สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 056


    สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ ๕๖

    วันจันทร์ที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๔๕


    ผู้ฟัง เวลามรรคจิตเกิดแล้ว ตอนนี้หน่วงพระนิพพานเป็นอารมณ์ ที่บอกว่าเป็นสังขตธรรม กับ อสังขตธรรม หมายถึงว่าเจตสิกอื่นไม่มาร่วมด้วยหรือว่าอย่างไร ถ้าเกิดสังขตธรรมนี่หมายถึงว่ามีเจตสิกต่างๆ มาร่วม หรือว่าอะไร คือยังไม่เข้าใจสังขตธรรม

    อ.สุภีร์ สังขตธรรมก็คือสภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง และเกิดขึ้นกระทำกิจหน้าที่การงาน เกิดขึ้นแล้วแล้วต้องดับไป สภาพธรรมใดก็ตามที่เกิดขึ้น หรือสิ่งใดก็ตามที่เกิดขึ้นสิ่งนั้นต้องดับ สิ่งที่จะไม่ดับเลยก็คือสิ่งที่ไม่เกิดก็คือพระนิพพานนั่นเอง ที่เป็นอสังขตธรรม ไม่มีปัจจัยปรุงแต่งจึงไม่เกิด จึงไม่ดับด้วย ส่วนจิตเจตสิกรูปเป็นสังขตธรรม มีปัจจัยปรุงแต่งแล้วเกิดขึ้น อย่างเช่น การเห็นในขณะนี้ มีปัจจัยหลายอย่างใช่ไหม มีสิ่งที่ปรากฏทางตา มีจักขุปสาทที่ยังไม่ดับ แล้วก็มีผัสสเจตสิกเกิดร่วมด้วย มีจักขุวิญญาณเกิด นี่เป็นสังขตธรรม เมื่อการเห็นเกิด การเห็นก็ต้องดับ จิตเจตสิกรูปทั้งหมดเป็นสังขตธรรม มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นแล้วกระทำกิจหน้าที่การงานเสร็จแล้วก็ดับไป

    ส่วนพระนิพพานไม่มีปัจจัยปรุงแต่งจึงไม่เกิด และไม่ดับ แต่พระนิพพานเป็นอารมณ์ของมรรคจิต และผลจิต การเป็นอารมณ์กับการเป็นสังขตะกับอสังขตะนี้ไม่เหมือนกัน เป็นอารมณ์ก็คือเป็นสิ่งที่จิตรู้ เรื่องราวต่างๆ ไม่มีสภาพธรรมเลย บัญญัติต่างๆ ไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่รูป ไม่ใช่พระนิพพาน ไม่มีอะไรเลย เป็นแค่เรื่องราวเท่านั้นเอง แต่ก็เป็นอารมณ์ของจิต และเจตสิกได้

    พระนิพพานก็เป็นอารมณ์ของจิตได้เช่นกัน แต่พระนิพพานเป็นอสังขตธรรม บัญญัติก็เป็นอารมณ์ของจิต และเจตสิกได้ แต่บัญญัตินั้นไม่ได้เป็นทั้งสังขตะ และอสังขตะเลย เพราะเหตุว่าไม่มีจริง บัญญัติเรื่องราวต่างๆ ที่เราคิด สิ่งที่มีจริงก็คือจิตที่คิดใช่ไหม แต่เรื่องที่คิด อยากนึกอะไรขึ้นมาก็ได้ ก็อย่างเรานั่งอยู่ตอนนี้ เราอาจจะนึกเรื่องสมัยเรายังเด็กๆ ใช่ไหม แต่จริงๆ สภาพธรรมคือจิต เจตสิก รูป ที่เกิดขณะนั้นดับไปหมดแล้วใช่ไหม ดับไปแล้วก็จะไม่มีอีกเลย แต่ว่าเราก็ยังจำแล้วก็นึกถึงเรื่องของสิ่งที่ไม่มีอยู่แล้ว

    ฉะนั้น เรื่องของสิ่งที่ไม่มีอยู่แล้ว ก็ไม่มีอยู่ แต่ว่าจิตที่คิดเรื่องมี ฉะนั้นแม้แต่บัญญัติหรือว่าเรื่องราวต่างๆ นี่ก็เป็นอารมณ์ของจิตเจตสิกได้

