สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 033
สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ ๓๓
วันจันทร์ที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๔๕
ท่านอาจารย์ หลังจากที่ปฐมภวังค์ดับไป ภวังค์ก็เกิดดับสืบต่อจนกว่าจะถึงกาลซึ่งกรรมอื่นจะให้ผล ทำให้มีการเห็น เลือกไม่ได้ว่าผลของกรรมที่จะเห็น จะเห็นอะไร วันไหน เมื่อไร หรือทำให้มีการได้ยิน ทำให้มีการได้กลิ่น ทำให้มีการลิ้มรส ทำให้มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส นี้เป็นผลของกรรมซึ่งแล้วแต่ว่าจะทำให้รูปใดกระทบทวารใด เมื่อไร ก็จะทำให้จิตที่เป็นผลของกรรมเกิดขึ้นเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรส บ้าง รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสบ้าง เพราะฉะนั้น ในพระพุทธศาสนา เรื่องของกรรมกับเรื่องผลของกรรมไม่เลื่อนลอย สามารถที่จะแสดงได้ว่าการรับผลของกรรมเริ่มตั้งแต่เมื่อไร และก็ขณะไหนบ้าง เช่น ขณะปฏิสนธิเป็นการรับผลของกรรมขณะแรกของชาตินี้ จิตที่ทำภวังคกิจก็เป็นการรับผลของกรรมที่ว่าจะต้องให้เป็นภวังค์ไปก่อนยังไม่ถึงกาลที่จะเห็น เห็นไม่ได้ ต้องเป็นภวังค์ ยังไม่ถึงกาลที่กรรมจะให้ผลได้ยินเสียงใดๆ ก็จะทำให้ได้ยินไม่ได้ ต้องเป็นภวังค์อยู่ ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นกลิ่น เป็นรส เป็นสิ่งที่กระทบกายให้ทราบว่าจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อถึงกาลที่กรรมนั้นจะให้ผลจึงจะทำให้จิตนั้นเกิดขึ้นแล้วก็รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย
ความละเอียดของพระธรรม แสดงให้เห็นว่าผู้ที่ตรัสรู้จริงๆ รู้ว่า ขณะที่กำลังเป็นภวังค์อยู่จะเปลี่ยนอารมณ์ของภวังค์ไปเห็นทันทีไม่ได้ เป็นไปไม่ได้เลย เพราะว่าเมื่อเป็นกระแสของภวังค์อยู่เป็นผลของกรรมหนึ่ง แต่เวลาที่จะเห็น จะเป็นผลของกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิหรือว่าเป็นกรรมอื่นก็ได้ เช่น เราเกิดมา เราก็ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยอะไร แต่วันหนึ่งที่กรรมให้ผลที่จะทำให้เจ็บป่วย กรรมก็ทำให้เกิดสิ่งนั้นขึ้นได้ เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า เวลาที่กรรมจะให้ผลอย่างอื่นที่ไม่ใช่เป็นภวังค์ จะให้ผลทันทีไม่ได้เพราะกำลังเป็นภวังค์อยู่ จะเปลี่ยนจากอารมณ์ของภวังค์ไปสู่อารมณ์ทางกายทันทีไม่ได้ ต้องมีปัจจัยคืออารัมณปัจจัย คืออารมณ์ที่กระทบทวารหนึ่งทวารใด ถ้าเป็นทาง ๕ ทวาร เราก็คงจะยังไม่กล่าวถึงทางมโนทวาร ซึ่งในคราวก่อนก็ได้กล่าวถึงไปแล้วว่า วิถีจิตแรกที่รู้ต้องเป็นความคิดนึกซึ่งเป็นโลภะความติดข้องในภพชาติ แต่สำหรับในตอนนี้ก็จะขอกล่าวถึงเฉพาะเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ซึ่งจะต้องกระทบกับทวาร ถ้าไม่มีทวาร เสียงจะกระทบอะไรได้ ไม่มีโสตประสาท เสียงก็กระทบไม่ได้ ไม่มีตา