สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 005


    สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ ๕

    วันจันทร์ที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๔๕


    ท่านอาจารย์ การแสวงหารูปของทุกคนต้องมี แล้วแต่ว่าเราจะมีความติดในรูปนั้นมากน้อยแค่ไหน แม้แต่รถยนต์ ชอบรูปอะไร ไฟชนิดไหน สีอะไรทุกอย่างหมดในชีวิต รูปขันธ์เป็นสิ่งที่ติดข้อง แล้วก็ยากที่จะดับได้ ผู้ที่จะละความยินดีติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรสต้องรู้แจ้งอริยสัจธรรมดับกิเลสถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล เพราะเหตุว่ามีปุถุชนซึ่งไม่ได้รู้แจ้งสภาพธรรมเลย ยังเต็มไปด้วยความไม่รู้ในลักษณะของธรรม แล้วก็สำหรับผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมขั้นต้นเป็นพระโสดาบัน สามารถที่จะดับความเห็นผิดทั้งหมดไม่เกิดอีกเลย จะมีการเกิดอีกเพียง ๗ ชาติ แต่ยังติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโพฏฐัพพะ ภาษาบาลีใช้คำว่า กาม เป็นสิ่งที่น่าพอใจ ความหมายของกาม หมายความถึงสิ่งใดก็ตามซึ่งเป็นที่ตั้งของความยินดีความพอใจ นั้นแม้แต่ความพอใจนั่นเองก็เป็นกิเลสกาม พอใจเป็นกิเลสชนิดหนึ่ง ซึ่งพอใจติดข้องในรูปเสียงกลิ่นรส สัมผัส หรือว่าทางภาษาบาลีใช้คำว่า โพฏฐัพพะ และสิ่งที่เป็นที่ติดข้อง ก็คือวัตถุกาม คือสิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งของความพอใจ

    เพราะฉะนั้นเราเริ่มรู้จักตัวเราในวันหนึ่ง เริ่มเห็นกิเลสทางตา ติดข้องในรูปสีสันวรรณะต่างๆ ทางหู ติดข้องในเสียงดนตรีนานาชนิด ดนตรีไทย ดนตรีชาติต่างๆ เพลงต่างๆ ยุคต่างๆ แต่เสียงไม่ว่าจะเป็นเสียงที่เกิดแล้วในอดีตก็ยังคงเป็นเสียง ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ก็เป็นเสียง ต่อไปก็จะมีเสียงคือสภาพธรรมที่เพียงสามารถปรากฏกับโสตะวิญญาณคือจิตที่ได้ยินเท่านั้น จิตอื่น เช่น ทางกายไม่สามารถที่จะรู้เสียงได้ เพราะฉะนั้นก็เป็นเพียงสิ่งซึ่งปรากฏกับคนที่มีโสตปสาท แต่ก็ติดมาก เป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้นก็เป็นรูปขันธ์ เพราะคำว่า ขันธ์ ก็หมายความถึงสภาพธรรมใดๆ ก็ตามซึ่งมีปัจจัยปรุงแต่งเกิดแล้วดับ

