สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 051
สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ ๕๑
วันจันทร์ที่ ๙ กันยายน ๒๕๔๕
อ.สุภีร์ ถ้าไม่มีจักขุปสาทนี้ จะไม่มีการเห็นเลยในชาตินั้น ฉะนั้นจักขุปสาทจึงเป็นใหญ่ในกิจหน้าที่การงานของตนเอง มีความสามารถในการกระทบกับอารมณ์ข้างนอกก็คือสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือเราเรียกว่ารูปารมณ์ เพื่อให้เกิดจิตเห็น คือจักขุวิญญาณขึ้น ก็คือคำว่าอินทรีย์นี้หมายความว่าเป็นใหญ่ในกิจหน้าที่การงานของตน ถ้าไม่มีสภาพธรรมชนิดนั้นแล้วก็จะไม่มีกิจนั้นๆ เกิดขึ้นเลย อย่างเช่นจักขุปสาท ถ้าไม่มี การเห็นก็จะไม่มีเลย ถ้าไม่มีโสตปสาท ก็จะไม่มีการได้ยินเลย ฉะนั้นโสตปสาท จึงชื่อว่าโสตินทรีย์ มนินทรีย์ก็เช่นเดียวกัน ถ้าไม่มีจิตสิ่งอื่นๆ ที่อยู่ภายนอกทั้งหมดก็จะไม่เป็นอารมณ์เลย
ฉะนั้นจิตจึงเชื่อว่ามนินทรีย์เพราะว่าเป็นใหญ่ในกิจนี้ ในกิจคือรู้อารมณ์สิ่งต่างๆ ที่อยู่ภายนอกจะเป็นอารมณ์ได้ก็เพราะว่ามีจิตที่เป็นมนินทรีย์
อ.กฤษณา อ. สุภีร์ ก็ได้ให้ความหมายของคำว่าอินทรีย์แล้ว หมายถึงสภาพที่เป็นใหญ่ สภาพที่เป็นลักษณะที่ครองความเป็นใหญ่ คือครองความเป็นใหญ่กว่าสภาพธรรมอื่นๆ ในอำนาจหน้าที่ของตนนั่นเอง
เพราะฉะนั้นธรรมใดที่เป็นใหญ่ หรือว่าครองความเป็นใหญ่นั้นก็กระทำตนเองให้เป็นอิสระในหน้าที่การงานของตนนั่นเอง
ธรรมที่ครองความเป็นใหญ่ด้วยความเป็นอินทรีย์นี้ เมื่อเกิดขึ้นก็สามารถที่จะเกิดขึ้นพร้อมๆ กันในคราวเดียวกันได้หลายๆ อินทรีย์โดยที่ไม่ขัดกัน ไม่ก้าวก่ายกัน เพราะว่าธรรมที่เป็นอินทรีย์ หรือว่าเป็นใหญ่จะครอบครองความเป็นใหญ่เฉพาะในหน้าที่ของตนของตนเท่านั้น จะไม่ก้าวก่ายหน้าที่กัน
เพราะฉะนั้นการที่จิตเป็นมนินทรีย์ ก็เพราะมีความเป็นใหญ่ ครองความเป็นใหญ่ในลักษณะของการรู้อารมณ์นั่นเอง
จิตเมื่อเกิดขึ้นก็ไม่ได้เกิดขึ้นโดดเดี่ยว แต่ว่าก็มีสภาพธรรมอื่นๆ ที่เรียกว่าเจตสิกประกอบร่วมด้วยตามสมควรที่จะประกอบได้ เจตสิกที่ประกอบกับจิตนั้นๆ ก็รู้อารมณ์เดียวกับที่จิตรู้ แต่ว่าถึงแม้ว่าจะรู้อารมณ์เดียวกับจิตแต่ก็ไม่ได้เป็นใหญ่ ไม่ได้ครองความเป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์ เพราะว่าอำนาจหน้าที่ในการที่จะรู้อารมณ์นั้นเป็นอำนาจที่เป็นอิสระอย่างยิ่งของจิต ไม่มีอะไรที่จะเป็นใหญ่ยิ่งใหญ่ในการรู้อารมณ์มากไปกว่าจิต
สภาพที่เป็นใหญ่ครองความเป็นใหญ่ในลักษณะการรู้อารมณ์คือมนินทรีย์ หรือจิต ว่าโดยการเกิด หรือชาติแล้ว ก็เกิดเป็นกุศลก็มี เกิดเป็นอกุศล ก็มีเกิดเป็นวิบากก็มี เกิดเป็นกริยาก็มี ดังที่เราได้สนทนากันไปเมื่อครั้งก่อนๆ
ซึ่งถ้าเป็นกุศลก็มีลักษณะที่ไม่มีโทษ แล้วก็สามารถที่จะให้ผลเป็นความสุข และกุศลนั้นก็มีหลายระดับขั้นคือในระดับของกามาวจรกุศลก็มี ในระดับที่เป็นรูปาวจรกุศลก็มี ในระดับที่เป็นอรูปาวจรกุศลก็มี และในระดับสูงสุดคือโลกุตตรกุศลก็มี
