สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 021


    สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ ๒๑

    วันจันทร์ที่ ๘ กรกฏาคม ๒๕๔๕


    ท่านอาจารย์ ชาติก่อน ต้องมี เหมือนกับเมื่อวานนี้ก็มี จิตขณะก่อนนี้ก็มี เพราะว่าจิตเป็นอนันตรปัจจัย เป็นสภาพธรรมที่มีความสามารถที่ว่าเมื่อจิตนั้นดับไปแล้ว จะทำให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้นสืบต่อ ไม่ขาดสายเลย เว้นจุติจิตของพระอรหันต์เท่านั้น

    เพราะฉะนั้นผู้ที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ เตรียมได้เลยใช่ไหม อย่างไรก็ต้องตาย แล้วก็ต้องเกิด แต่ก็เลือกไม่ได้ คำว่าอนัตตานี้แน่นอนที่สุด เลือกไม่ได้ว่าเราจะให้กรรมไหนให้ผล เพราะว่าชาตินี้ เราก็ทำกรรมมามาก แต่ว่าเวลาที่เราจะจากโลกนี้ไป ทุกคนคงหวังจะให้กุศลกรรมให้ผล แต่ว่าแล้วแต่กรรม เป็นอกุศลก็ได้ ถ้าไม่เช่นนั้นก็คงจะไม่มีสัตว์เดรัจฉานที่เรามองเห็น เป็นนก เป็นปลา เป็นไก่ เป็นเต่า เป็นอะไรทั้งหมด การเกิดอย่างนั้นเป็นผลของอกุศลกรรม ในภูมิที่เราสามารถมองเห็น คือในโลกมนุษย์ก็ยังมีสัตว์เดรัจฉาน แสดงให้เห็นถึงผลของกรรมที่ต่างกัน แต่จริงๆ แล้ว ก็ไม่ได้เพียงแต่ทำให้เกิดเป็นสัตว์กับมนุษย์เท่านั้น ยังเกิดในนรกก็ได้ เกิดเป็นเปรตก็ได้ เกิดเป็นอสุรกายก็ได้ นี่เป็นผลของอกุศลกรรม

    เพราะฉะนั้นไม่มีใครสามารถจะบังคับ คือกุศลจะให้เกิดก็ไม่ได้ อกุศลให้เกิดก็ไม่ได้ วิบากให้เกิดก็ไม่ได้ แล้วแต่ขณะนั้นมีปัจจัยที่สภาพธรรมใดจะเกิดก็เกิด

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นวิบากแล้วจะไม่สะสม ก็รับผลของกรรม แล้วก็จบสิ้นลงไป แต่ในขณะที่เป็นกุศลจิต หรืออกุศลจิตตรงนี้สะสมเพราะนั่นหมายถึงจะไม่มีวันที่จะจบสิ้นลงไปได้ ก็แล้วแต่ใครที่จะอัธยาศัยอย่างไร ก่อนที่จะศึกษาคนก็พูดว่า รับผลของกรรม ไม่ต้องทำอะไร แล้วแต่กรรมจะเป็นมาอย่างไร ทำให้ทุกคนก็เฉยกัน แล้วก็ไม่อบรมจิตเลย แต่เมื่อมาฟังตรงนี้แล้วก็เข้าใจว่าวิบากนั่นแหละมีจบสิ้น แต่กุศล อกุศลให้สืบต่อไปด้วย

    ท่านอาจารย์ ก็มีใครบ้างที่ต้องการผลของอกุศลกรรม ไม่มี แต่ก็ต้องได้รับเพราะเหตุว่าทำอกุศลกรรมแล้วก็ต้องมีผล

    ผู้ฟัง จิตที่วิจิตร สิ่งที่อยากจะรู้ในปัจจุบัน ยังไม่พอ อยากจะรู้ถึงแม้กระทั่งอดีตเหตุปัจจัยเป็นอย่างไร และก็อยากจะรู้ว่าอนาคตเป็นอย่างไร ตรงนี้เป็นจิตประเภทไหน

    ท่านอาจารย์ เป็นโลภมูลจิต ไม่ใช่กุศล แค่คิดอย่างนี้ด้วยความต้องการก็เป็นโลภะ

    ผู้ฟัง แล้วก็เป็นตัวตนด้วยใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง มีใครอยากรู้ชาติก่อนบ้างไหม คงหลายคน

