สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 036
สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ ๓๖
วันจันทร์ที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๔๕
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็เรียกชื่อวิถี ตามทวาร ถ้าจักขุทวารวิถีก็อาศัยจักขุปสาทรูป ถ้าโสตทวารวิถีก็อาศัยโสตปสาทรูป ถ้าเป็นฆานทวารวิถีขณะที่กำลังได้กลิ่น ก็อาศัยฆานปสาทรูป ถ้าเป็นทางลิ้นกำลังลิ้มรส ไม่เคยรู้เลยใช่ไหมว่าขณะนั้นเป็นจิต ที่สามารถจะลิ้มรสต่างๆ แล้วจิตที่เกิดสืบต่อกัน ที่รู้รส ชิวหาทวารนั้นทั้งหมดก็เป็นชิวหาทวารวิถี ทางกายขณะนี้ จิตกำลังรู้สิ่งที่กระทบกาย จิตทุกขณะที่เกิดขึ้นอาศัยกายทวารก็เป็นกายทวารวิถี นี่ก็คือชีวิตประจำวัน ให้ทราบว่า มีทวาร หรือทางที่จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ ๖ ทาง
ในคราวที่แล้วก็ได้กล่าวถึงแล้ว ว่าเป็นรูป ๕ ทาง และเป็นนาม ๑ รูป ๕ ก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นรูป ส่วนเวลาคิดนึก ไม่ต้องอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กายเลย จิตก็สามารถที่จะเกิดคิดได้ ที่เรากำลังคิดอยู่ขณะนี้ ไม่ต้องอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย เลย เพราะความทรงจำในอดีตปรุงแต่งทำให้จิตเกิดขึ้นคิด แต่ก่อนที่จะมีการเห็นการได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ถ้าเราจะรู้ความละเอียดของจิตว่า เมื่อจิตกำลังเป็นภวังค์อยู่ จะให้มีการรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทันทีไม่ได้ จะต้องมีวิถีจิตแรกที่เกิดขึ้น
ถ้าเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ๕ ทวาร ซึ่งเป็นรูปที่กระทบ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย จิตที่เกิดขึ้นที่ไม่ใช่ภวังคจิต หลังจากที่อตีตภวังค์ คือ ภวังค์ที่อารมณ์กระทบรูปเมื่อดับไปแล้ว ภวังคจลนะเกิดขึ้น กำลังที่จะทิ้งอารมณ์ที่เป็นอารมณ์ของภวังค์ เมื่อภวังคจลนะดับลงไปแล้ว ภวังคุปัจเฉทะก็เกิดขึ้น เมื่อภวังคุปัจเฉทะเกิดหมายความว่าสิ้นสุดกระแสของภวังค์ จิตจะเป็นภวังค์อีกต่อไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นต่อจากนั้นต้องเป็นจิตอะไร เป็นวิถีจิต
เพราะเหตุว่ามีจิตอยู่ ๒ ประเภท วิถีจิตกับไม่ใช่วิถีจิต ถ้าไม่ใช่วิถีจิตนี้คือปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิตเท่านั้น นอกจากนั้นเป็นวิถีจิต ปฏิสนธิจิตก็ดับไปแล้ว จุติจิตก็ยังไม่เกิด เพราะฉะนั้นที่ไม่ใช่วิถีจิตก็จะมีแต่เฉพาะภวังค์ ยังไม่ได้อาศัยทางหนึ่งทางใดเกิดขึ้นรู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดเลย ต่อเมื่ออารมณ์กระทบ เช่นรูปกระทบปสาท อตีตภวังค์คือภวังค์ที่รูปกระทบกับปสาท ดับไปแล้ว ภวังคจลนะต้องเกิด จะรู้อารมณ์ทันทีไม่ได้ แต่ว่าจะมีภวังค์ที่เกิดสืบต่อจากภวังค์ที่ถูกกระทบ ๒ ขณะก่อน คือภวังคจลนะ และเมื่อภวังคจลนะดับไปแล้ว ภวังคุปัจเฉทะเป็นภวังค์ขณะสุดท้าย ซึ่งเมื่อภวังคุปัจเฉทะ ดับแล้ว จิตจะเป็นภวังค์ต่อไปไม่ได้เลย วิถีจิตเริ่มเกิดคืออาศัยทวาร รู้อารมณ์ที่กระทบ
