สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 026


    สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ ๒๖

    วันจันทร์ที่ ๑๕ กรกฏาคม ๒๕๔๕


    ท่านอาจารย์ ตายคือถึงแก่กรรม หมายความว่ากรรมนั้นสิ้นสุดไม่ทำให้เป็นบุคคลนี้อีกต่อไป จึงทำให้จุติจิตเกิด เพราะฉะนั้นปฏิสนธิจิตก็เป็นผลของกรรม และภวังคจิตก็เป็นผลของกรรมยังตายไม่ได้เพราะว่ากรรมยังไม่หมด แต่พอถึงวาระที่จะสิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ กรรมก็จะทำให้จุติจิตเกิดยับยั้งไม่ได้อีกเช่นกัน หมอก็ช่วยไม่ได้ เงินทองจะซื้อสักเท่าไรก็ไม่สามารถที่จะยืดเวลาของจุติจิตต่อไปได้เลย เพราะว่าจุติจิตเกิดเพราะกรรม สภาพของจิตเป็นไปตามกรรมเมื่อเป็นวิบาก แล้วก็เวลาเป็นกุศลอกุศลก็เป็นไปตามการสะสมหลังจากที่เห็นแล้วได้ยินแล้วซึ่งเป็นวิบาก เพราะฉะนั้นก่อนจะตายถ้าทุกคนเลือกได้ก็เลือกดีๆ ใช่ไหม ที่พยายามกันมากก็คือพยายามที่จะให้กุศลจิตเกิดก่อนตาย แต่ตายจริงๆ ไม่มีใครรู้ จิตหนึ่งขณะเท่านั้น ลองคิดถึงจิตหนึ่งขณะเหมือนปฏิสนธิจิตก็เพียงหนึ่งขณะ แต่จิตเห็นมากมายหลายขณะ จิตเกิดดับสืบต่อสลับกันทางตาบ้าง ทางหูบ้าง เพราะฉะนั้นไม่ใช่ขณะเดียว แต่จุติจิตเพียงขณะเดียวเท่านั้น

    เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรื่องของเราที่จะเลือก แต่ว่าเป็นการที่ว่า ถ้าเราทำกุศลไปมากๆ เรื่อยๆ ก็มีทางที่กุศลนั้น จะเป็นปัจจัยทำให้ปฏิสนธิจิตได้เมื่อใกล้จะจุติ เพราะเวลาที่จุติจิตจะเกิดจริงๆ ไม่มีใครรู้สึกตัว เหมือนกับตอนเกิดปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อจากจุติของชาติก่อนจะรู้สึกตัวได้อย่างไร ในเมื่อก่อนจะตายชาติก่อนก็ไม่รู้สึกตัว แล้วพอจุติจิตดับปฏิสนธิจิตเกิดต่อก็ไม่รู้สึกตัวเหมือนกัน ฉันใด

