สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 034
สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ ๓๔
วันจันทร์ที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๔๕
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นทวารกับวิถีจึงต้องเกี่ยวข้องกัน คือเวลาที่เป็นวิถีจิตจะต้องอาศัยทวารหนึ่งทวารใด วิถีจิตคือจิตที่เกิดดับสืบต่อรู้อารมณ์เดียวกันแล้วแต่ว่าถ้าเป็นทางตา จิตที่เป็นวิถีจิตได้จะมีจิตอะไรบ้าง ต่อไปก็จะทราบว่าทางตาที่กำลังเห็นขณะนี้มีวิถีจิตกี่วิถี อะไรบ้าง ทางหูที่กำลังได้ยินก็จะมีวิถีจิตอะไรบ้าง ไม่ใช่เพียงแต่เฉพาะวิถีเดียว เพราะฉะนั้นขณะใดที่เป็นวิถีจิตขณะนั้นต้องอาศัยทวารหนึ่งทวารใดใน ๖ ทวาร จิตจะต้องเกิดสืบต่อรู้อารมณ์จึงจะเป็นวิถีจิตรู้อารมณ์ที่ไม่ใช้อารมณ์ของภวังค์ เมื่อจิตไม่เป็นภวังค์ต้องเป็นวิถีจิต
ปัญจทวาราวัชชนะจิตเป็นวิถีจิตหรือไม่ (เป็น) เพราะไม่ใช่ภวังค์ อะไรก็ตามขณะใดที่ไม่ใช่ภวังค์เป็นวิถีจิตหมดเลย เพราะฉะนั้นปัญจทวาราวัชชนะจิตกล่าวได้ว่าเป็นวิถีจิตแรก ถ้าจะรู้ว่าวิถีจิตคืออะไร เมื่อไร เป็นวิถีจิตแรกก็คือปัญจทวาราวัชชนะจิต มีวิถีจิตแรกอีกไหมนอกจากปัญจทวาราวัชชนะจิต ก็มีมโนทวาราวัชชนะจิตเป็นวิถีจิตแรกทางใจ เพราะฉะนั้นวิถีจิตแรกก็จะมีสำหรับ ๕ ทวารคือปัญจทวาราวัชชนะ สำหรับมโนทวารคือมโนทวาราวัชชนะ ปัญจทวาราวัชชนะกับมโนทวาราวัชชนะทำกิจเดียวกันคืออาวัชชนะกิจ แต่ต่างประเภท เพราะเหตุว่ามโนทวาราวัชชนะไม่ได้ทำอาวัชชนะกิจทางปัญจทวาร แล้วปัญจทวาราวัชชนะจะมาทำอาวัชชนะกิจทางมโนทวารก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าปัญจทวาราวัชชนะจิตจะต้องต่อเมื่ออารมณ์กระทบปสาทรูป ต้องเป็นรูปที่กระทบทางตาหรือหู จมูก ลิ้น กาย ใจ เท่านั้น ปัญจทวาราวัชชนะจิตจึงจะเกิด แต่ถ้าไม่ใช่อารมณ์คือสี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ไม่ได้กระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ปัญจทวาราวัชชนะจิตเกิดไม่ได้ ไม่ใช่หน้าที่ของปัญจทวาราวัชชนะจิต ถ้าเป็นการคิดนึกหรือการฝัน ต้องเป็นหน้าที่ของมโนทวาราวัชชนะจิต เป็นวิถีจิตแรก เป็นชีวิตประจำวัน คราวนี้เปลี่ยนชื่อแล้ว มาเป็นชื่อของจิตต่างๆ ชื่อคนในโลกก็มีตั้งมาก ทั้งภาษาไทย ภาษาจีน ภาษาต่างๆ เราก็ยังพอจำได้ ถ้าก็จะบอกว่าจำชื่อเหล่านี้ไม่ได้ เป็นไปได้ไหม แค่ไม่กี่ชื่อ ปฏิสนธิก็เคยได้ยินบ่อยๆ ภวังคจิตก็บ่อย ตอนนี้ก็เพิ่มมาอีกหนึ่งคืออาวัชชนะกิต ซึ่งมีจิตที่ทำกิจนี้ ๒ อย่าง หรือ ๒ ประเภท คืออย่างหนึ่ง ดวงหนึ่ง ประเภทหนึ่ง ทำกิจได้ ๕ ทวาร เป็นปัญจทวารวัชชนะจิต ชื่อก็ง่าย ปัญจทวาร และอาวัชชนะเท่านั้น ปัญจทวาราวัชชนะจิต ถ้าเป็นทางใจก็มโนทวาราวัชชนะจิตทั้ง ๒ เป็นกิริยาจิต คนที่ไม่ใช่พระอรหันต์จะมีกิริยาจิตเพียง ๒ ดวงนี้เท่านั้น แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์ จิตที่เคยเป็นกุศล และอกุศลทั้งหมดเป็นกิริยาจิต จะไม่เป็นกุศล และไม่เป็นอกุศลอีกต่อไป เพราะเหตุว่าถ้าเป็นกุศลหรือเป็นอกุศลต้องให้ผล คือว่าต้องทำให้เป็นวิบากเกิดขึ้นไม่สิ้นสุด จากชาตินี้ ผลที่จะเกิดจากกุศลกรรม และกุศลกรรม