์ที่ ๑ กรกฏาคม ๒๕๔๕
อ.กฤษณา เทพบุตรก็กล่าวกับพราหมณ์ว่า พราหมณ์ ทรัพย์ในเรือนของท่านมีมาก ท่านจงเข้าไปเฝ้าพระศาสดาแล้วถวายทาน จงฟังธรรม จงถามปัญหา เมื่อกล่าวอย่างนี้แล้วเทพบุตรนั้นก็อันตรธานไป ฝ่ายพราหมณ์เมื่อมีโอกาสได้ไปกราบทูลถามปัญหาพระผู้มีพระภาค ก็ได้กราบทูลถามว่า พระโคดมผู้เจริญ มีหรือขึ้นชื่อว่าชนเหล่าที่ไม่ได้ถวายทานแก่พระองค์ ไม่ได้บูชาพระองค์ ไม่ได้ฟังธรรม ไม่ได้รักษาอุโบสถเลย ได้ไปเกิดในสวรรค์ มีแต่เพียงใจเลื่อมใสอย่างเดียวเท่านั้น มีหรือ พระบรมศาสดาก็ได้ตรัสตอบว่า พราหมณ์เหตุใดท่านมาถามเรา ความที่ตนทำใจให้เลื่อมใสในเราแล้วเกิดในสวรรค์ มัฏฐกุณฑลีผู้บุตรของท่านบอกแก่ท่านแล้วมิใช่หรือ พราหมณ์ก็กราบทูลถามต่อไปว่า เมื่อไหร่ พระศาสดาก็ตรัสตอบว่า วันนี้ท่านไปป่าช้าคร่ำครวญอยู่ เห็นมานพคนหนึ่งกอดแขนคร่ำครวญอยู่ในที่ไม่ไกล แล้วพระองค์ก็ตรัสเรื่องของมัฏฐกุณฑลีทั้งหมด
ในที่สุดพระผู้มีพระภาคก็ตรัสว่า ในการทำกรรมที่เป็นกุศล และอกุศล ใจเป็นหัวหน้าใจเป็นใหญ่ เพราะว่ากรรมที่ทำด้วยใจอันผ่องใสแล้ว ย่อมไม่ละบุคคลผู้ไปสู่เทวโลกมนุษยโลกดุจเงาฉะนั้น ครั้นตรัสเรื่องนี้แล้วพระองค์ได้ตรัสพระคาถาสืบต่อไปว่า มโนปุพพังคมา ธัมมา เป็นต้น ดังที่ได้ยกมาตอนต้นนั้น ซึ่งก็มีข้อความที่ว่า ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ ถ้าบุคคลมีใจผ่องใสแล้ว พูดอยู่ก็ดีทำอยู่ก็ดี ความสุขย่อมไปตามเขา เพราะเหตุนั้นเหมือนเงาตามตัวไปฉะนั้น
นี่ก็เป็นเรื่องของมัฏฐกุณฑลี ที่พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถึงธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้ามีใจเป็นใหญ่
อ.สุภีร์ นี้ก็เป็นชื่ออีกชื่อหนึ่งของจิต ชื่อว่ามโน มโนปุพพังคมา ก็คือธรรมทั้งหลายมีใจเป็นสภาพถึงก่อน มโนเสฏฐา มีใจประเสริฐที่สุด มโนมยา สำเร็จแล้วด้วยใจ เพราะว่าใจ จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์ จิตกับเจตสิกเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ เป็นนามธรรมด้วยกัน เกิดพร้อมกันดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน และในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็เกิดที่วัตถุที่เดียวกันด้วย แต่จิตนั้นเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์ฉะนั้นจิตจึงชื่อว่า มโน
ท่านอาจารย์ ก็จิตมากมายเลยใช่ไหม จิตของพราหมณ์ที่เป็นบิดา แล้วก็จิตของลูกวิจิตรมากไหม เป็นคนที่ไม่เคยให้อะไรใครเลย แต่ว่าเป็นเศรษฐี ลองคิดดู มี ไม่ใช่แต่เฉพาะในอดีต แม้ในปัจจุบัน และอนาคตก็ต้องมี นี่เป็นความวิจิตรของจิต ถ้าศึกษาในพระไตรปิฏกหรืออ่านพระไตรปิฎก ก็จะพบเรื่องของจิตมากมาย เป็นตัวอย่าง ซึ่งจากการที่ไม่ให้อะไรใคร แล้วก็ไม่รักษาลูกจนกระทั่งลูกสิ้นชีวิต เสียใจมาก พอไปพบคนที่เหมือนลูก ก็จะเอาอะไร ก็จะให้ทุกอย่าง ก็ลองคิดดู แต่ตอนที่มีชีวิตไม่ให้ แล้วก็ไม่รักษาด้วย นี่ก็เป็นเรื่องในอดีต แต่ว่าใจของเราทุกคน ยังไม่เคยรู้เลยว่าถ้าจะเขียนเป็นหนังสือสักเล่มหนึ่ง หรือว่าเรื่องสักเรื่องหนึ่ง จะเหมือนกับเรื่องของเศรษฐีกับมัฏฐกุณฑลีหรือเปล่า หรือว่าจะเป็นอีกหลายแบบหลากหลายในพระไตรปิฏก
