สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 053


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ ๕๓

    วันจันทร์ที่ ๙ กันยายน ๒๕๔๕


    อ.สุภีร์ คำว่า “วิปัสสนา”ก็คือการเห็นแจ้งตามความเป็นจริง เพราะเหตุว่าสภาพธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มีแต่เพียงจิต เจตสิก รูป ที่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่มีอำนาจบังคับบัญชาอะไร เป็นอนัตตาทั้งหมด อันนี้เป็นการอบรมเพื่อเข้าใจความจริง เช่นนี้เรียกว่า กุศลขั้นวิปัสสนา ส่วนถ้าเป็นความสงบใจขั้นอื่นๆ ก็เป็นสมถะ

    ถ้ามีการให้อะไรใคร มีการอนุโมทนาบุญกับบุคคลเหล่าอื่นอย่างนี้เป็นต้น ก็เป็นกุศลขั้นทาน กุศลขั้นทานก็เป็นการให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งกับบุคคลอื่น หรือว่าการอนุโมทนาบุญกับบุคคลอื่น การให้ส่วนบุญ ให้อภัยอย่างนี้ เป็นกุศลขั้นทาน ถ้ามีการงดเว้นการพูดที่ไม่ดี แล้วก็งดเว้นสิ่งอื่นๆ ที่เป็นการกระทำผิดต่างๆ ที่ออกมาทางกายทางวาจา อย่างนี้ก็เป็นกุศลขั้นศีล

    ผู้ฟัง เมื่อสักครู่ฟังอาจารย์สุภีร์พูดถึงการที่จะล่วงเป็นอกุศลกรรมบถ ต้องมีทั้ง ๕เหตุ ใช่ไหม เพราะฉะนั้นเวลาเราเดินไปแล้วเหยียบมดตาย เราไม่ได้มีเจตนา ก็ไม่เป็นกรรมที่ไม่ดีใช่ไหม

    อ.สุภีร์ แต่ว่าเวลาเดือดร้อนภายหลังก็เป็นโทสมูลจิต แต่ว่าโทสมูลจิตนั้นไม่ได้เป็นกรรมที่จะให้ผลอะไร เพราะเหตุว่าบางทีบางท่านก็เดินๆ ไป ไม่ได้ตั้งใจอะไรเลย เหยียบมดตาย หรือว่าเหยียบแมลงสาบตาย พอเหยียบตายเรียบร้อยแล้วก็มาเดือดร้อนใจภายหลังว่าอย่างนี้เราฆ่าสัตว์หรือไม่ ไม่มีเจตนาที่จะฆ่า นี้ไม่ได้เป็นกรรมที่จะให้ผลเลย แต่ว่าถ้าเรามาเดือดร้อนภายหลังก็เป็นโทสมูลจิตที่เกิดขึ้นในภายหลังนั่นเอง แต่สำหรับการทำสัตว์ให้ตายอะไรอย่างนั้น ก็เป็นเหตุอื่นๆ มีหลายๆ อย่าง ว่าสัตว์ตัวนั้นถึงคราว ถึงเราไม่เหยียบเขาอาจจะโดนไม้อะไรทับตายก็ได้ ที่จะเป็นกรรมที่จะให้ผลก็คืออยู่ที่เจตนาซึ่งเป็นตัวกรรมที่จะทำให้คนอื่นเดือดร้อน

    ผู้ฟัง ถามอาจารย์สุภีร์ต่อเรื่องเจตนา ดิฉันมีความรู้สึกว่าพอใช้คำว่าเจตนานี้ เขาไม่มีเจตนา คำว่าเจตนาจะไปในลักษณะของการไม่ดี เรียนถามอาจารย์สุภีร์ ว่าเจตนา จะมีความหมายเป็นในฝ่ายที่ไม่ดีอยู่ตลอด หรือไม่ใช่ เรามักจะพูดกันว่าเจตนานี้ ถ้าเธอไม่ดี เจตนา เข้าใจคำถามที่เรียนถามหรือไม่

