สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 040
สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ ๔๐
วันจันทร์ที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๔๕
ท่านอาจารย์ ขณะที่เป็นภวังคกิจ ก็จะไม่มีการรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทางเลย เมื่อคืนนี้ก็มีแล้วใช่ไหม ภวังคกิจ ตอนเช้าพอตื่นขึ้นก็ไม่ใช่ภวังค์ เพราะเหตุว่าขณะที่เห็น ขณะที่ได้ยิน ขณะที่ได้กลิ่น ขณะที่ลิ้มรส ขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ขณะที่คิดนึก ไม่ใช่ภวังค์ พวกนี้เป็นกิจทั้งหมดเลย ต่อไปก็จะเป็นชื่อภาษาบาลีว่าเป็นกิจอะไร
ขอเชิญคุณสุภีร์ ต่อเรื่องกิจของจิตต่อจากภวังค์ ซึ่งเราก็ได้กล่าวถึงแล้ว แต่ขอทบทวนอีกครั้ง
อ.สุภีร์ กิจของจิตที่ได้กล่าวไปแล้ว เรียงไปตามลำดับ กิจแรกก็คือปฏิสนธิกิจ กิจที่สืบต่อมาจากชาติที่แล้ว เป็นกิจแรกในชาตินี้ กิจต่อมาก็คือภวังคกิจ กิจที่ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ไว้จนกว่าจะตายไป เมื่อไม่มีกิจอื่นๆ ภวังคกิจทำกิจดำรงภพชาติต่อไปเรื่อยๆ ซึ่ง ๒ กิจนี้ ไม่รู้อารมณ์ของโลกนี้เลย ต่อไปกิจที่ ๓ เป็นกิจในวิถีจิต ที่รู้อารมณ์ของโลกนี้ คืออาวัชชนกิจ เป็นกิจที่กระทำหน้าที่รู้ว่ามีอารมณ์มาให้รู้ เป็นกิจแรกในวิถีจิต ในวิถีจิตที่ ๒ จะมีกิจอยู่๕กิจเพิ่มขึ้นมา ก็คือมีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น ลิ้มรส และกระทบสัมผัส อันนี้เป็นภาษาไทย ถ้าเรียกโดยกิจตามภาษาบาลี กิจที่ ๔ ก็จะเป็นกิจเห็น คือ ทัสสนกิจ กิจที่ ๕ คือกิจได้ยิน สวนกิจ กิจที่ ๖ กิจได้กลิ่น ฆายนกิจ กิจที่ ๗ กิจลิ้มรส สายนกิจ กิจที่ ๘ กิจถูกต้องกระทบสัมผัส คือ ผุสสนกิจ เหล่านี้เป็นวิบากจิตทั้งหมด เป็นผลของกรรม แล้วต่อมาด้วยผลของกรรมก็ให้มีกิจต่อมาก็คือสัมปฏิจฉันนกิจ รับอารมณ์ต่อมา เป็นกิจที่ ๙ ต่อไปก็เป็นสันตีรณกิจ เป็นกิจที่ ๑๐ ซึ่ง ๓ วิถีที่ผ่านมา ก็คือเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส สัมปฏิจฉันนกิจ สันตีรณกิจ เหล่านี้เป็นวิบากจิตทั้งหมด เป็นชาติวิบาก ต่อไปก็เป็นกิจที่ ๑๑ คือโวฏฐัพพนกิจ กิจที่กระทำทางให้จิตเป็นกุศลหรืออกุศลเกิดขึ้น กิจต่อไป เป็นกิจที่ ๑๒ ก็คือ ชวนกิจ คำว่าชวนะ หมายถึง การแล่นไป ถ้าแปลตามศัพท์ ชวนะแปลว่าแล่นไปอย่างเร็ว ถ้าในภาษาไทยก็เอามาใช้ คำว่า มีเชาว์ดี ก็คือเอามาจากคำว่าชวนะ แปลว่าแล่นไปอย่างเร็ว หมายถึงแล่นไปในอารมณ์ เพราะว่าเป็นจิตประเภทเดียวกันที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์สืบต่อกัน ตามปกติก็ ๗ ขณะ เป็นกิจที่ ๑๒ ก็คือชวนกิจ
