สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 047


    สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ ๔๗

    วันจันทร์ที่ ๒ กันยายน ๒๕๔๕


    อ.กฤษณา ความหมายของธรรมคือสิ่งที่มีจริง สิ่งที่มีจริงนั้นก็คือมีลักษณะจริงๆ ของสิ่งนั้นๆ เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่มีลักษณะจริงๆ เป็นธรรมคือเป็นสัจธรรมนั่นเองเรียกว่าสัจธรรมหรือเรียกว่าปรมัตธรรมก็ได้ และสิ่งที่มีจริงเมื่อจำแนกประเภทใหญ่ๆ มี ๒ ประเภท คือ เป็นนามธรรมประเภทหนึ่ง และเป็นรูปธรรมประเภทหนึ่ง

    สิ่งที่มีจริงที่เป็นนามธรรมนั้นเป็นนามธรรมที่เป็นสังขารธรรมก็มีแล้วก็เป็นนามธรรมที่เป็นวิสังขารธรรมก็มี นามธรรมที่เป็นสภาพรู้เป็นอาการรู้เป็นธาตุรู้ซึ่งได้แก่จิต และเจตสิกเป็นธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งขึ้น เพราะฉะนั้นจึงเป็นนามธรรมที่เป็นสังขารธรรม ส่วนนามธรรมที่ไม่ใช่สภาพรู้ไม่เป็นสภาพรู้แต่ว่าถูกรู้ได้ด้วยจิตบางอย่างคือนิพพานนั้น เป็นธรรมที่ไม่ถูกปรุงแต่งด้วยปัจจัยใดๆ ทั้งสิ้นจึงไม่เกิดขึ้น นิพพานจึงเป็นนามธรรมประเภทวิสังขารธรรม

    สิ่งที่มีจริงอีกอย่างหนึ่งคือรูปธรรมซึ่งเป็นธรรมที่ไม่ใช่สภาพรู้แต่ก็ไม่ใช่นิพพาน นิพพานไม่ใช่สภาพรู้แต่ก็ไม่ใช่รูป นิพพานเป็นนามธรรม รูปธรรมเป็นสิ่งที่มีจริงไม่ใช่สภาพรู้แต่ไม่ใช่นิพพาน เพราะว่ารูปธรรมนั้นเป็นธรรมที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นรูปจึงเป็นสังขารธรรม

    เมื่อมีสภาพรู้ก็ย่อมจะต้องมีสิ่งที่ถูกรู้คู่กัน สิ่งที่จิตกำลังรู้ขณะนั้นเรียกว่าอารัมมณะในภาษาบาลีหรือว่าภาษาไทยเราใช้คำว่าอารมณ์นั่นเอง สภาพรู้ที่เป็นนามธรรมที่รู้อารมณ์นั้นก็ได้แก่จิต และเจตสิกที่ประกอบกับจิต แต่จิตนั้นเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์ แล้วก็เป็นการยากที่จะรู้ได้ว่าลักษณะที่เป็นเพียงธาตุรู้นั้นเป็นอย่างไร จึงต้องค่อยๆ ทำความเข้าใจแล้วก็สังเกตลักษณะของสภาพรู้

    พระผู้มีพระภาคทรงใช้พยัญชนะหลายคำเพื่อที่จะให้เข้าใจลักษณะของจิต เช่นคำว่าจิต คำว่ามนัส มน หทัย ปัณฑระ วิญญาณเป็นต้น

    อ.สุภีร์ เพราะเหตุว่าจิตเป็นสภาพธรรมที่รู้ได้ยาก ฉะนั้นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงใช้ชื่อหลายชื่อเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงนั้นเอง จริงอยู่ว่าจิตเป็นสิ่งที่มีจริงแต่การที่จะรู้ว่าเป็นจิตที่รู้อารมณ์นั้นเป็นสิ่งที่รู้ได้ยาก จากการศึกษาหรือว่าการได้ยินได้ฟังเราทราบว่าการเห็นเป็นจิต แต่เวลาเห็นจริงๆ ก็เป็นเราที่เห็นนั่นเอง ก็คือจากความรู้สึกของทุกๆ คน เพราะเหตุนั้นจิตจึงเป็นสภาพธรรมที่รู้ได้ยากด้วยความที่จิตเป็นสภาพธรรมที่รู้ได้ยากนี่เอง พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงใช้คำหลายๆ คำเพื่อให้เข้าใจลักษณะของจิตจากขั้นการฟังได้ดียิ่งขึ้น

