สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 041
สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ ๔๑
วันจันทร์ที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๔๕
อ.กฤษณา เมื่อปัญจทวาราวัชชนะจิต หรือจักขุทวาราวัชชนะจิต เป็นทางตาดับไปแล้วจิตที่เป็นวิบากจิตซึ่งเป็นผลของกรรมก็จะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ต่างๆ ทางตา คือสี หรือรูปารมณ์ เห็น ซึ่งจิตเห็นนี้คือจักขุวิญญาณ เป็นผลของกรรม แล้วแต่ว่าจะเป็นผลของกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม ถ้าเป็นผลของกุศลกรรมก็เป็นจักขุวิญญาณกุศลวิบาก ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมก็เป็นจักขุวิญญาณอกุศลวิบาก จักขุวิญญาณกุศลวิบากรู้รูปารมณ์ซึ่งเป็นที่น่ายินดีพอใจ ถ้าเป็นจักขุวิญญาณอกุศลวิบากก็จะรูปารมณ์ที่ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ เมื่อจักขุวิญญาณดับไปแล้วจะมีจิตที่เกิดขึ้นทำหน้าที่รับอารมณ์ต่อจากจักขุวิญญาณ เพียงแค่รับอารมณ์ต่อเท่านั้น คือสัมปฏิจฉันนจิตซึ่งทำสัมปฏิจฉันนะกิจ เพียงแค่รับอารมณ์ต่อจากจักขุวิญญาณ หลังจากสัมปฏิจฉันนจิตดับไปแล้ว สันติรณจิตก็เกิดขึ้นทำหน้าที่พิจารณาอารมณ์ ทั้งจักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนจิต สันติรณจิตนี้เป็นวิบากจิตซึ่งเป็นผลของกรรมเดียวกัน รู้อารมณ์เดียวกันคือรูปารมณ์ที่กำลังรู้สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนั้น หลังจากที่สันติรณจิตดับไปแล้วก็มีจิตอีกดวงหนึ่งเกิดขึ้นคือโวฏฐัพพนะจิตทำโวฏฐัพพนะกิจ คือกระทำทางที่จะให้จิตต่อไปเกิดขึ้นเป็นกุศลหรืออกุศลสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ตามการสะสมมา สำหรับผู้ที่เป็นพระอรหันต์ก็จะเป็นกิริยาจิต โวฏฐัพพนะจิตนี้ก็เป็นกิริยาจิต เมื่อโวฏฐัพพนะจิตดับไปแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของจิตที่เรียกว่าชวนจิตเกิดขึ้นทำชวนกิจคือ แล่นไปในอารมณ์ การแล่นไปในอารมณ์ไม่ใช่เป็นการแล่นไปเหมือนกับที่เห็นเด็กวิ่งเล่นอย่างนั้น เพราะว่านี้เป็นเรื่องของนามธรรม ซึ่งจิตที่ทำชวนกิจก็จะได้แก่กุศลจิตหรืออกุศลจิตรึกิริยาจิต เกิดขึ้นกระทำหน้าที่นี้ ๗ ขณะ เกิดดับสืบต่อกัน ๗ ขณะ เพราะฉะนั้นในขณะที่เป็นชวกิจ จิตที่ทำชวนกิจตรงนี้ก็จะเป็นการที่เรียกว่าสั่งสมสันดานของตนด้วยสามารถชวนวิถีตรงนี้ จะสั่งสมบุญหรือบาป หรือจะสั่งสมอัธยาศัย อุปนิสัยอะไรต่างๆ ก็ตรงที่ชวนจิตทำชวนกิจตรงนี้ ซึ่งการสั่งสมอุปนิสัยอัธยาศัยนี้ เราก็จะเห็นได้จากทุกๆ ท่านซึ่งจะมีอัธยาศัยที่แตกต่างกัน แม้แต่ในครอบครัวเดียวกัน สมาชิกในครอบครัวแต่ละคนก็จะมีอัธยาศัยที่ต่างๆ กันไป เป็นพี่น้องกัน บางคนก็ชอบรสเปรี้ยว บางคนก็ชอบรสหวาน บางคนก็ชอบเค็ม บางคนก็ชอบจืด หรือว่าในวันเดียวกัน ในเวลาเดียวกัน คนหนึ่งก็กำลังจะทำสวนอยู่ในสวน อีกคนหนึ่งก็กำลังทำอาหารอยู่ในครัว หรืออีกคนหนึ่งก็กำลังเล่นดนตรีอย่างนี้ ก็เป็นไปตามอัธยาศัยของแต่ละคนแต่ละคนที่มีอัธยาศัย มีความโน้มเอียงอย่างไรก็จะทำไปตามที่สะสมมา