ท่านอาจารย์ ก็มีชื่อมาก ค่อยๆ จำ ก็คงจะสะดวก คือหมายความว่าไม่ต้องจด แต่พยายามฟังให้เข้าใจ และก็จำไปเอง เช่นปฏิสนธิกิจ ผ่านไปแล้วไม่มีปัญหา ภวังคกิจก็ไม่มีปัญหาเพราะว่าเราใช้คำนี้บ่อยๆ แต่เราก็ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่าหมายความถึงขณะที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึกเพราะเหตุว่าพวกนี้เป็นจิตที่ต้องอาศัยทวาร แต่ภวังคจิตไม่ต้องอาศัยทวารหนึ่งทวารใดเลย ทวารคือทางที่จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์อื่นที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์ เพราะเหตุว่าจิตในการเป็นสภาพรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ สิ่งที่ถูกรู้ ภาษาบาลีใช้คำว่าอารัมมณะ จิตที่จะเกิดโดยไม่มีอารมณ์ไม่ได้เลย เพราะว่าเมื่อจิตเป็นสภาพรู้ ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้
เพราะฉะนั้นเมื่อมีจิตก็ต้องมีอารมณ์ ถ้ามีอารมณ์ไม่มีจิตได้ไหม ถ้ามีอารมณ์ไม่มีจิตไม่ได้ เพราะอารมณ์หมายความถึงสิ่งที่จิตรู้ มีรูปแต่รูปไม่เป็นอารมณ์ได้ไหม ได้ เพราะฉะนั้นจำกัดตายตัว ถ้าใช้คำว่าอารมณ์ ต้องหมายความว่าจิตกำลังรู้สิ่งนั้นทางหนึ่งทางใด
เพราะฉะนั้นสำหรับ ภวังคจิตซึ่งเกิดดับสืบต่อ ยังมีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิตยังไม่เปลี่ยนไปรู้อารมณ์อื่นเลย ก็ทำหน้าที่ภวังค์ไปเรื่อยๆ แต่ว่าเวลาที่จะรู้อารมณ์อื่น ต้องอาศัยทางซึ่งเป็นทวาร ซึ่งมีอยู่ ๖ ทาง ตาจักขุปสาทรูป เป็นรูปพิเศษสามารถกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ถ้ากรรมทำให้ใครคนใดคนหนึ่งในที่นี้ไม่เป็นเหตุให้จักขุปสาทเกิด คนนั้นตาบอดทันที ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย เพราะจักขุปสาทรูปเป็นรูปซึ่งเกิดจากกรรม กรรมทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด แล้วก็ทำให้รูปเกิดด้วยเพื่อเป็นทางที่กรรมจะให้ผลโดยเห็นอาศัยจักขุปสาทรูป ถ้าได้ยินอาศัยจักขุปสาทรูปไม่ได้ แต่ต้องอาศัยโสตปสาทรูป ภาษาไทยเราก็ใช้คำว่าจักขุ โสตะอยู่แล้ว ก็ง่าย ถ้าคิดถึงทวารว่ามีจักขุทวาร มีโสตทวาร ทางจมูก เราไม่ค่อยได้ใช้ภาษาบาลีแต่ถ้าใช้ ก็คือฆานะ ฆ ระฆัง สระอา น หนู ฆานะทวาร หมายความถึงฆานปสาทรูป ซึ่งอยู่ที่กลางจมูก เป็นทางหรือเป็นทวารที่จิตจะเกิดขึ้นได้กลิ่น กลิ่นก็เป็นรูปที่มองไม่เห็น แล้วก็มีอยู่ในมหาภูตรูปคือธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม แต่เวลากระทบสัมผัส อย่างไรๆ กลิ่นปรากฏไม่ได้ หรือว่าจะกระทบลิ้น กลิ่นก็ไม่ปรากฏ แต่ต้องกระทบจมูกเท่านั้น จิตจึงจะรู้กลิ่นนั้นได้ นี่ก็เป็นทางที่ ๓ ทางที่ ๔ ก็คือชิวหาทวาร ชิวหาแปลว่าลิ้น มาจากคำอะไรในภาษาบาลีว่าอะไร
อ.สุภีร์ ชิวหา ถ้าแปลตามศัพท์ ก็แปลว่า นำมาซึ่งชีวิต
ท่านอาจารย์ ก็ลำบาก นำมาซึ่งชีวิต จะช่วยอธิบายขยายความ ความหมายของชิวหา นี้ไหม
อ.สุภีร์ ชิวหา ปกติของเขาก็คือนำอาหารต่างๆ ลิ้มรสต่างๆ มาสำหรับสัตว์ในภูมิต่างๆ ที่ต้องอยู่ด้วยอาหาร ฉะนั้นท่านจึงให้ชื่อว่าชิวหา แปลตามตัวก็แปลว่านำมาซึ่งชีวิต คำหน้า ก็คือชีวิตตะนั่นเอง ชีวิต แล้ว อวหา แปลว่านำมา รวมกันเข้าก็เป็นชิวหา แปลว่านำชีวิตมา หรือว่านำมาซึ่งชีวิต
