สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 029


    สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ ๒๙

    วันจันทร์ที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๔๕


    อ.สุภีร์ ในชีวิตประจำวันนี้ ก็มีจิตเป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ และเจตสิกก็รู้อารมณ์เดียวกับจิตนั้น แต่กระทำกิจการงานแตกต่างไปจากจิต ได้กล่าวชื่อของเจตสิกไปหลายเจตสิกด้วยกันในชีวิตประจำวัน ซึ่งจริงๆ ก็มี ๕๒ ประเภท

    ท่านอาจารย์ ต่อไปก็คงจะทราบว่ามานะเจตสิกดับด้วยอรหัตมรรค ลึกเพียงใดละเอียดเพียงใด ความสำคัญตนเมื่อมีเรา จะมีเราด้วยความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมที่เกิดดับไม่เหลือเลยสักขณะเดียวก็ยังคงยึดถือว่ามีเรา นั่นคือเราด้วยความเห็นผิด แล้วก็ยังมีเราด้วยตัณหาหรือโลภภะ เมื่อมีเราก็ยังคงพอใจในเรา จะไปพอใจในคนอื่นเท่าพอใจในเราได้ไหม ไม่ได้ รักตัวนี้ที่สุดสำคัญที่สุด และยังเราด้วยมานะ เพราะฉะนั้นกิเลสมีมาก แต่การศึกษาในการฟังพระธรรม ประโยชน์ก็คือสุตมญญาณ ปัญญาที่เกิดจากการฟัง เพราะว่าเราไม่สามารถที่จะคิดธรรมได้เอง พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมีตรัสรู้สภาพธรรม ประโยชน์สูงสุดคือทรงแสดงพระธรรมที่ตรัสรู้อุปการะแก่สัตว์โลก เพราะว่าพระองค์ดับกิเลสหมดแล้วเป็นพระอรหันต์ แต่ถ้าไม่มีพระมหากรุณาอย่างมาก ไม่ทรงแสดงพระธรรมก็ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ว่าไม่มีเรา ทุกอย่างที่เคยเป็นเราเมื่อฟังธรรมก็จะมีความเห็นที่ถูกต้องขึ้นว่าเป็นเพียงสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้น แล้วดับคือหมดไปเลย จะเอาอะไรกลับมาสักอย่างก็ไม่ได้สิ่งที่ดับไปแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าจะจากโลกนี้ไป ผู้ที่มีปัญญาก็สบายใช่ไหม ก็ไม่มีอะไรเหลืออยู่ทุกขณะอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องเดือดร้อนเลย และ โดยเฉพาะจุติจิต เช่นเดียวกับปฏิสนธิจิต และภวังคจิตคือเป็นขณะที่ไม่รู้สึกตัว คนที่กลัวตายฟังธรรมแล้วจะไม่กลัว เพราะว่าความตายจะเกิดขึ้นขณะไหนเมื่อไหร่ได้ทั้งหมดเลย คงจะมีตัวอย่างที่มีบ่อยๆ ว่าอยู่ดีๆ ก็ตายหลายคน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ เพราะฉะนั้นขณะที่กำลังสนุกๆ แล้วก็ตายก็ได้ใช่ไหม น่ากลัวไหมอย่างนั้น ซึ่งขณะที่ไม่รู้เลยกำลังสนุกก็คือรู้ตอนสนุก แต่พอจุติจิตคือขณะนั้นไม่รู้ตัว คือจากโลกนี้ไปโดยที่ว่าไม่ต้องกลัวอะไร ถ้ากำลังป่วยไข้เป็นทุกข์เจ็บปวดมาก เราก็เคยเจ็บปวดมาแล้ว และเราก็กังวลกับความปวดความเจ็บ ก็เหมือนทุกครั้ง แต่ตอนนั้นจุติจิตเกิดคือเกิดต่อจากขณะที่กำลังเจ็บปวดเหมือนที่เคยเจ็บ ก็ไม่น่ากลัวใช่ไหม

