สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 052


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ ๕๒

    วันจันทร์ที่ ๙ กันยายน ๒๕๔๕


    อ.กฤษณา “อัพยากตธรรม”ภาษาบาลีก็ใช้คำว่า “อัพยากตาธัมมา”ก็คือธรรมที่พระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงแสดงว่าเป็นกุศล หรืออกุศล เพราะฉะนั้นเวลาทุกท่านไปงานศพ ฟังสวดพระอภิธรรมในงานศพก็จะเข้าใจได้เวลาพระสวด กุสลาธัมมาอกุสลาธัมมาอัพยากตาธัมมา ก็เข้าใจความหมายของทั้ง ๓ บทนี้ได้ ก็ลองสังเกตดู ท่านสวดนี้จะมีคำลงท้ายว่า ธัมมาธัมมาธัมมา ลองนับดู นับให้ครบ ๖๖ ครั้ง ก็จะเป็นหัวข้อหรือเป็นแม่บทของธรรมทั้งหลาย ที่แสดงไว้ในพระอภิธรรมปิฏก

    ทีนี้ว่าพูดถึงสภาพธรรมที่เป็นสภาพรู้คือจิต ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นรู้อารมณ์ ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าไม่ใช่เกิดขึ้นโดดเดี่ยวอย่างเดียว เป็นจิตอย่างเดียว แต่ก็มีสภาพธรรมที่เป็นทำอย่างอื่นคือเจตสิกนี้ประกอบร่วมด้วยเสมอ จะประกอบได้มากน้อยเท่าไรก็แล้วแต่ตามสมควรที่จิตนั้นจะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยได้เท่าไหร่ ซึ่งจิตบางประเภทนี้เป็นจิตที่มีเจตสิกบางอย่างที่เปรียบเหมือนกับรากแก้วของต้นไม้เกิดประกอบร่วมด้วย หยั่งลึกลงไปในจิตประเภทนั้น ต้นไม้ที่เราเห็นๆ กัน ก็จะมีรากแก้ว ซึ่งต้นไม้นั้นจะตั้งอยู่ได้ ทรงอยู่ได้นั้น จะสามารถที่จะมีกิ่งก้านสาขา มีใบ มีดอก มีผลได้ ก็เพราะว่ามีรากที่หยั่งลึกลงไปในดิน ถ้าไม่มีรากแล้วก็ต้นไม้ก็ตั้งอยู่ไม่ได้ฉันใด จิตบางประเภทนี้ ก็จะมีสภาพธรรมที่เปรียบเสมือนรากแก้วของต้นไม้ประกอบหยั่งลงไปในจิตด้วย ซึ่งจิตบางประเภทนั้น จะมีธรรมที่เรียกว่าเหมือนกับรากแก้วนี้ สภาพธรรมนั้นเรียกว่าเหตุ หรือ เห- ตุ ธรรมที่เป็นเหตุนั้นก็มีอยู่ ๖ อย่างจะขอให้คุณประเชิญได้กรุณากล่าวถึงธรรมที่เป็นเหตุ ๖ อย่างมีอะไรบ้าง

    อ.ประเชิญ ธรรมที่เป็นเหตุ ไม่ใช่จิต ไม่ใช่รูป ไม่ใช่นิพพาน ในปรมัตถ์ธรรมทั้ง ๔ นั้น ธรรมที่เป็นเหตุ เป็นเจตสิกปรมัตถ์ ซึ่งเจตสิกปรมัตถ์ที่เป็นเหตุมี ๖ ประเภทอย่างที่พี่กฤษณากล่าวแล้วก็คือโลภะ โลภะเป็นโลภะเหตุ โทสะเป็นโทสะเหตุ โมหะเป็นโมหะเหตุ อันนี้เป็นฝ่ายอกุศล ส่วนฝ่ายกุศลก็ตรงกันข้าม ถ้าฝ่ายอกุศลเป็นโลภะฝ่ายกุศลก็เป็นอโลภะ มี“อะ”อยู่ข้างหน้าปฏิเสธไม่ใช่โลภะ ก็เป็นอโลภะเหตุ ตรงข้ามกับโทสะก็คืออโทสะเป็นอโทสะเหตุ และก็อโมหะเหตุเป็นปัญญาเจตสิก เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่เป็นมูลเป็นรากแก้วก็มี ๖ ประเภทนี้เท่านั้นเองที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้

