สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 017


    สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ ๑๗

    วันจันทร์ที่ ๑ กรกฏาคม ๒๕๔๕


    ท่านอาจารย์ เวลาที่อกุศลจิตเกิด จิตขณะนั้นเกิดเป็นอกุศล จะเป็นกุศลไม่ได้ จะเป็นวิบากไม่ได้ จะเป็นกิริยาไม่ได้ จิตมีอยู่เพียงแค่ ๔ ชาติ คือ ไม่เป็นกุศล ก็เป็นอกุศล ไม่เป็นกุศล อกุศล ก็ต้องเป็นวิบาก ไม่เป็นกุศลวิบาก อกุศลวิบาก ก็ต้องเป็นกิริยา ถ้าฟังต่อไปศึกษาต่อไป อ่านต่อไป ก็จะทราบละเอียดขึ้นว่า ขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล ขณะใดเป็นวิบาก ขณะใดเป็นกิริยา มีเราหรือไม่ ถ้าพูดถึงจิตเป็นของใครหรือไม่ ไม่มี ไม่มีเจ้าของ เพราะเกิดแล้วดับแล้ว สิ่งที่เกิดแล้วดับแล้วจะเป็นของใคร กุศลจิตเกิดแล้วดับ ดับคือไม่กลับมาอีกเลย จะเป็นของใคร ทุกอย่างเกิดดับ

    เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า เราไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อ ก็ทำให้มีความทรงจำมีการยึดถือว่าเป็นเราทั้งหมด ที่กำลังเห็น ที่กำลังได้ยิน ที่กำลังคิดนึก นี่ก็เป็นเรื่องความละเอียดของจิต เพราะฉะนั้นเพียงเรื่องจิตเรื่องเดียว เราก็อาจจะศึกษาไปได้ตลอดชีวิต โดยความเข้าใจประการหนึ่ง ซึ่งเป็นปริยัติหมายความถึงขั้นรู้เรื่องราวของจิต แต่โดยขั้นที่จะรู้จักจิตจริงๆ เพราะว่าจิตมีจริง สามารถที่จะเข้าใจลักษณะของจิตที่กำลังเกิดในขณะนั้นจริงๆ ต้องเป็นความรู้อีกระดับหนึ่ง แล้วอีกระดับหนึ่งก็คือ สามารถที่จะประจักษ์ความเป็นธาตุ ไม่ใช่สัตว์บุคคลใดๆ เลย นั่นก็เป็นอีกระดับหนึ่ง

    เพราะฉะนั้นพระพุทธศาสนามี ๓ ขั้น คือ ๓ ระดับ คือ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ขั้นปริยัติ คือขั้นฟังเรื่องราวของสภาพธรรม เช่น ในขณะนี้กำลังฟังเรื่องจิต แต่จิตก็เกิดดับทำกิจการงานหน้าที่อยู่ตลอดเวลา แต่เราเพียงฟังเรื่องว่าจิตเป็นเช่นนี้ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ คือขณะใดที่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ หมายความว่าจิตกำลังรู้สิ่งนั้น กำลังเห็นคือจิตกำลังเห็น กำลังได้ยินก็คือจิตกำลังได้ยิน กำลังคิด ใครคิดหรือเปล่า กำลังคิด มีใครคิดหรือเปล่า ต้องเป็นจิตที่คิดทั้งหมดเลย กำลังสนุกสนาน หรือว่ากำลังโศกเศร้าเสียใจ ทั้งหมดก็คือจิต ซึ่งมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะพูดเรื่องอะไรทั้งหมด ก็จะไม่พ้นไปจากจิต เจตสิก รูป พระพุทธศาสนามี ๓ ระดับ ระดับของปุถุชนที่ฟังเรื่องจิต เริ่มมีความเข้าใจเรื่องจิต ปุถุชนมี ๒ พวก พวก ๑ เป็นอันธพาล มืดสนิท และอีกพวก ๑ เป็นกัลยาณปุถุชน เป็นปุถุชนที่ดี เริ่มมีความรู้มีความเข้าใจในเรื่องสภาพธรรม เป็นจิตใช่ไหม จะว่าเป็นคนดีคนไม่ดีอย่างไรก็คือจิตนั่นเอง เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่ได้คิดถึงชื่อเสียงเรียงนามเลย แต่พูดถึงสภาพธรรม แล้วก็ใส่ชื่อว่าเป็นคนนั้นคนนี้ นั่นเป็นความจริง เป็นสัจธรรม เราสมมติชื่อเรียกสภาพธรรมให้รู้ว่าหมายความถึงบุคคลใดเท่านั้น แต่ลักษณะจริงๆ ก็คือจิต เจตสิก รูป นิพพาน นั่นเอง