ในพระไตรปิฏกเป็นชีวิตของบุคคลในอดีต ซึ่งได้มีโอกาสสะสมบุญได้เฝ้าได้ฟังพระธรรมได้เข้าใจพระธรรม เพราะฉะนั้นแต่ละคนก็ลองพิจารณาดู เราอาจจะมีคนซึ่งเป็นที่รักแล้วก็จากไป แต่ว่าลองพิจารณาถึงชีวิตของผู้นั้น บางคนเป็นคนที่มั่งมีมาก แต่ว่าสะสมความริษยาความอาฆาตความพยาบาท เวลาที่พบครั้งสุดท้ายคือเวลาที่รดน้ำศพ เราก็อาจจะระลึกถึงพฤติกรรมของแต่ละคนที่ได้กระทำมาแล้ว แต่ว่าเป็นสิ่งซึ่งแต่ละชาติแต่ละชาติก็ต่างกันไปตามอารมณ์ที่ปรากฏในชีวิต เพราะว่าแต่ละชีวิตเลือกไม่ได้ว่า เราจะเห็นอะไร เราจะได้ยินอะไร เลือกไม่ได้ แม้แต่ว่าขณะต่อไปอะไรจะเกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็แล้วแต่ใจของแต่ละคนอีกว่า แต่ละคนจะคิดอย่างไรกับสิ่งที่กำลังปรากฏ เช่นในขณะนี้หลายใจใช่ไหม หลายคนก็หลายใจ แต่ละใจจะไม่เหมือนกันเลย แต่ใจไหนเป็นกุศล แล้วก็ใจไหนเป็นอกุศล คนอื่นไม่สามารถที่จะแก้ไขได้เลย นอกจากบุคคลนั้นเอง ที่จะแก้ก็ไม่สามารถที่จะแก้ได้ด้วยตัวเอง แต่ต้องด้วยพระธรรม ความเห็นถูกความเข้าใจถูกนำมาซึ่งความคิดถูกการกระทำที่ถูก แต่ถ้าไม่มีความเห็นถูก มีความเห็นผิด การกระทำก็ผิด วาจาคำพูดต่างๆ ก็ผิด
เพราะฉะนั้นเรื่องราวในพระไตรปิฏก ก็เป็นเรื่องอื่นของบุคคลอื่น แต่ว่าเรื่องของแต่ละคน แต่ละภพแต่ละชาติผู้นั้นเองเป็นผู้ที่รู้ดีว่า ตั้งแต่เกิดมาเรามีนิสัยอย่างไร เราเป็นคนอย่างไร การกระทำของเราเป็นอย่างไร แล้วต่อไปจะเป็นอย่างไร เรายังไม่ได้เรียนละเอียดว่า การให้ผลของกรรม และกรรมเมื่อใดบ้าง เพราะว่าส่วนใหญ่ถ้าไม่ใช่พระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คำพูดจะเผินแม้ว่าเป็นความจริง แต่ว่าความจริงอันนั้นไม่ลึกซึ้ง ไม่สามารถที่จะรู้ว่าความจริงนั้นก็คือสภาพธรรมที่กำลังมีจริงๆ ในขณะนี้ คือจิต และเจตสิก และรูป ซึ่งเกิดดับสืบต่อตลอดเวลา
เพราะฉะนั้นถ้าได้ศึกษาพระธรรมก็จะทำให้เราสามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมเพิ่มขึ้น และความจริงนั้นก็จริงๆ แล้วเกิดขึ้น และดับไป ไม่มีใครเป็นเจ้าของเลย แต่ทำไมมีกรรม เพราะเหตุว่าสิ่งที่จริงมีทั้งสิ่งที่เป็นเหตุที่จะทำให้เกิดผล แม้แต่ในขณะนี้ที่ทุกคนกำลังนั่งอยู่ที่นี่ ถ้าไม่ได้ศึกษาจริงๆ ก็ไม่ทราบเลยว่า ขณะนี้ขณะใดเป็นผลของกรรมในอดีต และขณะใดเป็นเหตุใหม่ที่จะทำให้เกิดผลข้างหน้า ก็คงจะกล่าวถึงเรื่องชาติของจิตได้ แต่ว่าถ้ามีคำถามของท่านผู้ฟังจากเรื่องพราหมณ์บิดากับบุตรก็ขอเชิญ มีไหม สงสัยอะไรบ้างหรือเปล่า ในเรื่องที่ได้ฟังมาแล้ว ที่จริงมีข้อน่าคิดหลายข้อ
