สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 022


    สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ ๒๒

    วันจันทร์ที่ ๘ กรกฏาคม ๒๕๔๕


    ท่านอาจารย์ ทุกครั้งที่ไม่ได้อาศัยทวารหนึ่งทวารใดใน ๖ ทวาร ขณะนั้นเป็นภวังคจิต ซึ่งเป็นชาติอะไร วิบากจิต เป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้นผลของกรรมที่ไม่ให้เห็น ไม่ให้ได้ยิน แต่ให้ดำรงภพชาติก็มี เมื่อขณะที่เป็นภวังค์ เป็นวิบากจิต แล้วก็ขณะนั้น แล้วแต่ว่ากรรมจะทำให้เป็นภวังค์อยู่นานเท่าไร เลือกได้ไหม จะหลับก็เลือกไม่ได้ จะตื่นก็เลือกไม่ได้

    เวลาตื่นหมายความว่าอะไร รู้อารมณ์ทางหนึ่ง ทางใดใน ๖ ทาง ที่ใช้คำว่าตื่น คือรู้อารมณ์ทางตาตื่นขึ้นก็เห็น หรือบางครั้งตื่นเพราะได้ยินเสียง บางครั้งตื่นเพราะได้กลิ่นบางครั้งก็ตื่น แล้วแต่ กระทบสัมผัสสิ่งที่อาจจะเจ็บคัน หรือว่ายุงกัด หรืออะไรก็แล้วแต่

    เวลาที่เป็นลม คนที่เป็นลม คงจะเคยมี ไม่รู้สึกตัวเลยขณะนั้น มีจิตหรือไม่ มี ทำกิจอะไร ทำภวังคกิจ นี่ก็ง่ายแล้วใช่ไหม ชีวิตของเราวันหนึ่งๆ เราเริ่มรู้แล้วว่าไม่ใช่เรา แต่เป็นจิตแต่ละขณะซึ่งเกิดขึ้นทำกิจการงานต่างๆ ทางทวารต่างๆ เท่านั้นเอง ๓ กิจปฏิสนธิ ภวังค์ และจุติ ๓ กิจนี้โลกไม่ปรากฏเลย

    หลายท่านอาจจะกลัวตายใช่ไหม มีใครบ้างไหมที่ไม่กลัวความตาย เด็กๆ ทุกคน ตอนเป็นเด็ก ถ้าถึงวันนั้นก็ขอวิ่งหนีไปจนกระทั่งจะสุดโลก หรือที่ไหนก็ตามแต่ คือไม่อยากจะให้ถึงเวลานั้นเลย แล้วก็พอโตขึ้นยังกลัวอยู่ หรือไม่ หรือว่ารู้ว่าทุกคน จะกลัว หรือไม่กลัวก็ต้องตาย ก็ต้องจากโลกนี้แน่นอน จะช้า หรือจะเร็วเท่านั้น และความจริง ทุกคนกลัวเพราะว่าจะสูญสิ้นทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยยึดถือว่าเป็นของเรา

    แต่ว่าความจริงไม่มีสักอย่างเดียว เมื่อศึกษาสภาพธรรมแล้วไม่มีอะไรที่เป็นของเราได้เลย จิตก็ไม่ใช่ของเรา เกิดแล้วก็ดับไปแล้ว ปฏิสนธิจิตก็ดับไปแล้ว ภวังค์ก็ไม่รู้ว่าเท่าไรก็ดับไปแล้ว เห็นก็ไม่รู้ว่าเท่าไรก็ดับไปแล้ว ทุกอย่างเกิดเพื่อทำกิจการงานนั้นๆ แล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้นไม่มีเราเลย จะจากไปก็ไม่น่าจะเสียดายอะไรใช่ไหม เพราะว่าไม่ใช่ของเรา แต่ตราบใดที่ยังมีความยึดถือว่าเป็นของเรา ไม่มีใครอยากจาก ทุกอย่างเป็นของเราหมด บ้านก็ของเรา มารดาบิดาพ่อแม่เพื่อนฝูงทรัพย์สมบัติไม่อยากจากไปเลย แต่จริงๆ แล้ว ไม่ต้องกลัวเลย