    แต่ความยึดว่าเป็นเราทั้งหมดทำให้ไม่อยากจะจากทุกอย่าง เหมือนกับทุกอย่างเป็นของเรา ซึ่งทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นรูปภายในหรือภายนอกก็ไม่มีใครเป็นเจ้าของเลย ถ้าไม่มีการเห็น สิ่งต่างๆ ที่ประณีตสวยงามจะมีความหมายอะไรไหมถ้าไม่เห็น เสียงก็เช่นกัน กลิ่นก็เช่นกัน รสก็เช่นกัน ทุกอย่าง แต่ด้วยความไม่รู้ก็ทำให้เราติดมาก และก็มีความเห็นผิดที่ยึดถือว่ามีตัวเราจริงๆ มีโลกจริงๆ มีทุกอย่างจริงๆ ที่เที่ยง แต่ตามความเป็นจริงแล้วถ้าแตกย่อยแม้แต่โลกที่ใหญ่ดูมั่นคงแข็งแรง ก็มีอากาศธาตุแทรกคั่นละเอียดยิบ และอะไรที่มั่นคง ไม่มีเลย รูปก็เป็นสภาพที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป จิตเจตสิกก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้นปัญญาที่เกิดจากการฟัง เป็นเจตสิกหรือเป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นขันธ์อะไรใน ๕ ขันธ์ ปัญญาเป็นรูปหรือเปล่า ขันธ์มี ๕ รูปขันธ์หนึ่ง เวทนาขันธ์๑ สัญญาขันธ์๑ สังขารขันธ์๑ วิญญาณขันธ์๑ ปัญญาเป็นเจตสิกเป็นขันธ์อะไร เป็นสังขารขันธ์ เพราะปัญญาไม่ใช่รูป ไม่ใช่เวทนา ไม่ใช่สัญญา ก็ต้องเป็นสังขารขันธ์ และก็ไม่ใช่จิตด้วย เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่วิญญาณขันธ์ ถ้าเรามีความรู้ที่ถูกต้องอย่างนี้ ไม่ใช่เราที่จะเป็นคนดี แต่เพราะความรู้ถูกความเห็นถูกเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งที่จะทำให้เรามองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างตามความเป็นจริง คือสามารถที่จะรู้เรื่องกิเลสเรื่องกรรมเรื่องวิบาก และก็รู้ว่าไม่มีใครจะมีอำนาจบังคับบัญชาได้เลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นถ้ารู้อย่างนี้กายวาจาใจของเราจะเป็นไปในทางที่ดีขึ้นหรือไม่เพราะเหตุว่ามีปัญญามีความเห็นถูกต้อง แต่ถ้าไม่มีปัญญายังมีความเป็นเรา ความรักตัวความยึดมั่นในตัวตนก็จะทำให้เรามีการสะสมของฝ่ายอกุศลธรรมคืออกุศลเจตสิกมากขึ้นๆ ทุกวัน มีใครบ้างที่พอ ถ้าจะไปดูของที่ร้าน พอเห็นของที่ชอบใจ เอื้อมมือไปแล้วใช่ไหมซื้อแล้ว พอหรือยัง อีกมือหนึ่งก็ยื่นออกไปทันที ทันทีที่รับอีกมือหนึ่งก็ยื่นไปแล้ว เพราะฉะนั้นโลภะหรือตัณหาถมเท่าไหร่ไม่เต็มยิ่งกว่ามหาสมุทร แต่ปัญญาเท่านั้นที่จะทำให้เราสามารถที่จะรู้ว่าถ้าเหตุไม่ดีเป็นอกุศล ผลก็คืออกุศลวิบาก ไม่ต้องไปคิดว่าใครจะทำร้ายให้เราหรือทำให้เรา แต่เป็นเพราะผลของกรรมของเราเอง นี่ก็คือผลที่เกิดจากการฟังแล้วก็มีปัญญาเจตสิกซึ่งทำให้คิดถูก เห็นถูก กายถูก วาจาถูก ใจถูกขึ้น