    เพราะฉะนั้นขันธ์ทั้ง ๕ เป็นสภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดแล้วดับ สภาพธรรมที่ไม่ใช่ขันธ์ที่เป็นปรมัตธรรม มีนิพพานอย่างเดียว ซึ่งเป็นขันธวิมุตติคือพ้นจากสภาพที่เกิดดับเป็นขันธ์ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่ารูปมีความสำคัญมาก แยกเป็นส่วนหนึ่ง รูปธรรมจะเป็นนามธรรมไม่ได้เป็นรูปขันธ์ เวลาที่ได้รูปที่น่าพอใจ รู้สึกเป็นอย่างไร อยากจะได้แต่รูปที่น่าพอใจ อาจจะเป็นแหวนเพชร เสื้อผ้า อาจจะเป็นอะไรก็ได้ที่พอใจ ขณะนั้นความรู้สึกเป็นสิ่งที่สำคัญมากเพราะว่าความรู้สึกมี ๓ อย่าง คือ สุขหนึ่ง ทุกข์หนึ่ง อทุกขมสุข ไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ หรือเฉยๆ หรืออุเบกขา อันนี้ไม่ได้แยกทางกายกับทางใจ แต่ถ้าแยก ทางกาย ทางใจ ก็มี ๕ คือ สุขทางกาย ทุกข์ทางกาย โสมนัสทางใจ โทมนัสทางใจ และอุเบกขา เพราะว่าบางคนอย่างพระอรหันต์ ผู้ที่ดับกิเลสหมดแล้ว ท่านยังต้องมีทุกข์กาย ตราบใดที่มีกาย ก็เป็นที่นำมาซึ่งทุกข์ความป่วยไข้ต่างๆ แต่ไม่มีทุกข์ใจเลย เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ เราก็จะรู้สภาพที่เกิดกับเราว่าตรงไหนเป็นทุกข์กาย และก็ตรงไหนเป็นทุกข์ใจ เพราะว่าถึงแม้ว่ากายของเรา แข็งแรงสุขภาพดี แต่วันนี้เป็นทุกข์ทั้งวันได้ไหม ใจเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นลักษณะนั้น เป็นเพราะกิเลส เป็นสิ่งซึ่งตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ ก็จะทำให้มีความรู้สึกอย่างนั้น แต่ถ้าไม่มีกิเลสแล้ว ดับกิเลสแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีทุกข์กาย และสุขกายได้ แต่เรื่องของใจก็เป็นเรื่องที่จะเห็นได้ ว่าถ้ามีกิเลสมากทุกข์ก็มาก ถ้ามีกิเลสน้อยทุกข์ก็น้อย แต่ถึงแม้ไม่มีกิเลสเลย ความรู้สึกก็ต้องเกิดกับจิตทุกขณะ

    พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีโสมนัสเวทนาไหม แม้ว่าไม่มีกิเลส ก็มีได้ อย่างพระธรรมที่ทรงแสดงแล้วที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พระปฐมเทศนา มีผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรม พยานของการที่ได้บำเพ็ญบารมี ๔ อสงไขยแสนกัป สิ่งที่ทรงปรารถนาคือสัตตูประการคุณ การที่จะอนุเคราะห์สัตว์โลกให้พ้นทุกข์เช่นพระองค์ด้วย ก็สำเร็จเพราะว่ามีผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมคือท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ เพราะฉะนั้นโสมนัสเวทนา ซึ่งแม้ไม่มีกิเลสก็เกิดได้เป็นกิริยาจิต

    เวทนาในภาษาบาลีหมายความถึงความรู้สึก เพราะฉะนั้นความรู้สึกจะมี ๕ อย่าง สุขเวทนา ทุกขเวทนา โสมนัสเวทนา โทมนัสเวทนา อุเบกขาเวทนา ต่อไปนี้ เวลาใช้คำว่า เวทนา ก็ไม่ได้หมายความถึงว่าน่าสงสารมาก เพราะว่าคนไทยเราก็จะใช้คำว่า น่าเวทนาเหลือเกิน แต่ความจริงเวทนาเป็นเจตสิกที่เป็นความรู้สึก ต้องเกิดกับจิตทุกขณะ เวลาที่จิตเกิดขึ้น เห็นต้องมีเวทนาเกิดร่วมด้วย เวลาที่จิตได้ยินเกิดขึ้นก็มีเวทนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เวทนาเจตสิกต้องเกิดกับจิตทุกขณะ เป็นสภาพธรรมที่ทุกคนต้องการแต่สุขเวทนา หรือว่าโสมนัสเวทนา เพราะฉะนั้นเวทนาก็เป็นขันธ์หนึ่ง ขันธ์มี ๕ คือ หนึ่งรูปขันธ์ สองเวทนาขันธ์ สามสัญญาขันธ์ สัญญาความจำ เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เกิดกับจิตทุกขณะด้วย ถ้าไม่มีสัญญาความจำเราจะเดินเข้ามาในห้องนี้ได้ไหม เราจะมีชีวิตที่เป็นอยู่ไม่ได้เลยถ้าไม่มีสัญญาเจตสิก แต่สัญญาที่จำได้เกิดทั้งกับกุศลจิต และอกุศลจิต เช่นเวลาที่เราพูดถึงเรื่องบัญญัติ ถ้าไม่มีสัญญาความจำ เราจะรู้ไหมว่าสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้คืออะไร เพราะว่าความจริงที่เป็นปรมัตถธรรม ขณะนี้เราคิดว่าเรากำลังเห็นคน เห็นดอกไม้ เห็นโต๊ะ เห็นเก้าอี้ แต่ถ้าเป็นความจริงแท้ที่เป็นปรมัตถธรรม เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ถ้าปิดไฟหมด มีคนในห้องนี้ไหม คนยังไม่ออกไป ยังอยู่เต็มเลย และก็ไฟดับ ยังมีคนไหม โดยความคิดความจำ ในขณะที่ไฟดับ แต่ละคนอาจจะออกไปจากห้องนี้หมดทีละคนก็ได้ แต่เราอาจจะยังคิดว่ายังมีอยู่ เพราะเราจำ เพราะฉะนั้นสัญญาความจำเกิดกับจิต ทำให้สามารถที่จะรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ

    ยากแสนยากที่จะเข้าใจว่าแท้ที่จริงแล้วขณะนี้สิ่งที่ปรากฏ เราจะใช้คำว่า วรรณะสีสันวรรณะต่างๆ หรือแสงสว่าง เขียวแดงหรืออะไรก็ตามแต่ก็ได้ หมายความว่าถ้าไม่เรียกชื่อว่าสีอะไร หรือสว่างแค่ไหน เราจะกล่าวสั้นๆ เพียงว่ามีสิ่งที่ปรากฏเมื่อกระทบกับจักขุปสาท ก็ปรากฏเป็นสีสันวรรณะต่างๆ เพียงหลับตา ไม่ปรากฏสีสันวรรณะต่างๆ แต่เวลาที่เราหรี่ไฟยังไม่ถึงกับดับ สีสันวรรณะต่างๆ จะเปลี่ยนไหม ต้องเปลี่ยนไป นี่ก็แสดงให้เห็นว่าแท้ที่จริงแล้วมีสีต่างๆ แล้วความจำสีสันต่างๆ ทำให้มีการหมายรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร เช่นถ้วยแก้วมีรูปร่างหลากหลายแบบใช่ไหม อาจจะเป็นทรงสูง อาจจะเป็นทรงเตี้ย อย่างไรก็ตาม ความจำสัณฐานแล้วก็การรู้ว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราใส่น้ำได้ ใส่อะไรก็ได้ ขณะนั้นเราก็จำรูปร่างสัณฐานจากสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นแท้ที่จริงแล้ว ตอนที่เรานอนหลับแล้วฝัน ไม่มีอะไรปรากฏทางตาในขณะที่กำลังหลับสนิท แต่ทำไมมีเรื่อง ฝันเห็นใครบ้างหรือไม่เมื่อคืนนี้ เห็นใช่ไหม เป็นเรื่องเป็นราว เพราะฉะนั้นขณะนี้เองเหมือนกับภาพนิ่งเป็นสีสันวรรณะต่างๆ แล้วเราก็คิดเรื่อง เอาเรื่องออกมาจากสิ่งที่กำลังปรากฏ เอาสีสันวรรณะมาเป็นดอกไม้ หรือว่ามาเป็นโต๊ะ หรือว่ามาเป็นคน หรือว่าเป็นสัตว์ เป็นรูปภาพเป็นนาฬิกาจากความทรงจำทั้งหมด แต่ความจริงแท้ๆ ก็คือเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ต่างกับขณะที่ฝัน ขณะที่ฝัน ไม่มีสิ่งใดปรากฏแต่มีเรื่อง เพราะฉะนั้นขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏแล้วมีเรื่องจากสิ่งที่ปรากฏเหมือนฝัน ถ้าเอาสิ่งที่ปรากฏออกไป ความคิดความจำก็เหมือนกับห้องนี้ ลองคิดหลับตาแล้วก็คิดถึงห้องนี้ แต่ยังไม่เหมือนฝันจริงๆ ใช่ไหม ฝันจริงๆ ต่างกับขณะที่ไม่ฝันก็คือเพียงแต่ว่า ขณะที่ไม่ฝันมีสิ่งที่กระทบตา และปรากฏ และเราก็นึกคิดไปต่างๆ นานากับสีสันวรรณะที่ปรากฏเป็นคนเป็นสัตว์เป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ จากความคิด แต่เวลาที่ฝันเราก็ยังคิดเรื่องพี่น้องเรื่องญาติเรื่องต่างๆ แต่ไม่มีสีสันวรรณะปรากฏ เพราะฉะนั้นความต่างก็อยู่ตรงที่ว่าความจำ ซึ่งเป็นเจตสิกชนิดหนึ่งซึ่งเกิดกับจิตทุกขณะ เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เป็นสัญญาขันธ์ เพราะฉะนั้นเราก็ได้ ๓ ขันธ์ใช่ไหม รูปขันธ์หนึ่ง เวทนาขันธ์หนึ่ง สัญญาขันธ์หนึ่ง

