สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 031


    สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ ๓๑

    วันจันทร์ที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๔๕


    ท่านอาจารย์ จักขุประสาท มี กระทบกับสีสันวรรณะ แสงสว่างที่กำลังปรากฏในขณะนี้ทำให้มีการเห็น ไม่ใช่คนตาบอด แต่สามารถเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา สำหรับรูปที่เป็นโสตปสาทรูปก็เป็นรูปที่อยู่กลางหูสามารถกระทบกับเสียงเท่านั้น จะกระทบรูปอื่นไม่ได้ อีกรูปหนึ่งก็คือฆานปสาทรูป นี้เป็นภาษาบาลี ก็ค่อยๆ เข้าใจเพราะว่าภาษาไทยเราก็ใช้จักขุ โสตะ กันอยู่แล้ว สำหรับจมูก ภาษาบาลีก็เป็นฆานะ ก็เป็นรูปที่สามารถกระทบกลิ่น เวลากระทบกลิ่น กลิ่นกระทบทางกายได้ไหม กระทบทางตาได้ไหม กระทบทางหูได้ไหม ไม่ได้แน่นอน ต้องเป็นฆานปสาทรูปเท่านั้นที่สามารถกระทบกลิ่น เปลี่ยนไม่ได้ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมเป็นอย่างนั้นแล้วก็เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัยทั้งนั้น

    ๑ รูปคือจักขุประสาท โสตประสาทอีกหนึ่ง ฆานประสาทอีกหนึ่ง ชิวหาปสาทรูปอยู่กลางลิ้นกระทบกับรสต่างๆ เวลาที่ทุกคนรับประทานอาหาร ลิ้มรสใช่ไหม สามารถที่จะรู้ว่ารสอะไร กลมกล่อมหรือเผ็ดไป หรือหวานหรือเค็ม ทั้งหมดเป็นรสที่มีจริง รสต่างๆ มองไม่เห็น และอยู่ในทุกอย่างที่มีมหาภูตรูป ที่ใดที่มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ต้องมีสีคือรูปที่สามารถกระทบปรากฏกับจักขุประสาท ต้องมีกลิ่น ต้องมีรส และก็ต้องมีโอชา ซึ่งเป็นรูปที่จะทำให้เกิดรูปอื่นต่อไปเป็นอาหารชรูปต่อ เพราะว่าเกิดจากโอชาซึ่งเป็นอาหาร

    ขณะใดที่ไม่มีชิวหาปสาท สัตว์บางชนิดมีไหมหรือว่าต้องมีทั้งหมด ไม่จำกัดว่าจะเป็นสัตว์ชนิดไหน สัตว์ดึกดำบรรพ์หรือสัตว์ในอนาคตหรือคนนอกโลก หรืออะไรๆ ก็ตามแต่ ธรรมก็คือธรรม ถ้าไม่มีชิวหาปสาท จะให้รสปรากฏไม่ได้ และรสที่จะปรากฏก็ต้องกระทบกับชิวหาปสาทรูป จะกระทบมือเท้าอย่างไรก็ไม่สามารถที่จะลิ้มรสนั้นได้ ๔ รูปแล้วใช่ไหม

    ที่ตัว อีกรูปหนึ่งคือกายปสาทรูป ซึมซาบอยู่ทั่วตัว เป็นรูปที่สามารถกระทบกับเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ที่เราสามารถที่จะรู้ว่าร้อนเพราะเหตุว่ามีกายปสาทรูป เราสามารถที่จะรู้ว่าแข็งก็ต้องกระทบกาย ถ้าเราสามารถจะรู้ว่าเย็นอย่างน้ำแข็ง มองด้วยตาอย่างไรๆ ก็ไม่เย็น ไฟร้อนสักเท่าไรมองด้วยตาอย่างไรๆ ลักษณะที่ร้อนนั้นก็ไม่ปรากฏ ต้องกระทบกายประสาทซึ่งซึมซาบอยู่ทั่วตัว ทั้งภายใน และภายนอก เพราะฉะนั้นรูปนี้ก็เกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิตสำหรับในภูมิที่เกิดเป็นมนุษย์ ในครรภ์ครั้งแรกก็จะมีกลุ่มของรูปกลุ่มเล็กๆ ๓ กลุ่มคือกายปสาทรูป หทยรูป และภาวะรูป ซึ่งได้กล่าวถึงแล้วในคราวก่อน แต่สำหรับวันนี้จะกล่าวถึงเฉพาะรูปที่เป็นทวารคือ ๕ รููป จักขุปสาทรูป๑ โสตปสาทรูป๑ ฆานปสาทรูป๑ ชิวหาปสาทรูป๑ กายปสาทรูป๑

