สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 046
สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ ๔๖
วันจันทร์ที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๔๕
ผู้ฟัง ก็อยากจะให้เขาอุทิศกุศลทุกครั้งที่เขาได้ทำกุศลเพื่อว่าผู้ที่เป็นญาติเราหรือคนที่เกี่ยวข้องกับเราหรือไม่เกี่ยวข้องก็ตามที่เขาสามารถจะรับบุญนี้ได้ด้วยการอนุโมทนาบุญเรา ก็เลยบอกเขาไปว่าถ้าเราไม่บอกให้เหมือนกับของเราไม่บอกให้เขาก็รับไม่ได้ อย่างนี้ลึกซึ้งแค่ไหน
อ.สุภีร์ โดยปกติถ้าเป็นมนุษย์คนเราทั่วไปถ้าใครยังไม่ทราบเราก็บอกให้เขาทราบเพื่อให้เขาอนุโมทนาก็ได้ ถ้าเขาทราบเองเขาก็สามารถอนุโมทนาได้ด้วย แต่ถ้าเป็นภูมิอื่นอย่างเช่นสัตว์เดรัจฉาน หรือสัตว์นรกเขาไม่สามารถที่จะอนุโมทนาส่วนบุญด้วยได้ สัตว์ประเภทหนึ่งที่เกิดในอบายภูมิก็จริงแต่เขาสามารถที่จะอนุโมทนาในส่วนกุศลได้ถ้าเราอุทิศให้ และเขาพ้นจากกรรมๆ นั้น
ผู้ฟัง เขาอาจเกิดมาเป็นคน หรืออย่างไรก็ได้
อ.สุภีร์ ก็คือพวกเปรตที่เขาสามารถที่จะอนุโมทนาได้
ผู้ฟัง อนุโมทนาต่างกับมุทิตาอย่างไร
อ.สุภีร์ คำว่ามุทิตาแปลว่าการยินดีในสิ่งที่คนอื่นเขาได้รับ ยินดีในกุศลที่คนอื่นกระทำไม่เหมือนกับอนุโมทนา
ผู้ฟัง หมายความว่าถ้าอนุโมทนา คือ ยินดีในเหตุที่เขากระทำ ถ้าเป็นมุทิตาก็ยินดีในผล เช่น พวกได้เลื่อนขั้นซี ๙ ซี ๑๐ เราก็ถือกระเช้าดอกไม้ไปอนุโมทนาเขา นั้นก็เป็นมุทิตาไปแล้ว เขาทำจนเขาได้จากซี ๘ เป็นซี ๙ จากซี ๙ เป็นซี ๑๐ อะไรอย่างนี้เป็นต้น เราถือกระเช้า นั่นเขาทำแล้ว หมายความว่าเรายินดีในผล ตรงนั้นเราใช้อนุโมทนาไม่ได้ เพราะไม่ใช่เหตุ ก็อยากจะชี้ตรงนี้ว่าคำว่าอนุโมทนากับมุทิตานั้นต่างกันตรงนี้ เพราะเดี๋ยวจะหิ้วกระเช้าไปขออนุโมทนาเจ้านาย ก็จะลำบาก
อ.สุภีร์ แต่ต้องเป็นกุศลทั้ง ๒ ประการ ถ้าหิ้วกระเช้าไปแล้วไม่เป็นกุศลก็ไม่เป็นมุทิตา
ผู้ฟัง เรื่องอนุโมทนา เฉพาะเปรตใช่ไหมที่เขาจะรับส่วนบุญได้ บ่อยครั้งที่ดิฉันจะคิดว่าเวลาที่อุทิศส่วนกุศลต้องเป็นพวกเปรตเท่านั้นหรือ สมมติบิดาสิ้นชีวิตไปแล้วไปเป็นเปรตหรือถึงจะได้รับได้ตรงนี้ก็เลยไม่อยาก ถ้าคุณพ่อเราจะรับว่าจะต้องเป็นเปรตแล้วเราก็ไม่อยากให้พ่อเราเป็นเปรต ก็งงๆ ช่วยอธิบายตรงนี้หน่อย
อ.สุภีร์ ในการอุทิศส่วนกุศลต่างๆ เป็นการบอกให้คนอื่นรู้ สำหรับมนุษย์ หรือเทวดาทั่วไป การบอกให้เขารู้ เพราะว่าบางทีเขาอาจจะยังไม่ทราบ ถ้าเทวดาท่านอยู่ใกล้ๆ ท่านทราบแล้วท่านก็อนุโมทนาด้วยได้เลย แต่ถ้าท่านยังไม่ทราบเราก็บอก ก็คือเป็นการอุทิศไป แต่สำหรับเปรตต้องมีคนอุทิศเขาจึงจะยินดีอนุโมทนามีเฉพาะเปรต ถ้าเปรตเขารู้ว่าคนนี้ทำดีแต่ว่าไม่ได้ให้ส่วนกุศลเขาเลย เขาจะไม่อนุโมทนาเลย ไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นมนุษย์กับเทวดา ถ้าทราบสามารถอนุโมทนาได้ นี้เป็นความแปลกกัน
