สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 032


    สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ ๓๒

    วันจันทร์ที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๔๕


    ท่านอาจารย์ ฝันก็คือความคิด เลือกฝันได้ไหม คืนนี้อยากจะฝันอะไรที่สนุกๆ ไม่มีทางสำเร็จ อาจจะฝันถึงสิ่งที่น่าตกใจ และก็น่ากลัวมาก เพราะฉะนั้นแม้แต่ความฝันก็คือจิตคิด แต่ว่าต่างกับตื่น เพราะเหตุว่าขณะที่ตื่นจิตคิดถึงสิ่งที่ปรากฏ เช่น ขณะนี้อะไรกำลังปรากฏทางตา จิตคิดถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ แล้วก็อาจจะคิดถึงชื่อ คิดถึงเรื่องราวยาวไกลมาก ถ้าเป็นเพื่อนที่รู้จักกันเรื่องยาวไหม แต่ถ้าเป็นคนไม่คุ้นเคย เรื่องสั้นไหม ชื่ออะไรก็ยังไม่รู้จัก เป็นใครก็ยังไม่ทราบ ทำงานที่ไหนก็ไม่รู้ ครอบครัวเป็นอย่างไรก็ไม่มีทางที่จะไปคิดถึงได้เลย ใช่ไหม เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าความต่างของหลับกับตื่นก็คือ ขณะที่ตื่นจิตคิดถึงสิ่งที่ปรากฏ ขณะได้ยินเสียงอย่างนี้คิดถึงความหมายของเสียง ทันทีที่ได้ยิน ได้ยินคำว่า"ไม่" จะคิดถึงคำอื่นได้ไหม เคยได้ยินคำว่า"ไม่"ก็คิดถึงความหมายของเสียงนี้แล้วก็สามารถที่จะเข้าใจได้ เพราะฉะนั้นความต่างของหลับกับตื่นก็คือ ตื่นมีสิ่งที่ปรากฏ แต่เมื่อปรากฏ แล้วจิตก็คิดตามสิ่งที่ปรากฏ แต่ถ้าเป็นฝัน ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ ไม่เห็น แต่ฝันคือคิด ฝัน เห็นใช่ไหม เวลาที่ใช้คำว่าฝัน ฝันเห็น ถูกต้องหรือไม่ หรือไม่เห็น ถ้าไม่เห็นจะเป็นฝันได้ไหม ก็ไม่ได้ ใช่ไหม เพราะฉะนั้นฝันเห็น เห็นอะไรในฝัน ทุกคนก็คงจะฝันทุกคืน บางคนก็บอกว่าไม่ค่อยฝัน แต่ว่าจริงจริงแล้วฝัน แต่ไม่รู้ ลืมเร็วมาก เพราะเหตุว่าจิตไม่หยุด จิตจะทำกิจการงานของจิตตามการสะสม ตามการสืบต่อซึ่งบังคับบัญชาไม่ได้ เพราะฉะนั้นฝันเห็น ใช่ไหม ถูกต้องใช่ไหม อาจจะฝันเห็นเพื่อน ฝันว่าไปเที่ยวสวนสาธารณะมีดอกไม้ มีเสียงดนตรี นั่นคือฝัน หมายความว่าขณะนี้กำลังมีสิ่งที่ปรากฏ ความจริงเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่เราทุกคนนึกถึงเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏแล้วเก็บไปคืนนี้อาจจะฝันถึงสถานที่นี้ก็ได้ เพราะว่าเราไม่ได้ฝันเป็นเพียงแสงสว่างเฉยๆ ใช่ไหม แต่มีรูปร่างสัณฐานแล้วก็มีความคิดนึก เพราะฉะนั้นแล้ว มีเรื่องราวมากมายจากสิ่งที่ปรากฏเพราะว่าเราคิดถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏแล้วจำไว้ เพราะฉะนั้นคืนนี้เราก็ฝันถึงสิ่งที่เราจำ

    ก็แสดงให้เห็นว่า ทางที่จะรู้อารมณ์นั้นชัดเจนว่าต้องมี ๖ ทาง และ ๖ ทางนี้แต่ละทางก็ต้องแยกขาดจากกัน คืออย่างทางตา กำลังเห็น เสียงจะปรากฏร่วมกับสิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ได้ เรื่องราวความคิดนึก แม้ไม่เห็นหลับตาก็คิดได้ เพราะฉะนั้นขณะที่ลืมตาเห็นแล้วก็คิด แล้วลองหลับตาแล้วคิด คิดก็คือคิด แต่คิดไม่ใช่เห็น นี่ก็คือเรื่องของสภาพธรรมตามความเป็นจริงซึ่งคนตาบอดก็คิดได้ แต่ไม่เห็น

