สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 039


    สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ ๓๙

    วันจันทร์ที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๔๕


    อ.ประเชิญ ก่อนที่วิถีจิตจะเกิดขึ้นนั้น เป็นจิตประเภทหนึ่ง เรียกว่าภวังค์ เป็นจิตอย่างหนึ่งที่ทำหน้าที่ดำรงภพชาติ ก่อนที่จะเปลี่ยนไปเป็นเห็น หรือได้ยิน หรือได้กลิ่น รู้รส ถูกต้องสัมผัสจะต้องเปลี่ยนจากที่กำลังภวังค์อยู่นั้น โดยการที่จะนับว่าอายุของรูปตั้งแต่เกิดขึ้นครั้งแรก ก็จะเป็นอตีตภวังค์เป็นภวังค์เดิมก่อน ซึ่งจริงๆ แล้วนี้ ภวังค์ก็คือภวังค์ทั้งหมดเป็นจิตอย่างหนึ่ง ที่ทำกิจดำรงภพชาติเอง แต่ว่าเมื่อจำแนกว่าภวังคจิตนั้นจะดับไปเมื่อไร และวิถีจิตจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ท่านก็เลยแบ่งว่าครั้งแรกเป็นอตีตภวังค์เป็นภวังค์เดิม แล้วก็ภวังค์ไหวที่เปลี่ยนไปที่จะมีวิถีจิตเกิดขึ้นก็คือภวังคจลนะ ซึ่งภวังคุปัจเฉทะเป็นการเกิดขึ้นของภวังค์ครั้งสุดท้ายที่จะเปลี่ยนเป็นวิถีจิต

    เพราะฉะนั้นท่านจึงจำแนกเรื่องของภวังค์ เป็นชื่อต่างๆ เพื่อให้เข้าใจในเรื่องของการเกิดขึ้นของจิต และก็เป็นเรื่องของกำหนดอายุของรูปด้วย

    ท่านอาจารย์ เป็นประโยชน์ที่จะได้ทบทวนเรื่องของภวังค์ เพราะเหตุว่ามีคำถามเรื่องของทางมโนทวารด้วย ถ้าเป็นทางมโนทวาร ไม่มีอตีตภวังค์ เพราะเหตุว่าไม่ใช่รูปที่กระทบกับทวาร จึงไม่มีอตีตภวังค์ ถ้ารูปกระทบกับปสาท แสดงอายุว่ารูปเกิดในขณะที่กระทบ ปสาทก็เกิดในขณะที่กระทบ แล้วทั้งสองรูปก็จะมีอายุ ๑๗ ขณะ ต่อไปก็จะได้กล่าวถึงเรื่องของจิตว่ามีจิตอะไรเกิดบ้างในขณะที่รูปๆ หนึ่งเกิดกระทบกับทวาร แล้วรูปดับไป

    สำหรับทางมโนทวาร เมื่อไม่มีรูปกระทบกับปสาทก็ไม่มีอตีตภวังค์ แต่เวลาที่จิตเกิด จะคิดนึกเรื่องหนึ่งเรื่องใดขึ้นมา กำลังเป็นภวังค์อยู่ แล้วก็จะเกิดคิดทันทีไม่ได้ จิตนิยามก็คือว่าภวังคจลนะไหวที่จะมีอารมณ์อื่นที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์ เพราะการสะสมมาที่จะทำให้เกิดความคิดนั้นๆ เมื่อภวังคจลนะดับ ทางมโนทวารนี้ ก็จะมีภวังคจลนะดับไป ภวังคุปัจเฉทะเกิด ต้องมีภวังคุปัจเฉทะทุกครั้งที่หลังจากนั้นแล้ววิถีจิตจึงจะเกิดได้ ถ้ายังไม่ใช่ภวังคุปัจเฉทะยังคงเป็นภวังค์ต่อ วิถีจิตยังเกิดไม่ได้

