สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 045


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ ๔๕

    วันจันทร์ที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๔๕


    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์กล่าวว่ามีภวังค์จิตขั้นระหว่างเห็นหรือได้ยินนั้น ภวังค์จิตจะเกิดครั้งเดียวหรือว่าหลายครั้ง หรือแล้วแต่เหตุปัจจัย

    ท่านอาจารย์ ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ แต่ว่าสำหรับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาทรงแสดงยะมากะปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์เป็นคู่ๆ ซึ่งไม่ใช่ว่าผู้ใดจะแสดงได้อย่างนั้น ก็มีผู้ที่มีความชำนาญแสดงได้แต่ก็ไม่เท่ากับพระองค์ ภวังค์จิตของพระองค์มีเพียง ๒ ขณะ แล้วใครจะรู้ ๒ ขณะ ถ้าไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ผู้ฟัง แต่ก่อนพอท่านอาจารย์กล่าวว่ามีภวังค์คั่นก็นึกว่าขณะเดียว

    ท่านอาจารย์ ขณะเดียวไม่ได้ กระแสภวังค์

    ผู้ฟัง จากที่ฟังมาหลายอาทิตย์แล้วก็กล่าวถึงเรื่องของกิจของจิต อยากให้อาจารย์อรรณพช่วยกรุณากล่าวเพิ่มได้ไหมว่า จิตที่ว่ามี ๘๙ ดวง มีอะไรบ้างแล้วก็อยากเรียนอาจารย์สุภีร์ช่วยกล่าวที่ว่า ๑๔ กิจนั้น ในจิต ๘๙ นั้น กิจไหนที่เขาทำหน้าที่

    ท่านอาจารย์ คิดว่ายังไม่รู้จักจิตทั้ง ๘๙ ใช่ไหม นี้ก็แค่ภวังค์จิตก่อน ซึ่งรู้จักชาติด้วย คือเรื่องชาติของจิตสำคัญมาก เพราะเหตุว่าจิตที่เป็นเหตุจะเป็นผลไม่ได้ และจิตที่เป็นผลก็ต้องเกิดจากเหตุ เพราะฉะนั้นก็จะมีกุศล และอกุศลจิตซึ่งเป็นเหตุ และวิบากซึ่งเป็นผล ทำให้เราสามารถที่จะเข้าใจได้ว่าไม่มีใครสักคนที่จะพ้นวิบากคือผลของกรรม โดยมากเราคิดว่าเราได้รับอุบัติเหตุหรือว่าป่วยไข้ แล้วเราก็พอจะมองเห็นว่าเป็นผลของกรรม แต่ขณะเห็นนี้เป็นผลของกรรม ขณะได้ยิน ขณะได้กลิ่น ขณะลิ้มรสขณะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส จิตใดที่ชื่อว่าวิบากจิตเป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้นจึงมีกุศลวิบาก และอกุศลวิบาก ถ้ามีเหตุผลต้องมีแต่ว่าควรจะรู้ด้วยว่าผลได้แก่จิตอะไร คุณสุภีร์จะยกตัวอย่างจิตอะไรบ้างไหม เพื่อผู้ฟังจะได้ทราบเพิ่มขึ้น

    อ.สุภีร์ ก็กล่าวทั้ง ๘๙ ไปเลย รวมทั้ง ๔ ชาติ ก็เอาจำนวนไปก่อน จิตมี ๔ ชาติก็คือชาติกุศล อกุศล วิบาก และกิริยา จิตทั้ง ๘๙ ประเภทนี้แบ่งเป็น ชาติกุศล ๒๑ ประเภท ชาติอกุศล ๑๒ ประเภท ชาติวิบาก ๓๖ ประเภท และชาติกิริยา ๒๐ ประเภท ได้ครบแล้ว ๘๙ ได้ ๔ ชาติด้วย

    ผู้ฟัง อย่างนั้นเรียนถาม อ.สุภีร์ดีกว่าว่า กิจที่ ๑ อย่างปฏิสนธิกิจนี้ จิตอะไรทำได้บ้าง