    อ.สุภีร์ เจตนาเป็นเจตสิกประเภทหนึ่ง ที่เกิดกับจิตทุกประเภทเลย เจตสิกที่พี่ประเชิญได้กล่าวโดยย่อไปเมื่อสักครู่ เจตสิกซึ่งเราทราบมาแล้วว่ามี ๕๒ ประเภท เจตสิกทั้ง ๕๒ ประเภท แยกประเภทได้ ๓ ประเภทใหญ่ๆ ก็คือ ๑อัญญสมานาเจตสิกมี ๑๓ ประเภท ๒อกุศลเจตสิกมี ๑๔ ประเภท และ ๓โสภณเจตสิกมี ๒๕ ประเภท รวมเป็นเจตสิก ๕๒ ประเภท

    คำว่า “อัญญสมานาเจตสิก” หมายถึงเจตสิกที่เสมอกันกับจิตที่เจตสิกเกิดร่วมด้วย “อัญญ”คือสิ่งอื่นที่เจตสิกเกิดร่วมด้วย สิ่งอื่นที่เจตสิกเกิดร่วมด้วยก็คือจิตนั่นเอง “สมานา” คือเสมอกัน อัญญมานาเจตสิก ก็คือเป็นเจตสิกที่เสมอกันกับจิตที่จะเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    เจตนาเจตสิกเป็นหนึ่งในอัญญสมานาเจตสิก ถ้าเจตนานั้นเกิดกับกุศล เจตนานั้นก็เป็นกุศลด้วย ถ้าเจตนานั้นเกิดกับอกุศล เจตนาก็เป็นอกุศลด้วย

    เราทราบมาแล้วว่าชาติของจิตมี ๔ ชาติ ชาติของเจตสิกก็มี ๔ ชาติเช่นเดียวกัน ก็คือเจตสิกที่เป็นประเภทของอัญญาสมานาเจตสิกนี้ เกิดกับจิตชาติชนิดใดก็เป็นชาติเดียวกับจิตนั้นนั่นเอง

    สำหรับเจตนาเจตสิกที่พี่บงษ์ได้ถามเมื่อสักครู่ ก็คือเป็นความตั้งใจ หรือว่าจงใจที่จะกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ถ้าตั้งใจจงใจที่จะกระทำกุศลก็เป็นเจตนาที่เกิดกับกุศลจิต ก็เป็นกุศลเจตนา เหมือนกับกุศล ตั้งใจที่จะทำอกุศลก็เป็นอกุศลเจตนา หรือแม้แต่เป็นผลของกุศลหรืออกุศลก็เป็นเจตนาที่เป็นชาติวิบาก ถ้าเกิดกับกิริยาก็เป็นเจตนาที่เป็นชาติกิริยา

    ผู้ฟัง เรียนถามอาจารย์สุภีร์อีกครั้งว่าเจตนาเจตสิกที่เกิดในการกระทำกรรม ถ้าเกิดเป็นอกุศลส่งผลให้ไปเกิดในอบายใช่ไหม อย่างเช่นถ้าเผื่อเราเดินเหยียบมดแต่เราไม่มีเจตนา อย่างนี้ในปวัตติกาลจะส่งผลให้เราได้สัมผัสที่ไม่ดีทางกาย สมมติว่าเราเดินเหยียบมดตาย แต่เราปราศจากเจตนา แต่ว่าอย่างนั้นผลในปฏิสนธิกาล แต่ผลในปวัตติกาลจะมีไหม