ถ้าจิตนั้นเกิดขึ้นโดยชาติ เกิดขึ้นเป็นอกุศลชาติ ก็เป็นธรรมที่เป็นปฏิปักษ์กับกุศล เป็นธรรมที่มีโทษ แล้วก็จะให้ผลเป็นความทุกข์ ซึ่งอกุศลจิตนั้นมีเพียงขั้นเดียวระดับเดียว คือในขั้นของกามาวจร ยังเป็นขั้นที่๑ จะต้องเกี่ยวข้องกับกามธรรม พวกรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสต่างๆ เพราะว่าอกุศลจิตเป็นจิตที่เศร้าหมองด้วยกิเลส เพราะฉะนั้นจึงไม่อาจที่จะขึ้นสู่ระดับสูงได้ เพราะฉะนั้นอกุศลจิตจึงมีเพียงระดับขั้นเดียว อกุศลจิตไม่อาจที่จะขึ้นสู่ระดับสูงได้เพราะว่าไม่อาจที่จะมีความแนบแน่นในอารมณ์จนกระทั่งเป็นฌานจิตขั้นต่างๆ และก็แน่นอนที่สุดคือไม่อาจที่จะมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ได้ เพราะฉะนั้นอกุศลจิตจึงไม่ใช่เป็นจิตในขั้นของโลกุตตรจิตด้วย เพราะฉะนั้นก็เป็นระดับขั้นเดียวคือในระดับขั้นของกามาวจรภูมินั่นเอง
ถ้าจิตที่เกิดขึ้นนั้นเป็นชาติวิบากก็เป็นจิตที่เป็นผลของกุศลกรรม หรืออกุศลกรรม ที่ได้กระทำแล้ว เพราะฉะนั้นวิบากจิตนั้นจึงมีทั้งกุศลวิบากจิต และอกุศลวิบากจิต ซึ่งคำว่าวิบากก็แปลว่าสุก อย่างเช่นผลไม้สุกเป็นต้น ซึ่งในที่นี้วิบากหมายถึงผลของกรรมที่สุกงอมแล้ว สุกงอมเต็มที่ เพราะฉะนั้นธรรมทั้งหลายที่เป็นผลของกุศล และอกุศลจึงชื่อว่าวิบากนั่นเอง
กุศล และอกุศลนั้นก็ให้ผลไม่เหมือนกัน ก็คือกุศลให้ผลเป็นสิ่งที่ดี ที่น่าปรารถนาจึงเรียกว่าเป็นกุศลวิบาก ส่วนอกุศลนั้นก็เป็นสิ่งที่จะให้ผลที่ไม่ดี ไม่น่าปรารถนา ก็ให้ผลเป็นอกุศลวิบาก
สำหรับวิบากจิตนั้นก็มีแตกต่างกันเป็น ๔ ระดับขั้น คือทั้งในขั้นของกามาวจรภูมิก็มี ในขั้นรูปาวจรภูมิก็มี ในขั้นของอรูปาวจรภูมิก็มี และในขั้นของโลกุตตรภูมิก็มี ซึ่งในขั้นของโลกุตตรภูมิก็เป็นผลจิต ผลจิตนั้นเป็นวิบากจิต ซึ่งโลกุตตรวิบากจิตนั้นเป็นวิบากชนิดที่เป็นผลที่เกิดต่อจากกุศลในระดับที่เป็นโลกุตตรกุศล คือมรรคจิต แล้วก็เป็นผลที่เกิดต่อทันที ไม่ต้องรอข้ามภพข้ามชาติ เพราะว่าเมื่อมรรคจิตซึ่งเป็นโลกุตตรกุศลจิตดับไปแล้ว โลกกุตตรวิบากจิตคือผลจิตก็เกิดสืบต่อทันทีไม่มีอะไรมาคั่นเลย นี่เป็นความหมายของอกาลิโกนั่นเอง ที่เราได้ยินคำสวดในบทสวดมนต์ บทสรรเสริญพระธรรมคุณที่ว่าอกาลิโก ความหมายของอกาลิโกก็คือตรงนี้นี่เองคือเป็นผลจิต คือโลกุตตรวิบากที่เกิดต่อจากโลกุตตรกุศลคือมรรคจิตทันที ไม่มีระหว่างคั่น คืออกาละ ไม่มีการเวลาที่จะต้องรอให้พ้นไปภพชาติอื่น เพราะฉะนั้นโลกุตตรกุศลจิตนั้นก็เป็นคำที่มิให้รอการที่จะให้ผล แต่ว่าย่อมให้ผลคือมีผลที่ติดต่อเนื่องกันกับตนทันที นี่ก็เป็นเรื่องของจิตที่เป็นชาติวิบาก
ถ้ามีจิตที่เกิดขึ้นเป็นชาติกิริยา ก็เป็นจิตที่ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล แล้วก็ไม่ใช่ผลของกุศล และไม่ใช่ผลของอกุศลด้วย นั่นก็คือกิริยาจิตนั้นไม่ใช่วิบากจิต เพราะว่ากิริยานั้นไม่เป็นเหตุที่จะให้เกิดวิบากใดๆ เลย แล้วก็ไม่ใช่จิตที่เป็นผลของกรรมในอดีตด้วย
กิริยาจิตนั้นก็มีระดับขั้น ๓ ระดับก็คือกามาวจรภูมิ กามาวจรกิริยาจิต เป็นขั้นของกามาวจรภูมิ แล้วก็ขั้นของรูปาวจรภูมิ ก็ได้แก่รูปาวจรกิริยาจิต ในระดับขั้นของอรูปาวจรภูมิ ก็ได้แก่อรูปาวจรกิริยาจิต ส่วนในระดับขั้นของโลกุตตรภูมินั้นไม่มีกิริยาจิต
