สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 044


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ ๔๔

    วันจันทร์ที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๔๕


    ท่านอาจารย์ ขอเชิญคุณสุภีร์ทบทวนเรื่องกิจของจิตที่เหลือด้วย

    อ.สุภีร์ ท่านอาจารย์ก็กล่าวไป ๓ กิจด้วยกัน ก็คือปฏิสนธิ ภวังค์ และจุติ ส่วนจิตที่เหลืออีก ๑๑ กิจ อยู่ในวิถีจิตทั้งหมด แต่ว่าในชีวิตประจำวันของเรามีจิตที่เกิดขึ้นทำกิจ ๑๒ กิจด้วยกัน แต่เกิดในวิถีจิต ๑๑ กิจ และไม่ได้เกิดในวิถีก็คือภวังจิตซึ่งทำกิจภวังค์ นี้ไม่ได้เกิดในวิถีจิต ต่อไปจะกล่าวกิจของจิตที่ยังไม่ได้กล่าวเรียงตามลำดับไปในวิถีจิต ซึ่งในคราวก่อนๆ ก็ได้กล่าวมาแล้วว่าวิถีจิตถ้าแยกประเภทใหญ่ๆ แล้วก็ได้ ๒ อย่างด้วยกันก็คือ ปัญจทวารวิถีอย่างหนึ่ง แล้วก็มโนทวารวิถีอย่างหนึ่ง คำว่าปัญจทวารวิถีก็คือทางรู้อารมณ์ ๕ ทาง ก็มีทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ส่วนมโนทวารก็เป็นทางใจ เมื่อแยกใหญ่ๆ ก็ได้ ๒ วิถีก็คือปัญจาทวารวิถีหนึ่ง และมโนทวารวิถีหนึ่ง ซึ่งในทางปัญจทวารทวารวิถีนี้มีวิถีย่อยๆ อยู่ ๗ วิถีด้วยกัน ก็คือวิถีที่ ๑ มีกิจอย่างหนึ่งก็คืออาวัชชนะวิถี มีจิตที่เกิดขึ้นทำกิจคืออาวัชชนะกิจ ต่อไปวิถีที่ ๒ ปัญจวิญญาณวิถี มีจิตเกิดขึ้นทำกิจ ๕ กิจด้วยกัน ก็คือ ทัศนกิจ ๑ สวนะกิจ ๑ ฆายนะกิจ ๑ สายนะกิจ ๑ และผุสสนะกิจ ๑ ต่อไป วิถีที่ ๓ มีจิตเกิดขึ้นทำสัมปฏิฉันนะกิจ เรียกวิถีนี้ว่าสัมปฏิฉันนะวิถี ต่อมาก็เป็นสันติรนะวิถี จะทำสันติรณะกิจ ต่อไปก็จะเป็นโวฏฐัพพนะวิถีกระทำโวฏฐัพพนะกิจ ลำดับต่อไปเป็นลำดับวิธีที่ ๖ ก็คือ ชวนวิถี จิตเกิดขึ้นกระทำชวนกิจ สำหรับบุคคลทั่วไปอย่างเราเป็นปุถุชนก็มีกุศล และอกุศลนั่นเองที่เกิดขึ้นกระทำชวนกิจ สำหรับพระอรหันต์ก็มีกิริยาจิตเกิดขึ้นทำชวนกิจ สำหรับบุคคลผู้ที่ยังติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ด้วยความที่รูปยังไม่ดับไปก็จะมีวิถีจิตลำดับที่ ๗ เกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้นต่อ เรียกว่าตทาลัมพนะวิถี หรือว่าสัททาลัมพนะวิถี ทำตทาลัมพณกิจหรือว่าสัททาลัมพนะกิจ นี้เป็นวิถีจิต ๗ วิถีทางปัญจทวาร ตามปกติ แต่ถ้าเป็นทางมโนทวาร วิถีจิต ๔ วิถีที่เกิดทางปัญจทวารไม่ได้เกิดเพราะเหตุว่าไม่ได้มีการกระทบกันจริงๆ ของอารมณ์ และทวาร เพราะเหตุว่าทางปัญจทวาร จะมีอารมณ์กระทบทวารแล้วก็จะมีการนับอายุของรูปตั้งแต่เริ่มกระทบ เริ่มตั้งแต่ อตีตภวังค์ ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะไล่มาเรื่อยๆ แล้วก็เรียงตามวิถีจิต ๗ วิถีที่กล่าวไปแล้ว แต่ถ้าเป็นทางมโนทวารวิถี ไม่มีอารมณ์กระทบกับทวารโดยตรง ฉะนั้น ๔ วิถีก็คือวิถีที่เหมือนกับทางปัญจทวารจึงไม่เกิด ก็คืออาวัชชนะวิถีทางมโนทวารนี้เกิดครั้งแรกแล้วต่อไปก็เป็นชวนวิถี ต่อไปก็เป็นตทาลัมพนะวิถี หรือว่าสัทธาลัมพนะวิถี ฉะนั้นทางมโนทวารนี้มีวิถีจิตเกิดขึ้น ๓ วิถีย่อยๆ ในที่นั้น ถ้าเป็นทางปัญจทวารก็เกิดขึ้น ๗ วิถี

    ท่านอาจารย์ สำหรับผู้ที่ยังจำไม่ได้ก็มีหนังสือ และก็มีเทป ต้องฟังบ่อยๆ แต่ให้ทราบว่าก็คือชีวิตประจำวันจริงๆ ทุกวันแม้ในขณะนี้ จิตจะต้องเกิดดับสืบต่อทำกิจแต่ละกิจตามลำดับซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ จะให้จิตที่เกิดขึ้นขณะนี้ ข้ามเป็นทำกิจอื่นไม่ได้ เช่น เวลาที่เป็นภวังค์อยู่จะให้จิตเห็นเกิดขึ้นทันทีไม่ได้ ต้องให้มีอาวัชชนะวิถีจิตแรก รู้ว่าขณะนั้นมีอารมณ์กระทบก่อน และต่อไปเมื่อจิตนี้ดับไปแล้วจิตเห็นจิตได้ยินจึงจะเกิด เพราะฉะนั้นการฟังพระธรรม ถ้าเราจะคิดถึงขณะนี้พอได้ยินเรื่องเห็น ก็เข้าใจว่าก่อนจิตเห็นต้องมีจิตที่เกิดก่อนที่เริ่มรู้สึกตัวจากการที่ไม่รู้เลยเวลาที่เป็นภวังค์ อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดก็ไม่ปรากฏ ไม่รู้สึกตัวเลยทั้งสิ้นเป็นใครอยู่ที่ไหน โลกใดๆ ก็ไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้นการที่จะมีการเห็นเกิดขึ้นโดยที่มีสีสันวรรณะ เป็นรูปชนิดหนึ่งกระทบกับจักขุประสาทก่อน แล้วภวังค์ก็ไหวเพื่อที่จะเริ่มมีอารมณ์ใหม่ และเมื่อภวังค์ไหวคือภวังคจรณะดับแล้ว กระแสของภวังค์สุดท้ายก็คือภวังคุปัจเฉทะดับก่อน คือการเกิดดับสืบต่อทำงานของจิตเป็นอย่างที่เราไม่เคยคิดไม่เคยรู้มาก่อน แต่ด้วยพระปัญญาคุณที่ทรงตรัสรู้ก็เห็นความละเอียดของสภาพธรรมที่เป็นอนัตตาโดยละเอียดทุกขณะ แม้แต่จิตหนึ่งขณะจะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไรโดยแต่ละเจตสิกนั้นเป็นปัจจัยประเภทไหนก็ทรงแสดงไว้โดยละเอียด เพราะฉะนั้นถ้ามีความสนใจจริงๆ ว่าเราสามารถจะเข้าใจธรรมได้เพราะเหตุว่าขณะนี้มีเห็น ก่อนเห็นมีอาวัชชนะ ก่อนอาวัชชนะมีภวังค์ แล้วพอเห็นดับไปแล้ว ปรกติอาจจะคิดว่าเราชอบ หรือเราไม่ชอบในสิ่งที่เห็นทันที แต่นั่นเร็วไป เพราะเหตุว่าแม้จิตเห็นดับต้องมีวิบากจิตเกิดขึ้นรับรู้อารมณ์นั้นก่อน ๑ ขณะแล้วดับ แล้วก็สันติรนะคือจิตที่เกิดต่อจากสัม ปฏิฉันนะนี้ก็ยังไม่สามารถที่จะชอบหรือชังได้ เพียงแต่พิจารณาคือรู้ยิ่งกว่าสัมปฏิฉันนะจิต คือรู้ลักษณะของอารมณ์นั้นเพิ่มขึ้น