    อ.สุภีร์ ไม่มีเลย เพราะว่าไม่ได้มีเจตนาที่จะฆ่า เจตนาที่จะเดิน เจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกประเภท ตอนนั้นเจตนาที่จะเดิน ไม่ได้เจตนาที่จะฆ่ามดหรือว่าฆ่าอะไร เหมือนบางท่านเจตนาขับรถขับรถไป แล้วก็เดินลงจากรถเห็นสัตว์อะไรสักตัวติดอยู่ตามล้อรถ อาจจะเกิดเป็นทุกข์ใจก็ได้ ตอนนั้นมีเจตนาที่จะขับรถ ไม่ได้มีเจตนาที่จะเหยียบอะไร อย่างนั้นก็ไม่ได้ผลอะไรเลย ความเดือดร้อนใจภายหลังที่เกิดขึ้นก็เป็นโทสมูลจิตที่เกิดขึ้น เป็นโทมนัสเวทนาที่มีความรู้สึกไม่ชอบใจ

    ผู้ฟัง ขอถามก่อน อาจารย์ว่าความแตกต่างระหว่างผลในปวัตติกาลกับผลในปฏิสนธิกาล มีการส่งผลอย่างไร แยกแยะอย่างไร เรียนถามอาจารย์กฤษณา

    อ.กฤษณา ก่อนอื่น ศัพท์ ๒ ศัพท์ คือปฏิสนธิกาล กับ ปวัตติกาล ปฏิสนธิกาลหมายถึงกาลของการปฏิสนธิ คือการเกิดขึ้นเป็นขณะแรกของภพนี้ชาตินี้ แล้วปวัตติกาล คือกาลซึ่งต่อจากปฏิสนธิกาลหลังปฏิสนธิกาลมาเรื่อยมา จนถึงจุติจิตเกิด จุติจิตเกิดก็เป็นจุติกาลอีก

    เพราะฉะนั้นในช่วงระหว่างปฏิสนธิกาลกับจุติกาลจะเป็นปวัตติกาล การส่งผลของกรรมนั้นก็ส่งผลทั้งในปฏิสนธิกาล และในปวัตติกาล ในปฏิสนธิกาลนั้นผลของกรรมก็จะทำให้มาปฏิสนธิเป็นสัตว์บุคคลในภพภูมิต่างๆ ตามความแตกต่างกันของกรรมที่กระทำ ส่วนในปวัตติกาลนั้นกรรมก็ให้ผลเป็นอกุศลวิบากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เป็นอกุศลวิบากจิตบ้างเป็นกุศลวิบากจิตบ้างแล้วแต่ว่าจะเป็นผลของอกุศลกรรมหรือเป็นผลของกุศลกรรม

    ซึ่งในการกระทำกรรมนั้นก็มีกรรมที่ได้กระทำทั้งในชาตินี้ก็มี กรรมที่ทำแล้วในชาติที่แล้วก็มีแล้ว ก่อนชาติที่แล้วก็มี ซึ่งกรรมที่ทำในขณะต่างๆ และชาติต่างๆ ก็จะให้ผล ถ้าไม่มีโอกาสให้ผลก็จะเรียกว่าเป็นอโหสิกรรมไป แต่ถ้ามีโอกาสให้ผลก็จะให้ผลเป็นนำเกิดเป็นบุคคลในภพภูมิไหนก็แล้วแต่ แล้วหลังจากนั้นมาก็จะให้ผลหลังจากที่ได้ปฏิสนธิแล้วก็ให้ผลอีกทีหนึ่ง ถ้าตอนนี้คุณประเชิญมีอะไรจะช่วยเสริมความเข้าใจให้คุณแสงจันทร์ ก็ขอเชิญก่อน

    อ.ประเชิญ ถ้าจะสรุปง่ายๆ คือถ้าในปฏิสนธิกาล การให้ผลของกรรมก็จะเป็นไปได้ทั้งที่มีเหตุประกอบด้วย และไม่มีเหตุประกอบด้วย แต่ถ้าเป็นปวัตติกาล จะได้รับผลเพียงที่ไม่มีเหตุประกอบด้วยเท่านั้นเอง คืออย่างที่พี่กฤษณาได้กล่าวแล้ว คือได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้ถูกต้องสัมผัส อย่างนี้เป็นผลของกรรมที่เป็นไปในปวัตติกาล แต่ถ้าเป็นในปฏิสนธิกาลก็จะทำให้เกิดเป็นบุคคลในอบายภูมิถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม ถ้าผลของกุศลกรรมก็เกิดในสุคติภูมิซึ่งก็จะมีได้ทั้งที่เป็นมีเหตุประกอบด้วย และก็ไม่มีเหตุประกอบด้วย มีแล้วทั้ง ๒ อย่าง เชิญคุณวิจิตร

