สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 018


    สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ ๑๘

    วันจันทร์ที่ ๑ กรกฏาคม ๒๕๔๕


    ท่านอาจารย์ วิคตปัจจัย หมายความว่าเป็นปัจจัยเมื่อปราศไปแล้ว เพราะฉะนั้นจิตทุกดวงจะทำให้จิตขณะต่อไปเกิดต่อเมื่อจิตนั้นปราศไป ถ้าจิตนั้นยังมีอยู่ จิตอื่นจะเกิดไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นนอกจากจิตเป็นอนันตรปัจจัยที่เมื่อดับแล้ว จะเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด ต้องเป็นวิคตปัจจัยด้วยคือ จะเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดได้ก็ต่อเมื่อจิตนั้นปราศไปแล้ว จะมาเกิดซ้อนกันไม่ได้เลย นี่เป็นเหตุที่เราจะต้องศึกษาจิตแต่ละขณะ ให้รู้ชัดว่าจิตขณะนั้นที่เกิดมาเป็นกุศล หรือเกิดเป็นอกุศล หรือเกิดเป็นวิบากคือเป็นผลของกุศล และอกุศล หรือเกิดเป็นกิริยา คือไม่ใช่ทั้งกุศลไม่ใช่ทั้งอกุศล และไม่ใช่วิบากด้วย

    ผู้ฟัง มีคำถามว่าบางคนบอกว่าตายแล้วฟื้น ก็แสดงว่าจุติจิตยังไม่เกิดใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ถ้าเกิดแล้วก็คือต้องพ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ จะกลับมาสู่ความเป็นบุคคลนี้อีกไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง ที่กล่าวว่าเมื่อลืมตาตื่นขึ้นมาก็เป็นอกุศลนั้น ถามว่า จะเป็นกุศลบ้างได้ไหม เช่น เราลืมตาแล้วเปิดวิทยุฟังธรรม หรือตื่นขึ้นมาแล้วก็ไปใส่บาตร

    อ.กฤษณา ขณะใดที่จิตเกิดขึ้น แล้วก็เป็นไปในทาน ในศีล เป็นต้น ขณะนั้นเป็นกุศล ในขณะที่คุณหมอตื่นขึ้นมาแล้วก็มีจิตที่ตั้งใจที่จะฟังพระธรรม ขณะฟังพระธรรมก็เป็นกุศลจิต

    ท่านอาจารย์ ต่อไปนี้กุศลไม่ยากใช่ไหม ตื่นขึ้นฟังพระธรรม

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวว่า การเห็นกับการได้ยินเป็นคนละขณะนั้น แต่ความเคยชินของเราโดยทั่วไปเหมือนกับการที่เราถูกสอนมาให้เราพยายามเข้าใจอะไรด้วยการทั้งเห็น แล้วก็ทั้งได้ยินพร้อมๆ กัน ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น สมมติว่าเราดูหนัง ก็จะต้องเห็นทั้งภาพแล้วก็ต้องมีเสียงประกอบ แล้วทำให้เราเข้าใจเรื่องราวได้ดีขึ้น แต่เมื่อท่านอาจารย์กล่าวว่าเป็นคนละขณะกัน ก็คิดว่าเหมือนกับเวลาเราดูหนัง แล้วหนังมันขาด หนังสมัยเก่าจะเป็นหนังจอ ตอนเด็กๆ เคยเห็นหนังขาด หรือว่าเสียงขาด เราจะใช้กรณีเช่นนั้นเอามาพิจารณาได้หรือไม่

