สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 035


    สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ ๓๕

    วันจันทร์ที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๔๕


    ท่านอาจารย์ คงจะเป็นเรื่องจิต ซึ่งก็เป็นเรื่องซึ่งจะต้องเข้าใจตลอดชีวิต ไม่เคยขาดจิตเลยสักขณะเดียว แต่สำหรับเรื่องของปริยัติธรรมคือการพูดเรื่องจิต เจตสิก รูปก็เป็นที่สนใจของท่านผู้ฟังที่จะเข้าใจเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาที่ใช้คำว่าวิปัสสนาด้วย ถ้ามีท่านผู้ใดที่มีข้อสงสัยใคร่ที่จะได้สนทนาในเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาที่ใช้คำว่าวิปัสสนา ก็ขอเชิญ มีไหม เพราะว่าบางคนอาจจะสนใจเรื่องนี้ด้วยแล้วก็สนใจที่จะได้ฟังเรื่องของจิตด้วย ไม่ทราบมีใครอบรมเจริญวิปัสสนาบ้าง หรือยัง มีไหม

    ผู้ฟัง คำว่าวิปัสสนาตามความเข้าใจของตนเองนี้เกี่ยวกับว่าเมื่อฟังแล้วเข้าใจเอามาใช้กับชีวิตประจำวัน สิ่งนี้ถือว่าเป็นวิปัสสนาหรือยัง

    ท่านอาจารย์ ขอเชิญคุณสุภีร์ให้ความหมายของคำว่าวิปัสสนาด้วย

    อ. สุภีร์ คำว่าวิปัสสนาโดยศัพท์เป็นภาษาบาลี ภาษาไทยเราเอามาใช้ทับศัพท์วิปัสสนาแยกศัพท์ออกมาเป็น วิ แปลว่า แจ้ง หรือกระจ่าง ปัสสนา แปลว่า เห็น วิปัสสนาก็คือการเห็นแจ้ง เห็นแจ้งเหมือนตาเห็นแต่ว่าไม่ใช่ตาเห็น แต่เป็นปัญญาที่เห็นที่รู้ความจริงเช่นนั้น เพราะเหตุว่าขณะนี้มีสภาพธรรมก็คือจิต เจตสิก รูปที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย เกิดแล้วก็ดับไปอยู่เสมอ ไม่ขาดเลย มีสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งที่รู้ความจริง สิ่งนี้ก็คือปัญญา เมื่อปัญญาเจริญมากขึ้นที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวตอนเริ่มต้นว่าอบรมเจริญวิปัสสนา วิปัสสนาเป็นการเห็นแจ้งอย่างตอนนี้ เราเห็นทุกอย่างนี้โดยตาเห็น ใช่ไหม แต่สภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยเกิดแล้วก็ดับไป มีสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่เห็นได้ก็คือปัญญา คำว่าวิปัสสนา เป็นชื่อของปัญญาที่เจริญอบรมขึ้นมีกำลังมากแล้ว สิ่งนี้เป็นความหมายของวิปัสสนา