    เพราะเหตุว่าขณะที่จะจากโลกนี้ไปจริงๆ จะไม่รู้สึกตัว เราอาจจะคิดก่อนตาย อาจจะคิดถึงคนนั้นคนนี้ แล้วก็หลายเรื่อง เราอาจจะกำลังเจ็บ ขณะที่กำลังเจ็บ ไม่ใช่ขณะที่ตาย เราอาจจะกังวลคิดถึงเรื่องความเจ็บแล้วจุติจิตก็เกิด

    เพราะฉะนั้นไม่ยาก จริงๆ แล้วก็ไม่น่ากลัว ถ้าพูดในลักษณะนี้ทุกคนจะไม่ต้องกลัวอะไรเลยใช่ไหม ถึงเจ็บเราก็กำลังเจ็บ และจุติจิตก็เกิดได้หลังจากนั้น เพราะฉะนั้นเรากำลังเจ็บทุกวันนี้เราก็กำลังเจ็บใช่ไหม เวลาที่เรามีมีดบาด หรืออะไรก็แล้วแต่ เราก็เจ็บแต่หลังจากเจ็บแล้วเราก็ตายได้โดยที่ตอนตายเราไม่รู้สึก เราก็กำลังรู้สึกเหมือนเรากำลังเจ็บเหมือนยังมีชีวิตอยู่ เพราะฉะนั้นก็ไม่น่ากลัวเลย แต่ว่าต่อไปจะเกิดที่ไหน นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก

    นี่เป็นเหตุที่พระธรรม ทรงแสดงเพื่อที่จะให้เราเกิดปัญญาที่จะรู้ว่าเราไม่มีอำนาจบังคับบัญชาเลย แม้แต่การที่เราจะเกิดเป็นคนนี้ชาตินี้ เราก็เลือกไม่ได้ เลือกตั้งแต่ขณะที่เกิดใหม่ ไม่ได้ หลังจากเกิดมาแล้ว จะมีลาภยศสรรเสริญสุขทุกข์ประการใด ก็เลือกไม่ได้อีก แต่ว่ามีเหตุทั้งนั้น ที่จะทำให้สภาพธรรมเหล่านี้เกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้นการศึกษาให้เข้าใจสภาพธรรม เรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องรูป ก็จะทำให้เราเข้าใจความจริง มีชีวิตอยู่ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง ดีกว่ามีชีวิตเหมือนคนตาบอด กุศลจิตจะเกิด อกุศลจิตจะเกิด อยากจะได้แต่กุศลวิบากก็ไม่เห็นได้สักที คิดว่าทำบุญแล้วเมื่อไรจะได้ ก็เฝ้ารอเฝ้าหวังนั้นก็เป็นเรื่องที่ไม่ใช่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย

    เพราะเหตุว่าวิปากะหมายความถึงสภาพธรรมที่สุกงอม ถึงกาลที่จะเกิดจึงเกิดได้ แต่ถ้ายังไม่ถึงกาล อย่างกรรมที่ทุกคนทำไว้ ไม่ใช่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว ชาติก่อน จำไม่ได้แน่เพราะไม่รู้ว่าเป็นใคร ชาติโน้นๆ อีกทั้งหมด สามารถที่จะให้ผลได้แม้พระผู้มีพระภาคตอนใกล้ที่จะปรินิพพาน ก็ทรงประชวรก็เป็นผลของกรรมในอดีตที่ได้กระทำไว้ ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะหลีกเลี่ยง หรือหนีได้ เพราะว่าธรรมเป็นธรรม ไม่มีเจ้าของไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร

    เพราะฉะนั้นการศึกษาเรื่องจิตยิ่งละเอียดยิ่งเข้าใจขึ้น ก็จะทำให้เรารู้ว่าบังคับบัญชาไม่ได้ ทุกอย่างมีเหตุมีปัจจัย และก็ทั้งหมดนี้ที่เป็นวิบาก ก็เป็นผลของการกระทำของแต่ละคน ซึ่งไม่ใช่คนอื่นจะทำให้

    มีท่านผู้หนึ่ง ท่านก็มีความเป็นห่วงใยในบิดามารดาของท่านมากที่ว่า อยากจะให้มารดาบิดา ฟังธรรม สนใจธรรม ท่านเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ของธรรม แล้วท่านก็ถามบอกว่าท่านจะขออำนาจกุศลกรรมที่ท่านทำทั้งหมด ให้มารดาบิดาของท่านมีความสนใจในธรรมได้ไหม ดิฉันก็ได้เรียนท่านผู้นั้นว่าถ้าทำได้ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องทรงกระทำแล้ว