ท่านอาจารย์ เวลารับประทานอาหารรู้สึกมีชีวิตชีวาหรือไม่ ถ้าอาหารอร่อยก็รู้สึกเบิกบานใจ ใช่ไหม เติมเปรี้ยวเติมเค็ม จะเป็นมะนาว พริก พวกนี้ที่นำมาซึ่งชีวิต เพราะว่าชิวหา เป็นสภาพที่ลิ้มรส รสที่อยู่ในมหาภูตรูป กล้วยมะม่วงอะไรก็แล้วแต่ มังคุด ทุกสิ่งทุกอย่าง ที่แตะลิ้น แล้วก็กระทบกับชิวหาทวาร คือชิวหาปสาทรูป จิตจะเกิดขึ้นลิ้มรส บางรสเราอธิบายไม่ได้เลยใช่ไหม เกินคำที่จะใช้ แต่จิตสามารถที่จะลิ้มคือสามารถที่จะรู้รสได้ทุกรส ก็เป็นทางหนึ่ง ทุกคนชอบทางนี้ใช่ไหม เด็ก ผู้ใหญ่ คนชรา จะอย่างไรก็ตาม วันไหนก็ตามก็ติดในรส เด็กเล็กๆ ยังไม่รู้เรื่องเลย เรื่องสวย เรื่องงาม เรื่องอะไรก็ยังไม่ติด แต่รส เด็กติดแล้วทันที เขาเกิดมาต่างกัน พี่น้อง คนหนึ่งก็ชอบเผ็ด คนหนึ่งก็ชอบจืด ก็เพราะเหตุว่ามีทวาร ที่จิตจะลิ้มรส และก็คงจะหลังจากที่ลิ้มรสก็คงจะเกิดจิตที่สำคัญต่อไป เพราะว่าเพียงแค่ลิ้มรสนี้ก็เป็นทางหนึ่ง เท่านั้นเอง
เพราะฉะนั้นก็ขอทวนไปช้าๆ จักขุปสาทเป็นจักขุทวารสำหรับจิตเห็น โสตปสาทเป็นโสตทวารสำหรับจิตได้ยิน ฆานปสาทเป็นฆานทวารสำหรับจิตได้กลิ่น ชิวหาปสาทเป็นชิวหาทวารสำหรับจิตลิ้มรส อยู่ที่หน้าหมดเลยใช่ไหม ส่วนบนทั้งนั้น ตา ๒ ข้าง หู ๒ ข้าง จมูก ลิ้น แต่อีกทวารหนึ่งคือกายปสาท ซึมซาบอยู่ทั่วตัว ที่สามารถรู้สิ่งที่กระทบไม่ว่าจะตรงไหนที่ปรากฏที่กาย จะเป็นลักษณะที่เย็น หรือลักษณะที่ร้อน ลักษณะที่อ่อน ลักษณะที่แข็ง ลักษณะที่ตึงลักษณะที่ไหว มีคำมากสำหรับสิ่งที่กระทบกายใช่ไหม ลื่นๆ มีไหม แล้วเป็นอะไร บางคนก็เลยสงสัย เพราะไปคิดถึงคำ แต่จริงๆ แล้วไม่จำเป็นเลย สภาพธรรมมีปรากฏ ใครจะเรียกอะไรก็แล้วแต่ จะไม่เรียกว่าลื่น เวลากระทบสัมผัสลักษณะนั้นก็เป็นอย่างนั้น
เพราะฉะนั้นสภาพธรรมจริงๆ เป็นอย่างนั้น แล้วแต่ว่าใครจะใช้ภาษา จะใช้คำ จะใช้ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น คำอะไรก็ได้ แต่ก็ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนลักษณะของปรมัตถธรรม คือธรรมเป็นสภาพที่มีจริง มีลักษณะอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ใครก็เปลี่ยนไม่ได้ อาจจะเปลี่ยนชื่อแต่ว่าเปลี่ยนลักษณะนั้นไม่ได้
เพราะฉะนั้นเราก็มี ๕ ทางแล้วใช่ไหม ตา หู จมูก ลิ้น กาย จักขุทวาร โสตทวาร ฆานทวารชิวหาทวาร กายทวาร ไม่น่าจำไม่ได้ ใช่ไหม จักขุ โสตะ ฆานะ แล้วก็ชิวหา ถ้าคิดถึงชีวิตชีวาก็อาจจะจำได้ใช่ไหม ชิวหา และกายะก็คือสิ่งที่ซึมซาบอยู่ทั่วกายที่สามารถจะรู้สิ่งที่กระทบทางกาย มีใครที่กระทบ และไม่รู้บ้างไหม ที่รู้ คือจิต ซึ่งต้องอาศัยกายปสาท ถ้าส่วนนั้นไม่มีกายปสาท จิตเกิดรู้สิ่งที่กระทบกันไม่ได้เลย
ผู้ฟัง เวลาไปถอนฟันแล้วฉีดยาชา แสดงว่าเขากั้นให้จิตมากระทบที่เหงือก หรือว่าอย่างไร
ท่านอาจารย์ โดยมากเราคิดเป็นเรื่อง แล้วเราก็จะงง แล้วเราก็จะสงสัย แต่ถ้าเราจะรู้ว่าเป็นธรรม ลักษณะของธรรม จิตเกิดดับเร็วมาก ขณะนี้ที่จิตเห็น จิตคิดไม่ได้เกิด จิตคิดจะเกิดซ้อนจิตเห็นไม่ได้ ขณะที่จิตได้ยิน จิตเห็นก็เกิดไม่ได้ เพราะว่าจิตเห็นกับจิตได้ยินจะซ้อนกันไม่ได้