    ทุกคนสามารถพิสูจน์ธรรมได้ ใช่ไหม เป็นเรื่องจริง ถ้ากำลังหลับสนิท และก็มีคนมาสะกิด แล้วก็ยังไม่ตื่น ขณะนั้นจิตทำกิจอะไร ทำกิจภวังค์เพราะเหตุว่าไม่สามารถที่จะรู้อารมณ์ใดๆ ได้ ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต และจุติจิต จะไม่มีอารมณ์ของโลกนี้ปรากฏ เพราะฉะนั้นเวลาที่โลกนี้จะปรากฏก็คือจิตต้องไม่เป็นภวังค์ ถ้าจิตยังคงเป็นภวังค์อยู่ จิตอื่นจะเกิดรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้นเวลาที่เรามีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะมีรูปใดกระทบปสาทรูปใด ต้องมีการกระทบกับปสาทรูป ถ้าไม่มีปสาทรูปเลยอย่างอสัญญสัตตาพรหมก็มีแต่รูปปฏิสนธิ จะไม่มีการรู้อารมณ์ใดๆ เพราะไม่มีจิต ไม่มีปสาทรูป สำหรับอรูปพรหมบุคคลก็มีแต่นามธรรมไม่มีรูป เพราะฉะนั้นก็ไม่เห็น ไม่ได้ยินใดๆ ทั้งสิ้น

    แต่ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ คือมีทั้งนามธรรม และรูปธรรม นามธรรมซึ่งเป็นจิต การที่จิตจะเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ต้องมีทางหรือทวารซึ่งจิตจะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าขณะนั้นสีสันวรรณะกระทบกับจักขุประสาทก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดเห็น ขณะใดที่เสียงกระทบกับโสตปสาทก็เป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้นได้ยิน พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ความละเอียดของสภาพธรรมทุกขณะจิต ขณะที่เป็นภวังค์อยู่จะเปลี่ยนสภาพจากภวังค์มาเป็นเห็นมาเป็นได้ยินทันทีไม่ได้ เพราะว่าจิตนี้มีนิยามคือ ธรรมเนียมหรือธรรมชาติของจิตว่าจะต้องเกิดดับสืบต่อตามลำดับด้วย ไม่ใช่ว่าจากภวังคจิตก็จะเป็นจิตเห็นหรือจิตได้ยินได้ทันที

    อ. กฤษณา ทวารคือ ทางที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ในโลกนี้ การที่โลกนี้จะปรากฏเมื่อจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางทวารต่างๆ มีทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย พระสูตรหนึ่งที่เป็นคาถาของพระเถระ คือวัลลิยเถระแสดงไว้ในขุททกนิกายเถระคาถา พระไตรปิฎก และอรรถกถาแปลฉบับมหามกุฏเล่มที่ ๕๑ เรื่องโดยย่อก็คือ มีบุตรของพราหมณ์ในพระนครสาวัตถีอยู่คนหนึ่งชื่อวัลลิยะ เมื่อเขาเจริญเติบโตเป็นหนุ่มก็ได้มีโอกาสไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคด้วยการแนะนำของกัลยาณมิตร เมื่อฟังธรรมแล้วก็มีจิตศรัทธาที่จะออกบวชแล้วก็ได้เจริญวิปัสสนาจนบรรลุพระอรหันต์ในเวลาไม่นาน เพราะเหตุที่จิตของท่านในเวลาที่เป็นปุถุชนนั้นเป็นไปตามความใคร่ในอารมณ์ทั้งหลายคือรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสต่างๆ เมื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วท่านก็ได้ภาษิตคาถาอย่างนี้ว่า วานรเข้าไปอยู่ในกระท่อมซึ่งมีประตู ๕ ประตู พยายามเวียนเข้าออกทางประตูนั้นเนืองๆ จงหยุดนิ่งนะเจ้าลิง อย่าวิ่งไปดังกาลก่อนเลย เราจับเจ้าไว้ได้ด้วยปัญญาแล้วเจ้าจะไปไกลไม่ได้