    ภวังคจิตก็คือวิบากจิตประเภทเดียวกับปฏิสนธิซึ่งเกิดต่อตั้งแต่ปฏิสนธิขณะแรก จิตประเภทนั้นก็จะเกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติ แต่ไม่ใช่จิตนั้นกลับมาเกิดๆ จิตใดเกิดขึ้นเพราะการปรุงแต่งดับไปไม่กลับมาอีกเลย แม้แต่ภวังค์ขณะที่ ๑ ก็ไม่ใช่ภวังค์ขณะที่ ๒ ภวังค์ขณะที่ ๒ ก็ไม่ใช่ภวังค์ขณะที่ ๓ ทุกขณะเป็นจิต ซึ่งเกิดแล้วไป ไปวับเลย คือว่าไม่กลับมาอีกเลยทุกขณะ จะไม่มีการที่จะให้จิตดวงหนึ่งดวงใดกลับมาได้เลย เราอาจจะคิดถึงเรื่องราวที่ได้ผ่านมาแล้ว แต่จิตที่คิดเป็นจิตที่ใหม่ที่มีสัญญาความทรงจำเรื่องที่คิดจึงได้เกิดคิดขึ้นแล้วก็ดับ แต่ไม่ใช่ว่าจิตเก่าที่ดับไปแล้วนี้จะกลับมาเกิดอีกได้ เป็นไปไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้นสำหรับภวังค์ จะชื่อว่าอตีตภวังค์ก็คือขณะนั้นมีอารมณ์กระทบภวังค์นั้น แล้วก็ภวังค์ก็ดับ และเมื่ออตีตภวังค์ดับ ภวังคจลนะเกิดต่อ ภวังคจนะก็ดับ แล้ว ภวังคุปัจเฉทะก็ดับ นี่สำหรับทางปัญจทวารที่มีอตีตภวังค์ แต่สำหรับมโนทวารเนื่องจากไม่มีรูปกระทบกับปสาท จึงไม่มีอตีตภวังค์ แต่ก่อนที่จะเกิดการนึกคิดทางมโนทวารก็จะต้องมีภวังคจลนะแน่นอน และเมื่อภวังคจลนะดับ ก็เป็นภวังคุปเฉทะ ต่อจากภวังคุปเฉทะ จะคิดทางมโนทวาร จิตอะไรเกิด วิถีจิตอะไรเป็นวิถีแรก ลืมไม่ได้เลย เรื่องวิถีแรก จิตที่เป็นวิถีแรกมีเพียง ๒ ประเภท ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีแรกทางปัญจทวาร มโนทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีแรกทางมโนทวาร

    เพราะฉะนั้นมโนทวาราวัชชนะไม่ใช่มโนทวาร เพราะมโนทวารคือภวังคุปัจเฉทะ แต่มโนทวารไม่ใช่วิถีจิตเพราะเป็นภวังค์ แต่วิถีจิตแรกเป็นมโนทวาราวัชชนะซึ่งเป็นวิถีจิต เมื่อมโนทวาราวัชชนะดับ กุศลจิตหรืออกุศลจิตก็เกิด ทุกครั้งที่ทุกคนคิดนี้เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตที่คิด ถ้าเป็นพระอรหันต์คิด ทุกครั้งที่คิดเป็นกิริยาจิต เราคิดถึงคำว่าพระนครสาวัตถี ทุกคนคิดได้ใช่ไหม หรือคิดถึงคำว่าบางลำพู หรือคำว่าอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราจะคิดอะไรก็คิดได้ทั้งนั้นเลย พระอรหันต์คิดเหมือนกัน ท่านก็คิดพระนครสาวัตถี แต่จิตที่คิดต่างกัน เราไม่มีการที่จะคิดถึงคำว่าพระนครสาวัตถีด้วยกิริยาจิต และพระอรหันต์ก็ไม่มีการที่จะคิดถึงคำว่าพระนครสาวัตถีด้วยกุศลจิต หรืออกุศลจิต เพราะฉะนั้นเรื่องของคำหรือเรื่องที่คิด แล้วแต่จิตขณะนั้นก็เป็นจิตอะไรที่คิด แม้ว่าคิดเรื่องเดียวกันแต่ว่าคิดด้วยกุศลจิตหรืออกุศล คำเดียวกันแล้วแต่คิดด้วยกุศลจิต อกุศลจิต หรือกิริยาจิต