    ผู้ฟัง ติดใจตรงที่อาจารย์สุภีร์กล่าวว่าจิตที่คิดเรื่องมี แต่เรื่องราวเหมือนกับว่าไม่มีอย่างนั้นใช่ไหม

    อ.สุภีร์ สภาพธรรมที่ดับไปแล้ว จะไม่กลับมาอีกเลย ไม่มีทางย้อนกลับมาได้ ฉะนั้นชีวิตเราจึงมีอยู่ชั่วขณะจิตเดียวขณะนี้เท่านั้น ขณะต่อไปก็คือถ้าไม่มีเหตุปัจจัยสภาพธรรมนั้นก็จะไม่เกิดขึ้น แต่เรารู้ว่าต้องมีอีกใช่ไหม เพราะว่าอะไร เพราะว่ายังมีเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้น แต่ว่าสภาพธรรมอันไหนที่ดับไปแล้ว ไม่มีทางกลับมาได้เลย ฉะนั้นเราจึงคิดถึงสิ่งที่ไม่มีแล้วยึดว่ายังมี เมื่อสัก ๑๐ นาทีที่แล้ว บางท่านอาจจะเพิ่งออกจากบ้านมา บ้านก็คือสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็คิดนึก สิ่งที่ปรากฏทางตานั้นดับไปแล้วใช่ไหม ฉะนั้นไม่เหลืออยู่แล้ว ถ้าคิดถึงบ้านตอนนี้ก็คือ คิดถึงสิ่งที่ไม่มี

    ผู้ฟัง เรียนถามเกี่ยวกับความแตกต่างกันระหว่างความรอบรู้ของปุถุชนกับพระอริยบุคคล ซึ่งพระอริยบุคคลนี้ก็แบ่งเป็น ๒ ประเภทคือ เสกขบุคคล และอเสกขบุคคลว่ามีความรอบรู้แตกต่างกันอย่างไร เช่น ในรูปขันธ์ มีรูปารมณ์ สัทธารมณ์ เป็นต้น และเวทนามีสุขเวทนา และทุกขเวทนา เป็นต้นว่าความรอบรู้ระหว่างปุถุชนรอบรู้กับพระอริยบุคคลรอบรู้คือ พระเสกขบุคคลรอบรู้ พระอเสกขบุคคลรอบรู้แตกต่างกันอย่างไร

    อ.ประเชิญ ความรอบรู้ตรงนี้ก็ต้องหมายถึงปัญญาด้วย เพราะความรู้นั้นมีทั้งรู้ด้วยจิต รู้ด้วยสัญญา แล้วก็รู้ด้วยปัญญา ทั่วไปอารมณ์ทางตาที่เป็นรูปขันธ์ รูปารมณ์ปรากฏกับจักขุวิญญาณ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ สัตว์เดรัจฉาน เทวดา หรือพรหมก็ตาม จิตของผู้นั้นก็จะรู้รูปารมณ์ทั้งหมด แต่ว่าจิตของผู้นั้น ก็จะมีจิตของผู้ที่เป็นปุถุชน เป็นผู้ที่ยังหนาด้วยกิเลส ยังเพียบพร้อมด้วยกิเลสทุกประการ แล้วก็มีจิตของพระอริยบุคคลที่เป็นเสกขบุคคลผู้ที่ยังต้องศึกษาอยู่ แล้วก็มีจิตของผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลที่ไม่ต้องศึกษาแล้วเรียกว่าอเสกขบุคคล การรู้ที่เป็นจักขุวิญญาณ รู้เสมอกันทั้งหมดไม่ต่างกัน แต่ว่าจะต่างกันตรงที่ชวนะ อย่างที่เราได้ศึกษาในหน้าที่ของจิต ชวนะตรงนี้ก็จะรู้ต่างกันด้วย เพราะว่าปุถุชนก็จะรู้ไม่ตามเป็นจริง รู้รูปแต่ว่ายึดถือรูปว่าเป็นเรา สำคัญว่ารูปเป็นตนเป็นอัตตาเป็นของเรา ส่วนพระอริยบุคคลที่เป็นพระเสกขบุคคล ท่านก็รู้รูปเหมือนกับปุถุชนในลักษณะที่ว่าด้วยจักขุวิญญาณ แต่พอที่ชวนะ ท่านก็จะไม่มีความยึดถือที่ประกอบด้วยสักกายทิฏฐิ ความสำคัญผิดในรูปก็ดี หรือขันธ์เหล่าอื่น จะเป็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณที่มีในขณะนั้น พระเสกขบุคคลท่านจะไม่สำคัญตรงนั้นด้วยทิฏฐิ แต่ว่าท่านมีโลภะอยู่ มีมานะอยู่ แต่พระอเสกขบุคคลคือพระอรหันต์ ท่านจะไม่มีกิเลสใดหลงเหลืออยู่เลย ท่านก็จะรู้รูป แต่ว่าท่านจะไม่มีจิตที่ประกอบด้วยมานะ จิตที่ประกอบด้วยโลภะว่าเป็นเราเป็นตัวเรา นี้คือความต่างกันโดยคร่าวๆ