สีสันวรรณะก็กระทบไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องของกรรมที่ทำให้มีปสาทรูป เพราะว่าโลกนี้เป็นโลกของสี เป็นโลกของเสียง เป็นโลกของกลิ่น เป็นโลกของรส เป็นโลกของเย็นร้อนอ่อนแข็งที่สามารถที่จะกระทบทวารต่างๆ ได้ มีอย่างอื่นอีกไหมที่จะกระทบทวารทั้ง ๕ นี้ วันหนึ่งๆ นอกจากนี้มีไหมที่จะกระทบทวาร ๕ ทวารนี้ ไม่ได้เลย ๕ ทวารก็ต้องกระทบแต่เฉพาะของทวารนั้นๆ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นกาลซึ่งจะได้ยิน ถึงกาลที่กรรมจะให้ผลต้องได้ยิน
เสียงก็มี ๒ ประเภท เสียงที่น่าพอใจกับเสียงที่ไม่น่าพอใจ ถ้าเป็นเสียงที่ดีน่าพอใจ ภาษาบาลีใช้คำว่าอิฐฐารมณ์ อารมณ์ที่ดี ถ้าเป็นเสียงที่ไม่น่าฟัง ได้ยินแล้วก็ตกใจหวาดกลัว เสียงนั้นก็เป็นอนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ เลือกได้ไหมว่าจะได้ยินเสียงใด ขณะไหน แต่เป็นเรื่องของกรรมที่จะทำให้เสียงหนึ่งเสียงใด ถ้าเป็นผลของกุศลกรรมก็จะทำให้เสียงที่ดีนั้นเกิดกระทบกับโสตปสาท แต่ขณะนั้นจิตเป็นภวังค์ กำลังเป็นภวังค์อยู่ แล้วเสียงกระทบกับโสตปสาท การกระทบของเสียงกับโสตปสาทเป็นปัจจัยให้ภวังค์ไหว หมายความว่าเริ่มที่จะเปลี่ยนจากอารมณ์ที่เป็นอารมณ์ของภวังค์ แต่ยังจะได้ยินทันทีไม่ได้ เราอาจจะคิดว่าพอเสียงกระทบแล้วได้ยิน แต่ความละเอียดก็คือว่าขณะนั้นจิตกำลังเป็นภวังค์อยู่ เพราะฉะนั้นจะได้ยินทันที จะเปลี่ยนอารมณ์ทันทีไม่ได้ จากกรรมที่ให้ผลเป็นภวังค์มาสู่กรรมที่ทำให้จิตได้ยินเกิดขึ้น ขณะที่อารมณ์กระทบชื่อว่าอตีตภวังค์ เพียงแสดงให้รู้ว่า รูปคือจักขุปสาท หรือโสตปสาท รูปใดๆ ทั้งสิ้นซึ่งมีสภาวะจริงๆ จะมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ความสำคัญก็คือว่าการที่ได้ยินจะเกิดขึ้นต้องเร็ว แล้วต้องเป็นรูปที่ยังไม่ดับไปทั้งปสาทรูป และรูปที่กระทบด้วยทั้ง ๒ อย่างต้องยังไม่ดับ ถ้ายังไม่เกิดก็กระทบไม่ได้ ถ้าดับไปแล้วก็ไม่สามารถจะรู้ได้ เพราะฉะนั้นต้องเป็นในขณะที่ทั้ง ๒ อย่าง คือในขณะที่ปสาทรูป และสิ่งที่กระทบปสาทรูปนั้นๆ ทั้ง ๒ ยังไม่ดับ เพราะฉะนั้นขณะที่กระทบ รูปจะมีอายุ ๑๗ ขณะ วิธีที่จะรู้ว่ารูปจะดับเมื่อไร ขณะไหนก็คือว่าขณะที่รูปเกิด และกระทบกับปสาทรูปเป็นอตีตภวังค์ หมายความว่าภวังค์นั้นก็มีอารมณ์เหมือนเดิม ไม่ได้มีอารมณ์ตามที่กระทบ ยังไม่สามารถที่จะรู้อารมณ์ใหม่ได้ เมื่ออตีตภวังค์ดับ รูป เป็น ๑ ขณะแล้ว ทั้งปสาทรูป และก็เสียงที่เกิด ผ่านเป็น ๑ ขณะ คือเป็นขณะอตีตภวังค์
เมื่ออตีตจากภวังค์ดับไปก็เป็นปัจจัยให้ภวังค์ต่อไปไหวเป็นภวังคจลนะ เมื่อภวังคจลนะดับไป จะมีภวังค์อีกขณะหนึ่งชื่อว่าภวังคุปัจเฉทะ หมายความว่าสิ้นสุดกระแสของภวังค์ ต่อจากนั้นจะเป็นภวังค์อีกไม่ได้ แสดงว่าต่อไป จิตจะต้องรู้อารมณ์ที่กระทบแล้ว เพราะเหตุว่าขณะที่อารมณ์กระทบปสาทรูปเป็นอตีตภวังค์ ขณะหนึ่งดับไป ขณะที่๒ ภวังคจลนะ ขณะที่ ๓ ภวังคุปัจเฉทะ ทั้งอตีตภวังค์ ภวังคจลนะ และภวังคุปัจเฉทะด้วย มีเสียงเป็นอารมณ์หรือเปล่า