    อ.กฤษณา สภาพธรรมที่เป็นเหตุซึ่งเปรียบเสมือนรากแก้วของต้นไม้ ที่คุณประเชิญได้กล่าวแล้วว่ามี ๖ ประเภท ซึ่งก็เป็นอกุศลเหตุ ๓ ประเภท คือโลภะเหตุ โทสะเหตุ โมหะเหตุ ซึ่งก็ได้แก่เจตสิกที่เป็นอกุศลเจตสิก ๓ ชนิด คือโลภเจตสิก โทสเจตสิก และโมหเจตสิก สำหรับเหตุอีก ๓ ประเภทหลังนั้นเป็นเหตุที่ดีงามจะเรียกว่าโสภณเหตุ โสภณเหตุนี้ก็จะประกอบกับนอกจากกุศลจิตที่คุณประเชิญได้กล่าวไปแล้ว โสภณเหตุนี้ก็ยังจะประกอบกับจิตฝ่ายที่ดีงาม ไม่ว่าจะเป็นวิบากจิตฝ่ายที่ดีงามในระดับขั้นของกามาวจรก็ดี รูปาวจรก็ดี หรืออรูปาวจร หรือโลกุตตรวิบากก็ดี หรือจะประกอบกับกิริยาจิตก็ได้ ซึ่งจะต้องเป็นจิตฝ่ายที่ดีงามด้วย เพราะว่าจิตที่ดีงามก็ต้องเข้ากับเจตสิกที่ดีงาม คืออะไรที่เข้ากันได้นี้คือจะต้องเหมือนกัน ถึงจะเข้ากันได้ ถ้าเป็นอกุศลเจตสิกเข้ากันไม่ได้แน่ๆ กับจิตฝ่ายที่เป็นโสภณคือฝ่ายที่ดีงาม

    เพราะฉะนั้นการที่สภาพธรรมที่เป็นเหตุนี้ ประกอบกับจิตต่างๆ ตามสมควรที่จะประกอบได้ ถ้าเหตุที่ไม่ดีก็ประกอบกับจิตที่ไม่ดีคืออกุศลจิต ถ้าเป็นเหตุที่ดีงามก็ประกอบกับจิตที่ดีงามคือพวกโสภณจิต ถ้าโลภเจตสิกซึ่งเป็นโลภะเหตุเป็นเหตุฝ่ายที่ไม่ดีนี้ เกิดกับจิต รากโลภะนั้นก็หยั่งลึกลงในจิต ทำให้จิตนั้นเป็นจิตที่มีโลภะมูล เพราะฉะนั้นจึงเรียกชื่อจิตนั้นว่าโลภมูลจิตนั่นเอง เพราะว่าโลภมูลจิตนั้นมีโลภเจตสิกซึ่งเป็นโลภะเหตุ เกิดร่วมด้วย แล้วก็เป็นเหตุที่จะให้เกิดโลภมูลจิตต่อๆ ไปอีกได้เรื่อยๆ ส่วนรากโทสะก็เช่นเดียวกัน ถ้าเกิดกับจิตใดก็ทำให้จิตนั้นเป็นโทสมูลจิตคือเป็นจิตที่มีโทสะเป็นมูลเป็นรากนั่นเอง ส่วนรากโมหะก็เช่นเดียวกันถ้าเกิดกับจิตได้ก็ทำให้จิตนั้นเป็นโมหมูลจิตซึ่งเป็นจิตที่มีโมหเจตสิก สภาพธรรมที่ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงนั้นเป็นมูลเป็นรากนั่นเอง เรียกว่าโมหมูลจิต ซึ่งรากแก้วทั้ง ๓ รากคือรากที่ไม่ดีนี้ รากโลภะรากโทสะ รากโมหะ เป็นรากที่มีผิด มีพิษร้ายแรงด้วย เรียกว่าเป็นอกุศลเหตุ แล้วก็เป็นเจตสิกที่ไม่ดีคืออกุศลเจตสิก เมื่อหยั่งลงคือประกอบกับจิตใด ก็ทำให้จิตนั้นเป็นจิตที่มีพิษด้วย คือเป็นอกุศลจิตนั่นเอง

