สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 050
สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ ๕๐
วันจันทร์ที่ ๒ กันยายน ๒๕๔๕
อ.กฤษณา ธรรมที่ทำหน้าที่เสพอารมณ์บ่อยๆ คือชวนจิตนั้นจะต้องเป็นโลกียชวนะเท่านั้น และจิตที่ทำชวนกิจต้องเป็นชวนจิตที่มีชาติเดียวกันคือถ้าเป็นอกุศลชาติก็ต้องเป็นอกุศลชาติเหมือนกันทั้ง ๗ ขณะ ถ้าเป็นกุศลจิตคือเป็นกุศลชาติก็จะต้องเป็นกุศลจิต ๗ ขณะ จิตที่ทำชวนกิจตรงนี้ทำหน้าที่เป็นธรรมที่ช่วยอุปการะโดยเป็นอาเสวนปัจจัยนี้จะต้องไม่ใช่จิตชาติวิบาก เพราะว่าวิบากจิตนั้นไม่สั่งสมสันดาน โลกียวิบากจิตแต่ละขณะเกิดขึ้นเพราะกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมที่สะสมมาแล้วนั้นเป็นปัจจัยให้เกิดขึ้น เมื่อวิบากจิตเกิดขึ้น และดับไปแล้วก็ไม่เป็นเหตุให้วิบากใดๆ เกิดขึ้นเลย สำหรับโลกุตรวิบากได้กล่าวแล้วว่าคือผลจิตนั้นไม่สั่งสมสันดาน เพราะฉะนั้นจิตที่เป็นวิบากจิตอย่างจิตเห็นจิตได้ยินนี้ เป็นวิบากจิตไม่ใช่กุศลจิตไม่ใช่อกุศลจิตจึงไม่ทำหน้าที่ชวนะ จึงไม่สั่งสมสันดาน เพราะว่าพวกจิตเห็นจิตได้ยินเหล่านี้เกิดขึ้นขณะเดียว จิตที่ทำหน้าที่ชวนะเท่านั้นที่สั่งสมสันดานเพราะเกิดขึ้นซ้ำกัน ๗ ขณะ
เราได้ทราบเรื่องของวิถีจิตที่ได้สนทนากันมาในครั้งก่อนๆ ตั้งแต่อาวัชชนวิถีก็เกิดขึ้นขณะเดียว และเป็นจิตชาติกิริยาด้วย จิตดวงนี้จึงไม่สั่งสมสันดาน จิตดวงต่อมาจากอาวัชชนวิถีก็เป็นพวกปัญจวิญญาณมีจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ที่ทำหน้าที่เห็น ได้ยิน เป็นต้น ก็เกิดขึ้นขณะเดียวแล้วก็ไม่ได้ทำชวนกิจก็ไม่สั่งสมสันดาน จิตดวงที่เกิดต่อมาจากพวกปัญจวิญญาณเป็นสัมปฏิฉันนจิตทำสัมปฏิฉันนกิจก็เกิดขึ้นขณะเดียวเป็นชาติวิบากก็ไม่สั่งสมสันดาน สันติรณจิตที่เกิดต่อก็ขณะเดียวเป็นชาติวิบากก็ไม่สั่งสมสันดาน โวฏฐัพพนจิตที่เกิดต่อจากสันติรณจิตเป็นจิตชาติกิริยาเกิดขึ้นขณะเดียวก็ไม่สั่งสมสันดาน ต่อจากโวฏฐัพพนจิตถึงจะเป็นชวนจิตทำชวนกิจเกิดขึ้น ๗ ขณะทำหน้าที่สั่งสมสันดาน เพราะว่าได้กล่าวแล้วว่าปัจจัยหนึ่งในการสั่งสมสันดานก็คืออาเสวนปัจจัยคือธรรมที่ช่วยอุปการะโดยการเสพอารมณ์บ่อยๆ ตรงนี้ชวนจิตเสพอารมณ์ถึง ๗ ขณะ สำหรับชวนจิตดวงที่ ๗ นั้นไม่เป็นอาเสวนปัจจัยแก่จิตที่จะเกิดต่อถ้าเป็นตทาลัมพนจิตเกิดต่อจากชวนะ ชวนจิตดวงที่ ๗ จะไม่เป็นอาเสวนะปัจจัยแก่ตทาลัมพนจิตที่เกิดต่อ
การที่จะเข้าใจอรรถที่ว่าชื่อว่าจิตเพราะสั่งสมสันดานของตนด้วยสามารถชวนวิถีนั้น จะต้องเข้าใจเรื่องของจิตซึ่งเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วว่านามธรรมที่เกิดกับจิตแล้วดับไปแต่ละขณะนั้นสะสมสืบต่อในจิตขณะหลังๆ ที่เกิดดับสืบต่อมานั่นเอง แล้วจะต้องเข้าใจชวนวิถีด้วยซึ่งเป็นขณะที่จิตสั่งสมสันดานของตนเป็นกุศลบ้างเป็นอกุศลบ้าง และสำหรับพระอรหันต์ก็เป็นมหากิริยาจิต เพราะถึงแม้ว่าเป็นพระอรหันต์แล้วก็เป็นพระอรหันต์ที่มีกายวาจาใจต่างๆ กันตามการสั่งสมสันดานของตน พระอรหันต์ก่อนที่ท่านจะมาเป็นพระอรหันต์ท่านก็เคยสั่งสมอะไรต่างๆ มามากเหมือนกัน เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นกุศล อกุศล แต่ละขณะที่เกิดขึ้นแล้วดับไปนั้นก็เป็นปัจจัยสะสมสืบต่อไปในจิตขณะต่อๆ ไป เพราะเมื่อจิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไป การดับไปของจิตดวงก่อนก็เป็นปัจจัยให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้นสืบต่อทันที เพราะฉะนั้นจิตดวงที่เกิดต่อจึงมีสภาพธรรมที่จิตดวงก่อนสะสมไว้แล้วสืบต่อไปในจิตดวงหลังๆ กุศลธรรม และอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นเป็นชวนวิถี และก็ดับไปแล้วนั้นก็สะสมสืบต่อไปในจิตขณะต่อไป เพราะแม้ว่าจิตจะเกิดขึ้นแล้วดับไป แต่การดับของจิตดวงก่อนนั้นก็เป็นปัจจัยให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นจิตดวงต่อไปที่เกิดขึ้นจึงสืบต่อทุกอย่างที่สะสมอยู่ในจิตดวงก่อน เพราะว่าจิตที่เกิดสืบต่อนั้นเกิดขึ้นเพราะจิตดวงก่อนเป็นปัจจัย ที่กล่าวแล้วก็เป็นอาเสวนปัจจัย ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกอย่าง คืออุปนิสสยปัจจัย
ซึ่งคำว่าอุปนิสสยปัจจัยนั้นก็มาจากคำว่า อุปปนิสสยะ กับ ปัจจัย เราจะสังเกตได้คำว่าอุปนิสัยในภาษาไทยที่ใช้กันนั้นก็หมายถึงความประพฤติที่เคยชินที่กระทำมาจนกระทั่งเป็นอย่างนั้น แต่ละบุคคลก็มีความประพฤติที่เคยชินต่างๆ กัน อย่างเช่นบางคนก็เป็นผู้ที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่จนเป็นอุปนิสัยเพราะว่าได้ประพฤติมาจนเคยชินมาที่จะเป็นอย่างนั้น แต่บางคนก็เป็นผู้ที่มีอุปนิสัยที่โกรธง่ายก็เพราะสะสมมาที่จะโกรธง่าย เพราะฉะนั้นคำว่าอุปนิสัยที่ใช้ในภาษาไทยก็มีเค้ามูลมาจากคำว่า อุปนิสสยะ ในภาษาบาลีที่หมายถึงที่อาศัยอย่างแรงกล้าหรือที่อาศัยที่มีกำลังมาก อุปนิสสยะ คือที่อาศัยที่มีกำลังมากหรือมีกำลังอย่างแรงกล้านั้นเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งด้วยคือเป็นธรรมที่ช่วยอุปการะให้ผลธรรมเกิดขึ้นโดยความเป็นที่อาศัยที่มีกำลังมากนั่นเอง
ซึ่งถ้าเรียนในเรื่องรายละเอียดของอุปนิสสยปัจจัยถ้าท่านที่สนใจก็จะได้ทราบว่าอุปนิสสยปัจจัยนั้นมี ๓ อย่าง แต่ยังไม่ขอกล่าวรายละเอียดในที่นี้ หนึ่งใน ๓ อย่างนั้นก็คือปกตูปนิสสยปัจจัยซึ่งก็หมายถึงเหตุธรรมอันเป็นที่อาศัยที่มีกำลังแรงกล้าที่ได้ทำมาแล้วด้วยดี ปกตูปนิสสยปัจจัย มาจากคำว่า ปกตะ กับ อุปนิสสยปัจจัย ขอคุณสุภีร์กรุณาช่วยอธิบายศัพท์ ปกตูปนิสสยปัจจัย
