สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 027


    สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ ๒๗

    วันจันทร์ที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๔๕


    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมที่มีจริง ไม่ว่าจะเรียกชื่อ หรือไม่เรียกชื่อ สภาพธรรมนั้นก็เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย สภาพธรรมที่มีจริง มี ๔ ประเภทคือ ๑ จิต ๒เจตสิก ๓ รูป ๔ นิพพาน สำหรับสภาพธรรมที่เกิดปรากฏในชีวิตประจำวันนี้ ก็มีเพียง ๓ คือจิตเจตสิกรูป แต่การที่จะรู้นิพพาน ก็ต้องเป็นเรื่องของปัญญาที่อบรมจนสามารถที่จะประจักษ์แจ้งว่านิพพานเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ไม่ใช่เป็นสิ่งซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะรู้แจ้งได้ แต่ว่าการที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมที่เป็นนิพพานนั้น ต้องด้วยปัญญาที่อบรมถึงขั้นที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ซึ่งก็จะต้องเริ่มจากการมีปัญญาที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ก่อน

    สำหรับผู้ที่มาใหม่ ก็คงจะใหม่กับคำว่าจิต เจตสิก และรูป เพราะว่าไม่เหมือนกับที่เราเคยคิด หรือเคยเข้าใจ เพราะว่าทุกคนถ้าถามว่ามีจิตไหม ก็ตอบว่ามี แต่ว่าถ้าถามจริงๆ ว่าจิตคืออะไร เมื่อไหร่ มีลักษณะอย่างไร ก็คงจะตอบยาก เพราะว่าจิตเป็นสภาพธรรมที่มี แต่ไม่มีรูปร่างพอที่จะบอกใครได้ว่าจิตมีรูปร่างลักษณะอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะว่าจิตเป็นสภาพธรรมที่เกิด แต่ว่าไม่มีรูปร่าง เป็นนามธรรมล้วนๆ คือไม่มีรูปใดๆ เจือปนทั้งสิ้น แต่เป็นสภาพที่เป็นใหญ่สามารถที่จะรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าจิตไม่เกิดขึ้น สิ่งใดๆ ในห้องนี้ก็จะปรากฏไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นที่สิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏในชีวิตประจำวันนี้ก็ปรากฏกับจิต ถ้าไม่มีจิตซึ่งเป็นสภาพรู้สิ่งนั้น ถึงแม้ว่าสิ่งนั้นมีจริงสิ่งนั้นก็ไม่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้นการที่เราจะเข้าใจเรื่องจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ แล้วก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ และสิ่งที่ถูกรู้ก็ปรากฏในชีวิตประจำวัน เวลาที่ตื่นจนกระทั่งถึงเวลาที่หลับ ก็มีลักษณะของสภาพที่ปรากฏกับจิตตลอดเวลา แต่มีใครรู้ลักษณะของจิตบ้างไหม ถ้าไม่ฟังโดยละเอียด เพราะว่าเพียงแต่กล่าวว่าเป็นสภาพรู้ หรือธาตุชนิดหนึ่งซึ่งเกิด โดยที่ว่าไม่มีใครสามารถจะทำให้เกิดได้ แต่จิตแต่ละลักษณะจะเกิดก็ต่อเมื่อมีเหตุปัจจัย เฉพาะลักษณะของจิตนั้นๆ จิตประเภทนั้นๆ จึงจะเกิดได้ นี่ก็แสดงความเป็นอนัตตาของธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ว่า ธรรมทั้งหลายไม่เว้นเลยเป็นอนัตตาหมายความว่า ไม่เป็นของใคร ไม่มีเจ้าของ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ถ้าจิตอยู่ในอำนาจบังคับบัญชา ทุกคนก็คงจะมีแต่กุศลจิตหรือจิตที่ดี แต่ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ทั้งๆ ที่รู้ว่าควรจะมีจิตที่ดี แต่ก็มีปัจจัยที่จะให้จิตที่ไม่ดีเกิด ซึ่งหากเข้าใจต่อไปจะเห็นความละเอียดว่าในวันหนึ่งๆ จิตที่ไม่ดีเกิดมากมาย ประมาณไม่ได้เลยกับจิตที่ดี