    ผู้ฟัง ผมอยากจะเล่าเรื่องจริงเป็นเหตุการณ์ที่เกิดกับตัวเองคือเมื่อประมาณปี๑๖ ได้ไปใช้ทุนที่วิทยาลัยเทคนิคตาก ตอนค่ำก็ขับรถจากวิทยาลัยกลับมาบ้านพักที่อยู่ในเมือง ขณะขับมาบังเอิญมีวัวตัวหนึ่งหนีออกมาจากโรงฆ่าสัตว์วิ่งสวนทางมา ขณะผมขับรถก็หลบเลี่ยงไปอยู่กลางถนนแล้ว วัวตัวนั้นวิ่งมาชนรถจนกระทั่งตาย ผมไม่สบายใจเพราะว่าผมได้ฆ่าสัตว์ใหญ่ เคยคิดไม่สบายใจจนกระทั่งมาเรียนธรรมก็เลยค่อยสบายใจขึ้น แต่กรรมสนองคือเมื่อต้นปี๑๘ ผมก็นั่งรถกับเพื่อนจากกรุงเทพฯจะกลับไปเที่ยวงานฉลองพระเจ้าตากที่จังหวัดตาก ก็เกิดอุบัติเหตุรถชนกัน คนนั่งในรถมา ๓ คน คนนั่งหลังเสียชีวิต ผมนั่งข้างหน้าเคียงกับคนขับ คนขับก็ไม่เป็นไร ผมนั่งหน้าทางซ้ายมือก็กระเด็นสลบไปครึ่งเดือน หลังจากฟื้นขึ้นมา สมองใช้ไม่ได้เป็นปี คือลืมหมด ต้องใช้เวลาฟื้นฟูอยู่นาน ผมว่าอันนี้คงจะเป็นผลของกรรมที่กะโหลกแตกแต่ไม่ตาย อย่างนี้ก็คงเป็นกรรมที่เอารถไปขวางทางวัว วัวชนรถ จนกระทั่งวัวคอหักตาย

    อ.ประเชิญ คิดเองใช่ไหม

    ผู้ฟัง ผมว่ามันเป็นอย่างงั้น

    อ.ประเชิญ อย่างที่คุณสุภีร์ และพี่กฤษณาได้กล่าวแล้ว ในเรื่องของกรรม ที่จะเป็นกรรมได้ต้องมีเจตนาใช่ไหม แต่คุณวิจิตรนี้ไม่มี ไม่มีแล้วจะเป็นกรรมได้อย่างไร แล้วจะมีกรรมสนองได้อย่างไร

    ผู้ฟัง ไม่ได้มีเจตนา ก็จะเป็นกฏัตตากรรรม ใช่ไหม คือกรรมที่ส่งผลมาโดยเราไม่ได้คิด กรรมบางอย่างที่เคยทำอย่างนั้น กรรมที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้เจตนาแต่ว่ามันจะส่งผลคือให้เรามีวิบากบ้าง

    อ.ประเชิญ ก็ต้องเข้าใจกฏัตตากรรรมด้วย ซึ่งในกรรมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกรรมหนักที่เป็นครุกกรรม อาสันนกรรม อาจิณณกรรม กฏัตตากรรรมก็ดี ก็ต้องหมายถึงเจตนาที่ทำให้ถึงกรรมบถ คือเป็นกรรมแล้ว ไม่ใช่ว่าไม่มีเจตนา เพราะฉะนั้นเหตุการณ์ทั้งหมด ถ้ามีการกระทำใดๆ ก็ตาม และไม่มีเจตนาก็ไม่เป็นกรรม