    เจตสิกอื่นอีก ๕๐ เป็นสังขารขันธ์ ถ้าพูดถึงเจตสิก ทรงแสดงว่ามีเจตสิกทั้งหมด ๕๒ ประเภท แต่ว่าระดับของเจตสิกนั้นต่างกัน เช่น ความโกรธความขุ่นใจ มีระดับต่างกัน ตั้งแต่ความขุ่นใจเล็กๆ น้อยๆ นิดเดียวจนกระทั่งถึงความพยาบาท ความผูกโกรธ หรือความแค้นเคืองก็เป็นระดับของความโกรธที่ต่างกันซึ่งมีชื่อต่างๆ เพราะฉะนั้นเราใช้คำบัญญัติ เพื่อที่จะให้เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ แม้บัญญัติในสิ่งที่ไม่มี แต่หมายรู้กันก็ได้ เช่น พระราชา มีปรมัตถธรรมอะไรที่เป็นพระราชาหรือเปล่า มีจิตเจตสิกรูป แต่ก็บัญญัติคำนี้สำหรับบุคคล ที่มีกุศลวิบากที่ได้รับการสมมติบัญญัติว่าเป็นพระราชา เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าบัญญัติ เป็นสิ่งที่เราหมายรู้ ด้วยความทรงจำ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ชนิด เวทนาเป็นปรมัตถธรรมอะไร เป็นเจตสิกหนึ่งประเภทใน ๕๒ สัญญาความจำเป็นปรมัตถธรรมอะไร เป็นสัญญาเจตสิกหนึ่งใน ๕๒ เจตสิกที่เหลืออีก ๕๐ เป็นสังขารขันธ์ เราก็กำลังจะครบแล้ว รูปขันธ์เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ สังขารขันธ์ก็ได้แก่เจตสิกอื่นซึ่งในวันหนึ่งๆ ชีวิตที่เราเรียกหรือว่าพูดกันก็คือเจตสิกทั้งนั้น วันนี้ขยันไหม วันนี้ขี้เกียจไหม วันนี้โกรธไหม วันนี้ชอบหรือเปล่า ทั้งหมดนี้คือพูดถึงเจตสิกทั้งนั้น เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ แม้ไม่เรียกชื่อ แต่ถ้าเรียกชื่อเราก็จะรู้ความต่างกัน พวกนี้เป็นสังขารขันธ์ จิตทุกชนิดทุกประเภทเป็นวิญญาณขันธ์

    เพราะฉะนั้นวันนี้ก็เป็นการที่จะเข้าใจปรมัตถธรรม ๔ คือจิตหนึ่ง เจตสิกหนึ่ง รูปหนึ่ง นิพพานหนึ่ง แต่สภาพธรรมที่เกิดดับเท่านั้นที่เป็นขันธ์ เพราะฉะนั้นก็ได้แก่จิตเจตสิก และรูปเป็นขันธ์ ๕ ส่วนนิพพานเป็นขันธวิมุติ