อ.สุภีร์ ปกตูปนิสสยปัจจัย คำว่าอุปนิสัยปัจจัย หรืออุปนิสัยในคำภาษาไทยก็คือการสะสมมาเนิ่นนานที่ชินแล้วที่จะเป็นอย่างนี้ ที่เราทำอะไรต่างๆ เป็นอัธยาศัยหรือว่าเป็นอุปนิสัยที่สะสมมาเพราะเหตุว่าได้ทำสิ่งเหล่านี้มาก่อนแล้วในชาติก่อนๆ หรือว่าในชาตินี้ก็ตาม อย่างบุคคลบางคนชำนาญในการทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็คือได้กระทำในสิ่งนั้นบ่อยๆ ก็จะเกิดความชำนาญขึ้น การกระทำต่างๆ ที่ออกมาทางกายทางวาจาได้กล่าวไปแล้ว ก็คือออกมาจากชวนจิตนั่นเองที่ทำให้เกิดการกระทำอย่างนั้น ฉะนั้นในชวนวิถีสะสมสันดานก็คือสะสมแล้วก็ค่อยๆ มากขึ้นๆ ก็เป็นอุปนิสัยที่มีกำลังหรือว่าเรียกตามภาษาไทยว่ามีอัธยาศัยอย่างไรนั่นเอง มีอัธยาศัยโอบอ้อมอารี มีอัธยาศัยที่จะให้สิ่งต่างๆ กับคนได้บ่อย ก่อนหน้านั้นเคยได้ให้มาแล้วอาจจะให้ยากหน่อยแต่ว่าเมื่อให้ยาก แต่บ่อยๆ ก็ให้ได้ง่ายขึ้น เคยให้ของที่เก่าๆ ก็ค่อยๆ ให้ของที่ใหม่ขึ้นๆ จนกระทั่งถึงซื้อให้ใหม่เลย อย่างนี้ก็คือเป็นอุปนิสัยที่สั่งสมมา
และคำว่า ปกตูปนิสสยปัจจัย คำว่า ปักตะ ก็คือได้เคยกระทำไว้แล้วในคราวก่อนๆ ก่อนๆ นี้อาจจะเป็นเมื่อวานนี้ ตั้งแต่วันไหนมาก็ตามหรือว่าชาติที่แล้วๆ มาก็ตามเรียกว่าปกตูปนิสสย ก็คือสิ่งที่เคยทำมาแล้วก่อนๆ ทั้งหมดเรียกว่าปกตูปนิสสย ทุกๆ ท่านสะสมหรือว่าเคยทำสิ่งต่างๆ มามากมาย ฉะนั้นจึงจะเห็นว่าเราทำอะไรได้หลายอย่างใช่ไหม เดี๋ยวก็โทสะก็เกิดบ้างเพราะเหตุว่าโทสะก็สะสมมามากเหมือนกัน โลภะก็เคยสะสมมามากเหมือนกัน ซึ่งสิ่งที่ได้สะสมมาแล้วเราจะทราบได้ว่าเราสะสมอะไรมามากขนาดไหน รู้จากสิ่งที่เกิดขึ้น ถ้าสิ่งนั้นไม่เกิดเราจะไม่รู้เลยว่าเราสะสมอะไรมามากขนาดไหน อย่างเช่น เรารู้ว่าเราสะสมความโกรธมามากหรือไม่เราก็จะรู้เมื่อความโกรธเกิดขึ้น สิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะสะสมมามากมายขนาดไหนก็ตามเราจะรู้สิ่งเหล่านั้นได้จากสิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นเราก็จะสามารถมองกลับย้อนไปได้ว่าที่เกิดขึ้นนั้นมาจากอะไร อย่างบางคนสามารถฆ่าสัตว์ได้ใช่ไหม สามารถฆ่าสัตว์ตัวใหญ่ๆ ก็ได้เราก็จะมองย้อนกลับได้ว่าสะสมอะไรมามากขนาดไหน
ฉะนั้นคำว่า ปกตูปนิสสยปัจจัย ก็คือการกระทำก่อนๆ ที่ได้เคยกระทำมาแล้วไม่ว่าจะนานขนาดไหนก็ตามที่สะสมเป็นอุปนิสัยต่างๆ ที่จะเป็นเหตุให้กุศลหรืออกุศลเกิดขึ้นในชวนะ กุศลก็ได้สะสมมาแล้ว อกุศลก็สะสมมา ฉะนั้นเมื่อมีเหตุปัจจัยสิ่งที่สะสมไว้แล้วก็สามารถที่จะเกิดขึ้นได้
อ.ประเชิญ ในเรื่องของการสะสมความประพฤติทางกายทางวาจาก็เป็นเรื่องของชวนจิต ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดร่วมกับจิตใจของเรา คือเป็นชีวิตของเรานั่นเอง ชีวิตของเราที่เป็นไปอยู่อย่างนี้ทั้งกุศลอกุศล ซึ่งมีพระสูตรที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเราเช่นเดียวกัน ทุกท่านก็คงจะถูกหลายท่านถามว่ารักใครมากที่สุด เคยถูกถามไหม ถูกต้องรักตัวเองมากที่สุด แต่ว่าอย่างไรจึงชื่อว่ารักตัวเอง แล้วอย่างไรจึงไม่ชื่อว่ารักตัวเอง ซึ่งตรงนี้ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้แล้วก็ไม่ทราบว่าผู้ที่รักตัวเองจริงๆ นั้นเป็นอย่างไร ไม่ทราบท่านเคยได้คิดไหมว่าอย่างไรจึงได้ชื่อว่ารักตัวเอง
ผู้ฟัง เคยคิด เพราะว่าความรักตัวเองก็ทำให้มาฟังธรรม
อ.ประเชิญ เพราะรักตัวเองจึงมาฟังธรรม มีอย่างอื่นไหม