    มีใครอยากไปนิพพานบ้าง ๑ คนเท่านั้นหรือ ๒ คน ๓ คน รู้จักนิพพานหรือยังที่จะไป นี่คือปัญหา เพียงได้ยินชื่อว่านิพพานก็อยาก เห็นไหมว่าพอไหมโลภะ ทั้งๆ ที่ไม่รู้เลยก็ยังอยาก นี่คือโลภะ เพราะฉะนั้นสิ่งเดียวที่โลภะไม่สามารถที่จะใกล้ชิดหรือเป็นอารมณ์ได้คือโลกุตตรธรรม นอกจากนั้นแม้กุศล โลภะก็ติดต้องการ อยากจะได้มากๆ เพราะรู้ว่าจะนำมาซึ่งผลของกุศลที่ดี นี่ก็เป็นเรื่องที่เป็นจริง ธรรมเป็นสิ่งที่จริง แต่ทั้งหมดก็จะค่อยๆ เปลี่ยนไปด้วยปัญญาที่มีความเห็นถูกต้อง ไม่ทราบมีข้อสงสัยอะไรหรือไม่ในเรื่องนี้ คนที่ไม่อยากไปนิพพานมีมากใช่ไหม อยากไปสวรรค์ไหม

    ผู้ฟัง อยากไป

    ท่านอาจารย์ บางคนบอกอยากจะอยู่ในโลกมนุษย์ต่อไปเพราะว่าคุ้นเคยกับความเป็นมนุษย์ ถ้าไม่ใช่สภาพธรรมที่ไม่เกิดแต่เป็นสภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรมคือจิต เจตสิก รูปไม่มีวันหยุด นอกจากจะถึงจุติจิตของพระอรหันต์ คุณอรรณพมีทุกข์อะไรบ้างไหม

    อ.อรรณพ ทุกข์ในสังสารวัฎก็มากมาย คงมีทุกขเวทนากันทุกคนเมื่อยังมีกาย แม้พระอรหันต์ท่านก็ยังมีทุกข์ทางกายก็เหมือนผู้ที่ถูกลูกศรดอกที่หนึ่งยิงมา ใครๆ ก็เลี่ยงไม่ได้ลูกศรดอกที่หนึ่งตราบใดที่ยังมีกายอยู่ก็เป็นโอกาสที่จะได้รับอกุศลวิบากทางกายคือทุกขเวทนา แต่เราซึ่งเป็นผู้ที่ยังไม่ได้ดับเหตุของการเกิดได้ ยังไม่ถึงระดับที่ดับเหตุของทุกข์ทั้งมวลได้ ก็ยังมีทุกข์อีกประการหนึ่งก็คือทุกข์ทางใจคือโทมนัสเวทนา เมื่อประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ หรือว่าสิ่งที่รักพลัดพรากไปก็เป็นทุกข์ ทุกข์มากมาย บางครั้งไม่ได้เจ็บปวดร่างกาย แต่ทุกข์ใจในเรื่องราวต่างๆ มากมายซึ่งจริงๆ แล้วถ้ารู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงในขณะนั้นเป็นเพียงอกุศลจิตที่เกิดขึ้น ตรึกถึงเรื่องราวต่างๆ นึกไปกังวลไปในการงานในอาชีพต่างๆ หรือในครอบครัวบุตรธิดาก็เป็นทุกข์ได้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นทุกข์มีมากมาย แต่ความหมายของทุกข์จริงๆ ซึ่งเป็นความจริงของพระอริยะเจ้าก็คือสภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วดับไป เป็นสภาพของทุกข์ เพราะฉะนั้นไม่แค่เพียงแค่ทุกข์กายหรือทุกข์ทางใจ ทุกข์คือความเกิดดับของสภาพธรรม แม้สุขท่านก็กล่าวว่าเป็นทุกข์ สุขเวทนาเกิดแล้วก็ดับไปไม่ได้ตั้งมั่นอยู่นาน สุขก็ชั่วขณะ สุขเวทนาเกิดประกอบกับจิตแล้วก็ดับไป ก็ไม่มีสาระอะไร เพราะฉะนั้นถ้าเป็นความเป็นจริงที่พระอริยะเจ้าทั้งหลายท่านแสดงคือทุกข์คือความเกิดดับของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น สภาพที่เกิดขึ้น และดับไป เป็นทุกข์ทั้งนั้น ปัญญาเท่านั้นที่จะทำให้เรารู้ทุกข์ตามความเป็นจริงได้ เพราะฉะนั้นการที่เราจะดับทุกข์ที่เป็นทุกข์ทางกายคือการต้องไม่เกิดอีกคือความเป็นพระอรหันต์ ก็จะไม่มีทุกข์ประการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทุกข์ใจในลักษณะใด ก็ต้องเป็นการรู้ลักษณะที่เป็นลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วดับไป คือรู้ในทุกขลักษณะคือลักษณะที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาของสภาพธรรม ซึ่งกว่าจะถึงตรงนั้นก็ต้องอาศัยการฟังธรรมอบรมเจริญปัญญาที่นานมากทีเดียว