    เพราะฉะนั้นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างแต่ละทางก็แยกขาดจากกันว่า ถ้าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาก็ปรากฏเป็นสิ่งนี้ ถ้าเป็นเสียงก็ปรากฏอย่างที่กำลังได้ยิน ถ้าเป็นกลิ่นก็ปรากฏเป็นกลิ่นต่างๆ ถ้าเป็นรสก็ปรากฏเมื่อกระทบลิ้น ถ้าเป็นเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็งก็ปรากฏเมื่อกระทบกาย แต่ใจนี้ รับทุกสิ่งทุกอย่างสืบต่อจากตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วก็คิดนึกเป็นเรื่องราวต่างๆ

    หลังจากที่ปฏิสนธิจิตแล้ว แล้วก็เป็นภวังค์ พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ความละเอียดยิ่งซึ่งไม่มีผู้ใดสามารถที่จะรู้ได้นอกจากการตรัสรู้ของพระองค์ เพราะว่าสำหรับเรา เรายอมรับว่ามีเห็น เรายอมรับว่ามีได้ยิน เรายอมรับว่ามีจิตที่เป็นภวังค์ที่ไม่รู้อะไรเลย แต่มีจิตอื่นที่เราไม่รู้ก่อนที่จิตเห็นจะเกิด

    ผู้ฟัง คำว่าสัมภเวสี มีความหมายลึกซึ้ง และกว้างขวางสักแค่ไหน

    อ. สุภีร์ สัมภเวสี แปลตามศัพท์ว่า ผู้มีปกติแสวงหาที่เกิด หมายถึงว่าผู้ที่หลังจากจิตเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัสแล้ว ในชวนจิตก็คือ เป็นกุศลหรืออกุศลที่จะเป็นกรรมให้เกิดอีกต่อไปในอนาคต ก็หมายถึงว่าบุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่พระอรหันต์ทั้งหมดเรียกว่าสัมภเวสี แปลว่าผู้มีปกติแสวงหาที่เกิด หมายถึงว่าผู้จะต้องเกิดอีกเท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง ซึ่งสิ่งนี้ก็จะรวมไปถึงความหมายอรูปพรหม เปรต อสูรกาย หรือผู้ที่เกิดมาในภพ ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เช่น สัตว์เดรัจฉาน รวมทั้งหมดแม้กระทั่งพระอนาคามี ใช่ไหม

    อ. สุภีร์ ถูกต้องแล้ว บุคคลที่ไม่ใช่พระอรหันต์เรียกว่าสัมภเวสีทั้งหมด เพราะว่าต้องเกิดอีก แล้วคำว่าสัมภเวสีก็คือผู้ที่ยังต้องเกิดอีกนั่นเอง ผู้ที่ไม่ต้องเกิดอีก เกิดเสร็จเรียบร้อยแล้ว จบของการเกิดแล้วเรียกว่าภูต (ภู ตะ) เรียกว่าภูต หมายถึงพระอรหันต์ ก็คือเกิดเสร็จเรียบร้อยแล้วไม่ต้องเกิดอีก

    อ.กฤษณา ที่เราได้ยินคำว่าภูติผีปีศาจนี้จะมีความหมายอย่างไร

    อ. สุภีร์ ก็นำมาใช้ในอีกความหมายหนึ่งที่แปลว่า สิ่งที่อยู่ดีๆ ก็ปรากฏ ภูต ก็แปลว่าปรากฏก็ได้ก็คือ ภูติผีปีศาจก็ใช้ในความหมายที่ว่า ไม่เคยคิดมาก่อนก็ปรากฏขึ้นมาก็โผล่ขึ้นมาอย่างนี้

    อ.กฤษณา หมายความว่า คำว่าภูตนี้ก็มีหลายความหมาย ใช่ไหม

    อ. สุภีร์ แต่ถ้าใช้คู่กับสัมภเวสี ภูต และสัมภเวสี สัมภเวสีหมายถึงคนทั่วๆ ไปทั้งหมดที่ต้องเกิดอีก แต่ถ้าเป็นภูตก็คือพระอรหันต์