ผู้ฟัง เพราะรักตัวเองก็พยายามที่จะพิจารณาธรรมบ่อยๆ คืออาจจะพูดไม่ถูกต้องแต่หมายถึงอยู่กับปรมัตถ์ให้มากขึ้นแล้วก็ชินกับปรมัตถ์ รักตัวเองคิดว่าเป็นทางเดียวที่ความทุกข์ไม่ว่าจะทุกข์กายทุกข์ใจหรือทุกข์ในสังสารวัฎจะหมดได้ อันนี้คือความรักตัวเองก็คล้ายๆ กับการมาฟังธรรมเพื่อให้มีความเจริญขึ้น
อ.ประเชิญ ที่จริงปรมัตถ์ก็มีอยู่แล้วแต่ว่าเราไม่รู้เท่านั้นเองใช่ไหม ซึ่งก็หลายท่านก็คงจะคล้ายๆ กัน แต่บางท่านที่รักตัวเองก็จะหาอะไรทุกอย่างที่จะทำให้ตัวเองมีความสุขใช่ไหม หลายท่านก็คิดว่าเป็นอย่างนั้น ซึ่งในคำสอนของพระผู้มีพระภาคก็ได้ตอบกับพระเจ้าปเสนทิโกศลในปิยสูตรในเล่ม ๒๔ พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ได้ถามพระผู้มีพระภาค ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสตอบในเรื่องของการรักตัวเอง และก็ไม่รักตัวเองทรงแสดงว่าชนบางพวกประพฤติทุจริตด้วยกายด้วยวาจาด้วยใจ ชนเหล่านั้นไม่ชื่อว่ารักตัวเอง ถึงแม้เขาจะกล่าวอย่างนี้ว่าเรามีความรักตน ถึงเช่นนั้นพวกเขาก็ไม่ชื่อว่ารักตนเอง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าชนผู้ที่ไม่เป็นที่รักใคร่ก็ยอมทำความเสียหายให้แก่ผู้ที่ไม่รักได้ฉันใด พวกเขาก็จะทำความเสียหายให้แก่ตนเองโดยประการนั้นๆ เพราะว่าเขาทำสิ่งที่จะทำให้ตัวเองมีความทุกข์ ประพฤติทุจริตทางกายทางวาจาทางใจก็จะนำความทุกข์มาให้ตัวเองในปัจจุบัน และในอนาคต เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าเขาจะกล่าวว่าเขารักตัวเองที่สุด แต่ก็ไม่ชื่อว่ารักตนเอง เพราะว่าทำสิ่งที่ไม่ดีให้กับตนเอง
ส่วนผู้ที่ประพฤติสุจริตทางกายทางวาจาทางใจชื่อว่ารักตัวเอง ถึงแม้เขาจะกล่าวว่าเราไม่รักตนแต่เขาทำสิ่งที่ทำให้ตัวเองมีความสุข ประกอบเหตุที่จะทำให้ตัวเองมีความสุข ถึงแม้เขาจะกล่าวว่าไม่รักตัวเองก็ชื่อว่ารักตนเอง ส่วนผู้ที่รักใคร่กันย่อมทำความดีความเจริญให้แก่ชนที่รักใคร่กันโดยประการใด ชนเหล่านั้นก็ทำความดีคือความเจริญให้แก่ตนเองโดยประการนั้นๆ ชนเหล่านั้นก็จึงชื่อว่ารักตนเอง นี่คือพระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระสัพพัญญูรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วก็จะทำให้เรารักตัวเองได้ถูกต้องตามพระธรรมคำสอนผู้ที่เป็นบัณฑิต ผู้ที่เป็นผู้รู้ที่ท่านสอนไว้
ในตอนท้ายก็มีพระคาถาที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ถ้าผู้ที่รักตัวเองไม่ควรทำสิ่งที่ทำให้ตัวเองเป็นทุกข์ คือเรื่องของการทำบาป เราก็จะต้องจากโลกนี้ไป ผู้ที่เกิดมาจะต้องตายในโลกนี้ย่อมทำกรรมอันใดคือบุญ และบาปๆ นั้นแลย่อมเป็นสมบัติของเขา และเขาก็จะพาบุญ และบาปนั้นไป อนึ่ง บุญ และบาปย่อมเป็นของติดตามเขาไปประดุจเงาตามตนไปฉะนั้น เพราะฉะนั้นบุคคลพึงทำกัลยาณกรรม สะสมไว้เป็นสมบัติในปรโลก เพราะบุญทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในปรโลกๆ คือโลกหน้าโลกอื่นไม่ใช่โลกนี้ ที่พึ่งของเราก็คืออุปนิสัยที่เป็นฝ่ายดีที่เป็นกุศลกรรม ที่เป็นกัลยาณกรรม เป็นสิ่งที่ดีที่ควรสะสมควรบำเพ็ญ