    จิตมีชื่อ ๑๐ ชื่อ ชื่อที่ ๑ คือชื่อว่าจิต ที่ชื่อว่าจิตเพราะว่าวิจิตรต่างๆ กันไปคำว่าวิจิตรก็คือมีหลายประเภทมากมายเพราะว่าจิตแตกต่างกันไปตามอารมณ์ที่จิตรู้ จิตรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นจิตชนิดหนึ่งเรียกว่าจักขุวิญญาณ จิตรู้เสียงก็เป็นจิตอีกชนิดหนึ่งเรียกว่าโสตวิญญาณ เป็นต้น จิตมีหลายประเภทฉะนั้นที่ชื่อว่าจิตเพราะว่าวิจิตรหมายถึงแตกต่างกันมากมายหลายประเภท มีทั้งประเภทที่เป็นวิบาก มีทั้งประเภทที่เป็นกิริยา มีทั้งประเภทที่เป็นกุศล อกุศล แตกต่างกันมากมาย ด้วยอำนาจของเจตสิกที่เกิดร่วมก็ทำให้เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง

    ชื่อที่ ๒ ก็คือ มโน ที่จิตชื่อว่ามโน เพราะเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์ สภาพธรรมที่รู้อารมณ์มี ๒ อย่างก็คือจิต และเจตสิก แต่จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์ เพราะเหตุว่าเจตสิกบางประเภทแม้ว่าไม่เกิด จิตก็สามารถเกิดได้ แต่เมื่อใดก็ตามที่จิตไม่เกิด เจตสิกไม่สามารถเกิดได้เลย ฉะนั้นจิตจึงชื่อว่ามโน เพราะว่าเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์ คือเป็นใหญ่เป็นประธานในสภาพธรรมที่รู้อารมณ์ด้วยกัน ถ้าเทียบกันระหว่างจิต และเจตสิกแล้ว จิตเป็นใหญ่เป็นประธานกว่าเจตสิกสำหรับในการรู้อารมณ์ต่างๆ

    เจตสิกก็เป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณ์ด้วยเหมือนกัน แต่ไม่ได้เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์ แต่จะรู้อารมณ์โดยกระทำกิจหน้าที่การงานอื่นๆ เช่น โลภะเจตสิกรู้อารมณ์โดยการติดข้องกับอารมณ์ โลภะรู้เสียงแต่รู้โดยการติดเสียง โทสะเจตสิกรู้เสียงเหมือนกันแต่ไม่ชอบเสียง ฉะนั้นเจตสิกก็รู้อารมณ์เหมือนกัน แต่ไม่ได้เป็นใหญ่เป็นประธานทำกิจอื่นๆ แตกต่างไปจากจิต

    ชื่อของจิตประการที่ ๓ ก็คือ มนัส ภาษาไทยเอาคำว่ามนัสมาใช้เป็นชื่อคน โดยเฉพาะท่านที่เป็นสุภาพบุรุษมากมาย เช่น นายมนัส ซึ่งก็มาจากภาษาบาลีนั่นเอง ที่ชื่อว่ามนัสเพราะว่าจิตนี้ยินดีในอารมณ์ เวลาจิตเกิดขึ้นจะไม่รู้อารมณ์ไม่ได้ แม้แต่อารมณ์นั้นจะไม่ปรากฏเลย แต่ว่าจิตก็รู้อารมณ์เหมือนกัน เพราะว่าจิตเป็นสภาพธรรมที่ยินดีในอารมณ์ ขณะที่เรานอนหลับสนิทจิตมีอารมณ์แต่อารมณ์นั้นไม่ปรากฏเลย อารมณ์ที่ปรากฏในชีวิตประจำวันก็มีอยู่ ๗ อย่างที่เคยทราบไปแล้ว ก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตา เสียงที่ปรากฏทางหู กลิ่นที่ปรากฏทางจมูก รสที่ปรากฏทางลิ้น มี ๔ รูปแล้ว ๔ อย่างแล้วที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน และอีก ๓ อย่างที่ปรากฏทางกาย ได้แก่ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง และตึงไหว ซึ่งเป็นธาตุ ๓ ธาตุนั่นเองก็คือธาตุดิน ธาตุไฟ และธาตุลม นี่เป็นสิ่งหรือว่าอารมณ์ที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน แต่ถึงจะเป็นอารมณ์ที่ไม่ปรากฏในชีวิตประจำวันอย่างขณะหลับสนิทจิตก็รู้อารมณ์ ฉะนั้นจิตจึงชื่อว่ามนัส เพราะว่ายินดีในอารมณ์