    ท่านอาจารย์ ขอถามคุณประทีปว่า เป็นสัมภเวสีตอนไหน ต้องตายก่อนหรือว่าขณะนี้ก็กำลังเป็นสัมภเวสี

    ผู้ฟัง ตามความเข้าใจของผม คือนายประทีปก็คงไม่มี แล้วก็เทวดา มนุษย์หรือ สัตว์ก็คงไม่มี คงจะหมายถึงจิตเจตสิกซึ่งเมื่อเกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับซึ่งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็คงหมุนเวียนไปอย่างนี้เรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ คือทุกคำที่ได้ยิน ขอให้มีความเข้าใจที่มั่นคง ที่ไม่เปลี่ยน คำว่าสัมภเวสีหมายความถึง ผู้ที่แสวงหาที่เกิด แปลตามศัพท์ ใช่ไหม แต่ความจริงทุกคนขณะนี้แสวงหาหรือเปล่า ยังอยากจะเกิดต่อไปหรือเปล่า จากใจจริง ไม่อยากจากโลกนี้ไปหมายความว่าอะไร ก็หมายความว่ายังต้องอยากเห็น อยากได้ยิน อยากรู้เรื่อง อยากสนุก อยากอะไรอยู่ทั้งหมด เพราะว่าเป็นผู้ที่ยังมีกิเลส แต่สำหรับพระอรหันต์แม้ว่าท่านดับกิเลสแล้ว แต่กรรมยังไม่สิ้น ท่านก็ยังมีชีวิตต่อไปเหมือนคนทำงานที่รอเวลาเลิกงาน ถ้าเลิกงานก็คือจบ ไม่ต้องมีการเกิด ไม่ต้องมีการเห็น ไม่ต้องมีการได้ยิน ไม่ต้องมีเรื่องราวใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งถ้าไม่มีปฏิสนธิจิต จะไม่มีเรื่องราว ไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ใดใดทั้งหมด แต่เมื่อมีปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น นำมาซึ่งทุกข์ หลังจากปฏิสนธิแล้วก็จะต้องเห็นเรื่องราวมากมาย จะต้องได้ยิน จะต้องได้กลิ่น จะต้องลิ้มรสจะต้องมีร่างกายที่จะต้องบริหารตลอดหยุดไม่ได้ทุกวันนี้เราก็บริหารร่างกายตั้งแต่ตื่นจนกระทั่งจะนอน หรือจะหลับก็ต้องเป็นอย่างนั้น ก็มีทุกข์ติดตามตัวมาตลอดแต่โดยความไม่รู้ แต่ว่าสำหรับผู้ที่ดับกิเลสแล้ว หลังจากที่สิ้นชีวิต จุติจิตดับก็คือปรินิพพาน ไม่มีการเกิดอีก เพราะฉะนั้น ขณะนี้ยังไม่ทันตาย เป็นสัมภเวสีหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาารย์ คือถ้าได้ยินคำไหนก็ขอให้เข้าใจให้มั่นคง ถ้าไปพบคำนี้ที่อื่น และความหมายที่ไม่ตรงก็ต้องรู้ว่านั่นเป็นความคิดหรือความเข้าใจของแต่ละบุคคล แต่ถ้าตามศัพท์ ตามความเป็นจริงตามพระไตรปิฎกก็คือผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ และทุกคนขณะนี้ทุกคนกำลังแสวงหาที่เกิด ถ้าเรากระทำดีกุศลกรรม แสวงหาที่เกิดที่เป็นสุคติ ถ้าทำอกุศลกรรม เราก็แสวงหาที่เกิดที่เป็นทุคติ ไม่มีใครนำไปให้เลย ใครจะดึงจะรั้งจะฉุดเราไปไม่ได้นอกจากกรรมที่ได้กระทำแล้ว เพราะฉะนั้นขณะนี้ ชาตินี้ทั้งชาติก็คือเกิดมาเพื่อแสวงหาที่เกิดแล้วแต่ว่าที่เกิดชาติต่อไปจะเป็นอะไร ก็คงจะไม่สับสนเรื่องคำว่าสัมภเวสี