    ขณะที่กำลังสนุกตายได้ไหม มีคนหนึ่ง และก็คงจะหลายๆ คนหลายๆ แบบ รับประทานอาหารเสร็จนั่งดูโทรทัศน์แล้วก็ตาย จุติจิตก็เกิดโดยที่ว่าเขากำลังเพลินกับโทรทัศน์ ถ้าเป็นคนที่ป่วยหนักในโรงพยาบาลแล้วตาย เขาก็กำลังคิดเรื่องเจ็บปวด เหมือนกับที่ทุกวันนี้ ถ้าเราเกิดปวดฟัน หรือปวดท้อง หรือเป็นโรคภัยชนิดหนึ่งชนิดใด เราก็มีความเจ็บเป็นธรรมดาแต่ยังไม่ตาย เพราะฉะนั้นถ้าคนที่ใกล้จะตายเจ็บ เมื่อเจ็บแล้วก็ตายก็ไม่รู้สึกตัวเหมือนกัน เพราะว่าขณะตายไม่รู้ แต่รู้ขณะที่กำลังเจ็บ ถ้ากำลังสนุกอยู่ แล้วก็จุติจิตเกิดก็เพลินอยู่กับเรื่องที่กำลังสนุก และจุติจิตก็เกิด เพราะฉะนั้นจุติจิตจริงๆ ไม่น่ากลัวเลย การจะจากโลกนี้ไป เป็นของธรรมดาทุกคนต้องตายแน่ แล้วก็วันหนึ่งวันใดก็ไม่รู้แล้วแต่กรรมจะทำให้อยู่ต่อไปอีกนานมากน้อยเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นจุติขณะไม่น่ากลัวไม่น่าตกใจ เพราะว่าขณะนั้นไม่รู้ตัว รู้ตัวแต่ตอนที่กำลังป่วย หรือกำลังเจ็บ หรือกำลังสนุก หรืออาจจะกำลังโศกเศร้าร้องไห้ แต่ถึงกระนั้นแรงของกรรมที่สามารถจะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด ทำให้จิตใกล้จะจุติผ่องใส หรือเศร้าหมอง โดยอารมณ์ที่ปรากฏเพราะกรรมเป็นปัจจัย ซึ่ง ๕ ขณะของจิตก่อนจุติไม่มีใครรู้ว่าเร็วขนาดไหน แต่ก็เป็นกุศล หรืออกุศลซึ่งจะทำให้ปฏิสนธิเป็นผลของกุศล หรืออกุศลนั้น คือถ้าจิตก่อนตายเศร้าหมองเป็นอกุศล ปฏิสนธิจิตเป็นอกุศลวิบาก ถ้าจิตก่อนตายเป็นกุศล ปฏิสนธิจิตก็เป็นกุศลวิบาก แต่ไม่รู้ตัวเพราะเร็วมาก เวลานี้เรารู้แต่ ๕ ขณะจริงๆ เราไม่รู้

    เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องซึ่งทุกคนมีกรรมทำให้มาสู่โลกนี้เป็นอย่างนี้ แล้วก็กรรมอีกเช่นกันที่จะทำให้จากโลกนี้ไปสู่โลกอื่นแล้วแต่ว่าจะเป็นกรรมอะไร อาจจะเป็นผลของกุศลที่มากกว่าชาตินี้ก็ได้ หรือว่าอาจจะเป็นผลของอกุศลซึ่งร้ายกว่าชาตินี้ก็ได้

    ผู้ฟัง การทำกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาจะมีลักษณะของจิตเช่นไร

    ท่านอาจารย์ ปัญญาหมายความถึงสภาพธรรมที่เข้าใจถูก เห็นถูก เป็นสิ่งที่มีจริงแต่ไม่ใช่จิต จิตเป็นสภาพที่เป็นธาตุรู้ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏให้รู้ นี่เป็นหน้าที่ของจิต เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ เช่น ขณะนี้กำลังเห็น สิ่งที่ปรากฏให้จิตเห็น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งใดๆ ก็ตามอย่างที่เคยกล่าวว่าเพชรแท้เพชรเทียม หรือจะเป็นอะไรสีสันใกล้เคียง น้ำทะเลกับฟ้า หรืออย่างไร จิตสามารถที่จะรู้แจ้งในอารมณ์นั้นได้ แต่ปัญญาไม่ใช่จิต เพราะฉะนั้นปัญญาก็เป็นเจตสิก ซึ่งเกิดกับจิต เจตสิกทั้งหมดเป็นนามธรรมชนิดหนึ่งซึ่งจะต้องเกิดกับจิตเท่านั้น จะไม่เกิดนอกจิตเลย ปัญญาเป็นสภาพที่เข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงของสิ่งที่มี หรือเหตุผลของสิ่งนั้น เวลาที่เราเรียนหนังสือครูก็จะมีสมุดพก มีคำว่า เด็กคนนี้สติปัญญาดี แต่ความจริงทั้งสติ และปัญญาที่ใช้ในภาษาไทยไม่ใช่สติเจตสิก และไม่ใช่ปัญญาเจตสิก ไม่ใช่สภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดงว่าคำนี้หมายความถึงสภาพธรรมอะไร ถ้าเป็นปัญญาเจตสิกไม่ได้หมายความถึงเรียนหนังสือเก่ง ไม่ได้หมายความว่าคิดประดิษฐ์อะไร จะเป็นการค้นคิดสูตรยาได้ หรือสร้างอะไรได้ก็ตาม ขณะนั้นไม่ใช่การรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ปัญญาเจตสิก เพราะฉะนั้นในขณะที่กำลังฟังธรรม ไม่ได้ฟังวิชาอื่น ถ้าฟังวิชาอื่น ไม่ใช่เรื่องของจิต ไม่ใช่เรื่องของเจตสิก ไม่ใช่เรื่องของรูป ไม่ใช่เรื่องของสภาพธรรมที่มีจริง ซึ่งแม้ว่าไม่เรียกชื่อใดๆ เลยทั้งสิ้นสภาพธรรมนั้นก็เป็นจริงอย่างนั้น เช่น เห็นอย่างนี้ไม่ต้องเรียกเลยก็เห็น ได้ยินก็ไม่ต้องเรียกเลยก็ได้ยิน เสียงไม่ต้องมีใครเรียกเสียงก็มีจริงๆ

    เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่มีจริงเป็นปรมัตธรรม ไม่มีใครต้องเรียกชื่อใดๆ ทั้งสิ้น ถ้ามีความเข้าใจยิ่งขึ้นถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง นั่นคือปัญญาเจตสิก แต่ถ้าไม่ใช่เรื่องอย่างนี้ไม่ใช่เข้าใจอย่างนี้ เราก็เรียกกันเองว่าปัญญา เหมือนสติไม่ใช่สติเราก็เรียกว่าสติ เพราะฉะนั้นถ้าศึกษาธรรมก็จะรู้ว่าคำที่ใช้ในพระพุทธศาสนา ใช้สำหรับแสดงลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงแต่ละอย่างตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ เพราะฉะนั้นถ้าภาษาไทยเราใช้ก็ต้องรู้ว่านั่นเป็นภาษาไทย แต่ถ้าเป็นคำที่หมายความถึงสภาพธรรมก็ต้องให้ตรงกับคำที่ใช้ในพระพุทธศาสนา

    เพราะฉะนั้นขณะนี้เป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา เมื่อไหร่ เมื่อเข้าใจ แต่ถ้าไม่เข้าใจจะบอกว่าเป็นปัญญาได้ไหม ก็ไม่ได้ ต้องเป็นผู้ที่ตรง การศึกษาธรรมถ้าไม่ตรงจะไม่ได้สาระจากพระธรรมเลย เพราะว่าเมื่อไม่ตรงจะถูกได้อย่างไร จะเข้าใจได้อย่างไร และโดยเฉพาะความรู้ ก็จะละความไม่รู้ แล้วก็ละอกุศลทั้งหลายด้วย มีปัญญาเท่านั้นที่จะละอกุศลได้ อย่างอื่นไม่สามารถที่จะละได้เลย เพราะฉะนั้นตอนนี้ก็ทราบแล้วใช่ไหม ขณะใดที่มีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูก ก็ไม่ใช่เรา หรือไม่ใช่ใครคนหนึ่งคนใดเลย แต่เป็นปัญญาเจตสิกที่เกิดแล้วก็ดับด้วย ขณะต่อไปที่ไม่มีปัญญาเกิดก็ไม่รู้อีกแล้ว