    สำหรับทางมโนทวารเนื่องจากไม่มีอารมณ์มากระทบ ไม่มีรูปกระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย จึงไม่มีจักขุวิญญาณ ไม่มีสัมปฏิจฉันนะ ไม่มีสันตีรณะ ไม่มีโวฏฐัพพนะ หลังจากภวังคุปัจเฉทะแล้วก็เป็นมโนทวาราวัชชนะ และหลังจากที่มโนทวาราวัชชนะดับแล้ว ก็เป็นกุศล และอกุศล ซึ่ง กุศล อกุศล ทางมโนทวาร เกิด ๗ ขณะ ทุกครั้งที่เป็นกุศลหรืออกุศล จะเกิดดับสืบต่อเป็นจิตประเภทเดียวกัน ๗ ขณะ ก็เป็นชีวิตประจำวัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทางปัญจทวารจะต้องมีจิตอะไรเกิดบ้าง และทางมโนทวารจะมีจิตอะไรเกิด

    ผู้ฟัง ปฏิสนธิ ภวังค์ มีอารมณ์เดียวกันคืออารมณ์ของชาติที่แล้ว และจุติจิตที่จะเกิดกับเราในชาตินี้

    ท่านอาจารย์ ปฏิสนธิจิต ภวังค์จิต จุติจิต เป็นผลของกรรมเดียวกัน เพราะฉะนั้นก็มีอารมณ์เดียวกัน

    ผู้ฟัง จุติจิตที่จะเกิดกับเราในชาตินี้ก็มีอารมณ์ของชาติที่แล้วด้วยหรือ

    ท่านอาจารย์ ปฏิสนธิจิตมีอารมณ์อะไร ดับไปแล้ว กรรมที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด ก็ทำให้ภวังคจิตเกิด ประเภทเดียวกันมีอารมณ์อย่างเดียวกัน และจุติจิตก็เช่นเดียวกัน

    ในคราวก่อนก็ได้พูดถึงเรื่องจุติจิต ว่าเป็นขณะที่ไม่รู้สึกตัวเหมือนขณะที่เป็นปฏิสนธิ เหมือนขณะที่เป็นภวังค์ เพราะฉะนั้นไม่น่ากลัวเลย ต่อไปนี้ก็ไม่มีใครจะกลัวความตายแล้วใช่ไหม เห็นๆ อย่างนี้พอวาระนั้นดับหมด จุติจิตก็เกิดได้ กำลังได้ยิน ได้ยินเสร็จแล้ว จุติจิตก็เกิดได้ ทุกทวารหมด เมื่อดับไปแล้วจุติจิตก็เกิดได้ และขณะที่จุติจิตเกิดไม่รู้สึกตัว แล้วจะกลัวอะไร ถ้ากลัวความเจ็บ ก่อนจะตายเราก็เคยเจ็บ แล้วก็คิดถึงเจ็บ แล้วก็เป็นห่วงเจ็บ แต่ไม่ตาย เพราะจุติจิตไม่เกิด ขณะที่ใกล้จะตายก็เจ็บ คิดถึงเจ็บ เป็นห่วงเรื่องเจ็บ แต่จุติจิตเกิดเราไม่ทันรู้ตัวเลย ก็เป็นสิ่งที่ธรรมดาที่สุด ไม่ต้องกลัว อาจจะคิดกลัวเพราะว่าไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วความตายจะมาถึงเมื่อไร ได้หมดเลย