    อ. สุภีร์ สำหรับกิจแรกในวิถีจิตที่รู้อารมณ์ของโลกนี้ เรียกว่า อาวัชชนกิจ ก็คือจิตทำกิจที่รู้ว่ามีอารมณ์มาสู่คลองของทวารแล้วที่จะรู้อารมณ์ของโลกนี้ต่อไป บางครั้ง ก็เรียกชื่อจิตตามกิจก็ได้ อย่างเช่นว่าปฏิสนธิจิตอย่างนี้ เราเรียกชื่อของจิตตามกิจหน้าที่การงานของจิต เพราะเห็นว่าจิตเหล่านั้นเกิดขึ้นทำปฏิสนธิกิจก็เลยเรียกชื่อจิตเหล่านั้นว่าปฏิสนธิจิต อาวัชชนะก็เช่นเดียวกัน เป็นกิจหนึ่งของจิต กิจแรกในวิถีจิต ก็เรียกจิตหล่านั้นที่กระทำอาวัชชนกิจว่าอาวัชชนจิตก็ได้ คือเรียกรวมไปตามหน้าที่ของจิต ซึ่งเวลามีอารมณ์มากระทบกับทวาร ทวารที่เป็นรูปมี ๕ รูป ก็คือปสาทรูปทั้ง๕ ถ้าเป็นจักขุปสาทรูปก็คือความใสของจักขุที่จะกระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตาได้ เมื่อสิ่งที่ปรากฏทางตามากระทบกับจักขุปสาทรูป ตอนกระทบครั้งแรก ตอนนั้นยังไม่มีการรู้อารมณ์ของโลกนี้ เป็นแต่การกระทบ บัญญัติชื่อภวังค์ตอนนั้นว่าอตีตภวังค์ เพราะเหตุไรจึงบัญญัติชื่อตอนนั้นว่าอตีตภวังค์ เพราะเหตุว่ารูปที่เป็นสภาวรูป รูปที่มีลักษณะสภาวะเป็นของตนเอง มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ก็จะได้รู้ว่าเมื่อรูปมากระทบแล้ว ดับตอนไหน เพราะว่าเริ่มที่อตีตภวังค์ ใช่ไหม ต่อไปก็ภวังคจลนะ ต่อไปก็ภวังคุปัจเฉทะ รูปนี้ยังไม่ดับเพราะเหตุว่ารูปมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ตอนนี้จิตเกิดดับไป ๓ ขณะ ตั้งแต่อตีตภวังค์ ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะนี้ ยังไม่มีการรู้อารมณ์ของโลกนี้ ก็เป็นภวังค์นั่นเอง แต่ว่าเริ่มมีอารมณ์มากระทบ รูปกระทบแล้วแต่ว่ายังไม่มีการรู้อารมณ์ สำหรับกิจแรกก็คืออาวัชชนกิจ เป็นวิถีแรกที่รู้ว่ามีอารมณ์มากระทบแล้ว รู้แล้วก็คืออาวัชชนกิจนั่นเอง ต่อไปหลังจากอาวัชชนกิจ ก็จะเป็นการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การกระทบสัมผัส เป็นกิจต่างๆ ต่อจากอาวัชชนกิจ ต่อจากนั้นแล้วก็จะมีกิจเห็น สมมติเป็นทางตา หลังจากที่สิ่งที่ปรากฏทางตากระทบกับจักขุปสาทรูปแล้ว ภวังค์เกิดดับสืบต่อกันไป ๓ ขณะแล้ว อาวัชชนจิตเกิดทำหน้าที่การงานแล้วเป็นทัสสนกิจ จิตเห็นเกิดขึ้นทำทัสสนกิจ ทัสสนกิจแปลว่า กระทำกิจเห็น ก็เหมือนที่เราเห็นอยู่ตอนนี้ที่เราบอกว่าจิตเห็น เรียกชื่อของจิตเหล่านั้นตามกิจหน้าที่ก็คือทัสสนกิจ ถ้าเป็นการได้ยินเสียงทางหู มีเสียงมากระทบกับโสตปสาทแล้วภวังคจิตเกิดดับสืบต่อกันไป ๓ ขณะเรียบร้อย อาวัชชนะจิตเกิดขึ้น และก็จะมีสวนกิจ จิตเกิดขึ้นธรรมสวนกิจ ก็คือกิจได้ยิน ที่เราบอกว่าจิตได้ยิน ก็เรียกชื่อของจิตนี้ตามกิจหน้าที่ของเขาเรียกว่าสวนกิจ กิจได้ยิน ต่อไปในทวารอื่นๆ ก็ทำนองเดียวกัน ถ้าเป็นทางฆานะทวารใช่ไหม การดมกลิ่นทางฆานะทวาร ก็มีกลิ่นมากระทบกับฆานปสาทรูป ภวังค์ดับสืบต่อกันไป ๓ ขณะ อาวัชชนจิตเกิดขึ้นทำอาวัชชนกิจ แล้วต่อไปก็มีจิตเกิดขึ้นทำ ฆายนกิจ กิจดมกลิ่น นี้ได้เพิ่มมาอีก ๓ กิจแล้วก็คือ ทัสสนกิจ สวนกิจ ฆายนกิจ แล้วกิจที่ทำหน้าที่ลิ้มรสเรียกว่า สายนกิจ กิจลิ้มรส กิจอีกกิจหนึ่งที่ทำหน้าที่กระทบสัมผัสทางกาย เรียกว่าผุสสนกิจ นี้เป็นวิถีจิตลำดับที่ ๒ ต่อมาจากอาวัชชนจิต อาวัชชนจิตเป็นวิถีตอนแรก ใช่ไหมแล้วก็มี เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัสแล้วแต่ว่าเป็นทวารใด นี้เป็นวิถีจิตลำดับที่๒ ซึ่งวิถีจิตลำดับที่๒นี้ ถ้าว่าโดยกิจแล้วมีอยู่ ๕ กิจด้วยกัน ก็คืออะไรบ้างมีทัสสนกิจ กิจเห็น สวนกิจ กิจได้ยิน ฆายนกิจ กิจได้กลื่น สายนกิจ กิจลิ้มรส และ ผุสสนกิจ กิจที่ถูกต้องกระทบสัมผัส