เพราะฉะนั้นให้ทราบว่าไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรเมื่อไรก็ตาม ขณะนั้นมีสภาพธรรมที่รู้อะไร ไม่ได้หมายความว่า ทั้งๆ ที่เราไม่ชา แต่เราไม่รู้ก็ได้ ใช่ไหม ถ้ากำลังคิดนึกขณะนั้นจะไม่รู้สิ่งที่กระทบกาย ต้องไปถึงขณะจิตที่ละเอียดมากทีละขณะ และก็ศึกษาว่าเป็นธรรมซึ่งมีปัจจัยจึงเกิดขึ้น ถ้าไม่มีปัจจัยที่จะรู้สิ่งที่กระทบกายขณะนั้นก็ไม่รู้ ขณะนี้มีได้ยินสำหรับบางคน มีคิดนึกสำหรับบางคน มีเห็นสำหรับบางคน เพราะว่าขณะที่กำลังคิดบางคนเห็น แต่ขณะที่คนหนึ่ง คิดขณะนั้นเขาไม่เห็น จะเห็นไม่ได้ นี่ก็เป็นเรื่องของสภาพธรรม
ถ้าเรามีความมั่นคงที่จะเข้าใจเรื่องของสภาพธรรมคือจิตเจตสิกเป็นสภาพรู้ และก็มีสิ่งที่ปรากฏให้รู้โดยต้องอาศัยทวาร ทางที่จิตเกิดขึ้น ๖ ทวาร แต่ที่กล่าวถึงไปแล้ว คือ รูป ๕ รูปซึ่งเกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย
เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถที่จะหนีพ้นจากกรรมได้เลย เกิดก็เป็นผลของกรรม ขณะที่เป็นภวังค์ ยังไม่รู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดเลย ก็เป็นผลของกรรม ขณะเห็น กรรมก็ทำให้มีจักขุปสาทมีรูปกระทบ และก็จิตเห็นซึ่งเป็นผลของกรรม เป็นชาติวิบากเกิดขึ้นเห็น
เพราะฉะนั้นตั้งแต่ปฏิสนธิจิตเป็นวิบาก เป็นผลของกรรม ภวังคจิตเป็นผลของกรรม ปัญจทวาราวัชชนะ มโนทวาราวัชชนะ ที่กล่าวถึงคราวก่อน คือเป็นวิถีจิตขณะแรกที่ไม่ใช่ภวังค์ นั้นไม่ใช่ผลของกรรมแต่เป็นกิริยา ซึ่งสำหรับ ๕ ทาง ชื่อว่าปัญจทวาราวัชชนจิต สามารถที่จะรู้อารมณ์ที่กระทบได้ทั้ง ๕ ทาง อีกทางหนึ่ง คือมโนทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิตแรก เป็นกิริยาจิต แล้วจึงจะมีจิตต่างๆ เหล่านี้ซึ่งเป็นวิบากสืบต่อ
ผู้ฟัง ในกรณีที่เขาวางยาสลบหรือว่าฉีดยาชา ตอนฉีดยาชาก็รู้สึกเจ็บ แต่สัก ๒-๓ นาที ก็หายรับความรู้สึกเจ็บ เวลาถอนฟันทำความสะอาดฟันก็ไม่รู้สึก เวลาผ่าตัดเขาวางยาสลบ ตอนสลบอยู่ในภวังค์
ท่านอาจารย์ อะไรอยู่ในภวังค์
ผู้ฟัง จิต
ท่านอาจารย์ จิตเป็นภวังค์ ทำกิจภวังค์ ถ้าเราคิดเป็นเรื่อง เราจะมีแต่เรื่อง เช่นฉีดยาชา และก็เป็นภวังค์ แต่ถ้าคิดถึงจิตหนึ่งขณะที่เกิดสืบต่อกันจะทำกิจละเอียดมาก ตอนที่เป็นภวังค์ก็ทำกิจภวังค์ ทำกิจอื่นไม่ได้ เรากำลังศึกษา ไม่ใช่เรื่องคนที่ถูกฉีดยาเพื่อที่จะถอนฟัน แต่ว่าเป็นการที่จิตเกิดดับสืบต่อแล้ว แต่ว่ามีทาง ๖ ทางที่จะทำให้จิตเกิดขึ้น รู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดซึ่งไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์ แล้วก็เรื่องราวต่างๆ ค่อยมาทีหลัง โดยที่ว่าพอทุกคนรู้ว่ามีจิตทำกิจเหล่านี้ ทุกคนก็จะไม่ไปสนใจเรื่องราว แต่จะรู้ว่าขณะนี้เป็นขณะเห็น จิตทำทัสสนกิจ ขณะที่ได้ยิน จิตทำสวนกิจ ก็เป็นชื่อภาษาบาลีที่คู่ๆ กัน ถ้าเป็นจักขุวิญญาณทำทัสสนกิจ กิจเห็น เราใช้คำในภาษาบาลีบ่อยมาก ทัศนะ ทัศนา ทัศนจร ใช่ไหม เห็นทั้งนั้นเลย แต่ จร ก็ไป เพราะฉะนั้นก็ไปเห็น คือไปดูสิ่งต่างๆ นั่นเอง