    ตั้งแต่เช้าลองพิจารณาก็ได้ เรามีจิตที่ดีขณะไหนบ้าง ตั้งแต่เช้า แต่ขณะนี้เป็นส่วนหนึ่งของวันนี้ซึ่งเป็นกุศลจิตเป็นจิตที่ดีงาม ซึ่งต่างกับขณะอื่นซึ่งเราคงจะค่อยๆ กล่าวถึงตามลำดับ แต่ให้ทราบว่าที่ทุกอย่างปรากฏ ปรากฏกับจิต เพราะว่าจิตเป็นสภาพที่สามารถรู้ คือสิ่งต่างๆ ที่กระทบตาปรากฏกับคนที่ตาไม่บอด เพราะจิตเกิดขึ้นแล้วก็เห็นสิ่งนั้น แต่ถ้าเป็นคนที่สิ้นชีวิตไม่มีจิต แม้ว่าใครจะเอารูปใดๆ ไปตั้งไว้ตรงหน้าก็ไม่สามารถที่จะมีจิตเห็นได้

    เพราะฉะนั้นจิตซึ่งเป็นนามธรรม ไม่ใช่รูปเลย ทั้งๆ ที่ขณะนี้เรามีทั้งจิต เจตสิก และรูป แต่ส่วนที่ปรากฏให้เห็นตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าซึ่งกระทบสัมผัสได้ มองเห็นได้ ไม่ใช่จิต เพราะฉะนั้นจิตก็อยู่ภายใน ภายในจริงๆ อย่างอื่นก็เป็นแต่เพียงภายนอก สิ่งที่ปรากฏก็เป็นภายนอก เสียงก็เป็นภายนอก กลิ่นที่กระทบปรากฏก็เป็นภายนอก รสต่างๆ ที่จิตกำลังลิ้มรส รสก็ปรากฏกับจิตซึ่งเป็นภายใน เพราะฉะนั้นจิตก็มีหลายชื่อที่จะแสดงให้เห็นถึงลักษณะของจิตเพื่อที่จะให้เข้าใจ เมื่อเข้าใจจิตจริงๆ ก็จะเห็นว่าจิตไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา แม้ว่าจิตจะเกิดก็บังคับบัญชาไม่ได้ แล้วก็มีเหตุปัจจัย

    มีจิตของใครที่จะอยู่ในโลกนี้ตลอดไปบ้างไหม ไม่สิ้นสุดนั้นไม่มี ซึ่งความจริงแต่ละขณะจิตก็เกิดแล้วก็ทำหน้าที่ของจิตเฉพาะอย่างๆ ไม่สับสนกันเลย จิตประเภทไหนทำหน้าที่อะไรก็ทำหน้าที่นั้นเท่านั้น ส่วนจิตอื่นก็ทำหน้าที่อื่น ก็เป็นการเกิดดับสืบต่อของจิตที่ทำกิจการงานตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นจนหลับ ตั้งแต่เกิดจนตาย ก็จะต้องมีจิตซึ่งเกิดขึ้นทำกิจการงาน ถ้าไม่รู้ก็คือว่าเป็นเราไปหมด เพราะฉะนั้นที่เคยเป็นเราทั้งหมดนี้ เมื่อเข้าใจธรรมแล้วก็จะตรงกับความจริงตั้งแต่คำแรกคือธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ทุกอย่างเป็นอนัตตา เป็นสภาพธรรมที่มีจริง