ผู้ฟัง ค่อยยังชั่วหน่อยอย่างนี้ถ้าบิดาไปเกิดบนสวรรค์ ท่านรู้ท่านก็อนุโมทนาได้ตอนแรกนึกว่าจะเป็นเปรตก็ไม่อยากให้พ่อเราไปเป็นเปรตใจไม่สบายเลย
ท่านอาจารย์ จะมีเหตุผลไหมว่าทำไมเปรตต้องอุทิศถึงจะอนุโมทนาได้
สุภีร์ เพราะเหตุว่าเปรตเขาอยู่ด้วยกรรมที่เป็นเปรต ส่วนใหญ่เปรตทั่วไปก็คือจะอยู่ด้วยความหิว การที่เขาจะอนุโมทนายินดีได้ต้องมีเหตุหลายๆ ประการด้วยกันประการอย่างหนึ่งที่สำคัญเลยก็คือต้องมีคนอุทิศส่วนกุศลให้เขาถึงจะอนุโมทนาได้ เพราะเหตุว่าในภูมิของเปรตเป็นภูมิที่มีความหิวมาก สมมติเราหิวๆ อยู่อย่างนี้เห็นคนทำกุศลอย่างนี้เราจะมีแรงอนุโมทนาหรือเปล่า คงจะไม่ค่อยมีแรงเท่าไหร่ใช่ไหม แต่เปรตเขาหิวตลอดชาติเลยหาเวลาได้กินนี่ลำบากนานๆ จะได้สักทีหนึ่งหรืออะไรก็ตามแต่ในภูมิของเขามีความหิวมาก และมีความทุกข์มาก ฉะนั้นการที่จะทำให้เขาอนุโมทนาได้ต้องมีเพิ่มก็คือต้องมีคนอุทิศให้เขาด้วย และกรรมของเขาสิ้นสุดแล้วเขาก็อนุโมทนา กรรมนั้นก็สามารถที่จะสิ้นสุดไปแล้วกรรมใหม่ก็ให้ผลได้
ผู้ฟัง ในการเห็นของสัตว์โลกหรือมนุษย์ และเทวดา การเห็นในวิถีจิตจะเหมือนกันไหม
อ. สุภีร์ เป็นเรื่องของจิต ถ้าพูดเรื่องจิตเจตสิกรูปจะไม่มีเทวดาไม่มีสัตว์นรกไม่มีอะไรเลย เป็นเรื่องของจิต ก็เหมือนที่เราศึกษาเลยทุกอย่าง ถ้าเป็นสุนัขเห็น ก็เรื่องวิถีจิตแบบที่เราศึกษานี่แหละก็จะมีอดีตภวังค์ ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ เมื่อพูดถึงเรื่องของจิตเจตสิกรูปก็จะไม่มีสัตว์ไม่มีบุคคล แต่ว่าเราก็สมมติเรียกกันเพื่อให้เข้าใจกันได้
ผู้ฟัง เมื่อสองวันก่อนได้เห็นในสารคดีเขาบอกว่าสุนัขเห็นเฉพาะสีดำกับสีขาว ส่วนมนุษย์เราก็เห็นได้หลากหลายปรุงแต่งได้หลากหลาย ก็ไม่ทราบว่าเป็นอย่างไรเทวดาจะเห็นเหมือนกับเราหรือเปล่าอะไรอย่างนี้
อ.สุภีร์ ก็ลองเทียบดู สมัยหนุ่มๆ เห็นชัดไหมครับ ตอนนี้เห็นชัดไหม
ผู้ฟัง มันเสื่อม
อ.สุภีร์ ก็อยู่ที่ปัจจัยหลายประการ แต่ว่าจิตกระทำทัศนกิจ จิตเห็นคือรู้แจ้งอารมณ์สิ่งที่ปรากฏทางตาแต่จะเห็นชัดไม่ชัดก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ หลายๆ ประการด้วยอาจจะเป็นปสาทรูปที่คุณภาพไม่ค่อยดีเพราะเหตุว่าแก่แล้ว บางท่านแก่ๆ ก็อาจจะเห็นไม่ค่อยชัด แต่จักขุวิญญาณทำทัศนกิจคือเห็นหรือว่ารู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏได้ทางตา เมื่อพูดถึงจิตก็ไม่ต่างกันเลย แต่ก็มีปัจจัยอื่นที่ทำให้เห็นชัดบ้างไม่ชัดบ้างก็มีปัจจัยมากมาย