    ผู้ฟัง ก่อนหน้านั้นก็อยากรู้ แม้กระทั่งเสียเงินเสียทองก็ยังไปดูดวงเลย นั้นก็คือจิตก็เป็นอย่างนี้ ไปๆ มาๆ คิดไปคิดมา ก็ไม่สามารถที่จะรู้ว่าเหตุปัจจัยอะไรหนอจึงมาเป็นทุกวันนี้ แล้วต่อไปในอนาคต จิตนี้จึงไม่พอ ยังไม่พอ

    ท่านอาจารย์ ยังปรารถนาจิตให้เกิดไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สุดใช่ไหม มีใครต้องการที่จะหยุด พอแล้ว ไม่ต้องเห็นอีก ไม่ต้องได้ยินอีก ไม่ต้องคิดนึกอีก นั่นคือความสงบจริงๆ พ้นจากทุกสิ่งทุกอย่างที่จะต้องเดือดร้อนเพราะต้องเห็น ต้องได้ยิน ต้องคิดนึกเรื่องที่เห็น เรื่องที่ได้ยิน เรื่องร้ายๆ ก็มี เรื่องดีๆ ก็มี คิดไปตลอดชีวิต และก็จบ นั่นก็ไม่มีอะไรเหลือ แต่ว่าตามความเป็นจริงคำถามที่ว่าอยากรู้ชาติก่อนไหม อยากใช่ไหม ชาตินี้เป็นชาติก่อนของชาติหน้า ชัดเจน เคยทำอะไรที่ไหน เคยนั่งที่นี่ตรงนี้วันนี้ฟังพระธรรม ถ้าเกิดชาติหน้า สามารถจะระลึกได้ก็คือรู้ว่านี่คืออย่างนี้ และก็ชัดมาก ไม่ต้องไปถามใคร เพราะว่าคนอื่นเขาก็บอกเราไม่ได้ละเอียดอย่างนี้ใช่ไหม แต่ว่าจริงๆ แล้วการที่จะรู้ถึงอดีต ซึ่งผ่านไปแล้วสามารถจะรู้ได้ด้วยปัญญาระดับหนึ่ง ซึ่งยากที่จะถึง

    เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมเป็นเรื่องเหตุกับผลจริงๆ ที่เราจะไม่ถูกหลอกโดยที่ว่าถ้าใครมาทำนายทายทักบอกว่าชาติก่อนคนนี้เคยเป็นทหาร ทำสงครามเก่งมาก และอย่างไร อยู่ดีๆ ลืมตาอยู่อย่างนี้ก็มาบอก หรืออาจจะหลับตาไปหน่อยแล้วก็มาบอกว่าคนนี้เป็นอย่างนี้คนนั้นเป็นอย่างนั้น เชื่อหรือ พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนให้เชื่อง่ายเลย แต่ทุกอย่างต้องมีเหตุ และผล อิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ การที่จะระลึกชาติ หรืออะไรต่างๆ เป็นสิ่งที่มีได้แต่ยากมาก แล้วก็ต้องเป็นเหตุที่สมควรแก่ผล ถ้าเหตุไม่สมควรแก่ผล ไม่มีทางเป็นไปได้เลย เพราะเหตุว่าต้องเป็นเรื่องของจิตอีกระดับหนึ่ง เพราะว่าจริงๆ แล้ว คราวก่อนเราพูดถึงเรื่องชาติของจิตมี ๔ ชาติก็คงพอจะเข้าใจได้ พอจะเห็นได้หรือยังว่าอนัตตาจริงๆ คือได้ยินได้ฟังอะไร ไตร่ตรอง และก็ให้มีความมั่นใจ ไม่มีตัวตน ไม่มีเรา แต่ว่าเป็นธรรมทั้งหมด คือสิ่งที่มีจริง ซึ่งเป็นจิต เจตสิก รูป และรูปก็ไม่ใช่สภาพที่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นการที่รูปจะเคลื่อนไหวไปได้ ก็เพราะเหตุว่ามีจิต แต่ถ้าไม่มีจิตแล้ว รูปก็เคลื่อนไหวไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นก็ต้องแยกลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมออกจากกัน แล้วก็เป็นเรื่องของจิต ๔ ชาติ ก็ขอให้มั่นใจจริงๆ ว่าเป็นอนัตตา ทุกคนปรารถนาสิ่งที่ดีแต่ต้องขึ้นอยู่กับเหตุ ถ้าเหตุไม่ดีผลที่ดีก็เกิดไม่ได้