ผู้ฟัง การที่พิจารณาแล้วท่านอาจารย์กล่าวธรรมได้อย่างวิจิตรจริงๆ ก็ไม่อยากจะปล่อยให้โอกาสนี้เลยไป เรื่องพราหมณ์ เมื่อสักครู่นี้ท่านอาจารย์กล่าวนำว่าท่านผู้ใดสังเกตเห็นจิตของพราหมณ์บ้างไหมว่าวิจิตรอย่างไร ผมพยายามพิเคราะห์ดูก็ยังไม่เห็น ท่านอาจารย์ช่วยชี้แนะด้วย กลัวว่าจะเลยโอกาสอันดีไป
ท่านอาจารย์ รักลูก แต่ว่าตระหนี่มาก และรักอะไรมากกว่ากัน รักตัวมากกว่าลูก แล้วก็ยังรักสมบัติมากกว่าด้วย อะไรที่เป็นของตัว รักทั้งนั้น แต่ที่จริงที่รักลูกก็รัก แต่ว่าไม่ได้ให้อะไรลูกเพราะความตระหนี่ที่สะสมมา ลองพิจารณาดูว่าจะมีโอกาสที่ใครจะเป็นอย่างนี้ไหม โอกาสที่จะให้อะไรใครในกาลที่จะเป็นประโยชน์กับเขา แต่ไม่ให้ มารดาบิดาบางท่านมียศฐาบรรดาศักดิ์มีทรัพย์สินเงินทอง มีลูกคนเดียวเกือบจะเหมือนกับมัฏฐกุณฑลี แต่ก็จริงว่าให้ความรู้ แต่ว่าไม่ให้โอกาสคือทุนที่จะทำให้ดำเนินกิจการต่างๆ จนกระทั่งเมื่อเขามีอายุมากขึ้น มารดาบิดาเสียชีวิต โอกาสนั้นก็หมดไปแล้ว
เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่แต่ละคนก็จะต้องพิจารณาว่า จริงๆ แล้วถ้าได้ฟังธรรมสอนโดยละเอียดทุกประการ หน้าที่ของมารดาบิดาต่อบุตร หน้าที่ของบุตรต่อบิดามารดา หน้าที่ของผู้ที่เป็นนาย หน้าที่ของผู้ช่วยรับใช้ในบ้านทำกิจการงานต่างๆ หน้าที่ของภิกษุมีทั้งหมดในพระไตรปิฎก เป็นเรื่องเหตุผล ก็เป็นเรื่องที่ว่าแม้แต่ใจของเรา เราก็บังคับบัญชาไม่ได้ แต่ว่าถ้าสามารถที่จะเข้าใจจิตใจของเราเอง เริ่มรู้จักว่าใจของเรามีอะไรที่ดี มีอะไรที่ไม่ดี เพราะว่าบางครั้งเวลาที่จะพูด เราพูดสิ่งที่ไม่ควรจะพูดเลย แต่พูดไปแล้ว เคยไหม แสดงว่าบังคับไม่ได้ แต่ว่าต่อไปข้างหน้าเราอาจจะเห็นว่าไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น และเมื่อมีความเข้าใจมากขึ้นว่าจิตเป็นใหญ่จริงๆ ทุกอิริยาบถการเคลื่อนไหวเพราะจิต กะพริบตาเพราะจิต ถ้าไม่มีจิตจะกะพริบตาได้ไหม จะทำอะไรก็ไม่ได้เลยสักอย่างเดียว
เพราะฉะนั้นการเคลื่อนไหวทั้งหมดวันนี้กระทำอะไรบ้าง พูดอะไรบ้าง คิดอะไรบ้าง ทั้งหมดคือจิตซึ่งเป็นใหญ่ เราใช้คำว่าจิตเป็นใหญ่ แต่ก็มีสภาพธรรมอื่นด้วยที่เป็นใหญ่ แต่ว่าถ้าพูดถึงจิตแล้ว จิตเป็นใหญ่ในการรู้แจ้งอารมณ์ แล้วก็มีเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกับจิตปรุงแต่งให้จิตต่างกันไป ถ้าเป็นความไม่ดี จะไม่ดีระดับไหน ถ้าดีก็จะดีได้ระดับไหน ตามตัวอย่างที่มีคือผู้ที่เป็นปุถุชนมีอัธยาศัยต่างๆ จนกระทั่งได้ฟังพระธรรมสะสมความรู้ถูกความเห็นถูก จนกระทั่งสามารถที่จะดับกิเลสได้
ครั้งนี้ วาระนี้ไม่มีโอกาสได้เฝ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหมือนพราหมณ์บิดากับมัฏฐกุณฑลี แต่มีพระธรรมมีพระไตรปิฏกที่ครบถ้วน เหมือนกับการไปเฝ้าพระศาสดา ถ้าวันหนึ่งวันหนึ่ง ใครจะฟังพระธรรม ก็จะมีข้อความว่า ณ พระวิหารเชตวันเขตเมืองสาวัตถี ข้อความที่ทรงแสดงกับบรรดาพุทธบริษัทในครั้งนั้น เหมือนครั้งนี้ทุกคำ เหมือนไปเฝ้าไหม ขณะที่ได้ฟัง แต่ว่าถ้าเข้าใจด้วย ก็จะดีกว่าผู้ที่เพียงผ่านพระวิหารเชตวันเข้าไปหรือไม่เข้าก็ไม่ทราบในอดีต เข้าไปแล้วก็ดูนิดหน่อยแล้วก็กลับออกมา หรือว่าเข้าไปใกล้ๆ ได้รับฟังพระสุระเสียง มีศรัทธามีความเลื่อมใสแล้วก็เห็นว่าเป็นประโยชน์สูงสุด แต่ว่ากว่าที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมไม่เร็ว เพราะว่ากิเลสเราสะสมมามากมายมหาศาล