    ก็เป็นสิ่งซึ่งทุกคนก็ต้องพึ่งตัวเอง และก็มีปัญญามีความเห็นถูกของตนเองเป็นที่พึ่งสำหรับภพต่อไปเพราะว่ายังต้องเกิดอีกนานมาก ไม่ใช่เพียงชาติเดียว แต่ว่าชาตินี้ก็เป็นผลของกุศล ที่ทำให้เกิดเป็นมนุษย์ แล้วก็ยังมีโอกาสได้ฟังพระธรรม นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งประเสริฐที่สุด

    ผู้ฟัง มีปัญหาอยู่ตั้งแต่ต้นแล้ว รูปเกิดจาก ๔ ปัจจัย คือมีกรรม มีจิต มีอุตุ และอาหาร เพราะฉะนั้นรูปที่เกิดเพราะจิตน่าจะอยู่ภายใต้ความสำคัญของจิต

    ท่านอาจารย์ แสดงว่าธรรม ไม่มีใครสามารถที่จะคิดเองได้เลย ถ้ารู้ว่ารูปที่เกิดพร้อมจิตเกิดเมื่อไหร่ ก็จะไม่คิดถึงปัญหานี้เลย เพราะเหตุว่าจิตหนึ่งขณะ จะมีขณะย่อย ๓ ขณะ คืออุปาทขณะ ขณะเกิด ฐิติขณะคือขณะที่ยังไม่ดับ ภังคขณะคือขณะที่ดับ

    แม้ว่าเป็นนามธรรม มีอายุสั้นแสนสั้น เกิด และทำหน้าที่ และก็ดับไปเลยทุกๆ ขณะนี้ แต่พระผู้มีพระภาคก็ยังทรงแสดงว่าจิตทุกดวงทุกขณะ จะมีอนุขณะ ขณะย่อย ๓ ขณะ คือขณะเกิดอุปาทขณะไม่ใช่ขณะที่ตั้งอยู่ และขณะที่เป็นฐิติขณะที่ยังไม่ดับก็ไม่ใช่ขณะที่ดับ

    เพราะฉะนั้นทั้ง ๓ ขณะนี้ต่างกัน แต่จิตตชรูปคือรูปซึ่งเกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน เกิดพร้อมกับอุปปาทขณะของจิต เพราะฉะนั้นไม่มีทางเลยที่จิตจะไปสั่งรูปใด หรือว่าจะไปบังคับบัญชารูปใด เพราะว่ารูปนั้นเกิดพร้อมกับอุปาทขณะของจิต แต่กัมมชรูปเกิดพร้อมปฏิสนธิจิต และก็เกิดทุกๆ ขณะของจิต เพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน ถ้ารูปที่มีกรรมเป็นสมุฏฐานไม่ได้เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน กรรมที่ทำให้เป็นบุคคลนี้เกิดตั้งแต่ปฏิสนธิ และกัมมชรูปก็เกิดสืบต่อที่จะไม่เปลี่ยน ยังจะเป็นบุคคลใดต่อไป นั้นเป็นเรื่องของกัมมชรูป

    สภาพธรรมทั้งหมดแม้แต่รูป ก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ถ้าเป็นรูปที่เกิดพร้อมจิตต้องเกิดพร้อมกับอุปปาทขณะของจิต ขณะนั้นจิตมีกำลังที่จะทำให้รูปเกิดในอุปปาทขณะ

    ผู้ฟัง ต้นชั่วโมงที่แล้ว ที่มีผู้ถามว่าทำไมจิตถึงมีหลายชื่อ ก็คิดว่าเหตุที่มีหลายชื่อก็สามารถจำแนกตามคุณลักษณะด้านต่างๆ ของจิตได้ ไม่ทราบว่าพอจะสรุปอย่างนี้ได้

    ท่านอาจารย์ คือจิต ๘๙ ประเภททุกประเภทๆ มีชื่อ แต่เฉพาะตัวจิตเองยังไม่พูดถึงเจตสิก จิตเองเฉพาะจิตก็มีหลายชื่อ ที่มีรายชื่อก็เพื่อที่จะว่าใครเข้าใจชื่อไหนได้อย่างไรก็ให้เข้าใจอย่างนั้น