ถ้าเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ๕ ทาง จะมีจิตที่ชื่อว่า ปัญจทวาราวัชชนจิต เป็นคำรวมของ คำว่า ปัญจ คือ ๕ ทวารคือทาง แล้วก็อาวัชชนะ ซึ่งถ้าแปลโดยศัพท์ เป็นรำพึงถึงอารมณ์ที่กระทบ แต่นั่นยาวมากก็ไม่ต้องไปคิดถึงในภาษาไทยว่าเป็นรำพึงถึง เพียงแต่เป็นจิตขณะที่รู้สึกตัว รู้ว่ามีอารมณ์ที่กระทบทวาร
แต่ถ้าเป็นทางตา ปัญจทวาราวัชชนจิต ไม่เห็น เพียงแต่ว่ารู้สึกว่ามีอารมณ์กระทบทางตา ถ้าเป็นทางหู ปัญจทวาราวัชชนจิตก็ไม่ได้ยิน เพียงแต่รู้ว่าอารมณ์กระทบทางหู ถ้าเป็นทางจมูก กลิ่นกระทบจมูก ปัญจทวาราวัชชนจิตก็เกิด ไม่ได้กลิ่น ยังไม่ได้กลิ่น เพียงแต่รู้ว่าอารมณ์กระทบทางจมูก ทุกคนก็ไล่ไปจนถึงทางลิ้น ทางกาย ด้วยตัวเองได้
เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับ ถ้าเป็นทางตา จักขุวิญญาณ จิตเห็นขณะนี้ที่เห็น ให้ทราบว่าปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดก่อน จะเห็นทันทีไม่ได้ แล้วก่อนปัญจทวาราวัชชนจิตก็ต้องเป็นภวังคุปัจเฉทะ และก่อนภวังคุปัจเฉทะก็ต้องเป็นภวังคจลนะ ก่อนภวังคจลนะก็ต้องเป็นอตีตภวังค์ แล้วก่อนอตีตภวังค์ก็เป็นภวังค์
แต่สำหรับการที่เราไม่ได้ฟังพระธรรม เราจะคิดว่าไม่มีภวังค์อะไรมาคั่นเลยสักอย่างเดียวในขณะนี้ เห็นก็เหมือนกับเห็นทันที ได้ยินขณะนี้ก็เหมือนได้ยินทันที แต่ว่าถ้าไม่มีการตรัสรู้จะไม่มีการเข้าใจความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม ซึ่งไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงได้ จะต้องเป็นอย่างนี้ ผู้รู้สามารถที่จะเข้าใจได้ทรงแสดงได้ แต่ผู้ที่ไม่สามารถที่จะประจักษ์ได้ ฟังแล้วก็พิจารณาว่าจะเป็นความจริงอย่างนั้นได้ไหม เพราะว่าจากภวังค์ แล้วก็จะมีการเห็น การได้ยิน ทันที เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
เพราะฉะนั้น เราก็ผ่านกิจของจิต คือปฏิสนธิกิจ ๑ กิจ ภวังคกิจ ๒ และอาวัชชนกิจ ๓ ถูกต้องไหม จิตที่เป็น ปัญจทวาราวัชชนจิต ทำอาวัชชนะกิจ จิตทุกประเภทต้องทำกิจ จะไม่มีจิตสักขณะเดียว ซึ่งเกิดแล้วไม่ได้ทำอะไรเลย เกิดมาเฉยๆ เลย ไม่มี แต่ว่าจิตนี้ไม่ว่าจะเป็นในขณะหลับ ขณะตื่น ก็ตาม จิตต้องทำกิจหน้าที่อย่างหนึ่งอย่างใด เพราะฉะนั้นก็ ๓ กิจ แล้วใช่ไหม ต่อไปก็ขอเชิญคุณสุภีร์
อ.สุภีร์ สำหรับกิจต่อไปในคราวที่แล้ว ก็ได้กล่าวถึงแล้ว ในวิถีที่ ๒ หลังจากที่เป็น อาวัชชนวิถี ในวิถีแรกซึ่ง ทางปัญจทวารวิถี ก็คือวิถีจิตที่เกิดทางปัญจทวาร ก็คือทางตา หู จมูก ลิ้น กาย จะมีวิถีย่อยๆ ที่เกิด ถ้าโดยปกติแล้วจะมีอยู่ ๗ วิถี
อาวัชชนวิถี เป็นวิถีที่ ๑ จิตเกิดขึ้นทำอาวัชชนกิจ
ส่วนวิถีที่ ๒ มีจิตเกิดขึ้นในที่นั้นได้ ๕ กิจ เพราะเหตุว่าตามทวาร ๕ ทวาร ถ้าเป็นทางจักขุทวารก็เป็นจิตเห็นที่เกิดขึ้นทำทัสสนกิจ ถ้าเป็นทางโสตทวารก็เป็นจิตได้ยินที่เกิดขึ้นทำสวนกิจ ถ้าเป็นทางจมูกก็มีจิตได้กลิ่นเกิดขึ้นทำฆายนกิจ ถ้าเป็นทางลิ้นก็มีจิตลิ้มรสเกิดขึ้นทำสายนกิจ ถ้าเป็นทางกายก็มีจิตที่เกิดขึ้นรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกายกระทำกิจที่เรียกว่าผุสสนกิจ นี่เป็นวิถีจิตที่ ๒ ในทางปัญจทวารวิถี