เพราะฉะนั้นในที่นี้เราไม่สามารถที่จะรู้อดีตชาติได้เลย แต่ถ้าตราบใดยังมีความสนใจที่จะฟังพระธรรม ก็ต้องหมายความว่าเคยได้ยินได้ฟังมาก่อน แล้วก็เห็นว่าเป็นประโยชน์ด้วย เพราะว่าแม้แต่คนที่ได้ยินได้ฟังแต่ไม่เห็นประโยชน์ก็ผ่านเลยไปก็มีมาก แต่พระธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด เพราะฉะนั้นก็ฟัง แล้วก็ค่อยๆ พิจารณา ค่อยๆ เข้าใจ ขณะนี้ก็รู้แล้วว่าตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ หรือสิ่งใดก็ตามที่เป็นสัตว์เป็นบุคคล ต้องมีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ มีใจเป็นประธาน แม้เจตสิกก็ต้องเกิดกับจิตปรุงแต่งจิตให้เป็นประเภทต่างๆ คงจะไม่มีใครต้องการจะเป็นอย่างพราหมณ์บิดาของมัฏฐกุณฑลีใช่ไหม
ผู้ฟัง เมื่อสักครู่ฟังไม่ทัน การที่พราหมณ์ให้ทรัพย์กับบุตรคนอื่น ไม่ทราบว่าให้เพราะชดเชย หรือว่ามองเห็นความตระหนี่ในจิตของตัว
ท่านอาจารย์ ระหว่างที่ลูกยังมีชีวิต พราหมณ์ก็ไม่ได้ให้ทรัพย์สมบัติใคร เวลาที่บุตรสิ้นชีวิตแล้ว ความรักบุตรก็เสียใจ แต่ก็ยังไม่ได้ให้อะไรใคร แต่ว่าบุตรไปเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แล้วก็เห็นบิดาเศร้าโศกมาก ก็อยากจะช่วย ก็มาหาบิดาในรูปร่างของมัฏฐกุณฑลี ซึ่งตอนนั้นก็เป็นเทพบุตรแล้ว แต่ก็มาในรูปร่างของมัฏฐกุณฑลี ก็มาถามดูว่าร้องไห้เสียใจเพราะอะไร ใช่ไหม ก็บอกว่าร้องไห้เสียใจเพราะบุตรสิ้นชีวิต เพราะความรักบุตร จึงเกิดความคิดว่ามัฏฐกุณฑลีที่มาหาพ่อ ร้องไห้ ก็สงสารคนนี้มากเพราะว่าเหมือนลูก ก็ถามว่าร้องไห้ทำไม อยากจะได้อะไร ลูกก็ตอบว่ามีรถอยู่คันหนึ่งเป็นรถทอง แต่ว่าขาดล้อสองข้าง ถ้าพราหมณ์นี้จะให้ ก็ขอให้ให้ พราหมณ์ฺบอกว่าจะเอาล้อชนิดไหน จะเอาล้อทอง หรือจะเอาล้อเงิน หรือจะเอาอะไร บุตรก็บอกว่าอยากได้ล้อพระจันทร์หนึ่งข้าง แล้วก็ล้อพระอาทิตย์หนึ่งข้าง ซึ่งพราหมณ์ก็บอกว่าเป็นไปได้อย่างไร ไม่มีใครสามารถที่จะเอาพระอาทิตย์พระจันทร์มาทำล้อได้เลย มัฏฐกุณฑลีก็ถามพ่อบอกว่า แล้วพ่อโศกเศร้าเสียใจเพราะลูกซึ่งตายแล้ว แต่เขาเพียงแต่ต้องการสิ่งที่มองเห็นได้คือพระอาทิตย์กับพระจันทร์ เขายังมองเห็นได้ เพราะฉะนั้นเขาก็ขอเพียงเอาพระอาทิตย์พระจันทร์มาทำเป็นล้อ แต่พ่อร้องไห้ถึงลูกซึ่งไม่มีวันจะเห็นอีกแล้ว ใครจะเขลากว่ากัน คนหนึ่งก็ร้องไห้เสียใจอยากจะได้พระอาทิตย์พระจันทร์มาทำล้อรถ แต่อีกคนก็ร้องไห้เสียใจเพราะว่าบุตรสิ้นชีวิตไปแล้ว
ในพระไตรปิฏกจะมีข้อความซึ่งเราคิดไม่ถึงหลายประการ ที่เป็นเรื่องสภาพของจิต และจิตเช่นนี้จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ไหม ได้หรือไม่ได้ วันหนึ่ง วันหนึ่ง ถ้าติดตามฟังพระธรรม แล้วก็เห็นคุณค่าของพระธรรมที่กว่าจะได้ตรัสรู้ ต้องบำเพ็ญพระบารมีนานมาก และเมื่อรู้แล้วก็ได้ทรงแสดงธรรมมาก จนกระทั่งเป็นพระไตรปิฎก