อ.กฤษณา สำหรับในวันนี้เราก็ได้สนทนากันถึงเรื่องการจำแนกจิตโดยนัยของภูมิ และโดยนัยของชาติ ซึ่งโดยนัยของชาติของจิต เราได้สนทนากันถึงกุศลชาติคือกุศลจิตอกุศลชาติคืออกุศลจิต ก็ยังมีอีก ๒ ชาติคือวิบากชาติคือวิบากจิต ซึ่งวิบากจิตนั้นก็เป็นจิตที่เป็นผลของกุศลกรรม และอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว เพราะฉะนั้นวิบากจิตนั้นก็มีทั้งกุศลวิบาก และอกุศลวิบากจิต ซึ่งวิบากจิตก็มีทั้ง ๔ ระดับขั้นคือ ๔ ภูมิ วิบากจิตที่เป็นกามาวจรวิบากก็มี เป็นรูปวจรวิบากก็มี เป็นอรูปาวจรวิบากก็มี และเป็นโลกุตรวิบากคือเป็นผลจิตก็มี
สำหรับกิริยาจิตก็เป็นชาติกิริยา เป็นจิตที่ไม่เป็นเหตุที่จะให้เกิดวิบาก เพราะฉะนั้นกิริยาจิตก็ไม่ใช่กุศลจิต ไม่ใช่อกุศลจิต และไม่ใช่วิบากจิตด้วย เพราะว่ากิริยาจิตนั้นไม่ใช่ผลของกุศลจิตหรืออกุศลจิต และกิริยาจิตส่วนใหญ่นั้นเป็นจิตของพระอรหันต์สำหรับผู้ที่ไม่ใช่เป็นพระอรหันต์ก็มีกิริยาจิตได้ ๒ ชนิดคือปัญจทวาราวัชชนะจิตกับมโนทวาราวัชชนะจิต
สนทนาวันจันทร์ที่ ๙ กันยายน ๒๕๔๕
สวัสดีท่านผู้ร่วมสนทนาธรรมที่เคารพทุกท่าน วันนี้ท่านอาจารย์สุจินต์ยังไม่กลับจากต่างประเทศก็ยังไม่ได้มาร่วมสนทนาธรรมด้วย แต่อย่างไรก็ดี คุณประเชิญ คุณสุภีร์ และดิฉันก็มาร่วมสนทนากับทุกๆ ท่าน
สภาพรู้ อาการรู้ ซึ่งเป็นลักษณะสภาพที่มีจริงนั้นมีชื่อเรียกหลายๆ ชื่อ ดังที่ได้สนทนากันไปบ้างแล้ว เช่น คำว่า จิต คำว่า มนะ หรือ มานัส หรือว่าคำว่าปัณฑระ วิญญาณ วิญญาณขันธ์ เป็นต้น ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงพยัญชนะหลายๆ บทเพื่อที่จะให้เข้าใจลักษณะสภาพของจิตที่เป็นสภาพรู้อาการรู้นั่นเอง
วันนี้จะขอสนทนาถึงชื่อของจิตอีกชื่อหนึ่งคือ มนินทรีย์ ก็คือคำว่า มนัสกับอินทรีย์ ซึ่งคำว่ามนัสนะ ครั้งที่แล้วก็ทราบความหมายกันไปแล้วหมายถึงสภาพที่รู้เพราะว่าย่อมรู้อารมณ์ ส่วนคำว่าอินทรีย์คุณสุภีร์กรุณาอธิบายให้ความหมาย และเหตุใด มนัส หรือ จิต จึงเป็นอินทรีย์เพราะอะไร ก็จะกล่าวถึงเรื่องของมนินทรีย์เพราะว่าอินทรีย์มีหลายๆ อินทรีย์ แต่ว่าเรากำลังสนทนากันถึงเรื่องของจิต เพราะฉะนั้นวันนี้ก็สนทนากันในคำว่ามนินทรีย์
อ.สุภีร์ คำว่าอินทรีย์แปลว่าสภาพธรรมที่เป็นใหญ่ในกิจหน้าที่การงานของตนๆ หมายถึง สภาพธรรมชนิดนั้นมีความสามารถในการกระทำกิจหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่ง ฉะนั้นคำว่าอินทรีย์หมายถึงความเป็นใหญ่ในกิจหน้าที่การงานของสภาพธรรมชนิดนั้นๆ คำว่ามนินทรีย์ก็แปลว่าใจเป็นใหญ่ หรือว่ามีความสามารถในการรู้อารมณ์ อารมณ์จะปรากฏไม่ได้ถ้าไม่มีจิต เสียงข้างนอกก็ดี หรือว่าสิ่งต่างๆ ที่อยู่ข้างนอก ถ้าไม่ปรากฏกับจิตก็ไม่ใช่อารมณ์ ฉะนั้นสิ่งเหล่านั้นเสียงต่างๆ จะเป็นอารมณ์ได้เพราะว่ามีจิตเกิดขึ้นรู้สิ่งเหล่านั้น ฉะนั้นจิตจึงเป็นใหญ่ในกิจหน้าที่การงาน คือการรู้อารมณ์