    กล่าวถึงจิตตามลำดับของชาติ กุศลจิตเป็นจิตที่ดีงาม ถ้าไม่ได้สะสมมาที่สภาพธรรมที่ดีคือเจตสิกที่ดีจะเกิดกับจิต ขณะนั้นจิตจะดีงามไม่ได้เลย เพราะว่าปกติวันหนึ่งวันหนึ่ง คงจะไม่ทราบว่าจิตที่ไม่ดีเกิดมากกว่าจิตที่ดี เพราะว่าถ้าเป็นจิตที่ดี จะทำให้มีกายวาจาที่ดี "การให้" เกิดขึ้นเพราะจิตที่ดี เพราะว่าการให้ก็คือการให้สิ่งที่เป็นประโยชน์สุขกับบุคคลอื่น ให้สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ จะเป็นกุศลจิตไม่ได้ แต่สิ่งนั้นต้องเป็นประโยชน์สุขของผู้รับ เพราะว่ามีจิตที่คิดถึงบุคคลที่รับว่าเขาจะได้รับประโยชน์จากสิ่งที่ให้ ขณะนั้นไม่มีความเห็นแก่ตัว สามารถที่จะสละได้ บิดาของมัฏฐกุณฑลีเป็นเช่นนี้หรือไม่ ไม่เป็นใช่ไหม เพราะว่าไม่ได้ให้อะไรใคร

    เพราะฉะนั้นก็เป็นเครื่องที่จะสะท้อนถึงเราเองได้ว่า กุศลจิตของเราจะเกิดขึ้นเป็นไปในทางไหนบ้าง เพราะว่าถ้าไม่ใช่เป็นไปในทาน ขณะที่ให้ ไม่เป็นไปในขณะที่กายวาจาดี เป็นศีล เว้นทุจริต และกระทำสิ่งที่ควร หรือว่าไม่เป็นไปในเรื่องความสงบของจิต หรือว่าไม่เป็นไปในเรื่องการศึกษาธรรม การเข้าใจธรรม การที่จะรู้ลักษณะของธรรม นอกจากขณะต่างๆ เหล่านี้แล้ว เป็นอกุศลจิตทั้งหมด ถ้าไม่กล่าวถึงวิบากจิตกับกิริยาจิต หรือกุศลจิต เพราะว่าเพียงแต่ให้ทราบว่าอกุศลจิต เราอาจจะไม่เคยรู้เลย เราอาจจะคิดว่าคนโกงเป็นคนที่มีอกุศลจิต แต่คนที่ยังไม่ถึงขั้นโกงเป็นอกุศล หรือเปล่า เป็นหรือไม่เป็น เป็นด้วย ถ้าเห็นเพียงดอกไม้สวย เป็นอกุศลหรือเป็นกุศล เป็นอกุศลเพราะอะไร ติดข้องในสิ่งที่เห็น ไม่ได้ไปทำอะไรเลย แค่เห็นแล้วก็พอใจขณะที่พอใจติดข้อง เป็นลักษณะของโลภเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่ติดข้อง ซึ่งเกิดกับจิต เพียงแต่ว่ายังไม่ถึงระดับขั้นที่จะกระทำอกุศลกรรม ซึ่งมาจากโมหะคือต้องมีสภาพที่ไม่รู้ความจริงใดๆ ในขณะนั้น จึงสามารถที่จะกระทำอกุศลกรรมได้

