สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 020


    สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ ๒๐

    วันจันทร์ที่ ๘ กรกฏาคม ๒๕๔๕


    ท่านอาจารย์ จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ แต่ว่าทุกครั้งที่จิตเกิดก็จะต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย นี่เป็นเหตุที่ทำให้จิตต่างกันเป็น ๘๙ ประเภท หรือว่า ๑๒๑ ชนิด ชนิดหรือประเภทหรือดวง ภาษาที่ใช้กันอยู่คือใช้คำว่าดวง แต่ก็หมายความถึงประเภทหรือชนิดนั่นเอง เช่น จิตเห็นก็เป็นจิตชนิดหนึ่ง จิตได้ยินก็เป็นจิตชนิดหนึ่ง เพราะเหตุว่าอาศัยเหตุปัจจัยต่างกันเกิดขึ้น และโลภมูลจิตคือจิตที่มีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วยก็เป็นจิตชนิดหนึ่ง โทสมูลจิตคือจิตที่มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วยก็เป็นจิตอีกชนิดหนึ่ง แล้วก็จิตที่เป็นกุศลก็มี จิตที่เป็นอกุศลก็มี ทั้งสองอย่างเป็นจิตที่เป็นเหตุ และก็จิตที่เป็นวิบากคือเป็นผลของกุศลกรรม และอกุศลกรรมก็มี

    เพราะฉะนั้นจิตจะเกิดโดยไม่มีเจตสิกไม่ได้ ทำให้จิตต่างๆ วิจิตรต่างๆ กันไป แล้วก็ต่างกันโดยชาติ อย่างในคราวก่อนเราก็ได้พูดถึง ๔ ชาติ จิตมี ๔ ชาติ คือ ๑.กุศล ๒.อกุศล ๓.วิบาก ๔.กิริยา ไม่ทราบจะทบทวนเรื่องนี้ด้วยไหม เพราะว่าไม่ทราบมีผู้ที่มาใหม่ๆ แต่ก็คงจะทบทวนไปได้

    อ.สุภีร์ ชาติของจิต ชา-ติ แปลว่าการเกิด เมื่อจิตเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่การงาน เรียกว่าชา-ติ หรือว่าชาติ จิตเกิดขึ้น มี ๔ ชาติ ก็คือ กุศล อกุศล วิบาก และกิริยา จิตที่เป็นชาติอกุศลหมายความว่าเป็นจิตที่ไม่ดี มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย เมื่อจิตนี้ให้ผล ก็คือให้วิบาก ก็จะให้เห็นสิ่งที่ไม่ดี ได้ยินสิ่งที่ไม่ดี หรือได้กลิ่นลิ้มรสกระทบสัมผัสสิ่งที่ไม่ดี หรือแม้แต่ถ้าเป็นกรรมที่สามารถให้ปฏิสนธิได้ก็ให้เกิดในภพภูมิที่ไม่ดี เช่นนี้เป็นอกุศล

    ชาติที่ ๒ คือกุศล เป็นประเภทของจิตที่ดี ประเภทของจิตที่ดี เมื่อให้ผลก็ให้เห็นสิ่งที่ดี ได้ยินสิ่งที่ดี ได้กลิ่นลิ้มรสกระทบสัมผัสสิ่งที่ดี และเมื่อให้ปฏิสนธิก็ให้ปฏิสนธิในภพภูมิที่ดี ซึ่งจิตทั้ง ๒ ชาติ ก็คือชาติกุศลอกุศล เป็นชาติที่เป็นเหตุ หมายถึงว่าเป็นสิ่งที่กระทำไว้แล้ว แล้วก็จะเป็นสิ่งที่จะให้ผลต่อไปในอนาคตได้

