สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 019
สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ ๑๙
วันจันทร์ที่ ๘ กรกฏาคม ๒๕๔๕
ท่านอาจารย์ สิ่งที่ปรากฏทุกวัน ก็เพราะจิต เพราะฉะนั้นก็เป็นสิ่งที่เราควรจะได้เข้าใจสิ่งที่มีอยู่กับเรา และก็เคยคิดถึงว่าเป็นเรา
ผู้ฟัง ได้ฟังมาว่าจิตเป็นสภาพรู้อารมณ์ แต่ก็ยังกล่าวว่าจิตก็คิด ตรงนี้จะต่างกันอย่างไร ที่ว่าจิตคิด กับจิตที่รู้อารมณ์
ท่านอาจารย์ เป็นคำแปลจากภาษาบาลี ขอเชิญคุณสุภีร์
อ.สุภีร์ ที่กล่าวว่าจิตคิด ก็จิตรู้แจ้งอารมณ์นี่เป็นคำอธิบายกัน และกัน ลักษณะของจิตก็คือ อารมฺมณํ จินฺเตติ ก็คือคิดซึ่งอารมณ์ นี้คือแปลเป็นภาษาไทย แต่จริงๆ แล้วความหมายก็คือว่า ต้องรู้อารมณ์ จิตเกิดขึ้นจะไม่รู้อารมณ์ไม่ได้ ฉะนั้นคำว่าคิดอารมณ์ คิดเรื่องราวต่างๆ นี่เป็นคำแปลในภาษาไทย แต่ว่าลักษณะของจิตจริงๆ ก็คือจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ เมื่อมีจิตเกิดขึ้นจะไม่มีอารมณ์ไม่ได้ อารมณ์คือสิ่งที่จิตรู้นั่นเอง ฉะนั้นความหมายของคำว่าคิดในที่นี้ไม่ใช่หมายความว่าคิดแบบที่ภาษาไทยเราคิด แต่หมายถึงว่าแม้ขณะที่เรานอนหลับสนิทไม่ได้คิดอะไรเลย แต่จิตก็มีลักษณะที่รู้อารมณ์เพราะว่าขณะนั้นมีจิตอยู่ ขณะใดที่มีจิตขณะนั้นก็ต้องมีการรู้อารมณ์เสมอ
ผู้ฟัง จิตคิดถึงอารมณ์ แล้วมีคำว่าวิตักกเจตสิก จะต่างอะไรกับคิด
ท่านอาจารย์ ก่อนอื่น ก็ควรที่จะได้ทราบว่าแม้ว่าจิตมีจริง แต่ช่างรู้ยากเสียเหลือเกิน เช่น ถ้าจะอ่านตำหรับตำราอื่น ก็ไม่ทราบว่าจะแสดงลักษณะของจิตให้ชัดเจนได้อย่างไร แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้จิตกำลังเกิดขึ้นทำกิจการงานเพราะเหตุว่าจิตเป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้ ส่วนเจตสิกก็เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งเกิดกับจิตเป็นนามธรรม แต่ถ้าจะพูดถึงจิตในลักษณะที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ถ้าไม่มีจิตสภาพธรรมอื่นซึ่งเป็นนามธรรม เช่น ความรู้สึกความ จำความโกรธ หรือความชอบใจ ไม่ชอบใจต่างๆ ก็เกิดไม่ได้เลย แต่เมื่อมีจิตแล้ว เจตสิกอื่นๆ ก็เกิดกับจิต มีลักษณะของเจตสิกนั้นๆ ซึ่งต่อจากนี้ไป เมื่อได้รู้เรื่องของจิตโดยละเอียด ก็คงจะต้องกล่าวถึงเจตสิกโดยละเอียดด้วย แต่สำหรับปกติธรรมดา ทุกคนรู้ว่ามีจิตแต่ก็ควรที่จะได้เข้าใจลักษณะของจิต เช่นในขณะนี้ ถ้ากล่าวว่าทุกคนมีจิต ขณะนี้จิตอยู่ที่ไหน และจิตกำลังทำอะไร แต่ก่อนที่จะได้ศึกษาธรรมทุกคนก็คิดว่าทุกคนทำทุกอย่าง แต่ความจริงถ้าไม่มีจิต จะทำอะไรไม่ได้เลยสักอย่างเดียว เพราะฉะนั้นที่ทำก็คือหน้าที่การงานของจิตที่เกิดขึ้น แต่ว่าในภูมิคือที่เกิดของจิตที่มีรูปเกิดด้วย เวลาที่จิตเกิดก็ต้องอาศัยรูปด้วย เช่นในขณะนี้จิตกำลังเห็น ไม่ใช่เราเห็นเลย ไม่มีเราถ้าไม่มีสภาพซึ่งสามารถเห็นได้เกิดขึ้นโดยอาศัยตา ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง แต่ถ้าไม่เข้าใจก็คิดว่าเป็นเราเห็นตลอดเวลา แต่เมื่อศึกษาเรื่องจิตก็จะทราบว่าเป็นจิตประเภทหนึ่ง ซึ่งต้องอาศัยตาเกิดขึ้น และก็กำลังเห็นในขณะนี้ สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นเพียงลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ซึ่งจิตกำลังเห็นอยู่ในขณะนี้ เวลาที่ฟังธรรมถ้าสามารถที่จะพิจารณาเข้าใจสิ่งที่กำลังมีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ก็จะทำให้เข้าใจสภาพธรรมเร็วขึ้น คือไม่ไปติดอยู่ที่คำหรือเรื่องราว แต่มีสภาพธรรมจริงๆ ที่สามารถที่จะพิสูจน์ได้ในขณะ เช่นจิตขณะนี้กำลังทำหน้าที่เห็น เวลาที่ได้ยิน โต๊ะเก้าอี้ได้ยินอะไรไม่ได้เลยเพราะว่าไม่ใช่สภาพรู้ แต่จิตสามารถที่จะอาศัยหูโสตปสาทรูปรูปเกิดขึ้นได้ยินเสียง เสียงจึงปรากฏได้ เพราะฉะนั้นถ้าในขณะนี้ทุกคนลืมเรื่องรูปให้หมด ไม่คิดถึงรูปหนึ่งรูปใดทั้งสิ้น ไม่มีรูปร่างกายของเราตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าแต่มีจิตกำลังเห็น
ดังนั้น เพื่อที่จะได้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นนามธรรมเกิดขึ้นแล้วก็ทำหน้าที่ตลอดเวลา จิตเกิดขึ้นจะไม่ทำกิจหน้าที่ใดๆ ไม่ได้เลยทั้งสิ้น ทุกครั้งที่จิตเกิดจิตต้องทำหน้าที่ จิตขยันไหม กำลังหลับมีจิต แน่นอนขณะนั้นจิตก็ทำหน้าที่แต่ไม่ใช่หน้าที่เห็น ไม่ใช่หน้าที่ได้ยิน ไม่ใช่หน้าที่ได้กลิ่น ไม่ใช่หน้าที่ลิ้มรส ไม่ใช่หน้าที่รู้สิ่งที่กำลังกระทบกาย ไม่ใช่หน้าที่คิดนึก แต่ต้องทำหน้าที่นั้นไปเรื่อยๆ จนกว่าจะตื่น เพราะฉะนั้นจิตก็มีหน้าที่ของจิต แต่ละชนิดแต่ละประเภท จริงๆ แล้วก็เป็นเรื่องที่จะว่ายากก็ยาก จะว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วก็ค่อยๆ ฟังค่อยๆ เข้าใจเพื่อที่จะรู้ว่าแท้ที่จริงแล้วที่เคยยึดถือว่าเป็นเราก็คือสภาพธรรมที่มีจริงซึ่งเป็นปรมัตธรรม ซึ่งขอทบทวนเล็กน้อยสำหรับท่านผู้ฟังใหม่ คือ ปรมัตถธรรมจะมี ๓ อย่างที่เกิดขึ้น และดับไป คือจิต เจตสิก รูป เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ แต่มีปรมัตถธรรมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งชาวพุทธคุ้นหูคือนิพพาน แต่ว่าขณะนี้มีจิต มีเจตสิก รูปเกิด เพราะเหตุว่านิพพานไม่สามารถที่จะรู้ได้โดยจิตเท่านั้น แต่ต้องด้วยปัญญาซึ่งเป็นสภาพของเจตสิกชนิดหนึ่งซึ่งสามารถเข้าใจถูกในสภาพธรรมจนกระทั่งสามารถรู้แจ้งปรมัตถธรรมอีกอย่างหนึ่งคือนิพพานได้ โดยมากทุกคนได้ยินชื่อนิพพาน เมื่อได้ยินก็อยากถึงไหม อยากได้อยากถึงแต่ไม่ทราบว่านิพพานเป็นอย่างไร แล้วก็อยากได้อะไรในสิ่งที่ไม่ทราบ ก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง คือโลภเจตสิก โลภเจตสิกภาษาไทยเราได้ยินบ่อยๆ คือโลภ แต่ว่าเราคิดถึงโลภในลักษณะที่ว่าต้องมีความต้องการอย่างมากมาย แต่ว่าจริงๆ แล้วลักษณะของเจตสิกแต่ละอย่างไม่ว่าจะเล็กน้อยหรือจะมากก็ต้องเป็นลักษณะอย่างนั้น เช่นโลภะเป็นสภาพที่ติดข้องแม้นิดเดียว เหมือนไฟที่ร้อนนิดเดียวก็ร้อนจนกระทั่งถึงไฟที่สามารถจะไหม้บ้านเรือน ทำลายหลายบ้านหลายเรือนหรือหมู่บ้านหนึ่งก็ได้ นั่นก็เป็นเรื่องของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นสำหรับการที่ศึกษาธรรมต้องค่อยๆ ฟังค่อยๆ พิจารณา แล้วก็พิจารณาด้วยความเข้าใจว่าแต่ละท่านมีความเข้าใจในสิ่งที่ได้ฟังหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน ถ้าสงสัยตรงไหนก็ทบทวนหรือว่าฟังบ่อยๆ เช่น คำว่าจิตคำเดียว เป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ ซึ่งขณะใดที่เกิดต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด จิตเกิดขึ้นจะไม่รู้อะไรไม่ได้เลย มีคำถามไหมตอนนี้ ทุกคนมีจิต กำลังเห็นเป็นจิต กำลังได้ยินเป็นจิตกำลังคิดนึกเป็นจิต ทุกขณะไม่ปราศจากจิตเลยตั้งแต่เกิดจนตาย คุณอรรณพมีข้อความเพิ่มเติมจากพระไตรปิฏกหรือไม่ในเรื่องนี้