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ วิปัสสนาย่อมเกิดขึ้นไม่ได้เพราะเหตุว่าวิปัสสนาเป็นปัญญาไม่ใช่ระดับเพียงฟังเรื่องราวของสภาพธรรมแล้วเข้าใจ เพราะว่าแม้ในขณะนี้ สภาพธรรมก็กำลังปรากฏ แต่ก็ปรากฏมาก่อนที่เราจะได้ยินได้ฟังเรื่องธรรมแต่ว่าขณะนั้นที่ไม่ได้ฟังธรรมเราก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรมคือ เป็นสภาพธรรมที่มีจริงที่ปรากฏก็เพราะเหตุว่าเกิดขึ้น มีปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิด แล้วก็เกิดแล้วก็ดับด้วย ตรงกับคำว่าอนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกขังเป็นทุกข์ สภาพที่เกิดดับนั้นเป็นทุกข์ และอนัตตาก็คือไม่ใช่ของใคร ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งแต่ก่อนนี้ก็เป็นเราทั้งหมด ใช่ไหมไม่ว่าจะเห็น ไม่ว่าจะได้ยิน ไม่ว่าจะทำกิจการงานใดๆ ทั้งสิ้นก็เป็นเราทั้งหมด แต่เมื่อฟังพระธรรมแล้ว การที่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่าเป็นธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง แต่สิ่งที่มีจริงนี้เกิดโดยที่ไม่มีใครบังคับบัญชาได้ และเมื่อเกิดแล้วก็ดับไปทุกขณะด้วย นี้คือความหมายของธรรมซึ่งเกิด และไม่เที่ยง และไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นปัญญาของการที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมต้องอาศัยการฟังก่อน ถ้าไม่มีการเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมจากการฟัง ไม่มีทางที่ปัญญาสามารถที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่เรากล่าวถึงเลย เช่น จิต มีจริงๆ ขณะนี้ทุกคนมี เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ที่กำลังเห็น แค่นี้ก็เริ่มจะงงนิดหน่อย เพราะว่าเป็นเราเห็นมานานแสนนาน และขณะนี้จะบอกว่าเป็นจิต ชื่อจิตนี้ คนได้ยินแล้วก็เข้าใจ ลักษณะของจิต กิจการงานหน้าที่ของจิต เพราะเหตุว่าเมื่อเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นมีจริงก็ทำกิจการงานของสภาพธรรมนั้นด้วย เช่น ในขณะนี้ จิตซึ่งเป็นสภาพรู้ ธาตุรู้ กำลังเห็น นี้คือความรู้ขั้นฟัง ขั้นเข้าใจเรื่องของจิต แต่วิปัสสนาที่เป็นปัญญาอีกระดับหนึ่ง ต้องถึงขั้นที่สามารถประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไปของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจในขณะนี้ เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่การที่บุคคลหนึ่ง บุคคลใด ไม่มีการศึกษาหรือว่าไม่ได้มีการฟังพระธรรมขั้นต้นจนกระทั่งมีความเข้าใจที่ถูกต้อง แล้วสามารถที่จะไปประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้

    พระพุทธศาสนามี ๓ ขั้น ปริยัติศาสนา คือการศึกษาเรื่องราวของสภาพธรรมโดยที่เมื่อพระองค์ตรัสรู้ และทรงแสดง พระธรรมที่ทรงแสดงเป็นปริยัติศาสนา เพราะเหตุว่า ทรงแสดงเรื่องสภาพธรรมที่ได้ทรงประจักษ์แจ้ง ได้ทรงตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ในขณะที่ตรัสรู้สภาพธรรมก็เป็นจริงอย่างนี้ แต่ว่าในขณะที่ตรัสรู้ไม่มีการคิดเป็นคำเป็นเรื่องเป็นราวที่จะแสดงธรรมที่กำลังประจักษ์ แต่เมื่อได้ตรัสรู้แล้วก็จำเป็นที่จะต้องใช้คำที่จะทำให้คนอื่นเข้าใจได้ว่าหมายความถึงสภาพธรรมอะไร เพราะฉะนั้นที่ทรงแสดงธรรมะว่า เป็นปรมัตธรรมแล้วก็เป็นสัจธรรมเป็นอริยสัจจะ ก็คือต้องมีคำที่แสดงให้เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ด้วยเหตุนี้ ปริยัติศาสนาก็คือ การฟังสัจธรรม ฟังเรื่องสิ่งที่มีจริงจนกระทั่งมีความเข้าใจที่ถูกต้อง สมควรที่จะเป็นปัจจัยให้สติสัมปชัญญะซึ่งเป็นสติอีกระดับหนึ่ง เราได้ยินคำว่าสติบ่อยๆ แต่ไม่ทราบหน้าที่การงานของสติเลย สติไม่ใช่จิต สติเป็นเจตสิก ขณะที่กำลังฟังธรรมนี้ไม่มีเราที่ฟัง แต่ว่ามีจิตที่ได้ยิน หลังจากนั้นก็มีจิตที่คิดนึก ในขณะที่กำลังไตร่ตรองเข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง ขณะนั้นก็เพราะสติเกิดขึ้น และขณะใดที่เข้าใจ ขณะนั้นก็เป็นปัญญา เพราะฉะนั้นจิตเกิดขึ้นหนึ่งขณะ ก็จะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยหลายประเภท และก็สติก็คือขณะที่ระลึก ขณะที่กำลังฟังก็สามารถที่จะเกิดความเข้าใจถูกต้องในสิ่งที่ได้ฟัง นี้เป็นสติระดับหนึ่ง ปัญญาระดับหนึ่ง ซึ่งจะทำให้มีสติอีกระดับหนึ่ง คือสติสัมปชัญญะ สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจนกระทั่งสามารถประจักษ์แจ้งเป็นขั้นปฏิเวธ เพราะฉะนั้นพระพุทธศาสนานี้สมบูรณ์พร้อมทั้ง ๓ ขั้น ในขั้นต้นคือ ปริยัติ ขั้นที่สองคือ ปฏิบัติ ขั้นที่สามคือ ปฏิเวธ ตอนนี้กำลังเป็นขั้นไหน ไม่ใช่ปฏิบัติใช่ไหม ปฏิบัติจะเกิดได้ไหม เมื่อไร