    ผู้ฟัง ขณะที่ฟังธรรมก็เป็นบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ อย่างหนึ่งใช่ไหม ขณะที่ฟังแล้วเข้าใจก็ประกอบด้วยปัญญา ถ้าในขณะที่ฟังแล้วก็น้อมพิจารณาตาม ปัญญานั้นจะแตกต่างกับฟังแล้วเพียงเข้าใจเฉยๆ หรือว่าถ้าเป็นฟังการบรรยายเรื่องอื่นฟังแล้วเข้าใจ จะมีความแตกต่างในระดับของความเข้าใจทั้ง ๓ ประการอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าฟังเรื่องอื่นจะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมขณะนี้ไหม เพราะขณะนี้มีจิตมีเจตสิก และมีรูปที่พร้อมที่จะให้พิสูจน์ให้เข้าใจถูกต้อง เพราะฉะนั้นถ้าฟังเรื่องอื่นก็ไม่ใช่ปัญญาเจตสิก แต่ในขณะที่กำลังฟังเรื่องสภาพธรรมที่มีจริงเป็นปัญญาเจตสิก แต่ว่าระดับฟังเรื่องราวของสภาพธรรม ยังไม่ใช่การรู้จักลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ด้วยปัญญาอีกระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้นพระพุทธศาสนาไม่ใช่ศาสนาที่เพียงสอนเรื่องราว และให้เกิดปัญญาระดับที่เป็นตัวเราที่เข้าใจเรื่องราว นั่นก็ไม่ถูกต้อง เพราะว่าเมื่อทรงแสดงไว้ว่าสภาพธรรมที่มีจริงคือจิต เจตสิก รูป ถ้าไม่มีจิต เจตสิก รูป คนก็ไม่มี สัตว์ก็ไม่มี ถ้าไม่มีรูปใดๆ เลยทั้งสิ้น สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ไม่มีใครสามารถไปรู้ได้ ถ้าไม่มีธาตุรู้สิ่งนั้น เพราะฉะนั้นเวลาที่มีเรื่องสภาพธรรมคือจิต เจตสิก รูป และมีความเข้าใจเรื่องราว ผู้ฟังต้องรู้ว่าไม่ใช่ปัญญาที่รู้จริงระดับประจักษ์แจ้งที่สามารถที่จะละความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้

    เพราะฉะนั้นในพระพุทธศาสนาจะมีปัญญา ๓ ระดับ สุตมยปัญญา ปัญญาที่สำเร็จจากการฟัง หมายความว่าฟัง ไม่ใช่ฟังเฉยๆ ฟังพิจารณาไตร่ตรองเข้าใจ ซึ่งใครก็ไม่สามารถที่จะช่วงชิงไปได้เลย ถ้ามีปัญญาความเข้าใจธรรม ทรัพย์สินอื่นก็ยังถูกช่วงชิงลักพาไปได้สาธารณะกับน้ำท่วมไฟไหม้ได้ แต่ปัญญานี้เมื่อเกิดแล้วก็จะค่อยๆ เจริญขึ้น ถ้ามีความเข้าใจเพิ่มขึ้น และเห็นคุณของปัญญามากขึ้น ก็จะมีการศึกษาธรรมไปเรื่อยๆ ระดับขั้นของปัญญามีสุตมยปัญญาที่สำเร็จจากการฟัง จินตามยปัญญา ฟังแล้วก็กลับไปบ้านไปก็อาจจะคิด ไตร่ตรองถึงสิ่งที่ได้ยินได้ฟังอีก ลักษณะของรูป แข็งหรือร้อน เย็นหรืออ่อนพวกนี้ ฟังมาก็แล้วแต่ว่าสามารถที่จะระลึกได้เท่าไร ใค่รครวญได้เท่าไร เข้าใจได้อีกเท่าไร นั่นก็เป็นปัญญาระดับของความตรึกการคิดนึก เป็นสุตมยปัญญา จินตามยปัญญา

    ส่วนอีกขั้นหนึ่งเป็นภาวนามยปัญญา เป็นปัญญาที่อบรมด้วยสติสัมปชัญญะซึ่งต้องอาศัยการฟังเข้าใจก่อน จึงสามารถที่จะเป็นปัจจัยให้สติอีกระดับหนึ่ง สามารถที่จะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วเริ่มเข้าใจขึ้นจนกว่าสามารถที่จะประจักษ์แจ้งอริยสัจธรรมได้