    เช่นคำว่าจิตเป็นสภาพคิดคือรู้แจ้งอารมณ์ คำว่าคิดที่นี่ไม่ใช่คิดแบบวิตกเจตสิกอย่างที่มีผู้ถาม แต่หมายความว่ารู้แจ้งอารมณ์ เพราะฉะนั้นถ้าจะใช้คำว่ารู้แจ้งอารมณ์ หรือจะใช้คำว่าคิดก็แล้วแต่ว่าจะเข้าใจคำไหน ก็ใช้คำนั้น เพราะว่าจิตเป็นสภาพรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้

    เช่นขณะนี้ถ้าไม่มีจิต สีสันวรรณะห้องนี้แสงสว่างในห้องนี้ก็ไม่ปรากฏเลย ไม่ว่าจะเป็นสีใดๆ ทั้งหมด ถ้าไม่มีจิต สีสันวรรณะต่างๆ นี่ก็ไม่ปรากฏ แต่ที่ปรากฏได้เพราะมีจิตเห็น เพราะฉะนั้นลักษณะของจิตนี้ก็เป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์

    คำว่าหทยะ หมายความถึงภายใน อะไรอยู่ภายในบ้างเวลานี้ สิ่งที่เรามองเห็นเป็นภายนอก เราเห็นรูปได้ใช่ไหม แต่จิตเจตสิก เห็นไม่ได้ เมื่อเห็นไม่ได้อยู่ภายในจริงๆ เพราะว่าจะไปหาตรงไหน

    อย่างที่ตา ก็มีจิตเจตสิกที่กำลังเกิดที่นั่น และก็เห็นด้วย แต่จะหาจิตตรงไหน เป็นภายในจริงๆ คือลึกที่สุดคือจิต ในที่สุดคือจิต แม้ว่าเจตสิกจะเกิดร่วมด้วยก็จริง แต่จิตก็ยังลึกกว่าเจตสิก

    เพราะฉะนั้นก็ใช้ในความหมายที่ว่าให้เห็นว่าเป็นภายในจริงๆ แม้แต่ว่าถ้าจะแสดงโดยอายตนะ จิตก็เป็นมนายตนะ แต่เจตสิกเป็นธรรมายตนะ เพราะว่าเกิดกับจิต เพราะฉะนั้นเจตสิกแม้เกิดกับจิตก็ไม่ใช่จิต

    เพราะฉะนั้นแสดงถึงความเป็นภายในจริงๆ ของจิต ซึ่งทุกคนยึดถือสิ่งที่เป็นภายในแม้ไม่เห็น อย่างจิตไม่เห็นเลยแต่ก็ยึดถือในจิตว่าเป็นจิตของเรา คิดเมื่อไรก็เป็นเราคิด เห็นเมื่อไรก็เป็นเราเห็น ได้ยินเมื่อไรก็เป็นเราได้ยิน คือยึดถือสภาพธรรมที่แม้ไม่เห็น และอยู่ภายในที่สุดเป็นเราได้ เพราะเหตุว่ามีความไม่รู้

    เพราะฉะนั้นแต่ละคำก็มีความหมายคล้ายคลึงกัน หรือความหมายของปัณฑระ ก็คือจิตทุกชนิดทุกประเภท เมื่อไม่กล่าวถึงเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยเพราะว่าจิตจะเป็นประเภทต่างๆ ตามเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ถ้ามีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตนั้นเป็นโลภมูลจิต อีกชื่อหนึ่งแล้ว ถ้าเป็นจิตที่มีโทสะความขุ่นเคืองเกิดร่วมด้วยจิตนั้นก็ชื่อโทสมูลจิต แสดงให้เห็นความต่างโลภมูลจิตไม่ใช่โทสมูลจิต

    แต่ตัวจิตเท่านั้นไม่นับเจตสิกซึ่งเกิดร่วมด้วยเลยเป็นปัณฑระ ไม่ว่าจะเป็นจิตประเภทไหนทั้งสิ้นก็คือว่าเป็นสภาพที่ตัวเองบริสุทธิ์เพราะเหตุว่ายังไม่มีเจตสิกอื่นๆ เกิดร่วมด้วยเลย ในความหมายนั้น แต่ว่าจิตจะไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยไม่ได้ แต่ถึงกระนั้นก็ยังแยกโดยชื่อ