    ผู้ฟัง เมื่อกำลังศึกษา

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ ขอเชิญคุณประเชิญให้ความต่างกัน

    อ. ประเชิญ สำหรับขั้นปริยัติที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวแล้วว่าพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ทั้งหมดตลอด ๔๕ พรรษานี้ เป็นคำสอนที่ผู้ที่ได้ศึกษาในยุคนั้นได้รวบรวมไว้สมัยนี้เรียกว่า พระไตรปิฏก ขณะที่กำลังอ่านก็ดี กำลังฟัง กำลังสนทนาในเรื่องของพระธรรมคำสอนทั้งหมด สิ่งนี้เป็นขั้นปริยัติ คือการเรียนรู้ในเรื่องราวของสภาพธรรม แต่ขณะไหนที่สติเกิดขึ้นเริ่มรู้สภาพธรรม ซึ่งเป็นการศึกษาตัวสภาพธรรม นี้คือขั้นปฏิบัติ ปฏิบัติก็คือปฎิแล้วก็ปัตติ ใช่ไหมตามศัพท์ที่เป็นภาษาบาลี ปฏิ แปลว่า ถึง ปัตติเฉพาะ เพราะฉะนั้นการถึงเฉพาะในลักษณะของสภาพธรรมก็เป็นการปฏิบัติธรรม ซึ่งว่าโดยขั้นที่เป็นการอบรมปัญญาก็คือ วิปัสสนา ใช่ไหม เป็นขั้นปฏิบัติ ซึ่งการปฏิบัตินั้นก็มีทั้ง ศีล สมาธิ ปัญญา แต่ที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมต้องเป็นขั้นปัญญาที่เรียกว่า วิปัสสนา ผู้ที่ปฏิบัติที่เป็นขั้นสมถะก่อนที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ เขาก็มีปฏิบัติเช่นเดียวกัน แต่ว่าปฏิบัติเช่นนั้นเรียกว่าสมถะ กระทำฌานให้เกิดขึ้นจนสภาพจิตสงบ จนได้ตามลำดับขั้นแล้ว เมื่อจุติจิตเกิดขึ้นก็ไปเกิดพรหมโลก สิ่งนี้คือผลสูงสุดของภาวนา ไม่สามารถที่จะระงับกิเลส ที่เป็นกิเลสขั้นละเอียด คือไม่สามารถที่จะดับได้ เพียงระงับไว้ชั่วคราวเท่านั้นเอง แต่ผู้ที่อบรมวิปัสสนา เป็นคำสอนของพระผู้มีภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็สามารถที่จะละกิเลสได้ เป็นขั้นปฏิบัติที่เรียกว่าอริยมรรค หรือว่าไตรสิกขาสติปัฏฐาน ซึ่งก็มีชื่อมากมายซึ่งเราคงจะได้ศึกษากันตามลำดับ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นในขณะนี้ก็เป็นการเริ่มต้นของการที่จะอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม เพราะว่าขณะนี้เป็นสุตมยญาน คือปัญญาที่สำเร็จจากการฟัง ต้องมีปัญญาที่เกิดจากการฟังพระธรรมก่อน มิฉะนั้นแล้วเราก็ไม่สามารถที่จะไปปฏิบัติอะไรได้ หรือว่าเราจะไปอบรมเจริญปัญญาโดยที่เราไม่รู้เลยว่าอะไรเป็นอะไร ขณะนั้นก็ไม่ใช่ปัญญา เราอาจจะคิดว่าเป็นการอบรมเจริญปัญญาเพื่อที่จะรู้การเกิดดับของสภาพธรรม แต่ไม่ใช่เราที่จะประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรม ต้องเป็นปัญญาที่เกิดจากการฟังแล้วก็มีความเข้าใจ แล้วค่อยๆ อบรมจนกระทั่งสามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ได้ เพราะฉะนั้นก็คงจะไม่มีใครใจร้อนที่จะปฏิบัติอะไร ถ้ายังไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ แต่ว่าถ้ามีการฟังแล้วก็พิจารณาแล้วก็ค่อยๆ เข้าใจว่าจะรู้ได้ รู้ด้วยตัวของตัวเองว่าเกิดความรู้ที่ถูกต้องขึ้นมากน้อยแค่ไหน เพราะว่าเป็นปัญญาของแต่ละคน ไม่ใช่ว่าจะเอาปัญญาของคนอื่นมาได้ ขณะที่กำลังฟังทุกครั้งก็จะเป็นผู้ที่รู้ว่ามีความเข้าใจในสิ่งที่ได้ฟังในธรรมที่กำลังปรากฏมากน้อยแค่ไหน ขณะนี้ที่ฟังก็เป็นขณะที่กำลังเริ่มอบรมเพื่อที่จะถึงการประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม

    เพราะฉะนั้นจุดประสงค์ของการฟัง มี ไม่ใช่เราฟังเฉยๆ ฟังไปเรื่อยๆ แต่ว่าฟังจนกระทั่งปัญญาค่อยๆ เกิด ค่อยๆ เข้าใจ จนกระทั่งสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้อย่างท่านที่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมแล้วในอดีต ท่านก็เริ่มจากการฟังพระธรรม

    ถ้าไม่มีข้อสงสัยอะไรในเรื่องของวิปัสสนาหรือว่าการทำสมาธิหรืออะไรก็ได้ ซึ่งอาจจะเป็นที่สงสัยก็ขอต่อเรื่องของจิต ซึ่งในคราวก่อนก็ได้กล่าวถึงเรื่องกิจหน้าที่ของจิตนามธรรมทุกชนิดที่เกิดขึ้นมีกิจการงาน เราอาจจะคิดว่าวันนี้เราทำงานหลายอย่าง ตั้งแต่เช้า ก็เราทำทั้งนั้นเลย ทั้งเห็น ทั้งได้ยิน ทั้งรับประทานอาหารทั้งทำงานต่างๆ ธุรกิจต่างๆ แต่ความจริงก็คือจิต และเจตสิกทำ ไม่ใช่เราทำ ถ้าไม่มีจิตเจตสิกจะไม่มีการทำใดๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่มีการทำแล้วเกิดระลึกได้ และก็มีความเข้าใจเรื่องของจิต หน้าที่การงานของจิต ก็จะทราบได้ว่าตลอดชีวิตก็คือจิตเจตสิกที่เกิดขึ้นทำกิจการงานต่างๆ เป็นสภาพรู้ ส่วนรูปไม่ใช่สภาพรู้ แต่ถ้าจิตไม่มี รูปจะทำอะไรได้ไหม เคลื่อนไหวทำการงานอะไรก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นทั้งๆ ที่รูปไม่ใช่สภาพรู้ แต่ก็เกิดขึ้นพร้อมกับจิตแล้วก็เคลื่อนไหวไปด้วยสภาพของจิตที่ต้องการที่จะให้เกิดการกระทำนั้นๆ ขึ้น

    กิจของจิตทั้งหมดมี ๑๔ กิจ ไม่มาก กี่ชาติก็ ๑๔ กิจ ไม่เกินกว่านี้ กิจที่ หนึ่งคือ ปฏิสนธิกิจ คือขณะเกิดครั้งแรกในชาตินี้ที่สืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน ชาติหนึ่งจะมีปฏิสนธิจิตที่ทำปฏิสนธิกิจเพียงขณะเดียว เมื่อเกิดมาเป็นบุคคลนี้จะเปลี่ยนจากบุคคลนี้ให้เป็นบุคคลอื่น ได้ไหม ทำบุญแล้วก็จะให้เกิดเป็นนางฟ้าเป็นเทวดาทันทีนี้เป็นไปไม่ได้ ต้องจากโลกนี้ไปก่อน และกรรมที่เป็นกุศลนี้ก็จะทำให้ปฏิสนธิเกิดขึ้นในสุคติภูมิ ซึ่งอาจจะเป็นมนุษย์หรือว่าเป็นสวรรค์ชั้นหนึ่งชั้นใดก็ได้ กิจที่หนึ่งผ่านไปแล้ว