    ชื่อประการที่ ๔ ของจิตชื่อว่า ปัณฑระ เหตุที่จิตชื่อว่าปัณฑระเพราะว่าบริสุทธิ์ ตัวจิตเองเป็นสภาพธรรมที่รู้แจ้งอารมณ์เท่านั้น แต่ว่าที่จิตเป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้างเพราะว่ามีเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตที่ดูเศร้าหมองหรือว่าจิตที่ไม่ผ่องใสก็คือจิตที่เป็นโลภะบ้าง เป็นโทสะบ้าง เป็นโมหะบ้าง ที่เราทราบกันว่าเป็นโลภะมูลจิต โทสะมูลจิต หรือโมหะมูลจิต ตัวจิตเองบริสุทธิ์ก็คือเป็นปัณฑระ เพราะว่ารู้แจ้งอารมณ์เท่านั้น แต่ว่าที่จิตไม่บริสุทธิ์หรือว่าเศร้าหมองก็เพราะว่าอกุศลเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย จิตที่เป็นอกุศลจิตมี ๑๒ ประเภทก็คือโลภมูลจิต ๘ ประเภทโทสมูลจิต ๒ ประเภท และโมหมูลจิตอีก ๒ ประเภท ที่จิตเป็นอกุศลเช่นนี้เพราะเหตุว่าอกุศลเจตสิกเกิดประกอบร่วมด้วย แต่ถ้ากล่าวเฉพาะตัวจิตแล้วจิตผ่องใส่เพราะเหตุว่าจิตเป็นสภาพธรรมที่รู้แจ้งอารมณ์เท่านั้น ด้วยความที่อกุศลเจตสิกเกิดประกอบร่วมด้วยก็เป็นจิตที่เศร้าหมองไป ฉะนั้นชื่อของจิตประการที่ ๔ ก็คือ ปัณฑระ แปลว่าบริสุทธิ์หรือผ่องใส

    ชื่อของจิตประการที่ ๕ ก็คือชื่อที่เราคุ้นเคยกันบ่อยๆ คือ วิญญาณ หมายถึงสภาพธรรมที่รู้แจ้งอารมณ์ จิตนี้เป็นสภาพธรรมที่รู้แจ้งอารมณ์ คำว่ารู้แจ้งหมายถึงอย่างไรหมายถึงว่าสามารถรู้รายละเอียดต่างๆ ของสิ่งที่ปรากฏได้ทุกๆ อย่าง ยกตัวอย่าง เช่น เสียง โสตวิญญาณเป็นจิตที่รู้เสียง สามารถรู้เสียงได้โดยละเอียดจนสามารถที่จะทำให้จิตต่อๆ มาคิดเรื่องเสียงนั้นเป็นเสียงด่าบ้าง สรรเสริญบ้าง หรือว่าเป็นคำต่างๆ ให้เราเข้าใจความหมายต่างๆ ฉะนั้นจิตชื่อว่าวิญญาณ เพราะว่าเป็นสภาพธรรมที่รู้แจ้งอารมณ์ อารมณ์ปรากฏละเอียดขนาดไหนจิตรู้แจ้งได้หมด สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคลเลย จักขุวิญญาณรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏทางตาจนสามารถทำให้จิตต่อๆ มาคิดถึงเรื่องราวต่างๆ มากมายของสิ่งที่ปรากฏทางตานั้นได้ ที่จิตต่อๆ มาสามารถคิดเรื่องราวของสิ่งต่างๆ นั้นได้เพราะเหตุว่าจักขุวิญญาณรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ว่าจะละเอียดขนาดไหนก็รู้ได้หมดทุกๆ รายละเอียด แล้วแต่ว่าเราจะคิดเรื่องที่จักขุวิญญาณนั้นเห็นหมดหรือเปล่า เพราะเหตุว่าจักขุวิญญาณเห็นทั้งหมดเลยในคลองจักษุในคลองของตา เพราะว่าเห็นนี่เห็นทีละข้าง ตาข้างหนึ่งก็คือเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเต็มคลองตาเลย แต่ว่าเราจะคิดถึงเรื่องไหนในจิตต่อมาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ฉะนั้นจิตชื่อว่าวิญญาณเพราะว่าเป็นสภาพธรรมที่รู้แจ้งอารมณ์ นี่เป็นชื่อของจิตประการที่ ๕