    อ.สุภีร์ คำว่านิพพาน เราก็ทราบว่าสิ่งที่มีการเกิดขึ้น และดับไปนะ ก็คือจิตเจตสิกรูป ฉะนั้นนิพพาน คือสิ่งที่ไม่ใช่จิต เจตสิก รูป ทุกท่านที่นั่งอยู่ขณะนี้ มีจิตเจตสิกรูปเกิดดับสืบต่อกันมาเรื่อยๆ ใช่ไหม จนถึงขณะนี้จิตเจตสิกรูปเมื่อชั่วโมงที่แล้ว หรือว่าสองชั่วโมงที่แล้วที่เข้ามานั่งที่นี่ก็ดับไปหมดแล้ว ไม่มีการย้อนกลับมาอีกเลย ไม่ว่าจะอย่างไรก็ไม่มีทางย้อนกลับมาได้อีก นี้เป็นจิตเจตสิกรูป แต่นิพพานไม่ใช่จิตเจตสิกรูปเพราะว่าไม่มีการเกิด คำว่านิพพานมาจากคำว่า "นิ" แปลว่าไม่มี ร่วมกับคำว่า "วานะ" แปลว่าตัณหาเครื่องร้อยรัด ฉะนั้นเมื่อรวมกับทั้งหมดแล้วก็เป็นนิพพาน แปลโดยศัพท์ก็ว่าไม่มีตัณหาเครื่องร้อยรัด โดยสภาพธรรมก็คือสภาพที่ไม่ใช่จิตเจตสิกรูปสภาพขณะนี้ คือจิตเจตสิกรูป ทุกๆ ท่านไม่ว่าจะตอนนี้ก็ดี เดินออกไปก็ดี พรุ่งนี้ไปทำงานก็คือจิตเจตสิกรูปทั้งหมด นิพพานไม่ใช่เช่นนี้

    วันจันทร์ที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๔๕

    ผู้ดำเนินรายการ กราบนมัสการพระคุณเจ้า ท่านรองเลขาธิการรัฐสภา ท่านผู้อำนวยการ กองกรรมาธิการสอง และท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน ก็เป็นโอกาสดีอีกครั้ง หนึ่งที่เราจะได้มาร่วมสนทนาธรรมกันในวันนี้ จะขอสนทนาต่อไปถึงเรื่องของขันธ์ พระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงแสดงเพียงแค่ขันธ์ ๕ แต่ทรงแสดงอุปาทานขันธ์ด้วย จะขอ อ.สุภีร์กรุณาช่วยให้ความหมาย คำอธิบายความต่างกันระหว่างขันธ์กับอุปาทานขันธ์