    ก็มีปัญญา ๓ ระดับ ซึ่งขณะนี้ก็กำลังค่อยๆ เกิด ถ้ามีความเข้าใจขึ้นก็จะทำให้วันหนึ่งๆ ซึ่งเราเคยคิดเรื่องอื่น เราก็อาจจะมีปัจจัยที่ทำให้เราคิดเรื่องจิต เรื่องเจตสิก เวลาอ่านหนังสือเรื่องธรรมเป็นเรื่องของจิต เจตสิก ก็มีการไตร่ตรองให้เข้าใจขึ้น หรือขณะที่ฟังธรรมทางวิทยุเรื่องของสภาพธรรมก็จะมีการค่อยๆ พิจารณาไตร่ตรองหลังจากนั้น อ่านหนังสือ พระธรรมมีมาก พระไตรปิฏก แล้วก็มีอรรถกถาด้วย ที่จะทำให้เราเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏทุกขณะในชีวิต ซึ่งเราเพิ่งเริ่มที่จะรู้ว่าทุกอย่างเป็นธรรมที่ทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฏก เพราะฉะนั้นก็จะทำให้มีปัญญาที่สามารถจะทำให้สติปัฎฐาน หรือสติสัมปชัญญะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม รู้จักตัวจริงของจิต รู้จักลักษณะของเจตสิกแต่ละอย่าง และรู้ลักษณะของรูปซึ่งเกิด และดับด้วย

    เพราะว่าขณะนี้ต้องไม่ลืม เรายังไม่รู้ความเกิด และความดับ แต่ผู้รู้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สภาพธรรมใดมีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นสภาพธรรมนั้นดับ ลักษณะที่เกิดดับเป็นลักษณะที่ไม่ยั่งยืน เป็นทุกข์เพราะทนอยู่ไม่ได้ต้องปราศไป แล้วก็เป็นอนัตตาคือไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่สามารถจะบังคับบัญชาได้ เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ว่าขณะนี้สิ่งใดก็ตามที่ปรากฏสิ่งนั้นต้องเกิด นี้เพียงขั้นคิด จริงหรือไม่จริง ถ้าไม่เกิดจะปรากฎได้ไหม เพียงแต่ว่าลักษณะการเกิดของสภาพธรรมนั้นไม่ปรากฏเพราะเกิดดับสืบต่อเร็วมากจึงไม่ปรากฏลักษณะที่เกิด และดับ แต่สิ่งใดก็ตามแม้แต่แข็งซึ่งทุกคนกำลังกระทบที่โต๊ะ ความรู้สึกความเข้าใจเดิมๆ ก็คือว่าเหมือนมีโต๊ะอยู่แล้วในห้องนี้ นานแล้ว มาเมื่อไหร่ก็เจอทุกครั้ง แต่เวลาที่กระทบกายมีการรู้สิ่งที่แข็งตรงนั้น กายปสาทต้องเกิด และยังไม่ดับ รูปแข็งต้องเกิด และยังไม่ดับ เป็นปัจจัยให้จิตในขณะนั้นเกิดขึ้น รู้ลักษณะแข็งที่กำลังปรากฏ ก็เป็นเรื่องที่ละเอียดขึ้นๆ ซึ่งจะทำให้รู้จักพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ายิ่งขึ้น ในพระปัญญาคุณ ในพระบริสุทธิคุณ และในพระมหากรุณาคุณ เพราะว่าทรงอบรมพระบารมีเพื่อที่จะอนุเคราะห์สัตว์โลกให้รู้แจ้งสภาพธรรมด้วยการทรงแสดงธรรม เพราะถ้าพระองค์ไม่ทรงแสดงธรรม ไม่มีใครสามารถจะได้ยินได้ฟังเรื่องของจิต เจตสิก เรื่องอนิจจังทุกขังอนัตตา เวลาตั้งสองพันกว่าปี สืบต่อมาจนกระทั่งถึงยุคสมัยนี้ได้ เพราะฉะนั้นก็เป็นปัญญาที่จะต้องค่อยๆ เจริญขึ้นตามลำดับขั้นไม่ใช่เพียงขั้นการฟัง