    ซึ่งในทุกวันนี้ส่วนมากแล้วเราก็มักจะกลัวการสะสมสารพิษในร่างกายจากสิ่งที่บริโภคเข้าไป พวกอาหารไม่ว่าจะเป็นพวกปลา พวกเนื้อ หรือพวกผักต่างๆ ก็ตามนี้ เราก็กลัวการสะสมสารพิษในอาหารที่เรารับประทานเข้าไป แต่ว่าทำไมเราถึงไม่ตระหนักถึงพิษที่ร้ายแรงยิ่งกว่าสารพิษสารเคมีเหล่านั้นอีก ก็คือผิดที่เป็นโลภะ โทสะ โมหะ ที่เป็นรากของอกุศลจิตต่างๆ เหล่านี้นั่นเอง ซึ่งในทุกๆ วัน อกุศลจิตก็เกิดขึ้นกับเรามากมาย เพราะฉะนั้นลองคิดดูว่าเราสะสมพิษไว้ในจิตนี้มากมายขนาดไหน แล้วก็ให้ผลร้ายแรงแค่ไหน เราก็ทราบกันอยู่ใช่ไหม

    ส่วนเจตสิกอีก ๓ ชนิดก็คือ อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก และปัญญาเจตสิกนั้นก็เป็นเจตสิกฝ่ายที่ดีงาม ซึ่งมีชื่อเรียกว่าโสภณเจตสิกนั้น ก็เป็นรากแก้วที่ดี จึงเรียกว่าเป็นโสภณเหตุ ซึ่งความจริงโสภณเจตสิกนั้นก็ยังมีอีกหลายๆ เจตสิก แต่ว่าไม่เป็นเหตุ ซึ่งจิตที่มีเจตสิกที่เป็นเหตุประกอบร่วมด้วยก็มี จิตบางชนิดก็ไม่มีเจตสิกที่เป็นเหตุประกอบร่วมด้วย ถ้าจิตใดมีเจตสิกที่เป็นเหตุประกอบร่วมด้วย เราเรียกจิตนั้นว่าสเหตุกจิต “สะ”นี่คือเป็นไปพร้อมด้วยกับเหตุนั้นเองจิตนั้นเป็นไปพร้อมด้วยกับเหตุ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า “สเหตุกจิต” แต่จิตบางชนิดก็ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย คำว่าไม่ ภาษาบาลีก็ใช้คำว่า “อะ” ไม่มีเหตุ ก็คือ อเหตุกะ เพราะฉะนั้นจิตที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยจึงเรียกว่า “อเหตุกจิต”

    ผู้ฟัง กราบท่านวิทยากร มีคำถามว่า โลภมูลจิต โทสมูลจิต แล้วก็โมหมูลจิต ในพวกอกุศลจิตนี้ ที่มีเหตุ ที่มีปัจจัย ใช่ไหม เหตุปัจจัยนี้ คือพอเมื่อเกิดแล้ว จิตที่มีรากเหง้าจากเหตุที่เป็นอกุศลทั้งหลายนี้ แต่ไม่ถึงกับให้กระทำกรรมก็มีใช่ไหม หรือว่าออกมาเป็นกรรมก็มีใช่ไหม คือเมื่อเกิดโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิตขึ้นแล้ว โดยมีเหตุ อกุศลเหตุเป็นองค์ประกอบของจิตนั้น อยากทราบว่าที่บอกว่าเป็นเหตุปัจจัย เป็นเหตุให้กระทำกรรมหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่เป็นมูลให้เกิดโลภมูลจิต โทสมูลจิต หรือโมหมูลจิต คือจะเป็นกรรม หรือไม่