    ผู้ฟัง ที่กล่าวว่าภวังคจิตที่แต่ละคนมีนี้ จะซ้ำกับของเมื่อชาติที่แล้ว

    ท่านอาจารย์ ภวังค์ชาตินี้กับภวังค์ชาติก่อนจะซ้ำกันไม่ได้ เพราะว่าเป็นแต่ละบุคคล ต้องไม่สับสน เพราะว่าเวลาพูดถึงชาติที่แล้ว หมายความว่าปฏิสนธิจิตชาตินี้ มีอารมณ์เดียวกับจิตใกล้จุติของชาติก่อน

    เวลาที่เรามีตรา แล้วเราประทับตรา รูปของที่เราประทับแล้วกับตัวตราเหมือนกันไหม เสียงสะท้อนเหมือนเสียงเดิมหรือไม่ หรือไปสะท้อนเสียงอื่น ไม่เปลี่ยนใช่ไหม หมายความว่าก่อนจะจุติ จิตใกล้จะตาย แล้วแต่ว่าเป็นผลของกรรมใด ถ้าเป็นผลของกุศลกรรมก็จะทำให้จิตรู้อารมณ์ที่ทำให้กุศลจิตเกิด เพราะฉะนั้นเวลาที่กุศลจิตเกิดก่อนจุติ จะเป็นชนกกรรมคือกรรมที่ทำให้เกิด เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดโดยมีอารมณ์สืบต่อจากจิตใกล้จุติของชาติก่อน แต่เมื่อข้ามภพชาติก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ เพราะเหตุว่าไม่ใช่วิถีจิต เป็นอารมณ์ของชาติก่อน แต่ว่าสืบต่อ

    ทุกขณะในขณะนี้เวลาเห็นแล้ว เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาดับแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว ทางใจยังรู้สิ่งที่ทางตาเห็นสืบต่อ จะต้องคู่กันไปทุกครั้ง เวลาที่ศึกษาต่อไปจะทราบได้ว่าหลังจากที่วิถีจิตทางตาดับเป็นภวังค์แล้ว มโนทวารวิถีจิตจะเกิดขึ้นรับรู้อารมณ์สืบต่อจากทางปัญจทวาร ทำให้เราสามารถที่จะเข้าใจสิ่งนั้นว่าเป็นอะไร นี่ก็เป็นเรื่องความละเอียดของจิตต่อไป

    สำหรับวันนี้ก็กล่าวถึงกิจของจิตที่ ๑๒ คือ ชวนกิจ

    ผู้ฟัง ในขณะที่คนใกล้จะตาย คิดว่าจะต้องมีภวังค์เกิดหลายวาระ

    ท่านอาจารย์ เวลาจะตายจริงๆ หลังเห็นแล้ว ชวนจิตดับแล้ว จุติจิตเกิดต่อได้ หรือว่าหลังจากที่ชวนจิตดับไปแล้ว จะมีจิตอีกจิตหนึ่ง ซึ่งยังไม่ได้กล่าวถึงในวันนี้ เกิดต่อ แล้วจุติจิตก็เกิดได้ หรือว่าหลังจากที่ชวนจิตดับแล้ว ภวังคจิตเกิด และจุติจิตก็เกิดได้

    เพราะฉะนั้นอย่างไร ก็ตาม ก่อนที่จะจุติจิตเกิด จะต้องมีกุศลจิตหรืออกุศลจิตเกิดก่อน

    ผู้ฟัง ก่อนที่จะจุติ ถ้าหากว่ากำลังไม่สบาย แล้วก็มีคนมากระซิบบอกให้นึกถึงพระพุทธเจ้า ไม่ทราบว่าอารมณ์นั้นจะสืบต่อไปถึงจุติหรือไม่