อตีตภวังค์จะชื่ออะไรก็ตามแต่ ภวังคจรนะที่เกิดสืบต่อ แล้วก็ภวังคุปัจเฉทะ มีเสียงเป็นอารมณ์หรือเปล่า ถ้าเป็นภวังคจิต ไม่รู้อารมณ์อื่นเลยทั้งสิ้น ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่รู้อารมณ์ของโลกนี้ เหมือนกับที่กำลังหลับสนิท แต่ความรวดเร็วของสิ่งที่กระทบปสาทรูป ต้องเป็นไปตามลำดับคือว่าทันทีที่กระทบ จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ใหม่ไม่ได้ เพราะว่าขณะนั้นกำลังเป็นภวังค์อยู่ แต่ภวังค์ที่ไม่มีชื่อว่าอตีตภวังค์ก็แสดงว่าภวังค์นั้นไม่ได้มีอารมณ์กระทบทวาร แต่เวลาที่อารมณ์กระทบทวารมีชื่อให้รู้ว่าอารมณ์กระทบทวารใด ภวังค์ที่ถูกกระทบในขณะนั้นด้วยก็คืออตีตภวังค์ และเมื่ออตีตภวังค์ดับแล้วภวังค์ต่อไปก็มีชื่ออีกชื่อหนึ่ง คือภวังคจลนะ เริ่มที่จะทิ้งอารมณ์ของภวังค์ แต่ตราบใดที่เป็นภวังค์ต้องทราบว่าไม่รู้อารมณ์ทางตาหู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่รู้อารมณ์ใดๆ เลย โลกไม่ปรากฏ เสียงไม่ปรากฏ สีไม่ปรากฏ คิดนึกไม่มีทั้งหมดระหว่างที่เป็นภวังค์ แล้วก็อีกขณะหนึ่ง คือหลังจากที่ภวังคจลนะดับไปแล้ว ก็เป็นภวังคุปัจเฉทะ หมายความว่าสิ้นสุดกระแสของภวังค์ ถ้าเป็นภวังคุปเฉทะแล้วจะกลับเป็นภวังค์อีกได้ไหม ไม่ได้ ถ้าเป็นอตีตภวังค์แล้วก็อาจจะเป็นอตีตภวังค์หลายๆ ครั้งอย่างเวลาที่กระทบหลายๆ ครั้งแล้วเราก็ไม่รู้ แล้วก็ไม่ตื่นก็ได้ แต่ถ้าเป็นภวังคุปัจเฉทะแล้วจะเป็นภวังค์ต่อไปไม่ได้ จิตที่เกิดต่อจากภวังค์ทำกิจที่ไม่ใช่ภวังค์แล้ว ต้องทำกิจอื่นที่ไม่ใช่ภวังค์ กิจนั้นก็คือกิจที่รู้สึกว่ามีอารมณ์กระทบ คำภาษาบาลี ถ้าแปลเป็นภาษาไทย เราก็อาจจะคิดยาก เพราะว่าแปลว่ารำพึงถึงอารมณ์คือ อาวัชชนะกิจ จิตที่ทำกิจนี้ อาวัชชนะกิจชื่อว่าอาวัชชนะจิต เรียกชื่อของจิตตามกิจ วัชชนะกิจคือกิจที่รำพึงถึงอารมณ์แต่ความจริงก็คือสภาพที่แสนเร็วที่เพียงรู้ว่าอารมณ์กระทบ ไม่ต้องรำพึงอย่างภาษาไทย ถ้าภาษาไทยรำพึงนี้ยาวมาก แต่ว่ารำพึงของขณะจิตเดียว ลองคิดดู ไม่ใช่รำพึง แต่รู้สึกตัวว่ามีอารมณ์กระทบ แต่ขณะนั้นถ้าเป็นสิ่งที่กระทบตา อาวัชชนะจิตไม่เห็น ถ้าเป็นเสียงกระทบหู อาวัชชนะจิตไม่ได้ยิน ถ้าเป็นกลิ่นที่กระทบจมูก อาวัชชนะจิตไม่ได้กลิ่น ถ้าเป็นรสที่กระทบลิ้น อาวัชชนะจิตก็ไม่ได้ลิ้มรสนั้น ถ้าเป็นสิ่งที่กระทบกาย อาวัชชนะจิตขณะนั้นก็ไม่ได้รู้ว่าสิ่งนั้นเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว เพราะเพิ่งเปลี่ยนจากภวังค์ เป็นการรู้สึกตัวว่ามีอารมณ์กระทบเท่านั้น นี้เร็วมาก ไม่ให้มีจิตนี้ได้ไหม ให้เห็นเลย ให้ได้ยินเลยได้ไหม ไม่ได้ เพราะเหตุว่าใครจะไปบังคับจิตได้ ไม่มีใครไปทำอะไรกับจิตได้ เป็นจิตตนิยามะ ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นเป็นไปตามสภาพ ตามธรรมเนียม ตามปัจจัยต่างๆ ที่จะต้องเป็นอย่างนั้น