    อ. สุภีร์ จิตที่ทำกิจปฏิสนธิได้มีอยู่ ๑๙ ประเภทด้วยกัน จริงจริงแล้วการที่จะศึกษาเรื่องนี้ก็ต้องศึกษารายละเอียดในเรื่องของระดับชั้นของจิตด้วยจะได้เข้าใจละเอียดยิ่งขึ้น คำว่าภูมินี้ก็คือระดับขั้นของจิตนั่นเอง จะมีอยู่ ๔ ระดับขั้น ก็คือ ๑ กามภูมิก็คือระดับขั้นกาม ๒ รูปภูมิ ๓ อรูปภูมิ ๔ โลกุตระภูมิ ซึ่งขั้นที่ ๔ ก็คือโลกุตระภูมินี้ทำกิจปฏิสนธิไม่ได้ ฉะนั้นจิตที่ทำกิจปฏิสนธิได้ก็มีอยู่ ๓ ภูมิเท่านั้นเอง ก็คือ กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ ในกามภูมิก็มีจิต ๑๐ ประเภทที่ทำกิจปฏิสนธิ ในรูปภูมิก็ ๕ ประเภท และในอรูปภูมิก็มีอีก ๔ ประเภท ซึ่งเป็นชาติวิบากทั้งหมด นี้ก็รวมเป็น ๑๙ ประเภท ปฏิสนธิจิต ภวังจิต และก็จุติจิตก็เป็นจิตประเภทเดียวกันนี้ ดวงใดดวงหนึ่ง สำหรับแต่ละท่านที่เกิดมาเป็นมนุษย์ก็เป็นเพียงดวงใดดวงหนึ่งเท่านั้น ใน ๑๙ ประเภทนี้ แต่ว่าเราเกิดในกามภูมิ ใช่ไหม ในกามภูมินี้ สำหรับในอบายภูมิก็มีจิตที่ทำปฏิสนธิได้ดวงเดียว ถ้าในสุขคติภูมิก็ ๙ ประเภท สำหรับมนุษย์เราทั่วไปก็จะมี ๙ ประเภทนั่นเองประเภทใดประเภทหนึ่ง ของทุกท่านที่นั่งอยู่ในขณะนี้ก็เป็นประเภทใดประเภทหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ คงต้องขยายความเรื่องของภูมิอีกนิด หมายความถึงจิตใน ๘๙ ชนิดมีหลายระดับ คือทั้งหมดนี้ระดับของจิตต่างกันเป็น ๔ ระดับ จิตระดับกามในที่นี้หมายความถึงรูปที่เห็นทางตา เสียงทางหู กลิ่นทางจมูก รสที่ลิ้มทางลิ้น แล้วก็สิ่งที่กระทบกาย กามภูมิถ้าเป็นที่เกิดก็คือที่เกิดซึ่งเต็มไปด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และก็จิตที่เป็นกามภูมิก็คือจิตที่ไม่รู้อย่างอื่นเลยนอกจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ วันนึงวันนึงไม่พ้นจากเรื่องราวของรูป ของเสียง ของกลิ่น ของรส ของโผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้นจิตของทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่ ผู้ที่ไม่ได้ทำความสงบระงับจากอกุศลจนกระทั่งถึงขั้นฌานจิต เมื่อฌานจิตยังไม่เกิดต้องเป็นระดับขั้นกามภูมิ คือ อย่างไรๆ ทุกวันจะพ้นจากจิตที่เป็นจิตที่รู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็เป็นกามมาวัชระจิต เป็นจิตที่วนเวียนท่องเที่ยวอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รสโผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้นขณะนี้ก็เป็นกามาวัชระจิต แต่ถ้าเป็นรูปภูมิอีกระดับหนึ่ง ก็หมายความถึงจิตที่เห็นโทษของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เช่น