    อ. กฤษณา อีกชื่อของจิต คือ วิญญาณขันธ์ แต่ก็ยังมีชื่ออื่นอีกคือ มนายตนะ มนินทรีย์ มโนวิญญาณธาตุ ซึ่ง ๓ ชื่อหลังนี้ขอเก็บไว้สนทนาคราวหลังๆ เพราะว่าเรื่องของอายตนะ เรื่องของอินทรีย์ เป็นเรื่องที่ใหญ่ และยาก

    อ. สุภีร์ ชื่อที่ ๖ คือ วิญญาณขันธ์ คำว่าขันธ์ ถ้าแปลตามศัพท์คำว่าขันธ์คำเดียวแปลว่ากองหรือว่าส่วน ขันธ์นี้จะมี ๕ ที่เราทราบกันไปแล้วก็คือจิต เจตสิก รูป แยกออกเป็นขันธ์ ๕ จิตทั้ง ๘๙ ประเภทนี้เรียกว่า วิญญาณขันธ์เป็นส่วนของจิตหรือเป็นส่วนของวิญญาณ สภาพธรรมใดที่จะจัดเป็นขันธ์ได้สภาพธรรมนั้นต้องเป็นสังขารธรรมเกิดขึ้นแล้วดับไป มี อดีต อนาคต ปัจจุบัน มีความหยาบ ความละเอียด ความทราม ความประณีต สภาพธรรมอย่างนั้นเรียกว่าขันธ์ เพราะเหตุว่าจิตมีมากมายก็รวมกันเป็นกลุ่มๆ เดียวเรียกว่าวิญญาณขันธ์หรือว่าส่วนของสภาพธรรมที่รู้แจ้งอารมณ์

    ฉะนั้นจิตนี้มี ๘๙ นี้โดยชื่อมี ๘๙ ประเภทแต่ด้วยลักษณะของจิตที่เกิดขึ้นมีมากมายนับไม่ถ้วนเลย แค่โทสะอย่างเดียว โทสะเบาๆ ก็เป็นโทสะมูลจิต โทสะแรงๆ ก็เป็นโทสมูลจิต โทสะที่หนักขึ้นๆ จนสามารถทำให้กล่าววาจาที่ไม่ดีออกมาได้ก็เป็นโทสมูลจิต ฉะนั้น จิตนี้มีมากมาย จิตจึงจัดเป็นวิญญาณขันธ์หรือว่าส่วนของสภาพธรรมที่รู้แจ้งอารมณ์

    อ.กฤษณา ทบทวนชื่อของจิตไปแล้วโดยสังเขป ก็ทำให้เราได้เข้าใจความหมายของจิตโดยอรรถต่างๆ จริงๆ แล้วจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ควรจะได้ทราบว่าเป็นจิตภูมิไหน ซึ่งคำว่าภูมิมีความหมายอยู่ ๒ อย่าง คือความหมายแรกหมายถึงระดับขั้นของจิต อีกความหมายหนึ่งก็คือหมายถึงฐานะภูมิคือโอกาสหรือสถานที่เกิดของสัตวโลกนั่นเอง ในที่นี้เราพูดถึงภูมิของจิตในความหมายของระดับขั้นของจิต ซึ่งจิตทั้งหมดที่ได้ทราบแล้วว่ามี ๘๙ หรือ ๑๒๑ ประเภทนั้นก็จำแนกประเภทโดยภูมิคือโดยระดับขั้นของจิตเป็น ๔ ระดับขั้น คือเป็นกามาวจรภูมิ ๑ เป็นรูปาวจรภูมิ ๑ เป็นอรูปาวจรภูมิ ๑ และเป็นโลกุตระภูมิ ๑ จิตที่เป็นระดับของกามาวจรภูมินั้นก็ได้แก่กามาวจรจิต ซึ่งก็เป็นจิตที่อยู่ในระดับขั้นกาม เป็นจิตที่นับเนื่องในกามมาวจรธรรมทั้งหลาย เป็นจิตที่เป็นไปในกามอารมณ์คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากกามอารมณ์เหล่านี้