    อ.สุภีร์ ก็รวมหลายโลกเข้าด้วยกัน เพราะว่าโลกในวินัยของพระอริยเจ้า หรือว่าทุกๆ ท่านมีอยู่ ๖ โลกก็คือ โลกทางตา โลกทางหู โลกทางจมูก โลกทางลิ้น โลกทางกาย และโลกทางใจ บางท่านก็บอกว่าเห็นไม่พอ ได้ยินไม่พอ ต้องสัมผัสด้วยใช่ไหม รวมหลายโลกเข้าด้วยกัน แล้วก็คิดเรื่องหลายๆ โลกรวมกัน จึงเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ เป็นเรื่องนั้นเรื่องนี้ มีคำพูดเช่นนั้นเช่นนี้ ที่ท่านผู้ฟังได้ถามเมื่อสักครู่นี้ว่าไปดูหนัง มีทั้งเห็นด้วย ทั้งได้ยินด้วย ถ้าบางคนหูหนวกก็คงจะเห็นแต่ภาพแล้วก็ทำปากขมุบขมิบ ก็คิดได้เฉพาะสิ่งที่เห็นทางตา คิดเรื่องสิ่งที่เห็นเท่านั้น ตอนนั้นมีสองโลกก็คือโลกทางตาโลกหนึ่ง แล้วก็โลกทางใจโลกหนึ่ง สำหรับบุคคลที่หูดีด้วยก็คือสามารถได้ยินได้ด้วย ก็คิดเรื่องสิ่งที่ได้ยินด้วย ตอนนั้นก็มี ๓ โลกรวมกันเข้าก็กลายเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    ฉะนั้นเมื่อรวมหลายๆ โลกเข้าด้วยกัน ก็จะเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เหมือนที่ทุกท่านมีเพื่อนร่วมฟังธรรมอยู่ขณะนี้ เพราะว่ารวมหลายๆ สิ่งเข้าด้วยกัน มีสิ่งที่เห็นทางตา แล้วก็คิดเรื่องสิ่งที่เห็นทางตา มีเสียงที่ได้ยินทางหู คิดเรื่องสิ่งที่ได้ยินทางหู แล้วก็รวมเข้าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยความรวดเร็วของจิต ความรวดเร็วของจิตแต่ก่อนเราอาจจะเคยคิดว่า เวลาลืมตาขึ้นแล้วก็ต้องเห็นใช่ไหม แต่จริงๆ แล้วเวลาทุกท่านลืมตาอยู่ มีได้ยินด้วย ฉะนั้นแม้แต่ตอนที่เราลืมตาเอง ก็ไม่ได้เห็นอยู่ตลอด ความสว่างจะปรากฏ ตอนที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ถ้าทางหูจะมืดสนิทเลย ได้กลิ่นก็มืดใช่ไหม ลิ้มรสก็มืด กระทบสัมผัสก็มืด คิดนึกก็มืด โลกที่สว่างมีโลกเดียว ก็คือโลกที่ปรากฏได้ทางตาเท่านั้น

    แต่ขณะนี้ทุกท่านลืมตาขึ้นก็เหมือนกับสว่างอยู่ตลอดใช่ไหม นี่ด้วยความรวดเร็วของจิต ฉะนั้นจิตจึงเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว ไม่มีอะไรอีกแล้วที่จะเร็วยิ่งกว่าจิต รูปถึงจะเกิดดับเร็ว แต่ว่าไม่เร็วเท่ากับจิต รูปๆ หนึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไปใช้ระยะเวลา ๑๗ ขณะของจิต จิตนี้เร็วกว่ารูป ฉะนั้นด้วยความรวดเร็วของจิต ก็รวมเข้าหลายๆ โลกเข้าด้วยกัน ก็เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วก็ยึดสิ่งเหล่านี้ จริงๆ แล้วถ้าไม่มีจิตเจตสิกรูป ก็จะไม่มีอะไรสักอย่างเลยในโลกนี้

    ผู้ฟัง คือหมายความว่าเวลาที่เรารวบทุกอย่างเข้ามาด้วยกัน จะทำให้มีเรื่องใช่ไหม แต่ถ้าหากเหมือนกับว่าแกะมัน ไม่ให้เป็นเรื่อง ก็คือทำตัวให้เหมือนกับดูหนังขาดตอน หรือว่าเสียงที่ขาด หรืออะไรเช่นนั้น ได้หรือเปล่า หมายความว่าพยายามพิจารณาไม่ให้มันมาสัมพันธ์ด้วยกัน คือรื้อจากสิ่งที่เราเคยชินมาตลอด