เพราะฉะนั้นกิริยาจิตนั้นมีอยู่ ๓ ระดับขั้น ซึ่งพูดถึงเรื่องของภูมิ หรือระดับขั้นของจิต ท่านคงจะสังเกต คำว่า กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ ทั้ง ๓ ภูมิที่มีคำว่า “วจร” รวมอยู่ในคำนั้นๆ ด้วย แต่โลกุตตรภูมิไม่มีคำว่า “วจร” ไม่เป็นโลกุตตราวจรภูมิ ไม่ใช่ อันนี้อยากจะขอคุณสุภีร์ได้กรุณาให้ความรู้เพิ่มเติมความหมายของคำว่า “วจร” หมายความว่าอย่างไร และทำไมในโลกุตตรภูมินั้น จึงไม่มีคำว่า “วจร” ด้วย
อ.สุภีร์ คำว่ากามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ แล้วก็มีคำว่าอรูปาวจรภูมิด้วย คำว่ากามาวจร มาจากคำว่า “กาม”บวกกับ”อวจร” ไม่ใช่ว่า “วจร” มาจากคำว่า “อวจร” รูปาวจร ก็มาจากคำว่า”รูป”บวกกับ “อวจร” อรูปก็มาจากคำว่า “อรูป”บวก“อวจร”
คำว่า “อวจร” แปลว่าการท่องเที่ยวไปของจิต และการเกิดในที่ต่างๆ การท่องเที่ยวไปนั่นเอง เพราะเหตุว่าในกามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ เป็นจิตที่มีการท่องเที่ยวไป ก็คือทำให้ภพชาติยาวนานต่อไปเรื่อยๆ นั่นเอง
สำหรับจิตที่เป็นกามาวจรจิตก็คือจิตที่ท่องเที่ยวไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เมื่อกระทำกุศล อกุศล ถ้ากระทำกุศลที่เกี่ยวกับกามาวจร เป็นกุศลที่ท่องเที่ยวอยู่ในรูป เสียง กลิ่นรส โผฏฐัพพะ วิบากจิตที่เกิดขึ้น หรือว่าปฏิสนธิจิตที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตก็จะเกี่ยวข้องกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เช่นเดียวกัน
ทางด้านรูปาวจร ก็เช่นเดียวกัน ถ้าในปัจจุบันเห็นโทษของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แล้วกระทำฌาน เป็นรูปฌานกุศล ตายไป ฌานไม่เสื่อมก็ไปเกิดในรูปพรหมภูมิ เป็นจิตที่มีการท่องเที่ยวไป ทั้ง ๓ ภูมินี้ก็คือกามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ ฉะนั้นท่านจึงมีคำว่า “อวจร” แปลว่าท่องเที่ยวไป
คำว่า “ท่องเที่ยวไป” หมายความว่า ถ้าเราทำกุศล สมมติตอนนี้อยู่ในกามาวจรภูมิ เพราะว่าติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เมื่อใดก็ตามที่กระทำกุศลก็ปรารภรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั่นเองกระทำกุศล เมื่อกุศลนี้ให้ผล ก็ให้เห็นรูป ได้ยินเสียง ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัสนั่นเอง หรือว่าแม้แต่การให้ผลปฏิสนธิก็ให้ปฏิสนธิในภพภูมิที่เกี่ยวกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งอาจจะเป็นอบายภูมิทั้ง ๔ หรือว่าสุคติภูมิ ๗ ภูมิก็ได้ ซึ่งกามาวจรภูมิถ้าเป็นภูมิที่เกิดของสัตว์ก็จะมี ๑๑ ภูมิด้วยกัน ในทางฝ่ายของรูปาวจรภูมิ และอรูปาวจรภูมิก็โดยนัยเดียวกันก็คือเป็นจิตที่มีการท่องเที่ยวไปเรื่อยๆ ไม่จบสิ้น สังสารวัฏฏ์
ซึ่งคำว่า “สังสารวัฏฏ์”นี้หลายๆ ท่านก็คงจะเคยได้ยิน คำว่า “สังสารวัฏฏ์” ก็มาจากคำว่า “สังสาระ”บวก“วัฏฏ์” “วัฏฏ์”แปลว่าการวนเวียน สังสาระก็คือการเกิดดับสืบต่อกันไปของจิต เจตสิก รูป สังสารวัฏฏ์ ก็คือการวนเวียนไปเรื่อยๆ ของจิต เจตสิก รูปนั่นเอง