เพราะฉะนั้นระหว่างภวังคจิตกับจิตเห็นจะต้องมีจิตที่ทำอาวัชชนะกิจเกิดก่อน แล้วก็เรียกจิตตามกิจก็คือ เมื่อจิตนี้ทำอาวัชชนะกิจก็ชื่อว่าอาวัชชนะจิต คราวก่อนเราได้พูดถึงเรื่องชาติของจิตแล้วใช่ไหม ว่าจิตมีกี่ชาติ ๔ ชาติ ย่อจากชาติจีนไทยอะไรมาทั้งหมดไม่มีเลย นั่นเป็นสมมติบัญญัติ แต่ชาติของจิตนี้มีจริงๆ คือจิตเกิดขึ้นเป็นกุศล ชั่วขณะที่เป็นกุศล จะเปลี่ยนให้จิตเป็นอย่างอื่นไม่ได้ต้องเป็นกุศลเพราะว่าเกิดดับเร็วมาก ถ้าจิตเกิดขึ้นเป็นอกุศลก็ต้องเป็นอกุศล จิต ๒ ชาติ กุศล และอกุศล เป็นเหตุ ให้ผลคือทำให้จิตที่เป็นผลของกุศล และอกุศลนั้นเกิดขึ้นเป็นวิบากจิต แล้วก็อีกชาติหนึ่งคือ กิริยา จิตที่ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล และไม่ใช่ผลคือไม่ใช่วิบาก ไม่ใช่ผลของกุศล และอกุศลด้วย เราพูดถึงกิริยาจิต อาวัชชนะจิตเป็นกิริยาจิต ไม่ใช่วิบากจิต ปฏิสนธิจิตเป็นวิบาก ภวังคจิตเป็นวิบาก จิตเห็นเป็นวิบาก แต่อาวัชชนะจิตที่ทำอาวัชชนะกิจ ไม่ใช่วิบากจิต แต่เป็นกิริยากิจ ซึ่งจะต้องเกิดทุกครั้งหลังจากที่ภวังคุปัจเฉทะดับ แล้วก็เริ่มที่จะรับรู้อารมณ์ใหม่ก็จะต้องมีอาวัชชนะจิตเกิด อาวัชชนะจิตไม่ใช่ผลของกรรม ไม่เป็นกุศลวิบาก อกุศลวิบาก แต่เป็นกิริยาเพราะว่าเกิดขึ้นเพียงทำกิจรู้ว่าอารมณ์กระทบแล้วหลังจากนั้นวิบากจิตจึงจะเกิดขึ้นเห็น หรือได้ยิน หรือได้กลิ่น หรือลิ้มรสหรือรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส นี้เป็นเหตุที่เราจะได้รู้ว่าแม้ว่าเราจะไม่ใช่พระอรหันต์ แต่เราก็มีกิริยาจิต ๒ ดวง ๒ ประเภทคือ ปัญจทวาราวัชชนะจิต ใช้คำว่าปัญจะ กับทวาร กับอาวัชชนะ รวมกันก็คือ ปัญจทวาราวัชชนะจิต จิตที่รู้อารมณ์ที่กระทบ ๕ ทวาร ขณะใดที่รูปกระทบตาหลังจากที่ภวังคุปัจเฉทะดับ จิตที่ทำอาวัชชนะกิจจะเรียกอีกชื่อหนึ่งก็ได้ถ้าไม่เรียกว่าปัญจทวาราวัชชนะจิต จะเรียกเฉพาะทวารไป คือเรียกว่าจักขุทวาราวัชชนะจิตก็ได้ ถ้าเป็นทางหูก็ชื่อว่าโสตะทวาราวัชชนะจิต ถ้าเป็นทางจมูกก็เรียกว่าฆานะทวาราวัชชนะจิต ถ้าเป็นทางลิ้นก็เรียกว่าชิวหาทวาราวัชชนะจิต ถ้าเป็นทางกายก็เรียกว่ากายทวาราวัชชนะจิต นี้ก็เป็น ๕ กิจ รวมกันเลยก็ได้ เรียกว่าปัญจทวาราวัชชนะจิต จิตหนึ่งดวง หนึ่งประเภทเท่านั้นทำกิจนี้ ทำ ๕ ทวาร จิตเห็นทำทวารเดียว จิตได้ยินทำทวารเดียว จิตได้กลิ่นทำทวารเดียว จิตลิ้มรสทำทวารเดียว จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสก็ทำทวารเดียว แต่จิตนี้เกิดได้ ๕ ทวาร
เพราะฉะนั้นจะเห็นความละเอียดของจิตว่าจิตบางชนิดทำกิจเดียว แต่ทำได้หลายทวาร หรือจิตบางชนิดก็ทำได้หลายกิจก็แล้วแต่ประเภทของจิตนั้นๆ แต่ก็ให้ทราบว่าในจิต ๔ ชาติ เรามีครบ คือมีทั้งกุศล อกุศล วิบาก และกิริยาจิต แต่กิริยาที่ทำกิจอาวัชชนะไม่ใช่จำเพาะเจาะจงเฉพาะผู้ที่เป็นพระอรหันต์หรือไม่ใช่พระอรหันต์ คือก่อนเห็นต้องมีจิตเกิดขึ้นทำกิจนี้ ไม่ว่าในภพภูมิไหนทั้งสิ้น
เทวดามีจักขุทวาราวัชชนะจิตไหม (มี) รูปพรหม พรหมที่มีรูปก็ยังมีตา และก็มีหู มีอาวัชชนะจิตไหม (มี) มีปัญจทวาราวัชชนะจิต สำหรับพรหมนี้ไม่ครบทั้ง ๕ ทาง แต่สำหรับในมนุษย์ และสวรรค์ หรือว่าในภูมิที่มีครบ ก็ได้ทั้ง ๕ ทาง