    ผู้ฟัง เวลาเราเดินไปไหน เหยียบมดตายหรือว่าเหยียบแมลงสาบตาย ไม่มีกฏัตตากรรรมมาสนองบ้างหรืออย่างไร

    อ.ประเชิญ ไม่เป็นกรรมแล้วจะมีผลของกรรมได้อย่างไร

    ผู้ฟัง สมมติว่าเราเหยียบแมลงสาบตาย แล้วเหยียบมดตาย ถึงแม้ว่าจะไม่มีเจตนา แต่ว่า๔อย่างที่มีเจตนา คือ สัตว์มีชีวิต ไม่มีจิตฆ่า ไม่พยายามฆ่า ก็ไม่มี แต่ว่าสัตว์เสียชีวิต ไม่รู้ว่าน่าจะมีอะไรตอบแทนบ้าง

    อ.ประเชิญ ไม่เป็นกรรม อย่างที่คุณสุภีร์ได้กล่าวตั้งแต่ต้น

    อ.สุภีร์ เจตนาฆ่าเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเหตุว่าเจตนานั่นแหละเป็นกรรม ถ้าเจตนานั้นกระทำไปแล้ว และมีองค์อื่นๆ เพิ่มเติมด้วย ก็มีผลมากขึ้นๆ ไปเรื่อยๆ ถ้าด้วยเจตนานั้นก็ทำให้เขาเพียงลำบาก หรือบาดเจ็บเท่านั้น ก็ให้ผลน้อยๆ ถ้าถึงกับทำให้ตายครบองค์อื่นไปด้วยก็ให้ผลมาก แต่เจตนาฆ่าเป็นองค์สำคัญ ถ้าไม่มีเจตนาฆ่าองค์อื่นๆ ไม่คิดเลย เพราะว่าไม่ได้เป็นกรรม และที่ได้ถามเมื่อสักครู่ ว่าไม่เป็นกฏัตตากรรรมบ้าง หรืออะไรอย่างนี้

    จริงๆ แล้ว กฏัตตากรรรมก็เป็นกรรมนั่นเอง กรรมที่จะให้ปฏิสนธิต่อไปในอนาคต มีอยู่ ๔ อย่างด้วยกัน ก็คือ ๑ ครุกกรรม กรรมที่หนัก ๒ อาสันนกรรม กรรมที่ทำตอนใกล้จะตาย ๓ พหุลกรรม หรือว่าอาจิณณกรรม กรรมที่กระทำบ่อยๆ เนืองๆ หรือว่าสิ่งที่ทำบ่อยๆ นั่นเอง ส่วนอันที่ ๔ ก็คือกฏัตตากรรรม ที่กล่าวไปเมื่อสักครู่ ฉะนั้นทุกอย่างที่กล่าวมาทั้ง ๔ อย่าง ที่จะนำปฏิสนธินี้ ก็เรียงตามลำดับไป