อาจจะเป็นในชาตินี้ก็ได้ หรือว่าอาจจะเป็นในชาติหน้าก็ได้ หรือว่าแม้ไม่ใช่ชาตินี้ และชาติหน้าก็ยังชาติต่อๆ ไปอีกนับไม่ถ้วน เช่น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประชวรก็เป็นผลจากอดีตกรรมที่ได้กระทำแล้ว ทรงถูกท่านพระเทวทัตกลิ้งหินมาถูกพระบาท ขณะนั้นก็เป็นผลของอดีตกรรมที่ได้กระทำแล้ว เพราะฉะนั้นแต่ละคนไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าทำกรรมอะไรไว้มากน้อยแค่ไหน ทั้งกุศลกรรม และอกุศลกรรม เพราะเหตุว่ากรรมเป็นสภาพที่ปกปิด ขณะที่ทำกรรมรู้ไหมว่าจะให้ผล ถ้าทำไม่ดีเป็นอกุศล กำลังทำอกุศล รู้ไหมว่ากรรมนี้จะต้องให้ผลเมื่อไรก็ตามแต่ก็ต้องให้ผล แล้วเวลาที่ผลของกรรมเกิดแล้ว เช่นขณะนี้ที่กำลังเห็น เป็นผลของกรรมชาติไหนก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นกรรมจึงเป็นสภาพที่ปกปิดทั้งขณะที่กระทำกรรม และขณะที่กำลังรับผลของกรรมด้วย แต่จิตก็จะต้องเป็นอย่างนี้ ถ้าเกิดขึ้นแล้วก็เป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ซึ่งจะต้องเกิดดับสืบต่อแล้วก็ทำหน้าที่วนเวียนไป แม้ในชาตินี้ก็เป็นสังสารวัฏฏ์คือทางตาบ้าง ทางหูบ้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง ใจบ้าง ไม่หยุด มีใครจะบังคับให้จิตดับแล้วไม่เกิดอีกได้ไหม ไม่ได้เลย ก็เป็นเรื่องที่มีเหตุปัจจัย ถ้าจิตดับแล้วไม่เกิดอีกก็คือเมื่อถึงความเป็นพระอรหันต์ดับกิเลสหมด แต่ใครก็ตามที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ เป็นอะไร สัมภเวสี ก็คงไม่ลืม
อ. กฤษณา ขอโอกาสสนทนากับท่านอาจารย์ถึงเรื่องของอาวัชชนะจิต ซึ่งเราไม่สามารถที่จะทราบได้ ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงแสดงไว้ว่า ในชีวิตประจำวันจริงจริงแล้วก็มีปัญจทวาราวัชชนะจิต มีมโนทวาราวัชชนะจิตเกิดขึ้น เราไม่สามารถที่จะทราบได้เลยถ้าผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงแสดงไว้ ซึ่งการรู้อารมณ์ของจิต แม้แต่อารมณ์เดียวกันก็มีวิถีจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์หลายๆ วิถีจิต เช่น รูปารมณ์หรือสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอารมณ์ของวิถีจิตหลายๆ วิถีจิตที่เกิดขึ้นรู้ ก็ไม่ได้รู้ในในลักษณะอย่างเดียวกันอย่าง เช่น จักขุวิญญาณหรือจิตเห็น รู้อารมณ์โดยเห็นจริงๆ แต่ว่าจักขุทวาราวัชชนะวิถีจิตก็รู้สิ่งที่ปรากฏทางตาแต่ก็ไม่เห็น ตรงนี้เรียกว่าจะแปลกหรืออัศจรรย์หรืออย่างไรที่ว่า ความต่างกันของการรู้อารมณ์แม้รู้อารมณ์เดียวกันก็รู้โดยอาการที่ต่างกัน
ท่านอาจารย์ ขณะที่เป็นภวังค์อยู่นี้ รู้สึกตัวไหม
อ. กฤษณา ก็ไม่รู้สึกตัว
ท่านอาจารย์ ไม่รู้สึกตัว แล้วก็จะรู้สึกตัวขึ้นหมายความว่าขณะนั้นต้องไม่ใช่ภวังค์
อ. กฤษณา ไม่ใช่ภวังค์เพราะว่าก็เปลี่ยนจากอารมณ์ที่จะรู้แล้วใช่ไหม จากอารมณ์ของภวังค์ที่ภวังค์เคยรู้ก็เป็นอารมณ์หนึ่งแล้วทีนี้จะมารู้อารมณ์ใหม่ที่ปรากฏทางตาก็คนละอารมณ์
ท่านอาจารย์ หลับๆ อยู่ รู้สึกตัวสักนิดหนึ่งได้ไหม
อ. กฤษณา หลับๆ อยู่ถ้ารู้สึกตัวก็หมายความว่าต้องต้องตื่นขึ้น แม้จะสะลึมสะลืออย่างไรก็รู้สึก
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจิตที่ไม่ใช่ภวังค์คือจิตที่เริ่มรู้สึกตัว แต่ยังไม่รู้ว่าอะไรได้หรือไม่