    เพราะฉะนั้นสภาพธรรมละเอียดมาก ยังไม่เห็นดอกไม้เลย เพียงแต่ลืมตาตื่น ก็คงจะเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ก็ยังไม่ได้คิดว่าสิ่งนั้นเป็นอะไรเลย ลืมตาตื่น ขณะที่ลืมตาต้องต่างกับขณะที่ลืมตาแล้วใช่ไหม ลืมตาแล้วเห็นในขณะหนึ่งสั้นมาก แต่หลังจากเห็นแล้วต้องเป็นกุศลหรืออกุศลจิต ถ้าเป็นพระอรหันต์ลืมตาเป็นกิริยาจิต กิริยาจิตก็คือจิตที่ไม่ใช่กุศลไม่ใช่อกุศลที่เป็นเหตุจะให้เกิดผล และจิตนั้นต้องไม่ใช่วิบากคือไม่ใช่ผลของกุศล และอกุศลด้วย เพราะฉะนั้นแต่ละคนก็จะทราบได้โดยการเปรียบเทียบว่า สำหรับผู้ที่ไม่มีกิเลสเลยแม้เห็น อย่างเราธรรมดาที่เห็น แต่จิตที่หลังจากเห็นแล้วต่างกัน คือทุกคนที่ยังมีกิเลสที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ เมื่อเห็นแล้วส่วนใหญ่จะเป็นจิตประเภทไหน เทียบกับพระอรหันต์ เห็นตามปกติแต่ไม่มีกิเลสใดๆ เลย ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ ไม่มีเหตุที่จะทำให้ต้องกระทำความวุ่นวายต่างๆ ในชีวิตที่จะเป็นกรรมใดๆ อีกต่อไป

    เพราะฉะนั้นกว่าจะความเป็นผู้ที่หลังจากเห็นแล้วเป็นอกุศล กว่าจะเห็นแล้วเป็นกุศล และกว่าจะเห็นแล้วไม่เป็นทั้งกุศล และอกุศล เป็นกิริยา นี่ก็เป็นการอบรมเจริญปัญญาตามลำดับขั้น ที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และทรงแสดงหนทางที่จะดับกิเลสหมดไม่เหลือเลย เพราะว่ากิเลสมีก็ยังไม่รู้ แล้วจะดับอย่างไร ต้องรู้ก่อน แล้วถึงจะดับได้ แต่ถ้าไม่รู้ไม่มีทางที่จะดับกิเลสเลย เพราะฉะนั้นขณะที่ลืมตาตื่น หลังเห็นแล้วจิตเป็นอะไร เป็นอกุศล บางคนตื่นแล้วก็รู้สึกแจ่มใส เป็นกุศลหรือเปล่าแจ่มใส สบายใจตื่นมาแล้วก็วันนี้อากาศดีสบายใจแจ่มใส เป็นกุศลหรือเปล่า เป็นอกุศล เพราะไม่ใช่เป็นไปในทาน ไม่ใช่เป็นไปในศีล ไม่เป็นไปในความสงบของจิต ไม่เป็นไปในการรู้สภาพธรรม หรือปัญญาในขณะนั้นไม่เกิด

    เพราะฉะนั้นให้ทราบว่าเพียงลืมตาตื่นเป็นอกุศล แล้วแต่ว่าก่อนหลับคิดเรื่องอะไร ถ้าก่อนหลับคิดเรื่องพรุ่งนี้จะทำอะไรบ้าง ทันทีที่ตื่นก็คิดแล้วใช่ไหม จะทำอะไร ก็เป็นเรื่องของโลภะ แต่ถ้าก่อนหลับโกรธใครไว้มาก กระสับกระส่ายไม่ลืมเรื่องนั้นเลย พอตื่นทันทีคิดถึงใคร คิดถึงคนที่โกรธ ขณะนั้นก็คือเป็นอกุศล เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่ได้ศึกษาธรรม เราจะรู้จักตัวเราจริงๆ ไม่ได้ แต่ถ้ารู้จักตัวจริง เริ่มเข้าใจถูกต้องว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีใครเลยทั้งสิ้น นอกจากสภาพธรรมซึ่งเป็นธาตุ ธา-ตุแต่ละชนิด ในทางวิทยาศาสตร์เวลาพูดถึงเรื่องธาตุ ไม่มีใครยึดถือธาตุชนิดหนึ่งชนิดใดว่าเป็นเรา หรือเป็นเขา หรือเป็นใครเลยใช่ไหม ฉันใด ถ้าคิดถึงสภาพธรรมที่มี และเป็นธาตุมีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วดับไป ไม่มีใครเป็นเจ้าของทั้งนามธาตุ และรูปธาตุ ซึ่งอีกคำหนึ่งก็คือว่าธรรมก็ได้ ใช้คำว่าธาตุหรือใช้คำว่าธรรมก็ได้ ทั้งนามธรรม และรูปธรรม