ซึ่งในเรื่องของการสะสมก็มีเรื่องที่ประกอบที่จะขอยกตัวอย่างจากพระสูตร เป็นเรื่องการสะสมอุปนิสัยหรืออัธยาศัยของแต่ละคน ในปูฏทูสกชาดก ในพระสุตตันตะปิฏก ขุททกนิกาย ถ้าเป็นฉบับของมหามกุฏเล่ม ๕๘ ว่าด้วยผู้ชอบทำลาย ชอบรื้อ ซึ่งก็จะเป็นตัวอย่างที่จะประกอบให้เห็นว่าเราจะรู้จักว่าในครอบครัวของเรา หรือว่าคนที่เรารู้จัก บางคนก็ชอบระเบียบเรียบร้อยจัดข้าวจัดของ แต่ว่าบางคนก็ชอบรื้อ ทำอะไรให้รกๆ แล้วคนที่เป็นคนที่ชอบจัดระเบียบก็จะไม่พอใจบ้างหรือพอใจบ้างก็แล้วแต่การสะสมของคนนั้น ชาดกเรื่องนี้ก็มีว่า มีอำมาตย์คนหนึ่งในกรุงสาวัตถีได้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานให้ประทับนั่งในสวนเพื่อที่จะถวายทานแล้วก็ได้กล่าวว่า ถ้าภิกษุท่านใดที่ใคร่จะเที่ยวไปในสวนก็ขอนิมนต์เที่ยวไป ภิกษุทั้งหลายจึงเที่ยวไปในสวน ซึ่งในขณะนั้นคนรักษาสวนก็ขึ้นต้นไม้ซึ่งเต็มไปด้วยใบดอก และก็มีใบใหญ่ๆ มากมาย คนรักษาสวนนั้นก็ขึ้นไปบนต้นไม้แล้วก็ทำให้เป็นห่อๆ จัดเป็นห่ออย่างดีว่าห่อนี้เป็นห่อดอกไม้ ห่อนี้เป็นห่อผลไม้แล้วก็ทิ้งลงมาที่โคนต้น จัดเป็นห่อแล้วก็ทิ้งลงมา จัดเป็นห่อแล้วก็ทิ้งลงมา ฝ่ายลูกคนรักษาสวนอยู่ที่โคนต้นไม้ข้างล่าง เมื่อบิดาเขาโยนห่อผลไม้ ห่อดอกไม้ลงมา เขาก็ฉีกห่อใบไม้ ห่อผลไม้ ห่อดอกไม้ออก คือรื้อออก ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วก็ได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระศาสดาก็ตรัสว่า มิใช่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อนๆ ทารกผู้นี้ก็เป็นผู้ที่ทำลายห่อใบไม้เหมือนกัน แล้วก็ทรงเล่าเรื่องในอดีตว่าในอดีตกาลนั้น เมื่อครั้งที่พระโพธิสัตว์บังเกิดเจริญเติบโตอยู่ในตระกูลพราหมณ์ตระกูลหนึ่ง ในเมืองพาราณสี วันหนึ่งได้ไปที่สวนด้วยกรณียกิจบางอย่าง ก็มีวานรจำนวนหนึ่งอยู่ในสวนนั้น คนรักษาสวนก็ทำห่อใบไม้ให้ตกลงเหมือนอย่างที่ได้กล่าวมาตอนต้น โยนลงมาที่โคนต้นไม้ ฝ่ายวานรจ่าฝูงก็มารื้อห่อใบไม้ที่คนรักษาส่วนทิ้งตกลงมา นี้คือเรื่องในอดีต วานรนี้เป็นจ่าฝูงด้วย มารื้อแก้ออกหมด พระโพธิสัตว์จึงเรียกวานรจ่าฝูงนั้นมากล่าวว่า เจ้ารื้อห่อใบไม้ที่คนรักษาส่วนทิ้งลงมา ทิ้งลงมา เห็นจะฉลาดในการทำห่อใบไม้เป็นแน่ คือคงจะประสงค์ที่จะทำให้ห่อนี้เป็นห่อใหม่ที่น่าชอบใจมากกว่านี้ ลิงจ่าฝูงได้ฟังดังนั้นแล้วก็กล่าวว่า บิดาหรือมารดาของข้าพเจ้า มิใช่เป็นผู้ฉลาดในการทำห่อใบไม้ พวกเราได้แต่รื้อของที่เขาทำไว้แล้วๆ เท่านั้น ตระกูลของข้าพเจ้านี้มีธรรมดาเป็นอย่างนี้ นี่คือธรรมดาของตระกูลเขา พระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้นก็ได้กล่าวว่า ธรรมดาของพวกท่านเป็นถึงเช่นนี้ก็สภาพที่มิใช่ธรรมดาจะเป็นอย่างไร ขณะธรรมดาเป็นอย่างนี้ถ้าไม่ธรรมดาจะขนาดไหน ขอพวกเราอย่าได้เห็นธรรมดาหรือไม่ใช่ธรรมดาของท่านทั้งหลายในกาลไหนๆ เลย ครั้นกล่าวแล้วจึงติเตียนหมู่วานรแล้วก็หลีกไป พระศาสดาได้ทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วก็ทรงประชุมชาดกว่า