ที่ใช้คำว่าพิจารณา ชั่วหนึ่งขณะแล้วดับแล้วต่อจากนั้นการที่กุศล และอกุศลจะเกิดต้องมีกิริยาจิตคือโวฏฐัพพนะทำหน้าที่ กระทำทางที่จะให้จิตต่อไปเป็นกุศล และอกุศล เพราะเหตุว่าโวฎฐัพพนะเกิดแล้วดับไป กุศลจิตหรืออกุศลจิตจึงจะเกิดได้ เช่น ในขณะนี้ทุกคนเห็นแล้วก็เกิดกุศลจิต มีศรัทธาที่จะได้ยินได้ฟังเสียงซึ่งสามารถจะทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ไม่ใช่เสียงอื่น ถ้าเป็นเสียงอื่นไม่ใช่ที่นี่ก็เป็นเสียงเรื่องธุรกิจการงาน เสียงเพลง เสียงอะไรซึ่งเสียงเหล่านั้นก็ไม่ได้ทำให้เกิดความเข้าใจสภาพธรรมได้ แต่ว่าเสียงซึ่งสามารถจะแสดงถึงลักษณะของสภาพธรรมมีศรัทธาที่จะฟัง ขณะนี้ทุกคนไม่ทราบว่าหนึ่งขณะที่กุศลจิตเกิดจะต้องประกอบด้วยโสภณเจตสิกอย่างน้อยที่สุด ๑๙ ชนิด หรือ ๑๙ ประเภท หิริต้องมี ความละอายต่อการที่จะไม่รู้ โอตตัปปะ เห็นภัยว่าถ้าไม่รู้แล้วเราก็ไม่รู้อย่างนี้ต่อไปในสังสารวัฏ มีสติ มีศรัทธา มีอโลภะ มีอโทสะ หลายเจตสิกซึ่งจะขาดเจตสิกหนึ่งเจตสิกใดไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นทรงแสดงตั้งแต่ปฏิสนธิจิตว่ามีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไรแล้วดับ ภวังคจิตเหมือนปฏิสนธิจิต เพราะเหตุว่าเป็นผลของกรรมเดียวกันที่จะทำให้เป็นบุคคลหนึ่ง ในชาติหนึ่ง ในสังสารวัฎ แต่ว่าหลังจากนั้นแล้วตอนที่จะเริ่มเห็นเริ่มได้ยิน ก็เป็นการรู้สึกตัวเป็นวิถีจิตแรกคืออาวัชชนะจิตซึ่งแปลโดยศัพท์ว่ารำพึงถึงอารมณ์ แต่ความจริงก็รู้ว่ามีอารมณ์กระทบ ขณะนั้นจะมีเจตสิกเท่ากับปฏิสนธิกับภวังค์ไม่ได้ เพราะเหตุว่าไม่ใช่ผลของกรรมที่จะดำรงความเป็นบุคคลนั้น แต่ขณะนั้นจะเปลี่ยนสภาพจากความไม่รู้สึกตัวมาสู่การเห็น เพราะฉะนั้นอาวัชชนะกิจ ซึ่งถ้าเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ๕ ทาง จะใช้คำว่าปัญจทวาราวัชชนะจิต เพราะว่าจิตนี้สามารถที่จะรู้อารมณ์ได้ ๕ ทาง จิตบางประเภทรู้อารมณ์ได้อย่างเดียว จิตบางประเภทรู้อารมณ์ได้มากกว่าหนึ่งอย่าง แต่สำหรับอาวัชชนะจิตที่เป็นปัญจัทวาราวัชชนะทั้ง ๕ ทวาร สามารถจะรู้อารมณ์ได้ทั้ง ๕ อารมณ์ คือทั้ง ๕ ทวาร นี้ก็แสดงว่าถ้าละเอียดจริงๆ ก็จะรู้ว่าเจตสิกที่เกิดกับอาวัชชนะจิตนี้ต่างกับเจตสิกที่เกิดกับภวังค์จิต ทำหน้าที่ต่างกัน และก็ภวังคจิตเป็นผลของกรรม แต่ปัญจทวาราวัชชนะจิตไม่ใช่ผลของกรรม เพราะว่าถ้าเป็นจิตที่เป็นประเภทวิบากจะต้องเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดในสองอย่าง คือต้องเป็นกุศลวิบากเป็นผลของกุศล