    สำหรับชาติที่ ๓ คือชาติวิบาก คำว่าวิปาก แปลว่าสุกงอม สุกงอมหมายถึงเป็นผลมาจากกุศล และอกุศล พร้อมที่จะให้ได้รับผลของสิ่งที่ได้ทำไว้แล้ว ก็คือให้เห็นบ้าง ให้ได้ยินบ้าง ให้ได้กลิ่นบ้าง ให้ลิ้มรสบ้าง ให้กระทบสัมผัสบ้าง หรือแม้แต่ให้ปฏิสนธิ ที่เรามาเกิดในภูมิมนุษย์ ขณะแรกก็คือปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นวิบากจิตนั่นเอง และจิตขณะสุดท้ายของชาตินี้ ก็คือจุติจิต ก็เป็นจิตชาติวิบากเช่นเดียวกัน ก็คือเป็นผลของกรรมที่เราได้ทำมาแล้ว ก็อยู่ที่ว่าจะเป็นผลของกุศลหรืออกุศลซึ่งเป็นเหตุ ซึ่งทุกท่านที่มาเกิดในภูมิมนุษย์ ก็ด้วยผลของกุศลกรรมที่ได้ทำมาแล้ว

    สำหรับชาติที่ ๔ คือชาติกิริยา ชาติกิริยาก็คือชาติที่ไม่ใช่กุศลอกุศลวิบาก เป็นจิตที่เกิดขึ้นสักว่าทำกิจหน้าที่การงานเท่านั้น คำว่ากิริยาแปลว่าสักว่ากระทำกิจหน้าที่การงาน ก็คือจิตที่ไม่ใช่เหตุ และก็ไม่ใช่ผลของเหตุ เพียงเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่การงานเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ ถ้าจะเข้าใจเรื่องของกุศลอกุศลวิบากกิริยา ก็คือต้องทราบว่าขณะนี้มีกุศลจิตไหม เป็นกุศลจิตหรือเปล่า กุศลจิตเป็นเราหรือเปล่า หรือว่าเกิดแล้วดับเลย ทุกขณะสิ่งที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา แท้ที่จริงก็คือสภาพธรรมที่มีเหตุปัจจัยเกิดแล้วดับ แต่ว่าไม่ประจักษ์การดับไปเลย เพราะเหตุว่ามีสภาพธรรมอื่นเกิดสืบต่อทันที เช่น ในขณะที่เห็น ขณะนั้นไม่ใช่ได้ยิน แต่เวลาที่ได้ยินขณะนั้นก็ไม่ใช่เห็น เพราะฉะนั้นทั้งๆ ที่กำลังเห็น และได้ยิน ต้องทราบตามความเป็นจริงว่าในขณะเห็นไม่ใช่ในขณะได้ยิน ในขณะได้ยินไม่ใช่ในขณะเห็น แต่ว่าเกิดดับสืบต่อจนเหมือนกับพร้อมกันในขณะนี้ จิตเห็นเป็นวิบากจิต หรือเป็นกุศลจิต หรือเป็นอกุศลจิต หรือเป็นกิริยาจิต ที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ เป็นวิบาก เพราะว่าเลือกได้ไหมที่จะเห็นอะไร เลือกไม่ได้เลย เลือกที่จะไม่เห็นก็ไม่ได้ เมื่อมีจักขุปสาท เวลาที่ตื่นเมื่อมีจักขุปสาทก็จะต้องมีการเห็น แต่เวลาหลับทั้งๆ ที่มีจักขุปสาทเห็นไหม จะเลือกตื่น แล้วก็เลือกเห็น เลือกหลับได้ไหม ไม่ได้ จิตเห็นเป็นวิบากเป็นผลของกรรม