ทางปัญจทวารวิถีโดยปกติแล้วจะมี ๗ วิถีย่อยด้วยกันตามปกติ วิถีที่ ๑ ก็คืออาวัชชนวิถีนี้ทำอาวัชชนกิจใช่ไหม วิถีที่ ๒สามารถมีกิจการงานของจิตเกิดขึ้นได้ ๕ กิจตามทวารนั้นๆ วิถีที่ ๓ มีจิตเกิดขึ้นทำสัมปฏิจฉันนกิจ คำว่า สัมปฏิจฉันนะ หมายถึง การรับอารมณ์ต่อจากปัญจวิญญาณนั้น
ขออธิบายในวิถีที่ ๒ เล็กน้อย ในวิถีที่ ๒ นี้ตามปกติ ก็คือจะมีจิตเห็นเกิดขึ้นทำทัสสนกิจ จิตได้ยินเกิดขึ้นทำสวนกิจอย่างนี้ จิตเหล่านี้เป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม ซึ่งกรรมที่จะให้ผลคือให้วิบากจิตเกิดขึ้น ก็จะมีทั้งฝ่ายที่เป็นกุศล และอกุศล ฉะนั้นจิตที่เกิดขึ้นรับผลของกรรมทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็จะมีทั้งส่วนที่เป็นกุศลวิบาก และอกุศลวิบาก
ฉะนั้นจิตเห็นโดยชื่อ คือจักขุวิญญาณ ก็จะมีอยู่ ๒ ประเภทด้วยกัน ก็คือจักขุวิญญาณที่เป็นกุศลวิบากดวงหนึ่ง และจักขุวิญญาณที่เป็นอกุศลวิบากดวงหนึ่ง ทางโสตทวารก็เช่นเดียวกันก็จะมีโสตวิญญาณที่เป็นกุศลวิบากดวงหนึ่ง และเป็นผลของอกุศลดวงหนึ่งก็คือเป็นโสตวิญญาณอกุศลวิบาก ทางทวารอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน ก็เป็นฆานวิญญาณก็จะมี ๒ ดวง ชิวหาวิญญาณก็มี ๒ ดวง และกายวิญญาณก็มี ๒ ดวง รวมจิตที่ทำกิจ ๕ กิจนี้ กิจละ ๒ ประเภท ทางทวารทั้ง ๕ เรารวมเรียกจิตชนิดนี้ เรียกว่าทวิปัญจวิญญาณ ทวิ แปลว่า ๒ ปัญจ แปลว่า ๕ วิญญาณก็คือจิต ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่รู้แจ้งอารมณ์นั่นเอง ถ้าแปลโดยศัพท์ ทวิปัญจวิญญาณ แปลว่า จิตที่ทำกิจหน้าที่รู้แจ้งอารมณ์ทางปัญจทวาร ทวารละ ๒ ประเภทก็คือเป็นกุศลวิบากประเภทหนึ่ง และเป็นอกุศลวิบากประเภทหนึ่ง รวมเป็น ๑๐ ประเภท หรือว่า ๑๐ ดวง
ท่านอาจารย์ วันนี้ก็ได้ยินชื่อวิถี วิถี หลายคำใช่ไหม เพราะเหตุว่าตอนแรก เราก็ได้กล่าวถึงว่าถ้ากล่าวถึงจิตโดยประเภทที่แยกเป็น ๒ อย่างก็ได้อีกนัยหนึ่ง คือจิตที่ไม่ใช่วิถีกับจิตที่เป็นวิถี เพราะฉะนั้นเวลาที่ได้ยินคำว่าวิถี วิถี หมายความถึง จิตที่อาศัยทวารหนึ่งทวารใดนั่นเอง เช่นเห็นอย่างนี้ จักขุวิญญาณ จะใช้คำว่าวิถี ก็ได้ใช่ไหม จะไม่ใช้ก็เข้าใจว่าเป็นวิถีแล้ว เพราะเหตุว่าถึงจะไม่ใช้ แต่จิตใดก็ตามที่ไม่ใช่ภวังคจิตเป็นวิถีจิตทั้งหมด
เพราะฉะนั้นถ้าใช้คำว่าจักขุวิญญาณ คือจิตที่เห็นขณะนี้ อาศัยตา เป็นทวาร เพราะฉะนั้นจึงเป็นวิถีจิต วิถีจิตทั้งหมดที่จะเกิดรู้อารมณ์ที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์ จะต้องอาศัยทางหนึ่ง ทางใด นี่คือการรับผลของกรรม เรากำลังพูดถึงเรื่องของผลของกรรม ต่อไปก็จะเป็นเรื่องของกิเลส และกรรม
แต่ก่อนอื่น ก็ควรที่จะได้ทราบการเกิดในโลกนี้ เป็นการรับผลของกรรมอันนี้แน่นอน และสำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ เมื่อรับผลของกรรมแล้วก็เกิดกิเลส เวลาที่เห็นแล้ว ได้ยินแล้ว ก็เกิดรักบ้าง ชังบ้าง เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง ก็เป็นทั้งฝ่ายดี และฝ่ายไม่ดี ซึ่งสะสมต่อไป ซึ่งก็จะเป็นเหตุให้เกิดวิบากข้างหน้าด้วย