    ซึ่งภาษิตคาถาของท่านวัลลิยเถระนี้ อรรถกถาท่านอธิบายความไว้คือ วานรคือลิงนี้ก็หมายถึงจิตนั่นเอง เพราะว่าธรรมชาติของลิงก็เป็นสัตว์ที่อยู่ไม่นิ่ง หลุกหลิก จิตก็เช่นเดียวกัน จิตหรือวานรเข้าไปในกระท่อม กระท่อมก็หมายถึงอัตตภาพนี้นั่นเอง ซึ่งมีประตู ๕ ประตูก็คือ ประตูตา หู จมูก ลิ้น กาย ในพระคาถานี้ท่านไม่ได้กล่าวถึงมโนทวารคือประตูใจ ท่านกล่าวถึงทวาร ๕ ทวาร เจ้าลิงคือจิตนั้นก็พยายามเวียนเข้าเวียนออกทางประตูทั้ง ๕ นั้นเนืองๆ ก็คือการที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ก็วนเวียนอยู่ ประเดี๋ยวก็ทางตา ประเดี๋ยวก็ทางหู ประเดี๋ยวก็ทางจมูก ประเดี๋ยวก็ทางลิ้น ประเดี๋ยวก็ทางกาย ก็วนเวียนกันอยู่ ๕ ทาง

    ๕ ประตูนี้ หมายถึงจากอารมณ์หนึ่งไปสู่อีกอารมณ์หนึ่ง จิตก็รับอารมณ์ทางหนึ่งก็ไปสู่อารมณ์อีกทางหนึ่ง ละอารมณ์นี้แล้วไปรับอารมณ์อื่นต่ออีก ซึ่งเจ้าลิงนั้นก็พยายามที่จะเวียนเข้าเวียนออกทางประตูไปตามอารมณ์ต่างๆ เพราะเที่ยวไปตามความปรารถนาในอารมณ์นั้นๆ ไปตามความใคร่ความปรารถนาในอารมณ์นั้นๆ ท่านก็กล่าวว่าเหมือนกับลิงที่เข้าไปหาผลไม้กินในป่าก็ทำให้ต้นไม้ไหวในที่นั้นหลายครั้ง เพราะว่าลิงก็จะกระโดดละจากกิ่งนี้ไปอีกกิ่งหนึ่ง ละจากกิ่งนี้เข้าไปอีกกิ่งหนึ่ง แล้วก็ทำให้กิ่งไม้นั้นไหวไปเรื่อยๆ เพราะความหลุกหลิกของลิงนั่นเอง

    ซึ่งในคาถานี้ท่านก็กล่าวความเป็นปัจจุบัน เพราะว่าเป็นเรื่องที่ใกล้กับสิ่งที่ดำเนินไปอยู่ เมื่อลิงคือจิตนี้วิ่งไปวนมาอยู่อย่างนี้ จากอารมณ์หนึ่งไปสู่อีกอารมณ์หนึ่ง พระเถระจึงปรามว่า จงหยุดนะ เจ้าลิงอย่าวิ่งไป เพราะว่าพระเถระท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านกล่าวว่าเราจับเจ้าได้แล้วด้วยปัญญาคือหมายถึง จิตนี้ถูกข่มไว้เรียบร้อยแล้ว เพราะว่าพระอรหันต์ท่านได้ตัดอุปาทานทั้งหลายได้หมดสิ้นแล้ว ท่านก็กล่าวว่าเจ้า หมายถึงจิตนี้จะไปไกลไม่ได้คือ จะไปสู่อัตภาพที่ ๒ ไม่ได้ เพราะว่าเป็นพระอรหันต์ เมื่อจุติจิตเกิดแล้วท่านก็จะไม่มีการเกิดขึ้นไหม่ ในภพใหม่ในชาติใหม่ ท่านก็กล่าวว่าเจ้าจะไปสู่อัตภาพที่ ๒ เป็นต้น ซึ่งไกลกว่าอัตภาพนี้ไม่ได้ การไปของเจ้ามีได้เพียงแต่จิตสุดท้ายคือจุติจิตเท่านั้นเอง