วานรในครั้งนั้นก็ได้เป็นทารกผู้ทำลายห่อใบไม้ในบัดนี้ บุรุษบัณฑิตคือพระโพธิสัตว์ในครั้งนั้นก็เป็นเราคถาคต นี้ก็เป็นเรื่องของผู้ที่มีอัธยาศัยหรือว่าได้สะสมอุปนิสัยมาในการที่จะชอบรื้อ ชอบทำลาย ซึ่งก็เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงการสะสมของชวนวิถีจิตที่เกิดดับสืบต่อกัน ๗ ขณะนั้นเอง ซึ่งก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยก็มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เป็นการสั่งสมของชวนวิถีจิตนั้น
ท่านอาจารย์ ก็เป็นตัวอย่าง ไม่ทราบว่าใครรื้อเก่งอย่างนี้หรือเปล่า ไม่ใช่ว่าจะเคย รื้อเพียงครั้งเดียวถ้าเป็นคนรื้อเก่ง ใช่ไหม ก็ต้องหลายๆ ครั้ง ใครจะเย็บเสื้อผ้าเก่งก็ต้องหลายๆ ครั้ง ใครจะทำอะไรเก่งก็ต้องหลายๆ ครั้ง ที่ฟังมาแล้วนี้เป็นธรรมหรือไม่ เป็นกิจของจิตหรือไม่ ฟังเหมือนเป็นเรื่องแต่ละชาติ แต่ความจริงโดยปรมัตถ์ธรรมสภาพธรรมจริงๆ ก็คือต้องเป็นจิต เจตสิก รูป ซึ่งเกิด และก็ทำกิจการงานแต่ละภพแต่ละชาติ ใครจะรู้ว่าลิงไม่มีอยู่ในทีนี้ในชาติก่อนๆ ใช่ไหม เคยเกิดเป็นลิงได้ไหม หรือว่าจะเคยรื้อของได้ไหม หรือว่าอุปนิสัยทั้งหมดนี้ เพราะฉะนั้นเวลาที่เราเห็นการกระทำใดๆ สามารถอ่านไปถึงอดีตที่บุคคลนั้นได้สะสมมา แต่ก็เป็นเรื่องที่ละเอียด โดยเฉพาะเรื่องของชื่อต่างๆ ของจิต ฟังดูแล้วก็รู้สึกเหมือนกับว่าจะจำดีหรือไม่จำดีหรือว่ายากไป แต่มีในหนังสือปรมัตถธรรมสังเขป ท่านที่ต้องการก็ติดต่อรับได้ แต่ว่าให้ทราบว่าทั้งหมดนี้ ถ้าเราค่อยๆ ศึกษา เราจะเห็นความจริงของชีวิตไม่ใช่แต่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียวแต่ย้อนไปถึงชาติก่อนๆ ด้วยก็เหมือนอย่างนี้ และชาติต่อๆ ไป จิตก็จะเกิดขึ้นทำกิจการงานไม่พ้นจาก ๑๔ กิจนี้
ผู้ฟัง มีเรื่องจริงอยู่ตรงที่ดิฉันแปลกใจเหมือนกัน มีสุนัขที่บ้าน เขาจะมารยาทดีพอดิฉันนั่งเอาขายื่นไป เขาจะไม่เคยข้าม เค้าจะอ้อม ดิฉันก็นึกว่าเขาต้องสะสมมาอย่างดีมาก เพราะดิฉันเองถ้าใครมาขวางๆ ก็ข้ามๆ เหมือนกัน คือเห็นถึงการสะสมจริงๆ ที่ว่าแต่ละชาติแต่ละชาติ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นพระธรรมจะทำให้เราสามารถเข้าใจแม้การเคลื่อนไหวของกาย แม้คำพูดหรือวาจาของแต่ละบุคคลได้ แต่ก็เป็นเรื่องที่ถ้าเข้าใจจริงๆ ก็จะเป็นปัญญาที่รู้ว่าขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล การศึกษาเรื่องกิจของจิต จะต้องศึกษาเรื่องชาติของจิตด้วย ซึ่งจิตทั้งหมดจะต้องเป็นชาติใดชาติหนึ่งใน ๔ ชาติคือเป็นกุศล เป็นจิตที่ดีงามชาติหนึ่งซึ่งเป็นเหตุที่จะให้เกิดผลที่ดี ซึ่งถ้าเป็นผลของกุศลจิตนั้นชื่อว่ากุศลวิบาก และก็มีหน้าที่ของกุศลวิบากหลายอย่าง ถ้าเป็นอกุศล และจิตที่ไม่ดีก็จะเป็นเหตุให้เกิดอกุศลวิบากจิต ซึ่งก็จะทำกิจของวิบากนั้นด้วย ๒ ชาติแล้ว กุศล ๑ อกุศล ๑ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดชาติที่ ๓ คือวิบากอีกชาติหนึ่งก็คือกิริยาจิต หมายความว่าไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล และไม่ใช่วิบาก แต่เป็นจิตที่เกิดขึ้นทำกิจการงานตามหน้าที่ของจิตนั้นโดยไม่เป็นเหตุให้เกิดผล