อ.อรรณพ มีพระสูตรที่แสดงถึงความกลิ้งกลอกแล้วก็ความที่จิตถ้าคิดไปในทางที่ไม่ดี หรือว่าตั้งไว้ผิดก็จะเป็นโทษมาก ก็มีข้อความในธัมมปทัฏฐกถา อรรถกถาขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เรื่อง นันทะโคบาล เรื่องโดยสรุป นายนันทะเป็นผู้ที่มีฐานะมั่งมีคนหนึ่งแต่ต้องการที่จะหลบพระราชาในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ก็เลยมาเลี้ยงโคแล้วก็รักษาขุมทรัพย์ของตนไว้ ก็มาเลี้ยงโคของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ซึ่งเรารู้จักท่านว่าท่านเป็นเศรษฐีอยู่ที่พระนครสาวัตถี ซึ่งเป็นผู้ที่เลิศในการบริจาคทาน สำหรับนายนันทะโคบาลเมื่อมาเลี้ยงโคอยู่ ก็ได้มีโอกาสพบกับพระศาสดา ฟังธรรมแล้วก็เลื่อมใสอยากจะให้พระองค์เสด็จมา ณ ที่อยู่ของตน แต่พระองค์ก็ยังไม่ทรงเสด็จมาเพราะว่าญาณของนายนันทะโคบาลยังไม่แก่กล้า รอจนกระทั่งเป็นโอกาสได้เหตุปัจจัยที่ญาณของเขาแก่กล้าแล้วพระองค์ก็ได้เสด็จมา แล้วก็ได้ประทับนั่งที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง นายนันทะโคบาลได้เข้าไปเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคมแล้วก็นิมนต์พระศาสดาเพื่อที่จะได้ถวายปัญจโครสอันปราณีต ซึ่งพระองค์ก็ได้ทรงรับเป็นประธานสงฆ์ในการที่รับมหาทานของนายนันทะโคบาลถึง ๗ วัน ในวันที่ ๗ ก็ทรงแสดงธรรมแก่นายนันทะโคบาล นายนันทะโคบาลก็ได้เป็นพระโสดาบัน เมื่อถึงการละที่เหมาะควรก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน แต่กรรมของใครที่ทำมา เมื่อได้เหตุปัจจัยก็ส่งผลคือวิบากตามสมควรกับเหตุปัจจัย เมื่อนายนันทะโคบาลได้ฟังธรรมแล้วเป็นพระโสดาบันแล้ว ก็จะส่งเสด็จพระศาสดา พระศาสดารับสั่งให้กลับไป มีพระดำรัสว่าอุบาสกจงหยุดเถิด แล้วก็อุบาสกนั้คือนายนันทะโคบาลก็ถวายบังคมพระศาสดากลับไป กลับไปก็เลยถูกพรานคนหนึ่งแทงตาย ซึ่งจริงๆ แล้วที่ทรงรอจนญาณของนายนันทะโคบาลแก่กล้าแล้วก็เสด็จมาโปรด มารับปัญจโครสที่ถวายถึง ๗ วันแสดงธรรมจนกระทั่งนายนันทะโคบาลให้เป็นพระโสดาบัน แม้กระนั้นเมื่อนายนันทะโคบาลเนี่ยถูกแทงตาย ภิกษุก็ยังโทษพระพุทธเจ้าว่าเป็นเหตุที่ทำให้นายนันทะโคบาลต้องเสียชีวิต มีข้อความว่าพวกภิกษุที่เห็นเข้าที่มาข้างหลัง จึงไปกราบทูลให้ศาสดาว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นายโคบาลชื่อนันทะถวายมหาทานตามทรงเสด็จแล้วกลับไป ถูกนายพรานฆ่าเสียแล้ว ก็เพราะความที่พระองค์เสด็จมาแล้วในที่นี้ ถ้าว่าพระองค์จักมิได้เสด็จมาแล้วไซร้ความตายก็จักไม่มีแก่เขาเลย ก็กลับไปคิดอย่างนั้นว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาจะเป็นเหตุให้นายนันทะโคบาลต้องตาย อย่างนี้ก็เป็นเรื่องที่ให้เห็นถึงจิตที่ตั้งไว้ผิด คิดไปได้ถึงอย่างนั้น ไม่เห็นในพระมหากรุณาคุณเลย แล้วก็ไม่รู้ด้วยว่ากรรมของใครก็เป็นกรรมของคนๆ นั้น พระศาสดาตรัสว่า ภิกษุทั้งหลายเมื่อเรามาก็ตาม มิได้มาก็ตาม เชื่อว่าอุบายเป็นเครื่องพ้นจากความตายของนันทะนั้นแม้ผู้ไปสู่ทิศใหญ่ ๔ สู่ทิศน้อย ๔ ย่อมไม่มี ด้วยว่าจิตเท่านั้นซึ่งตั้งไว้ผิดแล้ว อันเป็นไปในภายในของสัตว์เหล่านี้ย่อมทำความพินาศ ที่พวกโจรหรือพวกคนจองเวรทำไม่ได้ดังนี้ แล้วตรัสพระคาถานี้ว่าจิตซึ่งตั้งไว้ผิดแล้ว พึงทำเขาให้เลวทรามยิ่งกว่าความพินาศที่โจรเห็นโจร หรือคนจองเวรเห็นคนจองเวรทำแก่กันนั้นเสียอีก พระคาถานี้ก็เป็นที่พระองค์ท่านได้ตรัส ก็เป็นการที่แสดงให้เห็นถึงว่าจิตที่ตั้งไว้ผิดด้วยเหตุปัจจัยที่ทำให้เป็นอกุศลถึงขนาดนั้น กระทำให้บุคคลนั้นพินาศยิ่งกว่าการที่โจรเห็นโจร หรือคนจองเวรจะทำกับคนจองเวรกัน กราบเรียนอาจารย์ช่วยขยายความจากข้อความในพระสูตรนี้ ที่ว่าจิตที่ตั้งไว้ผิด ทำความเสียหายยิ่งกว่าเหตุใดๆ