คนก่อนครั้งพุทธกาลเป็นผู้ที่มีปัญญามาก ก็สามารถที่จะรู้ได้ว่าทันทีที่เห็น พอใจหรือไม่พอใจต้องเกิดในสิ่งที่ปรากฏ ถ้าเห็นสิ่งที่ดีก็ติดข้องทันที ถ้าเห็นสิ่งที่ไม่ดีใจก็ขุ่น แม้เพียงนิดเดียว ขณะนั้นเขาก็เห็นโทษว่าไม่ใช่ความสงบ ถ้าเหตุว่าขณะใดที่เกิดความติดข้อง มีความต้องการ ใครสงบบ้าง อยากจะได้ ขวนขวาย แสวงหา ได้มาแล้วก็ต้องเก็บรักษาด้วยการห่วงใย และไม่อยากจะให้พลัดพรากจากไป นี้ก็แสดงให้เห็นว่าต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาที่เห็นโทษของสภาพของจิตที่ไม่สงบที่เป็นอกุศล เพราะฉะนั้นท่านเหล่านั้นก็มีปัญญา สามารถที่จะรู้หนทางที่จะทำให้จิตนี้สงบระงับจากการที่ติดข้องในรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสจนกระทั่งความสงบของจิตมั่นคงขึ้นพร้อมด้วยปัญญาถึงระดับขั้นของสมาธิระดับต่างๆ จนถึงขั้นที่เรียกว่าฌานจิตซึ่งมีรูปเป็นอารมณ์ ถ้าท่านเหล่านั้นสามารถที่จะมีฌานจิตเกิดก่อนจุติคือไม่เสื่อม อย่างท่านพระเทวทัต ท่านทำฌานได้แต่ว่าอกุศลกรรมของท่านก็ทำให้ตอนที่ใกล้จะจุติเป็นอกุศลจิตทำให้ปฏิสนธิในอบายภูมเพราะเป็นอกุศลวิบาก แต่ถ้าผู้ใดก็ตาม แม้ในครั้งก่อนการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็สามารถที่จะให้จิตสงบจนกระทั่งเป็นฌานจิตระดับต่างๆ มี ๕ ระดับ ท่านเหล่านี้เวลาที่ใกล้จะจุติ ฌานจิตเกิดท่านจะไม่เกิดในกามภูมิคือไม่เกิดในมนุษย์โลกหรือว่าในสวรรค์ แต่จะเกิดในพรหมภูมิซึ่งมีรูปเป็นอารมณ์ นี้ก็เป็นภูมิระดับของจิตระดับที่พ้นจากกาม แต่เป็นระดับของความสงบที่เป็นรูปฌานทำให้เกิดเป็นรูปพรหม ก็ยังมีผู้ที่มีปัญญายิ่งกว่านั้นอีกที่เห็นว่าตราบใดที่ยังมีรูปเป็นอารมณ์ ก็ยังใกล้ชิดต่อรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้นท่านก็สามารถที่จะละรูปที่เป็นอารมณ์โดยที่มีอรูป เช่น อากาศ วิญญาณ ความไม่มีอะไร ด้วยว่ามีอะไรก็ไม่ใช่ ไม่มีอะไรก็ไม่ใช่ แต่ว่าไม่ใช่เพียงคำแปลง่ายๆ อย่างนี้ พอไปคิดว่ามีอะไร ก็ไม่ใช่ไม่มีอะไรก็ไม่ใช่จะคิดว่าเป็นฌานจิตไม่ได้ เป็นเรื่องที่ละเอียด และก็เป็นเรื่องที่ยากด้วย แต่ว่าก็เป็นภูมิของฌานที่ไม่มีรูปเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้นแม้จิตก็เป็นอรูปฌานจิต แต่ภูมิที่เกิดซึ่งเป็นผลของกรรมนี้ก็เกิดเป็นอรูปพรหมคือมีแต่นามธรรม คือ จิต และเจตสิกเกิด ไม่มีรูปใดๆ ดีไหม ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่เดือดร้อนเพราะการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพราะไม่มีรูป เพราะฉะนั้นก็เป็นอายุที่ยืนยาวมาก นี้ก็เป็นเรื่องของภูมิของจิต