    พอถึงคำว่าประภัสสร หรือประภัสสรังหมายความถึงภวังคจิตกับกุศลจิต นี่ก็เป็นชื่อต่างๆ ซึ่งก็คงจะจำก็ได้ไม่จำก็ได้ แต่ถ้าเข้าใจแล้วก็คงจะจำได้ด้วย สำหรับวันนี้ก็หมดเวลาแล้ว ก็ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่าน

    วันจันทร์ที่ ๑๕/๐๗/๒๕๔๕

    ท่านอาจารย์ ท่านผู้ฟังที่เคารพสำหรับวันนี้ก็คงเป็นเรื่องของชีวิตคือเรื่องของจิตซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะว่าตลอดชีวิตไม่มีสักขณะเดียวที่ขาดจิต แต่ว่าควรที่จะได้เริ่มเข้าใจตั้งแต่ต้น ซึ่งแต่ละคนมานั่งอยู่ที่นี้ แล้วก็มีปฏิสนธิจิตมาแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจเรื่องของจิตขณะแรกของชีวิต ก็จะทำให้ทราบถึงความเป็นไปของแต่ละชีวิต ว่าเป็นสิ่งซึ่งแต่ละคนเลือกไม่ได้ เพราะเหตุว่าแต่ละคนก็จะต้องเป็นไปตามการสะสม

    ขอกล่าวถึงจิตขณะแรก คือ ปฏิสนธิจิต ซึ่งก็ได้กล่าวถึงไปบ้างแล้ว ปฏิสนธิจิตชื่อเป็นภาษาบาลี บางคนอาจจะไม่คุ้นหู แต่หมายความถึงจิตขณะแรกที่เกิดขึ้น ซึ่งต่อไปก็จะทราบได้ว่าทุกจิตที่เกิดต้องมีเหตุปัจจัย สำหรับจิตขณะแรกที่เกิด ก็เป็นจิตประเภทผลของกรรมคือวิบากจิต

    เพราะฉะนั้นไม่มีใครสามารถที่จะเลือกได้เลยในขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น แล้วก็ขณะนั้น ก็ไม่มีการรู้ตัวเลยทั้งสิ้น โลกนี้ก็ไม่ปรากฏ เพราะว่าการที่โลกนี้จะปรากฎได้ก็ต่อเมื่อมีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย และหลังจากปฏิสนธิคือจิตขณะแรกดับไปแล้ว ต่อมาถึงจะมีการคิดนึกทางใจได้แม้ว่าขณะนั้นยังไม่มีตามีหูจมูกลิ้นกายใดๆ เลย ตอนปฏิสนธิจิต จะมีรูปเกิดร่วมด้วย แต่ว่ารูปนั้นก็เกิดสืบต่อเร็วมาก แล้วแต่ว่าจะเป็นปัจจัยให้มีการรู้สภาพธรรมที่ปรากฏที่กายเมื่อไหร่

    เพราะฉะนั้นก็ขอให้ทุกคน ย้อนไปถึงอดีต แล้วแต่ว่าปฏิสนธิจิตของใครจะเกิดเมื่อไร ๓๐ ปี หรือ ๔๐ ปี หรือว่า ๕๐ ปีมาแล้วก็ตามแต่ จิตขณะแรก ต้องเกิดขึ้น จึงจะมีจิตขณะหลังๆ มาจนกระทั่งถึงขณะนี้ได้ จิตขณะแรกเป็นวิบากจิตเป็นผลของกรรม อันนี้คงไม่ลืม เพราะว่าขณะแรกที่เกิดไม่ได้มีการกระทำกรรมใดๆ เลยทั้งสิ้น ไม่มีทั้งกุศลกรรม และอกุศลกรรม ไม่มีแม้แต่เห็นถ้าเกิดในครรภ์ ไม่มีตา ไม่มีหู ไม่มีจมูก ไม่มีลิ้น ในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้นในขณะแรกที่เกิดลองคิดดู ไม่มีรูปร่างกายเจือปนในนามธาตุ ถ้าพูดถึงนามธาตุ ต้องไม่ลืมว่าแม้ขณะนี้มี แต่ก็ไม่มีใครสามารถจะมองเห็นได้เลย และนามธาตุที่มีจริงๆ ก็คือจิต และเจตสิก