ผู้ฟัง เพิ่งซื้อรถใหม่ ไปจอดรถที่สลัวๆ มีคนร้องบอกว่างู ก็ตกใจกัน มีลูกสาวลูกชายสามี และตนเอง มองไปปรากฏว่าเธอไม่เลื้อยต่อหายไปทางไหน ก็คิดว่าคงจะเข้าไปอยู่ในรถหมายถึงข้างใต้ สามีก็วิตกว่าเป็นงูเห่าหรือเปล่าเกรงว่าจะเล็ดรอดเข้าไปกัดลูกชาย ลูกสาวก็บอกให้ไปเอาไฟฉายมาส่องดู ลูกชายก็บอกว่าพ่อ ถ้าส่องเห็นแล้วอย่าเอาไม้อันใหญ่ไปเขี่ยนะเดี๋ยวเขาจะเจ็บ แล้วพอเราส่องปรากฏว่าเราเห็นลายก็ปรากฏเป็นงูเหลือม ก็พยายามเอาเขาออกมาจนได้ แล้วก็ปล่อยไป จากเหตุการณ์ที่ครอบครัวของเราได้กระทำจะอยู่ในข้อไหน เมตตา กรุณา หรือ มุทิตา แต่คิดว่าคงไม่ใช่อุเบกขา แต่ในฐานะที่ผู้เป็นแม่เห็นการกระทำของสามี และลูก เพราะเราศึกษาพระอภิธรรมอยู่บ้างก็จะเห็นถึงว่าเราทำกิจกรรมร่วมกันโดยความรู้สึกที่เหมือนกันๆ ก็คือแม้งูเธอไม่น่ารักเลย แต่เราก็รู้สึกสงสาร ก็พยายามเขี่ยให้เธอพ้นไป ซึ่งลูกชายก็บอกว่าถ้าไม่เห็นว่าเป็นอะไรเกิดอยู่ที่ล้อรถ แล้วลูกขับเร็วๆ เขาต้องตายแน่ๆ ถามอาจารย์ว่าอารมณ์อย่างนี้เป็นอารมณ์ที่เมตตา กรุณา หรือมุทิตา
อ.อรรณพ การก็ที่เรามีความอนุเคราะห์ที่ช่วยเหลือเขาไปแม้ว่าเขาจะเป็นสัตว์ร้าย ก็จะต้องด้วยกุศลจิตที่เป็นเมตตา แล้วก็มีความกรุณาที่จะค่อยๆ ให้เขาได้พ้นภัยไป เพราะฉะนั้นก็เป็นกุศลจิตที่เกิดแล้วเพราะอาจจะถ้าเห็นว่าเขาพ้นภัยไปแล้วเรายินดีกับเขาที่พ้นภัย ก็อาจมีมุฑิตาจิตเกิด แต่อย่างไรก็ตามการที่เราจะรู้จริงๆ ของลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นฝ่ายดีงามเหล่านี้โดยลักษณะโดยสภาวะจริงๆ เป็นเรื่องยาก เช่นจะรู้ในขณะนั้นจริงๆ ว่าขณะที่เรากำลังใช้วัตถุอะไรที่จะเขี่ยให้เขาค่อยๆ ไปขณะนั้นเป็นกุศลจิต ใครจะรู้ลักษณะของกุศลจิตตรงนั้นว่าเป็นเพียงลักษณะสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แน่นอนกุศลก็มีหลายขั้น กุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาก็มี กุศลที่ประกอบด้วยปัญญาก็มี การฟังธรรมทำให้เราเข้าใจผลของกุศล ผลของอกุศล ว่ากุศลเป็นสิ่งที่ดีงาม อกุศลเป็นสิ่งที่ไม่ดี แล้วทำให้เรามีกุศลในระดับนั้นๆ ที่จะช่วยให้เขารอดพ้นจากภัย
แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นการที่เราจะรู้ลักษณะสภาพธรรมตามความเป็นจริง เช่นในขณะที่รู้ว่ามีงูอยู่ ขณะนั้นมีความตกใจ ก็ต้องมีอกุศลเกิดมากมายแน่นอน แต่ว่าเราไม่ประกอบอกุศลกรรมคือทำการฆ่าเขา หรือเบียดเบียนเขา ขณะนั้นก็ต้องเป็นกุศลจิตซึ่งเกิดขึ้น ทำให้เรามีความเมตตาเหมือนเป็นเพื่อนร่วมโลก แล้วก็มีความกรุณาที่ช่วยเขาไป แต่การที่จะรู้ในลักษณะสภาพธรรมนั้นจริงๆ ว่าขณะนั้นเป็นเมตตาจริงๆ ตรงไหนเป็นเมตตา ตรงที่ตกใจไม่ใช่เมตตา ตรงที่มีความเป็นมิตรกันจริงๆ ตรงนั้นเป็นเมตตา แล้วเมื่อกุศลเหล่านี้ดับไป ในขณะที่เรามีความพอใจว่า ด้วยการศึกษาธรรมทำให้เรามีการทำกุศลอย่างนี้ๆ แล้วเรามีความปลื้มปิติ ขณะนั้นจะเป็นกุศลก็ได้หรือเราอาจมีอกุศลแทรก ว่าเรามีกุศลมากกว่าคนอื่น ถ้าเป็นคนอื่นเขาทำไม่ได้อย่างเราต้องฆ่างูแน่เลย แต่เราทำได้ เรามีเมตตา เรามีกรุณา แม้กระทั่งสัตว์ร้าย ขณะนั้นก็มีความสำคัญตนเกิดแทรกใช่ไหม แต่อย่างไรก็ตามก็ขออนุโมทนาในกุศล ที่มีความเมตตาต่อสัตว์
ท่านอาจารย์ ขอถามท่านผู้ถามว่า ขณะที่เป็นกุศลทำกิจอะไร กุศลจิตทำกิจอะไร