    ผู้ฟัง เมื่อเป็นพระอริยะบุคคลระดับโสดาบัน ยังจะต้องเกิดอีก ๗ ชาติเป็นอย่างมาก ใช่ไหม จะเอาจิตไหนมาปฏิสนธิ

    ท่านอาจารย์ ก็แล้วแต่ว่าพระโสดาบันนั้นได้ฌานหรือไม่ได้ฌาน ถ้าไม่ได้ฌานก็เกิดในสวรรค์ คือจะไม่เกิดในอบายภูม ๔ เลยเมื่อเป็นพระอริยะบุคคลแล้ว ถ้าได้รูปฌานก็เกิดในรูปพรหมภูมิ ถ้าได้อรูปฌานก็เกิดในอรูปพรหมภูมิ

    ผู้ฟัง ประเด็นนี้จิตดวงไหน

    ท่านอาจารย์ เป็นผลของกรรมที่สร้างเป็นกุศลกรรมทำให้ปฏิสนธิด้วยกุศลวิบาก ก็คงต้องขอประทานโทษ เพราะว่าเมื่อสักครู่นี้กล่าวไปแค่ ๓ ภูมิ ใช่ไหม ยังขาดอยู่อีกภูมิหนึ่ง อีกภูมิหนึ่งคือโลกุตรจิต มีนิพพานเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้นจิตที่เป็นโลกุตระกุศล เป็นกุศลที่ที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ ไม่ใช่มีอย่างอื่นเป็นอารมณ์ สามารถที่จะดับกิเลสได้เมื่อเป็นกุศลจิตเกิด และดับไปต้องเป็นปัจจัยให้วิบากจิตเกิด เพราะฉะนั้นสำหรับจิตภูมินี้เป็นภูมิพิเศษ คือโลกกุตรกุศลจิตได้แก่มรรคจิต โสตาปฏิมรรคจิตซึ่งเป็นโลกุตระกุศล สกทาคามีมรรคจิตซึ่งเป็นโลกุตระกุศล อนาคามีมรรคจิตซึ่งเป็นโลกุตระกุศล อรหันตมรรคจิตซึ่งเป็นกุศล เมื่อเป็นกุศลแล้วต้องเป็นปัจจัยให้เกิดวิบากจิต เพราะฉะนั้นเมื่อโลกุตระกุศลจิตดับ โลกุตรวิบากจิตจิตเกิดสืบต่อทันทีไม่มีระหว่างคั่น อย่างที่เราสรรเสริญคุณ อะกาลิโกหมายความว่าเมื่อกุศลนี้ดับแล้ว จะไม่มีจิตอื่นมาคั่นเลย ผลของกุศลนี่คือโลกุตรวิบากต้องเกิดทันที เพราะฉะนั้นเมื่อโส ตาปฏิมรรคจิตดับเป็นปัจจัยให้โสตาปฏิติผลจิตเกิด ไม่ได้ทำกิจปฏิสนธิ ไม่ได้ทำกิจภวังค์ ไม่ได้ทำกิจอื่นใดทั้งสิ้นแต่ว่ามีนิพพานเป็นอารมณ์ ผลของโลกุตระจิตที่เป็นกุศลดับไปเป็นปัจจัยให้โลกุตรวิบากจิตเกิดขึ้น มีนิพพานเป็นอารมณ์เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นสำหรับโลกุตรวิบากต่างจากวิบากอื่นๆ เพราะเหตุว่าไม่ทำกิจอื่นเลย ไม่ทำปฏิสนธิกิจ ไม่ทำภวังคกิจ ไม่ทำจุติกิจ ไม่ทำอาวัชชนะกิจ ไม่ทำกิจเห็น กิจได้ยินทั้งหมด ไม่ทำสัมปฏิฉันนะกิจ ไม่ทำสันติรนะกิจ ไม่ทำโวฏฐัพพนะกิจ ทำชวนกิจเช่นเดียวกับโลกุตรกุศล เพราะฉะนั้นถ้าได้ยินคำว่ากุศลไม่ว่าจะเป็นกามาวัชระกุศล รูปาวัชระกุศล อรูปาวัชระกุศล โลกุตระกุศล ทั้งหมดทำชวนกิจเท่านั้น ถ้าสำหรับวิบากอื่นทำชวนกิจไม่ได้เลยนอกจากโลกุตระวิบาก นี้ก็เป็นสิ่งที่พิเศษต่างหากไม่เหมือนกับวิบากอื่นๆ

    ผู้ฟัง ขออนุญาตถามอาจารย์อรรณพต่อด้วยเรื่องกิจ เรื่องกิจการงานของจิต เจตสิก รวมถึงรูป รูปมีความสัมพันธ์กับจิตเจตสิกอย่างไร ข้อหนึ่ง ข้อที่สอง การพิจารณาในจิตที่เกิดกุศลหรืออกุศลนี้ เราจะพิจารณาอย่างไร หรือโยนิโสอย่างไรถ้าจิตคิดเป็นทางอกุศล แล้วเราจะโยนิโสให้เป็นกุศลอย่างไร ในเมื่อจิตเห็น จิตได้ยิน หรือโยนิโสในลักษณะก็บอกว่าเห็น เพียงแต่เห็น ได้ยินเพียงแต่ได้ยิน ได้กลิ่นเพียงแต่ได้กลิ่น รสก็เพียงแต่รส สัมผัสก็เพียงแต่สัมผัส โยนิโสอย่างนี้ได้อย่างไร