    ผู้ฟัง ที่บอกว่าจิตเป็นใหญ่เป็นประธาน จิตเกิดแล้ว เจตสิกก็สัมปยุตต์ที่นี่ จิตจะเป็นประธานถึงรูปหรือเปล่า คือสมมติว่าเราต้องการที่จะหยิบอะไร จิตมีความต้องการให้ไปหยิบของมา อย่างนี้จะนับว่าจิตเป็นประธานของรูปด้วยหรือไม่

    ท่านอาจารย์ เป็นประธานของธรรมที่เกิดร่วมกันคือนามธรรมที่เกิดร่วมกัน คุณวิจิตรอยู่ตรงนั้น แล้วก็รูปนี้อยู่ตรงนี้ จิตคุณวิจิตรจะเป็นประธานของรูปนี้ไหม

    ผู้ฟัง จิตสั่งให้เดินไปทางซ้าย กลาง ขวา

    ท่านอาจารย์ เวลาจิตสั่งจิตทำอย่างไร

    ผู้ฟัง ไม่สั่ง จิตต้องการคือจิตมีโลภะ อยากจะเดินไปทางซ้าย หรือขวา รูปก็ต้องปฏิบัติตามที่จิตต้องการอย่างนั้นหรือไม่

    ท่านอาจารย์ รูปรู้ไหมว่าจิตต้องการ รูปไม่ใช่สภาพรู้

    ผู้ฟัง คือรูปอยู่ใต้บังคับบัญชาของจิตอย่างนี้ได้ไหม

    ท่านอาจารย์ บังคับแบบไหนบัญชาแบบไหน ที่จริงที่ร่างกายของสัตว์ที่มีชีวิต บุคคลที่มีชีวิต มีรูปที่เกิดจากกรรมประเภทหนึ่ง มีรูปที่เกิดจากจิต มีรูปที่เกิดจากอุตุความเย็นความร้อน และมีรูปที่เกิดจากอาหาร ที่ตัวนี้ถ้าแยกย่อยรูปตั้งแต่ศีรษะจดเท้าออก โดยอากาศธาตุแทรกคั่นละเอียดยิบ พร้อมที่จะแตกสลายทำลายลงไปอย่างละเอียด ก็จะมีรูปเล็กๆ เป็นกลุ่มเล็กๆ ที่ภาษาบาลีใช้คำว่ากลาปะ อย่างน้อยที่สุดจะมีรูปรวมกัน ๘ รูป แต่ ๘ รูปนี้มองไม่เห็น เพราะว่าเล็กมากแล้วก็ร่วมกันอยู่ แล้วก็ทยอยกันเกิดดับตลอดเวลา รูปที่เกิดจากจิตก็มี รูปที่เกิดจากอุตุก็มี เพราะฉะนั้นมีการยิ้ม มีการร้องให้ มีการหัวเราะ มีการเคลื่อนไหว เพราะรูปที่เกิดจากจิต และรูปอื่นซึ่งเกิดร่วมกันก็เป็นไปด้วย แยกกันไม่ได้ แต่ไม่ใช่จิตสั่ง

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นการเคลื่อนไหวของร่างกาย ...

    ท่านอาจารย์ เป็นไปตามจิตได้ แล้วแต่ ถ้าจิตที่เป็นโลภะก็จะทำอย่างหนึ่ง จิตที่โทสะก็จะเป็นอีกอย่างหนึ่ง ใช่ไหม จิตที่สนุกสนานก็จะยิ้มแย้มแจ่มใสหัวเราะเบิกบาน จิตที่เสียใจก็จะหม่นหมองร้องไห้มีน้ำตาไหลออกมาได้

    ผู้ฟัง ทำไมจิตถึงต้องมีหลายชื่อเพื่อประโยชน์อะไร

    อ.อรรณพ เพื่อที่จะให้เข้าใจลักษณะของจิตตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง จะเกี่ยวกับว่าเวลาที่จะใช้ในลักษณะใดก็จะใช้ชื่ออย่างนั้นหรือไม่