อีกจิตหนึ่งที่ทำอาวัชชนะกิจคือ มโนทวาราวัชชนะจิต คือถ้าจิตกำลังเป็นภวังค์อยู่ แล้วก็จะให้เปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่นทันทีไม่ได้ จะต้องมีจิตซึ่งเป็นกิริยาจิตเกิดขึ้นทำกิจ"สักแต่ว่า" เท่านั้น หมายความว่าเป็นหน้าที่ของจิตนี้ที่จะต้องรู้ว่ามีอารมณ์กระทบ ทางตา หู จมูก ลิ้น กายเป็นปัญจทวารวัชชนะจิตหนึ่งประเภทหรือหนึ่งดวง สำหรับทางใจ ที่ใช้คำว่าทางใจหมายความว่าไม่ได้มีสีสันวรรณะกระทบตาเลย ไม่มีเสียงกระทบหู ไม่มีกลิ่นกระทบจมูก ไม่มีรสกระทบลิ้น ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดกระทบกายประสาทแต่ว่าใจคิดนึก เวลาไหนที่เห็นได้ชัด คิดนึกนี้ โดยไม่มีอะไรกระทบ ไม่มีอะไรมาให้เห็น ไม่มีอะไรมาให้ได้ยินก็ตามแต่จิตก็คิดนึก ตอนไหนที่เห็นได้ชัด ตอนฝัน เป็นภวังค์อยู่ ไม่รู้ ไม่คิด ไม่อะไรทั้งหมด แต่เมื่อจะฝันคือคิดทางใจก็ต้องมีจิตที่ทำอาวัชชนะกิจ โดยที่ว่าเมื่อไม่มีอารมณ์กระทบกับทวารจึงไม่มีอตีตภวังค์ เพราะคำว่าอตีตภวังค์หมายถึงขณะที่รูปกระทบทางหนึ่งทางใดใน ๕ ทวารซึ่งจะแสดงว่าอายุ ๑๗ ขณะจะไปดับเมื่อไร แต่ว่าตอนนี้ก็เพียงแต่เริ่มที่จะกล่าวถึงกิจที่ไม่ใช่ภวังคกิจ และก่อนที่จะมีการทำกิจอื่นก็จะต้องเป็นอาวัชชนะกิจ
เพราะฉะนั้นอาวัชชนะกิจไม่ว่าจะเป็นทางปัญจทวารหรือทางมโนทวาร เป็นวิถีจิตแรก เราทราบแล้วว่าปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิต ไม่ใช่วิถีจิต เพราะเหตุว่าไม่ได้อาศัยทวารหนึ่งทวารใดเกิดเลย กรรมก็ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดรู้อารมณ์ ภวังคจิตก็ไม่ต้องอาศัยทวาร ไม่มีอะไรปรากฏแล้วจะต้องไปอาศัยทวารหนึ่งทวารได ไม่ฝัน ไม่คิดทั้งนั้นก็ไม่อาศัยทวาร เพราะฉะนั้นทวารกับวิถีจิตจึงต้องเกี่ยวข้องกัน คือเวลาที่เป็นวิถีจิตจะต้องอาศัยทวารหนึ่งทวารใด วิถีคือจิตที่เกิดดับสืบต่อรู้อารมณ์เดียวกันแม้แต่ว่าถ้าเป็นทางตา จิตที่เป็นวิถีจิตจะมีจิตอะไรบ้าง ต่อไปก็จะทราบว่าทางตาที่กำลังเห็นขณะนี้ มีวิถีจิตกี่วิถี อะไรบ้าง ทางหูที่กำลังได้ยินก็จะมีวิถีจิตอะไรบ้าง ไม่ใช่เพียงแต่เฉพาะวิถีเดียว เพราะฉะนั้นขณะใดที่เป็นวิถีจิตขณะนั้นต้องอาศัยทวารหนึ่งทวารใดใน ๖ ทวาร จิตจะต้องเกิดสืบต่อรู้อารมณ์จึงจะเป็นวิถีจิต คือ รู้อารมณ์ที่ไม่ใช้อารมณ์ของภวังค์ เมื่อจิตไม่เป็นภวังค์ต้องเป็นวิถีจิต ปัญจทวาราวัชชนะจิตเป็นวิถีจิตหรือไม่ (เป็น) เพราะไม่ใช่ภวังค์ อะไรก็ตาม ขณะใดที่ไม่ใช่ภวังค์เป็นวิถีจิตหมดเลย เพราะฉะนั้นปัญจทวาราวัชชนะจิตกล่าวได้ว่าเป็นวิถีจิตแรก ถ้าจะรู้ว่าวิถีจิตคืออะไร เมื่อไรเป็นวิถีจิตแรกก็คือปัญจทวาราวัชชนะจิตเป็นวิถีจิตแรกทางปัญจทวาร มีวิถีจิตแรกอีกไหมนอกจากปัญจทวาราวัชชนะจิต ก็มีมโนทวาราวัชชนะจิตเป็นวิถีจิตแรกทางใจ เพราะฉะนั้นวิถีจิตแรกก็จะมีสำหรับ ๕ ทวารคือ ปัญจทวาราวัชชนะ สำหรับมโนทวารคือมโนทวาราวัชชนะ