    อ.สุภีร์ ปรมัตถธรรม ๓ จิตเจตสิกรูปเป็นขันธ์ ๕ ขณะนั่งอยู่นี้เป็นขันธ์ ๕ หรือเปล่า ที่นั่งอยู่ตอนนี้ ที่เห็นตอนนี้ ที่ได้ยินตอนนี้ ก็คือขันธ์ ๕ นั่นเอง เวลาเราเห็น ขณะที่เห็นเป็นจิตที่เห็นใช่ไหม จิตเป็นขันธ์อะไร เป็นวิญญาณขันธ์ จิตเป็นนามธรรมที่รู้อารมณ์ซึ่งเวลาเขาเกิด จะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ฉะนั้นเวลาจิตเห็นเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง จะมีเจตสิกเกิดขึ้นร่วมด้วยก็คือ เวทนาเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยกับจิตที่เห็นก็เป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิกนะที่เกิดร่วมด้วยก็คือทำหน้าที่จำสิ่งที่เห็น เราอาจจะคิดว่าเราก็จำอะไรไม่ได้มากมายใช่ไหม แต่จริงๆ แล้วสัญญาเจตสิกเกิดกับจิตทุกขณะเลย เหมือนกับว่าเราจำอะไรไม่ค่อยได้ แต่จริงๆ แล้ว สัญญาเจตสิกคือสภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิตนั้นจำไว้แล้ว การที่เราทำอะไรบ่อยๆ ครั้งแรกต้องจำได้ใช่ไหม ครั้งต่อไปจึงจะชัดเจนยิ่งขึ้นถ้าไม่มีการจำครั้งแรกครั้งต่อๆ ไปก็จะไม่สามารถจำได้เลย ฉะนั้นแม้แต่การเห็นครั้งหนึ่ง สมมติว่าเรา นั่งรถไฟอาจจะนั่งรถไฟไปสถานที่ที่ไม่รู้จัก เห็นแล้วกลับมาบ้านเราบอกว่าจำอะไรไม่ได้เลย แต่จริงๆ แล้ว สภาพธรรมที่รู้อารมณ์ที่เกิดร่วมกับจิตนั้นจำเรียบร้อยแล้ว ถ้าเราไปครั้งที่สอง ครั้งที่สาม สิ่งต่างๆ เหล่านั้นก็จะชัดเจนยิ่งขึ้น ฉะนั้นสัญญาเจตสิก หรือว่าความจำอารมณ์เกิดกับจิตทุกดวง ทุกท่านที่นั่งฟังอยู่ตอนนี้ ฟังครั้งแรกปรมัตถธรรมใช่ไหม จำไม่ค่อยได้ เป็นเราที่จำไม่ค่อยได้ แต่สภาพธรรมจำแล้ว เมื่อได้ฟังอีกครั้งความจำเก่าๆ ก็จะค่อยๆ ชัดเจนขึ้นค่อยๆ ชัดเจนขึ้น เหมือนกับการศึกษาทางโลกอะไรต่างๆ ที่เราศึกษากันมาเริ่มตั้งแต่การเขียน ก.ไก่ ข.ไข่ มาจนกระทั่งถึงบัดนี้ เห็นหนังสือกองใหญ่โตก็สามารถอ่านได้ ก็เริ่มมาตั้งแต่การจำครั้งแรกไล่มาจนกระทั่งถึงตอนนี้ ฉะนั้นความจำเป็นสัญญาขันธ์ ฉะนั้นขันธ์ ๕ นี้ไม่ได้อยู่ไกลเลย อยู่ขณะนี้ทุกๆ ขณะเลย

    ยกตัวอย่างการเห็น จิตที่เห็นเป็นวิญญาณขันธ์ จิตได้ยินมีไหมครับ การได้ยินก็มี จิตที่ได้ยินเป็นวิญญาณขันธ์ เช่นเดียวกัน เวลาได้ยินก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ก็สัญญาเจตสิกก็เกิดร่วมด้วย สัญญาเจตสิกก็เป็นสัญญาขันธ์เวทนาเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็คือความรู้สึกกับเสียงนั้นก็เป็นเวทนาขันธ์ เจตสิกอื่นๆ ทั้งหมดที่เหลือ ซึ่งเราไม่ได้กล่าวชื่อทั้งหมด แต่ว่าก็เป็นความจริงในชีวิตประจำวัน เราอาจจะรู้สึกชอบ รู้สึกไม่ชอบใช่ไหม สิ่งนี้เหล่านั้นเป็นสังขารขันธ์ ก็คือขันธ์ห้าในชีวิตประจำวันนั่นเอง

    สำหรับในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ในมนุษย์เราทั่วไปทุกท่านที่นั่งอยู่นี้เป็นประเภทที่ๆ มีขันธ์ ๕ เวลาจิตเจตสิกเกิด จะมีที่เกิด ฉะนั้นจิตเจตสิกจะมากล่าวว่าจิตเจตสิกของเรานี่ลอยไปนั่นไปนี่ไม่ได้ เพราะเหตุว่าในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตเจตสิกจะเกิดที่รูป ฉะนั้น เวลาเห็นครั้งหนึ่งขันธ์ ๕ ครบเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่เป็นที่เกิดของจิตเห็นเรียกว่าจักขุปสาทรูปเป็นรูปชนิดหนึ่งที่ซึมซาบอยู่ในตา บางคนไม่มีจักขุปสาทรูปชาตินั้นก็จะไม่เห็นเลยใช่ไหม แต่ของเรามีจักขุปสาทรูป ฉะนั้นจึงเป็นปัจจัยให้จิตเห็นเกิดได้ บางคนที่เขาตาบอดโลกของเขาก็จะมืดสนิทเลย ไม่มีอาการสว่างอย่างที่เราเห็นจะต่างกัน ถ้าเราลองหลับตานานๆ แล้วก็ลืมตาขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ช่วงที่หลับตากับช่วงที่ลืมตานี้จะต่างกันเยอะมาก ก็เหมือนกันคนที่เขาตาบอดไม่มีจักขุปสาทรูปก็คือไม่มีรูปที่จะเป็นที่เกิดของจิตเห็น เขาก็จะไม่มีเหตุปัจจัยให้การเห็นเกิดขึ้น ฉะนั้น ที่เราสามารถเห็นได้ จิตเห็นเป็นวิญญาณขันธ์ เวทนาเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยเป็นเวทนาขันธ์ ความจำหรือว่าสัญญา ที่เกิดขึ้นร่วมด้วยก็เป็นสัญญาขันธ์ ความรู้สึกโกรธ ความรู้สึกชอบ ความรู้สึกอะไรต่างๆ ทั้งหลายนอกจากเวทนากับสัญญาแล้ว ก็เป็นสังขารขันธ์ รูปที่เป็นที่เกิดของเจตสิกเหล่านี้ ก็เป็นรูปขันธ์ ครบแล้ว เห็นครั้งเดียวเท่านั้นครบ ๕ ขันธ์แล้ว ได้ยินครั้งเดียวก็ครบ ๕ ขันธ์แล้ว ขันธ์เมื่อครู่ที่ล่วงไปประมาณ สองนาที หรือสามวินาทีที่แล้วอะไรก็ตามแต่ ขันธ์เหล่านั้นที่เห็นก็ดี ได้ยินก็ดีเป็นอดีตไป นั่นแหละขันธ์ที่เป็นอดีตเป็นกองของส่วนต่างๆ ที่เป็นอดีต ขณะนี้ ขณะที่กำลังปรากฏขณะที่ได้ยินตอนนี้ ขณะที่เห็นตอนนี้ ขณะที่คิดนึกอะไรต่างๆ ตอนนี้เป็นปัจจุบัน เป็นขันธ์ที่เป็นปัจจุบัน ที่จะเกิดต่อไปข้างหน้า ก็ไม่มีอะไรที่จะเกิดนอกจากขันธ์เกิด ก็คือจิตเจตสิกรูปเกิด ซึ่งจิตเจตสิกรูปที่เกิดนี้ก็เป็นขันธ์ ๕ นั่นเอง ก็เป็นเรื่องเดียวกัน ฉะนั้น ไม่ว่าจะชาตินี้ก็ดี ไม่ว่าจะชาติไหนๆ ก็ดี ไม่มีคนเกิด ไม่มีสัตว์เกิด มีจิตเจตสิกรูปเกิดมีขันธ์เกิด นี้ความจริงเป็นเช่นนี้ ฉะนั้นเมื่อกล่าวถึงขันธ์ ๕ เราอาจจะสงสัยไปกับศัพท์แต่ที่จริงแล้วขันธ์ ๕ ก็นั่งอยู่ที่นี่แล้วก็มีการเห็นมีการได้ยินอะไรอย่างนี้ สิ่งเหล่านี้เป็นขันธ์ห้าทั้งหมด ต่อไปที่คุณกฤษณาได้ถามผมเมื่อครู่ว่านอกจากมีขันธ์ ๕ แล้วก็ยังมีอุปาทานขันธ์ ๕ คำว่าอุปาทานหมายถึงความยึดมั่นถือมั่น


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 6
    28 พ.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