    อ.กฤษณา ได้สนทนาเรื่องเจตสิกที่ประกอบกับจิตทุกประเภททุกดวงคือสัพพจิตสาธารณเจตสิก ผ่านไปแล้ว ๒ ประเภท คือ ผัสสเจตสิกกับเวทนาเจตสิก สำหรับเจตสิกประเภทต่อไป ก็คือสัญญาเจตสิก ซึ่งก็เป็นเจตสิกที่จำหมายอารมณ์ เจตสิกชนิดนี้จะจำอารมณ์ทุกอย่างที่ปรากฏ ไม่ว่าจิตรู้อารมณ์อะไร สัญญาเจตสิกก็จำอารมณ์นั้นๆ จิตเกิดดับสืบต่อกัน เพราะฉะนั้นสัญญาเจตสิกก็จำอารมณ์สืบต่อกันแล้วก็กลายเป็นเรื่องเป็นราวเป็นสัตว์บุคคลอะไรต่างๆ นอกจากนั้นสัญญาเจตสิกก็ยังสามารถที่จะจำความรู้สึกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความสุข ความทุกข์ ความเสียใจ ความเฉยๆ ในอารมณ์ทุกอย่างด้วย และสัญญาเจตสิกนี้ก็เป็นปัจจัยที่สำคัญที่ส่งเสริมความรู้สึกผูกพันยึดมั่นในชีวิต เพราะว่าเราจะจำว่าในชีวิตตอนเป็นเด็กนั้น มีความสุขความทุกข์อย่างไร อะไรต่างๆ แล้วก็จะยึดมั่นความเป็นตัวตนความเป็นเราก็ด้วยสัญญาเจตสิกนี้ นี่เป็นลักษณะของสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ที่จะต้องเกิดกับจิตทุกประเภทคือความจำในอารมณ์นั่นเอง