    คำว่า “กฏัตตากรรรม”คือเป็นกรรมที่ครบองค์ทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว ถ้าเป็นครุกกรรมก็คือเป็นกรรมที่หนักมาก ถ้าเป็นฝ่ายของอกุศลก็จะเป็นพวกอนันตริยกรรมอย่างนี้ อนันตริยกรรมนี้ให้ผลปฏิสนธิในภพหน้าแน่นอน มีการฆ่ามารดา ฆ่าบิดา อย่างนี้เป็นต้น อันนี้ก็คือเป็นครุกกรรม ถ้าจุติเกิดปฏิสนธิด้วยกรรมนั้นทันทีด้วยผลของครุกกรรม ถ้าไม่มีครุกกรรม ก็จะมีอาสันนกรรมให้ผล อาสันนกรรมก็คือกรรมที่ทำตอนใกล้จะตาย ถึงบุคคลบางคนจะกระทำความดีมามาก แต่ว่าตอนใกล้จะตายจิตเศร้าหมอง หรือว่ากระทำอกุศลแล้วเดือดร้อนใจ อันนี้ก็ทำให้เกิดในอบายภูมิได้ เพราะว่าเป็นกรรมที่ทำตอนใกล้จะตาย ถ้ากรรมที่กระทำตอนใกล้จะตายนั้นให้ผลก็สามารถที่จะไปอบายภูมิได้ ถึงบุคคลนั้นจะเป็นคนดีขนาดไหนก็ตาม คนดีที่ดีจนไม่ไปอบายภูมิอีกเลยก็คือเป็นคนดีระดับขั้นพระโสดาบันขึ้นไป คนดีอื่นๆ นอกจากนั้นสามารถไปอบายภูมิได้ทั้งหมด แล้วถ้าเกิดว่าบุคคลบางคนเขาก็กระทำไม่ค่อยดีเท่าไหร่แต่ว่าตอนใกล้จะตายได้ทำกุศลแล้วกุศลนั้นมีกำลัง กุศลนั้นให้ผลตอนใกล้จะตายก็เป็นอาสันนกรรมทำให้เขาเกิดในสุคติภูมิได้ ถ้าไม่มีอาสันนกรรมก็จะเป็นอาจิณณกรรมที่จะให้ผล ก็คือกุศลที่กระทำบ่อยๆ เนื่องๆ บางคนก็ให้ทานบ่อยๆ บางคนก็รักษาศีลบ่อยๆ บางคนก็ช่วยเหลือผู้อื่นบ่อยๆ การทำกุศลเหล่านี้ที่สะสมไว้ก็เป็นเหตุให้ปฏิสนธิด้วยกรรมนี้ได้ หรือว่าบางคนฆ่าสัตว์บ่อยๆ หรือว่าพูดปดบ่อยๆ อะไรอย่างนี้ กรรมนี้ถ้ามีโอกาสเขาก็ให้ผลในปฏิสนธิได้ ถ้ากรรมทั้ง ๓ เบื้องต้น ก็คือครุกกรรม อาสันนกรรม อาจิณณกรรมไม่ให้ผล กฏัตตากรรรมก็จะให้ผล กฏัตตากรรรมก็คือกรรมที่ไม่มีกำลังเหมือนกรรม ๓ ข้างต้นนี้ เป็นกรรมเล็กๆ น้อยๆ ที่กระทำอย่างการฆ่ามด ซึ่งจริงๆ ก็ล่วงกรรมบถไปแล้ว ซึ่งสามารถให้ผลได้ถ้าไม่มีกรรมอื่นมาให้ผล ฆ่ามดตายตัวหนึ่ง ครบองค์กรรมบถแล้ว สามารถให้ปฏิสนธิในอบายภูมิได้

    ผู้ฟัง ในกรณีฆ่ามดตาย อกุศลวิบากให้ผล แล้วหากว่าช่วยมดไม่ให้ตายจะเป็นอย่างไร

    อ.สุภีร์ ช่วยมดไม่ให้ตายก็เป็นกุศล

    ผู้ฟัง วันนี้ที่ผมขับรถไปนั้นแล้ววัววิ่งมาชนรถที่ผมขับ แล้ววัวตาย จะมีผลอะไรหรือไม่

    อ.สุภีร์ ไม่มีเจตนาฆ่าไม่ใช่หรือ ก็เจตนาจะหลบวัวใช่ไหม ไม่ได้เป็นกรรมในเกี่ยวกับเรื่องนี้

    ผู้ฟัง แล้วที่ผมเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์เมื่อปี๑๘ ขณะที่หัวกะโหลกแตก ไม่สืบเนื่องกันหรือ

