สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 055


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ ๕๕

    วันจันทร์ที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๔๕


    อ.กฤษณา สวัสดีค่ะท่านผู้ร่วมสนทนาธรรมที่เคารพทุกท่าน วันนี้ท่านอาจารย์สุจินต์ก็ยังติดภารกิจ ก็ยังไม่ได้มาร่วมสนทนาธรรมในวันนี้ ก็มีคุณประเชิญ คุณสุภีร์ และดิฉันจะมาร่วมสนทนากับท่านทุกท่าน

    ซึ่งในการสนทนาธรรมระยะหนึ่งที่เราได้สนทนากันมา ทุกท่านก็ได้ทราบแล้วว่าในขณะที่จิตซึ่งเป็นสภาพรู้อารมณ์เกิดขึ้นนั้นก็จะมีปรมัตถธรรมอีกอย่างหนึ่ง คือเจตสิกเกิดขึ้นประกอบกับจิต และรู้อารมณ์เดียวกับจิตด้วยเสมอ แต่ว่าในการรู้อารมณ์นั้นจิตจะเป็นใหญ่เป็นประธานครองความเป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์ แต่ในขณะเดียวกันนั้นเจตสิกที่ประกอบกับจิตก็รู้อารมณ์เดียวกับจิตแต่ก็ทำหน้าที่ต่างๆ ของตนไปตามสมควรแก่หน้าที่ของตน ซึ่งในคราวที่แล้วก็ได้อีกสนทนาเกริ่นๆ ไปบ้างแล้ว เรื่องของเจตสิกซึ่งมีอยู่ ๕๒ ประเภท ซึ่งเจตสิกแต่ละประเภทนั้นก็เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ ที่มีลักษณะแตกต่างกัน มีกิจหน้าที่แตกต่างกัน อาการที่ปรากฏก็แตกต่างกัน มีเหตุให้เกิดก็แตกต่างกัน

    วันนี้ก็ขอสนทนาถึงเรื่องเจตสิก ๕๒ ประเภท แต่ว่าจะไม่พูดในรายละเอียดทั้งหมด ๕๒ ประเภท ก็เริ่มแรกนี้ขอพูดแยกเป็นกลุ่มของเจตสิกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ซึ่งเจตสิก ๕๒ ประเภทนั้นเมื่อจำแนกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ก็จะมีอยู่ ๓ กลุ่มก็คือ กลุ่มที่ ๑ มีชื่อว่า อัญญสมานาเจตสิก ก็เป็นเจตสิกที่เสมอกับเจตสิกประเภทอื่นที่อัญญสมานาเจตสิกนั้นเข้าประกอบร่วมด้วย กลุ่มที่ ๒ คืออกุศลเจตสิกซึ่งเป็นเจตสิกฝ่ายที่ไม่ดีงาม และกลุ่มที่ ๓ คือโสภณเจตสิก ก็เป็นกลุ่มของเจตสิกในฝ่ายที่ดีงาม

    กลุ่มที่ ๑ ที่ชื่อว่า อัญญสมานาเจตสิก “อัญญ” แปลว่า “อื่น” “สมานา”หมายถึง “เสมอ” เพราะฉะนั้นอัญญสมานาเจตสิกก็เป็นเจตสิกที่เสมอกับเจตสิกประเภทอื่นที่อัญญสมานาเจตสิกเกิดร่วมด้วย “เสมอ”ในที่นี้หมายถึงเข้ากันได้ เพราะฉะนั้นจึงประกอบกับจิตร่วมกันได้ คือเมื่ออัญญสมานาเจตสิกเกิดร่วมกับอกุศลเจตสิกในอกุศลจิต อัญญสมานาเจตสิกนั้นก็เป็นอกุศลด้วย ถ้าอัญญสมานาเจตสิกเกิดร่วมกับโสภณเจตสิก อัญญสมานาเจตสิกนั้นก็เป็นโสภณเจตสิกด้วย อัญญสมานาเจตสิกเกิดร่วมกับอกุศลเจตสิกก็ได้ หรือจะเกิดร่วมกับโสภณเจตสิกก็ได้ แต่ว่าอกุศลเจตสิกจะเกิดร่วมกับโสภณเจตสิกไม่ได้เลย เพราะว่าเป็นเจตสิกที่ต่างกัน เพราะว่ากลุ่มหนึ่งเป็นฝ่ายดีอีกกลุ่มหนึ่งเป็นฝ่ายไม่ดี