    เพราะฉะนั้นเวลาที่ปฏิสนธิจิตเกิด จะเกิดพร้อมกับเจตสิก เกิดพร้อมกันแล้วก็ดับพร้อมกัน แต่ยังไม่พูดถึงตอนเกิดดับ แต่จะพูดถึงขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นขณะแรก

    ถ้าเป็นมนุษย์ก็ในครรภ์ ถ้าเป็นพวกสัตว์เดรัจฉานก็มีหลายอย่าง บางพวกก็อาจจะเกิดเป็นตัวขึ้นมาทันที พวกหนอนในที่บางแห่ง หรือว่าถ้าเป็นไก่ก็เกิดในไข่ก่อนแล้วถึงจะเกิดเป็นตัวทีหลัง

    ถ้าเกิดในภูมิที่เป็นมนุษย์ก็จะมีเกิดในครรภ์ แต่ว่าขณะนั้นก็เป็นขณะที่มืดสนิท เวลาทุกคนหลับตา มืดไหม แต่ไม่สนิทใช่ไหม แล้วเวลาที่นอนหลับสนิท มืดสนิทหรือไม่ ลองคิดถึงห้องนี้ก่อน เวลาที่หลับตาไม่มืดสนิท แต่ว่าเวลาที่ดับไฟหมดแล้วหลับตา จะมืดกว่าใช่ไหม แต่ยังไม่เท่าขณะที่เวลาปฏิสนธิจิตเกิด ไม่มีอะไรเลยใช่ไหม ขณะนี้ถ้าเราดับไฟ เราลืมตาเห็น แต่เห็นความมืด เพราะฉะนั้นขณะนั้นก็เป็นความมืดแบบไม่มีไฟ แต่ว่าเวลาที่ปฏิสนธิจิตเกิดมืดสนิท มีแต่สภาพรู้ หรือธาตุรู้

    การที่จะรู้ลักษณะของสภาพรู้ หรือธาตุรู้ ต้องค่อยๆ พิจารณา เช่นในขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิด มืดสนิท แต่นามธรรม หรือนามธาตุเกิดแล้วเป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมเมื่อเกิดขึ้น เป็นธาตุรู้ที่ต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ขณะนั้นไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏในโลกนี้เลยเพราะว่าเป็นอารมณ์ หรือว่าเป็นสิ่งที่จิตรู้ใกล้จะจุติของชาติก่อน

    เพราะฉะนั้นเวลาที่ปฏิสนธิจิตเกิด โลกนี้ไม่ปรากฏเลย แต่มีอะไรในปฏิสนธิจิต มีจิต มีเจตสิก แล้วก็มีการสะสมสืบต่อ เพราะว่าจิตแต่ละขณะเกิด และดับเพราะอนันตรปัจจัย จิตเป็นอนันตรปัจจัย ที่จะให้จิตที่ดับไปไม่ทำให้จิตขณะต่อไปเกิดอีก ไม่ได้ เหมือนขณะนี้

    เพราะฉะนั้นเวลาที่สภาพธรรมที่เป็นจิตเจตสิกดับ แล้วจะมีใครมีอำนาจไปยับยั้งไม่ให้จิตเจตสิกขณะต่อไปเกิด เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย

    เมื่อมีการจุติ คือจิตขณะสุดท้ายของชาติก่อนดับ ก็จะเป็นอนันตรปัจจัยทำให้จิตขณะแรกของชาตินี้เกิดขึ้นพร้อมเจตสิก แต่ว่าปฏิสนธิจิตของแต่ละคนต้องต่างกันตามการสะสม แม้ว่าจะเกิดเป็นมนุษย์ด้วยกัน ก็ยังมีมนุษย์ที่มีปัญญา และก็มีมนุษย์ที่ปัญญาน้อย หรือว่าจะเรียกได้ว่าขณะเกิดนั้นไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    เพราะฉะนั้นแต่ละคนซึ่งจากปฏิสนธิขณะมาสู่ขณะปัจจุบัน ก็จะเห็นได้ว่าแตกต่างกันไปตามการสะสม ตั้งแต่ปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นผลของกรรมๆ หนึ่ง ที่ทำให้ชีวิตดำเนินไปจนกว่าจะสิ้นสุดกรรม ถ้าปฏิสนธิเป็นสัตว์ เช่นนกไก่พวกนี้ เป็นผลของอกุศลกรรม ปฏิสนธิจิตของไก่นกพวกนี้ มืดไหม เหมือนกันเลย ปฏิสนธิจิตของเทวดามืดไหม ปฏิสนธิจิตของพรหม ของอรูปพรหม ยิ่งอรูปพรหมยิ่งไม่มีรูปไม่มีแสงสว่างไม่มีใดๆ เลยทั้งสิ้น เป็นนามธาตุล้วน คิดถึงสภาพรู้ ซึ่งไม่มีรูปใดๆ เลย