    ครั้งก่อนกล่าวถึงปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นผลของกรรม เป็นขณะแรกขณะเดียวที่เกิดขึ้นเมื่อดับไปแล้วกรรมก็ทำให้จิตประเภทเดียวกันซึ่งเป็นผลของกรรมซึ่งเป็นวิบากจิตเกิดสืบต่อทำกิจภวังค์ ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยินเลย กล่าวถึงเพียงจิต ๒ ประเภท คือ จิตที่ทำกิจ ๒ อย่างต่างกัน คือขณะแรกของจิตที่เกิดขึ้นทำกิจปฏิสนธิ เมื่อดับไปแล้วจะทำกิจปฏิสนธิอีกไม่ได้แม้ว่าเป็นจิตประเภทเดียวกัน แต่หน้าที่การงานต่างกัน เพราะว่าขณะแรกเพียงแต่ทำให้เกิด เมื่อดับไปแล้วก็ทำให้จิตขณะต่อไปดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้น ซึ่งจิตทั้ง ๒ ขณะหรือ ๒ ประเภทนี้ โลกนี้ไม่ปรากฏเลย เพราะว่าเมื่อปฏิสนธิจิตเกิดขณะแรกก็ไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่เมื่อจิตเป็นสภาพรู้ ปฏิสนธิจิตจะต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วย จิตจะเกิดขึ้นโดยไม่รู้อะไรไม่ได้เลย ต้องรู้ทุกครั้งเพียงแต่ว่าจะสามารถเข้าใจได้ไหมว่าจิตขณะนั้นรู้อะไร ซึ่งทุกคนพิสูจน์ได้ ปฏิสนธิจิตขณะแรกที่เกิด โลกนี้ไม่ปรากฏ เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว กรรมก็ทำให้ภวังค์จิตเกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติมากมายหลายขณะ แม้ขณะนั้นก็ไม่รู้ เช่น ในขณะที่นอนหลับสนิท และต่อไปจะกล่าวถึงเวลาที่จะมีจิตอื่นเกิดขึ้นทำกิจการงาน ซึ่งก็เป็นชีวิตประจำวัน

    ผู้ฟัง ได้อ่านหนังสือของท่านอาจารย์ในเรื่องปรมัตถ์ธรรมสังเขป ท่านอาจารย์อธิบายในหนังสือในเรื่องเกี่ยวกับรูปกับนามว่า ขณะที่หลับ นามหลับ จะไม่ใช่รูป เป็นนามที่หลับ

    ท่านอาจารย์ รูปไม่ใช่สภาพรู้ ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าหรือว่าลักษณะใดก็ตามซึ่งเกิดขึ้น จะมองเห็นหรือมองไม่เห็นก็ตาม แต่ว่าถ้าลักษณะนั้นสภาพนั้นไม่สามารถที่จะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น ลักษณะนั้นเป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้นก็ลองคิดดู ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าเวลากระทบสัมผัสส่วนใดที่แข็ง ลักษณะที่แข็งจะเป็นจิต หรือว่าไม่ใช่จิต ลักษณะที่แข็งเป็นจิต หรือไม่ใช่จิต

    ผู้ฟัง เป็นรูป

    ท่านอาจารย์ เป็นรูป แต่ถ้าไม่มีจิตที่กำลังรู้ลักษณะที่แข็ง แข็งจะปรากฎได้ไหม ไม่ได้ ไม่ว่าแข็งจะปรากฏเมื่อไหร่ แข็งนั้นต้องปรากฏกับจิต เป็นสิ่งที่จิตกำลังรู้ลักษณะที่แข็งว่าลักษณะที่แข็งนั้นแข็งเพียงใด เรียกว่าสิ่งที่อ่อนนุ่มนี้ อย่างขนมบางชนิดก็อาจจะนิ่มมาก หรือว่าเวลาที่บางคนทำขนมก็อาจจะนวดแป้งก็อาจจะรู้สึกถึงความความนุ่ม และความนิ่ม และใส่สิ่งนั้นๆ เข้าไปอีกก็จะอาจจะนิ่มมากขึ้น ขณะนั้นสภาพธรรมทั้งหมดปรากฏกับจิต ไม่ว่าลักษณะที่จะอ่อนแค่ไหน หรือว่าจะนุ่มนิ่มแค่ไหนก็ตาม สิ่งใดๆ ที่ปรากฎในขณะนี้ทั้งหมดปรากฏกับจิตซึ่งมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย จะไม่ปรากฏกับรูปเลย เพราะฉะนั้นเวลาที่เราคิดว่าเราหลับ รูปไม่ใช่สภาพรู้ จะหลับหรือจะตื่น รูปก็ไม่รู้ ถ้ามีใครมากระทบสัมผัสรูป ทุบตีแรงๆ รูปก็ไม่ใช่สภาพรู้ ลักษณะที่รู้คือจิตซึ่งสามารถรู้ลักษณะที่เกิดความรู้สึกปวด หรือเจ็บหรือลักษณะของสิ่งที่อ่อน หรือแข็งที่กำลังกระทบ เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่ารูปต้องไม่ใช่สภาพรู้เลย รูปจะรู้อะไรไม่ได้เลย รูปตื่นไม่ได้ รูปหลับไม่ได้ เพราะว่าตื่นหมายความว่าเห็น หรือได้ยิน หรือได้กลิ่น หรือลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก เพราะฉะนั้นรูปจะเห็นไม่ได้ จะตื่นไม่ได้ รูปไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นหลับก็คือภวังคจิตเกิด ขณะใดที่ไม่เห็นไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่จิตก็ยังต้องเกิดขึ้นทำกิจการงาน แต่กิจการงานขณะที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก ทำภวังคกิจดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้น ยังไม่ให้สิ้นชีวิต ยังไม่ถึงจุติจิตซึ่งจะเป็นขณะที่พ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้โดยสิ้นเชิง

    เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่ได้ศึกษาธรรมเราก็อาจจะเข้าใจว่าเป็นรูปก็ได้ที่หลับ แต่ความจริงรูปไม่ใช่สภาพที่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น จะหลับหรือจะตื่นรูปก็ไม่รู้ จะปวดหรือจะเจ็บก็ไม่ใช่รูปที่ปวดเจ็บ แต่เป็นจิตที่สามารถรู้สิ่งที่กระทบกาย ถ้าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ร้อน เช่น ไฟ ก็จะมีเจตสิกซึ่งเป็นความรู้สึกเกิดกับจิตซึ่งเป็นทุกขเวทนา ความรู้สึกเป็นทุกข์ทางกาย เพราะฉะนั้นลักษณะของความรู้สึก เป็นเจตสิกที่เกิดกับจิต แต่จิตขณะนั้นต้องรู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏ เรื่องรูปต้องไม่ใช่นามธรรมไม่ใช่สภาพรู้ จะหลับหรือจะตื่นอย่างไรก็ตาม ที่สนามมีหญ้าเป็นรูปใช่ไหม อ่อนหรือแข็ง ถ้ากระทบสัมผัส ที่ตัวก็มีรูปที่อ่อนหรือแข็งประเภทเดียวกัน ลักษณะที่แข็งเหมือนกันไหม เพราะฉะนั้นลักษณะของรูป จะอยู่ไกล อยู่ใกล้ ภายใน ภายนอก หยาบละเอียดอย่างไรก็ตาม รูปก็เป็นรูปลักษณะที่แข็งไม่เปลี่ยนแปลง

    เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้ว ก็จะมีสภาพธรรมที่ต่างกันเป็น ๒ อย่างเท่านั้นคือนามธรรมกับรูปธรรม แต่ว่านามธรรมก็มีมากมายหลายอย่าง แต่ที่ต่างกันไปอีกก็คือจิตกับเจตสิก ซึ่งจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยแต่ละเจตสิก ก็มีลักษณะมีหน้าที่เฉพาะเจตสิกนั้นๆ เช่น ความรู้สึกมีจริงไม่ใช่จิต แต่เป็นเจตสิก ไม่ใช่รูป

    ขณะนี้ใครไม่มีเจตสิกบ้างไหม ถ้ามีจิตต้องมีเจตสิเกิดร่วมกันทุกครั้ง ขณะใดที่เจตสิกเกิดหมายความว่าขณะนั้นเกิดกับจิต และเจตสิกอื่น เพราะว่าจิตขณะหนึ่งๆ จะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุด ๗ ประเภท ถ้าอย่างน้อยที่สุด ๗ หมายความว่าขณะอื่นก็มีมากกว่านั้น

    ผู้ฟัง จิตรู้อารมณ์ อารมณ์เป็นสิ่งที่จิตรู้ โลภะ หรือโทสะค่อนข้างจะพอจะสังเกตได้เป็นบางขณะ แต่โมหะหรือภวังคจิตใกล้เคียงกัน บางครั้งวันๆ หนึ่ง เพราะไม่รู้ว่าเราไม่รู้ เป็นภวังค์จิต หรือโมหะ