    สำหรับอัญญสมานาเจตสิกนั้นมีอยู่ ๑๓ ประเภทแล้วก็แยกเป็นกลุ่มย่อย ๒ กลุ่มก็คือ สัพพจิตตสาธารณเจตสิก เป็นกลุ่มย่อยที่ ๑ และปกิณณกเจตสิก เป็นอีกกลุ่มย่อย๑ ของอัญญสมานาเจตสิก สำหรับสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ชื่อ “สัพพ”หมายถึง “ทั้งหมด” “จิตต”ก็คือ “จิต” “สาธารณะ”หมายถึง “ทั่วไป” เพราะฉะนั้นสัพพจิตตสาธารณเจตสิกจึงหมายถึงเจตสิกที่ประกอบกับจิตทั่วไปทั้งหมด จิตทุกประเภท และทุกขณะที่เกิดขึ้นนั้นต้องมี สัพพจิตตสาธารณเจตสิกเกิดร่วมด้วยเสมอ ซึ่งสัพพจิตตสาธารณเจตสิก นั้นก็ประกอบไปด้วยเจตสิก ๗ ประเภท โดยชื่อแล้วก็คือ ผัสสเจตสิก ๑ เวทนาเจตสิก ๑ สัญญาเจตสิต ๑ เจตนาเจตสิก ๑ เอกัคคตาเจตสิก ๑ ชีวิตตินทรีย์เจตสิก ๑ และมนสิการเจตสิก ๑

    เราจะสนทนากันในเรื่องของสัพพจิตตสาธารณเจตสิก แต่ละประเภทโดยสังเขปก่อน ต่อจากนั้นก็จะสนทนากันถึงอกุศลเจตสิกบางประเภท แล้วก็สนทนากันถึงเรื่องของโสภณเจตสิกบางประเภท เพราะว่าจะมีเจตสิกที่จะเกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะสนทนาในเรื่องของลักษณะของจิตประการหนึ่ง ก็คือที่ชื่อว่าจิต เพราะอรรถว่ากรรมกิเลสสั่งสมวิบาก กรรมก็คือเจตนาเจตสิกซึ่งเป็นเจตสิกดวงหนึ่งในสัพพจิตตสาธารณเจตสิก กิเลสก็มีหลายชนิด แต่กิเลสตัวใหญ่ๆ ก็คือโลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งอยู่ในอกุศลเจตสิก เป็นกลุ่มของเจตสิกฝ่ายที่ไม่ดีงาม เพราะฉะนั้นก่อนอื่นก็ขอสนทนาในเรื่องของสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ตั้งแต่ผัสสเจตสิก จะขอเชิญคุณประเชิญได้กรุณากล่าวถึงสัพพจิตตสาธารณเจตสิก โดยสังเขปก่อน

    อ.ประเชิญ ผัสสะ ก็เป็นธรรมอย่างหนึ่งที่ทำหน้าที่กระทบอารมณ์ เป็นเจตสิก ผัสสะไม่ใช่จิต ผัสสะไม่ใช่รูป แล้วก็ไม่ใช่พระนิพพาน เป็นเจตสิกเกิดขึ้นร่วมกับจิตมีอารมณ์เดียวกับจิต อาศัยวัตถุเดียวกับจิต และก็ดับพร้อมกับจิต กระทำกิจกระทบอารมณ์ เจตสิกอื่นๆ จะไม่ทำหน้าที่อย่างนี้ มีเจตสิกประเภทเดียวเท่านั้นที่กระทำหน้าที่กระทบอารมณ์ เพราะฉะนั้นผัสสะก็คือเจตสิกที่เกิดขึ้นทำหน้าที่กระทบอารมณ์