    อ.กฤษณา สำหรับถ้าพูดถึงเรื่องกรรมมา กรรมนี้เราต้องทราบความหมายว่าจะต้องหมายถึงการกระทำ แล้วก็สภาพธรรมที่เป็นกรรมนั้นคือเจตนาเจตสิก เป็นเจตสิกอีกดวงหนึ่ง ซึ่งกรรมนั้นก็เป็นเหตุที่จะให้เกิดผล ถ้ากระทำกุศลกรรมผลก็จะเป็นกุศลวิบาก ให้ผลเป็นกุศลวิบาก ถ้ากระทำอกุศลกรรมก็ให้ผลเป็นอกุศลวิบาก

    เจตนาเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง ในขณะกุศลจิต หรืออกุศลจิตเกิดขึ้นนี้ ก็มีเจตนาประกอบร่วมด้วย แล้วเจตนานั้นก็เป็นกรรม แต่ว่าจะเป็นกรรมที่ถึงกรรมบถหรือไม่นั้น ก็อีกเรื่องหนึ่ง แล้วก็กรรมนั้นก็ยังแยกประเภทอีกว่าเป็นกรรมที่เรียกว่าเกิดพร้อมกันกับจิตเรียกว่าสหชาตกัมมะ แล้วก็กรรมอีกประเภทหนึ่ง คือนานักขณิกกัมมะ นานักขณิกกัมมะนี้ไม่ได้ให้ผลพร้อมกันกับในขณะที่ตนเกิด แต่ให้ผลต่างขณะกัน

    ในขณะที่กุศลจิตเกิด หรืออกุศลจิตเกิด นอกจากจะมีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วยแล้วก็ยังมีเจตสิก ที่เรียกว่าเป็นมูล หรือเป็นรากเกิดร่วมด้วย อย่างที่กล่าวเมื่อสักครู่ว่าถ้าอกุศลจิตเกิด ก็จะมีรากที่ไม่ดีอยู่ ๓ ราก แล้วแต่ว่าจะเกิดกับจิตประเภทไหน ถ้าเป็นโลภมูลจิตก็จะมีโลภเหตุ แล้วก็โมหะเหตุด้วย ถ้าเป็นโทสมูลจิตก็จะมีโทสะเหตุ และโมหะเหตุด้วย ถ้าเป็นโมหมูลจิตก็จะมีโมหะเหตุอย่างเดียว เหตุเหล่านี้ไม่มีอำนาจที่จะส่งผลให้เกิดวิบากที่เป็นวิบากจิตที่จะเป็นผลของกุศลกรรม หรืออกุศลกรรม แต่ก็เป็นเหตุในฐานะที่ว่าเป็นเหตุให้จิตนั้นเป็นโลภมูลจิต หรือเป็นโทสมูลจิต หรือว่าเป็นโมหมูลจิต เพราะฉะนั้นเหตุตรงนี้นี้ไม่เหมือนกับเจตนาเจตสิกที่เป็นเหตุ เจตนาเจตสิกที่เป็นเหตุ หรือเป็นกรรมให้เกิดผลนั้น ท่านเรียกว่าอุตมะเหตุคืออุดมเหตุ ตรงนี้ถ้ายังไม่กระจ่างจะขอคุณสุภีร์ได้กรุณาช่วยเพิ่มเติมขยายความด้วย

    อ.สุภีร์ การที่กุศลกรรมหรืออกุศลกรรมที่จะให้ผลได้ ต้องเป็นกุศลหรืออกุศลที่มีกำลังพอสมควร จึงจะให้ผลได้ จริงอยู่ว่าในชีวิตปกติประจำวัน อกุศลเกิดมากมาย โดยเฉพาะโลภมูลจิตก็เกิดมากมาย เวลาเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ได้ยินเสียงทางหู ก็รู้สึกชอบอะไรต่างๆ เหล่านี้ เมื่อกุศลประการใดประการหนึ่ง ในทาน ศีล ความสงบของจิต หรือว่าความเข้าใจความจริงของสภาพธรรม ไม่เกิด ขณะนั้นก็เป็นอกุศลนั่นเอง เพราะเหตุว่ากุศลนี้มีทางเกิดของกุศลด้วย ถ้ากล่าวสั้นๆ ก็คือมี ๔ อย่างก็คือ ๑ ทาน ๒ ศีล ๓ สมถะ ก็คือความสงบของจิตประการต่างๆ มีเมตตาเป็นต้น แล้ว ๔ คือการเข้าใจความจริงของสภาพธรรม หรือว่าการอบรมเจริญวิปัสสนานั่นเอง ถ้าใน ๔ อย่างนี้ไม่เกิด ในชวนปกติก็จะเป็นอกุศลนั่นเอง