    เพราะฉะนั้นที่ชื่อว่ากามาวจรจิตนั้นเพราะว่าจิตเหล่านี้เกิดอยู่ในภูมิอันเป็นที่เกิดของวัตถุกาม และกิเลสกาม เมื่อใดที่อบรมเจริญกุศลจิตที่สงบขึ้นโดยมีรูปเป็นอารมณ์จนจิตสงบมั่นคงขึ้นถึงขั้นที่เป็นอัปปนาสมาธิที่เรียกว่าเป็นฌานจิตที่มีรูปเป็นอารมณ์ ขณะนั้นก็เป็นจิตอีกระดับขั้นหนึ่งคือเป็นรูปาวจรจิตซึ่งเป็นจิตระดับขั้นรูปาวจรภูมิซึ่งก็พ้นจากระดับของกาม รูปาวจรจิตก็เป็นจิตระดับสูงกว่ากามาวจรจิต เป็นจิตที่ได้อบรมเจริญขึ้นจนพ้นจากกามอารมณ์นั่นเอง เมื่อจิตสงบมั่นคงยิ่งกว่านั้นอีกคือยิ่งกว่าในระดับรูปาวจรภูมิก็จะเป็นจิตที่สงบแนบแน่นในอารมณ์ที่พ้นจากรูปก็เป็นอรูปาวจรจิต จึงเป็นจิตระดับขั้นอรูปาวจรภูมิ อรูปราวจรจิตเป็นฌานจิตในระดับขั้นสูงกว่ารูปฌานจิต คือเป็นปัญจมฌานจิตที่ไม่มีรูปเป็นอารมณ์ เพราะเห็นว่าเมื่อยังมีรูปเป็นอารมณ์อยู่ก็ยังใกล้ชิดต่อการที่จะมีกามเป็นอารมณ์ เมื่อบรรลุรูปปัญจมฌานแล้วก็เพิกรูปที่เป็นอารมณ์โดยน้อมระลึกถึงสภาพที่ไม่มีรูปนิมิต และมีอารมณ์ไม่มีที่สุด นี่ก็เป็นเรื่องของอรูปาวจรจิตซึ่งเป็นจิตในระดับขั้นของอรูปาวจรภูมิ

    ส่วนจิตที่ละเอียด และประณีตกว่าอรูปาวจรจิตก็คือโลกุตระจิต ซึ่งเป็นจิตที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพานคือมีนิพพานเป็นอารมณ์นั่นเอง โดยเป็นจิตที่ดับกิเลสเป็นโลกุตรกุศลจิต ๔ ดวง คือมรรคจิตนี้ประเภทหนึ่ง และโดยเป็นจิตที่ดับกิเลสแล้วเป็นโลกุตรวิบากจิต คือผลจิต อีก ๔ ดวงนี่ก็ประเภทหนึ่ง จิตทั้ง ๘ ดวงนี้จึงเป็นจิตระดับขั้นของโลกุตรภูมิ ซึ่งเราก็ได้ทราบว่าจิตเมื่อเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้นเป็นจิตในระดับขั้นไหนซึ่งในชีวิตประจำวันสำหรับเราๆ ท่านๆ ที่ไม่ได้กระทำฌานก็จะไม่มีรูปาวจรจิต ไม่มีอรูปาวจรจิต และเมื่อยังไม่ได้บรรลุเป็นพระอริยะบุคคลก็ไม่มีโลกุตรจิต

    เพราะฉะนั้นในชีวิตประจำวันของเราก็จะเป็นจิตในระดับขั้นของกามาวจรจิตคือจิตที่ยังนับเนื่องอยู่ในกามอารมณ์นั่นเอง

    สำหรับการจำแนกจิตโดยนัยของชาติของจิต ชาติคือการเกิดขึ้น การเกิดขึ้นของจิตเมื่อเกิดขึ้นแล้วเป็นจิตชาติไหนบ้าง ทุกท่านได้ทราบแล้วว่าเป็นจิต ๔ ชาติ คือ กุศลชาติ ได้แก่กุศลจิต อกุศลชาติได้แก่อกุศลจิต ชาติวิบากได้แก่วิบากจิต และชาติกิริยาได้แก่กิริยาจิต