    อ.อรรณพ แม้ว่าจะเป็นธรรมที่มีลักษณะที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์ ก็มีลักษณะต่างๆ เช่นเป็นสภาพที่รู้แจ้งในอารมณ์คือสิ่งที่จิตรู้ ถ้าเป็นกุศลจิต หรืออกุศลจิตนี้ก็จะมีการที่จะสั่งสม สันตานะ ก็เป็นอรรถความหมายของจิตที่หลากหลาย แล้วในขณะที่ทำกรรม ด้วยความที่ยังมีกิเลสอยู่ มีการประกอบกรรม ในขณะนั้นวิบากสั่งสมแล้ว รอที่จะให้ผล เพราะฉะนั้นกรรม กิเลส ก็สะสมวิบากในขณะนี้ ก็เป็นอรรถอีกประการหนึ่งของจิต ขอท่านอาจารย์ขยายความ กรรม กิเลส สั่งสมวิบาก คืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้ากล่าวถึงขณะแรกที่จิตเกิดเป็นจิตชาติอะไร ขณะแรกของชาตินี้เลยต้องมีจิตเกิด ถ้าไม่มีจิตเกิดจะเป็นสัตว์บุคคลใดๆ ไม่ได้เลย จิตขณะแรกชื่อว่าปฏิสนธิจิต หรือปฏิสันธิ ตามภาษาบาลี เพราะว่าสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน พอจุติจิตดับปฏิสนธิจิตเกิดทันที แล้วแต่กรรมสุกงอมเมื่อไหร่ก็ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดเป็นคนนี้ชาตินี้เพราะกรรมหนึ่ง ที่ได้กระทำแล้ว จะเปลี่ยนให้เป็นบุคคลอื่นไม่ได้ จนกว่าจะสิ้นกรรมที่ทำให้เป็นบุคคลนี้ เพราะฉะนั้นในขณะแรกที่จิตเกิด เป็นชาติอะไร เป็นชาติวิบากเป็นผลของกรรมขณะนั้นไม่ได้ทำอะไรเลย จริงๆ แล้ว ปฏิสนธิจิต เป็นจิตขณะแรกที่เกิดทำกิจปฏิสนธิ ขณะเดียวเท่านั้น และก็ไม่เกิดอีกเลย

    สำหรับภวังคจิตเกิดดับสืบต่อแม้ว่าเป็นชาติเดียวกัน แต่ว่าทำกิจต่างกัน ภวังคจิตใช้คำว่าปภัสสรัง กุศลจิตก็ใช้คำว่าปภัสสรัง ก็เป็นอีกชื่อหนึ่ง แล้วต่อไปจะได้ยินคำว่าปัญฑระเป็นอีกชื่อหนึ่งของจิต เมื่อเปรียบเทียบสภาพธรรมที่เกิดร่วมกัน จิต และเจตสิก ไม่ว่าจะเป็นกุศลจิต หรืออกุศลจิตก็ตามแต่ สภาพของจิตแท้ๆ ไม่ได้เป็นสภาพที่เป็นอกุศล แต่ว่าเป็นสภาพที่เป็นอกุศลเพราะเจตสิกที่เป็นอกุศลเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นสำหรับความหมายของปัณฑระ ก็หมายความถึง ไม่ว่าจะเป็นกุศลจิต หรือวิบากจิต หรือจิตประเภทใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อหมายเฉพาะลักษณะของจิต ตัวจิตแท้ๆ และใช้คำว่าปัญฑระ เพราะฉะนั้นปัญฑระกับประภัสระนี้ก็มีความหมายต่างกัน นี่ก็เป็นชื่อต่างๆ ซึ่งต่อไปก็คงจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น ขอเชิญคุณสุภีร์ให้ความหมายของ ๒ คำนี้ด้วย