    ผู้ฟัง ธรรมที่ท่านอาจารย์อัญเชิญมาแสดง รู้สึกว่าทำให้เกิดปัญญา เลยคิดว่าจะเป็นไปได้ไหมถ้าชาติหน้าเกิดมาอยากได้ฟังตั้งแต่ชั้นมัธยม ขณะนี้มาฟังก็อายุมากแล้ว ลักษณะเช่นนี้เป็นโลภะหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ เด็กๆ เมื่อเห็นวัด สนใจยกมือไหว้อยากรู้ว่ามีอะไรในวัด สอนว่าอะไร ก็เป็นการสะสมของแต่ละบุคคล คงไม่ต้องคอยจนถึงชั้นมัธยมก็ได้ แล้วเรื่องของธรรมเป็นเรื่องที่ไม่ใช่การกะเกณฑ์ แต่ว่าตามอัธยาศัย แต่ละคนมีความเห็นซึ่งต่างกัน การที่เราจะเปลี่ยนความคิดของคนแต่ละคนยากมาก เพราะฉะนั้นจะเห็นลักษณะของการสะสมต่างๆ กัน คนหนึ่งก็คือหนึ่ง เพราะว่าแต่ละคนมีจิตเพียงหนึ่งขณะ จะไปเอาจิตของคนอื่นมาสืบต่อไม่ได้เลย เพราะว่าจิตขณะหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นอนันตรปัจจัย หมายความว่าทันทีที่จิตขณะนี้ดับจะทำให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อ

    ไม่ทราบมีงานศพที่ไหนแล้วก็ไปฟังปัจจัยกันไหม เพราะว่าคราวที่แล้วก็ได้พูดไปหลายปัจจัย กรรมปัจจัยก็มี ท่านใช้คำว่ากัมมะปัจจะโย วิปากาปัจจะโย อนันตะระปัจจะโย เหล่านี้คือเรื่องของจิต เจตสิก รูป ทั้งหมด และจิตที่แม้เป็นอนันตรปัจจัยเมื่อจิตนั้นปราศไปก่อน จิตขณะต่อไปจึงจะเกิดได้โดยวิคะตะปัจจัย ถ้ามีโอกาสไปฟังสวดก็ฟังเรื่องปัจจัยจะมีคำว่าวิคะตะปัจจัยด้วย เพราะฉะนั้นถ้าจิตนี้ยังไม่ดับ หรือยังไม่ปราศไป จิตขณะต่อไปจะเกิดสืบต่อไม่ได้ และจิตของใครก็จะต้องสืบต่อจากจิตที่ดับไปแล้ว และจิตตามที่เคยกล่าวถึงว่า แม้ว่าจะเป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมมองไม่เห็นเลย แตะต้องไม่ได้ สัมผัสไม่ได้ แต่ว่าความสามารถหรือว่าลักษณะของจิต ก็จะมีได้หลายอย่างซึ่งก็คงจะขอกล่าวถึงในคราวต่อไป แต่จิตหนึ่งขณะซึ่งมองไม่เห็นสัมผัสไม่ได้ ก็จะแบ่งย่อยออกเป็น ๓ ขณะย่อย คือ อุปาท คือขณะเกิด ฐีติขณะคือขณะที่ยังไม่ดับ ภังคขณะคือขณะที่ดับ เพราะว่าขณะเกิดไม่ใช่ขณะดับ และขณะที่ยังไม่ดับก็ไม่ใช่ขณะที่เกิด ไม่ใช่ขณะที่ดับ เพราะฉะนั้นวิคะตะปัจจัยหมายความว่าเมื่อจิตขณะนั้นปราศไปโดยภังคขณะ คือไม่เหลือเลยจึงจะเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดได้ แล้วก็เพราะจิตเกิดสืบต่อจากจิตขณะก่อน จึงสืบทอดทุกสิ่งทุกอย่างของจิตที่แล้วๆ มาทั้งหมด ทั้งในชาตินี้ และในชาติก่อนๆ ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อเราเกิดชาตินี้เราก็มีหลายอย่างที่เราสะสมมาไม่ใช่เฉพาะชาติเดียว แล้วก็จะสะสมต่อไปด้วย นี่ก็เป็นเรื่องที่ไม่ต้องห่วงใย ถ้าเราสามารถที่จะเกิดเป็นมนุษย์ในชาตินี้ได้ด้วยกุศลกรรม แม้ว่าอกุศลกรรมที่ทำไว้แล้วมีก็จริง แต่ถ้าเป็นผลของกุศลกรรมในชาตินี้ก็ทำให้เราเกิด แล้วก็มีปัญญา แล้วก็มีความสนใจธรรม เพราะว่าไม่มีใครสามารถที่จะแสดงธรรมได้เลยนอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าหมดคำสอนของพระองค์เมื่อใดโลกก็มืด แม้เป็นจิต เจตสิก รูป เป็นธรรมเกิดดับไม่ใช่ตัวตน ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ก็ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ และพระศาสนาก็จะตั้งอยู่ไม่นาน เพราะว่าทุกคนก็ทราบว่าศาสนาคือคำสอน ถ้าไม่มีการศึกษาคำสอนให้เข้าใจถูกต้องจริงๆ มีอยู่แต่ตัวหนังสือ ไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้อง พระศาสนาก็ดำรงสืบต่อไปไม่ได้