อ.กฤษณา ยังไม่รู้ว่าอะไรหมายความว่าถ้าจะเห็นก็ยังไม่เห็น แต่รู้แล้วว่ามีอารมณ์อย่างนั้น
ท่านอาจารย์ ก็รู้สึกตัวขึ้นมานิดหนึ่งเท่านั้น แต่ยังไม่รู้ว่าอะไร เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่านี้เป็นเรื่องหยาบมาก แต่ว่าจิตเกิดดับเร็วกว่านั้นจนกระทั่งไม่มีใครสามารถที่จะรู้เลย เร็วยิ่งกว่าเราคิด เพราะฉะนั้นที่กล่าวนี้ก็เพียงแต่ว่าพอจะเข้าใจได้ไหมว่า กำลังหลับสนิทแล้วก็อาจจะรู้สึกตัวขึ้นมานิดหนึ่งแต่ยังไม่รู้ว่าอะไรก็ได้ แต่ว่าตามความเป็นจริงที่เราพอจะรู้สึกตัวได้ก็คือว่าถ้าเรานอนหลับ แล้วเกิดกระทบอะไรสักอย่างหนึ่งนี้เกิดไปแล้ว หมายความว่าวิถีจิตเกิดไปจนกระทั่งรู้ว่ามีอ่อนหรือแข็ง เย็น หรือร้อน แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ยังไม่รู้ว่าสิ่งที่กระทบเรานั้นเป็นอะไร จะเป็นแมลงหรือว่าจะเป็นขนมหรือจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ เราก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้เพราะเหตุว่า ถ้าจะรู้ได้ในห้องมืดที่กำลังนอน อยากรู้ไหมว่าเอ๊ะ อะไร พอตื่นขึ้นมามีอะไรกระทบนิดหนึ่งอยากรู้ไหมหรือไม่รู้ไม่เป็นไร กระทบก็กระทบไป แต่ถ้าอยากรู้ เราจะทำอย่างไร เราก็ต้องเปิดไฟ เราถึงจะมองเห็นได้ นี้ยังหยาบมากเลย เพียงแต่ว่าก่อนที่จะรู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด จิตกำลังเป็นภวังค์ไม่รู้เลยแล้วก็เพียงแต่จะรู้สึกตัวสักนิดเดียว ก่อนที่จะเห็น ก่อนที่จะได้ยิน ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ว่าเราสามารถที่จะประจักษ์ได้ แต่ผู้ที่ประจักษ์ได้ทรงแสดงไว้ เพื่ออะไร เพื่อให้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงในความเป็นอนัตตา ในความเป็นธรรม ในความเป็นจิต เจตสิก รูปซึ่งมีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับหมด ไม่เหลืออะไรเลย จิตเจตสิกเมื่อวานไม่เหลือ เมื่อสักครู่นี้ก็ไม่เหลือ รูปเมื่อสักครู่นี้ก็ไม่เหลือ ๑๗ ขณะจิตนี้เร็วมาก ถ้าศึกษาต่อไปจะทราบว่าจิตที่เห็นกับจิตที่ได้ยิน มีจิตอื่นเกิดคั่นเกิน ๑๗ ขณะจิต และรูปรูปหนึ่งมีอายุแค่ ๑๗ ขณะจิตที่เกิดดับ เพราะฉะนั้นขณะระหว่างเห็น และได้ยิน รูปที่เกิดแล้วดับแล้ว จะเร็วสักแค่ไหน
อ. กฤษณา ความรวดเร็วของจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์อย่างขณะนี้ ทั้งเห็น ทั้งได้ยิน ดูเหมือนว่าจะเป็นขณะเดียวกัน แต่ว่าความเกิดดับรวดเร็วของจิตเร็วมากแล้วทำไมยังมีการนับได้ว่าเป็นขณะ และยังมีขณะย่อยๆ อีก
ท่านอาจารย์ ใครนับ
อ. กฤษณา พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ท่านอาจารย์ ยังมีปัญหาไหมถ้าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เรามองเห็นดาวบนฟ้า เรานับได้ไหม แต่ว่าใครนับได้ และก็เป็นเรื่องที่ง่ายมากสำหรับบุคคลที่มีปัญญาถึงระดับนั้น ก็เป็นปัญญาที่เทียบระดับกันไม่ได้เลย แต่ก็เป็นบุญของทุกท่านที่ได้สะสมมาแล้วที่มีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรมจากผู้ที่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งไม่ได้จะเกิดขึ้นบ่อย นานแสนนานกว่าจะได้เกิดขึ้นแต่ละพระองค์