    อ.ประเชิญ แม้ว่าชื่อของจิตมีประการต่างๆ แต่ก็ต่างกันด้วยภูมิ ระดับของจิตก็จะมีหลายระดับเช่นเดียวกัน เพราะว่ามีความปราณีต ความหยาบ และมีกิจที่ละเอียดสุขุม จนเรียกว่าจิตที่เหนือโลก เป็นโลกุตตรก็มี แต่ในแต่ละภูมินั้นก็ยังแบ่งให้ละเอียดอีก อย่างเช่นในกามาวจรที่เป็นจิตที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเราที่เป็นกามบุคคล ซึ่งผู้ที่อยู่ในมนุษย์หรือว่าเป็นเทวดาหรือว่าเป็นสัตว์เดรัจฉาน ท่านเรียกว่ากามภูมิ หรือว่าการมาวจรภูมิซึ่งก็เป็นภพภูมิที่ยังอยู่ในเรื่องของกาม คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ในกามภูมิมีทั้งมนุษย์ สัตว์อบาย และเทวดา แต่มนุษย์ก็ดี สัตว์ในอบายก็ดีเทวดาก็ดี ก็จะมีจิตที่เกิดขึ้นตามการสะสม คือถ้าเป็นคนที่เคยสะสมสิ่งที่ดีงามเป็นคนที่มีเมตตาอารี เป็นคนที่โอบอ้อมอารี ก็จะมีจิตที่เป็นฝ่ายดีคือกุศล กุศลก็จะมีผลที่เรียกว่าวิบาก ขณะที่จิตเกิดขึ้นไม่ดีเรียกว่าอกุศล อกุศลนั้นก็จะมีวิบากเช่นเดียวกัน

    เพราะฉะนั้นก็มีกุศล มีอกุศล มีวิบาก และมีจิตอีกประเภทหนึ่งที่ไม่ใช่กุศลไม่ใช่อกุศลแล้วก็ไม่ใช่วิบาก ก็เป็นกิริยาจิต เป็นจิตที่เกิดขึ้นทำกิจ ซึ่งจิตประเภทนี้ก็จะมีโดยมากสำหรับพระอรหันต์ ซึ่งท่านจะไม่มีกุศลจิต ไม่มีอกุศลจิต ท่านจะมีกิริยาจิตเกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้ก็สมมติกันว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคล เป็นหญิง เป็นชาย เป็นมนุษย์ เป็นเทวดา แต่ว่าโดยปรมัตถธรรมก็คือจิต เจตสิก และรูปที่เกิดขึ้นทำกิจของตนๆ แล้วก็ดับไป ซึ่งการที่จะเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยพระปัญญาของพระผู้มีพระภาคเท่านั้นที่จะสามารถที่จะจำแนกแจกแจงธรรมเหล่านี้ได้ ถ้าเราไปเกิดในนอกพุทธกาลบางยุคบางสมัยไม่มีพระพุทธเจ้ามาอุบัติขึ้น แม้แต่ชื่อสิ่งเหล่านี้ก็ไม่สามารถที่จะได้ยินได้ฟังเลย เพราะฉะนั้นเราได้มาเรียนรู้เรื่องของปรมัตธรรมที่จะค่อยๆ รู้เรื่องราวของตัวเราเอง เมื่อเรียนรู้แล้วก็จะทำให้เรารู้ว่าไม่ใช่มีจิตประเภทเดียว และไม่ใช่มีจิตชาติเดียว มีจิตดี และจิตไม่ดี จิตใดที่ดีก็ควรเจริญ จิตที่ไม่ดีก็ต้องละ ส่วนที่เป็นวิบากก็ไม่ต้องไปทำอะไรกับเขา เป็นจิตที่เกิดขึ้นมาเนื่องจากมีเหตุมา เพราะฉะนั้นจึงมีผลที่เรียกว่าวิบาก

    เพราะฉะนั้นจิตมีถึง ๘๙ และ ๑๒๑ ก็เนื่องจากว่ามีประการต่างๆ เนื่องด้วยชาติบ้าง เนื่องด้วยภพภูมิบ้าง เนื่องด้วยความต่างกันตามลักษณะของกำลัง เนื่องด้วยเวทนาที่ต่างกัน บางประเภทก็มีปัญญา บางประเภทก็มีความเห็นผิด เพราะฉะนั้นจิตจึงมีประเภทต่างๆ กัน ซึ่งในการที่เราจะเรียนรู้เรื่องของจิตความหมายของกุศลที่เราเคยได้สนทนาในเรื่องของจิตที่สะสมสันดานของตน เราเคยทราบแล้วว่าทั้งกุศล และอกุศล และกริยาก็จะเป็นจิตที่สะสมสันดาน ส่วนวิบากไม่สะสม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 6
    24 ธ.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