    อ.สุภีร์ จริงๆ แล้ว กระซิบแล้ว ไม่รู้จะจุติจริงหรือไม่ เพราะว่าจุติจิตนี้เป็นผลของกรรมใช่ไหม ถึงจะกระซิบแล้ว นึกว่าจะตายแล้ว แต่ว่าอาจจะอยู่ต่อไปอีกก็ได้ คนที่กระซิบอาจจะตายก่อนก็ได้ ก็ไม่มีอะไรแน่นอนเลย ก็คือว่าก่อนจะตาย ก็จะมีกุศลหรืออกุศลเกิดขึ้นเท่านั้นเอง เช่น ถ้าตอนเย็นนี้ จะไปนอน ก็จะมีกุศล อกุศล เกิดก่อน แล้วภวังค์เกิดต่อตอนหลับสนิทใช่ไหม จุติจิตก็สามารถเกิดต่อจากภวังค์ได้ ดังนั้นก็ไม่แน่นอน

    คราวก่อนเราก็ได้พูดถึงเรื่องของกิจของจิต เพราะว่าตั้งแต่เช้าจนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ เราคงจะไม่ทราบเลยว่าจิตไม่เคยขาดเลยสักขณะเดียว จิตเกิดขึ้นทำกิจการงาน ๑ใน ๑๔ กิจ เพราะว่ากิจหน้าที่ของจิตทั้งหมดนี้มี ๑๔ กิจ แต่ว่ากิจหนึ่งซึ่งวันนี้ไม่ได้ทำ ไม่ทราบท่านผู้ฟังนึกออกไหม กิจหนึ่งของจิตที่ไม่ได้ทำในวันนี้ คือกิจอะไร ปฏิสนธิกิจ ซึ่งเป็นจิตขณะแรกที่เกิด ทำกิจสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน

    เพราะฉะนั้นปฏิสนธิกิจจะไม่เกิดอีกเลย จะไม่มีจิตใดๆ ทำปฏิสนธิซ้ำสอง ในชาติหนึ่ง เมื่อจิตซึ่งเป็นวิบากซึ่งเป็นผลของกรรมหนึ่ง ทำหน้าที่เกิดสืบต่อเป็นขณะแรกของชาตินี้ สืบต่อจากจิตขณะสุดท้ายของชาติก่อนซึ่งทำจุติกิจ จุติก็คือเคลื่อนพ้นสภาพความเป็นบุคคลนั้นสู่ความเป็นบุคคลใหม่ ซึ่งทุกคนได้เกิดมาแล้วในชาตินี้เป็นคนใหม่จากชาติก่อน ไม่สามารถกลับไปเป็นคนเก่าได้อีกเลย และในชาตินี้ก็จะมีจุติจิตซึ่งจะทำกิจขณะสุดท้ายของชาตินี้คือจุติกิจ และก็ต่อไปก็จะสืบต่อด้วยปฏิสนธิกิจ เพราะฉะนั้นทั้งวันๆ จิตทั้งหมดมี ๑๔ กิจ แต่ว่ากิจหนึ่งซึ่งไม่ได้ทำเลยตั้งแต่เช้ามาก็คือปฏิสนธิกิจ ๑กิจ และอีกกิจหนึ่งซึ่งยังไม่ได้ทำในชาตินี้ก็คือจุติกิจ เพราะฉะนั้นก็มี ๑๒ กิจ

    ในการศึกษาธรรมเราจะเห็นพระปัญญาคุณของพระอรหันตพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเราก็ได้สรรเสริญพระคุณโดยการใช้คำว่า อิติปิโสภควา แม้เพราะเหตุนี้พระผู้มีพระภาคทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ถ้ายังไม่ได้ศึกษาเลยเราจะทราบไหมว่า แม้เพราะเหตุนี้คือเพราะเหตุอะไร จึงได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่ทรงตรัสรู้สภาพธรรมที่มี เหมือนธรรมดา เหมือนปกติทุกวัน แต่ผู้ที่รู้ว่าสภาพธรรมที่ทุกคนคิดว่าเป็นปกติ แท้ที่จริงแล้วก็เป็นสภาพธรรมซึ่งเกิดขึ้นเมื่อมีเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป รวดเร็วมาก ทีละขณะ คือจิต และเจตสิกซึ่งเกิดขึ้นทำกิจการงานร่วมกัน ตลอดเวลา ไม่เคยหยุดเลย