    เพราะฉะนั้นจิตเห็นจะมีกี่ประเภทกี่ดวง จิตเห็นเป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้นจิตเห็นจะมีกี่ดวง บางคนก็บอกว่ามีตาสองข้าง เพราะฉะนั้นก็มีจิตเห็นสองดวง ไม่ใช่ ถ้าใช้คำว่าดวงคือประเภทหรือชนิด แม้แต่จิตที่เห็นก็ยังมีชนิด หรือมีประเภทว่าเป็นชนิดไหน เพราะฉะนั้นจิตเห็นซึ่งเราเห็นกันตลอด ทุกวันที่ตาไม่บอด ตื่นขึ้นก็จะต้องมีการเห็น จิตเห็นมีกี่ดวง จิตเห็นเป็นจิตประเภทหนึ่ง เป็นวิบากเป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้นจิตเห็นจะมีกี่ดวง มีใครตอบดวงเดียว ต้องมี ๒ เพราะว่ากรรมมี ๒ กุศลกรรมกับอกุศลกรรม เพราะฉะนั้นเวลาที่กุศลกรรมให้ผล ก็จะทำให้จิตเห็นเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ดีน่าพอใจ แต่เวลาที่อกุศลกรรมให้ผล ก็เห็นนั่นเองเป็นผลของกรรม แต่ว่าเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ซึ่งเราเลือกไม่ได้ว่าเราจะเห็นอะไรแล้วแต่กรรม ถ้าเรารู้เช่นนี้จะรำคาญใจหรือจะเดือดร้อนไหมเพราะว่าใครทำ เราทำเอง เป็นผลของกรรมของเรา

    เพราะฉะนั้นกุศลจิต และอกุศลจิตเป็นเหตุ ถ้าอกุศลจิตก็จะประกอบด้วยอกุศลเจตสิกซึ่งเป็นมูลหรือเหตุ ๓ เหตุ ซึ่งเป็นโมหเจตสิกเกิดกับจิตที่เป็นอกุศลทุกชนิด โลภเจตสิกเป็นสภาพที่ติดข้อง เกิดกับจิตที่เป็นอกุศล โทสเจตสิกเกิดกับโมหะด้วย เพราะฉะนั้นก็มีโมหมูลจิต จิตนั้นเกิดโดยมีโมหะเป็นมูลโดยที่ยังไม่มีโลภะหรือโทสะเกิดร่วมด้วยก็ได้ แล้วก็มีโลภมูลจิตคือมีจิตที่มีโลภะเป็นมูลเกิดร่วมกับโมหะ แล้วก็มีโทสมูลจิตคือจิตที่มีโทสะเป็นมูล แล้วก็มีโมหะเกิดร่วมด้วย เป็นโทสมูลจิต ทั้ง ๓ เป็นอกุศลจิต โลภมูลจิต โทสมูลจิต โมหมูลจิต คงจะยังไม่กล่าวถึงจำนวน เพียงแต่ให้ทราบว่าเหตุมี ๒ เหตุ คือ เหตุที่ไม่ดีเป็นอกุศล กับเหตุที่ดีเป็นกุศล

    ถ้าเหตุที่ดีก็ตรงกันข้าม อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก ถ้าเจตสิก ๓ ดวงนี่เกิดกับจิตประเภทใด จิตประเภทนั้นเป็นโสภณเป็นจิตที่ดี เพราะฉะนั้นต้องทราบว่าเมื่อเหตุมี ๒ คือกุศลกรรม และอกุศลกรรม วิบากก็ต้องมี ๒ คือกุศลวิบากเป็นผลของกุศลกรรม และอกุศลวิบากเป็นผลของอกุศลกรรม วิบากมี ๓ ประเภท ๓ ชนิดได้ไหม ในเมื่อกรรมมี ๒ กรรมมี ๒ ไม่ว่าจะเป็นวิบากใดๆ ทั้งสิ้น ก็ต้องเป็นกุศลวิบากหรืออกุศลวิบากเท่านั้น