ท่านอาจารย์ ไม่ทราบว่าพระสูตรคุ้นหูไหม เป็นข้อความที่ต้องคิด และต้องมีความเข้าใจในเรื่องที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งจะเกิดขึ้นในอดีต ก็ต้องมีเหตุมีปัจจัยเหมือนกับในปัจจุบันชาตินี้ อะไรจะเกิดขึ้นก็ต้องมีเหตุมีปัจจัย แต่ละชีวิต เราก็จะเห็นได้จากพระสูตร พระผู้มีพระภาคเสด็จไปเมื่อบุคคลนั้นมีญาณแก่กล้า ญาณหมายความถึงปัญญาความรู้รู้อะไร รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ตรงตามความเป็นจริง เพราะว่าตั้งแต่ต้น เราก็คงจะได้ยินคำว่าอนิจจังทุกขังอนัตตา จิตเป็นสภาพธรรมที่เกิดแล้วดับไม่เที่ยง ลักษณะที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ และก็เป็นสิ่งที่ไม่มีใครบังคับบัญชาได้เลย นี่คือลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นถ้าผู้ใดสามารถประจักษ์ความจริงขณะนี้ซึ่งเป็นอย่างนี้ ผู้นั้นก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบัน เพราะฉะนั้นกว่าจะเป็นพระโสดาบัน ก็ต้องเริ่มจากการเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ แม้แต่ในขั้นการฟังก่อน เพราะฉะนั้นเราคงจะไม่ไปตื่นเต้นกับคำที่ว่า ไม่รู้อะไรแต่ก็สามารถที่จะเป็นพระโสดาบันได้หรือว่าเป็นพระอริยะบุคคลใด เป็นไปไม่ได้เลยตามความเป็นจริงว่าเป็นเรื่องของปัญญาทั้งสิ้น ถ้าไม่มีปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จากการฟังตามลำดับแล้วก็มีการอบรมเจริญปัญญาตามลำดับ ก็จะไม่มีการรู้แจ้งอริยสัจธรรม เช่น นายนันทะโคบาล ถ้าไม่ถึงกาลพระผู้มีพระภาคจะไม่เสด็จไป แต่จะเสด็จไปเมื่อรู้ว่าเขาสามารถที่จะฟังพระธรรม แล้วก็มีความเข้าใจสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบันได้ เพราะฉะนั้นการตั้งจิตไว้ชอบตั้งแต่กาลที่ได้ฟังพระธรรม ก็คือเห็นคุณค่าเห็นประโยชน์ของพระธรรม แล้วก็ฟังด้วยกันไตร่ตรองด้วยการพิจารณาอย่างละเอียดไม่ข้าม เพื่อที่จะได้มีความเข้าใจถูกต้องจริงๆ ในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง
ขอย้อนไปถึงครั้งแรกที่มาที่นี่ แล้วก็พูดกันถึงเรื่องชื่อต่างๆ ของจิต คุณสุภีร์คงจะทบทวนให้ฟังได้ว่าพูดชื่ออะไรไปบ้างเพื่อที่จะได้เข้าใจจิตได้ถูกต้อง
อ.สุภีร์ ชื่อของจิตที่ได้สนทนากันไปก็หลายชื่อแล้ว ถ้ามีชื่อใดที่บางท่านยังไม่เข้าใจก็สามารถที่จะสอบถามได้ จิตนี้ชื่อว่าจิตต หรือ จิตตังเพราะว่าวิจิตร วิจิตร หมายถึงมีประการต่างๆ หลากหลาย นี้เป็นชื่อหนึ่งของจิต ก็คือจิตตัง หรือจิตต เพราะว่าวิจิตรต่างๆ มากมาย
ชื่อที่สองก็คือมโน ที่ชื่อว่ามโนเพราะว่าจิตเป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์ จิตจึงชื่อว่ามโน ต่อไป จิตชื่อว่าหทัยยะ หทัย เพราะเหตุว่าเป็นสภาพธรรมที่อยู่ภายใน สภาพธรรมอื่นแม้แต่เจตสิกเองซึ่งเป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณ์เช่นเดียวกับจิต แต่สิ่งใดที่อยู่ภายในลึกกว่ากัน จิตก็อยู่ภายในลึกกว่าเจตสิก ฉะนั้นจิตจึงชื่อว่าหทัยยะ หรือว่าหทัย