แต่การที่จะรับผลของกรรม ต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป คือค่อยๆ เข้าใจจริงๆ ว่ารับผลครั้งแรกโดยปฏิสนธิ เลือกกรรมไม่ได้ ต้องเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ จนกว่าจะจุติ ถึงจะทำกุศล และอกุศลมากน้อยสักเท่าไหร่ ก็ยังไปเกิดในนรกหรือว่าไปเกิดบนสวรรค์ไม่ได้ ต้องพ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ก่อน ต้องสิ้นสุดกรรมนี้ก่อน
เพราะฉะนั้นในระหว่างที่กำลังเป็นบุคคลนี้ การจะรับผลของกรรมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เราก็ควรที่จะได้เข้าใจเรื่องชาติของจิต ซึ่งเคยกล่าวถึงแล้วว่า จิตต้องเกิดขึ้นเป็นชาติหนึ่งชาติใดใน ๔ ชาติ ชาติของจิตทั้งหมดมี ๔ ชาติ คือกุศลเป็นชาติหนึ่งเกิดขึ้นเป็นกุศล ชาติคือการเกิด เกิดขึ้นเป็นกุศลในขณะที่เป็นกุศลจะเป็นเหตุ ไม่ใช่จิตที่เป็นผล และจิตที่เป็นกุศลเกิดขึ้นจะเปลี่ยนจิตที่เป็นกุศลให้เป็นอกุศลไม่ได้ เพราะเหตุว่าจิตนี้เกิดดับเร็วมาก จิตหนึ่งขณะต้องเป็นชาติหนึ่งชาติใดใน ๔ ชาติ คือเป็นกุศล๑ หรือเป็นอกุศล๑ ซึ่งเป็นเหตุ เป็นวิบากคือเป็นผลของกุศล และอกุศล ซึ่งจะมีคำว่ากุศลวิบาก และอกุศลวิบากต่อไป เพื่อแสดงให้เห็นว่าวิบากนั้นเป็นวิบากของกรรมอะไร ถ้าเป็นวิบากของกุศลก็ชื่อว่ากุศลวิบาก ถ้าเป็นวิบากของอกุศลก็ชื่อว่าอกุศลวิบาก เพราะฉะนั้นก็มีกุศล และอกุศลซึ่งเป็นเหตุ และมีกุศลวิบาก และอกุศลวิบากซึ่งเป็นผล
การศึกษาธรรมเราจะพูดสั้นๆ ได้ไหม เวลาเราจะพูดว่าวิบาก แต่เราบอกว่าเป็นกุศลอย่างนี้ได้ไหม ผิดแล้ว ถ้าพวกกุศลแล้วจะหมายความถึงวิบากไม่ได้ ถ้าพูดถึงวิบากก็จะหมายความถึงกุศลไม่ได้ เพราะว่าทั้ง ๒ นี้ต่างกัน จิตหนึ่งเป็นเหตุไกลมาก แม้ว่าได้กระทำแล้วนานแสนนาน แต่ได้โอกาสเมื่อไหร่ก็สามารถที่จะทำให้วิบากจิตเกิดขึ้น โดยที่เราไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าวิบากที่เกิดในชาตินี้เป็นผลของกรรมอะไร เพราะเหตุว่ากรรมเป็นสภาพที่ปกปิด ขณะที่ทำกรรม เช่น ทำกุศลครั้งหนึ่งจะรู้ไหมว่ากุศลนี้จะทำให้เราเกิดเป็นมนุษย์อีก หรือว่ามีโภคสมบัติ มีมิตรสหาย มีบริวาร มียศ มากน้อยแค่ไหน หรือว่าเวลาที่อกุศลกรรมเกิดขึ้นแต่ละครั้งเราก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าอกุศลกรรมนี้จะทำให้เราปฏิสนธิ เป็นนก เป็นปลา เรียกว่าเป็นอะไรในชาติต่อไป ซึ่งเป็นผลของอกุศล จะเกิดเป็นเปรต หรือจะเกิดเป็นอสุรกาย หรือจะเกิดในนรก ก็ไม่มีใครสามารถรู้ได้
เพราะฉะนั้นกรรมทุกกรรมที่ทำนี้เป็นสภาพที่ปกปิด ไม่มีใครสามารถที่จะแสดงได้ว่า กรรมนี้จะให้ผลเป็นอะไร นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น
และสำหรับวิบากซึ่งเป็นผลของกรรมก็เป็นสภาพซึ่งเราก็ไม่สามารถจะรู้ได้ว่าเป็นผลของกรรมอะไร เพราะว่ากรรมที่ทำแล้วให้ผลในชาตินี้ก็มี ถ้าชาตินี้ไม่ได้ให้ผล ให้ผลในชาติหน้าก็ได้ หรือว่าชาติหน้ายังไม่ให้ผลก็ยังติดตามไปเหมือนสุนัขไล่เนื้อ ทันเมื่อไหร่ก็กัดเมื่อนั้น แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่พ้นวิบากคือผลของกรรมที่ได้กระทำแล้วในอดีต พระองค์ทรงประชวรก็มี ก็แสดงให้เห็นว่าเป็นผลของอดีตกรรมที่ได้กระทำแล้ว