    อ.กฤษณา คุณสุภีร์ ถ้าบอกว่าไม่มีธรรมชาติที่กระทบอารมณ์เลย โลกนี้จะเป็นอย่างไร

    อ.สุภีร์ ไม่มีธรรมชาติที่กระทบอารมณ์ หรือว่าผัสสเจตสิกเกิดขึ้นก็จะไม่มีการรู้อารมณ์ เวลาเราทำไม้หรือว่าทำวัตถุที่เป็นรูป ๒ อันกระทบกัน ภาษาไทยเรียกว่ากระทบ แต่นั่นไม่ใช่ผัสสะ เพราะเหตุว่าผัสสะเป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นแล้วต้องรู้อารมณ์ จิตเกิดขึ้นกระทำหน้าที่รู้แจ้งอารมณ์ เจตสิกก็เกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้นเช่นเดียวกัน แต่รู้อารมณ์โดยทำกิจหน้าที่อื่นๆ ผัสสเจตสิกรู้อารมณ์เดียวกับที่จิตรู้ แต่รู้อารมณ์โดยการกระทบกับอารมณ์ ถ้าไม่มีสิ่งที่กระทบกับอารมณ์ก็จะไม่มีการรู้อารมณ์นั้นเลย ฉะนั้นผัสสเจตสิกจึงทำหน้าที่เหมือนตัวเชื่อม คล้ายๆ อย่างนั้น ก็คือเป็นการกระทบกับอารมณ์เพื่อให้เวทนารู้สึกกับอารมณ์ สัญญาจำอารมณ์ และจิตรู้แจ้งอารมณ์ ซึ่งถ้าไม่มีผัสสะกระทบก็จะไม่มีการรู้อารมณ์เลย แต่ว่าการกระทบไม่เหมือนในภาษาไทย ถ้าต้นไม้ล้มลงกระทบพื้นอย่างนี้ อันนี้ไม่ใช่การกระทบ เพราะเหตุว่าไม่มีการรู้อารมณ์ ถ้าเป็นการกระทบต้องมีการรู้อารมณ์เกิดขึ้นด้วย ซึ่งผัสสเจตสิกก็เป็น ๑ ในสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ประเภท

    ฉะนั้นสำหรับทุกๆ ท่าน ก็มีผัสสเจตสิกเกิดดับไปเรื่อยๆ ตลอดมา ไม่เคยขาดเลย แม้แต่ขณะนี้ก็ไม่ได้ขาดผัสสเจตสิก ในวันก่อน และวันต่อๆ ไปก็จะไม่มีการขาดผัสสเจตสิก จะขาดผัสสเจตสิกตอนไหน? หลังจากจุติจิตของพระอรหันต์ ถ้ายังไม่เป็นพระอรหันต์ และยังไม่จุติ ก็จะมีผัสสเจตสิกเกิดขึ้นกระทบกับอารมณ์อยู่ตลอดไป ผัสสเจตสิกไม่เหนื่อย เพราะเหตุว่าเป็นสภาพธรรม เป็นนามธรรม

    อ.กฤษณา เพราะฉะนั้นในเวลาที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ ซึ่งเป็นไปในชีวิตของเรานี้เอง ขาดผัสสเจตสิกไม่ได้เลย ยังมีเจตสิกคือธรรมชาติที่เกิดขึ้นพร้อมกับจิตทุกประเภททุกขณะอีกอย่างหนึ่ง ก็คือเวทนาเจตสิก ขอคุณสุภีร์ช่วยอธิบายเรื่องเวทนาเจตสิกด้วย

    อ.สุภีร์ เวทนาเจตสิกก็เป็นเจตสิกที่รู้อารมณ์โดยการรู้สึกกับอารมณ์นั้น เป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิกอีกประการหนึ่ง ก็คือต้องเกิดกับจิตทุกประเภท ฉะนั้นเมื่อมีการรู้อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง จะไม่มีการรู้สึกกับอารมณ์นั้นไม่ได้ อย่างเราบอกว่าไม่ค่อยรู้สึกอะไร ถ้าไม่ค่อยรู้สึกอะไรก็เป็นความรู้สึกชนิดหนึ่งนั่นเอง เป็นเวทนาเจตสิกชนิดหนึ่ง

    ซึ่งเวทนาเจตสิก ว่าโดยลักษณะที่ละเอียดแยกย่อยออกไปก็จะมีถึง ๕ ประเภทด้วยกัน ๕ ลักษณะด้วยกัน ก็คือ ๑ สุขเวทนา ๒ ทุกขเวทนา ๓ โสมนัสเวทนา ๔ โทมนัสเวทนา และ๕ อุเบกขาเวทนา ซึ่งเวทนาทั้ง ๕ ก็เป็นเวทนาเจตสิกประเภทเดียวกันนั้นเอง แต่ว่าเมื่อเกิดกับจิตต่างๆ กันรู้อารมณ์ต่างกัน ฉะนั้นเวทนาที่เกิดขึ้นรู้สึกกับอารมณ์นั้นจึงต่างกันไปด้วย ถ้าเป็นสุขเวทนาเกิดกับจิตได้ ๑ ดวงก็คือ สุขกายวิญญาณ ซึ่งกายวิญญาณก็เป็น ๑ ในทวิปัญจวิญญาณ ทวิปัญจวิญญาณก็คือจิต ๑๐ ประเภท ที่เป็นจักขุวิญญาณ ๒ ประเภท ก็คือเป็นผลของกุศลดวงหนึ่ง และเป็นผลของอกุศลดวงหนึ่ง โสตวิญญาณ ๒ ประเภท ฆานวิญญาณ ๒ ประเภท ชิวหาวิญญาณ ๒ ประเภท กายวิญญาณ ๒ ประเภท

    สุขเวทนาเกิดกับจิตได้ประเภทเดียวก็คือ สุขกายวิญญาณซึ่งเป็นผลของกุศล ก็เป็นกายวิญญาณกุศลวิบาก ทุกขเวทนาก็เกิดกับจิตได้ ๑ ประเภท ก็คือ กายวิญญาณอกุศลวิบาก ตรงกันข้ามกันกับสุขเวทนา เพราะเหตุว่าการที่จะรู้อารมณ์ทางปัญจทวาร จะมีอารมณ์กระทบทวาร ซึ่งอารมณ์ของกายวิญญาณ ก็คือมหาภูตรูป มหาภูตรูปมี ๔ รูป ก็คือดิน น้ำ ไฟ ลม ถ้าเป็นภาษาบาลี ก็เป็นปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ สำหรับมหาภูตรูปที่กายวิญญาณรู้ จะมีอยู่ ๓ อย่าง ก็คือธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม เวลาที่จะมีการรู้อารมณ์ทางปัญจทวาร จะมีอารมณ์กระทบกับทวาร ทวารในที่นี้ก็คือกายทวาร ได้แก่กายปสาทรูปนั้นเอง

    มหาภูตรูปเป็นรูปที่ใหญ่ และเป็นรูปที่หนัก เป็นรูปที่หยาบกว่ารูปอื่นๆ ฉะนั้นมหาภูตรูปกระทบกับกายปสาทรูปจึงเกิดเวทนาที่เป็นสุขเวทนา และทุกขเวทนา แต่ถ้าเป็นวิญญาณทางทวารอื่น อย่างเช่นจักขุวิญญาณ รูปารมณ์ หรือว่าสิ่งที่ปรากฏทางตากระทบกับจักขุปสาทจึงจะเกิดการรู้อารมณ์ แต่ว่ารูปารมณ์หรือว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอุปาทายรูป ฉะนั้นเมื่อมีการกระทบกันแล้วจักขุวิญญาณเกิดขึ้นรู้อารมณ์ เวทนาที่เกิดขึ้นกับจักขุวิญญาณจึงเป็นเพียงอุเบกขาเวทนา ไม่เหมือนกัน แต่ทางกายทวาร อารมณ์ที่กระทบเป็นอารมณ์ที่หยาบกว่าก็คือเป็นอารมณ์ที่เป็นมหาภูตรูป ๓ คือ ธาตุดิน ธาตุไฟ และธาตุลม กระทบกับกายปสาทรูป ฉะนั้นจึงทำให้เวทนาที่เกิดขึ้นไม่ใช่อุเบกขาเวทนาเหมือนทวารอื่นๆ จิตที่กระทำกิจรู้อารมณ์ในปัญจวิญญาณ ในทวิปัญจวิญญาณ๑๐ ๘ ดวงข้างต้น ก็คือจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ เวทนาที่เกิดประกอบร่วมด้วยก็คืออุเบกขาเวทนา เพราะว่าเป็นอุปาทายรูปกระทบกับอุปาทายรูป ปสาทรูปทั้ง ๕ เป็นอุปาทายรูป และรูป เสียง กลิ่น รส นี้ก็เป็นอุปาทายรูปกระทบกัน ฉะนั้นจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ ที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางทวารทั้ง ๔ นี้จึงเป็นอุเบกขาเวทนา