    ท่านอาจารย์ ตอนนี้ทุกคนก็ลืมชื่อของตัวเองหมดแล้วใช่ไหม กำลังมีชื่อของจิตเพราะว่าจริงๆ จิตก็มีมากมาย และถ้าเราไม่ใช้ชื่อ เราก็จะไม่เข้าใจว่าหมายความถึงจิตไหน แล้วก็ทำหน้าที่อย่างไร เพราะฉะนั้นตอนนี้ก็มีเรื่องชื่อของจิต อย่างปฏิสนธิจิต ไม่มีชื่อเลยตอนนั้นยังไม่ได้ตั้งชื่อว่าปฏิสนธิ มีใครจะชื่ออะไร แต่จิตเกิดขึ้นทำกิจนี้จึงชื่อว่าปฏิสนธิจิต และจิตนี้ก็ไม่ใช่มีดวงเดียวประเภทเดียว เพราะว่ากรรมมีมากมาย ก็แล้วแต่ว่าจะเป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม และเป็นไปใน รูป เสียง กลิ่น รส หรือว่าจะเป็นเทพ เป็นพรหมอะไรก็แล้วแต่ เพราะฉะนั้นปฏิสนธิจิตก็มีต่างกันแต่ทุกจิตที่ทำกิจนี้จะเชื่อว่าปฏิสนธิจิต เรียกชื่อตามกิจได้คือ เมื่อทำกิจนี้ก็ชื่อว่าปฏิสนธิจิต นี้ชื่อหนึ่งแล้ว คงไม่ลืม ชื่อที่ ๒ คือ ภวังค์ ตามกิจ จิตที่ทำกิจภวังค์ประเภทเดียวกับจิตปฏิสนธิ เมื่อจิตปฏิสนธิ จิตนั้นก็ทำกิจภวังค์ แต่ไม่ใช่จิตก่อน จิตก่อนดับแล้วดับเลย จิตทุกขณะดับแล้วดับเลยเหมือนไฟ ไม่กลับมาอีกเลยสักขณะเดียว ขณะนี้จิตของทุกคน เกิดมาแล้วก็ไป ไป ไป ไปตลอดไม่มีกลับมา ไม่มีถอยกลับ แต่ว่ามีปัจจัยที่จะทำให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อ เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า เวลาที่ปฏิสนธิจิตเกิดแล้วดับ แม้ว่ากรรมเดียวกัน และก็ปฏิสนธิจิตก็เป็นปัจจัยที่ทำให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น แต่ก็ไม่ใช่จิตเดียวกับปฏิสนธิ เพราะฉะนั้นชื่อของภวังค์ก็มีสองสามชื่อ เช่น ภวังค์ซึ่งเกิดต่อจากปฏิสนธิจิตชื่อว่า ปฐมภวังค์ ปฐมอย่างนครปฐม ปฐมคือแรก ที่หนึ่ง คือภวังคจิตขณะแรกที่เกิดสืบต่อจากปฏิสนธิ จะใช้ชื่อนี้ ถ้าใช้คำว่าปฐมภวังค์ไม่ได้หมายความถึงภวังค์อื่นต่อๆ มา เพราะว่าถ้าศึกษาต่อไปเรื่องของรูป จะทราบได้ว่ารูปใดเกิดพร้อมปฏิสนธิจิต รูปใดเกิดพร้อมกับภวังคจิตที่เป็นปฐมภวังค์ และก็ภวังค์ต่อๆ ไป