    อ.สุภีร์ คำว่าปัญฑระ ภาษาบาลีก็คือปัญฑรัง ปัญฑระแปลว่าบริสุทธิ์ หรือว่าขาว ก็คือไม่มีมลทินเจือปน แปลว่าขาว หรือว่าบริสุทธิ์ ส่วนปภัสสรัง ในภาษาไทยเราคงจะใช้คำว่าประภัสสรกันบ่อย ก็คือมาจากภาษาบาลีว่าปภัสสรัง ซึ่งเป็นชื่อของจิตที่เป็นภวังคจิต และกุศลจิต คำว่าประภัสสรัง ก็มาจากคำว่าประภาแปลว่ารัศมี หรือว่าสิ่งงดงาม แล้วก็สะระก็คือซ่านออกไป ปภัสสรังก็คือเป็นสิ่งที่งดงามซ่านออกไป ก็ความหมายก็ใกล้เคียงกันแต่ว่าไม่เหมือนกันทีเดียว

    ผู้ฟัง มนุษย์จุติแล้วจะไปปฏิสนธิจิต บังเอิญมนุษย์พวกนั้นทำบาปไว้มาก ปฏิสนธิกับวัว กับสุนัข รู้สึกว่าจะไม่มีสภาพเป็นคนอยู่อีกเลยหรือไม่

    ท่านอาจารย์ จิตเกิดแล้วดับ จิตที่ดับแล้วไม่ได้กลับมาเกิดอีกเลย รูปที่ดับแล้วก็ไม่ได้กลับมาเกิดอีก ทุกอย่างที่เราคิดว่าเหมือนเดิม ความจริงเป็นการเกิดดับสืบต่อ แต่ถ้าพูดถึงสภาพธรรมใช้คำว่า ดับ คือหมดสิ้นไม่กลับมาอีกเลย เพราะฉะนั้นเวลาที่จุติจิตเกิด สิ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ รูปที่เกิดจากกรรมซึ่งมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ จะหยุดเกิดก่อนจุติ ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้นเวลาที่คนสิ้นชีวิต ขณะนั้นก็จะไม่มีจิต แล้วไม่มีกัมมชรูป คือรูปที่เกิดจากกรรมที่จะเป็นบุคคลนั้นอีกต่อไปไม่มี ไม่มีจักขุปสาทจะเห็นอีกไม่ได้ จะได้ยินไม่ได้ รูปพวกนี้จะไม่มีเลย คือรูปที่เกิดจากกรรมทั้งหมดจะไม่เกิด และหลังจากที่จุติจิตดับแล้ว รูปที่เกิดจากจิตก็จะมีอายุต่อไป ๑๗ ขณะแล้วก็ดับ ซึ่งเร็วมาก แล้วรูปที่เกิดจากอุตุก็เกิดดับสืบต่อไปเป็นรูปที่เป็นซากศพ สิ้นสภาพความเป็นบุคคลนั้น เพราะฉะนั้นเวลาที่กรรมทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด ไม่ได้ทำให้เกิดเฉพาะจิต และเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกัน แต่ยังทำให้กัมมชรูป รูปซึ่งเกิดเพราะกรรมนั้นเกิดพร้อมกับปฏิสนธิด้วย

    เพราะฉะนั้นในขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดจะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย และก็มีกัมมชรูปซึ่งเป็นผลของกรรมที่ทำให้เกิดขณะนั้น จากมนุษย์ที่ตาย จากโลกนี้ไปแล้วกรรมไหนจะให้ผล จะให้เกิดบนสวรรค์ หรือจะในนรก หรือว่าเป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือว่าเป็นมนุษย์ ก็แล้วแต่ ก็มีจิต เจตสิก รูป ซึ่งเป็นวิบากเกิดพร้อมกัมมชรูป

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวว่ารูปที่เกิดเพราะกรรมจะไม่เกิดก่อนที่จุติจิตจะเกิด

    ท่านอาจารย์ ๑๗ ขณะต้องดับพร้อมจุติจิต

    ผู้ฟัง ใครจะทราบเท่าพระพุทธองค์ เพราะถ้าสมมติใครทราบก็บอกว่ารูปที่เกิดเพราะกรรมไม่เกิด เราจะต้องตายแล้ว ถูกไหม

    ท่านอาจารย์ เร็วมากเลย ไม่ต้องคิดถึงเลย ๑๗ ขณะ ขณะที่กำลังเห็นกับได้ยินเหมือนพร้อมกัน ความจริงห่างกันเกิน ๑๗ ขณะจิตแล้วรูปนี้ดับแล้ว เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องคิดเลย