ผู้ฟัง ทำกิจอะไรหรือคะ
ท่านอาจารย์ จิตต้องทำกิจ จิตไม่ทำกิจไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นเราอาจจะฟังเรื่องแล้วก็รู้ว่าเป็นกุศล แต่เมื่อเรากล่าวถึงเรื่องของกิจของจิตว่ากุศลจิต และอกุศลจิตก็ตามทำกิจอะไร
ผู้ฟัง ทำกิจชวนกิจ
ท่านอาจารย์ ชวนกิจถูกต้อง เพราะฉะนั้นเป็นเหตุที่จะให้เกิดวิบาก วิบากทำชวนกิจได้ไหม
ผู้ฟัง ได้ หรือไม่ได้
ท่านอาจารย์ โลกุตรวิบากเท่านั้นที่ทำได้ วิบากอื่นจะไม่ทำชวนกิจเลยเพราะเหตุว่าเป็นผล แต่ตัวเหตุต้องเป็นชวนกิจทำกิจเกิดดับซ้ำกัน ๗ ขณะโดยปกติ เพราะฉะนั้นเห็นหนึ่งขณะ แล้วก็กุศลจิตเกิด ๗ เท่า ถ้าเป็นกุศล แล้วถ้าเป็นอกุศลก็คือเห็นหรือได้ยินก็ตามหนึ่งขณะแล้วก็อกุศลนั้นก็ ๗ เท่า เพราะฉะนั้นก็เป็นฝ่ายของการสะสมทั้งกุศล และอกุศลซึ่งจะให้ผลเป็นวิบาก ซึ่งวิบากทุกชนิดนอกจากโลกุตรวิบากไม่ทำชวนกิจ ก็ค่อยๆ จำ และฟังเรื่องของกิจของจิตไปด้วย
ผู้ฟัง ขอความเข้าใจที่กล่าวถึงว่ารูปเป็นสภาพที่ไม่รู้อะไร สมมติว่าเราได้ยินเสียงเราจะต้องมาพิจารณาด้วยหรือว่า เสียงนั้นไม่รู้อะไร
ท่านอาจารย์ คือสภาพธรรมที่มีอยู่จริงๆ ในชีวิตประจำวันลักษณะเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น คือไม่ใช่เรา เพราะเหตุว่าถ้าเราไม่รู้เราจะมีความรู้สึกว่าเสียงของเราใช่ไหม
ผู้ฟัง ใช่
ท่านอาจารย์ หรือเสียงใครก็ได้ เราก็มีความคิดว่าเป็นเสียงคนนั้น แต่ความจริงสภาพธรรมทุกอย่างไม่ใช่ของใครเลย มีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับ สิ่งที่เกิดแล้วดับจะเป็นของใครได้ เราอาจจะคิดว่าเป็นเสียงเราหรือว่าเสียงเขา แต่เสียงก็เกิดดับแล้ว เสียงที่ดับไปแล้วจะเป็นของใคร เพราะฉะนั้นธรรมทุกอย่างไม่เป็นของใครเลยทั้งสิ้น เป็นธรรมจริงๆ คำว่าธรรมก็คือธาตุเป็นของกลาง ไม่มีเจ้าของ เมื่อมีปัจจัยก็เกิด แม้แต่จิตเห็นขณะนี้ จะเห็นตรงนี้ ตรงไหน บนสวรรค์ ในน้ำ ไม่มีของใครหมดเลย จิตเห็นเกิดขึ้นทำกิจเห็นเท่านั้นเหมือนกันหมด ชาติก่อนชาติหน้าชาติไหนใครก็ตามที่มีจักขุปสาท ก็มีปัจจัยที่จะทำให้จิตเห็นเกิด แล้วก็ดับไป คือจะต้องเข้าใจความเป็นธรรมตลอด ไม่ว่าจะเป็นสภาพของนามธรรม หรือรูปธรรม ชื่ออะไรต่างๆ ทำกิจอะไรก็ตามก็เป็นธรรมทั้งหมด
ผู้ฟัง ในวันๆ เรารู้สึกว่าจะคุ้นกับลักษณะของโลภะหรือโทสะมากกว่าที่จะไปรู้ลักษณะของแข็ง หรือว่ากลิ่น หรืออะไรต่างๆ ท่านอาจารย์ว่าเป็นอย่างนี้ หรือว่าเป็นเฉพาะบุคคล
ท่านอาจารย์ แล้วโลภะในอะไร
ผู้ฟัง ติดในสิ่งที่เห็นตามมา
ท่านอาจารย์ บางคนก็ไม่ชอบหมอนแข็งใช่ไหม ข้าวแข็งก็ไม่ชอบ แม้แต่แข็งก็เป็นที่ตั้งของความชอบไม่ชอบ
ผู้ฟัง จิตทำชวนกิจ ท่านอาจารย์บอกว่ามีเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดกุศลจิต หรืออกุศลจิต ปัจจัยที่ทำให้เกิดกุศลจิต หรืออกุศลจิตนั้นเป็นผลมาจากวิบากในชาติก่อนๆ หรือ