ผู้ฟัง เมื่อสักครู่ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึงเรื่องฝัน แต่บางครั้งก็ลืม สิ่งนี้ก็คงจะจริงเพราะว่าเราฝันไปตอนกลางคืนแต่จะมารู้บางทีสายแล้วก็นึกว่าเราฝัน นี้ลักษณะอย่างนี้จะเป็นเหมือนกับว่าในชีวิตประจำวัน เราก็คิดอะไรมากมายแต่เราไม่รู้
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ขณะนี้คิดหรือเปล่า เห็นหรือไม่ แค่ถามนี้ก็งง คิดหรือเปล่าหรือคิดเรื่องอะไรก็ไม่รู้ใช่ไหม แต่จริงๆ คิดแน่นอน แต่ไม่รู้ว่าคิดอะไร
ผู้ฟัง ถ้าจะรู้ว่าคิด กล่าวกันว่าสติต้องเกิดหรืออะไรทำนองนั้น
ท่านอาจารย์ ต้งรู้ลักษณะของสติว่า สติเป็นโสภณเจตสิก ต้องเกิดกับโสภณจิตคือจิตที่ดีงามเท่านั้น ถ้าเราคิดเรื่องอื่นใดก็ตามด้วยอกุศลจิต ขณะนั้นไม่ใช่สติ ถ้าศึกษาเรื่องของเจตสิกก็จะเห็นความจริงในชีวิตประจำวันของเราละเอียดขึ้นอีกมากเพราะว่า โดยสภาพธรรมแล้วจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ ลักษณะของจิตคือรู้อย่างเดียวเป็นใหญ่เป็นประธานจริงๆ สามารถที่จะรู้อะไรก็ได้ที่ปรากฏให้รู้แม้แต่พระนิพพาน โลกุตตรจิตก็สามารถที่จะรู้ประจักษ์แจ้งได้ แต่ว่าเจตสิกก็มีลักษณะที่ละเอียดมากที่เป็นกิจการงานของสภาพธรรมแต่ละอย่างที่เกิดร่วมกับจิต
ผู้ฟัง จากที่ฟังท่านอาจารย์ได้พูดถึงเรื่องวิถีจิต ก็น่าจะทราบได้ว่าไม่มีตัวเราเป็นแต่จิต แต่ทำไมยังโง่ ที่คิดว่าอย่างไรก็เป็นเราอยู่ ไม่หลุดออกไปเลย
อ. สุภีร์ ลองพิจารณาดูว่าได้ฟังเรื่องวิถีจิตมา นานครั้ง ฟังครั้ง ใช่ไหม บางท่านวันนี้อาจจะเป็นวันแรกหรือว่าบางท่านก็ฟังหลายครั้งแล้วหรือว่าฟังมานานพอสมควรแล้ว แต่ลองคิดดูช่วงเวลาที่ไม่ได้ฟัง แล้วไม่ได้เข้าใจเรื่องวิถีจิต คิดเทียบดูระหว่างช่วงเวลาที่เข้าใจเรื่องวิถีจิตกับช่วงเวลาที่ไม่เข้าใจ เฉพาะชาตินี้ก็ได้ ยังไม่ต้องนับไปถึงชาติที่เกิดขึ้นมด เป็นแมลงหรือเป็นอะไรอื่นๆ เพราะว่าชาติเหล่านั้นไม่ได้ฟังแน่นอน เพราะฉะนั้นก็เป็นเหตุเป็นผลกันนั่นเอง เพราะเหตุว่าได้สะสมความไม่รู้ไม่เข้าใจเรื่องนี้มานานแล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อมีความรู้เกิดขึ้นนิดหน่อย ฟังแล้วเข้าใจนิดหน่อยความไม่รู้เก่าๆ คงจะตัดโยนทิ้งไม่ได้ใช่ไหม เพราะว่าได้สะสมมานานแล้ว
ผู้ฟัง ที่กล่าวว่าจิตเหมือนลิง คือไม่หยุดนิ่ง ในที่นี้หมายถึงขณะที่ลิงตื่นใช่ไหม เพราะลิงหลับ ลิงก็คงไม่ไหวเหมือนกัน
อ. ฤษณา ใช่ค่ะ เพราะว่าโดยธรรมชาติของลิงแล้ว เวลาที่ลิงตื่นเขาก็จะหลุกหลิกหลุกหลิก อยู่ไม่นิ่งเดี๋ยวก็ไปตรงโน้น ไปตรงนี้ กระโดดไปกระโดดมา ใช่ไหม จิตก็เหมือนกัน ก็จะไม่นิ่ง เดี๋ยวก็รู้อารมณ์ทางโน้นทางนี้ไปเรื่อยๆ
ท่านอาจารย์ คงหมายความว่าจิตนี้ยิ่งกว่าลิง เพราะว่าไม่เคยหยุดทำงาน
ผู้ฟัง จากกรณีที่ว่าสติกำลังดู พิจารณา ความคิด ดูที่จิตอย่างนี้ ก็ชักจะหลง เพราะเมื่อสักครู่ท่านกล่าวว่านั่งสมาธิเป็นโลภะอย่างหนึ่ง ใช่ไหม แต่ถ้าสตินี้กำลัง พิจารณาความนึกคิดของเรา อย่างนี้จะถูกต้องหรือไม่