    ผู้ฟัง คำว่า ภวังคจิต ประภัสสร จะเป็นเพราะว่าไม่มีอกุศลเกิดร่วมด้วยหรือไม่

    อ.สุภีร์ ไม่มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วยเลย

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้น ทำไมเวลาที่จิตที่เป็นกุศลก็ไม่ได้มีอกุศล เกิดร่วมด้วยแต่ไม่เรียกประภัสสร

    อ.สุภีร์ ถ้าขณะใดที่เป็นกุศลจิตเรียกว่าประภัสสรด้วย เพราะเหตุว่ามีเจตสิกฝ่ายที่ดีงาม

    คำว่าประภัสสร แปลเป็นภาษาไทยคงจะแปลว่าผ่องใส นี้คงจะชัดเจน เพราะเหตุว่า ประภา นี้หมายถึงรัศมี สะระนี้ ก็คือซ่านออกไป ถ้าแปลออกมาเป็นภาษาไทยก็คงจะแปลว่า ผ่องใสงดงาม อะไรอย่างนี้ คงจะเข้าอรรถได้

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ทุกคนมีปฏิสนธิจิตไหม มีไม่ได้ ยังไม่สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ และจะมีปฏิสนธิจิตไม่ได้ เพราะฉะนั้นชาติหนึ่งก็จะมีปฏิสนธิจิตเพียงขณะแรก หนึ่ง ขณะ และก็จุติจิตคือขณะสุดท้าย หนึ่งขณะ เพราะฉะนั้นขณะนี้ทุกคนมีปฏิสนธิจิตไหม ไม่มี มีจุติจิตไหม ไม่มี เพราะฉะนั้นระหว่างปฏิสนธิแล้วยังไม่จุติ จะมีจิตเกิดดับสืบต่อทำกิจการงานไม่หยุดเลย แม้แต่ขณะแรกที่เกิดก็ทำงาน ทำกิจสืบต่อจากภพก่อน ขณะสุดท้ายก็ทำกิจการงานคือสิ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ทำให้หมดสิ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้โดยสิ้นเชิง จะกลับมาเป็นคนนี้อีกสักนิดเดียวก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าหลังจากนั้นปฏิสนธิจิตก็เกิดสืบต่อ และก็มีกัมมชรูปเกิดร่วมด้วยในภูมิที่มีขันธ์ ๕ คือในภูมิที่มีรูป ที่กล่าวถึงอย่างนี้ ก็เพื่อที่จะให้เราได้เข้าใจกิจการงานของจิตตามลำดับ เริ่มตั้งแต่ปฏิสนธิจิต เพราะว่าเมื่อสักครู่เราพูดเรื่องชวนะ พูดเรื่องอะไร ก็ยังไม่ตามลำดับทีเดียว เราควรจะได้ทราบตามลำดับว่าขณะแรก จิตทำกิจปฏิสนธิสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน ขณะสุดท้ายคือจุติจิต ซึ่งยังไม่ถึง เพราะฉะนั้นก็จะเรียงลำดับ แรกๆ ตั้งแต่เมื่อปฏิสนธิจิตเกิดแล้วดับ อนันตรปัจจัย จิตทุกขณะไหนเว้นจุติจิตของพระอรหันต์ เมื่อดับแล้วต้องทำให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นจะมีแต่ปฏิสนธิจิต และก็หมดไปเลยได้ไหม ไม่ได้ จิตทุกขณะต้องเป็นอนันตรปัจจัย เมื่อดับแล้วทำให้จิตต่อไปเกิด เพราะฉะนั้นปฏิสนธิจิตดับทำให้จิตต่อไปเกิด ทำหน้าที่การงานด้วย จิตทุกขณะ ไม่มีสักขณะไหนเลยซึ่งเกิด และไม่ได้ทำอะไร เมื่อเกิดแล้วต้องทำกิจหนึ่งกิจใด