หรือว่าอกุศลวิบากซึ่งเป็นผลของอกุศล คำว่าวิบากในภาษาไทยที่ใช้มาจากคำบาลีว่า วิปาก กรรมใดที่สุกงอมพร้อมที่จะให้ผลก็ทำให้เห็นขณะนี้ ขณะที่กำลังเห็น จิตเห็นนี้เป็นผลของกรรม แต่ไม่มีใครสามารถที่จะบอกได้ว่าวิบากจิตที่กำลังเห็นขณะนี้เป็นผลของกรรมอะไร นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งทรงตรัสรู้ทั้งหมดทุกอย่าง ไม่มีสิ่งใดที่ขวางกั้นพระญานได้เลย ไม่ว่าจะเป็นธรรมในโลกนี้หรือโลกไหนทั้งสิ้น แต่ว่าผู้ที่ฟังพระธรรมก็เริ่มที่จะเห็นพระปัญญาคุณแล้วก็รู้ว่าพุทธศาสนิกชนที่มีโอกาสจะได้ฟังก็จะเป็นผู้ที่อบรมความรู้ความเข้าใจชีวิตซึ่งขณะนี้เป็นจิตแต่ละขณะ เพราะว่าขณะนี้ภวังค์จิตก็มี อาวัชชนะจิตก็มี จักขุวิญญาณซึ่งกำลังเห็นขณะนี้ก็มี เห็นขณะนี้ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ เท่านั้นเอง นี้ก็เป็นสิ่งที่เราไม่มีโอกาสจะรู้ถ้าไม่ทรงแสดงไว้ เพราะว่ารวดเร็วเหลือเกิน จากภวังค์ ภวังคจรนะ ภวังคุปัจเฉทะ อาวัชชนะจนกระทั่งถึงจักขุวิญญาณ มีจิตเกิดเป็นวิบากบ้าง เป็นกิริยาบ้าง มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยมากบ้างน้อยบ้าง เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่วิสัยของเราที่จะไปรู้ขณะจิต แต่ว่าเราสามารถจะรู้ขณะนี้คือเห็น ก่อนเห็นที่เป็นภวังค์แล้วก็ไม่รู้ ก่อนเห็นที่เป็นปัญจทวาราวัชชนะก็ไม่รู้ แต่กำลังเห็นนี้มีจริงๆ และจิตที่เกิดหลังเห็นคือวิบากจิตซึ่งเกิดเพราะกรรมเดียวกันที่จะทำให้รู้อารมณ์เดียวกันก็คือ สัมปฏิฉันนะเกิดต่อจากจักขุวิญญาณ และก็เมื่อสัมปฏิฉันนะดับ สันติรณะเกิดต่อ คือกล่าวซ้ำไปซ้ำมาบ่อยๆ ๗ ชื่ือที่เหมือนกับ ๗ วัน เพราะฉะนั้นถ้าเราจะจำชื่อพวกนี้ก้อได้ยินบ่อยๆ ก็คุ้นหู หลังจากที่สัมปฏิฉันนะจิตดับ สันติรนะเกิดต่อ นี้เป็นวิบาก ตั้งแต่จิตเห็นสัมปฏิฉันนะ สันติรนะ กรรมทำให้จิตเหล่านี้เกิดขึ้นรับรู้อารมณ์เดียวกัน แต่ว่าหลังจากนั้นแล้วก็หมดเรื่องของวิบาก จิตที่เกิดต่อจากสันติรณะนี้จะทำหน้าที่ ที่เป็นกิริยาจิต เป็นชาติกิริยา เพราะว่าสามารถที่จะรู้อารมณ์ได้ทั้งหมดทั้งห้าทาง และหลังจากนั้นเมื่อโวฏฐัพพนะจิตดับตอนนี้ที่เราสามารถรู้ได้ ถ้าโกรธเกิดขึ้นเรารู้ ใช่ไหม เห็นแล้วไม่ชอบ ได้ยินแล้วไม่ชอบ ถ้ามีความติดข้องพอใจเราก็รู้อีกเพราะเห็นความพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือว่าเพราะได้ยินเสียงที่เราชอบ หรือเพราะได้กลิ่น แล้วก็เกิดความพอใจในกลิ่นนั้น ลิ้มรสมีความชอบไม่ชอบเราจะรู้เพียงเท่านี้เอง