    อ.อรรณพ สำหรับรูปกับจิต และเจตสิกมีความสัมพันธ์กันอย่างไร ก็ต้องมีความเข้าใจพื้นฐานเบื้องต้นก่อนว่า รูปเป็นปรมัตธรรมคือเป็นสภาพที่มีจริงที่เป็นสภาพที่เกิด แต่รูปไม่ใช่สภาพที่รู้อารมณ์ ส่วนจิต และเจตสิกเป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ที่เมื่อเกิดขึ้นจะต้องรู้อารมณ์ ต่างกันเพียงแต่ว่าจิตเป็นนามธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์ และเจตสิกเป็นสภาพนามธรรมที่เกิดประกอบกับจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต เกิดพร้อมจิต และเกิดที่เดียวกับจิต ที่ว่าเกิดที่เดียวกับจิตนี้เราก็จะเห็นความสัมพันธ์กับรูปตรงนี้ ในภพภูมิที่มีทั้งรูปขันธ์ และนามขันธ์ อย่างเช่นในภูมินี้ จิต และเจตสิกจะเกิดขึ้น ต้องอาศัยรูปที่เป็นที่เกิดของจิต อย่างเช่น จิตเห็น จิตเห็นจะต้องเกิดโดยอาศัยตาหรือจักขุประสาทเป็นที่เกิด จิตได้ยินก็ต้องอาศัยโสตประสาท หรือหูเป็นที่เกิด แต่ที่เกิดนั้นไม่รู้อารมณ์ เพราะรูปจะต้องเป็นสภาพที่อย่างไรก็ตามจะรู้อารมณ์ไม่ได้ แต่ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิต และเจตสิกต้องเกิดที่รูป ไม่ว่าจะเป็นจิตเห็น จิตได้ยิน จิตดมกลิ่น จิตลิ้มรส จิตกระทบสัมผัสก็ต้องเกิดที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น และที่กายประสาท ในแต่ละทาง ส่วนจิตอื่นนอกจากนี้จะเกิดที่รูปหนึ่งคือหทยรูป ถ้าเป็นอรูปพรหมจะไม่มีรูป เพราะจิตเจตสิกจะเกิดด้วยกันโดยที่ไม่ต้องอาศัยรูปเป็นที่เกิด แต่ถ้าเป็นภพภูมิที่มีขันธ์ ๕ คือมีทั้งรูปขันธ์ และนามขันธ์ จิต และเจตสิกเกิดขึ้นต้องอาศัยรูปเป็นที่เกิด ก็คือวัตถุรูปทั้ง ๖ ก็คือตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วก็หทยวัตถุ นอกจากนี้ เมื่อจิตเกิดขึ้นต้องรู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด รู้อารมณ์ที่เป็นรูปธรรมก็ได้เช่น ขณะนี้หากพิสูจน์ได้ว่าขณะที่จิตเห็นเกิดมีจิต และมีเจตสิกเกิดขึ้นรู้อารมณ์ รู้สิ่งที่ปรากฏทางตาคือรูป เพราะฉะนั้นจิตสามารถที่จะรู้อารมณ์ได้ทุกอย่าง แล้วแต่ประเภทของจิต และระดับของจิตนั้นๆ อย่างเช่น จิตเห็นในขณะนี้ก็รู้รูปคือ สี จิตได้ยิน ก็รู้เสียง เพราะฉะนั้นความเกี่ยวพันกันสภาพที่สองหรือสถานะที่สองก็คือ รูปสามารถเป็นอารมณ์ของจิต และเจตสิกได้ ส่วนคำถามที่สอง จะรู้ลักษณะของกุศลจิต อกุศลจิตได้อย่างไร และจะโยนิโสมนัสสิการอย่างไรให้เป็นกุศล ก่อนที่จะรู้ความเป็นกุศลหรือความเป็นอกุศลของจิตซึ่งเป็นสภาพนามธรรม ก่อนนั้นจะต้องรู้ในลักษณะความต่างกันของรูปธรรม และนามธรรมก่อน ก่อนที่จะรู้ความละเอียดของนามธรรมชนิด หนึ่งคือจิตว่า มีทั้งที่เป็นกุศล และอกุศล กว่าจะรู้ความต่างกันจริงๆ ตรงนั้นโดยรู้ลักษณะของจิตที่เป็นกุศลจริงๆ หรืออกุศลจริงๆ ก่อนหน้านั้นปัญญาจะต้องรู้ลักษณะสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมรูปธรรมที่ชัดเจนก่อน และการที่จะโยนิโส ไม่มีตัวตนที่จะโยนิโส การที่จะเป็นกุศลหรือเป็นอกุศลนั้นก็ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยว่าจะปรุงแต่งให้ขณะนี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เช่น ขณะที่ฟังธรรมอยู่น่าจะเป็นกุศล แต่บางทีก็เป็นอกุศล ใช่ไหม เลี่ยงไม่ได้ คิดในเรื่องที่เป็นอกุศลจนได้ และในบางครั้งอยู่ในสถานการณ์ที่น่าจะโกรธหรือว่าน่าที่จะเป็นอกุศล กุศลก็ยังเกิดแทรกได้ เพราะฉะนั้นขึ้นกับเหตุปัจจัย ซึ่งเมื่อขณะที่กุศลจิตเกิด มนัสสิการนั้นเป็นโยนิโสมนัสสิการ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สิ่งที่จะบังคับได้แต่เป็นสภาพธรรมที่จะเกิดขึ้นที่จะเป็นโยนิโสมนัสสิการให้เป็นกุศลหรือจะเป็นโยนิโสมนัสสิการะเป็นอกุศลก็แล้วแต่ไม่มีตัวตนที่จะบังคับได้