และไม่ใช่ผลซึ่งเกิดจากเหตุด้วย สำหรับปฏิสนธิจิตเป็นวิบากจิตคือเป็นผลของกรรม สิ่งนี้ทุกคนก็คงจะเห็นได้ว่าเลือกไม่ได้ ไม่มีใครเลือกเกิดได้ ไม่ว่าจะเกิดกับมารดาบิดาใด เกิดที่ประเทศใด วงศาคณาญาติใดก็เลือกไม่ได้ จะเป็นคน จะเป็นสัตว์ เป็นเทพ จะเป็นอะไรก็แล้วแต่กรรมทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นถ้าเป็นผลของกุศลกรรม วันนี้ที่ฟังพระธรรมแล้วก็เข้าใจเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา เวลาที่ให้ผลปฏิสนธิจิตก็จะเป็นวิบากจิตที่เป็นกุศลวิบากที่ประกอบด้วยปัญญา แต่ก็ยังวนเวียนอยู่ในภพภูมิซึ่งเต็มไปด้วยรูป เสียง กลิ่น รสสัมผัส หรือที่เราเรียกว่าโผฎฐัพพะ หมายความว่าไม่สามารถจะพ้นไปจาก การเห็นการได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ยังไม่สามารถที่จะออกจากกามโลก หรือกามาวจรภูมิได้ ซึ่งถ้าเป็นสุคติภูมิก็จะเป็นมนุษย์หนึ่งภูมิแล้วก็เป็นสวรรค์อีก ๖ ชั้นซึ่งเป็นผลของกุศลวิบาก ถ้าเป็นผลของอกุศลวิบากก็จะเกิดในอบายภูม ๔ ซึ่งได้แก่เกิดในนรก หนึ่ง เกิดเป็นเปรต หนึ่ง เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เกิดเป็นอสูรกาย ทั้งหมดกามาวจรภูมิหรือกามภูมินี้ก็มี ๑๑ ภูมิ มนุษย์เป็นหนึ่ง ในสุคติภูมิ ๗ เพราะว่ามีสวรรค์อีก ๖
ผู้ฟัง ที่ว่าปฏิสนธินี้เกิดเพราะกรรม ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ เป็นวิบากจิต
ผู้ฟัง จะทำอย่างไรได้ว่าจะไม่ต้องมีวิบากอีก ไม่ต้องมีกรรมอีก
ท่านอาจารย์ เป็นพระอรหันต์ ถ้ายังไม่เป็นพระอรหันต์ต้องเกิด พระโสดาบันยังต้องเกิด พระสกทาคามียังต้องเกิด พระอนาคามียังต้องเกิด บุคคลที่ไม่เกิดก็คือพระอรหันต์เท่านั้น
ผู้ฟัง กิจอันที่ ๑๑ ของวิถีจิตคือโวฏฐัพพนะกิจนี้ ที่บอกว่าเป็นบาทหรือเป็นทางที่จะให้กุศล อกุศลเกิดโดยในบุคคลที่ไม่ใช่พระอรหันต์นี้ยังไม่ค่อยเข้าใจ จะเป็นเป็นทางอย่างไร
ท่านอาจารย์ เราต้องเริ่มตั้งแต่เป็นภวังค์ แล้วก็อาวัชนจิตเป็นวิถีจิตแรก คุณหมอจะเอาทางไหน ทางปัญจทวารมี ๕ เอาทวารไหน
ผู้ฟัง ทางตา
ท่านอาจารย์ ทางตา ขณะนี้ทุกคนเหมือนกับว่าเห็นเลย ไม่รู้เลยว่าก่อนเห็นต้องเป็นภวังค์ก่อน เพราะว่าสิ่งที่ปรากฏทางตายังไม่ได้กระทบจักขุประสาท ต้องเกิดจึงกระทบ ทุกอย่างที่ปรากฏนี้ต้องเกิด แต่เราไม่เห็นการเกิด ไม่เห็นการดับ แต่ให้ทราบว่าสิ่งใดก็ตามที่ปรากฏต้องเกิด ถ้าไม่เกิดจะไม่มีอะไรเลย เพราะฉะนั้นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ต้องเกิด และกระทบกับจักขุปสาทรูปซึ่งเป็นจักขุทวาร ขณะนั้นจิตยังเป็นภวังค์ แต่จากการกระทบกันของสิ่งที่ปรากฏทางตาซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่ารูปารมณ์ คือทางตาเป็นรูป ทางหูเป็นเสียง ใช้ศัพท์ภาษาบาลีว่าทางตาเป็นวัณโณหรือวัณณะ แต่ถ้ารวมกับอารมณ์ก็เป็นรูปารมณ์ รูป กับอารัมมณะ ก็เป็นรูปารมณ์ เสียงที่เป็นอารมณ์เป็นสัททารมณ์ กลิ่นที่เป็นอารมณ์เป็นคันธารมณ์ รสที่เป็นอารมณ์เป็นรสารมณ์ สิ่งที่กระทบกายเป็นโผฎฐัพพารมณ์ จะมีคำว่าอารมณ์ต่อท้ายให้รู้ว่าขณะนั้นจิตกำลังรู้สิ่งนั้น ไม่ใช่รูปอื่น ไม่ใช่สิ่งอื่น เพราะฉะนั้นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ ภาษาบาลีเรียกว่ารูปารมณ์ รูปารมณ์ขณะนี้ต้องเกิด ถ้ามืดไม่มีแสงสว่างเลย หมายความว่าแสงสว่างยังไม่ได้เกิด ยังไม่ได้กระทบกับจักขุปสาทรูป ต่อเมื่อใดสิ่งนั้นเกิดขึ้นกระทบกับจักขุปสาทรูป ขณะนั้นจิตยังเป็นภวังค์ แต่จากการกระทบของรูปารมณ์ในขณะนี้ที่ปรากฏกับจักขุปสาท เป็นเหตุให้ ภวังค์จะไม่มีอารมณ์เก่า แต่ว่าก่อนที่จะมีอารมณ์ใหม่ได้ จะมีอารมณ์ใหม่ทันทีไม่ได้ เพราะฉะนั้นเป็นภวังค์ ภวังค์อยู่เรื่อยๆ จนกระทั่งรูปารมณ์กระทบกับจักขุปสาทรูป และรูปารมณ์ที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้มีอายุเพียงแค่จิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ เร็วแค่ไหน ทุกอย่างกำลังเกิดดับเกิดดับรวดเร็วจนกระทั่งไม่ปรากฏว่าดับ แต่ขณะนี้ที่กำลังเห็น รูปารมณ์กระทบกับจักขุปสาทรูปแล้วภวังค์ก็เริ่มจะสิ้นสุดกระแสภวังค์ก่อนถึงจะสามารถรู้อารมณ์ใหม่ได้ เพราะฉะนั้นเพื่อแสดงอายุของรูปว่ามี ๑๗ ขณะ รูปที่เกิด และกระทบจากขุปสาทขณะนั้นชื่อว่า อตีตภวังค์ ใช้คำเพื่อแสดงอายุของจิต ๑๗ ขณะ เพื่อที่จะให้รู้ว่ารูปดับเมื่อไร เมื่ออตีตภวังค์ดับไปแล้ว ๑ ขณะนี้ เร็วมาก ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ เพราะภวังค์ที่เกิดสืบต่อ ใช้คำว่าภวังคจลนะหมายความว่าเริ่มจะไม่มีอารมณ์ของภวังค์ และเมื่อภวังคจลนะดับไปแล้ว ภวังคจิตขณะสุดท้ายชื่อว่าภวังคุปัจเฉทะ ถ้าภวังคุปัจเฉทะเกิดเมื่อไร วิถีจิตต้องเกิด จิตต่อไปจะเป็นภวังค์อย่างเดิมไม่ได้เพราะเหตุว่ามีรูปกระทบจักขุปสาท แล้วก่อนที่จิตเห็นจะเกิด วิถีจิตแรกก็คืออาวัชชนะจิต ซึ่งถ้าเป็นทางตาก็ชื่อว่าจักขุทวาราวัชชนะจิต จักขุทวารกับอาวัชชนะ จิตนี้เกิดขึ้นรู้สิ่งที่กระทบตาแต่ไม่เห็น เพียงแต่รู้ว่ามีสิ่งที่กระทบตา มีรูปารมณ์นั่นเองเป็นอารมณ์แต่ไม่เห็น แล้วก็ดับไปทำเอาวัชชนะกิจ จิตนี้เป็นกิริยา จากภวังค์ซึ่งเป็นวิบากแล้วก็เป็นกิริยาก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นการรู้อารมณ์อื่น เมื่ออาวัชชนะจิตหรือจักขุทวาราวัชชนะจิตดับ ขณะนี้จักขุวิญญาณเกิดขึ้นทำทัศนกิจ คือต้องพูดควบคู่กันไประหว่างทวาร อารมณ์แล้วก็กิจ ขณะนี้จักขุวิญญาณทำกิจเห็น ขณะที่เห็นเราไม่รู้ว่าก่อนเห็นต้องมีอาวัชชนะจิตเกิดก่อนเป็นกิริยาจิต แต่เมื่อกิริยาจิตนั้นดับไปแล้ว จักขุวิญญาณขณะนี้เป็นผลของกรรม ที่กล่าวว่าวันหนึ่งๆ นี้ เราไม่สามารถจะพ้นกรรมได้เลยเพราะว่ากรรมทำให้มีจักขุปสาทรูป โสตปสาทรูป ฆานะปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป กายปสาทรูป เพื่อจิตที่เป็นผลของกรรมจะเกิดขึ้นเห็น ถ้าเห็นสิ่งที่ดีเป็นจักขุวิญญาณกุศลวิบาก ถ้าเห็นสิ่งที่ไม่ดีเป็นจักขุวิญญาณอกุศลวิบาก ตอนนี้เพียงชั่วขณะเห็น ไม่นาน ชั่วหนึ่งขณะดับ จะไม่มีจักขุวิญญาณ จักขุวิญญาณ จักขุวิญญาณซึ่งเกิดซ้ำๆ กันเลย แต่จะมีจักขุวิญญาณเพียงหนึ่งขณะที่เห็นแล้วดับ แต่ว่าการเห็นที่สืบต่อก็เพราะเหตุว่าเมื่อจักขุวิญญาณดับแล้ว