    แต่ของเรา ลืมตาขึ้นมาก็เห็นรูปชนิดหนึ่ง พอได้ยินเสียงก็เป็นรูปอีกชนิดหนึ่ง พอกลิ่นปรากฏก็เป็นรูปอีกชนิดหนึ่ง พอรสปรากฏก็เป็นรูปอีกชนิดหนึ่ง เย็นร้อนอ่อนแข็งปรากฏก็เป็นรูปอีกชนิดหนึ่ง เราก็อยู่ในโลกของรูป ของเสียง ของกลิ่น ของรส ของโผฏฐัพพะ แล้วก็คิดนึกเรื่องนั้น

    แต่ว่าปฏิสนธิจิต มีถึง ๑๙ ประเภท แต่ว่าวันนี้ก็คงจะไม่กล่าวถึงหมด เพียงแต่กล่าวให้เห็นว่าเวลาที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    ปฏิสนธิจิตของสัตว์เดรัจฉานพวกนกพวกไก่ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยไหม มี ของเทวดาก็มี เพราะว่าธรรมเป็นธรรม ใครจะเปลี่ยนแปลงลักษณะของธรรมไม่ได้เลย เพียงแต่ว่าค่อยๆ เข้าใจตาม เพราะขณะใดที่จิตประเภทหนึ่ง ประเภทใด เกิดที่ไหน เมื่อไหร่ทำกิจอะไรก็ตาม ขณะนั้นต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    เพราะฉะนั้นที่จิตของสัตว์กับจิตของมนุษย์ต่างกัน เพราะว่าเป็นผลของกรรมที่ต่างกัน

    ถ้าเกิดในนรกเป็นเปรตเป็นอสูรกาย หรือว่าเป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง ชนิดไหนก็ตาม จะมีรูปร่างกายใหญ่โตเป็นช้าง หรือว่าจะมีรูปร่างเล็กมากเป็นไร ก็ตามแต่ ปฏิสนธิจิตขณะนั้นก็เป็นประเภทเดียวกันคือว่าเป็นผลของอกุศลละกรรม

    เพราะฉะนั้นจิตของมนุษย์ขึ้นไปจนถึงสวรรค์ แล้วก็พรหมชั้นต่างๆ และอรูปพรหม เป็นผลของกุศล แต่ก็จำแนกให้ต่างกัน เพราะว่ากุศลของแต่ละคนที่ทำในแต่ละครั้ง จะเห็นได้ว่าบางครั้งประกอบด้วยปิติ บางครั้งก็ไม่ประกอบด้วยปิติ และก็บางครั้งก็มีความเพียรมาก บางครั้งก็มีความเพียรน้อย เพราะฉะนั้นเวลาที่กรรมใดๆ จะให้ผล ก็ต่างกันไป ขอเชิญคุณสุภีร์

    อาจารย์สุภีร์ ที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวเมื่อครู่ ถึงเรื่องปฏิสนธิสำหรับบุคคลผู้ที่ปฏิสนธิในสุคติภูมิ สำหรับในทุคติภูมิ ก็เกิดด้วยผลของอกุศลกรรม ก็คือสัตว์เดรัจฉานที่ท่านอาจารย์ได้ยกตัวอย่างไป ซึ่งทุคติภูมิ จะมีอยู่ ๔ ภูมิด้วยกันก็คือ นรกหนึ่ง เปรตหนึ่ง อสูรกายหนึ่ง และสัตว์เดรัจฉานหนึ่ง


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 6
    16 ส.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