ยังมีข้อสงสัยอะไรหรือเปล่า ในเรื่องของมัฏฐกุณฑลี เรื่องเทวดา หรือว่าเรื่องอื่น คุณสุภีร์จะพูดเรื่องชาติของจิต
อ.สุภีร์ ต่อไปจะพูดเรื่องชาติของจิต ซึ่งท่านอาจารย์ได้เกริ่นไว้บ้างพอสมควร คำว่าชาติ ชา-ติ ก็คือการเกิด จิตเมื่อเกิดขึ้นรู้อารมณ์ การเกิดของจิตเช่นนั้นเรียกว่าชาติ ชาติของจิต มีอยู่ ๔ อย่าง ก็คือ กุศล อกุศล วิบาก และกิริยา ก็คือถ้ากล่าวเป็นชาติ ๔ ก็คือ อกุศลชาติ กุศลชาติ วิบากชาติ และกิริยาชาติ ก็คือจิตเมื่อเกิดขึ้นรู้อารมณ์เรียกว่าชาติ แล้วชาติของจิตมี ๔ คือ กุศล อกุศล วิบาก และกิริยา กุศลเป็นสภาพจิตที่ดีงาม เมื่อจิตที่เป็นกุศลให้ผลก็จะให้วิบากที่ดีงามด้วย ในชีวิตประจำวันคงจะมีการเห็นสิ่งที่ดีได้ยินสิ่งที่ดีบางโอกาส ได้กลิ่นสิ่งที่ดีลิ้มรสสิ่งที่ดี กระทบสัมผัสสิ่งที่อ่อนนุ่มดี สิ่งเหล่านั้นเป็นผลมาจากกุศล ก็คือจิตที่เป็นชาติกุศลนั่นเอง
ต่อไปอกุศลก็คือสภาพของจิตที่ไม่ดีงาม ซึ่งถ้าหากว่าสภาพของจิตที่เป็นอกุศล เมื่อให้ผลแล้วก็ให้เห็นสิ่งที่ไม่ดี ให้ได้ยินสิ่งที่ไม่ดี จนกระทั่งให้ปฏิสนธิในภพภูมิที่ไม่ดี ถ้าเป็นกุศลก็โดยนัยตรงกันข้าม เช่น ทุกท่านที่เป็นมนุษย์อยู่ขณะนี้ จิตขณะแรกก็คือปฏิสนธิจิต เป็นผลของกุศลเป็นสภาพจิตที่ดีงาม เมื่อให้ผลก็ให้เกิดในภพภูมิที่ดีที่เรียกว่าสุคติภูมิ ถ้าเป็นผลของอกุศลก็ให้ปฏิสนธิในภพภูมิที่ไม่ดีเรียกว่าทุคติภูมิ
ต่อไปเป็นชาติวิบาก วิบากเป็นจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่เป็นผลมาจากกุศล และอกุศล คำว่าวิบากแปลว่าสุกงอม ถ้าแปลเป็นภาษาไทย แปลมาจากคำว่าวิ แปลว่าวิเศษแล้ว พร้อมที่จะให้ผลแล้ว ปากะแปลว่าสุข วิปากะก็คือสุขงอม เมื่อใดจิตเห็นเกิดขึ้นแสดงว่า สุกงอมพร้อมที่จะให้ผลแล้วจึงเกิดขึ้น ก็คือมีผลของกุศลบ้างอกุศลบ้าง นี่เป็นจิตที่เป็นชาติวิบากก็คือเป็นผลของกุศล และอกุศล
ต่อไปอีกชาติหนึ่งก็คือกิริยา กิริยา แปลว่าสักแต่ว่ากระทำกิจหน้าที่การงาน เป็นจิตประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นมากระทำกิจหน้าที่การงานเฉยๆ ไม่ได้เป็นเหตุปัจจัยที่จะให้ได้รับผลต่อไปในอนาคต ไม่เหมือนกุศลอกุศล ถ้าเป็นกุศลก็เป็นสภาพจิตที่ดีงาม ถ้ากุศลนี้ให้ผลก็ให้ผลเป็นวิบากที่ดี ถ้าเป็นอกุศลเป็นสภาพจิตที่ไม่ดีงาม ถ้าให้ผลก็ให้วิบากที่ไม่ดี แต่จิตที่เป็นชาติกิริยาเกิดขึ้นมารู้อารมณ์เพียงสักแต่ว่าทำกิจหน้าที่การงานเท่านั้น ไม่ใช่จิตที่จะให้ผลต่อไปในอนาคต
ท่านอาจารย์ ถ้าทราบเรื่องชาติของจิต คือ กุศลหนึ่ง อกุศลหนึ่ง สองคำนี้พอได้ยินบ่อยๆ ใช่ไหม เป็นเหตุต้องมีผล ถ้าธรรมใดที่เป็นเหตุแล้วต้องมีผล แต่เวลาที่เป็นผล เนื่องจากเหตุมี ๒ อย่างคือ กุศลอย่างหนึ่ง อกุศลอย่างหนึ่ง ผลก็ต้องมีสองอย่าง คือถ้าเป็นผลของกุศลเป็นกุศลวิบาก คำว่าวิปากะ ที่สุกงอมพร้อมที่จะให้ผล หมายความถึงกรรมที่ได้กระทำแล้ว ถึงกาลที่สุกงอมพร้อมให้พ้นวิบากจิตก็เกิดขึ้น เมื่อจิตเป็นกุศลเป็นอกุศลซึ่งเป็นเหตุ ผลจะเป็นอื่นไม่ได้ นอกจากต้องเป็นจิตนั่นเองซึ่งเกิดขึ้นรับผลของกรรม