ตามธรรมดาขณะนี้ก็มีการวนเวียน เห็นครั้งหนึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของสังสารวัฏฏ์ ได้ยินครั้งหนึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของสังสารวัฏฏ์ คิดนึกครั้งหนึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของสังสารวัฏฏ์ ที่อยู่ขณะนี้ก็วนเวียนไปมาก ก็วนเวียนไปทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง หรือว่าคิดนึกบ้าง อันนี้ก็คือสังสารวัฏฏ์นั่นเอง เป็นการวนเวียนไปของจิต เจตสิก รูป สังสารวัฏฏ์ที่วนเวียนไปก็วนเวียนไปในกามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ และอรูปาวจรภูมิ นั่นเอง
แต่สำหรับโลกุตตรภูมิ ไม่มีคำว่า “อวจร”เพราะว่าเป็นจิตระดับขั้นที่ไม่มีการท่องเที่ยวไป เป็นจิตที่ทำให้สังสารวัฏฏ์สั้นเข้า และก็ตัดสังสารวัฏฏ์ เมื่อเป็นพระอรหันต์แล้วก็จะไม่มีการเกิดอีกเลย
อ.กฤษณา ถ้าอย่างนั้นจิตที่เป็นในระดับขั้นของโลกุตตรภูมินี้ก็จะไม่ท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏฏ์อย่างที่คุณสุภีร์ได้กรุณาอธิบาย ขอเชิญคุณบุษบงรำไพ
ผู้ฟัง กราบท่านวิทยากรทั้ง ๓ ท่าน อาจารย์สุภีร์ เมื่อสักครู่เหมือนกับอาจารย์จะกล่าวบอกว่า ถ้าเผื่อฌานไม่เสื่อมก็จะเกิดในภูมิที่เป็นอรูปาวจรภูมิอย่างนั้นใช่ไหม
อ.สุภีร์ สำหรับผู้ที่ได้ฌานเป็นรูปฌาน และอรูปฌาน สำหรับผู้ที่ได้รูปฌาน ถ้าฌานไม่เสื่อมหลังจากตาย ก็จะไปเกิดในรูปพรหมภูมิ ถ้าได้อรูปฌานก็จะไปเกิดในอรูปพรหมภูมิ
ผู้ฟัง ดิฉันสงสัยว่าอย่างไรไม่ว่าจะไปเกิดในอรูปพรหม ก็ยังไม่ได้ออกจากวัฏฏะ เพราะฉะนั้นการบำเพ็ญไปเพื่อประโยชน์อะไร
อ.สุภีร์ สำหรับบุคคลที่มีปัญญาแค่ระดับนั้นใช่ไหม เพราะเหตุว่าตามปกติอย่างเราทั่วไป เห็นได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัสแล้ว ส่วนใหญ่ก็เป็นไปในทางที่จะเป็นอกุศลในชีวิตประจำวัน สำหรับบุคคลที่พอมีความรู้ขึ้นมาเล็กน้อย หรือว่ามีปัญญามากขึ้นมากว่าเรา กว่าคนปกติ ก็จะเห็นว่าการเห็น การได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัสนี้มีโทษ เพราะว่าเป็นเหตุให้เกิดอกุศล เขาจึงเห็นโทษของการเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส แล้วก็บำเพ็ญฌาน แต่ว่าด้วยกำลังของปัญญาที่มีเท่านั้นก็สามารถเจริญกุศลขั้นที่ละเอียดได้แค่นั้นเอง แต่ว่าเมื่อหมดอำนาจของกุศลเขาก็จะต้องกลับมาเป็นเหมือนเราอีก เหมือนเดิม
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นก็ไม่สิ้นจากวัฏฏ์อยู่นั้นถ้าเผื่อไม่ได้เจริญวิปัสสนา กราบขอบพระคุณ
ขออนุญาตเรียนถามอาจารย์ประเชิญ คือที่ฟังมาก็คือหมายความว่าอกุศลเจตสิกจะเกิดกับจิตที่เป็นอกุศลจิต แล้วก็กุศลเจตสิกก็จะเกิดกับกุศลจิต กราบเรียนถามว่า ถ้าเป็นวิบากจิต และกิริยาจิตแล้ว จะเป็นเจตสิกประเภทใดที่ประกอบกับวิบากจิต และกิริยาบ้าง กราบขอบพระคุณ
อ. ประเชิญ สำหรับธรรมที่เป็นเจตสิก เจตสิกจะจำแนกเป็น ๓ กลุ่ม เรียกว่าราศี คือประเภทที่เป็นอัญญสมานา เป็นกลุ่มที่สามารถที่จะเกิดได้ทั้งกุศล วิบาก กิริยา และอกุศลด้วย อีกกลุ่มหนึ่งก็เป็นอกุศลราศี เป็นเจตสิกที่เกิดร่วมกับอกุศลจิตเท่านั้น อีกกลุ่มหนึ่งก็จะเป็นโสภณเจตสิกก็จะเกิดร่วมกับฝ่ายโสภณธรรมทั้งกุศล วิบาก กิริยา เพราะฉะนั้นกุศล วิบาก กิริยา ก็สามารถที่จะมีเจตสิกที่เป็นอัญญสมานาเกิดร่วม แล้วก็เป็นฝ่ายโสภณะ ก็จะมีทั้งเจตสิกประเภทต่างๆ ตามสมควรแก่ฐานะของตนของตน