    กิจสุดท้ายก็คือ จุติกิจ กิจเคลื่อนพ้นสภาพจากความเป็นบุคคลในโลกนี้ซึ่งต้องถึงวันนั้นอย่างแน่นอน ทุกคนเชื่อมั่นใจได้ต้องถึงเวลานั้น แต่ว่าระหว่างที่ยังไม่ถึงจุติกิจก็จะมีจิตที่เกิดสืบต่อดำรงภพชาติทำหน้าที่ต่างๆ ทุกวัน เมื่อปฏิสนธิจิตดับลงไปแล้ว กิจที่หนึ่งได้กระทำแล้วกรรมก็ทำให้จิตเกิดสืบต่อจากปฏิสนธิที่ดับไป โดยเป็นวิบากจิต เป็นจิตชาติเดียวกันคือ เป็นผลของกรรมหนึ่งที่ได้กระทำแล้วยังไม่เปลี่ยน ยังเป็นผลของกรรมนั้นเองก็ทำให้จิตซึ่งเกิดดับสืบต่อจากปฏิสนธิจิตทำภวังคกิจ เป็นกิจที่สอง ปฏิสนธิกิจเป็นกิจที่หนึ่ง ภวังคกิจเป็นกิจที่สอง ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ ทั้งปฏิสนธิจิต และภวังคจิตซึ่งทำภวังคกิจ ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก แต่ยังไม่ตาย ต่างกับคนตายที่ว่าคนตายนี้ไม่มีจิตใดๆ เลย แต่คนที่ยังไม่ตาย แม้ว่าจะมีร่างกายแล้วก็มีจิตซึ่งไม่ได้เคลื่อนไหว ไม่เห็น ไม่ได้ยิน แต่จิตก็ยังเกิดดับดำรงภพชาติอยู่ตามควรแก่กรรมที่จะทำให้ภวังคจิตดำรงภพชาตินี้ไว้ได้นานเท่าไร แต่ว่ากรรมก็ไม่ได้ให้ผลเพียงทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด ภวังคจิตเกิดสืบต่อ เพราะว่าถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วไม่รู้อะไร เกิดมาทั้งทีเป็นมนุษย์ หรือเป็นเทวดา หรือว่าเกิดเป็นพรหม หรือว่าเกิดเป็นเปรต เป็นสัตว์ในนรก ก็ไม่รู้อะไรทั้งสิ้น จะชื่อว่ารับผลของกรรมไหม เพียงแค่เกิดแล้วก็ไม่รู้อะไร แต่กรรมไม่ได้ทำให้เป็นเพียงแค่นั้น ยังต้องให้มีตา ทำให้จักขุปสาทรูปเกิดในตัวนี้ ทำให้โสตปสาทรูปเกิด ชิวหาปสาทรูปเกิด ฆานปสาทรูปเกิด กายปสาทรูปเกิด ถ้าเรียงตามลำดับก็คือจักขุโสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ ภาษาไทยจักขุก็คือตา โสตะก็คือหู ฆานะก็คือจมูก ชิวหาก็คือลิ้น กายะก็คือกายปสาทรูปซึ่งซึมซาบอยู่ทั่วตัว เป็นทางที่จะให้จิตเกิดขึ้นรับผลของกรรมในขณะที่เห็น ทราบได้ว่าขณะนี้เป็นผลของกรรมเป็นจิตที่เป็นวิบาก ในขณะที่ได้ยินก็เป็นผลของกรรมเป็นจิตที่เป็นวิบาก ในขณะที่ได้กลิ่น ในขณะที่ลิ้มรส ในขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ทั้งหมดเป็นทางรับผลของกรรม แต่ว่าขณะที่จิตกำลังเป็นภวังค์อยู่ จะเกิดการเห็น การได้ยินการ ได้กลิ่นการลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสหรือการคิดในทันทีไม่ได้ นี้เป็นจิตตนิยามมะคือ การเกิดดับของจิตเร็วมาก ขณะที่เป็นภวังค์ก็เป็นภวังค์ในขณะนี้ สืบต่อเร็วมาก