    อ.สุภีร์ ถ้าจะไปทำเช่นนั้น ก็ย้อนกลับไปคำเดิมว่าไม่มีเราที่ทำอะไรได้ใช่ไหม มีแต่จิต เจตสิก รูป การที่จะรู้ความจริงของแต่ละโลกได้ ก็จะมีนามธรรมประเภทหนึ่งที่รู้ ก็เรียกชื่อว่าปัญญาเจตสิก หรือว่าการเข้าใจความจริงนั่นเอง การที่จะเข้าใจความจริงได้ในแต่ละโลกที่กำลังปรากฏ ก็ด้วยการอบรมเจริญปัญญาขึ้น ขณะนี้ทุกท่านได้ยินได้ฟังมาว่าเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาใช่ไหม แต่เวลาเห็นก็เป็นคน เพราะเหตุว่าด้วยความไม่รู้ที่สะสมมานานก็เป็นเช่นนี้ แต่ว่าบุคคลที่รู้แล้ว ก็คือเริ่มตั้งแต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้ตรัสรู้แล้ว แล้วก็ได้ทรงสั่งสอนพระสาวกทั้งหลาย แล้วก็มีผู้ตรัสรู้ตามมากมาย ความจริงเป็นเช่นนั้น ซึ่งทุกท่านก็ค่อยๆ พิจารณาก็จะเห็นจริงเช่นนั้นด้วยจากการได้ยินได้ฟัง และการพิจารณา

    ในเมื่อความจริงเป็นเช่นนั้น ก็จะมีสภาพธรรมที่รู้ความจริงเช่นนั้นได้ด้วย แต่ก็ต้องอาศัยการอบรมเจริญค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป เพราะเหตุว่าเราได้สะสมความไม่รู้มานานแล้วใช่ไหม ก็ยังไม่ต้องย้อนกลับไปถึงชาติก่อนๆ ก็ได้ ชาตินี้ตั้งแต่เกิดมา ตั้งแต่รู้ความมา ก็เป็นเราที่เห็น ก็เป็นเราที่ได้ยิน เป็นเราที่ได้กลิ่นลิ้มรสกระทบสัมผัส แล้วก็กระทำสิ่งต่างๆ มีเรื่องราวมากมาย ฉะนั้นเมื่อมาฟังพระธรรม ก็แล้วแต่ว่าแต่ละคนจะสะสมอบรมเจริญความเข้าใจมามากมายเพียงใด ฉะนั้นแต่ละคนก็เป็นผู้ที่ตรงกับตัวเอง ไม่ใช่ว่าเห็นก็เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่เวลาเราเห็นจริงๆ เห็นเป็นเราเห็น เห็นเป็นหน้าต่าง เห็นเป็นอะไรต่างๆ มากมาย ก็ต้องตรงกับตัวเอง เพราะเหตุว่าจริงๆ แล้วพระอริยสาวกทั้งหลาย หรือว่าผู้ที่รู้ความจริงแล้วก็เห็นเช่นเดียวกับเรา แต่ว่าไม่เข้าใจผิด ด้วยความไม่รู้ที่เราสะสมมานานก็เป็นเช่นนี้

    ผู้ฟัง ขอเล่าเรื่องการทดลองจิตของตัวเองให้เพื่อนหมู่ที่ฟังธรรมด้วยกัน เป็นเรื่องน่าขำสำหรับผม คือเมื่อได้ฟังการบรรยายธรรมของท่านอาจารย์ครั้งที่ ๓ ก็ยังไม่เชื่อว่าจิต เจตสิก รูปอะไรต่างๆ จะไม่ใช่เรา ก็พยายามหาวิธีว่าทำอย่างไรดี วันหนึ่งก็ไปที่แม่กลอง ก็ขึ้นรถเพื่อน ขับเอง ทำอย่างไรจะได้ครบทั้งหมด ก็เอาทอฟฟี่ขึ้นมาอม อันนี้รส แล้วก็มือสัมผัสพวงมาลัย นี่สัมผัส แล้วก็เบาะ แล้วก็ฟังเสียงเครื่องยนต์ ขณะที่เสียงเครื่องยนต์ติด ก็ขับไปด้วย ตาก็มองเห็น ก็พยายามนึกอย่างไรก็เป็นเรา พร้อมกันหมดเลย ก็ขับไปโดยเร็วมาก สักพักก็ไปเจอตำรวจอยู่ข้างหน้า แล้วก็เรียกให้จอดเขาบอกว่า คุณขับรถเร็วผิดกฎหมาย ผมก็เสียค่าปรับไปแล้ว ก็นึกนี่ไม่ใช่เราจริงๆ เป็นจิต เสียค่าปรับไป ๒๐๐ บาทเป็นการทดลอง ก็คิดหาวิธีอยู่ แต่ผมคิดว่าเป็นวิธีที่ผิด แต่มันนึกก็น่าขำดี พออะไรที่ดีๆ ก็คิดว่าเรา แต่พออะไรที่ไม่ใช่ ก็ผลักภาระให้จิตไป