    ซึ่งโลภมูลจิตที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ถ้าไม่ได้ทำใครให้เดือดร้อน หรือว่าไม่ได้มีกำลังมาก ก็จะไม่ให้ผลอะไร เป็นเพียงการสะสมที่จะค่อยๆ มากขึ้นค่อยมากขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะเหตุว่าในชวนจิต ลักษณะของจิตก็คือมีการสั่งสมสันดานของตนด้วยอำนาจชวนวิถี จิตชนิดใดก็ตามที่สะสมบ่อยๆ เข้า บ่อยๆ เข้า ก็มีกำลังมากขึ้น มีกำลังมากขึ้น เวลาเรารับประทานอาหาร ก็ชอบ ก็เป็นโลภมูลจิตนั่นเอง แต่เป็นโลภมูลจิตเป็นอกุศลที่ไม่ได้ให้ผลอะไร แต่เป็นการสะสมมากขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้ายังติดในรสแบบนั้นต่อไปเรื่อยๆ ชาตินี้ยังไม่ทำใครเดือดร้อน ยังหาทรัพย์ หาอะไรมารับประทานด้วยตัวเอง แล้วอีกสักร้อยชาติข้างหน้าจะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ ถ้าไม่รู้ความจริงอย่างนี้แล้วก็ค่อยๆ ละคลายไป ฉะนั้นอกุศลในชีวิตประจำวันถึงจะมีมากแต่ว่าส่วนใหญ่แล้วก็เป็นอกุศลขั้นธรรมดาๆ ที่ไม่ได้เป็นอกุศลที่จะให้ผลในอนาคต ซึ่งถ้าเป็นอกุศลกรรมที่มีการทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน หรือว่ามีการเบียดเบียนผู้อื่นสามารถเป็นกรรมที่จะทำให้ได้รับผลต่อไปในอนาคตได้ ถ้าเกิดล่วงอกุศลกรรมบถสามารถที่จะให้ปฏิสนธิได้ ถ้าไม่ล่วงอกุศลกรรมบถเป็นเพียงสามารถที่จะทำให้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัสเท่านั้น แต่เมื่อใดก็ตามที่ล่วงอกุศลกรรมบถนี้สามารถให้ผลปฏิสนธิได้ในอบายภูมิ

    คำว่าล่วงอกุศลกรรมบถ ก็คือครบองค์ของอกุศลนั่นเอง การล่วงออกไป อย่างเช่นในเรื่องของปาณาติบาต การฆ่าสัตว์มีองค์ ๕ อย่างด้วยกันถ้าจะล่วง ก็คือองค์ที่ ๑ สัตว์มีชีวิต ๒ เรารู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต ๓ มีจิตคิดจะฆ่า ๔ พยายามที่จะฆ่า ๕ สัตว์ตายด้วยความพยายามของเรานี้ ถ้าครบองค์ทั้ง ๕ นี้ ไม่ว่ามดตัวเล็กตัวน้อยขนาดไหน ถ้ากรรมนี้ให้ผลสามารถเกิดในอบายภูมิ ภูมิใดภูมิหนึ่งได้ มีนรก เปรต อสูรกาย และสัตว์เดรัจฉาน สามารถเกิดในภพภูมินั้นได้เลย ถ้าล่วงความเป็นกรรมบถ ซึ่งอกุศลกรรมบทก็จะมี ๑๐ ประการด้วยกัน ที่ผมยกตัวอย่างไปเมื่อสักครู่ก็คือเป็นเพียงเรื่องของปาณาติบาตเท่านั้น แต่ถ้ายังไม่ล่วงความเป็นกรรมบถ แต่เพียงทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน อย่างเช่นเรื่องของปาณาติบาต ที่ยกไปเมื่อสักครู่ อาจจะทำให้สัตว์เดือดร้อน ไล่ให้เขาเหน็ดเหนื่อย หรือว่าทำให้เขาตกใจกลัว หรือว่าบาดเจ็บ อันนี้ก็สามารถเป็นกรรมที่ให้ผลได้ แต่ไม่ให้ผลปฏิสนธิ ให้ผล ให้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัสที่ไม่ดี ซึ่งเป็นอกุศลวิบาก ฉะนั้นระดับของกรรม ก็มีระดับด้วยว่ากรรมใดจะให้ผล กรรมใดไม่ได้ให้ผล