ชื่อต่อไปของจิตก็คือ วิญญาณ จิต ที่ชื่อว่าวิญญาณเพราะเหตุว่ารู้แจ้งอารมณ์ คำว่ารู้แจ้งอารมณ์นี้ หมายความว่าไม่ว่าอารมณ์จะมีความละเอียดขนาดไหน สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ว่าจะมีสีสันวรรณะมากมายต่างๆ ขนาดไหนจิตสามารถรู้ทุกๆ อย่างได้หมด และเป็นเหตุให้จิตต่อๆ ไปที่เกิดขึ้นสามารถคิดเรื่องสิ่งที่เห็นทางตาได้ ทุกๆ ประการ เสียงก็เช่นเดียวกัน โสตวิญญาณ จิตที่รู้เสียงที่เรียกว่าโสตวิญญาณสามารถรู้แจ้งเสียงได้ทุกๆ เสียง สามารถคิดได้ว่าเสียงนั้นเป็นเสียงด่า เสียงนี้เป็นเสียงชมเชยต่างๆ มากมาย หรือว่าเสียงนก เสียงคนที่เลียนเสียงนกก็ยังฟังรู้เรื่อง เพราะเหตุว่าจิตเป็นสภาพธรรมที่ชื่อว่าวิญญาณ คือรู้แจ้งอารมณ์ นี้เป็นชื่อที่เราได้สนทนากันมาแล้ว
อ.อรรณพ เรียนถามคุณสุภีร์ต่อเนื่องไปว่า ประการที่สองคือมโนใช่ไหม ทีนี้คำที่คล้ายกับมโนก็ยังมีอีก คำว่ามนัส มา-นัด-สะ มนะ ในรูปศัพท์หรือคำแปลจะต่างกันหรือไม่
อ.สุภีร์ คำว่ามโนกับคำว่ามนะเป็นคำเดียวกัน ก็คือเมื่อว่าตามภาษาบาลีแล้วจะเชื่อว่ามโน เวลาใช้มโนเป็นภาษาไทยก็ใช้คำว่ามนะ คำว่ามโนกับมนะเป็นคำเดียวกัน คือสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์ ส่วนคำว่ามนัส ภาษาบาลีเป็นคำว่ามานสัง ภาษาไทยใช้คำว่ามานัส หรือว่าแปลงออกมาอีกก็คือมนัส หลายๆ ท่านก็อาจจะได้ยินใช่ไหมคนที่ชื่อมนัสก็แปลว่าใจนั่นเอง เป็นอีกชื่อหนึ่งของจิต ถ้าเป็นภาษาบาลีใช้คำว่ามานสัง มานสังแปลว่ายินดี เพราะเหตุใดจิตจึงชื่อว่ามานสังที่แปลว่ายินดี เพราะว่าจิตนี้มีอารมณ์เป็นที่ยินดี จิตเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะไม่รู้อารมณ์ไม่ได้ฉะนั้นแม้แต่คำว่าอารัมมณะเองก็แปลว่าเป็นที่มายินดี เป็นที่มายินดีของอะไร ก็คือเป็นที่มายินดีของจิต และเจตสิก จิตนี้ชื่อว่ามานสังเพราะว่ายินดี คือยินดีในอารมณ์ไม่ใช่ว่าเป็นการยินดีแบบที่เรายินดีด้วยอยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่เป็นลักษณะของจิตหมายความว่า เมื่อจิตเกิดขึ้นจิตยินดีในอารมณ์ เมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องรู้อารมณ์ ต้องมีสิ่งที่จิตรู้ ขณะที่เราหลับสนิท เราไม่รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง หรือว่าไม่รู้อะไรเป็นอะไรเลย แต่จิตก็ยังมีอารมณ์อยู่เพราะว่าจิตชื่อว่ามานสังยินดีในอารมณ์
ผู้ฟัง ที่ว่าจิตวิจิตร อันที่จริงแล้วเจตสิกวิจิตร หรือจิตวิจิตรกันแน่ และอีกประการ จิตบางครั้งนี่อยากรู้เพราะเราใช่หรือไม่ เพราะเป็นตัวตนใช่ไหมที่อยากรู้ในวิปากจิตอย่างนี้ มีเหตุปัจจัยมาอย่างไรจึงต้องมาเป็นอย่างนี้ สิ่งที่รู้ไม่ได้ก็อยากรู้ ขอความกรุณาอาจารย์ช่วยขยายความ
ท่านอาจารย์ จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ แต่ว่าทุกครั้งที่จิตเกิดก็จะต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย นี้เป็นเหตุที่ทำให้จิตต่างกันเป็น ๘๙ ประเภท หรือว่า ๑๒๑ ชนิด ชนิดหรือประเภทหรือดวง ภาษาที่ใช้กันอยู่คือใช้คำว่าดวง แต่ก็หมายความถึงประเภทหรือชนิดนั่นเอง
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 001
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 002
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 003
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 004
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 005
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 006
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 007
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 008
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 009
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 010
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 011
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 012
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 013
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 014
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 015
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 016
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 017
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 018
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 019
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 020
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 021
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 022
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 023
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 024
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 025
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 026
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 027
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 028
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 029
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 030
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 031
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 032
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 033
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 034
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 035
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 036
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 037
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 038
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 039
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 040
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 041
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 042
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 043
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 044
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 045
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 046
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 047
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 048
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 049
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 050
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 051
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 052
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 053
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 054
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 055
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 056
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 057
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 058
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 059
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 060