เพราะฉะนั้นสำหรับการรับผลของกรรมที่จะกล่าวถึงก่อนคือปฏิสนธิ ภวังค์เป็นชาติวิบาก แต่ว่าก่อนที่จะมีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ซึ่งเป็นวิบากทั้งหมด เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว จะต้องมีจิตที่เป็นชาติกิริยาเกิดคั่น จากภวังคจิตที่ทำให้ดำรงความเป็นบุคคลนี้อยู่ กำลังหลับสนิทไม่มีอะไรปรากฏเลย ถ้าเป็นทางตา หู จมูก ลิ้นกาย ก็เป็นปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นชาติกิริยาเกิดขึ้นก่อน ถ้าเป็นทางใจก็เป็นมโนทวาราวัชชนจิต
เพราะฉะนั้นกิริยาจิต ซึ่งผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ มีได้ ก็มีเพียง ๒ ดวง ๒ ประเภท คือปัญจทวาราวัชชนจิต ซึ่งเกิดก่อนจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และมโนทวาราวัชชนจิต ซึ่งเป็นกิริยาจิตเกิดก่อนจิตที่จะเป็นกุศลหรืออกุศลที่คิดเรื่องราวต่างๆ
ก็ได้จิต ๒ ชาติคือวิบากจิตกับกิริยาจิต ยังไม่พูดถึงกุศล และอกุศลเลย การรับผลของกรรม เวลาที่เป็นภวังค์อยู่ กรรมให้ผลเท่านั้นไม่พอ ต้องให้ผลได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ซึ่งแล้วแต่ว่ากรรมใดจะสุกงอมพร้อมที่จะให้ผลทางไหน เลือกไม่ได้อีกเหมือนกัน อยู่ดีๆ ได้ยินเสียงดัง เป็นไปได้ไหม เสียงปืน เสียงระเบิดได้ไหม กรรมให้ผลมาถึงกาลที่จะทำให้เกิดได้ยินเสียงนั้น
แต่ก่อนจิตได้ยินเกิด ปัญจทวาราวัชชนจิต ต้องเกิดก่อน ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ระหว่างวิบาก ๒ ชนิด คือภวังค์ซึ่งดำรงภพชาติ กับวิบากที่จะให้ผลทางตา หู จมูก ลิ้น กายจะต้องมีกิริยาจิตเกิดก่อน มิฉะนั้นจะเปลี่ยนสภาพของภวังค์ไม่ได้ จากการที่เป็นภวังค์อยู่ แล้วก็จะให้เห็นทันที ได้ยินทันที เป็นไปไม่ได้เลย
และสำหรับคำว่าวิถีจิตที่ได้กล่าวถึงแล้วว่า เว้นปฏิสนธิจิต เว้นภวังคจิต เว้นจุติจิต เป็นวิถีจิตทั้งหมด เพราะฉะนั้นจะใช้คำว่าวิถีจิตกับจิตอะไรก็ได้ เช่นจิตเห็น ภาษาบาลีไม่มีคำว่าจิตเห็นใช่ไหม เพราะว่าเป็นภาษาไทย ภาษาบาลีก็เป็นจักขุวิญญาณ คำว่าจิต คำว่าวิญญาณ คำว่ามโน คำว่ามนัส หทย ปัณฑระ และเราก็ได้กล่าวถึงแล้ว ว่าเป็นชื่อของจิตทั้งหมดโดยนัยต่างๆ
เพราะฉะนั้นบางแห่งก็จะใช้คำว่าวิญญาณ เช่น รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์วิญญาณขันธ์ และสำหรับจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบกาย ชื่อตามภาษาบาลีก็คือจักขุวิญญาณ จิตเห็น โสตวิญญาณ จิตได้ยิน ฆานวิญญาณ จิตได้กลิ่น ชิวหาวิญญาณ จิตลิ้มรส กายวิญญาณ จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย
ท่านผู้ฟังอาจจะคิดว่าพูดซ้ำ แต่ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม แล้วก็จารึกเป็นพระไตรปิฏก จะเห็นได้ว่าซ้ำตลอด เพราะเหตุว่าไม่มีการที่จะใช้ตัวหนังสือที่จะอ่าน หรือว่าที่จะบันทึกแบบเทปอย่างยุคสมัยนี้ เพราะฉะนั้นการฟังซ้ำเพื่อให้จำได้ อย่างท่านที่ไม่ชินกับภาษาบาลี ต่อไปนี้ก็เริ่มรู้จักคำภาษาบาลีบ้าง แม้ว่าเราจะไม่ได้เรียนไวยากรณ์ ไม่ได้เรียนอะไร แต่ก็พอที่จะเข้าใจคำที่ใช้ว่าหมายความถึงอะไร เช่น จักขุ เราก็ได้ยินบ่อยๆ ว่าตา วิญญาณก็คือรู้ เพราะฉะนั้นสภาพรู้ที่อาศัยตา เกิดขึ้นเห็นเป็นจักขุวิญญาณ ใช้คำว่าจักขุวิญญาณวิถีได้ไหม ได้ จิตใดก็ตามที่ไม่ใช่ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ ใช้คำวิถีได้ทั้งหมดเลย
เพราะฉะนั้นบางครั้งเราก็จะนับวิถีที่ ๑ คือปัญจทวาราวัชชนจิต ขณะแรกที่เกิดที่เป็นวิถีก็คือปัญจทวาราวัชชนจิตทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ทั้งใจที่คิดนึก วิถีแรกคืออะไร เปลี่ยนชื่อนิดเดียว จากปัญจทวารเป็นอะไร มโนทวาราวัชชนจิต มโนทวาราวัชชนเป็นจิต มโนทวารก็เป็นจิตเพราะเหตุว่าทวารมี ๖ จักขุทวารเป็นรูปคือจักขุปสาท โสตทวารเป็นรูป ฆานทวารเป็นรูป ชิวหาทวารเป็นรูป กายทวารเป็นรูป ๕
แต่ทางใจนี้ภวังคุปัจเฉทะเป็นมโนทวาร เพราะถ้าภวังคุปัจเฉทะไม่เกิด วิถีจิตเกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นภวังคุปัจเฉทะเป็นวิถีจิตหรือไม่ จิตที่ไม่ใช่ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ จึงเป็นวิถีจิต ถ้าเป็นปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิต ไม่ใช่วิถีจิต เพราะว่าไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเลย ไม่รู้เลย หลับสนิทไม่รู้ว่าเป็นใครอยู่ที่ไหน บ้านช่องอยู่ที่ไหน ญาติเป็นอย่างไร อะไรไม่รู้เลยทั้งสิ้น อีกไม่นานเราก็จะเป็นอย่างนั้นใช่ไหม อีกไม่กี่ชั่วโมงก็หมดเรื่องราวต่างๆ ของวันนี้สุขทุกข์ใดๆ เรื่องสำคัญใดๆ ทั้งหมด ก็จะไม่เหลือเลย ไม่มีเหลือเลยเพราะไม่มีจิตคิด จะมีเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างไร ที่มีเรื่องต่างๆ ก็เพราะจิตคิด แต่ถ้าจิตไม่คิดเรื่องใดๆ ก็ไม่มี
เพราะฉะนั้นต้องทราบว่าจิตที่ไม่ใช่ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิตเป็นอะไร เป็นวิถีจิต
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 001
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 002
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 003
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 004
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 005
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 006
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 007
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 008
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 009
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 010
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 011
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 012
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 013
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 014
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 015
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 016
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 017
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 018
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 019
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 020
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 021
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 022
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 023
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 024
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 025
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 026
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 027
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 028
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 029
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 030
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 031
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 032
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 033
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 034
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 035
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 036
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 037
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 038
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 039
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 040
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 041
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 042
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 043
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 044
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 045
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 046
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 047
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 048
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 049
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 050
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 051
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 052
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 053
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 054
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 055
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 056
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 057
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 058
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 059
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 060