    ท่านอาจารย์ กล่าวถึงเรื่องทุกข์แล้วก็จะกล่าวถึงเรื่องการแก้ทุกข์บ้าง เพราะว่ามีแต่ทุกข์ แต่จริงๆ ทุกข์ที่ได้ฟังนี้ก็ยังไม่ใช่เป็นการประจักษ์ลักษณะของทุกข์ที่เป็นอริยสัจจะ ทุกข์ที่พระอริยะบุคคลสามารถประจักษ์แจ้งว่าทุกข์จริงๆ นั้นคืออะไร เพราะว่าธรรมดาทุกข์ที่ทุกคนมีประจำวันก็แก้ไขกันไปประจำวันใช่ไหม ตื่นขึ้นมาก็ต้องแก้ทุกข์แล้วเป็นประจำวัน รับประทานอาหารก็แก้ทุกข์ ไม่ว่าจะทำอะไรก็แก้สิ่งที่เป็นทุกข์ในขณะนั้นก็แก้ไปเรื่อยๆ แต่ไม่ใช่ทุกข์ซึ่งพระอริยเจ้าท่านประจักษ์ว่าเป็นทุกข์จริงๆ

    ก่อนการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็มีผู้ที่ขวนขวายหาทางที่จะแก้ทุกข์โดยประการต่างๆ แต่เมื่อไม่ใช่พระปัญญาคุณที่ทรงแสดงจากการตรัสรู้ ก็ไม่สามารถที่จะดับทุกข์จริงๆ ได้จนกระทั่งหมดกิเลสซึ่งเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ก็ขอกล่าวถึงในครั้งอดีตก่อนที่พระผู้มีพระภาคจะทรงตรัสรู้ กล่าวถึงบุคคลในครั้งอดีตมีผู้ที่เห็นโทษ และเห็นทุกข์ แต่ว่าถึงจะเห็นโทษเห็นทุกข์อย่างไร ก็ไม่สามารถที่จะดับทุกข์ได้อย่างแท้จริง เพราะว่าบางคนจะเห็นว่าที่เราเป็นทุกข์เพราะเรามีรูป ถ้าไม่มีรูปจะมีทุกข์หรือไม่ ไม่จำเป็นต้องรับประทานอาหาร ไม่ต้องอะไรเลย ก็มีแต่นามธรรมเท่านั้น เพราะฉะนั้นท่านเหล่านั้นปัญญาของท่านสามารถที่จะอบรมความสงบของจิต ถึงระดับที่เป็นอัปปนาสมาธิน ขณะที่เป็นอัปปนาสมาธิหมายความว่าจิตจะเป็นกุศลมั่นคง เพราะว่าโดยมากเมื่อเรากล่าวถึงเรื่องฌานเราก็คิดว่านั่งหลับตา แต่ความจริงนั่งหลับตาไม่ใช่ปัญญา และก็ไม่ใช่ความสงบด้วย ถ้าเป็นความสงบแท้จริงต้องเป็นกุศลจิตเพราะว่าอกุศลจิตทุกประเภทจะสงบไม่ได้ แต่กุศลจิตไม่ว่าประเภทใดทั้งสิ้นขณะนั้นก็สงบจากอกุศล แต่ผู้ที่สามารถที่จะเห็นโทษว่าทันทีที่เห็น กิเลสก็เกิดแล้วเร็วมาก เหมือนต้นยางที่มีน้ำอย่างชุ่ม ทันทีที่ถูกมีดกรีดยางก็ไหล เพราะฉะนั้นกิเลสที่เป็นอาสวะที่บางมากเลย พอเห็นก็เกิด พอได้ยินก็เกิด เพราะฉะนั้นท่านเหล่านั้นก็พยายามหาทางที่ให้จิตสงบจากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย โดยการที่รู้ว่าถ้าจิตน้อมนึกตรึกถึงสิ่งใดแล้วจิตจะสงบขึ้นๆ จนกระทั่งสามารถที่จะเป็นฌานจิต แต่ฌานจิตนั้นก็ต้องอาศัยรูปก่อนเพราะเหตุว่าไม่สามารถที่จะให้จิตเกิดขึ้นสงบโดยลำพังได้ แต่ว่าต่อไปถ้าศึกษาโดยละเอียดก็จะมีอารมณ์ที่แม้ไม่ใช่รูป