เพราะฉะนั้นในชีวิตของทุกคน จะมีจิตครบทั้ง ๔ ชาติ คือ มีทั้งขณะที่เป็นกุศลซึ่งเป็นเหตุ มีขณะที่เป็นอกุศลซึ่งเป็นเหตุ มีขณะที่เป็นวิบาก แล้วแต่ว่ากุศลวิบากก็คือเห็นสิ่งที่ดีได้ยินเสียงดีได้กลิ่นดีลิ้มรสดีรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสดี นี่เป็นผลที่ดีของกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว ขณะใดที่เห็นไม่ดี มีไหมเห็นไม่ดี มีเยอะ ได้ยินไม่ดีมีไหม มากบ้างไม่มากบ้างแล้วแต่กรรม ได้กลิ่นไม่ดีมีไหม ลิ้มรสแย่มาก หรือเผ็ดมาก หรือเค็มมาก นั่นก็เป็นผลไม่ดี ทางกายถ้าเกิดเจ็บปวดเมื่อยคันอะไรก็ตามแต่ ที่ไม่สบายทั้งหมด เป็นวิบากจิตเป็นจิต เพราะเหตุว่าเป็นสภาพรู้เป็นธาตุรู้ อะไรก็ตามในวันหนึ่งวันหนึ่งซึ่งรู้ซึ่งเห็นซึ่งจำซึ่งคิดทั้งหมด คือจิต และเจตสิก ไม่ใช่รูป
เพราะฉะนั้นวันหนึ่งวันหนึ่งก็มีจิตเจตสิกรูปนั่นเอง แต่ว่าจิตเจตสิกที่เกิดเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล หรือเป็นวิบาก ตอนนี้ก็คงพอที่จะทราบเลาๆ ว่าจิตเมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด ถ้าเป็นกุศลขณะนั้นที่เกิดขึ้นเป็นกุศลจะเป็นอกุศลไม่ได้ พร้อมกันไม่ได้ในขณะเดียวกัน เวลาที่อกุศลจิตเกิด จิตขณะนั้นเกิดเป็นอกุศลจะเป็นกุศลไม่ได้ จะเป็นวิบากไม่ได้ จะเป็นกิริยาไม่ได้ ก็มีอยู่เพียงแค่ ๔ คือ ไม่เป็นกุศล ก็เป็นอกุศล ไม่เป็นกุศลอกุศล ก็ต้องเป็นวิบาก ไม่เป็นกุศลอกุศลวิบาก ก็ต้องเป็นกิริยา
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 001
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 002
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 003
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 004
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 005
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 006
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 007
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 008
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 009
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 010
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 011
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 012
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 013
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 014
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 015
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 016
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 017
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 018
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 019
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 020
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 021
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 022
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 023
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 024
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 025
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 026
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 027
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 028
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 029
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 030
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 031
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 032
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 033
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 034
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 035
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 036
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 037
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 038
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 039
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 040
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 041
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 042
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 043
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 044
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 045
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 046
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 047
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 048
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 049
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 050
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 051
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 052
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 053
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 054
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 055
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 056
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 057
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 058
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 059
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 060