    ท่านอาจารย์ เป็นผู้ตรงหรือเปล่าตอนที่ผลักภาระ เพราะฉะนั้นก็จะรู้จักตัวเองขึ้น แล้วก็เรื่องของเรื่องก็คือว่าไม่ต้องไปขับรถ แล้วไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่ต้องไปอมทอฟฟี่ ขณะนี้สิ่งนี้เกิด ใครก็บังคับบัญชาที่จะไม่ให้เกิดไม่ได้ แล้วก็ต้องเกิดเป็นเช่นนี้ด้วย แม้แต่เสียงที่ได้ยินก็จะต้องเป็นเช่นนี้ ได้ยินเสียงอื่นไหม เห็นไหม บังคับได้ไหมที่จะไม่ให้ได้ยิน ทุกอย่างมีแล้วตามเหตุตามปัจจัย แต่ความเป็นเราก็ยังอยากจะทำอย่างอื่น ซึ่งไม่ใช่การที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีจริงๆ ในขณะนี้ เพราะฉะนั้นกว่าจะรู้ว่าไม่ต้องทำอะไรก็มี ขาดไปจากโลกนี้วันไหนเมื่อใด หรือว่าไม่เคยออกไปจากโลกนี้ได้เลยสักขณะเดียว มีปัจจัยพร้อมไม่ต้องคอยไม่ต้องหวังอะไรเลย อย่างไรก็ต้องเห็น อย่างไรก็ต้องได้ยิน อย่างไรก็ต้องได้กลิ่น อย่างไรก็ต้องได้อมทอฟฟี่ ถ้าถึงเวลาที่จะได้อม ก็เป็นเรื่องที่ว่า มีความเป็นเราที่ยังยึดถืออยู่ แต่ไม่ใช่ปัญญาที่รู้จริงๆ ในความเป็นธรรม

    เพราะเราพูดว่าทุกอย่างเป็นธรรม นี่เราฟังแล้วเราก็ค่อยๆ เข้าใจ แต่ความเป็นธรรมของทุกอย่าง เช่น โลภะ ความติดข้องต้องการความสนุกสนานรื่นเริง ของเราหรือของเขา หรือของใคร โลภะ เหมือนกันหรือต่างกัน โทสะ ความขุ่นใจความโกรธของเรา หรือของเขา หรือของใครเหมือนกันไหม นั่นคือความเป็นธรรม ขณะใดที่สภาพธรรมใดปรากฏ เราลืมเรื่องที่เราฟังว่าทุกอย่างเป็นธรรมจนกว่าฟังแล้วไม่ลืม เพราะฉะนั้นแม้แต่การที่จะลืมหรือไม่ลืม ก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา

    เพราะฉะนั้นเราต้องเรียนละเอียดว่าสภาพธรรมใดเป็นสภาพที่จำ สภาพธรรมใดเป็นสภาพธรรมที่ตรึก ทั้งหมดทุกวันเป็นธรรมหมด แต่ทรงแสดงว่าสติเป็นประโยชน์ในที่ทั้งปวง เพราะฉะนั้นถ้าสติเป็นประโยชน์ในที่ทั้งปวง ต่อไปก็จะรู้ว่าสติคืออย่างไร ถ้าเป็นประโยชน์ในที่ทั้งปวง เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เป็นกุศล แต่ถ้าพูดว่ากุศลยังแคบ ความจริงลักษณะของสติเป็นโสภณคือเกิดกับกุศลจิตก็ได้ เกิดกับกิริยาจิตของพระอรหันต์ก็ได้ เกิดกับวิบากจิตก็ได้ เพราะฉะนั้นจึงใช้คำที่กว้างกว่า