    เพราะฉะนั้นในขณะที่กำลังเห็น เมื่อสักครู่นี้ทุกคนก็ตอบได้ว่า เป็นวิบากเป็นผลของกรรม ก็ต้องแล้วแต่ว่าขณะนี้เป็นกุศลวิบากหรืออกุศลวิบาก ขณะได้ยินเป็นผลของกรรมเป็นวิบาก มีกี่ชนิด มีกี่ดวง ๒ จิตได้ยินมี ๒ คือได้ยินเสียงที่ไม่ดีเป็นอกุศลวิบาก ถ้าได้ยินเสียงที่น่าพอใจเป็นกุศลวิบาก ทุกคนก็อยากจะมีชีวิตที่มีกุศลวิบากตลอด ทั้งทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกาย แต่ลืมคิดถึงการกระทำใช่ไหม ถ้ากระทำอกุศลมากๆ แล้วเวลาที่อกุศลกรรมให้ผล แล้วก็อยากได้กุศลวิบาก ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นถ้าต้องการกุศลวิบาก ไม่ว่าจะเป็นทางตาเห็นสิ่งที่ดี ทางหูได้ยินเสียงที่ดี ทางจมูกได้กลิ่นที่ดี ทางลิ้นก็ลิ้มรสที่ดี ทางกายก็รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสที่ดี ต้องเป็นผลของกุศลกรรม คนอื่นจะทำให้ไม่ได้เลย มารดาบิดาพี่น้องมิตรสหาย หรือแม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่สามารถที่จะบันดาลให้วิบากเกิดขึ้นกับใครได้ นอกจากว่าต้องเป็นผลของกรรมของแต่ละคน

    เพราะฉะนั้นที่เราเคยได้ยินบ่อยๆ กิเลสวัฏฏ์เป็นปัจจัยให้เกิดกัมมวัฏฏ์ กัมมวัฏฏ์เป็นปัจจัยให้เกิดวิปากวัฏฏ์ กิเลส กรรม วิบาก ถ้าไม่มีกิเลสก็ไม่มีกรรมไม่มีการกระทำใดๆ เลยทั้งสิ้น ถ้าไม่มีกรรม ผลของกรรมก็ไม่มี แล้วตั้งแต่เกิดจนตายก็วนเวียนอยู่เช่นนี้ ที่เราใช้คำว่าสังสารวัฎการท่องเที่ยววนเวียน เพราะมีตาเห็น มีหูได้ยิน มีจมูกได้กลิ่น มีลิ้นลิ้มรส มีกายรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส มีใจคิดนึก วันนี้ท่องเที่ยวไปทางไหนบ้าง มีอยู่แค่นี้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ท่องเที่ยวไปทางไหนบ้าง จากตาก็ไปหาหู จากหูก็ไปหาจมูก จากจมูกก็ไปหาลิ้น จากลิ้นก็ไปหากาย ไม่เกินกว่านี้เลย ๖ ทาง ทางที่จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ อารมณ์คือสิ่งที่จิตรู้ เมื่อมีจิตเป็นสภาพรู้ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้

    เพราะฉะนั้นจิตกับอารมณ์ต้องคู่กัน เมื่อมีจิตแล้วจะไม่มีอารมณ์ไม่ได้ และจิตประเภทต่างๆ ก็มีอารมณ์ตามประเภทนั้นๆ ตามจิตประเภทนั้นๆ มีท่านผู้ใดสงสัยในเรื่องกิเลสกรรมวิบากไหม เพราะเรากำลังพูดถึงเรื่องจิต ๔ ชาติ กุศล อกุศล วิบากกิริยา