    สำหรับฌาณกิจขั้นที่มีรูปเป็นอารมณ์นมีถึง ๕ ฌาณ ผลก็คือว่าทำให้บุคคลซึ่งฌานไม่เสื่อม ฌาณจิตสามารถจะเกิดก่อนจุติได้ เกิดในรูปพรหมภูมิเป็นรูปพรหมบุคคล แต่ว่าผู้ที่เห็นว่าถ้ามีแต่รูปแล้วไม่มีนามจะทุกข์ไหม คือเวลานี้ทั้งนามทั้งรูปนี่เป็นทุกข์ อาศัยกัน และกันเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ถ้ามีแต่รูปไม่มีนามเลยจะหิวไหม ไม่หิว แต่ถ้ามีแต่นามโดยที่ไม่มีรูป จะหิวไหม ไม่หิว จะป่วยไข้ได้เจ็บไหม ไม่ เพราะฉะนั้นผู้ที่ได้รูปฌาณก็คิดว่าถ้าไม่มีนามมีแต่รูปอย่างเดียว ก็เรียกว่าหมดทุกข์ไปได้ชั่วขณะที่สามารถจะมีแต่รูปอย่างเดียว ท่านเหล่านั้นก็ได้ถึงปัญจมฌาณ แล้วก็ด้วยความที่หน่ายในรูป ก็เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิในรูปพรหมภูมิหนึ่ง ซึ่งชื่อว่าอสัญญสัตตาพรหมหมายความว่าไม่มีจิต และเจตสิกเกิดระหว่างที่มีรูปปฏิสนธิในรูปพรหมภูมิซึ่งเป็นปัญจมฌานภูมิเป็นอสัญญสัตตาพรหม จนกว่ากรรมนั้นจะสิ้นสุดก็จะทำให้กรรมหนึ่งทำให้ปฏิสนธิจะไม่เป็นรูปพรหมอีกต่อไป จะต้องกลับมามีนามธรรม และรูปธรรมเหมือนเดิมอีก นี่ก็เป็นบุคคลหนึ่ง เวลานี้ก็ยังคงมีอยู่ ใครไปเห็นบ้างหรือไม่ แต่ทรงแสดงไว้ว่ามี เพราะว่าพระผู้มีพระภาคตรัสรู้เมื่อ ๒๕๐๐ กว่าปี เพราะฉะนั้นก่อนนั้นก็มีผู้ที่ได้ฌานเช่นนี้ แล้วก็มีภพภูมิอย่างนี้