    สำหรับเจตนาเจตสิกก็เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง ที่จะต้องเกิดกับจิตทุกประเภททุกดวงเหมือนกัน เจตสิกชนิดนี้เป็นเจตสิกที่จงใจตั้งใจขวนขวายกระทำกิจตามประเภทของเจตนา แล้วก็ยังทำให้สัมปยุตธรรมคือธรรมที่เกิดร่วมกันกับตนนั้น ให้เป็นไปตามอารมณ์ตามกิจหน้าที่ของตนของตนด้วย เจตนาเจตสิกนั้นจะมีความขวนขวาย มีความอุตสาหะพยายาม แล้วก็เป็นเจตสิกที่ประมวลกุศลกรรม อกุศลกรรมต่างๆ ด้วย ในขณะที่เจตนาเจตสิกประกอบร่วมกับจิตนั้น เจตนาเจตสิกมีความพยายามความขวนขวายในการกระทำกิจของตนนี้ยิ่งกว่าเจตสิกประเภทอื่นๆ ท่านเปรียบเหมือนกับบุรุษชาวนาที่ชักชวนบุรุษเพื่อนบ้านให้มาช่วยกันเกี่ยวข้าวในนา บุรุษชาวนาที่เป็นเจ้าของนานั้นจะมีความพยายามขวนขวายอุตสาหะมากกว่าเพื่อนบ้านที่ชักชวนมาเกี่ยวข้าวด้วย คือจะทำกิจของตนมากกว่าเป็น๒ เท่า คนอื่นๆ เขาไม่ได้เป็นเจ้าของนา เขาก็เพียงมาช่วยร่วมลงแรงก็ทำไปตามที่เจ้าของนาบอกว่าทำไปถึงเขตตรงนั้นตรงนั้น แต่ว่าบุรุษเจ้าของนานั้นจะทำมากกว่ามีอุตสาหะมีความพยายามมากกว่า นี่เป็นอุปมาในลักษณะของเจตนาเจตสิก และเจตนาเจตสิกนี่ก็เป็นเจตสิกที่สำคัญชนิดหนึ่ง คือเป็นเจตสิกที่เรียกว่าเป็นกรรม ซึ่งต่อไปเราจะได้สนทนากันในเรื่องของกรรม กิเลส วิบาก ช่วงนี้ก็กล่าวถึงโดยสังเขป เพราะว่าอยู่ในเรื่องของสัพพจิตตสาธารณเจตสิกที่ประกอบกับจิตทุกดวง สำหรับเจตสิกประเภทต่อไป ที่ประกอบกับจิตทุกขณะที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ก็คือเอกัคคตาเจตสิก

    อ.สุภีร์ เอกัคคตาเจตสิก เอกะแปลว่าหนึ่ง หนึ่งเดียว ก็คืออารมณ์เดียว เพราะเหตุว่าจิตนี้เกิดขึ้นรู้อารมณ์ได้ทีละอารมณ์ ฉะนั้นเอกัคคตาเจตสิกจึงเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่การงานก็คือ ตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดที่จิตรู้ จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ใด เอกัคคตาเจตสิกก็ตั้งมั่นในอารมณ์นั้น ตั้งมั่นในอารมณ์เดียวก็คืออารมณ์นั้น ลักษณะของเอกัคคตาเจตสิก จะเห็นได้ชัดก็คือตอนที่เราตั้งใจจะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือว่าชอบที่จะกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งนานๆ ใช่ไหม หรือว่ามีอัธยาศัยที่จะทำอย่างนั้น แล้วรู้สึกว่ามีสมาธิดีใช่ไหม เวลาทำการงาน ซึ่งเอกัคคตาเจตสิกนี้นั่นเองที่ท่านเรียกว่าสมาธิ แต่ว่าเอกัคคตาเจตสิกเป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก

    ฉะนั้นเจตสิกนี้เกิดกับกุศลก็ได้ เกิดกับอกุศลก็ได้ เกิดกับวิบากก็ได้ และเกิดกับกิริยาก็ได้ ถ้าเกิดกับอกุศลจิตก็เป็นมิจฉาสมาธิ มิจฉาแปลว่าไม่ถูกก็คือผิดนั่นเอง ถ้าเอกัคคตานั้นเกิดกับกุศลจิต เป็นจิตฝ่ายดีงามก็เป็นสัมมาสมาธิ เพราะเหตุว่าเอกัคคตาเจตสิกนี้เกิดกับจิตทุกประเภท ก็คือทำให้จิตตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด อารมณ์ที่จิตรู้นั่นเอง จิตรู้อารมณ์ใด เอกัคคตาเจตสิกก็ตั้งมั่นในอารมณ์นั้น ตามปกติในชีวิตประจำวันเรา อย่างเรานั่งขณะนี้เหมือนไม่ค่อยมีสมาธิเท่าไหร่ใช่ไหม อาจจะคิดวอกแวกไปทั่วไปเลย หรือว่าบางคนอาจจะห่วงบ้านบ้าง ห่วงลูกห่วงหลานบ้าง แต่จริงๆ แล้วก็มีสมาธิด้วย เพราะเหตุว่าสมาธินี้เกิดกับจิตทุกประเภท แต่ว่าสมาธินี้รู้อารมณ์หลายอารมณ์เกินไป คือเดี๋ยวย้ายจากอารมณ์นี้ไปอารมณ์นั้น เดี๋ยวย้ายจากอารมณ์นั้นไปอารมณ์นี้ ก็เลยเหมือนกับซัดส่ายไปมาใช่ไหม แต่ถ้านิ่งอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง หรือว่าจดจ่ออยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ก็จะปรากฏลักษณะของความตั้งมั่นในอารมณ์ให้เห็นได้ชัดเจน ฉะนั้นเอกัคคตาเจตสิกถ้าเกิดกับอกุศล ทำอะไรด้วยอกุศลก็เป็นมิจฉาสมาธินั่นเอง ถ้าประกอบด้วยกับกุศลก็เป็นสัมมาสมาธิ