    ในชีวิตประจำวัน เรามีอกุศลมากไม่ได้หมายความว่าอกุศลทั้งหมดนี้จะให้ผลทั้งหมด โดยย่อๆ ก็คือเป็นอกุศลที่เป็นความพยายามทำให้คนอื่นเดือดร้อนหรือไม่ ด้วยความตั้งใจ หรือว่าเจตนาซึ่งเป็นตัวกรรมนั้นเอง ถ้ามีเจตนาที่จะเบียดเบียนคนอื่นทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน นี้เป็นอกุศลที่สามารถให้ผลได้ เริ่มตั้งแต่ให้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัสที่ไม่ดีเป็นต้นไป ถ้าล่วงอกุศลกรรมบถ เป็นกรรมที่รุนแรงก็ให้ผลปฏิสนธิได้ในอบายภูมิ

    อ.ประเชิญ ขอเพิ่มประเด็นนิดหนึ่ง ที่ผู้ถามถึงเหตุ ๓ อย่างที่เป็นอกุศล ที่เป็นโลภะเหตุ โทสะเหตุ โมหะเหตุ ที่จะทำให้ล่วงทุจริตต่างๆ ซึ่งก็อย่างที่พี่กฤษณา และคุณสุภีร์ได้กล่าวไปแล้ว ตัวที่ทำกรรมจริงที่เรียกว่ากรรมโดยสภาพธรรมก็คือเจตนา แต่ว่าโลภะ โทสะ โมหะ ไม่ใช่กรรม เป็นมูลเหตุที่ทำให้ทำกรรม เพราะว่า มีโลภะ เพราะมีโทสะ เพราะมีโมหะ แล้วก็มีโลภะที่เกินประมาณ มีกำลังมากๆ ก็ทำให้กระทำอกุศลกรรม เช่นในเรื่องของการที่จะลักขโมยของผู้อื่น ก็เป็นโลภะที่มีกำลังมากเกินประมาณ ก็ทำให้กระทำกรรม ส่วนโทสะก็เช่นเดียวกัน ขุ่นเคืองเล็กน้อย ขุ่นเคืองใจอันนี้ก็ไม่ถึงกับเป็นกรรมที่จะทำให้ได้ผล แต่ว่ามีกำลังมากๆ ขึ้น ก็เบียดเบียนทำร้ายถึงแก่ชีวิตก็ได้ เพราะฉะนั้นเหตุที่เป็นฝ่ายอกุศล เป็นมูลของกรรมเช่นเดียวกัน แต่ว่าไม่ใช่เป็นตัวกรรมโดยตรง

    ผู้ฟัง ที่กล่าวว่า กุศลมี ๔ อย่าง คือ ทาน ศีล สมถะ วิปัสสนา ขอคำอธิบายเรื่องความแตกต่างของกุศลที่เกิดจากสมถะกับกุศลที่เกิดจากภาวนาว่าต่างกันอย่างไร