    เพราะฉะนั้นแม้เพียง ๒ คำ ก็ต้องไตร่ตรองให้เข้าใจลึกจริงๆ ว่าเป็นสิ่งที่มีจริง แต่ก็เป็นธาตุเหมือนกับธาตุอื่นๆ ถ้าเป็นนามธาตุก็คือมีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับ ห้ามไม่ให้ธาตุชนิดนี้เกิดได้ไหม ห้ามไม่ให้ธาตุชนิดนั้นเกิดได้ไหม ห้ามไม่ให้รูปธาตุเกิดได้ไหม ห้ามนามธาตุไม่ให้เกิดได้ไหม เพราะฉะนั้นการที่จะเข้าใจให้ถูกต้องว่า ธรรมก็คือธาตุนั่นเอง ทุกอย่างเป็นธาตุทั้งหมด ในพระไตรปิฏกแสดงว่าโลภะก็เป็นธาตุ โทสะก็เป็นธาตุ จิตก็เป็นธาตุ เจตสิกก็เป็นธาตุ ทุกอย่างเป็นธาตุทั้งนั้น ก็คือถึงแก่นความจริงของธรรมที่จะได้มีความเข้าใจถูกต้องว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้อะไร และก็ทรงแสดงธรรมให้คนอื่นมีความเห็นถูก จนกระทั่งสามารถที่จะดับกิเลสได้หมด เพราะมีความเห็นที่ถูกต้อง ซึ่งก่อนนั้นมีแต่ความไม่รู้ ตลอดชาติที่เกิดมาก่อนจะได้ฟังพระธรรมเป็นความไม่รู้ทั้งหมด แล้วกี่ชาติมาแล้ว ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ว่า ได้เคยฟังมามากน้อยเท่าใด แต่ขณะนี้ที่ได้ฟัง เริ่มเป็นสิ่งใหม่แล้วใช่ไหม เห็นความต่างของความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นพระอรหันต์ กับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ แม้แต่เพียงเห็นเหมือนกัน แต่หลังจากเห็นแล้วต่างกัน พรุ่งนี้จะต่างหรือไม่เวลาที่ตื่นมาแล้วก็เห็น ยังเหมือนเดิมไหม ดีขึ้นอย่างไรต้องเป็นผู้ที่ตรง ขณะที่เข้าใจเป็นขณะที่ดี แต่ขณะที่ตื่น แล้วตอนนั้นมีความเข้าใจหรือไม่

    เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ที่ตรง ธรรมนี่ต้องตรงๆ ถึงจะได้สาระจริงๆ เพราะเหตุว่าสิ่งใดเป็นอย่างไรก็ต้องเป็นเช่นนั้น เราไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมนั้นได้เลย อาจจะเคยยึดถือว่าเป็นเรา แต่ความจริงก็คือธรรมแต่ละชนิดซึ่งเกิดดับ