ท่านอาจารย์ เป็นผลมาจากการสะสมของกุศล และอกุศลนั้นๆ
ผู้ฟัง เกิดในขณะที่ทำสัมปฏิจฉันนะใช่ไหม
ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องที่ต้องทราบว่าถ้าเป็นจิตที่เป็นวิบากไม่สะสม ถ้าจะสะสมกุศล และอกุศลก็ตรงชวนกิจเพราะเหตุว่าเกิดดับซ้ำกัน ๗ ขณะ ซึ่งขณะที่เป็นวิบากเป็นผลของกรรม แต่ขณะที่เป็นชวนะเริ่มเป็นเหตุที่จะให้เกิดผลข้างหน้าต่อไป วิบากชาตินี้เกิดขึ้นเพราะกรรมในอดีต ตั้งแต่ปฏิสนธิ ภวังค์ จนถึงแม้แต่การที่เราจะเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ได้ลาภ ได้ยศ สรรเสริญสุข เป็นผลของกรรม ซึ่งแล้วแต่ว่ากรรมไหนถึงกาละที่สุกงอมพร้อมที่จะให้ผลเกิดก็เกิด
สิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นรูปที่เรายึดถือว่าเป็นลาภบ้าง เป็นยศบ้างคำสรรเสริญก็เป็นเสียง ซึ่งความจริงก็กระทบหู แล้วก็ดับใช่ไหม แต่เรื่องราวความทรงจำของเราว่าเป็นนินทาหรือเป็นสรรเสริญทางใจ เพราะว่ามโนทวารไม่มีอะไรปรากฏเลย ภวังคจิตก็มืดสนิทแต่มีจุดเล็กๆ ๕ จุดซึ่งก็ได้แก่ปสาทถ้าจะเปรียบซึ่งเกิดดับตลอดเวลาเพราะว่ากรรมเป็นปัจจัยให้ปสาทรูปเหล่านี้เกิด คือเป็นปัจจัยให้ตา หูจมูก ลิ้น กาย เกิด เพื่อให้วิบากจิตที่เป็นผลของกรรมเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่น่าพอใจ หรือไม่น่าพอใจ จะเรียกว่าลาภ ยศ สรรเสริญ อะไรก็แล้วแต่ จะได้ยิน จะได้กลิ่น จะลิ้มรส ซึ่งเมื่อได้เห็น ได้ยินแล้ว รูปนั้นยังไม่ดับไปเลย แต่การสะสมของความชอบความไม่ชอบของกุศล อกุศล จากชวนจิตซึ่งเกิดดับซ้ำถึง ๗ ครั้ง ก็จะทำให้คนนั้นเป็นผู้ที่มีอุปนิสัยเป็นอย่างนั้น
เพราะฉะนั้นทันทีที่รู้อารมณ์ทางตาหูจมูกลิ้นกาย แล้วแต่ว่าคนนั้นสะสมชวนะอย่างไร เป็นกุศลมาก และอกุศลมาก สะสมในเรื่องของทาน หรือว่าสะสมในเรื่องของศีล หรือว่าสะสมในเรื่องความสงบของจิต ก็แล้วแต่ ความเมตตาความกรุณาเหล่านี้ก็เป็นปัจจัยให้จิตนั้นๆ หลังจากที่โวฏฐัพพนะดับไป ก็เกิดขึ้นเป็นกุศลประเภทนั้นๆ หรือว่าเป็นอกุศลประเภทนั้นๆ
ผู้ฟัง แล้วตทาลัมพนจิตนี้คือการสืบต่อใช่ไหม
ท่านอาจารย์ หลังจากที่ชวนจิตซึ่งเป็นเหตุใหม่ดับแล้ว ใช่ไหม เพราะว่าจะเกิดอย่างมากเพียง ๗ ขณะสำหรับกามาวจรวิถี แต่รูปยังไม่ดับ เพราะว่ารูปมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ถ้านับตั้งแต่รูปเกิดพร้อมอดีตภวังค์ พอถึงชวน ๗ ขณะ เป็นเพียงขณะที่ ๑๕ เพราะฉะนั้นรูปจะเหลืออยู่ขณะสั้นมากเลย ๒ ขณะจิตสั้นที่สุด วิบากจิตก็ไม่ทิ้ง เกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้นต่อจากชวนเท่านั้นเอง เป็นวิบากจิตซึ่งเกิดขึ้นต่อจากชวนะ แล้วก็มีอารมณ์เดียวกับชวนะ และรูปก็ดับ พอดับแล้ว ภวังคจิตก็เกิดสืบต่อดำรงภพชาติ จนกว่าจะเป็นวิถีจิตทางไหนก็ตาม จะเป็นทางหู หรือจะเป็นทางตาอีกหรือจะเป็นทางใจก็แล้วแต่ แต่หลังจากที่วิถีจิตทางหนึ่งทางใดของ ๕ ทางนี้ดับแล้วเป็นภวังค์คั่นแล้ว มโนทวารวิถีต้องเกิดสืบต่อทันทีคู่กันไปตลอด รับรู้อารมณ์ที่รู้ทางปัญจทวาร แล้วก็สามารถที่จะจำ แล้วก็รู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร สิ่งที่ได้ยินเป็นอะไร มีความหมายเป็นอะไร เพราะว่าเสียงก็เพียงสูงๆ ต่ำๆ ใช่ไหม แต่ละภาษาก็เป็นเสียงสูงๆ ต่ำๆ เท่านั้น แต่ว่าจิตก็ยังสามารถจะจำลักษณะของเสียงแต่ละภาษาได้ แล้วก็เข้าใจความหมายนั้นได้ นี่เป็นทางมโนทวารทั้งหมด
เพราะฉะนั้นเราอยู่ในโลกของมโนทวารมากเลย โลกของความมืด ซึ่งรับสิ่งที่ปรากฏทางตาต่อ รับเสียงต่อ รับกลิ่นต่อ แล้วก็คิดนึกเรื่องราวของสิ่งต่างๆ ต่อ แล้วก็เหมือนกับสิ่งต่างๆ เหล่านั้นเที่ยงอยู่ตลอดเวลาด้วยความทรงจำในอัตตสัญญา
ผู้ฟัง ขณะที่เป็นสภาพรู้คือขณะไหนของจิต
ท่านอาจารย์ จิตทุกชนิดทุกขณะรู้หมดเลย จิตต้องรู้อารมณ์ จิตเป็นนามธาตุๆ ชนิดหนึ่ง เวลาที่เราพูดถึงธาตุเรามักจะคิดถึงรูปธาตุเท่านั้นไม่ว่าในสาขาใด แต่ความจริงแล้วในพระพุทธศาสนาทรงแสดงเรื่องนามธาตุ เพราะเหตุว่าถ้าบางคนจะพูดเรื่องจิต เขาไม่สามารถที่จะแสดงความละเอียดได้ แต่พระพุทธศาสนาจากการตรัสรู้ก็รู้ว่าไม่ได้มีแต่เพียงรูปธาตุ แต่ที่ทุกสิ่งทุกอย่างปรากฏได้ ก็เพราะเหตุว่ามีนามธาตุซึ่งเป็นสภาพรู้ได้แก่จิต และเจตสิกที่เกิดขึ้นรู้สิ่งต่างๆ นั่นเอง โลกจึงปรากฏได้เพราะจิตรู้
ผู้ฟัง ฉะนั้นทุกครั้งที่เห็นหรือได้ยินหรืออะไรก็ตามจิตก็ทำกิริยาทั้งหมด
ท่านอาจารย์ เป็นจิตที่เกิดขึ้นทำกิจเฉพาะอย่างๆ จิตเห็นขณะนี้เป็นจิตที่ต้องอาศัยจักขุปสาทเกิด ถ้าไม่มีจักขุปสาทจิตเห็นจะเกิดไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นจิตนี้มี ๒ ดวง คือกุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ เท่านั้นเองทุกครั้งที่เห็นจะต้องเป็น ๑ ใน ๒ คือเป็นจักขุวิญญาณกุศลวิบาก หรือจักขุวิญญาณอกุศลวิบาก สำหรับทางหูจักขุวิญญาณจะมาได้ยินเสียงไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นก็มีจิตที่เกิดขึ้นโดยอาศัยหูทำกิจต่างกัน สำหรับจิตทางตาก็คือทำทัสสนกิจคือเห็น เป็นหน้าที่ของจิตนี้ สำหรับทางหูก็เป็นสวนกิจทำกิจได้ยิน เพราะฉะนั้นก็เป็นกิจทั้งหมด ๑๔ กิจ จิตจะต้องเกิดขึ้นทำกิจหนึ่งกิจใดใน ๑๔ กิจ
ผู้ฟัง แต่ไม่ใช่ทั้งหมดทั้ง ๑๔
ท่านอาจารย์ จิตหนึ่ทำกิจหนึ่ง
ผูฟัง แต่ที่ทำสัมปฏิจฉันนะกิจ สันตีรณะกิจ ต้องทำทั้งหมดใช่ไหม
ท่านอาจารย์ หมายความว่าสัมปฏิจฉันนะจิตเกิดขึ้นเป็นวิบากก็ต้องเป็นกุศลวิบาก หนึ่ง เป็นอกุศลวิบาก หนึ่ง ถ้าจักขุวิญญาณเห็นรูปเป็นกุศลวิบาก สัมปฏิจฉันนะก็รับรู้รูปนั้นต่อก็ต้องเป็นกุศลวิบากด้วย จะเป็นอกุศลวิบากไม่ได้ วิถีจิตทั้งหมดถ้าเป็นวิบาก ก็เป็นกุศลวิบากด้วยกัน หรือว่าอกุศลวิบากด้วยกัน จิตที่ทำสัมปฏิจฉันนะไม่ได้ทำสันตีรณะ นี่เป็นเหตุที่มีจิตทั้งหมด ๘๙ ชนิด สัมปฏิจฉันนะก็มี ๒ แล้วก็จะทำกิจอื่นไม่ได้เลยนอกจากสัมปฏิจฉันนะกิจ สันตีรณก็เป็นจิตอีกประเภทหนึ่งไม่ใช่สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณจะทำกิจสัมปฏิจฉันนะไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นถ้าทราบ ๑๔ กิจแล้วก็จะง่ายขึ้นมากเลย