    เวลาพูดถึงเรื่องชาติของจิต ต่อไปนี้ก็คงไม่ลืมว่ามี ๔ ชาติ กุศลหนึ่ง อกุศลหนึ่ง วิบากหนึ่ง กิริยาอีกหนึ่ง เจตสิกมีชาติไหม ลองคิด คือ ธรรมถ้าคิดเองเป็นปัญญาของเราเอง สำคัญที่สุด ถ้ามีแต่คนบอกให้ตลอดเวลา เราก็ไม่สามารถที่จะรู้จริงๆ ว่าเราเข้าใจจริงๆ หรือเปล่า แต่ถ้าถามให้คิด เจตสิกมีชาติไหม เจตสิกต้องเกิดกับจิต เข้ากันสนิทเพราะว่าเป็นนามธรรมด้วยกัน นามกับรูปต่างชนิด รูปจะเป็นนามไม่ได้ นามจะเป็นรูปไม่ได้ แต่นามคือนามธรรมหมายความถึงสภาพที่ไม่มีรูปร่างใดๆ เจือปนเลยทั้งสิ้น แล้วก็เป็นสภาพรู้ ทั้งจิตก็รู้ ทั้งเจตสิกก็รู้ แต่จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้

    เพราะฉะนั้นที่จิตเกิดขึ้นจะไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยได้ไหม ไม่ได้เลย ถ้าจิตเป็นกุศลเพราะอะไร เพราะเจตสิกต่างหากที่เป็นกุศลเกิดกับจิต ทำให้จิตนั้นเป็นกุศล เพราะเหตุว่าลักษณะของจิตจริงๆ ไม่จำ ไม่คิด ไม่อะไรทั้งหมด เป็นเพียงสภาพรู้แจ้งในสิ่งที่ปรากฏที่เป็นอารมณ์ จิตสามารถที่จะรู้คือเห็นได้ทุกอย่าง ได้ยินได้ทุกเสียง ได้กลิ่นทุกชนิด ลิ้มรสได้ทุกอย่าง กระทบสัมผัสได้ทุกอย่าง เป็นใหญ่เป็นประธานในหน้าที่ของจิตคือรู้อารมณ์ แล้วแต่ว่าเจตสิกใดจะเกิดกับจิต ถ้าเป็นเจตสิกฝ่ายดีก็ทำให้จิตนั้นเป็นกุศล ถ้าเจตสิกฝ่ายไม่ดีก็ทำให้จิตนั้นเป็นอกุศล

    เพราะฉะนั้นจิตเป็นกุศล เจตสิกที่เกิดร่วมกันเป็นกุศล ถ้าจิตเป็นกุศล เจตสิกเป็นอกุศลเกิดร่วมกันได้ไหม ไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าจิตต้องเกิดพร้อมกับเจตสิก และเมื่อเจตสิกเป็นกุศล จิตนั้นก็เป็นกุศล เจตสิกเป็นวิบากมีไหม ต้องมีความมั่นใจ จิตกับเจตสิกเกิดพร้อมกันดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกันเกิดที่เดียวกัน เข้ากันได้สนิท สภาพธรรมที่เกิดพร้อมกันดับพร้อมกันรู้อารมณ์เดียวกันเข้ากันได้สนิท โดยสัมปยุตตปัจจัย มีอีกปัจจัยหนึ่งถ้าเราจะเรียนเรื่องปัจจัยคลี่คลายความเป็นสัตว์เป็นบุคคลออกหมด ก็เหลือแต่สภาพธรรมซึ่งต่างก็เป็นปัจจัยซึ่งกัน และกันทำให้เกิดขึ้น สภาพของจิต และเจตสิกที่เกิดร่วมกันเข้ากันสนิท โดยเป็นสัมปยุตตปัจจัยแยกกันไม่ออก

    เช่น พริกแกง หอม กระเทียม กะปิ เราเอาไปป่นไปตำเข้ากันใส่กะทิน้ำปลาเข้าไป ไม่สามารถที่จะแยกออกเลยว่าส่วนไหนเป็นมะกรูด หรือส่วนไหนเป็นพริก ส่วนไหนเป็นกระเทียม ส่วนไหนเป็นหอม นั่นเป็นรูป แต่นามธรรมเป็นสัมปยุตตปัจจัย ไม่มีรูปร่างใดๆ เจือปนเลยทั้งสิ้น แต่ว่าเป็นสภาพของนามธาตุซึ่งเกิดร่วมกัน แล้วก็ดับพร้อมกันรู้อารมณ์เดียวกัน เพราะฉะนั้นเจตสิกที่เป็นวิบากมีไหม มี เจตสิกที่เป็นกิริยามีไหม มี เพราะฉะนั้นทั้งจิต และเจตสิก มี ๔ ชาติ คือเป็นกุศลหนึ่ง เป็นอกุศลหนึ่ง เป็นวิบากหนึ่ง เป็นกิริยาหนึ่ง เดี๋ยวนี้หรือเปล่า เดี๋ยวนี้ ไม่ทราบมีคำถามอะไรหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ถ้าตาเห็น อีก ๕ ทวารดับ ช่วงดับหลับหรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ จิตเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ หนึ่งขณะจิตนี้จะรู้อะไรก็รู้เพียงอย่างเดียว เพราะฉะนั้นถ้าเป็นจิตเห็น ขณะนั้นจะไม่มีอย่างอื่นเลย ย่อส่วนทั้งหมดที่ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า และขณะจิตทั้งหมดเหลือเพียงหนึ่งขณะจิต ก็จะรู้ว่าขณะที่จิตเห็นเกิด จิตอื่นไม่มี เพราะว่าจิตเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ เมื่อจิตได้ยินเกิด จิตอื่นก็ไม่มี เพราะว่าจิตเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ

    ผู้ฟัง ถ้าหากว่าจิตไม่เป็นหัวหน้าของรูป แล้วเวลาจิตรู้เรื่องอะไร ทำไมรูปจะต้องปฏิบัติตามด้วย

    ท่านอาจารย์ คำว่าหัวหน้ากับการปฏิบัติตามนี่หมายความว่าอะไร เพราะเหตุว่ารูปไม่ใช่สภาพรู้ รูปไม่รู้อะไรเลย รูปไม่รู้ว่าจิตคิดอะไร รูปจะรู้ได้อย่างไรว่าจิตคิดอะไร เพราะเหตุว่ารูปไม่ใช่สภาพรู้ แต่เมื่อมีจิตปรารถนาเกิดขึ้น ก็เป็นปัจจัยให้รูป เคลื่อนไหวไปตามความปรารถนาของจิต แต่ไม่ใช่หมายความว่ารูปรู้ว่าจิตต้องการอะไรแล้วก็ทำตามรูป เพราะเหตุว่ารูปไม่ใช่สภาพรู้เลย

    ตอนนี้ที่จะต้องทราบก็คือว่าจิตกับเจตสิกเกิดร่วมกันจริง แต่ใครเป็นหัวหน้า หัวหน้าที่นี่หมายความว่าเป็นใหญ่ในการรู้แจ้งอารมณ์ เพราะเหตุว่าจริงๆ แล้วลำพังจิต จิตไม่ใช่ปัญญาเจตสิก จิตไม่ใช่สติเจตสิก จิตไม่ใช่อโทสะ อโลภเจตสิกใดๆ เลยทั้งสิ้น จิตเป็นจิตซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ แม้เจตสิกจะเกิดกับจิต ทำหน้าที่ของเจตสิกแต่ละอย่าง แล้วก็รู้อารมณ์เดียวกับจิตก็จริง แต่ไม่เป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์ เพราะฉะนั้นความหมายของหัวหน้าที่กล่าวนี้ ก็คือจิตนั่นเอง เป็นหัวหน้า หรือเป็นใหญ่ก็เพราะเหตุว่าเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ อารมณ์จริงๆ ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ด้วยการรู้แจ้งของจิต แล้วแต่ว่าเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตจะทำหน้าที่อะไรในขณะนั้น แต่ไม่ใช่เจตสิกเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์

    อ.สุภีร์ เมื่อเทียบความใหญ่ระหว่างจิตกับเจตสิกแล้ว จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ เพราะเหตุว่าเมื่อจิตเกิดขึ้น ทุกท่านก็ทราบแล้วว่ามีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เจตสิกมีถึง ๕๒ ประเภท ซึ่งหลายๆ ท่านก็คงจะเคยได้ยินชื่อของเจตสิกไปบ้าง เช่น เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก ปัญญาเจตสิก โลภเจตสิก โทสเจตสิก เป็นต้น ซึ่งโดยประเภทแล้วแยกออกเป็น ๕๒ ประเภท เจตสิกทั้ง ๕๒ ประเภทไม่ได้เกิดร่วมกับจิตทั้งหมด มีเฉพาะบางประเภทเท่านั้นที่เกิดร่วมกับจิต เมื่อจักขุวิญญาณคือจิตเห็นเกิดขึ้นมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ประเภท คืออย่างน้อยที่สุด เมื่อจิตเกิดจะมีเจตสิกเกิดประกอบร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุด ๗ ประเภท เรียกเจตสิกประเภทนี้ว่าสัพพจิตตสาธารณเจตสิก สัพพก็คือทั้งปวง จิตก็คือจิตนั่นเอง สัพพจิตตก็คือจิตทั้งปวง สาธารณะก็คือทั่วไปหมด