    อ.สุภีร์ ไม่สืบเนื่องกัน เพราะว่าที่จะให้ผลได้ ต้องเป็นกรรม เป็นกรรมแล้วกรรมนั้นสั่งสมในจิตสันดานเป็นกัมมปัจจัย เมื่อได้กาลโอกาสที่เหมาะสม กรรมนั้นก็จะให้ผล กรรมที่ได้กระทำไว้แล้วทั้งหมด ไม่ว่าจะชาติไหนๆ ก็ตามก็สะสมมา เมื่อเวลาพร้อมที่จะให้ผล ก็ให้ผล ให้เห็นบ้างได้ยินบ้าง ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส และก็ให้ปฏิสนธิด้วย แต่เมื่อสักครู่จะหลบวัวคงไม่เป็นอะไร ไม่เกี่ยวกับกรรมนั้น แต่ว่าที่ที่ให้ไปรถชนอะไรต่างๆ นั้น ก็เป็นกรรมอย่างอื่นไป

    ผู้ฟัง สะสมมาตั้งแต่อดีตชาติ

    อ.สุภีร์ กรรมนี้มีเยอะมาก ขณะเห็นตอนนี้เป็นผลของกรรมอะไรรู้ไหม ไม่รู้เลยใช่ไหมว่ามาจากกรรมอะไร ที่เราได้ศึกษากันมาในกิจของจิต ๑๔ กิจ ในกิจของจิต กิจของจิตทั้ง ๑๔ กิจ เป็นกิจของจิตที่เป็นชาติวิบากเกือบทั้งหมด ในกิจของจิต ๑๔ กิจ ลองนับดูว่าเป็นกิจของจิตชาติวิบากเท่าไหร่ ที่ไม่เป็นชาติวิบากก็มีเพียงอาวัชชนะที่เป็นกิริยาจิต โวฏฐัพพนะที่เป็นกิริยาจิต แล้วก็ในชวนะที่เป็นกุศล อกุศล แล้วก็กิริยา ซึ่งวิบากก็สามารถเกิดในชวนะได้ แต่ว่าเป็นวิบากที่เป็นโลกุตตระแล้ว จิตอีก ๑๑ กิจที่เกิดขึ้นทำกิจ เป็นผลของกรรมยกเว้นนอกจากอาวัชชนะแล้ว ยกเว้นโวฏฐัพพนะแล้ว แล้วก็ยกเว้นชวนะแล้ว นอกจากนั้นก็เป็นผลของกรรมทั้งหมด

    อ.กฤษณา เรื่องของกรรม และเรื่องของวิบากเป็นพุทธวิสัย เป็นเรื่องของอจินไตย ไม่พึงคิดเราไม่สามารถที่จะทราบได้ว่าเราได้รับผลกรรมนี้ คือเป็นอกุศลวิบากเพราะกรรมอะไรในอดีต สภาพธรรมที่เป็นวิบากคือวิบากจิต ซึ่งเป็นผลของอกุศลธรรมหรือกุศลธรรม

    ขอกลับมาที่เรื่องของเหตุ หรือเห-ตุ ซึ่งท่านผู้ร่วมสนทนาก็ได้กล่าวถึงคำว่าเหตุปัจจัยทั้งในคราวที่แล้ว และก็ในคราวนี้ที่สนทนากัน คำว่า “เหตุปัจจัย”ก็มีทั้งคำว่า “เหตุ” และก็คำว่า “ปัจจัย”ที่อาจจะสงสัยว่าเหตุกับปัจจัยนั้นจะต่างกันอย่างไร เพราะว่าเมื่อไปงานศพก็ได้ยินพระสวดอีกว่า เหตุปัจจโย อารัมมณปัจจโย อธิปติปัจจโย เป็นต้น เริ่มต้นเหตุปัจจโย เป็นปัจจโย อันแรก ถ้าฟังดีๆ ก็ต้องฟังไปพบ ๒๔ ปัจจโย ลงท้าย ปัจจโยแรกคือเหตุปัจจโย ความหมายของเห-ตุ ได้กล่าวไปแล้ว เป็นสภาพธรรมที่เป็นเจตสิกซึ่งเป็นเหตุ ๖ ชนิด ส่วนคำว่าปัจจัยนั้นก็หมายถึงสภาพธรรมที่เป็นธรรมที่ช่วยอุปการะเกื้อกูลให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้น หรือว่าดำรงอยู่ตามสมควรแก่ประเภทของปัจจัยนั้นๆ ซึ่งปัจจัยก็ไม่ได้มีปัจจัยเดียว ไม่ได้มีแต่เหตุปัจจัย ปัจจัยเดียว แต่มีหลายๆ ปัจจัย แต่ว่าสภาพธรรมที่เป็นเหตุ ก็เป็นปัจจัยหนึ่ง ในหลายๆ ปัจจัย โดยปัจจัยใหญ่ๆ มี ๒๔ ปัจจัย สภาพธรรมที่เป็นเหตุนั้นแหละเป็นปัจจัยด้วย ช่วยอุปการะเกื้อกูลแก่ธรรมทั้งหลายที่ประกอบกับเหตุ