    ส่วนอีกบุคคลหนึ่งซึ่งเห็นโทษของรูป แล้วก็สามารถที่จะละความติดในรูป ฌาณนั้นก็ไม่มีรูปเป็นอารมณ์ หลังจากที่มีรูปเป็นอารมณ์แล้ว ถึงปัญจมฌาณก็ไม่น้อมนึกถึงรูปเลย มีอากาศเป็นอารมณ์ มีวิญญาณเป็นอารมณ์ มีอากิญจัญญายตนจิตเป็นอารมณ์ ชื่อเหล่านี้ไม่ยากนัก เพียงแต่ว่าถ้าค่อยๆ ศึกษาไปแล้วก็จะค่อยๆ เข้าใจขึ้นว่าหมายความถึงอะไร แต่ว่าเป็นฌานจิตที่ไม่มีรูปเป็นอารมณ์ ผลก็คือว่าทำให้ปฏิสนธิโดยไม่มีรูปเลยเป็นอรูปพรหมบุคคล สูงสุดเลยเป็นฌานที่ ๕ แล้วก็ไม่มีรูปเป็นอารมณ์ด้วย แต่เมื่อหมดกรรมนั้นก็ต้องกลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ ที่จะพ้นจากความติดข้องในรูปโดยดับความติดข้องในรูปเป็นสมุทเฉทไม่เกิดอีกเลยต้องเป็นปัญญาระดับขั้นพระอนาคามีบุคคล

    เพราะฉะนั้นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อทรงบำเพ็ญพระบารมีก็สามารถที่จะรู้ได้ว่าหทางอื่นไม่มี แม้ว่าจะเป็นอสัญญสัตตาพรหม หรือจะเป็นอรูปพรหมบุคคลก็ตาม ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับกิเลสก็คือปุถุชน เพราะฉะนั้นต้องอบรมเจริญปัญญาในภูมิที่มีรูป และนาม ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จนกระทั่งสามารถที่จะรู้แจ้งสัจธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล แล้วถ้าเป็นผู้ที่เป็นพระโสดาบันบุคคลแล้วก็ได้ฌาณด้วย ก็แล้วแต่ว่าพระโสดาบันบุคคลท่านนั้นจะเกิดในพรหมภูมิใด อาจจะเกิดในอรูปพรหมก็ได้ หรือรูปพรหมภูมิก็ได้

    อ.อรรณพ ก็สอดคล้องที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวไปเมื่อสักครู่ว่าการที่จะอบรมเจริญปัญญา ก็ต้องเกิดในภพภูมิที่มีทั้งนามธรรม และรูปธรรม แล้วก็เป็นสุคติภูมิ ซึ่งที่ทุกท่านได้มานั่งอยู่ ณ ที่นี้ได้ อันที่จริงแล้วยากแสนยากที่จะได้เกิดมาเป็นคนแล้วก็จะได้มีโอกาสจะได้รับฟังพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ เพราะการเกิดเป็นคนก็เป็นสิ่งที่ยากมาก การที่จะเกิดมาในยุคสมัยที่มีการอุบัติของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยิ่งยาก และเมื่อพระองค์ได้อุบัติแล้วแสดงธรรมโอกาสที่ธรรมจะรุ่งเรือง เป็นโอกาสให้ผู้ที่มีโอกาสจะได้รับฟังได้ฟังพิจารณาตาม อบรมเจริญปัญญาตามลำดับจนบรรลุรู้แจ้งความจริงตามที่พระองค์ได้ตรัสรู้ และทรงแสดงก็ยากขึ้นโดยลำดับ

    ซึ่งมีข้อความใน สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ฉิคคฬสูตรท่านได้กล่าวถึงการได้ความเป็นมนุษย์แสนยาก มีข้อความโดยสรุปว่า พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอุปมาเปรียบเทียบความยากยิ่งของการที่จะเกิดเป็นมนุษย์ เหมือนกับพื้นแผ่นดินใหญ่ มหาปฐพีมีน้ำท่วมเป็นอันเดียวกันกว้างขวางมาก มีบุรุษที่อยู่ไกลมาก ท่านแสดงอุปมาว่าอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของขอบจักรวาล โยนแอกเล็กๆ มาที่มหาปฐพีที่มีน้ำท่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งมีลมจากทิศทั้ง ๔ ลมทิศตะวันตกก็พัดไปทิศตะวันออก ลมทิศตะวันออกก็พัดไปทางทิศตะวันตก ลมทิศเหนือก็พัดไปทางใต้ ลมทางทิศใต้ก็พัดไปทางเหนือ ทำให้แอกนั้นแกว่งหมุนไปไม่ได้อยู่นิ่งอยู่กับที่เลย มีเต่าตาบอดโอกาสที่จะโผล่ขึ้นมาร้อยปีขึ้นมาจากน้ำเพียงครั้งเดียว โอกาสความยากของการที่เต่านั้นร้อยปีโผล่ขึ้นมาแล้วจะสอดคอเข้าไปในแอกที่พอดีกับคอของเต่านั้นแสนยากฉันใด