    ผู้ฟัง เรื่องจิตที่เป็นกุศล ในขณะซึ่งจิตเป็นกุศลนั้นไม่ใช่เราแล้วแต่เราไม่รู้ ปัญญาเราไม่ถึงตรงนั้นเท่านั้น ที่เราได้มาสนทนาธรรมกันนี้ก็คือการเจริญปัญญาก็ถือว่าจิตเป็นกุศล คราวก่อนนี้เห็นว่าเมื่อจบการสนทนาธรรมแล้วมีการอนุโมทนานั้น ถ้าเผื่อเราได้เรียนความหมายของคำนี้สักหน่อย รู้จักว่าอนุโมทนาคืออะไร และควรจะอนุโมทนาในกาลไหน เพราะเหตุใด ขอเรียนเชิญอาจารย์ศุภีร์ในความหมายของอนุโมทนา แล้วก็ในกาลไหนที่ควรจะอนุโมทนา แล้วมีอีกคำถาม มุทิตาใช้ต่างกับอนุโมทนาอย่างไร และในกาลไหน ด้วยเหตุผลอะไร

    อ.สุภีร์ คำว่าโมทนาคำเดียวแปลว่ายินดี อนุแปลว่าตาม อนุโมทนาก็คือตามยินดีในกุศลจิตหรือว่ากุศลกรรมที่คนอื่นได้ทำไปแล้ว ฉะนั้นคำว่าอนุโมทนาก็คือการยินดี กับกุศลธรรมที่บุคคลอื่นได้ทำก็คือกุศลจิตของผู้ที่อนุโมทนาเกิด ด้วยการยินดีในกุศลที่คนอื่นได้กระทำแล้ว นี้เรียกว่าอนุโมทนากุศล ท่านเรียกบุญยกิริยาวัตถุ ๑๐ ว่าปัตตานุโมทนามัย บุญที่สำเร็จด้วยการอนุโมทนากุศลที่คนอื่นได้กระทำไปแล้ว

    ผู้ฟัง คือหมายความว่าในขณะนี้เรากำลังเจริญกุศลด้วยการเจริญปัญญาจากการฟังธรรม เพราะฉะนั้นพอจบแล้ว ท่านผู้อำนวยการท่านก็นำเราอนุโมทนา นั่นคือกาลหนึ่ง

    อ. สุภีร์ นั้นไม่ได้นำอนุโมทนา นำอุทิศส่วนกุศล

    ผู้ฟัง อุทิศส่วนกุศลให้ผู้ได้รับการอุทิศส่วนกุศลนั้นอนุโมทนากับเราด้วย ใช่ไหม เราอุทิศ ทีนี้การอุทิศนั้นต้องมี ใช่ไหม เราต้องมีกุศลที่จะอุทิศให้ด้วย เพราะฉะนั้นกุศลที่เราอุทิศในวันนี้ก็คือกุศลจิตในขณะซึ่งเราฟังธรรม ใช่ไหม