    เพราะฉะนั้นในคัมภีร์ปัฏฐาน ซึ่งเป็นคัมภีร์พระอภิธรรมคัมภีร์สุดท้าย ก็จะแสดงสภาพธรรมทั้งหลายที่เป็นปัจจัยแก่กัน และกัน ซึ่งโดยปัจจัยใหญ่ๆ แล้วก็มี ๒๔ ปัจจัย ปัจจัยแรกที่ทรงแสดงก็คือเหตุปัจจัย ซึ่งก็ได้แก่สภาพธรรมที่เป็นเหตุนั่นเอง แล้วก็ที่เราได้สนทนากันมาตั้งแต่ต้น สภาพธรรมที่เป็นเหตุนั้นก็เป็นเจตสิก ๖ ชนิดอย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว จิตที่มีเจตสิกที่เป็นเหตุประกอบร่วมด้วยก็เป็น สเหตุกจิต ส่วนจิตบางประเภทที่ไม่มีเจตสิกที่เป็นเหตุประกอบร่วมด้วยก็คือเป็นอเหตุกจิต อย่างในขณะที่ได้ยิน หรือว่าในขณะที่เห็น ในขณะที่ได้กลิ่น ในขณะที่ลิ้มรส ในขณะที่รู้กระทบสัมผัสทางกาย หรือว่าในขณะที่จิตที่เรียกว่าสัมปฏิจฉันนจิตเกิดขึ้น หรือสันตีรณจิตเกิดขึ้น หรือว่าปัญจทวาราวัชชนจิตก็ดี มโนทวาราวัชชนจิตก็ดี เกิดขึ้น แล้วก็จิตอีกประการหนึ่งประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นโดยที่เพียงทำให้พระอรหันต์ท่านแย้มยิ้มเท่านั้นซึ่งมีชื่อว่า หสิตุปปาทจิต จิตต่างๆ เหล่านี้เป็นจิตประเภทที่ไม่มีเหตุประกอบร่วมด้วยจึงชื่อว่าอเหตุุกจิต

    วันนี้เราได้สนทนากันเรื่องจิตที่มีเหตุประกอบรวมด้วย แล้วก็จิตที่ไม่มีเหตุประกอบร่วมด้วย ซึ่งสภาพธรรมต่างๆ เหล่านี้ที่เป็นจิต ไม่ว่าจะเป็นสเหตุกจิต หรืออเหตุกจิตก็ดี ก็เป็นสภาพธรรมที่รู้แจ้งอารมณ์ คือรู้ลักษณะต่างๆ ของอารมณ์ต่างๆ ซึ่งลักษณะของจิตประการหนึ่งก็คือเป็นธรรมชาติที่รู้แจ้งอารมณ์ คือรู้ลักษณะต่างๆ ของอารมณ์ต่างๆ นั่นเอง แล้วก็ลักษณะของจิตอีกประการหนึ่งที่เราได้สนทนากันมาหลายครั้งแล้ว ก็คือธรรมชาติของจิตนั้นสั่งสมสันดานตนด้วยสามารถชวนวิถี หมายถึงในขณะที่เป็นชวนวิถีจิตในขณะนั้นชวนจิตก็สั่งสมสันดาน


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 6
    18 ต.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