ปัญจทวาราวัชชนะกับมโนทวาราวัชชนะนี้ทำกิจเดียวกันคืออาวัชชนะกิจ แต่ต่างประเภท เพราะเหตุว่ามโนทวาราวัชชนะไม่ได้ทำอาวัชชนะกิจทางปัญจทวาร และปัญจทวาราวัชชนะจะมาทำอาวัชชนะกิจทางมโนทวารก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าปัญจทวาราวัชชนะจิตจะต้องต่อเมื่ออารมณ์กระทบประสาทรูป ต้องเป็นรูปที่กระทบทางตาหรือหู จมูก ลิ้น กาย ใจเท่านั้น ปัญจทวาราวัชชนะจิตจึงจะเกิด
แต่ถ้าไม่ใช่อารมณ์คือสี เสีย งกลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ไม่ได้กระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ปัญจะทวาราวัชชนะจิตเกิดไม่ได้ ไม่ใช่หน้าที่ของปัญจทวาราวัชชนะจิต ถ้าเป็นการคิดนึกหรือการฝัน ต้องเป็นหน้าที่ของมโนทวาราวัชชนะจิต เป็นวิถีจิตแรก เป็นชีวิตประจำวันหรือเปล่า ตอนนี้เปลี่ยนชื่อแล้วมาเป็นชื่อของจิตต่างๆ ชื่อคนในโลกก็มีมากมาย ทั้งภาษาไทยภาษาจีน ภาษาต่างๆ เราก็ยังพอจำได้ ถ้าจะบอกว่าจำชื่อเหล่านี้ไม่ได้ เป็นไปได้ไหมแค่ไม่กี่ชื่อ ปฏิสนธิก็เคยได้ยินบ่อยๆ ภวังคจิตก็บ่อย ตอนนี้ก็เพิ่มมาอีกหนึ่งคืออาวัชชนกิจ ซึ่งมีจิตที่ทำกิจนี้ ๒ อย่างหรือ ๒ ประเภท คืออย่างหนึ่ง ดวงหนึ่ง ประเภทหนึ่ง ทำกิจได้ ๕ ทวาร เป็นปัญจทวาราวัชชนะจิต ชื่อก็ง่าย ปัญจทวาร และอาวัชชนะเท่านั้น ปัญจทวาราวัชชนะจิต ถ้าเป็นทางใจก็มโนทวาราวัชชนะจิต ทั้งสองเป็นกิริยาจิต คนที่ไม่ใช่พระอรหันต์จะมีกิริยาจิตเพียง ๒ ดวงนี้เท่านั้น แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์ จิตที่เคยเป็นกุศล และอกุศลทั้งหมดเป็นกิริยาจิต จะไม่เป็นกุศล และไม่เป็นอกุศลอีกต่อไป
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 001
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 002
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 003
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 004
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 005
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 006
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 007
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 008
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 009
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 010
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 011
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 012
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 013
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 014
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 015
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 016
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 017
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 018
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 019
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 020
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 021
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 022
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 023
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 024
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 025
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 026
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 027
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 028
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 029
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 030
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 031
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 032
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 033
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 034
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 035
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 036
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 037
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 038
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 039
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 040
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 041
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 042
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 043
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 044
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 045
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 046
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 047
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 048
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 049
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 050
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 051
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 052
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 053
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 054
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 055
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 056
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 057
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 058
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 059
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 060