    สัพพจิตตสาธารณเจตสิกมี ๗ ประเภท ก็คือ เจตสิกทั้ง ๗ ประเภท ต้องเกิดกับจิตทุกประเภทเลย ฉะนั้นจิตมีเจตสิกเกิดประกอบร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุด ๗ ประเภท ซึ่งจิตที่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ประเภท ก็มีอยู่ ๑๐ ดวงเท่านั้นเอง ก็คือมีจิตเห็น เป็นต้น แต่ถ้าเป็นจิตประเภทอื่นๆ อย่างเช่น จิตที่เป็นอกุศลอย่างนี้ ก็ต้องมีเจตสิกที่เป็นอกุศลเกิดร่วมด้วย ถ้าเป็นจิตที่เป็นชาติกุศลก็ต้องมีเจตสิกที่เป็นชาติกุศลเกิดร่วมด้วย ฉะนั้นก็จะมีเจตสิกมากกว่านี้อีก ก็คือมากกว่า ๗ อีก ฉะนั้นเจตสิกบางประเภทแม้ไม่เกิดร่วมกับจิต จิตก็เกิดได้ เช่น เวลาจิตเห็นเกิดขึ้นมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ประเภท ปัญญาเจตสิกไม่ได้เกิดร่วมด้วย สติเจตสิกไม่ได้เกิดร่วมด้วย เจตสิกบางประเภทแม้ไม่เกิด จิตก็สามารถเกิดได้ แต่เมื่อใดก็ตามที่จิตไม่เกิด เจตสิกไม่สามารถจะเกิดได้เลย ฉะนั้นเมื่อเทียบกันโดยความเป็นใหญ่แล้ว จิตจึงเป็นใหญ่กว่าเจตสิก

    ท่านอาจารย์ ต่อไปก็จะได้ยินคำว่าอินทรีย์ที่เป็นใหญ่ ไม่ใช่แต่เฉพาะจิต จิตเป็นมนินทรีย์ แต่เวทนาความรู้สึกทุกอย่างเป็นอินทรีย์ด้วย สุขินทรีย์ ทุกขินทรีย์ โสมนัสสินทรีย์ โทมนัสสินทรีย์ อุเปกขินทรีย์ ความรู้สึกหรือเวทนาเป็นใหญ่หรือไม่ เวลาทุกข์เกิดขึ้นเป็นอย่างไร ครอบคลุมจิต จนกระทั่งสภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต เป็นทุกข์หมดเลย ไม่ว่าจะเป็นความนึกคิด หรือไม่ว่าจะเป็นเจตสิกใดๆ ที่เกิดร่วมในขณะนั้น เพราะความเป็นอินทรีย์ของเวทนาเจตสิก เวลาสนุกสนานโสมนัส เจตสิกทั้งหมดก็พลอยปลาบปลื้มโสมนัสไปด้วยในขณะนั้น จิตซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในขณะนั้น เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ แต่เวลาที่โสมนัสเวทนาเกิด จิตเกือบจะไม่มีปรากฏเลย เพราะเหตุว่าความรู้สึกนั้นเป็นใหญ่มาก ถ้าอย่างคนที่เป็นทุกข์มากๆ ก็สามารถที่จะรู้ได้

    เพราะฉะนั้นแต่ละสภาพธรรม ถ้าศึกษาโดยละเอียดก็จะเห็นว่ามีสภาพธรรมที่เป็นเจตสิกอื่นๆ ด้วยที่เป็นอินทรีย์แต่ละอย่าง ก็เป็นชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้นก็ต้องเข้าใจแต่ละคำ คือความหมายของอินทรีย์ที่เป็นใหญ่ เป็นใหญ่ต่างกันอย่างไร ถ้าจิตเป็นใหญ่ ก็หมายความว่าเป็นใหญ่ในการรู้แจ้งอารมณ์ ถ้าเวทนาความรู้สึกเป็นใหญ่ ก็เป็นใหญ่ในความรู้สึก ไม่ว่าจะเป็นสุข หรือเป็นทุกข์ หรือเป็นอุเบกขาก็ตามแต่


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 6
    9 ส.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