    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงต่อไปว่า ฉันนั้นภิกษุทั้งหลายการได้ความเป็นมนุษย์เป็นของยาก พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะอุบัติในโลกเป็นของยาก ธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้วจะรุ่งเรืองในโลกก็เป็นของยาก ความเป็นมนุษย์นี้เขาได้แล้วพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติในโลกแล้ว และพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้วก็รุ่งเรืองอยู่ในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแล เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่านี้ทุกข์ นี้สมุทัย นี้นิโรธ นี้มรรค ก็เป็นข้อความโดยสรุป

    ซึ่งในอรรถกถาท่านก็ยังได้เปรียบเทียบขยายความให้เข้าใจชัดเจนขึ้นไปอีกว่าความยากของทั้ง ๔ อย่าง อย่างแรกก็ได้กล่าวไปแล้วว่าการที่จะได้มีโอกาสปฏิสนธิ คือจิตขณะแรกซึ่งต้องเป็นผลของกุศลกรรมที่มีกำลังทีเดียวที่จะทำให้เกิดมาเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นภพภูมิที่มีทั้งนามธรรม รูปธรรม พร้อมที่จะอบรมเจริญปัญญา เหมือนกับเต่าที่จะสอดคอเข้าไปในแอกที่บุรุษโยนมาจากทิศตะวันออกขอบจักรวาล ข้อนี้ก็ยากอยู่แล้วที่เต่าจะมีแอกคล้องคอเข้าไป๑ แอก

    แต่การเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าทั้งหลายยากยิ่งกว่านั้น เหมือนการที่เต่าตัวนั้นจะสามารถสอดคอเข้าไปในแอกอีกอันหนึ่งที่บุรุษที่อยู่ทางด้านทิศใต้โยนมา แล้วก็มีทั้งกระแสลมกระแสน้ำโอกาสที่เต่าจะสอดคอเข้าไป และแอกอันที่ ๒ จะไปสวมบนแอกอันที่๑ นี้ยิ่งยาก

    และการที่พระธรรมวินัยจะรุ่งเรืองมีการแสดงธรรมวินัย มีการสนทนาธรรม ซึ่งเป็นพระธรรมที่ทรงแสดงก็ยิ่งยาก ก็เหมือนกับการที่เต่าจะสอดคอเข้าไปในแอกซึ่งบุรุษที่ยืนอยู่ที่ขอบจักรวาลด้านทิศตะวันตกจะโยนเข้ามาเป็นแอกที่ ๓ ที่จะสอดเข้าไป

    แล้วที่ยากยิ่งกว่านั้นคือเกิดมาเป็นคนแล้ว พระพุทธเจ้าอุบัติแล้ว แม้ว่าจะดับขันธปรินิพพานไปแล้ว แต่ก็ได้ทรงแสดงธรรมเอาไว้ มีโอกาสได้ฟังก็ยาก การที่จะแทงตลอด ในอริยสัจทั้ง ๔ ก็คือการรู้แจ้งความจริงที่พระองค์ทรงแสดงยิ่งยากยิ่งกว่านั้น ก็คือเปรียบเหมือนเต่าที่สามารถสอดคอเข้าไปในแอกทั้ง ๓ แล้ว จะสามารถสอดคอเข้าไปในแอกที่ ๔ ซึ่งบุรุษโยนมาจากขอบจักรวาลด้านทิศเหนืออีก


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 6
    21 ต.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