ก็เป็นเรื่องสิ่งเราจะค่อยๆ เข้าใจ สิ่งที่อยู่ที่ตัวเราทั้งหมด กล่าวได้เลยว่าโลกอยู่ที่ไหน ถ้าจิตไม่เกิดขึ้น โลกไม่ปรากฏเลยสักโลกเดียว แต่เมื่อจิตเกิด รู้ทางหนึ่งทางใดก็เป็นโลกแต่ละทาง
เพราะฉะนั้นแยกโลกได้เลย ตามทวารที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้น จะรู้ได้เลยว่าโลกในวินัยของพระอริยเจ้าเพราะว่าท่านได้ประจักษ์แจ้งจริงๆ ก็คือโลกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั่นเอง เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีจิตที่รู้อารมณ์ ๖ ทางนี้โลกก็ไม่ปรากฏ
เพราะฉะนั้นเราเคยชินกับเรื่องราวทั้งหมด เราไม่เคยรู้ว่าแท้ที่จริงเป็นธรรม ซึ่งได้แก่จิต และเจตสิก ซึ่งเกิดดับสืบต่อทำกิจหนึ่งกิจใดใน ๑๔ กิจ ซึ่งในชีวิตประจำวันจะทำเพียง ๑๒ กิจเท่านั้น
ผู้ฟัง กรณีฉีดยาชา จะพูดว่าเขาไม่ให้จิตไปเกิดตรงนั้นได้ไหม
ท่านอาจารย์ ขณะนี้ทางตาเห็น ทางใจคิดถึงฉีดยาชาถูกไหม ก็เท่านี้เอง จบแล้วหมดแล้ว ก็คิดต่อไปอีกได้ เพราะว่าทุกคนจะห้ามความคิดไม่ได้เลย แล้วแต่ใจคิด นี่เห็นความน่าอัศจรรย์หรือไม่ ทั้งๆ ที่เห็นแล้วก็อยู่ตรงนี้ แต่ใจคิดถึงฉีดยาชา นี่ก็เป็นธรรมดา ซึ่งเราจะไม่รู้เลยว่าที่จะมีเรื่องราวว่าฉีดยาชาก็ต่อเมื่อว่าจิตคิด ถ้าจิตไม่คิดเรื่องฉีดยาชาจะมีไหม นี่คือทางที่ ๖ ทางใจ
ผู้ฟัง ไม่ใช่จิตคิด แต่เป็นของจริง
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีจิต ไม่มีเจตสิก ไม่มีรูป อะไรเป็นของจริง
ผู้ฟัง ในการที่มันเกิดจริงๆ
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีจิต เจตสิก รูป จะมีเหตุการณ์ใดๆ ในโลกไหม
ผู้ฟัง ก็ไม่มี
ท่านอาจารย์ อย่างไรๆ ก็ต้องจบที่จิตเจตสิกรูป จะไม่มีอื่นเลย นี่เป็นปรมัตถ์ธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง ถ้าไม่รู้ ก็เป็นเราตลอด
แต่ผู้รู้ รู้ว่าไม่มีเรา ถ้าจิตเจตสิกรูปไม่เกิด ก็ไม่มีอะไรเลย และจิตเจตสิกเกิดขึ้นทำกิจการงานทั้งนั้นเลย ทั้งวัน ทั้งเดือน ทั้งปี ตั้งแต่เกิดจนตายแม้ในขณะนี้ คุณกฤษณาจะเพิ่มเติมอะไรอีกไหม
อ.กฤษณา เรื่องของความเป็นไปของชีวิต ก็เป็นเรื่องของการเป็นไปของจิตเจตสิกรูปเท่านั้นเอง ซึ่งก็เป็นสภาพที่เป็นนามธรรมกับรูปธรรม ก็คือจิตเจตสิกเป็นสภาพที่เป็นนามธรรมคือรู้อารมณ์ ส่วนรูปก็เป็นสภาพที่ไม่รู้อารมณ์ นี่ก็คือเป็นความเป็นไปของชีวิต
แต่ว่าถ้าไม่ได้ศึกษาก็จะยึดถือสภาพความเป็นไป นี้ก็เป็นเรื่องราวเป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นคนนั้นคนนี้ เป็นเรื่องของเขา เรื่องของเรา เรื่องนั้นเรื่องนี้ สารพัดเรื่อง แต่เมื่อหวนกลับเข้ามาคิดจริงๆ แล้วก็ความเป็นไปของชีวิต ก็เป็นการเกิดดับของจิตเจตสิกรูปเท่านั้นเอง
สำหรับเรื่องที่ท่านอาจารย์ และคุณสุภีร์ได้กล่าวมาแล้ว เป็นเรื่องของวิถีจิต ที่ได้สนทนากันมาตั้งแต่เริ่มแรกเลย ซึ่งการเกิดขึ้นรู้อารมณ์ของจิตทางทวารหนึ่งทวารใดใน ๖ ทวาร ตั้งแต่ ๕ ทวารแรก ซึ่งก็มีจักขุทวารเป็นต้น มาจนถึงมโนทวาร