เพราะฉะนั้นจะมีจิตหลายประเภทที่เราไม่สามารถจะรู้ได้แต่ก็เกิดดับสลับกันจนกระทั่งอารมณ์นั้นดับ เพราะเหตุว่าอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดซึ่งเป็นรูปที่ปรากฏนี้จะมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ความรวดเร็วนี้ประมาณไม่ได้ เพราะฉะนั้นเรากำลังเรียนเรื่องของสภาพธรรมที่เกิดดับอย่างเร็วมาก ขณะที่กำลังเห็น ไม่ใช่เพียงขณะเดียว ตั้งแต่เริ่มเดินเข้ามานั่งที่นี่เหมือนกับว่าเห็นสืบต่อกันตลอดเวลา แต่ความจริงมีจิตอื่นเกิดสลับตลอดไปจนกระทั่งถึงมาโนทวารซึ่งจะต้องสืบต่อจากทางปัญจทวาร ขอเชิญคุณอรรณพกล่าวถึงเรื่องการสืบต่อของจิต เมื่อปัญจทวารวิถีดับ และก็เป็นมโนทวารวิถี

    อ. อรรณนพ เมื่อวิถีจิตทางปัญจทวารทางหนึ่งทางใด คือทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายดับไปก็มีภวังคจิตคั่น เมื่อภวังคจิตคั่นแล้ว วิถีจิตทางใจหรือมโนทวารวิถีจิตก็เกิดขึ้นสืบต่อ ซึ่งวิถีจิตทางใจ ในวิถีแรกก็จะมีอารมณ์เดียวกันกับอารมณ์คือรูปธรรมที่ดับไปทางปัญญาทวาร อย่างเช่นในขณะที่วิถีจิตทางตาหรือใช้ศัพท์ก็คือจักขุทวารวิถีจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา ตั้งแต่ปัญจทวาราวัชชนะ จักขุวิญญาณ สัมปฏิฉันะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ และชวนะซึ่งจะเป็นกุศลหรืออกุศลที่มีรูปนั้นเป็นอารมณ์ก็ตามการสะสม แล้วก็จะมีตทาลัมพนะ หลังจากนั้นก็เป็นภวังคจิต เมื่อวิถีจิตทางใจเกิดขึ้นก็มีรูปที่ดับแล้ว แต่ด้วยความรวดเร็วต่อเนื่องรูปนั้นก็ยังสืบต่อลักษณะให้เป็นอารมณ์ของวิถีจิตทางใจในวิถีแรกนั้น อุปมาเหมือนนกกับเงานก ทันทีที่ที่นกจับกิ่งไม้เงาของนกก็ทอดลงที่พื้นแผ่นดินในทันที ก็เหมือนกับเมื่อสีสันวรรณะซึ่งเป็นรูปที่เป็นอารมณ์ทางตา ทางวิถีจิตทางตาดับไปแล้วมีภวังค์คั่น แต่ความรวดเร็วของจิตนี้เร็วมาก จึงทำให้แม้ว่ารูปนั้นดับไปแล้วแต่ยังสืบต่อลักษณะให้เป็นอารมณ์ของวิถีจิตทางใจ คือมโนทวารวิถีจิต เพราะฉะนั้นมโนทวารวิถีจิตก็เริ่มจากมโนทวาราวัชชนะจิตซึ่งเป็นจิตดวงแรกของมโนทวารวิถี รูปที่เพิ่งดับไป จะเป็นรูปทางตาคือ สี หรือรูปที่รู้ได้ทางโสตทวาร หรือทางหู คือเสียงก็แล้วแต่ สืบต่อมาเป็นอารมณ์ของวิธีจิตทางมโนทวารวิถีแรกนั้น มโนทวาราวัชชนะจิตซึ่งก็เป็นจิตชาติกิริยา ที่จะกระทำทางให้รู้อารมณ์ทางใจ เราจึงเรียกว่ามโนทวาราวัชชนะจิตคือจิตที่ทำอาวัชชนะกิจโดยรู้อารมณ์ทางใจนั่นเอง เมื่อมโนทวาราวัชชนะจิตซึ่งเป็นเพียงกิริยาจิตดับไปแล้วก็เป็นชวนจิต ซึ่งจะเป็นกุศลหรืออกุศลก็แล้วแต่การสะสมสำหรับผู้ที่ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ หลังจากที่มโนทวาราวัชชนะจิตดับไป ชวนจิตก็จะต้องเป็นอกุศลหรือเป็นกุศลประเภทใดประเภทหนึ่ง ซึ่งก็มีรูปที่สืบต่อมาเป็นอารมณ์ สิ่งนั้นก็เป็นวิถีจิตทางมโนทวารซึ่งมีอารมณ์สืบเนื่องจากวิถีจิตทางปัญจทวาร หลังจากนั้นแล้วก็จะเป็นมโนทวารวิถีหลังๆ ซึ่งก็จะมีการคิดถึงเรื่องบัญญัติ ไม่ว่าจะเป็นการคิดถึงรูปร่างสัณฐาน เช่น เห็นเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ มีส่วนลึก ส่วนกว้าง หรือเป็นคน เป็นสัตว์ แล้วก็มีชื่อ มีอะไรตามมาก็จะเป็นมโนทวารวิถีต่างๆ ซึ่งก็จะมีเรื่องของบัญญัติเป็นอารมณ์ได้ด้วย แล้วก็จะเป็นการสืบต่อกันของวิถีจิตทางมโนทวารที่เกิดสืบต่อจากปัญจทวารโดยมีภวังค์จิตคั่น

    ท่านอาจารย์ ก็เหมือนกล่างถึงสิ่งซึ่งเราไม่รู้เรื่อง ใช่ไหม ทั้งๆ ที่กำลังเป็นอย่างนี้แต่ไม่สามารถที่จะรู้ได้เพราะว่าเป็นเรื่องที่ละเอียด และก็เป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าเราพยายามที่จะช้าๆ หน่อยแล้วก็คิดตาม อย่างเมื่อสักครู่นี้ มีใครกระพริบตาบ้างหรือว่านั่งกันมาตลอดนี้ไม่ได้กระพริบตาเลย ต้องมีใช่ไหม ขณะที่กระพริบตา เห็นหรือไม่ กระพริบสั้นมาก ใช่ไหม แค่นิดเดียวเอง ทุกสิ่งเหมือนปรากฏสืบต่อกัน แต่ถ้าเราจะลองคิดดูว่าขณะที่กระพริบจริงๆ ตรงนั้น เห็นหรือเปล่า เห็นไม่ได้ เพราะหลับตาแล้ว ถ้าหลับนานจะยังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้หรือไม่ ไม่เห็น ถ้ากระพริบถี่ๆ ก็อาจจะเห็น แล้วก็ไม่เห็น แล้วก็เห็น เพราะฉะนั้นการแสดงให้เห็นตามความเป็นจริงว่า ถ้ามีแต่เพียงเห็นสั้นๆ นิดเดียวแล้วหลับนานๆ หลับตา พอจะรู้ไหมว่าเห็นอะไร แค่เห็นนิดเดียวเหมือนใครที่ยกอะไรให้เราดูอย่างเร็ว เร็วมากแล้วออกไป เราสามารถที่จะรู้ได้ไหมว่าสิ่งที่เราเห็นนี้เป็นอะไร เราไม่สามารถที่จะรู้ได้ นี้ก็แสดงให้เห็นว่าถ้าเพียงเฉพาะจิตเห็น ตอนนี้จะไม่พูดถึงเรื่องของกิจต่างๆ จะพูดถึงเฉพาะกิจที่เราสามารถจะเข้าใจได้ เช่น จิตเห็นในขณะนี้ ถ้ามีเฉพาะจิตเห็นอย่างเดียว ไม่กล่าวถึงสัมปฏิฉันนะ สันติรนะ อะไรอีกแล้ว กล่าวถึงเฉพาะจิตเห็น ถ้าเพียงเห็นเท่านั้น ไม่มีการจดจำสีสันต่างๆ ที่ปรากฏ จะสามารถรู้ได้ไหมว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นอะไร แค่เห็นสีผ่านไปอย่างรวดเร็ว เหมือนขณะนี้ ถ้าผ่านไปอย่างรวดเร็วจะไม่มีการรู้ว่ามีอะไรในห้องนี้บ้าง แต่เพราะเหตุว่าหลังจากที่เห็นดับ ทางตาไม่สามารถจะรู้อะไรได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญจทวาราวัชชนะจิต หรือว่าจะจักขุวิญญาณ สัมปฏิฉันนะ สันติรนะ โวฏฐัพพนะ จนถึงชวน ความชอบไม่ชอบในสิ่งที่เห็น ถ้าเป็นปัญจะทวารวิถี ซึ่งมีรูป ๑๗ ขณะที่ยังไม่ดับ แต่ความจริงไม่รู้ทั้ง ๑๗ ขณะ ถ้ารูปเกิดพร้อมกับอตีตภวังค์ เพราะฉะนั้นกว่าจะมาถึงวิถีจิต รูปมีอายุไม่ถึง ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้นที่เรากำลังเห็นเดี๋ยวนี้ เห็นรูปที่สั้นมาก แค่เพียงแต่มีเห็นเท่านั้น เห็นแต่รูปอย่างเดียวไม่มีการจำ ไม่มีการคิดนึกใดๆ จะไม่รู้เลยว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาคืออะไร นี้เป็นความจริง แต่เนื่องจากว่า หลังจากที่เห็นแล้วทางปัญจทวารหรือทางจักขุวิญญาณที่เห็นดับแล้ว ทางใจ จิตเกิดขึ้นรับรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาต่อ พร้อมกับการทรงจำในรูปร่างสัณฐาน และเรื่องราว เพราะฉะนั้นทันทีที่เห็นอาศัยการเกิดดับสืบต่อของทางตาแล้วก็ทางใจอย่างรวดเร็ว ก็ทำให้ปรากฏว่าเราเห็นเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นสิ่งต่างๆ แต่ถ้าเราจะพิจารณาจริงๆ จิตเห็นไม่สามารถจะรู้ได้ว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นอะไร นี่คือชีวิตตามความเป็นจริงซึ่งเกิดดับสืบต่อจนกระทั่งทำให้เรามีความเข้าใจว่าเราเห็นสิ่งที่ยั่งยืน สิ่งที่เที่ยง สิ่งซึ่งไม่ดับ

    ผู้ฟัง จะเป็นไปได้ไหมว่า ขณะที่วิถีจิตทางปัญจทวารเกิดแล้วจะไม่ต่อทางมโนทวาร

    ท่านอาจารย์ ถ้าจุติจิตเกิด จริงๆ แล้วพอรูปดับ จิตต้องทำหน้าที่ภวังค์เกิดสืบต่อทันที มิฉะนั้นเราก็จุติ ที่เรายังไม่จุติเพราะว่าหลังจากที่รูปดับทางตาเหมือนกับรูปดับทางหูคือเสียงดับ ภวังคจิตต้องเกิดสืบต่อจนกว่าจะรู้อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย เพราะว่าทางที่จะรู้ก็มีแค่นี้ ส่วนทางใจต้องเกิดสืบต่อจากทางปัญจทวารทุกครั้ง

    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์กล่าวว่ามีภวังคจิตคั่น ระหว่างเห็นหรือได้ยินนี้ ภวังค์จะเกิดครั้งเดียวหรือว่าหลายครั้งหรือว่าแล้วแต่เหตุปัจจัย

    ท่านอาจารย์ ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ แต่ว่าสำหรับพระอรหันตสัมมาสัมพระเจ้า เวลาทรงแสดงยะมะกะปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์เป็นคู่ๆ ซึ่งไม่ใช่ว่าผู้ใดจะแสดงได้อย่างนั้น ก็มีผู้ที่มีความชำนาญแสดงได้แต่ก็ไม่เท่ากับพระองค์ ภวังคจิตของพระองค์มีเพียง๒ ขณะ แล้วใครจะรู้ ๒ ขณะ ถ้าไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 6
    4 ก.ย. 2567

    ซีดีแนะนำ