    ผู้ฟัง สงสัยตรงที่ว่าวิบากเหมือนกับว่าหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ถ้าเป็นกุศลกับอกุศลแล้วตรงนี้จะเป็นอย่างไร บางครั้งเราก็อยากให้ดี แต่ก็ไม่ดี ก็เหมือนกับว่าต้องเป็นผลของกรรมอีกหรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน บุคคลที่ไปเฝ้าฟังธรรม ได้สะสมอบรมความรู้ความเข้าใจในเรื่องสภาพธรรมมาก เมื่อพระองค์ตรัสเทศนา เช่นเทศนากับนายนันทโคบาล เขาสามารถที่จะเข้าใจทุกอย่างที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้ แต่ว่าเราห่างเหินพระธรรมคำสอนมานาน แล้วก็เราไม่ได้อยู่ในยุคสมัยที่จะมีโอกาสได้เฝ้าได้ฟังธรรม เพราะเหตุว่าบุคคลที่พร้อมที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมก็ย่อมมีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรมจากพระโอษฐ์ แล้วก็ได้ตรัสรู้ธรรม แต่ว่าเมื่อกาลสมัยผ่านมาจนถึงเดี๋ยวนี้ แม้แต่เรื่องของชาติของจิตคือกุศล อกุศล วิบาก กิริยา และจิตประเภทอื่นๆ อีกมาก เราก็จะต้องค่อยๆ เรียงตามลำดับ หรือว่าค่อยๆ เข้าใจ

    ซึ่งถ้าจะกล่าวถึงจิตก็จะไม่พ้นจากเรื่องของกิเลส เรื่องของกรรม เรื่องของวิบาก แต่ในการที่เรากล่าวถึงก่อนในตอนนี้ ก็เพราะเหตุว่าทุกคนก็จะได้ทราบว่าชีวิตจริงๆ ขณะนี้ กล่าวถึงชาติก็เป็นสิ่งซึ่งมีจริงๆ และกำลังปรากฏ แต่ว่าพระธรรมจะทรงแสดงไว้โดยละเอียดถึงลักษณะของจิต ซึ่งจะตอบคำถามของคุณบุษบงรำไพในเรื่องของการที่จะทำให้กุศลเกิดขึ้นได้ไหม อกุศลเกิดขึ้นได้ไหม แล้วก็วิบากจะเกิดขึ้นได้ไหม ในเมื่อเรากล่าวว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา คำใดที่ตรัสไว้ไม่เป็นสอง นี่คือการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุกคำต้องตรง เพราะว่าไม่ใช่เพียงคิดไตร่ตรอง แต่เป็นการประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมทุกอย่าง พร้อมทั้งเหตุ และผล ทั้งเหตุในอดีตด้วย ด้วยเหตุนี้เราจึงจะต้องเข้าใจลักษณะของจิตที่มีกล่าวไว้ เพื่อที่จะได้เข้าใจคำตอบที่จะได้ตอบคุณบง

    อ.สุภีร์ ลักษณะของจิตที่ท่านแสดงไว้ จิตเกิดทีละขณะ รู้อารมณ์ทีละอย่าง จิตดวงก่อนดับไป แล้วจิตดวงใหม่จึงสามารถเกิดขึ้นได้ ก็คือจิตเกิดดับทีละหนึ่งขณะ รู้อารมณ์ทีละอย่างทีละอย่างไป แต่ว่าจะมีจิตที่ทำกิจบางอย่างเท่านั้นที่สามารถ สั่งสมการสืบต่อได้ การสืบต่อของจิตเรียกว่าสันตานะ ภาษาไทยเราใช้คำว่าสันดาน สันตานะแปลว่าการสืบต่อ การที่จิตดวงเก่าดับไปแล้วจิตดวงใหม่เกิดขึ้นเช่นนี้ สันตานะหรือว่าสันดาน ถ้าเป็นการเกิดดับสืบต่อกันของจิตก็เรียกว่าจิตสันดาน หรือว่าจิตสันตานะก็ได้ ภาษาไทยเราใช้คำว่าสันดาน แต่ว่าเป็นความหมายที่ไม่ค่อยจะดีเท่าไหร่ใช่ไหม แต่ว่าถ้าเป็นสันตานะโดยภาษาบาลีหมายความว่า การเกิดดับสืบต่อกันไป จิตดวงเก่าดับไปจิตดวงใหม่เกิดขึ้นเรื่อยๆ ไปเช่นนี้ เรียกว่าจิตสันตานะ จะมีจิตบางประเภทเท่านั้น ที่สั่งสมสันตานะก็คือสั่งสมการสืบต่อของตนเองได้ เช่น จิตเห็นดับแล้วก็ดับไปเลย ไม่ได้มีการสะสมเพิ่มขึ้น