ชื่อของจิตอีกชื่อหนึ่งก็คือ มโน คือสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์ คำนี้เป็นชื่อของจิตเช่นเดียวกัน แต่เป็นใหญ่ไม่เหมือนกันกับอินทรีย์ มโนเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์โดยการเปรียบเทียบกันระหว่างจิตกับเจตสิก เมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างสภาพธรรมที่รู้อารมณ์ด้วยกันเพราะเหตุว่าสภาพธรรมที่รู้อารมณ์ด้วยกันมี ๒ ก็คือจิต และเจตสิก เมื่อเปรียบเทียบสภาพธรรมที่รู้อารมณ์ด้วยกันทั้ง ๒ ก็คือจิต และเจตสิก ว่าสิ่งใดเป็นใหญ่เป็นประธานกว่ากัน จิตเป็นใหญ่เป็นประธานกว่าฉะนั้นจิตจึงชื่อว่ามโน เพราะว่าเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์ ส่วนคำว่าอินทรีย์มีความหมายแตกต่างไปจากนั้น ก็คือเป็นใหญ่ในหน้าที่หรือว่ากิจการงานของตนๆ มีความสามารถในการรู้อารมณ์
ขอยกตัวอย่างอินทรีย์อีกหนึ่งอย่างก็จะช่วยให้เข้าใจได้ดียิ่งขึ้นว่ามีความสามารถในกิจหน้าที่การงานอย่างไร จักขุปสาทเป็นรูปชนิดหนึ่งที่เป็นจักขุนทรีย์ จักขุปสาทมีความสามารถในการกระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตาที่อยู่ภายนอกเพื่อให้จิตเห็นคือจักขุวิญญาณเกิดขึ้นกระทำทัสนกิจ ถ้าไม่มีจักขุปสาทจะไม่มีการเห็นเลยในชาตินั้น ฉะนั้นจักขุปสาทจึงเป็นใหญ่ในกิจหน้าที่การงานของตนเอง มีความสามารถในการกระทบกับอารมณ์ข้างนอกก็คือสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือเรียกว่ารูปารมณ์เพื่อให้เกิดจิตเห็นคือจักขุวิญญาณเกิดขึ้น คำว่าอินทรีย์นี้หมายความว่าเป็นใหญ่ในกิจหน้าที่การงานของตน ถ้าไม่มีสภาพธรรมชนิดนั้นแล้วก็จะไม่มีกิจนั้นๆ เกิดขึ้นเลย
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 001
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 002
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 003
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 004
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 005
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 006
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 007
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 008
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 009
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 010
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 011
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 012
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 013
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 014
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 015
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 016
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 017
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 018
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 019
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 020
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 021
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 022
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 023
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 024
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 025
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 026
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 027
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 028
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 029
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 030
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 031
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 032
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 033
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 034
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 035
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 036
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 037
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 038
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 039
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 040
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 041
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 042
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 043
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 044
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 045
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 046
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 047
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 048
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 049
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 050
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 051
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 052
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 053
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 054
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 055
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 056
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 057
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 058
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 059
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 060