    ส่วนเวทนาต่อไปที่เกิดกับจิตได้ ๒ ประเภทก็คือโทมนัสเวทนา โทมนัสเวทนาเกิดกับจิตได้ ๒ ประเภทเท่านั้น ก็คือ โทสมูลจิต ๒ ประเภท เป็นเวทนาที่ไม่ชอบใจ ส่วนโสมนัสเวทนา และอุเบกขาเวทนา เกิดกับจิตได้ทั้ง ๔ ชาติ ฉะนั้นถ้าเวทนาทั้ง ๕ ที่กล่าวไปว่าเกิดกับจิตชาติไหนบ้าง ก็คือสุขเวทนา และทุกขเวทนานี้เกิดกับจิตชาติวิบากเท่านั้น ก็คือสุขเวทนาก็เกิดกับจิตได้ ๑ ดวง ทุกขเวทนาก็เกิดกับจิตได้ ๑ ดวง โทมนัสเวทนาเกิดกับจิตชาติอกุศล ก็คือโทสมูลจิต ส่วนโสมนัสเวทนา และอุเบกขาเวทนาเกิดกับจิตได้ทั้ง ๔ ชาติ นี้เป็นเวทนาเจตสิกที่กระทำหน้าที่รู้สึกกับอารมณ์

    เวทนาเจตสิกนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกคนๆ ติดมาก เพราะว่าเป็นความรู้สึกกับอารมณ์ ทุกคนต้องการเวทนาที่ดี ก็คือสุขเวทนา และโสมนัสเวทนา แม้ไม่ได้สุขเวทนาหรือโสมนัสเวทนา อุเบกขาเวทนาก็ยังดี แต่ว่าไม่ต้องการเลยคือทุกขเวทนากับโทมนัสเวทนา ฉะนั้นด้วยความที่บุคคลทั่วไปติดในเวทนาเหล่านี้ เวทนาจึงจัดเป็น ๑ ในขันธ์ ๕ เป็นเวทนาขันธ์

    ผู้ฟัง ถามว่าทำไมโสมนัสเกิดกับจิตได้ทั้ง ๔ ชาติ ทำไมถึงเกิดกับอกุศล

    อ.สุภีร์ โลภะติด หรือว่าชอบในสิ่งที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส หรือว่าสิ่งอื่นๆ เมื่อมีปีติเจตสิกเกิดร่วมด้วย ก็จะมีโสมนัสเกิดร่วมด้วย ก็เป็นธรรมดาในชีวิตประจำวัน เวลาเราชอบสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ชอบมากเป็นอย่างไร? เวทนา ยินดีปรีดา เป็นลักษณะของโสมนัสเวทนา โสมนัสเวทนาก็เกิดกับอกุศลก็ได้ และเกิดกับกุศลก็ได้ วิบากก็ได้ และกิริยาก็ได้ ฉะนั้นจะมีเวทนาอยู่ ๒ เวทนาที่เกิดกับจิตได้ทั้ง ๔ ชาติก็คือโสมนัสเวทนา และอุเบกขาเวทนา