ท่านอาจารย์ อยากทำหรือเปล่า สมาธิ ถ้าไม่อยากจะทำไหม การที่จะทำสิ่งหนึ่ง สิ่งใดเราก็ทราบว่าต้องมีจิตที่เป็นกุศลทำสิ่งที่เป็นกุศล ถ้าเป็นจิตที่เป็นอกุศลก็ทำสิ่งที่เป็นอกุศล เพราะฉะนั้นก่อนอื่นเราก็ต้องทราบว่ากุศลจะต้องเกิดขึ้นเมื่อเจตสิกที่เป็นฝ่ายดีเกิด ขณะที่กำลังต้องการจะทำหรืออยากจะทำ ขณะนั้นเป็นกุศลหรือไม่
ผู้ฟัง ต้องการดูความเกิดดับของความคิด
ท่านอาจารย์ ต้องการดู เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ทั้งหมดจะเป็นประโยชน์ และผู้ที่ตรงต่อธรรมจะได้สาระจากพระธรรม แต่ถ้าไม่ตรงตามเหตุตามผลจริงๆ จะไม่ได้สาระ เพราะเหตุว่าสมาธิมี ๒ อย่างคือ สัมมาสมาธิกับมิจฉาสมาธิ ข้อความนี้มีในพระไตรปิฎก ถ้าเราไม่รู้ว่าอะไรเป็นสัมมาสมาธิ เราจะรู้ไหมว่าอย่างอื่นที่ไม่ใช่สัมมาสมาธิต้องเป็นมิจฉาสมาธิ และถ้าไม่มีปัญญาต้องเป็นมิจฉาแน่นอน จะถูกได้อย่างไรในเมื่อไม่มีปัญญา เพราะฉะนั้นการอบรมเจริญสมาธิที่ถูกต้อง ที่จริงแล้วก็คือการอบรมกุศลจิตให้เพิ่มขึ้นมากขึ้นจนกระทั่งความสงบจากอกุศลปรากฏ เป็นลักษณะของความสงบที่ถึงขั้นที่มั่นคงที่ใช้คำว่าสมาธิ คือมั่นคงระดับต่างๆ ซึ่งต้องประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ และปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาแล้วทำสมาธิทั้งหมดเป็นมิจฉาสมาธิ มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกว่า ต้องเป็นจิตที่ประกอบด้วยปัญญาเท่านั้นที่จะอบรมเจริญความสงบได้ แล้วก็ต้องเป็นสติระดับขั้นของสติสัมปชัญญะด้วย ไม่ใช่สติขั้นทาน ไม่ใช่สติขั้นศีล สติขั้นสัมปชัญญะก็คือสามารถที่จะรู้ว่าในขณะนี้ จิตเดี๋ยวนี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ไม่ใช่โดยชื่อ ไม่ใช่ด้วยการศึกษา ไม่ใช่ระดับขั้นฟัง แต่ระดับที่สามารถรู้ในสภาพของจิตที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนั้นว่าเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล
เพราะฉะนั้นก็เป็นสิ่งที่ยากมาก ถ้าใครจะตอบหรือจะบอกว่าบรรลุธรรมขั้นฌานหรือว่าเป็นพระโสดาบันหรือว่าจะเป็นบุคคลหนึ่งบุคคลใดก็แล้วแต่ แต่ถ้าบุคคลนั้นไม่รู้ในลักษณะของสติสัมปชัญญะ จะเป็นไปได้ไหม (เป็นไปไม่ได้เลย) เพราะเหตุว่าขณะนี้มีจิต เจตสิก มีรูป เราก็ฟังเรื่องจิต เจตสิก รูป ในขณะที่จิตเจตสิกรูปกำลังเกิดดับ แต่ไม่ได้มีการที่จะรู้ลักษณะสภาพของจิตหนึ่งจิตใดที่กำลังทำกิจหนึ่งกิจใด หรือไม่รู้ลักษณะของเจตสิก ไม่รู้ลักษณะของรูปหนึ่งรูปใดเลยทั้งๆ ที่ทั้งจิตเจตสิกรูปก็อยู่ตรงนี้คือที่ตัวเองทั้งหมด โดยมากเราก็จะสนใจมุ่งไปข้างนอกตัว แต่ไม่กลับมารู้ลักษณะจริงๆ ที่เป็นจิตหรือเจตสิกในรูปทั้งๆ ที่กำลังเห็นไม่ใช่เรา เป็นจิตกับเจตสิก และรูปก็กำลังเกิดดับอยู่ เพราะฉะนั้นการที่จะอบรมเจริญปัญญาถึงระดับของสมถภาวนาหรือว่าสติปัฏฐานซึ่งเป็นวิปัสสนาภาวนา ถ้าไม่มีความรู้จริงๆ ที่ถูกต้อง ไม่รู้ลักษณะของสติสัมปชัญญะแล้วจะกล่าวว่าบรรลุธรรมขั้นนั้นขั้นนี้เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