    ผู้ฟัง ชาติที่แล้วอาจเคยอบรมมาบ้างแล้วก็ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเครื่องพิสูจน์คือขณะนี้ ถ้าฟังแล้วเข้าใจเลยสะสมมามากที่จะเข้าใจได้ทันที แต่ถ้าฟังแล้วยังต้องคิด ยังต้องไตร่ตรอง ยังต้องพิจารณาก็เป็นเครื่องแสดงว่าฟังมาแล้วมากน้อยเท่าใด ถ้าเป็นผู้ที่ฟังมามาก เช่น ท่านพระสารีบุตร ไม่กี่ประโยคสามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมซึ่งกำลังเกิดดับจริงๆ ในขณะนี้ได้ รู้แจ้งอริยสัจธรรม ทุกขอริยสัจคือการเกิดดับของสภาพธรรมเป็นทุกข์ เพราะว่าใครก็ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ รู้ถึงอะไรเป็นเหตุให้เกิดสมุทัยคือโลภะ ถ้าตราบใดยังมีความติดข้องในสี ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความเป็นเรา จะไม่มีปัญญาที่ถึงระดับประจักษ์ลักษณะของนิพพาน เพราะเหตุว่ายังไม่ได้ละความติดข้องเลย เห็นก็ยังชอบ ยังไม่ชอบ ได้ยิน ได้กลิ่น มีความเป็นเราอยู่ แต่สิ่งใดก็ตามที่มีการเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป สิ่งนั้นไม่ใช่นิพพาน

    เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่จะต้องค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ อบรม ข้อสำคัญก็คือว่าเมื่อได้ยินได้ฟังอะไรขอให้รู้จริงในคำที่ได้ยินได้ฟัง จะมากจะน้อยก็คือเข้าใจจริงๆ แล้วเวลาได้ยินได้ฟังเพิ่มขึ้นความเข้าใจที่มีอยู่จริงๆ ก็จะกว้างขึ้น ลึกขึ้น เพราะเหตุว่า เริ่มเข้าใจความจริงว่าความจริงคือเช่นนี้ แต่ว่าไม่เข้าใจผิด แต่ถ้าคิดเดาเอาเองอย่างบางคนก็อาจจะไม่ศึกษาธรรมเลยเพราะคิดว่ารู้แล้ว หรือว่าอาจจะคิดว่าง่ายๆ เพียงแค่อ่านก็เข้าใจได้ แต่ความลึกของธรรมมากกว่าผิวเผินที่เพียงแต่จะคิดว่าอ่านแล้วเข้าใจได้ ต้องศึกษาจริงๆ พระธรรมเป็นสิ่งที่จะต้องศึกษาแม้ในขั้นการฟังซึ่งเป็นปริยัติ และในขั้นที่อบรมเจริญปัญญาก็เป็นการศึกษาตัวจริงของธรรมคือจิต และเจตสิก และรูปนั่นเอง จนกว่าจะรู้แจ้ง

    ผู้ฟัง สำหรับคนที่ศึกษามาน้อย ขณะที่ตาเห็นก็เห็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ หูได้ยินก็ได้ยินไปเรื่อยๆ ความเกิดความดับก็ไม่ชัดเจน ไม่ทราบว่าจะเอาอะไรมาตัดสินว่าอันนี้เกิดแล้ว อันนี้ดับแล้วอะไรเช่นนี้

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่หมุนเร็วมาก มีใครสามารถจะจับได้ไหม สิ่งที่หมุนเร็วมากมีใครสามารถจะจับได้ไหมว่าอันไหนเกิดอันไหนดับ ค่อยๆ เคลื่อนไปทีละน้อยทีละนิดทีละจุด เวลานี้ที่เรากำลังศึกษาธรรม ไม่สามารถที่จะนับประมาณจิตซึ่งเกิดดับได้ เพราะเพียงแต่ที่คุณวิจิตรกล่าวว่าขณะนี้เหมือนเห็นตลอด ไม่เห็นการดับไปของเห็นเลย แต่ได้ยินด้วยหรือเปล่า ขณะที่กำลังเห็นได้ยินด้วยหรือเปล่า ได้ยินด้วย แต่เห็นจะมีเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไม่มีจักขุปสาทที่อยู่ตรงกลางตา และได้ยินก็จะเกิดไม่ได้เลยถ้าไม่มีโสตปสาทที่อยู่ตรงกลางหู คนละที่แล้ว แล้วก็ห่างกันด้วยใช่ไหม จากตาไปถึงหู มีอากาศธาตุแทรกคั่นละเอียดยิบพร้อมที่จะแตกแยกทำลายเมื่อใดก็ได้