    อ.สุภีร์ ถ้าเป็นภวังคจิต โลกนี้จะไม่ปรากฏเลย จะไม่มีเรา ไม่มีสิ่งใดๆ เลย จะไม่มีอะไรสักอย่างเดียวในโลกนี้ ก็เปรียบเทียบไปขณะที่เราหลับสนิทตอนนั้นเป็นภวังคจิตที่เกิดดับสืบต่อกันอยู่ แต่โมหะ ถึงจะมีความไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรใช่ไหม แต่ก็ยังมีอะไรปรากฎอยู่เป็นโลกนี้เป็นเราที่มีอยู่ เป็นบ้าน เป็นสิ่งของอะไรมากมาย อาจจะเหมือนไม่ค่อยรู้อะไร แต่ขณะนั้นก็ไม่ใช่ภวังคจิต ถ้าจะเป็นภวังคจิต โลกนี้จะไม่ปรากฏเลย จิตที่รู้อารมณ์แล้วโลกนี้ไม่ปรากฏ มีอยู่ คือจิตที่ทำกิจ ๓ อย่าง ก็คือ ปฏิสนธิจิต๑ ภวังคจิต ๑ และจุติจิต ๑ จิตที่ทำกิจนอกนั้นก็จะมีโลกนี้ปรากฏอยู่ อย่างที่ท่านผู้ฟังได้ถามเหมือนกับว่าไม่รู้อะไรเลย เหมือนกับว่าไม่รู้อะไรเลยแต่ยังมีสิ่งที่ปรากฏทางตาอยู่ ยังมีการได้ยินเสียงอยู่ อย่างนี้ไม่ใช่ภวังคจิต

    ผู้ฟัง ภวังคจิต มีเจตสิกประกอบหรือไม่

    อ.สุภีร์ จิตทุกดวงต้องมีเจตสิกเกิดประกอบร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุด ๗ ประเภท นี้อย่างน้อยที่สุด แต่ว่าส่วนใหญ่แล้วก็มีมากกว่านั้น ฉะนั้น ภวังคจิตก็มีเจตสิกเกิดประกอบร่วมด้วยอย่างน้อย ๗ ประเภทอย่างน้อยแต่ว่าจริงๆ แล้วมากกว่านั้นอีก

    ผู้ฟัง แสดงว่าภวังคจิตน่าจะรู้อารมณ์ด้วย

    ผู้ฟัง ไม่ใช่น่าจะ จิตต้องรู้อารมณ์ เพราะเหตุว่าจิต และเจตสิกเป็นสภาพรู้ สิ่งที่ถูกจิต และเจตสิกรู้ เรียกว่าอารมณ์ จิต และเจตสิกจะเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีอารมณ์ ฉะนั้นเมื่อจิต และเจตสิกเกิด จิต และเจตสิกนั้นต้องรู้อารมณ์ เมื่อจิต และเจตสิกเกิดในขณะที่เป็นภวังคจิต ภวังคจิตนั้น และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็รู้อารมณ์เช่นเดียวกัน