    ผู้ฟัง ถ้ามีผู้ที่อยากจะศึกษาธรรม เขาจะทราบได้อย่างไรว่าท่านที่แสดงธรรมท่านนั้นรู้จริง หรือไม่

    อ.สุภีร์ ธรรมทุกอย่างมีเหตุมีผลอยู่ในตัว พระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ทรงแสดงไว้มีเหตุผลที่สมบูรณ์อยู่ในตัว ฉะนั้นสำหรับบุคคลที่ศึกษาแล้วก็พร้อมที่จะฟังเหตุฟังผล ก็สามารถที่จะค่อยๆ เข้าใจได้ ซึ่งความจริงที่พระะอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ก็สามารถพิสูจน์ได้ในชีวิตประจำวัน แล้วสิ่งที่เราไม่สามารถที่จะพิสูจน์ได้ในชีวิตประจำวัน เช่นเรื่องเทวะโลก พรหมโลกอะไรต่างๆ ก็แสดงเหตุ และผลไว้อย่างสมบูรณ์ ฉะนั้น เมื่อเราเข้าใจสภาพธรรมที่สามารถพิสูจน์ได้ในชีวิตประจำวัน ความเป็นเหตุเป็นผลของสภาพธรรมในชีวิตประจำวันก็จะสามารถเข้าใจเหตุ และผลอื่นๆ ที่พระองค์ทรงแสดงไว้โดยสมบูรณ์ด้วยเช่นเดียวกัน อย่างขณะนี้เราไม่ได้เกิดเป็นเทวดาใช่ไหม แต่ว่าด้วยผลของกรรมที่กระทำ ถ้าเราเข้าใจในความเป็นเหตุเป็นผลของสภาพธรรมก็คือเข้าใจเรื่องกรรม และผลของกรรม กรรมที่ไม่ประณีตมากนักทำให้เกิดเป็นมนุษย์ กรรมที่ประณีตมากยิ่งขึ้นไปกว่านั้นก็สมควรที่จะทำให้เกิดในภพภูมิที่สูงกว่านั้น กรรมที่เป็นกุศลที่ได้ทำไว้แล้ว ที่ไม่ประณีตมากนักให้เห็นสิ่งที่ไม่ค่อยประณีตนัก ให้ได้ยินสิ่งที่ไม่ค่อยประณีตนัก ให้ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัสสิ่งที่ไม่ค่อยประณีตนัก ถ้าเป็นกรรมที่เป็นกุศลที่ประณีตยิ่งกว่านั้นละเอียดยิ่งกว่านั้นก็จะให้ได้รับผลก็คือการเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัสสิ่งที่ดีๆ ยิ่งกว่าในภูมิที่เป็นมนุษย์ ซึ่งจริงๆ แล้ว การเห็น การได้ยินสิ่งต่างๆ กัน แม้แต่ในภูมิมนุษย์เองแต่ละคนก็ไม่เหมือนกันใช่ไหม บุคคลที่เป็นเศรษฐีเป็นพระราชา หรือเป็นยาจกก็จะได้รับสิ่งต่างๆ กัน ก็ด้วยผลของกรรมที่ทำต่างๆ กันนั่นเอง ถ้ามีการกระทำกรรมที่ประณีตยิ่งกว่านั้น เหตุมีใช่ไหม ผลที่จะได้รับก็ต้องมี