    อ. สุภีร์ ขณะที่ฟังธรรมก็เป็นขณะหนึ่ง ใช่ไหม แล้วตอนที่เกิดกุศลที่จะอุทิศกุศลให้คนอื่นได้รู้เพื่อให้เขาอนุโมทนาก็เป็นกุศลอีกประการหนึ่ง ขณะที่ฟังธรรมก็เป็นกุศลประการหนึ่ง เรียกว่าธัมมสวนะใหม่ บุญที่สำเร็จด้วยการฟังพระธรรม ขณะที่อุทิศส่วนกุศลหรือว่าบอกกับคนอื่นว่าเราได้ฟังพระธรรมมาแล้วได้เกิดความเข้าใจอย่างนี้อย่างนี้ ให้คนอื่นรู้แล้วก็อนุโมทนาด้วย ก็เป็นกุศลอีกอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า ปฏิทานมัย การให้ส่วนของกุศลกับคนอื่นได้รู้

    ผู้ฟัง คือรู้มานี้อาจจะผิดหรือถูกไม่ทราบ ในการที่เราจะบอกเขาบอกว่าขอได้โปรดอนุโมทนาในส่วนบุญนี้ด้วยหมายความว่าขณะนั้นนี้เราเจริญกุศลอย่างหนึ่ง เหมือนกับว่าเราจะยื่นของอะไรให้กับใครอย่างหนึ่ง เราบอกให้เขา ถ้าเราไม่บอกให้เขาเขารับไม่ได้ เพราะฉะนั้นในขณะที่เราเจริญกุศลนี้ถ้าเราไม่บอกขอได้โปรดอนุโมทนาในส่วนกุศลนี้ด้วย รับได้ไหม คนที่เขาสามารถจะรับสิ่งนี้ได้

    อ.สุภีร์ ได้ ถ้าคนนั้นทราบใช่ไหม อย่างบางคนเขารู้ว่าเรามาฟังพระธรรมที่นี่ใช่ไหมเราไม่ต้องไปบอก เขาก็อนุโมทนาด้วยได้ ยินดีด้วยได้แล้ว

    ผู้ฟัง แม้เราไม่ต้องบอก

    อ.สุภีร์ ถ้าคนนั้นเขาทราบเขาก็สามารถที่จะอนุโมทนาได้

    ผู้ฟัง ลักษณะของผู้ทราบเป็นอย่างไร

    อ.สุภีร์ ก็ธรรมดา ปกตินี้ถ้าเรามีคนที่รู้จักใช่ไหม เรารู้อยู่แล้วว่าคนนี้เวลานี้ก็ต้องฟังธรรมแน่ๆ เลย เราก็รู้อยู่แล้วว่าเวลานี้ก็ฟังธรรมเราก็สามารถที่จะยินดีอนุโมทนากับเขาได้ แต่ว่าเปรตทั้งหลายหรือว่าผู้ที่เขาต้องได้รับการอุทิศให้ เขาจึงจะยินดี และอนุโมทนา ถ้าไม่ได้อุทิศให้เขาๆ ก็ไม่อนุโมทนา

    ผู้ฟัง ตรงนี้คือที่อยากจะถาม เพราะว่าดิฉันมักจะบอกกับคนใกล้ชิดว่าเวลาที่เราจะทำบุญแล้วเราต้องกล่าวอุทิศส่วนกุศลให้เค้าได้อนุโมทนา ถ้าไม่อุทิศให้เขานี้เขาไม่สามารถจะรับได้ คือตัวเองไม่สามารถจะพูดอะไรลึกไปกว่านั้นเพราะเขาจะไม่เข้าใจก็อยากจะให้เขาอุทิศกุศลทุกครั้งที่เขาได้ทำกุศล เพื่อว่าผู้ที่เป็นญาติเราหรือคนที่เกี่ยวข้องกับเราหรือไม่เกี่ยวข้องก็ตามที่เขาสามารถจะรับบุญนี้ได้ด้วยการอนุโมทนาบุญเรา ก็เลยบอกเขาไปบอกว่า ถ้าไม่บอกให้เหมือนกับของเราไม่บอกให้เขาก็รับไม่ได้สิ่งนี้ลึกซึ้งแค่ไหน

    อ.สุภีร์ โดยปกติถ้าเป็นมนุษย์อย่างเราทั่วไปใช่ไหม ถ้าใครยังไม่ทราบเราก็บอกให้เขาทราบเพื่อให้เขาอนุโมทนาก็ได้ ถ้าเขาทราบเองเขาก็สามารถอนุโมทนาได้ด้วย


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 6
    9 ก.ย. 2567

    ซีดีแนะนำ