    ผู้ฟัง ภวังคจิตมีอารมณ์อะไร

    อ.สุภีร์ ภวังคจิตไม่รู้อารมณ์ของโลกนี้ ภวังคจิตรู้อารมณ์ของชาติที่แล้วก่อนที่จะตาย วิถีจิตก่อนที่จะตาย ท่านเรียกว่ามรณาสันวิถีก็คือวิถีจิตช่วงที่ใกล้จะตาย คือย้อนไปถึงชาติที่แล้ว ขณะนี้ทุกท่านนั่งอยู่ที่นี่ แต่ว่าก่อนที่จะมาสู่โลกนี้ ก่อนที่จะมาปฏิสนธิในที่นี่ ก่อนหน้านั้นก็จะมีมรณาสันวิถีก็คือจิตที่เกิดก่อนจะตาย ก่อนที่จุติจิตจะเกิด ก่อนที่จุติจิตจะเกิด จะมีกุศลจิต หรืออกุศลจิตเกิดก่อน กุศลจิต และอกุศลจิตที่เกิดก่อนขณะนั้น ก็จะมีอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ปฏิสนธิจิตในโลกนี้ก็ดี ภวังคจิต และจุติจิตในชาตินี้ ก็จะมีอารมณ์เดียวกับจิตก่อนจุติของชาติที่แล้วนั่นเอง จะมีจิต ๓ ประเภทที่มีอารมณ์นี้ ก็คือโลกนี้ไม่ปรากฏแต่ว่ารู้อารมณ์ของโลกที่แล้วก่อนจะตายของโลกที่แล้วมีอารมณ์อะไรก็รู้อารมณ์นั้น ผู้ที่มาเป็นมนุษย์ก่อนจุตินี้ ช่วงนั้นก็จะเป็นกุศล ถ้าก่อนจุติเป็นอกุศลจะไปอบายภูมิหรือว่าทุคติภูมิ ถ้าก่อนจุติเป็นกุศลจะไปสู่สุคติภูมิ กุศล และอกุศลก็เป็นจิต และเจตสิกก็จะมีอารมณ์ อารมณ์นั่นแหละก็จะมาเป็นอารมณ์ของปฏิสนธิจิต ภวังคจิต และจุติจิตของชาตินี้ ฉะนั้นเมื่อขณะใดที่ปฏิสนธิจิตเกิด ภวังคจิตเกิด และจุติจิตเกิดในชาตินี้ก็จะไม่รู้อารมณ์ของโลกนี้เลยแต่ว่าจะรู้อารมณ์ของชาติที่แล้วก็คือก่อนจุติจิตของชาติที่แล้ว

    ผู้ฟัง ในกรณีที่จุติจิตที่เป็นกุศล ระดับของกุศลก็มีอยู่หลายระดับ หากว่ากุศลที่จุติเมื่อชาติที่แล้วมาปฏิสนธิในชาตินี้ มีกุศลระดับเดียวกันคิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้

    อ.สุภีร์ จิตเวลาเกิดเรียกว่าชาติ การเกิดของจิต มี ๔ ชาติ คือชาติกุศล อกุศล วิบาก และกิริยา จุติจิตเป็นชาติวิบากเป็นผลของกรรมใดกรรมหนึ่ง ปฏิสนธิจิตก็เช่นเดียวกัน ภวังคจิตก็เช่นเดียวกันเป็นผลของกรรมกรรมเดียวกัน แต่ไม่ใช่หมายความว่ากุศลหรืออกุศลที่เกิดก่อนจะจุตินั้นเป็นตัวให้ผล ไม่ใช่เช่นนั้น นี่หมายความว่าก่อนจะจุติ มีกุศลจิตเกิดหรืออกุศลจิตเกิดเพื่อจะบอกให้รู้ว่าถ้ามีกุศลจิตเกิดก่อนจุติฯ จะไปสุคติภูมิ ถ้ามีอกุศลจิตเกิดก่อนจุติจิตจะไปทุคติภูมิ แต่ไม่ใช่หมายความว่ากุศลอกุศลที่เกิดก่อนนั้นเป็นผลให้ปฏิสนธิ เพราะว่าปฏิสนธิก็มีกรรมที่ให้ผลของเขามา

    ผู้ฟัง แล้วกุศลจิตที่จะไปปฏิสนธิใหม่นี้จะมีระดับคือมีความสูงความต่ำมีมากมีน้อยหรือไม่