ซึ่งชื่อเหล่านี้ตั้งแต่ตอนแรกเรื่องของอินทรีย์ก็ดี ในเรื่องของประเภทของจิตที่เป็นชาติ ภพภูมิต่างๆ ก็เป็นเรื่องราวของชีวิตประจำวันที่เราจะต้องเข้าใจ เพราะว่าบางท่านอาจจะไม่ค่อยคุ้นแม้ในเรื่องของอินทรีย์ก็ตาม ซึ่งที่คุณสุภีร์ และพี่กฤษณาได้กล่าวแล้ว ว่าอินทรีย์นั้นก็เป็นสิ่งที่เป็นใหญ่ในการที่จะทำกิจของตนของตน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องอื่นไกลที่ไหน เป็นเรื่องที่มีในชีวิตประจำวัน แม้แต่ในขณะนี้ ในขณะนี้ก็มีอินทรีย์มากมายที่เป็นจิตก็มี เป็นเจตสิกก็มี เป็นรูปก็มี
เรื่องของรูปที่เป็นอินทรีย์ที่คุณสุภีร์ได้ยกตัวอย่างในเรื่องของทางตา ก็เป็นใหญ่ในการที่จะทำให้เกิดการเห็นขึ้นในทางตาก็เป็นอินทรีย์ ซึ่งขณะนี้ก็มี ทางหู ปสาทรูปก็เป็นอินทรีย์ จิตที่เกิดขึ้นรู้เสียงก็เป็นอินทรีย์ แม้ความรู้สึกทั้งหลายก็เป็นอินทรีย์เช่นเดียวกัน ก็เป็นเรื่องของสภาพธรรมไม่ใช่มีคน มีสัตว์ มีสิ่งของในอินทรีย์เหล่านั้นเลย เพราะฉะนั้นที่ไม่ควรจะลืม ในเรื่องของการศึกษาพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง ก็ต้องย้อนมาที่ในขณะนี้ ว่าเป็นสิ่งที่จริงในขณะนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องของอื่นไกลที่ไหน
ผู้ฟัง เมื่อสักครู่ อาจารย์สุภีร์ กล่าวว่า “กามาวจร” คือมีคำว่า “วจร” ก็หมายถึงว่าจะต้องเวียนว่ายตายเกิดคือยังวนเวียนอยู่ในวัฏฏ์ใช่ไหม ถ้าเป็นโลกุตตระ ไม่มี “วจร” ประกอบด้วย ผมก็เลยยังสงสัยว่าแล้วยังผู้ที่บรรลุเป็นพระอริยบุคคล และระดับโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี ก็ยังคงมาเกิดอีกใช่ไหม แล้วทำไมถึงไม่มี
อ.ประเชิญ สำหรับพระอริยบุคคลขั้นพระโสดาบัน สามารถที่จะเกิดอีกได้อย่างมากที่สุด ๗ ชาติ แต่ว่าไม่ได้เกิดด้วยอำนาจของโลกุตตรกุศล เพราะเหตุว่าโลกุตตรกุศล เมื่อเกิดแล้วให้ผลทันทีก็คือให้โลกุตตรวิบากทันที สำหรับโสตาปฏิมรรคซึ่งเป็นโลกุตตรกุศลขั้นหนึ่ง เมื่อเกิดแล้วดับไปให้วิบากทันทีก็คือโลกุตตรผลจิตทันที ไม่มีระหว่างคั่นเลย ที่พี่กฤษณาได้กล่าวไปในตอนต้นก็คือ เป็นอกาลิโก ไม่มีจิตอื่นคั่นในระหว่างเลย เมื่อกุศลจิตที่เป็นโลกุตตระเกิดแล้วดับไปให้โลกุตตรวิบากต่อทันที
แต่ที่พระโสดาบันยังเกิดอีก ๗ ชาตินี้เกิดด้วยอำนาจของจิตที่เป็นกามาวจรบ้าง รูปาวจรบ้าง อรูปาวจรบ้าง สำหรับพระโสดาบันที่ไม่ได้ฌาน ก็เกิดด้วยอำนาจของกุศลที่เป็นกามาวจรอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าพระโสดาบันที่ได้ฌาน ก็เกิดด้วยผลของฌานที่ท่านได้ แต่ว่าด้วยอำนาจของโลกุตตรกุศล ก็ทำให้ภพชาติสั้นลง ก็เหลืออีกอย่างมากแค่ ๗ ชาติเท่านั้นเอง
แต่สำหรับพวกเรา ที่ไม่มีโลกุตตรจิตเกิด สังสารวัฏฏ์ก็นับไม่ได้ ไม่ต้องนับ จนกว่าที่โลกุตตรจิตเกิดเมื่อไหร่ เหลืออีกอย่างมากที่สุด ๗ ชาติ
ผู้ฟัง ผมย้อนหลังไปเมื่อคราวที่แล้ว ที่กล่าวว่าคนที่ได้ถึงระดับพระอริยบุคคลแล้ว จิตที่ปฏิสนธิอีกก็ยังอยู่ในมหาวิบาก ๘ ดวง ดวงใดดวงหนึ่ง ใช่ไหม