    เพราะฉะนั้น วันนี้ ท่านผู้ฟังทุกท่าน ลองคิดถึงว่า ตั้งแต่เช้าจนถึงขณะนี้ ได้เห็นอะไรบ้าง ได้ยินอะไรบ้าง ได้กลิ่นอะไรบ้าง ลิ้มรสอะไรบ้าง กระทบสัมผัสอะไรบ้าง ที่นี้ก็มีเข็มกลัดตัวหนึ่ง ก็ยังโชคดีซึ่งยังไม่ได้ถูกแทง ก็ยังไม่ถึงกาลซึ่งผลของกรรมจะให้ผลทางกาย ทำให้มีการรู้สิ่งที่กระทบกายซึ่งเป็นทุกข์เพราะเจ็บ

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าเราไม่พ้นจากผลของกรรม ถ้าเหตุว่ากรรมในแสนโกฏิกัปป์ที่ได้กระทำแล้ว มีปัจจัยที่จะให้เกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ ในลักษณะไหนก็ได้ ไม่มีใครคิดว่าจะมีการเห็นอะไรเมื่อไร หรือว่าจะกระทบอะไรเมื่อไร เรื่องของกรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก

    เพราะฉะนั้นวันนี้จะเห็นความน่าอัศจรรย์ของชีวิต ซึ่งก็คือจิตแต่ละขณะที่เกิดทำหน้าที่สืบต่อไม่ขาดสายเลย และสิ่งที่จิตเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ เช่นเห็น หรือได้ยินก็ตามแต่ แม้สักครู่หนึ่งก็ดับไป ไม่เหลืออีก จะมีจิตเกิดซ้ำกัน ๒ ขณะไม่ได้เลย จิตเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ โดยที่ว่าจิตเป็นสภาพที่เป็นอนันตรปัจจัย ไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนลักษณะของธาตุหรือธรรมชนิดนี้ได้ ซึ่งธาตุชนิดนี้คือนามธรรม จิต และเจตสิกนี้ เกิดทำกิจนิดเดียวเฉพาะกิจหนึ่งๆ แล้วก็ดับ แต่ว่าจิตนั้นก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อ

    เพราะฉะนั้นความวิจิตรของความคิดของเราเอง ไม่ต้องของคนอื่น เฉพาะเรา ตั้งแต่เช้ามาถึงขณะนี้ ก็นับไม่ถ้วนว่าเราเห็นอะไรแล้วเราคิดอะไร เราชอบหรือไม่ชอบ เราเข้าใจสภาพธรรมนั้นแค่ไหน เรามีโลภะหรือโทสะ มีความเมตตา มีความกรุณา หรือว่าแล้วแต่เรื่อง บางเรื่องเราก็โกรธใช่ไหม อาจจะขุ่นใจนิดๆ ตามหน้าหนังสือพิมพ์ ตามเรื่องราวที่ได้ยิน ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เราเลย แต่เป็นจิตแต่ละขณะ ซึ่งเกิดพร้อมกับเจตสิก และก็ทำหน้าที่นั้นๆ ซึ่งเมื่อดับไปแล้วเราก็ลืมใช่ไหม ขณะใหม่คือขณะเดียวนี้เท่านั้นที่กำลังปรากฏ ผู้ที่มีปัญญาสามารถที่จะหยั่งรู้ได้ว่าขณะนี้ก็กำลังเกิดดับ ทำกิจแต่ละขณะของจิต นี่ก็คืออิติปิโสภควา อรหันตสัมมาสัมพุทโธ แม้เพราะเหตุนี้แม้เพราะเหตุนี้ เหตุที่ทรงตรัสรู้สภาพธรรมที่กำลังเป็นจริงในขณะนี้ จึงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณ ถ้าไม่ทรงแสดงพระธรรมไว้ตั้งแต่เมื่อ ๒๕๐๐ กว่าปี แล้วก็ไม่มีพระอรหันต์ทั้งหลายที่ทรงจำ สืบต่อพระธรรม เราก็ไม่มีโอกาสที่จะได้ยินได้ฟังเลย เพราะฉะนั้นก็ไม่แน่ว่าเมื่อไหร่เราจะมีโอกาสได้ฟังพระธรรมให้เข้าใจยิ่งขึ้นๆ แต่ละครั้งไป