    เพราะฉะนั้นก็ขอให้ทราบเรื่องชื่อของจิต ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต และภวังคจิตก็มีภวังค์แรกคือปฐมภวังค์ หลังจากนั้นไม่ต้องนับ เพราะว่าเรานับไม่ถ้วน นับไม่ได้จริงๆ มากมายสักแค่ไหน เหมือนกระแสน้ำ เราก็ไม่สามารถที่จะไปนับอณูได้ ใช่ไหมว่ามีเท่าไร เพราะฉะนั้นกระแสของภวังค์ก็เกิดดับสืบต่อระหว่างที่ไม่ได้เห็นอะไร โลกใดใดไม่ปรากฏเลย กำลังเป็นภวังค์ แต่จะเป็นอย่างนี้ตลอดไปไม่ได้เพราะว่ากรรมจะทำให้มีปสาทรูปเพื่อที่จะรับผลของกรรมโดยจิต ซึ่งเป็นผลของกรรมจะต้องเกิดขึ้นทำกิจเห็น จิตที่เห็น จิตที่ได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตที่ลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทั้งหมดเหล่านี้เป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้นเป็นประเภทวิบากจิต

    หลังจากที่ปฐมภวังค์ดับไป ภวังค์ก็เกิดดับสืบต่อจนกว่าจะถึงกาลซึ่งกรรมอื่นจะให้ผล ทำให้มีการเห็น เลือกไม่ได้ว่าผลของกรรมที่จะเห็น จะเห็นอะไร วันไหน เมื่อไร หรือว่าทำให้มีการได้ยิน ทำให้มีการได้กลิ่น ทำให้มีการลิ้มรส ทำให้มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสนี้เป็นผลของกรรมซึ่งแล้วแต่ว่าจะทำให้รูปใดกระทบวันใด เมื่อไหร่ ก็จะทำให้จิตที่เป็นผลของกรรมเกิดขึ้นเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสบ้าง เพราะฉะนั้นในพระพุทธศาสนา เรื่องของกรรมกับเรื่องผลของกรรมไม่เลื่อนลอยสามารถที่จะแสดงได้ว่าการรับผลของกรรม เริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่ และก็ขณะไหนบ้าง เช่น ขณะปฏิสนธิเป็นการรับผลของกรรมขณะแรกของชาตินี้ จิตที่ทำภวังคกิจก็เป็นการรับผลของกรรมที่จะต้องให้เป็นภวังค์ไปก่อน ยังไม่ถึงกาลที่จะเห็น เห็นไม่ได้ ต้องเป็นภวังค์ ยังไม่ถึงกาลที่กรรมจะให้ผลได้ยินเสียงใดๆ ก็จะทำให้ได้ยินไม่ได้ต้องเป็นภวังค์อยู่ ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นกลิ่น เป็นรส เป็นสิ่งที่กระทบกาย ให้ทราบว่าจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อถึงกาลที่กรรมนั้นที่จะให้ผล จึงจะทำให้จิตนั้นเกิดขึ้นแล้วก็รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่ความละเอียดของพระธรรมแสดงให้เห็นว่าผู้ที่ตรัสรู้จริงๆ รู้ว่า ขณะที่กำลังเป็นภวังค์อยู่จะเปลี่ยนจากอารมณ์ของภวังค์ไปเห็นทันทีไม่ได้ เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าเมื่อเป็นกระแสของภวังค์อยู่ เป็นผลของกรรมหนึ่ง แต่เวลาที่จะเห็น จะเป็นผลของกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิหรือว่าเป็นกรรมอื่นก็ได้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 6
    5 ก.ย. 2567

    ซีดีแนะนำ