การที่จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์นี้ก็ต้องอาศัยทวาร ซึ่งผิดกับจิตที่ไม่ใช่วิถีจิตซึ่งเกิดขึ้นรู้อารมณ์โดยไม่ต้องอาศัยทวาร ซึ่งทุกท่านก็ได้ทราบมาจากการสนทนาครั้งก่อนๆ แล้วว่า จิตที่ไม่ใช่วิถีจิตนั้นก็คือปฏิสนธิจิต ซึ่งทำปฏิสนธิกิจ ภวังคจิตซึ่งทำภวังคกิจ และจุติจิตซึ่งทำจุติกิจ จิต ๓ ประเภทนี้ เป็นจิตที่เรียกว่าไม่ใช่วิถีจิตเพราะว่าไม่ได้เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางทวารต่างๆ เลย
เมื่อปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นแล้วเป็นขณะแรกของชีวิตนี้ ก็ทำหน้าที่เรียบร้อยแล้วเพียงชั่วขณะสั้นๆ แล้วดับไป หลังจากนั้นภวังคจิตก็เกิดขึ้นทำหน้าที่ภวังคกิจ คือดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ เรื่อยมา จนกระทั่งจะมีจิตซึ่งเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางใดทางหนึ่ง ถ้าจะรู้อารมณ์ทางปัญจทวารคือทางตาเป็นต้น ก่อนที่วิบากจิตซึ่งเป็นผลของกรรมที่จะรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดจะเกิดขึ้น จะต้องมีจิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นเป็นกิริยาจิตต่อจากภวังคจิตดวงสุดท้ายคือภวังคุปัจเฉทะ ที่ครั้งก่อนได้สนทนากันไปแล้ว
ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นทำหน้าที่อาวัชชนกิจ คือนึกถึง หรือรำพึงถึงอารมณ์ทางปัญจทวารทางใดทางหนึ่ง ถ้าเป็นทางตาก็เรียกว่าจักขุทวาราวัชชนจิต เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตหรือจักขุทวาราวัชชนจิตถ้าเป็นทางตา ดับไปแล้วจิตซึ่งเป็นวิบากจิตซึ่งเป็นผลของกรรมก็จะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา คือ สี หรือรูปารมณ์ ซึ่งจิตเห็นคือจักขุวิญญาณ ก็เป็นผลของกรรมแล้วแต่ว่าจะเป็นผลของกุศลกรรม หรืออกุศลกรรม
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 001
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 002
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 003
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 004
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 005
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 006
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 007
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 008
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 009
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 010
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 011
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 012
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 013
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 014
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 015
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 016
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 017
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 018
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 019
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 020
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 021
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 022
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 023
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 024
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 025
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 026
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 027
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 028
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 029
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 030
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 031
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 032
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 033
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 034
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 035
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 036
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 037
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 038
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 039
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 040
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 041
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 042
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 043
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 044
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 045
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 046
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 047
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 048
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 049
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 050
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 051
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 052
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 053
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 054
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 055
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 056
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 057
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 058
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 059
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 060