    สำหรับเรื่องกิจของจิตนี้ จริงๆ แล้วไม่ยากเลย ถ้าเราใช้ภาษาธรรมดา แต่จำเป็นที่จะต้องใช้ภาษาบาลีด้วย มิฉะนั้นเราก็จะพูดแต่ภาษาไทยแล้วก็ย้อนกลับไปหาภาษาบาลีซึ่งเป็นคำเดิมไม่ได้

    เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องคงภาษาบาลีไว้ ซึ่งถ้าเราสามารถที่จะเข้าใจความหมาย การจำของเราก็ไม่จำเป็นต้องท่องเลย เช่นปฏิสนธิจิต อาจจะใหม่สำหรับบางท่าน ซึ่งก็ไม่เคยได้ยินคำนี้เลยเพราะว่าเป็นภาษาบาลี แต่คนที่ศึกษาธรรมก็จะได้ยิน แต่ว่าคนที่ไม่ได้ยินจะสับสนระหว่างจุติกับปฏิสนธิ เพราะบางคนเข้าใจว่าจุติคือเกิด เทวดาจุติลงมา แต่ว่าความจริงต้องตายจากความเป็นเทวดา จุติแล้วก็เกิดที่ไหนก็ได้ ในมนุษย์ ก็แล้วแต่กรรม หลังจากที่จุติแล้วก็เกิดในนรกได้

    เพราะฉะนั้นทุกคน ตราบใดที่ยังไม่เป็นพระโสดาบันบุคคล ไม่มีการรับรองเลย ว่าใครจากโลกนี้แล้วจะไปที่ไหน แต่ก็เป็นที่อุ่นใจว่าทั้งๆ ที่เราก็ได้ฟังพระธรรมไม่มากในชาติก่อนๆ สำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มจะฟัง แต่ก็มีกุศลที่ทำให้สามารถทำให้ปฏิสนธิเกิดเป็นมนุษย์ในภูมินี้ได้แล้ว ก็มีโอกาสได้ฟังพระธรรม

    เพราะฉะนั้นในขณะที่กำลังฟัง เป็นกุศลประเภทหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยปัญญา ก็เป็นกุศลที่ดีกว่ากุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา เพราะแม้แต่การให้ทานไม่ประกอบด้วยปัญญา ศีลก็ไม่ประกอบด้วยปัญญา แต่ว่าการฟังธรรมนี้ ขณะใดที่มีความเข้าใจเกิดขึ้นขณะนั้นก็ไม่ใช่เรา แต่ว่าเป็นจิตที่ทำกิจ ต่อไปจะได้ทราบว่าจิตที่เป็นกุศล ทำกิจอะไร

    ในคราวก่อนเราก็ได้พูดถึงเรื่องกิจของจิตตั้งแต่ขณะแรก ที่ปฏิสนธิกิจเมื่อว่าดับไปแล้วก็เป็นภวังคกิจเรื่อยๆ ขณะที่เป็นภวังคกิจ ก็จะไม่มีการรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทางเลย เมื่อคืนนี้ก็มีแล้วใช่ไหม ภวังคกิจ ตอนเช้าพอตื่นขึ้นก็ไม่ใช่ภวังค์ เพราะเหตุว่าขณะที่เห็น ขณะที่ได้ยินขณะที่ได้กลิ่น ขณะที่ลิ้มรส ขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ขณะที่คิดนึก ไม่ใช่ภวังค์ พวกนี้เป็นกิจทั้งหมดเลย แต่ต่อไปก็จะเป็นชื่อภาษาบาลีว่าเป็นกิจอะไร


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 6
    28 ต.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