อ.ประเชิญ สำหรับพระอริยบุคคล ถ้าไม่ได้ฌานก็เกิดด้วยมหาวิบากดวงใดดวงหนึ่ง ใน ๘ ประเภทนั้น ท่านไม่ได้แยกชัดเจนว่าดวงไหน แต่โดยปกติแล้วบุคคลที่เป็นพระอริยเจ้า มีการทำกุศลขั้นที่ละเอียด แล้วก็ประกอบด้วยปัญญา ฉะนั้นโดยปกติแล้วก็จะเกิดด้วยมหาวิบากที่เป็นญาณสัมปยุตต์ วิบากที่จะให้ผลก็เป็นผลมาจากกุศล อกุศลนั่นเอง พระอริยบุคคลท่านทำกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา และมีความละเอียดประณีตมาก กุศลที่ท่านกระทำ ฉะนั้นกุศลที่ประณีตที่ประกอบด้วยปัญญา ก็ให้ผลที่ประณีตด้วย ประกอบด้วยปัญญาด้วย อันนี้ก็เป็นธรรมดา
อ.กฤษณา เราก็ได้สนทนากันถึงเรื่องของกุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต กิริยาจิต ซึ่งกุศลจิตทุกระดับขั้น หรือว่าทุกภูมิ และเจตสิกที่ประกอบกับกุศลจิตนั้นๆ ตามสมควรที่จะประกอบได้นี้เป็นกุศลธรรม กุศลจิตก็เป็นกุศลธรรม เจตสิกที่ประกอบได้กับกุศลจิตก็เป็นกุศลธรรม ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า “กุสลาธัมมา” สำหรับอกุศลจิตซึ่งมีระดับขั้นเดียวคือระดับขั้นของกามาวจรภูมิ
ก็เป็น“อกุสลาธัมมา” และเจตสิกที่ประกอบกับอกุศลจิตนั้นๆ ตามสมควรที่จะประกอบได้ก็เป็น“อกุสลาธัมมา”ด้วย ส่วนวิบากจิตทุกระดับขั้น แล้วก็กิริยาจิตทั้ง ๓ ระดับขั้นที่ได้กล่าวไปแล้ว พร้อมทั้งเจตสิกที่ประกอบได้กับวิบากจิต และเจตสิกที่ประกอบได้กับกิริยาจิต และนอกจากนั้นก็ยังมีรูปปรมัตถ์ นิพพานปรมัตถ์ สภาพธรรมเหล่านี้ไม่ใช่สภาพธรรมที่เป็นกุศลธรรม ไม่ใช่เป็นกุสลาธัมมา ไม่ใช่เป็นอกุศลธรรม คือไม่ใช่เป็น อกุสลาธัมมา แต่เป็นอัพยากตธรรม “อัพยากตธรรม”ภาษาบาลีก็ใช้คำว่า “อัพยากตาธัมมา”ก็คือธรรมที่พระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงแสดงว่าเป็นกุศล หรืออกุศล
เพราะฉะนั้นเวลาทุกท่านไปงานศพ ฟังสวดพระอภิธรรมในงานศพก็จะเข้าใจได้เวลาพระสวด กุสลาธัมมา อกุสลาธัมมา อัพยากตาธัมมา ก็เข้าใจความหมายของทั้ง ๓ บทนี้ได้
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 001
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 002
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 003
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 004
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 005
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 006
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 007
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 008
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 009
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 010
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 011
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 012
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 013
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 014
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 015
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 016
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 017
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 018
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 019
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 020
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 021
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 022
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 023
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 024
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 025
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 026
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 027
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 028
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 029
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 030
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 031
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 032
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 033
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 034
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 035
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 036
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 037
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 038
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 039
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 040
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 041
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 042
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 043
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 044
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 045
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 046
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 047
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 048
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 049
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 050
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 051
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 052
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 053
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 054
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 055
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 056
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 057
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 058
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 059
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 060