    ผู้ฟัง กราบท่านวิทยากรทั้ง ๓ ท่าน เรียนถามอาจารย์สุภีร์ เวทนาทั้ง ๕ แต่ว่าสุขกับทุกข์นี้เพราะว่าเกิดกับชาติวิบากจึงไม่ทำหน้าที่ชวนะ

    อ.สุภีร์ เพราะเหตุว่าจิตชาติวิบากที่กระทำกิจชวนะ มีโลกุตตรวิบาก ๔ ประเภทเท่านั้น วิบากจิตนอกจากนั้นไม่ทำกิจชวนะเลย ทำกิจเห็นทัสสนกิจ ทำกิจได้ยินสวนกิจ เป็นต้น ซึ่งในกิจของจิตทั้ง ๑๔ กิจ ที่เราเคยได้สนทนาไปแล้ว สำหรับวิบากจิตที่เกิดขึ้นกระทำกิจใน ๑๔ กิจ เป็นส่วนของจิตชาติวิบากที่เกิดขึ้นทำกิจทั้งหมด ๑๑ กิจ วิบากจิตล้วนๆ ยกเว้นอาวัชชนกิจ โวฏฐัพพนกิจ และชวนกิจเท่านั้น นอกจากนั้นเป็นวิบากจิตล้วนๆ ที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่เหล่านั้นทั้ง ๑๑ กิจ

    อ.กฤษณา ในความเป็นไปของชีวิตในแต่ละวันก็ขาดเวทนาคือความรู้สึกไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นเมื่อจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ เวทนาเจตสิกเกิดร่วมกับจิตทุกประเภททุกดวง ก็เกิดขึ้นมีความรู้สึกในอารมณ์นั้นๆ ด้วย คุณประเชิญ ในแต่ละวัน ถ้าใครจะบอกว่ามีความสุขมากมีความสุขเหลือเกิน หรือว่าใครบอกว่าเป็นทุกข์ทั้งวัน จริงๆ แล้วบุคคลนั้นๆ เขาจะมีแต่สุขเวทนาอย่างเดียว หรือทุกขเวทนาอย่างเดียวได้ไหม

    อ.ประเชิญ ว่าโดยปรมัตถธรรมแล้ว ความรู้สึกของคนเราจะมีสลับกันตลอด คือขณะที่มีความทุกข์ทางกาย ก็เพียงชั่วขณะจิตหนึ่งเท่านั้นเอง แต่ว่าจะเกิดดับต่อเนื่องกัน แต่ขณะใดที่เห็น ขณะที่มีการรู้อารมณ์ทางตา ตรงนั้นไม่มีทุกข์ หรือว่าขณะที่ได้ยินรู้อารมณ์ทางหู ตรงนั้นไม่มีทุกข์ ขณะที่รับประทานอาหาร จิตรู้รสตรงนั้น ไม่มีทุกข์ตรงนั้น มีเฉพาะทางกายทวารเท่านั้นเอง หรือว่าขณะไหนที่คิดนึกถึงเรื่องราวต่างๆ ตรงนั้นไม่มีทุกขเวทนา เพราะฉะนั้นที่บอกว่าทุกข์มากมายเหลือเกิน หรือว่าสุขมากมาย จริงๆ แล้วไม่ว่าจะเป็นความสุข หรือความทุกข์ ไม่ได้ต่อเนื่องกันอย่างนั้น มีเวทนาอื่นๆ เกิดสลับมากมาย ไม่ใช่มีเพียงสุขหรือทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น เชิญคุณแสงจันทร์ ต่อจากคุณบุษบงรำไพ

    ผู้ฟัง พออารมณ์มากระทบกับร่างกายแล้ว อย่างนี้ก็เกิดสุขหรือทุกขกายวิญญาณเกิดขึ้นใช่ไหม ต่อไปถึงจะเป็นกุศล และอกุศลใช่ไหมว่า ชอบ แล้วไม่ชอบ อันนั้นถึงจะเก็บในชวนะ ถูกไหมอาจารย์