    อ.สุภีร์ กล่าวโดยแยกสั้นๆ เพื่อให้รู้ว่าในชีวิตประจำวัน หลังจากเห็นแล้วได้ยินแล้วเป็นกุศล หรืออกุศล ถ้าเห็นแล้ว ได้ยินแล้ว หรือว่ารู้อารมณ์ทางทวารต่างๆ แล้ว ไม่เป็นไปในทาน ไม่เป็นไปในศีล ไม่เป็นไปในสมถะ และไม่เป็นไปในวิปัสสนา ก็จะเป็นไปในอกุศลอย่างใดอย่าง หนึ่งใน ๑๒ ประเภท ก็คือโลภมูลจิต ๘ ประเภท โทสมูลจิต ๒ ประเภท และโมหมูลจิตอีก ๒ ประเภท

    ซึ่งถ้ากล่าวโดยย่อแล้ว ก็อาจจะพูดได้ว่าเป็นทาน ศีล ภาวนา ที่เราคุ้นเคยกัน แต่ว่าภาวนาแยกออกมาเป็น ๒ ก็คือสมถะ และวิปัสสนา คำว่าสมถะนี้ หมายถึงความสงบจากโลภะ โทสะ โมหะ ด้วยการมีอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วจิตก็สงบ อันนี้เป็นขั้นสมถะ ขั้นสมถะในชีวิตประจำวันก็มี การเมตตา การกรุณาต่อบุคคลอื่น ความหวังดีต่างๆ เหล่านี้ ถ้ายังไม่ได้กระทำอะไรยังไม่ได้ให้อะไรใคร ถ้าเป็นการให้ จะเป็นทาน เป็นการให้ออกไป เป็นการสละสิ่งของออกไป ถ้าเป็นความเป็นเพื่อนเป็นมิตรยังไม่ได้ให้อะไร นี่คือเป็นความสงบของจิตเป็นกุศลที่เป็นขั้นสมถะในชีวิตประจำวัน เวลาฟังพระธรรมนี้ระลึกนึกถึงคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงแสดงพระธรรมให้เราเข้าใจความจริง ขณะนั้นไม่ได้ให้อะไรเลย แล้วไม่ได้ละเว้นอะไรด้วย ไม่เป็นขั้นทาน ไม่เป็นขั้นศีลเลย ขณะนั้นก็เป็นสมถะ ที่ระลึกถึงคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า อันนี้เรียกว่าสมถะก็คือความสงบของจิตนั่นเอง อันนี้ในชีวิตประจำวัน

    คำว่า สมถะ นี้ไม่ใช่ว่าสำหรับบุคคลที่ไปทำอะไรประหลาดๆ หรือว่าต้องเห็นโทษอะไรมากมาย ในชีวิตประจำวันเราก็มี การระลึกถึงคุณของผู้ที่มีคุณประการต่างๆ แล้วยังไม่ได้ทำอะไร ขณะนั้นกุศลจิตเกิดขึ้นสงบจาก โลภะ โทสะ โมหะ ขณะนั้นเป็นสมถะในชีวิตประจำวัน แต่ขณะใดก็ตามที่เป็นกุศลขั้นที่เป็นไปเพื่อการเข้าใจความจริงของสภาพธรรมเป็นกุศลขั้นที่เรียกว่าวิปัสสนา ถ้าหมายเอาจริงๆ ก็คือเป็นการอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้ความจริงของสภาพธรรมว่าขณะนี้เป็นแต่เพียงจิต เจตสิก รูป อย่างนี้เป็นต้น อันนี้เป็นขั้นสูง แต่ว่าขั้นโดยทั่วไป ขั้นการฟังให้เข้าใจความจริงก็สงเคราะห์เข้าในข้อนี้ด้วย เพราะเหตุว่าเป็นเหตุเบื้องต้น เพื่อให้ถึงการเข้าใจความจริงอย่างนั้นด้วย อันนี้ก็เป็นกุศลขั้นที่เป็นวิปัสสนา คำว่า “วิปัสสนา”ก็คือการเห็นแจ้งตามความเป็นจริง เพราะเหตุว่าสภาพธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มีแต่เพียงจิต เจตสิก รูป ที่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่มีอำนาจบังคับบัญชาอะไร เป็นอนัตตา ทั้งหมด อันนี้เป็นการอบรมเพื่อเข้าใจความจริง


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 6
    18 ต.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