เพราะฉะนั้นผู้ที่ศึกษาพระธรรมมีความเข้าใจจะไม่ถูกหลอก เพราะว่าสามารถที่จะสอบถามได้ถึงปัญญาของผู้ที่กระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดว่าเป็นปัญญาจริงๆ หรือเปล่า แม้แต่สมาธิที่ว่าทำสมาธินี้ สมาธิคืออะไร ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจถูกต้อง ศึกษาถูก และรู้ความจริง ก็สามารถที่จะตอบคำแรกจนถึงคำถามสุดท้ายได้ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของสภาพธรรมที่เป็นปัญญาหรือในเรื่องของสภาพธรรมที่เป็นสมถะที่เป็นสมาธิ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ไม่รู้จริงๆ จะตอบไม่ได้เลย อาจจะไม่เคยได้ยินคำว่าสติสัมปชัญญะ หรือแม้แต่สติก็เข้าใจผิด อย่างที่บอกว่ากำลังมีสติรู้นี้ สติหรือเปล่า สติมีลักษณะอย่างไร สติต่างกับเจตสิกอื่นอย่างไร เพราะเหตุว่าเจตสิกอื่นก็มี ไม่ใช่มีแต่สติเจตสิก และสติเจตสิกถ้าเกิดก็จะต้องเป็นกับโสภณจิตเท่านั้น จะไม่เกิดกับอกุศลจิตเลย
เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่ละเอียด เพราะฉะนั้นทุกคนก็จะมีพระธรรมเป็นสรณะจริงๆ ที่จะทำให้รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิดแล้วก็สิ่งใดที่ไม่ถูก จากการศึกษาการไตร่ตรองการเข้าใจถูกก็จะทำให้รู้ว่า ขณะไหนเป็นอกุศล ขณะไหนเป็นกุศล แม้แต่สมาธิ พอได้ยินคำว่าสมาธิ ถามหรือยังว่าสมาธิคืออะไร ยังไม่ได้ถามเลย แต่ก็จะทำสมาธิ แล้วสมาธิคืออะไร ขณะนี้มีสมาธิหรือเปล่า สมาธิขณะนี้ชื่อว่าอะไร ขณิกสมาธิคือ ขณะหนึ่ง ขณะหนึ่ง ซึ่งจิตเกิดจะต้องมีเอกัคคตาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ทำให้จิตรู้อารมณ์เดียว จะรู้ ๒ อารมณ์ไม่ได้ และเอกัคคตาจตสิกก็เป็นสภาพของเจตสิกที่ตั้งมั่นในอารมณ์ ขณะที่จิตเกิดหนึ่งขณะ จะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุด ๗ ประเภท และใน ๗ ประเภทนั้นก็มีเอกัคคตาเจตสิกซึ่งเป็นลักษณะของความตั้งมั่นในอารมณ์ ซึ่งถ้าตั้งมั่นในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งบ่อยๆ นานเข้า ลักษณะของสมาธิก็ปรากฏ แต่ลักษณะของสมาธินั้นเป็นมิจฉาหรือเป็นสัมมา ถ้าเป็นอกุศลจิตต้องเป็นมิจฉาสมาธิ ถ้าเป็นกุศลจิตจึงจะเป็นสัมมาสมาธิได้ ซึ่งถ้าจะอบรมเจริญความสงบที่เป็นสัมมาสมาธิต้องประกอบด้วยสติสัมปชัญญะคือต้องมีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีปัญญาเจตสิกก็ทราบได้เลยว่าทั้งหมดนั้นไม่ใช่สัมมาสมาธิ
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 001
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 002
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 003
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 004
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 005
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 006
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 007
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 008
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 009
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 010
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 011
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 012
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 013
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 014
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 015
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 016
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 017
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 018
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 019
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 020
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 021
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 022
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 023
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 024
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 025
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 026
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 027
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 028
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 029
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 030
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 031
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 032
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 033
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 034
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 035
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 036
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 037
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 038
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 039
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 040
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 041
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 042
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 043
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 044
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 045
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 046
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 047
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 048
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 049
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 050
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 051
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 052
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 053
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 054
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 055
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 056
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 057
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 058
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 059
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 060