    เพราะฉะนั้นนี่เป็นความรวดเร็วมาก ที่เรานับเวลาเป็นปี เป็นเดือน เป็นวัน เป็นวินาที เป็นเสี้ยววินาที แต่การเกิดดับของจิตไม่มีอะไรสามารถที่จะวัดได้ เพราะว่าจริงๆ แล้วจากการตรัสรู้ทรงแสดงว่า รูปๆ หนึ่ง หรือกลุ่มหนึ่งที่เกิด มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ จากเห็นไปถึงได้ยิน จิตเกิดดับเกินกว่า ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้นรูปดับแล้ว นักวิทยาศาสตร์คนไหนจะเอาเวลาไหนมากำหนดว่ารูปที่เกิดนั้นดับ แต่จากพระปัญญาทรงแสดงเลย ว่าอายุของรูปๆ หนึ่ง จะวัดได้จากสิ่งซึ่งเกิดดับเร็วกว่ารูป ก็คือนับได้โดยอายุของจิตว่าจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ รูปๆ หนึ่งดับ

    เพราะฉะนั้นเวลาที่ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดอย่างเร็ว ดับอย่างเร็วสืบต่อกัน ใครจะเห็น แต่ปัญญาที่ได้อบรมแล้วสามารถที่จะค่อยๆ พิจารณาว่า เห็นกับได้ยิน ไม่ใช่สภาพธรรมอย่างเดียวกัน แล้วที่เกิดก็ต่างกัน เพราะฉะนั้นจะพร้อมกันไม่ได้ ขณะใดที่ได้ยิน จิตขณะนั้นเกิดมีเสียงเท่านั้นที่กำลังปรากฏกับจิตที่ได้ยิน ในขณะที่มีเสียงปรากฏ สีสันวัณณะจะไม่รวมอยู่ในเสียงเลย และในขณะที่สีสันวัณณะกำลังปรากฏกับจิตที่เห็น จิตเห็นเกิดไม่ใช่จิตได้ยินเกิด จิตได้ยินจะเห็นไม่ได้เลย นี่ก็แสดงอยู่แล้วว่าสภาพธรรมแต่ละอย่างเกิดแล้วก็ดับเร็วมาก มีผู้รู้ มีผู้ตรัสรู้ มิฉะนั้นแล้วก็จะมีการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเราตลอดไป ไม่มีการจะรู้ความจริงว่าแท้ที่จริงถ้าไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นเลย จะมีการยึดถือว่าเป็นเราไหม ก็ไม่มีใช่ไหม แต่เพราะมีสภาพธรรมเกิดขึ้น แล้วก็ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมนั้น จึงยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นเราซึ่งไม่ดับเกิดขึ้นตลอดไป แต่ความจริงการเกิดดับเป็นสิ่งซึ่งมีอยู่ตลอดเวลา แต่ว่าไม่รู้ว่าเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุว่าทันทีที่สิ่งหนึ่งดับ สิ่งใหม่เกิดปรากฏสืบต่อสนิทมากเร็วทันที ไม่มีการจับได้เลยว่าขณะก่อนนั้นได้ดับไปแล้ว