    การสะสมสืบต่อของจิต ทุกท่านลองพิจารณาดูว่าแต่ละคนแต่ละคนก็มีอัธยาศัยที่ต่างๆ กันไป เพราะเหตุไร เพราะว่ามีการสั่งสมสืบต่อมาของจิตแต่ละขณะแต่ละขณะนั่นเอง บางคนก็มีความเมตตามาก บางคนก็มักโกรธได้ยินเสียงอะไรนิดๆ หน่อยๆ บางครั้งได้ยินเสียงโทรศัพท์ก็โกรธแล้ว บางคนไม่โกรธเลย เพราะว่าการสั่งสมอัธยาศัยของแต่ละคนแต่ละคนมาไม่เหมือนกัน สิ่งเหล่านี้มาจากอะไร ก็มาจากการสั่งสมสันดานของจิตมาเรื่อยๆ นั่นเอง ฉะนั้นแต่ละคนจึงมีความชำนาญมีความถนัดเฉพาะอย่างเฉพาะอย่างไม่เหมือนกัน บางคนเล่นดนตรีเก่ง บางคนเล่นไม่ค่อยได้เรื่องเลย ฉะนั้นแต่ละคนด้วยการสั่งสมสืบต่อของจิตนี้ ทำให้บุคคลนั้นๆ มีอัธยาศัยอุปนิสัยที่ต่างๆ กันไป ฉะนั้นคนบางคนเวลาเห็นแล้วกุศลจิตเกิดได้เร็ว น้อมไปที่จะเกิดกุศล บางคนเห็นแล้วได้ยินแล้วอกุศลเกิดได้เร็ว น้อมไปที่จะเป็นอกุศล บางคนก็น้อมไปที่จะเป็นโลภะ คือติดข้องในสิ่งนั้นๆ บางคนก็น้อมไปที่จะเป็นโทสะ คือไม่ชอบใจในสิ่งนั้นๆ ทั้งๆ ที่บางทีก็เห็นสิ่งเดียวกันนั่นเอง แต่ว่าบางคนก็ชอบสิ่งนั้น บางคนก็ไม่ชอบสิ่งนั้น เพราะสั่งสมอัธยาศัยอุปนิสัยมาที่ต่างๆ กัน

    ฉะนั้นการที่กุศลอกุศลจะเกิดได้ ด้วยอุปนิสัยอัธยาศัยที่แต่ละคนสั่งสมมานั่นเอง ซึ่งเป็นลักษณะของจิตอีกประการหนึ่ง จิตสามารถสั่งสมสันดานของตนได้ด้วยอำนาจชวนวิถี สำหรับเราบุคคลทั่วไปในชวนะจะเป็นกุศลหรืออกุศลเท่านั้น ฉะนั้นเมื่อเห็นแล้วได้ยินแล้ว สำหรับบุคคลทั่วไปจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจากเป็นกุศล หรือเป็นอกุศลเท่านั้น สำหรับทุกๆ ท่านขณะได้ยินเสียงต่อไปจากนั้น เป็น ๒ อย่างนี้เท่านั้นก็คือกุศลหรืออกุศล ถ้าไม่เป็นกุศลก็ต้องเป็นอกุศล ซึ่งกุศลอกุศลสามารถสั่งสมสันดานได้ ก็คือเมื่อสะสมกุศลประการนั้นๆ บ่อยๆ กุศลประการนั้นๆ ก็สามารถเกิดได้บ่อยขึ้นได้เร็วขึ้น บางคนมีอัธยาศัยในการให้ทานใช่ไหม เพราะว่าเคยให้บ่อย ต่อไปเมื่อเห็นได้ยินการที่สะสมการให้มานาน ก็สามารถที่จะมีการน้อมไปที่จะให้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ฉะนั้นการที่จะเกิดกุศลอกุศลได้ ก็ด้วยอำนาจการสั่งสมสันดานด้วยอำนาจชวนวิถีเก่าๆ ที่เคยผ่านมา เป็นอุปนิสัยอัธยาศัยของแต่ละท่านแต่ละท่าน