    พระคาถาของพระวัลลิยเถระก็แสดงให้เห็นถึงการที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นการที่ไม่หยุดนิ่งเลย ซึ่งการที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กายนั้นก็เป็นการเกิดขึ้นรู้อารมณ์ของโลกนี้ซึ่งจะต้องอาศัยทวาร มีจักขุทวาร เป็นต้น ซึ่งวิถีจิตต่างๆ ก่อนที่จะเกิดขึ้นนั้น ไม่ได้หมายความว่ามีวิถีจิตนั้นรออยู่ก่อนแล้ว แต่เมื่อใดก็ตามที่มีการประชุมพร้อมกันของปัจจัยต่างๆ มีวัตถุที่จิตอาศัยเกิด และมีอารมณ์ เป็นต้น วิถีจิตต่างๆ เหล่านั้นก็ย่อมเกิดขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ทีเดียว เพราะฉะนั้นการเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางทวารใดทวารหนึ่งของวิถีจิตนั้นก็เกิดขึ้นติดต่อกันตามลำดับด้วยดี เป็นจิตตนิยาม จิตจะไม่เกิดสลับลำดับกัน จะเกิดขึ้นทำหน้าที่แต่ละขณะ ทำหน้าที่ของตนเองตามลำดับโดยด้วยดีด้วย จะไม่สลับลำดับกัน นั่นคือวิถีจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง แต่ละขณะก็จะทำหน้าที่ของตนของตนโดยที่ไม่ก้าวก่ายกัน หน้าที่ของจิตเรียกว่ากิจ มี ปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ จุติกิจ กิจเหล่านี้เป็นกิจของวิบากจิตซึ่งทำหน้าที่ปฏิสนธิสืบต่อภพใหม่ ทำหน้าที่ดำรงภพชาติแล้วก็ทำหน้าที่จุติคือเคลื่อนจากภพนี้ไป แต่จิตที่ทำหน้าที่เหล่านี้ ๓ หน้าที่นี้เป็นจิตที่ไม่ได้เกิดขึ้นทางทวารต่างๆ เพราะเป็นจิตที่เรียกว่าเกิดพ้นจากทวาร ไม่ต้องอาศัยทวารเกิด แต่เมื่อกล่าวถึงการรู้อารมณ์ของโลกนี้ที่ต้องอาศัยทวารต่างๆ เกิด คือขณะที่รูปกระทบกับทวาร

    ทวารมีปสาทรูปต่างๆ มีจักขุปสาทรูป เป็นต้น เมื่อขณะที่รูปกระทบกับปสาทรูปซึ่งเป็นทวารนั้น ไม่ได้หมายความว่าจิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้นทันที วิถีจิตที่จะเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้นยังไม่เกิดทันที แต่ในขณะที่รูปใดรูปหนึ่งกระทบปสาทรูป ที่เรียกว่าอตีตภวังค์คือเป็นภวังคจิตที่หมายรู้ว่า ในขณะภวังค์นั้น รูปกระทบกับทวารคือปสาทรูป หลังจากอตีตภวังค์แล้วก็มีภวังค์เกิดสืบต่อมาอีก ๒ ขณะ โดยชื่อท่านเรียกว่าภวังคจลนะ หมายถึงภวังค์ไหว หลังจากภวังคจลนะดับไปแล้วก็จะเป็นภวังคุปัจเฉทะ เป็นภวังค์สุดท้ายของกระแสภวังค์ก่อนที่วิถีจิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์