มีจิตซึ่งเกิดต่อเป็นวิบาก กรรมนี้จะทำให้วิบากจิตเกิดต่อทำสัมปฏิฉันนะกิจ คือรับรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาต่อ เพราะว่ารูปารมณ์ที่เกิดพร้อมกับอตีตภวังค์ยังไม่ดับ นี้หนึ่งขณะ สัมปฏิฉันนะก็ไม่เกิดหลายขณะ จักขุวิญญาณเกิดหนึ่งขณะเป็นวิบากจิต สัมปฏิฉันนะเกิดหนึ่ง ขณะเป็นวิบากจิต แค่นิดเดียวที่รับต่อดับทันที จะอยู่นานกว่านั้นจะทำกิจอื่นเกินกว่านั้นก็ไม่ได้ จะทำได้เพียงแค่กิจที่รับอารมณ์นั้นต่อจากจักขุวิญญาณเท่านั้น เมื่อสัมปฏิฉันนะจิตดับแล้วะ สันตีรณจิตเกิด นี่เป็นจิตตนิยามมะ ใครจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เป็นอนันตรปัจจัย และสมันตรปัจจัยว่าเมื่อจิตนี้ดับ สัมปฏิฉันนะดับ อนันตรปัจจัย และสมันตรปัจจัยทำให้สันตีรณจิตต้องเกิดต่อ จิตอื่นเกิดไม่ได้เลยเพราะว่าจิตที่ทำสันตีรณกิจ ภาษาไทยก็แปลออกมาพิจารณาอารมณ์ แต่ไม่พิจารณายาวๆ หนึ่ง ขณะจิตที่รู้ว่าอารมณ์นั้นเป็นอย่างไรดับแล้ว
จิตที่คุณหมอถามคือโวฏฐัพพนะกิจ ก่อนที่จะชอบหรือไม่ชอบ เพียงแค่เห็นเป็นวิบาก เป็นผลของกรรมซึ่งทุกคนต้องเกิดตามกรรมที่ให้ผลเมื่อไรจิตเหล่านี้ต้องเกิด จักขุวิญญาณต้องเกิด สัมปฎิฉันนะจิตต้องเกิด สันตีรณจิตต้องเกิด และเมื่อวิบากดับไปแล้วจะเกิดจิตที่เป็นกุศลหรืออกุศลทันทีไม่ได้ ต้องมีจิตอีกหนึ่งขณะที่ทำโวฏฐัพพนะกิจทางปัญจทวาร หมายความว่าเป็นกิริยาจิต เพียงเกิดขึ้นที่จะให้จิตต่อไปเป็นกุศลหรืออกุศลตามที่ได้สะสมมา เราทุกคนอยากจะมีกุศลกิจ ใช่ไหม แต่ว่าเวลาที่เห็นแล้วทำไมเป็นอกุศล ถ้าเราสะสมอกุศลมามากมาก เราจะพยายามสักเท่าไรก็ไม่ได้เพราะว่าเมื่อโวฏฐัพพนะจิตดับไป ต้องเป็นไปตามการสะสมว่าขณะนั้นจะเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตประเภทใด ขณะนั้นไม่ใช่วิบาก ไม่ใช่กิริยา แต่เริ่มเป็นเหตุใหม่ที่สะสมสืบต่อไปที่จะทำให้เป็นกรรมซึ่งจะให้เกิดวิบากต่อไป
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 001
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 002
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 003
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 004
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 005
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 006
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 007
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 008
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 009
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 010
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 011
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 012
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 013
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 014
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 015
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 016
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 017
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 018
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 019
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 020
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 021
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 022
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 023
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 024
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 025
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 026
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 027
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 028
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 029
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 030
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 031
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 032
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 033
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 034
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 035
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 036
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 037
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 038
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 039
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 040
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 041
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 042
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 043
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 044
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 045
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 046
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 047
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 048
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 049
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 050
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 051
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 052
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 053
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 054
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 055
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 056
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 057
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 058
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 059
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 060