ผู้ฟัง เรียนถามเรื่องจิตก่อนตาย เพราะว่าพูดกันอยู่เสมอว่าก่อนจะตายควรจะทำจิตให้เป็นกุศล ที่นี้มาคิดดูว่ามรณาสันณวิถีเกิดก่อนที่จุติจิตจะเกิดใช่ไหม เพราะฉะนั้นเราจะไปทำอะไรได้เราไม่รู้ล่วงหน้าว่าจุติจะเกิดเมื่อไหร่ ตรงนี้จึงทำให้ดิฉันคิดว่าถ้าเป็นไปได้จิตก็ควรจะเป็นกุศลอยู่ตลอด เพราะเราไม่รู้ว่าต่อไปจุติเกิดเมื่อไหร่ แสดงว่าทำอะไรไม่ได้ ไม่ใช่ว่าทำได้ อย่างที่เขากล่าวๆ กัน
อ. สุภีร์ ก็ทำไม่ได้มาตอนไหนก็ได้ คือต่อจากเห็นเสร็จเรียบร้อยต่อเลยก็ได้ ตทาลัมพนเสร็จก็ต่อเลยก็ได้ หรือทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกาย หรือว่า ทางใจก็ต่อได้หรือว่าต่อจากภวังค์ก็ได้ นอนๆ อยู่ต่อจากภวังค์เลยก็ได้ จุติจิตนี้เป็นผลของกรรมฉะนั้นก็แล้วแต่กรรม
ผู้ฟัง ถ้าเห็นแล้ว เดี๋ยวจุติจิตเกิดต่อก็ได้ ใช่ไหม
อ.สุภีร์ หลังจากวิถีจิตที่เห็นดับไป
ผู้ฟัง ตรงวิถีจิตนั่นต้องมีชวนะใช่ไหม ตรงนี้คอนโทรลอะไรเลยไม่ได้เลย แต่อย่างไรเราก็เกิดมาเป็นคนแล้วชาติหน้าก็อาจจะมีโอกาสได้เป็นคนอีก
ท่านอาจารย์ แต่ต้องไม่ประมาท เพราะว่าคนที่ทำกุศล ถ้ายังไม่ใช่พระโสดาบันก็มีปัจจัยที่ยังจะทำให้เกิดในอบายภูมิได้
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 001
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 002
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 003
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 004
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 005
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 006
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 007
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 008
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 009
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 010
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 011
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 012
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 013
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 014
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 015
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 016
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 017
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 018
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 019
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 020
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 021
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 022
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 023
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 024
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 025
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 026
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 027
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 028
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 029
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 030
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 031
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 032
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 033
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 034
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 035
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 036
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 037
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 038
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 039
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 040
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 041
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 042
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 043
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 044
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 045
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 046
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 047
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 048
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 049
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 050
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 051
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 052
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 053
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 054
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 055
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 056
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 057
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 058
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 059
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 060