    กิจที่ ๒ ของจิต ต่อจากปฏิสนธิกิจก็คือภวังคกิจ เป็นกิจที่ดำรงภพชาติโดยที่ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ยังไม่ได้กลิ่น ยังไม่ได้ลิ้มรส ยังไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ยังไม่ได้คิดนึก ไม่อาศัยทวารหนึ่งทวารใดเลย แต่จิตเกิดแล้ว แล้วก็สืบต่อจากปฏิสนธิทำภวังคกิจ ขณะนี้มีไหมภวังค์ ถ้าตอบว่ามี คือผู้ที่ได้ศึกษาพอสมควรแล้ว เพราะว่าเวลาเห็นดับแล้วยังไม่ทันได้ยิน จิตต้องเป็นภวังคกิจก่อน เวลาที่ได้ยินดับแล้วยังไม่ทันคิดนึกต้องเป็นภวังคจิตก่อน แต่ละวาระทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จะต้องมีภวังคจิตคั่น แต่ว่าเราไม่รู้เลย ขณะนี้เป็นไปเร็วมาก เราจะรู้ลักษณะของภวังคจิตก็ขณะที่นอนหลับสนิท ไม่คิด ไม่ฝัน ไม่เห็น ไม่ได้ยินอะไรเลย ขณะนั้นรู้ได้ว่าขณะนั้นเป็นหน้าที่ของจิตซึ่งเกิดดับดำรงภพชาติ เพราะว่าคนที่ยังมีชีวิตอยู่แล้วหลับไม่ใช่คนตาย คนตายจะไม่มีจิตเลย แต่คนที่มีชีวิตเราบอกว่าเขาหลับ ไม่ใช่บอกว่าเขาตาย เพราะเหตุว่าจิตขณะนั้นทำภวังคกิจดำรงภพชาติ บังคับได้ไหม มาถึงคำว่าอนัตตาบังคับได้ไหม ไม่ได้ เวลาจะหลับจริงๆ รู้ไหมว่าขณะไหน แต่มีปัจจัยที่จะให้เป็นวิบากจิตซึ่งดำรงภพชาติ

    เพราะฉะนั้นวิบากจิต มีหน้าที่หลายอย่าง หน้าที่แรกที่สุดก็คือปฏิสนธิ หน้าที่ ที่ ๒ ก็คือภวังค์ดำรงภพชาติไว้ ยังไม่เป็นกุศล ยังไม่เป็นอกุศล ยังไม่คิดนึกใดๆ ทั้งสิ้น แต่ว่าดำรงภพชาติที่ว่ายังไม่ตาย ทำไมไม่ให้ตายไปเลย ยังไม่ได้รับผลของกรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย อยู่ดีๆ เพียงแค่เกิดมาเป็นปฏิสนธิแล้ว ก็เป็นภวังค์ ไม่ว่าจะเกิดบนสวรรค์เป็นพรหม เกิดในนรก เป็นเปรต หรือที่ไหนก็ตาม ขณะที่เป็นปฏิสนธิจิต โลกใดไม่ปรากฏเลย เพราะว่าขณะนั้นไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขณะที่เป็นภวังคจิต โลกใดๆ ก็ไม่ปรากฏ เพราะว่าขณะนี้โลกปรากฏเมื่อเห็น โลกปรากฏเมื่อได้ยิน โลกปรากฏเมื่อได้กลิ่น เมื่อลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก มี ๖ ทางที่โลกจะปรากฎได้ แต่ถ้าไม่ใช่ ๖ ทางนี้ จิตก็เกิดขึ้นทำกิจภวังค์ไม่ใช่ทำกิจเห็น ไม่ใช่ทำกิจได้ยิน ไม่ใช่ทำกิจได้กลิ่น ไม่ใช่ทำกิจลิ้มรส ไม่ใช่ทำกิจรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่ได้คิดนึก ขณะนั้นเป็นภวังค์ ทุกครั้งที่ไม่ได้อาศัยทวารหนึ่งทวารใดใน ๖ ทวาร ขณะนั้นเป็นภวังคจิตซึ่งเป็นจิตชาติอะไร วิบากจิตเป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้นผลของกรรมที่ไม่ให้เห็น ไม่ให้ได้ยิน แต่ให้ดำรงภพชาติก็มี เมื่อขณะที่เป็นภวังค์ เป็นวิบากจิต แล้วก็ขณะนั้น แล้วแต่ว่ากรรมจะทำให้เป็นภวังค์อยู่นานเท่าไร เลือกได้ไหม จะหลับก็เลือกไม่ได้ จะตื่นก็เลือกไม่ได้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 6
    16 ส.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