    เพราะฉะนั้นก่อนที่จิตเห็นจะเกิดขึ้นจะต้องมีจิตที่เกิดก่อนจิตเห็น โดยการที่ถ้าเป็นอารมณ์ที่เราจะพิจารณาได้ในขณะนี้ เช่น เสียง ไม่มีเสียง เสียงปรากฏเพราะจิตได้ยินเสียง แต่ก่อนที่จิตได้ยินเสียงจะเกิดขึ้นต้องเป็นภวังคจิตก่อนในขณะที่ไม่มีอะไรปรากฏต้องเป็นภวังคจิต และเมื่อเสียงกระทบกับโสตปสาทรูปต้องมีการกระทบกันของรูปที่สามารถกระทบเสียง เสียงจะไม่กระทบตา จะไม่กระทบจมูก จะไม่กระทบกาย ทั้งๆ ที่เสียงนี้ไม่มีรูปร่าง มองไม่เห็น แต่มีรูปที่ตัวรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นรูปที่มีลักษณะพิเศษที่สามารถจะกระทบเฉพาะเสียงคือโสตปสาทรูป รูปนี้จะกระทบอื่นไม่ได้เลยนอกจากเสียง เวลาที่เสียงกระทบก็จะกระทบกับโสตปสาทรูป การกระทบกันของโสตปสาทรูป ภวังค์ไหว แล้วก็เมื่อภวังค์ที่ไหวคือภวังคจลนะดับไปแล้ว ภวังคุปัจเฉทะต้องเกิดอีกหนึ่งขณะก่อนที่วิถีจิตจะเกิดขึ้น

    ถ้าแบ่งจิตเป็นประเภทใหญ่ๆ ก็มี ๒ ประเภท คือ จิตที่ไม่ใช่วิถีจิต คือไม่ต้องอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ก็สามารถที่จะรู้อารมณ์ได้เพราะเหตุว่าจิตเป็นสภาพรู้เมื่อเกิดขึ้นจะอาศัยทวารหรือไม่อาศัยทวารก็ตาม จิตนั้นก็สามารถที่จะรู้อารมณ์ได้เพราะเหตุว่าเป็นธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อเกิดแล้วต้องรู้สิ่ง หนึ่งสิ่งใด และสิ่งที่จิตรู้ก็เรียกว่า อารมณ์ เพราะฉะนั้นถ้าแบ่งจิตโดยประเภทใหญ่ๆ ก็เป็นจิตที่ไม่ใช่วิถีจิต ไม่ใช่จิตที่อาศัยทวารหนึ่งทวารใด คือปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิต จิตอื่นนอกนี้ทั้งหมดเป็นวิถีจิต หมายความว่า เป็นจิตที่เกิดขึ้นสืบต่อกัน รู้อารมณ์ หนึ่งอารมณ์ใด ทางหนึ่งทางใด เช่น ทางตาในขณะนี้ นอกจากจิตเห็นก็ยังมีจิตอื่นซึ่งเกิดสืบต่อในขณะที่กำลังเห็นในขณะนี้ ขณะที่อาศัยจักขุปสาทรูปเกิด ถ้าเป็นทางหูที่เสียงกำลังปรากฏ นอกจากจิตได้ยินก็ยังมีจิตอื่นซึ่งเกิดสืบต่อรู้เสียงนั้นด้วย เพราะฉะนั้นจิตใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นสืบต่อกัน รู้สิ่งที่ปรากฏทางทวารหนึ่งทวารใดเป็นวิถีจิตเฉพาะทวารนั้นหรือทางนั้น เช่น ถ้าเป็นจิตที่อาศัยตาเกิดขึ้น จิตทั้งหมดที่อาศัยตาเกิดขึ้นเห็น หรือรู้สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นจักขุทวารวิถีจิต ถ้าเป็นทางหู ขณะที่กำลังได้ยินจิตทุกขณะที่เกิดขึ้นมีเสียงเป็นอารมณ์รู้เสียง อาศัยเสียงเกิดขึ้นทางโสตปสาทเป็นโสตทวารวิถี เพราะฉะนั้นก็เรียกชื่อวิถีตามทวาร ถ้าจักขุทวารวิถีก็อาศัยจักขุปสาทรูป ถ้าโสตทวารวิถีก็อาศัยโสตปสาทรูป ถ้าเป็นฆานะทวารวิถี ขณะที่กำลังได้กลิ่น ก็อาศัยฆานปสาทรูป ถ้าเป็นทางลิ้น กำลังลิ้มรส ไม่เคยรู้ใช่ไหมว่าขณะนั้นเป็นจิตที่สามารถจะลิ้มรสต่างๆ แล้วก็จิตที่เกิดสืบต่อกันที่รู้รสทางชิวหาทวารทั้งหมด ก็เป็นชิวหาทวารวิถี ทางกายขณะนี้จิตกำลังรู้สิ่งที่กระทบกาย จิตทุกขณะที่เกิดขึ้นอาศัยกายทวารก็เป็นกายทวารวิถี ฯ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 6
    7 ต.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