    ในขณะที่รูปเกิดขึ้นกระทบกับปสาทรูป รูปใดรูปหนึ่ง เช่น สีหรือสิ่งที่ปรากฏทางตา กระทบกับจักขุปสาทรูป ในขณะแห่งอตีตภวังค์นั้นก็จะต้องดำเนินต่อไปอีก คืออายุของรูปจะมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้นเมื่อรูปเกิดขึ้นกระทบกับปสาทรูปแล้ว อตีตภวังค์ดับไปแล้วภวังคจลนะดับไปแล้ว ภวังคุปัจเฉทะเกิดต่อจากภวังคจลนะดับไปแล้วก็เป็นอายุของรูป ๓ ขณะจิต แล้วก็ยังมีอายุของรูปเหลืออีก ๑๔ ขณะจิต หลังจากที่ภวังคุปัจเฉทะดับไปแล้ว วิถีจิตจึงจะเริ่มรู้อารมณ์ ถ้าเป็นวิถีจิตทางตา วิถีจิตแรกที่เริ่มรู้อารมณ์ก็เรียกว่า จักขุทวาราวัชชนะวิถี เพราะว่าจิตที่เริ่มรู้อารมณ์นี้ โดยทั่วไปแล้วคือเรียกว่าอาวัชชนะวิถีจิตซึ่งทำอาวัชชนะกิจ อาวัชชนะหมายถึงน้อมไปสู่ เพราะฉะนั้นจิตที่ทำอาวัชชนะกิจทำหน้าที่น้อมไปสู่อารมณ์หรือจะเรียกว่านึกถึงอารมณ์ หรือรำพึงถึงอารมณ์ก็ได้ แต่รำพึงถึงอารมณ์ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเป็นการคิดนึกรำพึงรำพันเป็นเรื่องราวยืดยาวเพราะว่าเพียงแค่ขณะจิตเดียวสั้นๆ เกิดขึ้น เริ่มรู้อารมณ์เป็นขณะจิตแรกที่รู้อารมณ์ ถ้าเป็นอารมณ์ที่ปรากฏทางตา จิตที่เริ่มรู้อารมณ์ทางตานี้ก็คือจักขุทวาราวัชชนะวิถีจิต เพราะฉะนั้นจิตดวงนี้ไม่ได้ทำหน้าที่เห็น เพียงแค่เริ่มรู้อารมณ์เท่านั้นเองอารมณ์นี้ ท่านเปรียบเหมือนกับเป็นแขก แขกที่มาเยี่ยม คือทุกท่านก็คงมีแขกมาเยี่ยมที่บ้านใช่ไหม เวลาแขกมาเยี่ยมเขาก็จะมายืนที่หน้าประตูก่อนแล้วก็เราก็ยังไม่ทราบว่าเป็นผู้หญิงหรือเป็นผู้ชาย แขกคืออารมณ์ต่างๆ ถ้ามาก็มายืนหน้าประตูเรายังไม่ทราบ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายนี้จะมีอารมณ์ที่เป็นแขกมาเยี่ยมอยู่เสมอ ถ้าเป็นอารมณ์ทางตาก็เป็นแขกทางตา ถ้าเป็นอารมณ์ทางหูก็เป็นแขกทางหู แขกที่มาเรายังไม่ทราบ เขามากดกริ่งก็ยังไม่ทราบ แต่รู้แล้วว่ามีคนมาแล้ว มีแขกมาเยี่ยมแล้ว เพราะฉะนั้นอาวัชชนะจิตนี้ เริ่มรู้อารมณ์ก็คือรู้ว่ามีแขกมาหามาเยี่ยม แต่ว่ายังไม่เห็น ยังไม่รู้ว่าเป็นใครจนกว่าจะเดินออกไปที่ประตูแล้วเปิดประตูก็เห็น ตรงขณะที่เห็น ตรงนั้นหมดหน้าที่ของอาวัชชนะจิตที่ทำอาวัชชนะกิจแล้ว เพราะว่าจิตที่เห็นคือจักขุวิญญาณจะทำหน้าที่เห็นที่เรียกว่าทัสสนกิจ กิจนี้เลยจากอาวัชชนะจิตมาแล้ว คือตอนนี้รู้แล้วว่ามีแขกมาหามาถึงอาวัชชนะจิต

    ท่านอาจารย์ จิตของใครอยู่นิ่งบ้างเวลานี้ เท่าที่ได้ฟัง ไม่มีทางที่จะอยู่นิ่งเลยเพราะเหตุว่าจิตก็เกิดขึ้นทำกิจการงานอย่างหนึ่งอย่างใด เราจะเรียกว่าเราหลับ เราตื่น อย่างไรก็ตามแต่ แต่จิตก็จะต้องเกิดขึ้นทำกิจตลอดเวลาไม่หยุดเลย สำหรับในความรู้สึกของพระอรหันต์ ท่านก็คงจะเห็นผู้ที่ไม่มีปัญญานี้เหมือนกับลิงซึ่งไม่หยุดนิ่งเลย ไม่หยุดนิ่งคือในขณะนี้ เห็นแล้วก็ได้ยิน แล้วก็คิด ทางกายบางคนก็อาจจะรู้สึกไม่ทราบ จะเจ็บ จะปวด จะเมื่อยบ้างหรือเปล่า