    อ.สุภีร์ สุขเวทนา ทุกขเวทนา เลือกไม่ได้เพราะว่าเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำไว้แล้ว ก็คือเป็นจิตที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่กระทบถูกต้องนั่นเอง ซึ่งเรียกตามภาษาบาลีว่า “ผุสสนกิจ”ก็เป็นกิจ หนึ่งในทางปัญจวิญญาณนั่นเอง ซึ่งถ้ามีการเกิดขึ้นกระทบสิ่งที่แข็งมากๆ ก็เป็นทุกขกายวิญญาณเกิดขึ้น ตอนนั้นก็เป็นทุกข์เพียงขณะเดียวเท่านั้นเอง ต่อมาสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ ก็ไม่ได้ทุกข์แล้ว มีทุกข์ขณะเดียว และต่อมาในชวนะก็ไม่มีทุกข์เวทนาเกิดร่วมด้วยเลย ในชวนะถ้าเป็นอกุศลก็จะมีเวทนาประการอื่นเกิดร่วมด้วย เพราะเหตุว่าในชวนะก็จะมีเวทนาเกิดร่วมด้วยได้ ๓ ประเภท ก็คือโสมนัสเวทนาก็ได้ อุเบกขาเวทนาก็ได้ หรือว่าโทมนัสเวทนาก็ได้ ฉะนั้นจะชอบไม่ชอบอะไรอย่างนั้นก็คือในชวนะนั้นเอง แต่ว่าที่เป็นสุขเวทนา หรือทุกขเวทนานั้นเลือกไม่ได้เพราะเหตุว่าเป็นชาติวิบาก

    ผู้ฟัง จะเป็นไปได้หรือ เวลาที่ทุกขเวทนาเกิดเป็นผลของกรรมใช่ไหม หลังจากนั้นแล้วตรงที่เป็นชวนะ จะเป็นโสมนัสก็คงยาก ในเมื่อมีทุกข์อยู่

    อ.สุภีร์ อย่างนี้ตามธรรมดาของปุถุชนทั่วไป ก็แล้วแต่ แต่ถ้าพระอรหันต์ เป็นกิริยาจิตด้วย ไม่เป็นแม้กุศล และอกุศลด้วย ฉะนั้นแม้บุคคลที่เขาประสบกับทุกขเวทนาทางกาย แต่สามารถที่จะเกิดกุศลได้ แล้วแต่อัธยาศัย แล้วแต่การสั่งสมของบุคคล ซึ่งขนาดพระอรหันต์เป็นกิริยาจิตยังได้ ฉะนั้นบุคคลที่อบรมเจริญปัญญามากขึ้น หรือว่าเข้าใจความจริงยิ่งขึ้นก็สามารถที่จะมีกุศลเกิดได้ในชวนะ ไม่มีการห้าม เพราะเหตุว่าทุกขเวทนาสุขเวทนาก็เป็นเพียงวิบากเท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง เรียนถามต่อเนื่องอีกว่าผัสสะ แล้วก็มาเวทนาเป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิกใช่ไหม ตอนนี้อยากเรียนถามว่าในมรรคจิต ก็ต้องมีเจตสิกพวกนี้อยู่ด้วย ใช่หรือไม่

    อ.สุภีร์ เพราะเหตุว่าเป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก เกิดกับจิตทุกประเภท มรรคจิตก็เป็นจิต ฉะนั้นเจตสิกเหล่านี้ก็เกิดกับมรรคจิต

    ผู้ฟัง เรียนถามต่อเนื่องว่าเวลามรรคจิตเกิดแล้วตอนนี้หน่วงพระนิพพานเป็นอารมณ์ ที่บอกว่าเป็นสังขตธรรมกับอสังขตธรรม หมายถึงว่าตัวเจตสิกตัวอื่นไม่มาร่วมด้วยหรือว่าอย่างไร ถ้าเกิดสังขตธรรมนี้หมายถึงว่ามีตัวเจตสิกต่างๆ มาร่วม หรือว่าอะไร คือยังไม่เข้าใจสังขตธรรม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 6
    18 ต.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