    ท่านอาจารย์ ไม่ทราบว่าจะทำให้กุศลเกิดได้จริงๆ หรือเปล่า ลองคิดดู ถ้าทำได้วันนี้ไม่ต้องมีอกุศล ใช่ไหม แต่เพราะเหตุว่าจิตแต่ละขณะไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลยทั้งสิ้น การเกิดของแต่ละคนที่เกิดมาแล้ว ใครทำให้เกิด แม้แต่เพียงจิตขณะแรกที่เกิด ก็ไม่มีเราหรือใครที่สามารถจะทำได้ แต่ว่าเพราะจิตเป็นนามธาตุ เป็นสภาพรู้ซึ่งเกิดดับสืบต่อแสนโกฏกัปมาแล้ว ลองคิดถึงแต่ละคนทำไมถึงมีอุปนิสัยต่างๆ กัน ทั้งๆ ที่อาจจะเกิดมาพร้อมกันวันเดียวกันเป็นลูกแฝดก็ได้ แต่ว่าการสะสมของทั้งสองคน ก็ยังต่างกันตามการสะสม

    เพราะฉะนั้นจะเห็นได้จริงๆ ว่าจิตเป็นสภาพธรรมที่มองไม่เห็นเลย ไม่มีรูปร่าง แต่ว่ามีความสามารถ เพราะเหตุว่าเป็นสภาพที่รู้ เป็นกุศลก็ได้ เป็นอกุศลก็ได้ เป็นวิบากก็ได้ แต่ไม่ใช่คนหนึ่งคนใดจะทำ แต่เป็นโดยสภาพธรรมของจิตนั้นๆ เพราะฉะนั้นเราคงจะไม่ต้องย้อนไปถึงอดีตแสนโกฏกัปนานมาแล้ว เพราะว่าถ้ามีวันนี้ใครก็บังคับจิตให้เกิดไม่ได้ และจิตที่เกิดขณะนี้จะไม่ให้ดับก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้ามีการสิ้นชีวิตคือจุติจิตเกิด จะไม่ให้ปฏิสนธิเกิดสืบต่อเป็นไปไม่ได้ ถ้าใครทำได้ก็หมายความว่าขณะนี้จิตกำลังเกิดแล้วดับ ไม่ให้จิตต่อไปเกิดต่อ มีใครทำได้ ขณะนี้จิตกำลังเกิดดับสืบต่อทีละหนึ่งขณะ ถ้าใครสามารถทำได้ก็คือว่าจิตขณะที่ดับไป ไม่ให้มีจิตขณะต่อไปเกิดขึ้น ทำได้ไหม ไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้นก็ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า แต่ละภพแต่ละชาติไม่เคยขาดจิต และถึงแม้ว่าจะสิ้นชีวิตไปแล้ว แต่ว่าถ้ามีกรรมก็จะทำให้วิบากทำหน้าที่ปฏิสนธิเกิดสืบต่อจากจุติจิตเป็นบุคคลใหม่ ตามกรรมที่เป็นปัจจัยให้เกิดเฉพาะชาตินั้นชาตินั้น ชาติก่อนต้องมี เหมือนกับเมื่อวานนี้ก็มี จิตขณะก่อนนี้ก็มี เพราะว่าจิตเป็นอนันตรปัจจัย เป็นสภาพธรรมที่มีความสามารถที่ว่าเมื่อจิตนั้นดับไปแล้ว จะทำให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้นสืบต่อไม่ขาดสายเลย เว้นจุติจิตของพระอรหันต์เท่านั้น เพราะฉะนั้นผู้ที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ เตรียมได้เลยใช่ไหม อย่างไรก็ต้องตาย แล้วก็ต้องเกิด


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 6
    9 ส.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