    ฉะนั้น พระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เป็นสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน และสามารถพิสูจน์ได้ แต่ที่ได้กล่าวไปบางส่วนไม่ได้เกิดกับเราจริงๆ อย่างเช่นเรื่องของพรมหมโลกอะไรต่างๆ ก็ทรงแสดงไว้เช่นเดียวกัน และทรงแสดงไว้พร้อมทั้งเหตุ และผลที่สมบูรณ์ ถ้าพิจารณาตามเหตุตามผลก็สามารถที่จะเข้าใจความจริงได้

    อ.ประเชิญ สำหรับหลักธรรมที่พระองค์ทรงแสดงไว้ มีการสืบทอดจารึกเป็นพระไตรปิฏกที่เป็นหลักธรรมที่เราสามารถที่จะศึกษา และเทียบเคียงในพระไตรปิฏกที่เป็นพระธรรมคำสอนที่สืบทอดกันมา ซึ่งในพระไตรปิฏกที่เป็นหลักธรรมคำสอนที่จะให้รู้ว่าเป็นพระธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาคหรือไม่ คือ ธรรมใดก็ตาม เป็นไปเพื่อความละคลายความกำหนัด ไม่ใช่ว่าเพื่อจะได้เพื่อจะติด เพื่อเอามากๆ เพราะฉะนั้นพระธรรมใดก็ตามเป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด ธรรมใดก็ตามเป็นไปเพื่อการประกอบความเพียร ไม่ใช่ว่าสอนให้คนเกียจคร้าน แต่สอนให้คนปรารภความเพียร สอนให้รู้ความจริงที่มีจริงในขณะนี้ ว่าเป็นสิ่งที่มีจริงควรที่จะเรียนรู้ ไม่ใช่ว่าจะสอนสิ่งที่ไม่มีจริง เพราะฉะนั้นหลักธรรมถ้าเราได้ศึกษาโดยตรงจากพระไตรปิฏก และฟังจากผู้ใดก็ตามแล้วก็เทียบเคียงกับพระธรรมคำสอนถึงจะได้รู้ว่า สิ่งนั้นตรงหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ฟังแล้วจะตกใจว่าสอนให้ละคลาย แต่คือละคลายสิ่งที่ไม่ดีทั้งหมด ละคลายอกุศลทุกประเภท ด้วยความรู้จึงสามารถที่จะละคลายได้ ทุกคนก็คงจะต้องการมากกว่าใช่ไหม เพราะว่าอย่างไรๆ จะให้ละคลายทีเดียวหมดเป็นไปไม่ได้เลย


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 6
    31 ส.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