    ท่านอาจารย์ มุ่งหมายกุศลจิตเกิดก่อนจุติหรือ จะทราบได้อย่างไร เพราะว่าวันนี้กุศลเกิดมาก หรือว่าอกุศลเกิดมาก เมื่อวานนี้อีก วันก่อนๆ อีกแล้วต่อไปอีก เพราะฉะนั้นไม่สามารถที่จะรู้ได้เลยว่ากรรมไหนกรรมหนึ่งเท่านั้น ในกรรมทั้งหมดที่ได้ทำมาแล้วทั้งในชาตินี้ชาติก่อนๆ จนถึงชาติก่อนนานมาแล้ว ยังเป็นปัจจัยที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดได้ เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถที่จะเลือก ถ้าเลือกทุกคนก็คงเลือกกุศลที่ประกอบด้วยโสมนัส และเป็นกุศลที่ประณีต แต่เพราะเหตุว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ผู้ที่ทำกุศลมามาก แต่ก็อาจมีกรรมหนักที่จะต้องให้ผลก่อนก็ได้ เพราะฉะนั้นไม่ควรประมาทในกุศลว่าเล็กน้อยหรือในอกุศลเลยเพราะเหตุว่าสามารถที่จะทำให้ปฏิสนธิเกิดได้ แต่การที่เราได้เกิดมาแล้วก็ทราบว่าเราเป็นมนุษย์แล้วก็เป็นคนนี้จะเปลี่ยนไปเป็นบุคคลอื่น จะไปเป็นคนนั้นคนนี้ก็ไม่ได้ เราจะรู้ว่าเราสะสมอะไรมามากน้อยเท่าไหร่ก็เมื่อจิตเกิด ถ้าจิตไม่เกิดเลยเราจะรู้ได้ไหมว่าจิตของเรานี้มีเมตตามากหรือน้อย หรือว่ามีโทสะมากหรือน้อย หรือว่ามีปัญญามากหรือน้อย เราจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อจิตประเภทนั้นๆ เกิดขึ้นจึงจะเห็นการสะสมในอดีตว่าเราได้สะสมอะไรมามากน้อยแค่ไหน

    ทุกคนก็หวังที่จะไปสู่สุขติ เป็นไปได้ไหม ถ้าเราทำกุศลบ่อยๆ แล้วก็ไม่ประมาทในกุศลแต่ก็ยังไม่สามารถที่จะรับรองได้ ก็เป็นเรื่องของกรรมแล้วก็เป็นเรื่องของอนัตตา แต่ถ้าเป็นพระโสดาบันบุคคลรู้แจ้งอริยสัจธรรมจะไม่ไปเกิดในอบายภูมิเลยแน่นอน แต่ถ้ายังไม่ใช่พระโสดาบันบุคคล ก็ยังเกิดในอบายภูมิได้ เช่นม้ากัณฐกะทุกคนก็เคยได้ยินชื่อที่ก็ผู้มีพระภาคตอนที่เป็นเจ้าชายสิทธัตถะขี่ม้ากัณฐกะเสด็จจากวังไป เวลาที่มากัณฐกะสิ้นชีวิต เกิดเป็นเทวดา จากความเป็นม้าแต่บุญที่ได้สะสมมา ได้มาเฝ้าพระผู้มีพระภาคหลังจากได้เป็นกัณฐกะเทพบุตรฟังธรรมเป็นพระอริยะบุคคลเป็นพระโสดาบัน จากการที่สะสมบุญกุศลมาแล้ว แต่ว่าถึงกาละที่กรรมใดจะให้ผลก็ต้องเป็นไปตามกรรมนั้น แต่จากการที่สะสมปัญญาแล้ว เมื่อได้ฟังพระธรรมก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่ระหว่างที่เป็นมากัณฐกะไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

    อ.อรรณพ แม้ว่าจะทำกุศลกรรมไว้มากแต่เมื่อได้เหตุปัจจัยที่อกุศลกรรมหนึ่ง อกุศลกรรมใดจะให้ผล ก็ส่งผลให้ไปเกิดในอบายภูมิก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ หรือในบางบุคคล ทำอกุศลกรรมไว้มาก แต่เมื่อมีกุศลกรรมใกล้ตาย หรือว่ากรรมหนึ่งกรรมใดทำให้ใกล้ตายแล้วเป็นกุศลจิต ก็สามารถที่จะเกิดในสุคติภูมิได้เช่นกัน เพราะว่าธรรมชาติของอกุศลแม้เล็กน้อยก็มีโทษคือนำไปสู่ที่ต่ำนำไปสู่อบาย เหมือนกับเศษหิน แม้ว่าจะเล็กน้อยอย่างไร เมื่อทิ้งลงในน้ำไม่มีเรือหรือไม่มีวัตถุใดจะรองรับก็จะจมดิ่งลง


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 6
    15 ต.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