    นี้ก็แสดงให้เห็นว่าไม่เคยหยุดเดี๋ยวทางตา เดี๋ยวทางหู เดี๋ยวใจคิดนึก แล้วก็เดี๋ยวทางกาย เป็นอย่างนี้ตลอดเวลาที่ไม่ใช่ภวังคจิต เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า คำว่าสังสาระที่เราใช้ เราก็คิดถึงภพหนึ่ง ชาติหนึ่ง ตายแล้วก็เกิดแล้วก็ตายแล้วก็เกิดวนไปเวียนมาจากเป็นมนุษย์เป็นสัตว์เดรัจฉานเป็นเทวดาแล้วก็เป็นเปรตหรือเป็นอะไรก็ตามแต่ เหมือนกับนั่นคือสังสารวัฎ แต่จริงๆ แล้วสังสาระคือการเกิดวนเวียน ทางตาไม่ใช่เห็นตลอดเวลา มีได้ยิน แล้วก็มีคิดนึก ดูเหมือนว่าพร้อมกัน ในข้อสำคัญที่สุด ที่จะรู้ว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ว่ามารวมกันแล้วก็เป็นโลก แล้วก็เป็นเรา แล้วก็เป็นตัว แต่ต้องเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดแล้วดับสืบต่อกันอย่างเร็วมาก นี้คือผู้ที่ตรัสรู้แล้วก็รู้ความจริงของนามธรรม และรูปธรรมคือจิต เจตสิก รูป ทรงแสดงว่า จิตเจตสิกต้องเกิดพร้อมกันแล้วก็รู้อารมณ์ แต่ว่าจะเป็นอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ทรงแสดงไว้ละเอียดตั้งแต่เกิดจนตาย คือตอนเกิดจิตรู้อารมณ์แต่ไม่ใช่อาศัยทวารหนึ่งทวารใด คือไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึกด้วยถึงจะเป็นภวังค์ ถ้าขณะใดที่คิดนึกขณะนั้นก็ไม่ใช่ภวังค์ เพราะฉะนั้นเวลาที่จิตไม่ใช่ภวังคจิตมื่อไร เมื่อนั้นก็จะต้องเกิดขึ้นรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งไม่ใช่เป็นสภาพของภวังค์อีกต่อไป สภาพของภวังค์ขณะที่เราจะเห็นได้ชัดก็คือขณะที่หลับสนิท หลับสนิทแล้วทำไมตื่น ทำไมต้องตื่น ไม่ตื่นได้ไหม ถ้ามีจิตแล้วจะไม่ตื่นได้ไหม ไม่มีทาง เพราะจิตต้องทำหน้าที่ เมื่อไร เมื่ออารมณ์กระทบ อารมณ์ใหม่ซึ่งไม่ใช่อารมณ์ของปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ เพราะเหตุว่าอารมณ์ของปฏิสนธิ ภวัง ค์จุติ ไม่ปรากฏเลยไม่ว่าจะในภูมิไหนทั้งสิ้น แต่เมื่อตื่นขึ้นต้องไม่ใช่ภวังค์ คือมีการเห็นหรือมีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส มีการคิดนึกขณะใด ขณะนั้นก็คือตื่น

    เวลาที่หลับแล้วฝัน ตื่นหรือเปล่าขณะที่หลับหรือฝัน ตื่นหรือเปล่า เพราะฉะนั้นความต่างของคำที่เราใช้คำว่าตื่นคืออะไร ฝันไม่ใช่ภวังค์ ต้องทราบว่าถ้าเป็นภวังค์ตราบใดไม่ฝัน ไม่รู้ หลับสนิทเลย แต่เวลาที่ฝันก็คือขณะที่คิด แต่คิดจากความจำซึ่งเราบังคับบัญชาไม่ได้ แม้ขณะนี้ที่ทุกคนคิด เลือกคิดได้ไหม กำลังนั่งอยู่ที่นี่คิดถึงธุระทางบ้าน เกิดคิดขึ้นมาแล้ว อาจจะคิดถึงลูกหลานเพื่อนฝูงหน้าที่การงาน หรืออะไรก็แล้วแต่ แล้วแต่จะคิดแต่ว่าบังคับบัญชาไม่ได้เลยแม้ความคิด

    ถ้าศึกษาธรรมแล้วก็จะยิ่งเห็นความเป็นอนัตตาชัดเจนแม้แต่ความคิด ฝันก็คือความคิด เลือกฝันได้ไหม คืนนี้อยากจะฝันอะไรที่สนุกๆ ไม่มีทางสำเร็จ อาจจะฝันถึงสิ่งที่น่าตกใจแล้วก็น่ากลัวมาก เพราะฉะนั้นแม้แต่ความฝันก็คือจิตคิด แต่ว่าต่างกับตื่น เพราะเหตุว่าขณะที่ตื่น จิตคิดถึงสิ่งที่ปรากฏ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 6
    27 พ.ย. 2567

    ซีดีแนะนำ