    แต่ถ้าจะพิจารณาละเอียดๆ จริงๆ ก็สามารถที่จะรู้ได้ ขณะคิดนึกไม่ใช่ขณะเห็น ไม่ใช่ขณะได้ยิน และขณะนี้มีคิดนึกไหม ก็มี มีทุกอย่างซึ่งเกิดดับสืบต่อกันอย่างเร็วมาก แต่ความจริงจิตของแต่ละคน หรือจิตที่เกิดแล้วไปยึดถือว่าเป็นเรา จะเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ เพราะเหตุว่าทุกอย่างต้องมีลักษณะ หรือใช้คำว่าปัจจัย หรือพลัง หรือลักษณะ คุณลักษณะอะไรก็แล้วแต่ ที่เป็นส่วนพิเศษของแต่ละอย่าง เช่น ไฟที่ร้อน สามารถจะทำอะไรได้ ไฟร้อนสามารถจะทำอะไรได้ หรือร้อนเฉยๆ เผาไหม้ได้ก็เป็นลักษณะของเขา เพราะฉะนั้นจิตหนึ่งขณะจะมีปัจจัยเป็นสภาพที่มีอยู่ในจิต ที่ทันทีที่จิตนั้นดับ ปัจจัยนั่นเองจะทำให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น ปัจจัยชนิดนี้ของจิต และเจตสิกชื่อว่าอนันตรปัจจัย นี่เป็นเหตุที่เมื่อจิตขณะแรกเกิดคือปฏิสนธิจิตเกิดดับแล้ว จิตขณะต่อไปเกิด ขณะเมื่อสักครู่นี้ดับ ขณะนี้เกิดสืบต่ออยู่ตลอดเวลา จนกว่าจะถึงจิตขณะสุดท้ายของชาตินี้ คือจุติจิตทำให้พ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ตามกรรม ที่เราใช้ในภาษาไทยว่าถึงแก่กรรม คือถึงแก่กรรมที่จะต้องสิ้นสุดจะเป็นบุคคลนี้ต่อไปอีกไม่ได้ แต่กรรมหนึ่ง ก็จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อ เพราะแม้จุติจิตก็เป็นอนันตรปัจจัยที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตขณะต่อไปเกิด

    เพราะฉะนั้นจิตใดไม่เป็นอนันตรปัจจัย มีไหม จุติจิตของใคร ของพระอรหันต์เท่านั้น มิฉะนั้นคำว่าอรหันต์จะไม่มีความหมายเลย ใช่ไหม แต่ความเป็นพระอรหันต์คือดับกิเลสหมด เพราะฉะนั้นเมื่อจุติจิตของพระอรหันต์เกิดแล้วดับไป ไม่เป็นอนันตรปัจจัยที่จะทำให้จิตขณะต่อไปเกิด ไม่มีปัจจัยใดๆ ที่จะทำให้เกิดอีก เวลาที่ไปฟังสวดพระอภิธรรม เคยได้ยินคำว่าปัจจโยหรือไม่ ทั้งนั้นเลยใช่ไหม ก็เป็นเรื่องของจิตเจตสิกนั่นเอง เช่น เหตุปัจจโย ก็คือเหตุเป็นปัจจัย อารมณปัจจโย ตอนนี้รู้แล้วใช่ไหม อารมณ์คือสิ่งที่จิตรู้ เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้จิตรู้ จิตก็เกิดไม่ได้

    เพราะฉะนั้นเวลาที่พูดถึงอารมณ์ก็คืออารมณ์เป็นปัจจัยแก่จิต เพราะว่าทำให้จิตแต่ละประเภทเกิด เช่น เสียงเป็นปัจจัยให้จิตได้ยินเกิด เสียงเป็นปัจจัยให้จิตเห็นเกิดได้ไหม ไม่ได้ เสียงเป็นปัจจัยให้จิตได้ยินเกิด เพราะฉะนั้นเสียงเป็นอารมณปัจจัย ที่ทำให้จิตได้ยินเกิด ก็ไม่พ้นไปจากปัจจัย แต่มีปัจจัยหนึ่ง ต่อไปนี้เวลาที่ไปฟังสวดลองสังเกตคำว่าวิคตปัจจัย หมายความว่าเป็นปัจจัยเมื่อปราศไปแล้ว เพราะฉะนั้นจิตทุกดวง จะทำให้จิตขณะต่อไปเกิดต่อเมื่อจิตนั้นปราศไป ถ้าจิตนั้นยังมีอยู่จิตอื่นจะเกิดไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นนอกจากจิตเป็นอนันตรปัจจัยที่เมื่อดับแล้วจะเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด ต้องเป็นวิคตปัจจัยด้วยคือจะเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดได้ก็ต่อเมื่อจิตนั้นปราศไปแล้ว จะมาเกิดซ้อนกันไม่ได้เลย


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 6
    7 ส.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