    ผู้ฟัง การที่พูดว่าทำสมาธิอย่างนี้ จะเป็นลักษณะที่ทำได้อย่างไร

    อ.สุภีร์ อย่างนี้ก็เป็นคำพูดกันเท่านั้นเอง แต่จริงๆ แล้วสภาพธรรมทุกอย่างทำไม่ได้เลยสักอย่างเดียว สมาธิก็คือเอกัคคตาเจตสิกใช่ไหม ที่เราเคยเกิดมาแล้ว แล้วก็ต่อไปอีก ไม่ขาดสมาธิเลยสักขณะ ไม่ต้องทำเลยใช่ไหม เพราะว่ามีอยู่กับเราตลอด ตอนนอนหลับสนิทก็มี ไม่ต้องทำสมาธิ สมาธิก็มี คำว่าทำสมาธิก็เป็นแค่คำพูดเท่านั้นเอง จริงๆ แล้วสภาพธรรมทุกอย่างทำไม่ได้ สมาธิก็เกิดเพราะเหตุปัจจัย

    ผู้ฟัง ลักษณะของสัญญาเจตสิกเป็นการจำตลอดใช่ไหม แต่ทำไมเราลืม อย่างนี้เกี่ยวกันอย่างไร

    อ.ประเชิญ ที่ลืมเพราะคิดไม่ได้ใช่ไหม แต่จริงๆ แล้วสภาพของสัญญาเกิดขึ้นก็จำสิ่งที่เห็น สิ่งที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น ได้รู้รส ได้กระทบสัมผัส แล้วก็ที่ได้คิด จำตลอด ในภาษาไทยเรานี้ก็ต้องหมายถึงจะเป็นสัญญาใช่ไหม ที่เป็นหนังสือสัญญา แต่จริงๆ แล้วปรมัตถธรรมที่กระทำหน้าที่จำอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ตรงนี้ก็เป็นลักษณะของสัญญาเจตสิก ไม่มีคน ไม่มีเราเลย แต่ว่าเรื่องที่จำก็มีมากมาย เรื่องที่เพิ่งเห็นเมื่อสักครู่นี้ก็จำ เรื่องที่เคยเห็นเมื่อวานนี้ก็จำ และก็ที่เคยเห็นเมื่อเดือนก่อนปีก่อนก็จำเหมือนกัน แต่จะนึกได้ นึกไม่ได้ นั่นอีกเรื่องหนึ่งใช่ไหม ไม่ได้หมายความว่าสัญญาไม่ได้จำ สัญญาจำแต่นึกไม่ได้ วิตกเจตสิกไม่สามารถที่จะตรึกถึงอารมณ์นั้นเท่านั้นเอง

    อ.กฤษณา สภาพธรรมที่ขาดไม่ได้เลยอีกประเภทหนึ่ง เมื่อเวลาที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ สภาพธรรมนั้นก็คือชีวิตินทรียเจตสิก ซึ่งก็เป็นหนึ่งในสัพพจิตตสาธารณเจตสิก

    อ.ประเชิญ ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ก็คือยังมีจิต ยังมีเจตสิก และก็มีกัมมชรูป ตัวที่จะรักษานามธรรมที่เกิดร่วมกันตรงนั้นก็คือตัวชีวิตินทรีย์นี้ รักษาสัมปยุตธรรมให้อยู่ ท่านเปรียบเหมือนกับดอกบัว ก็จะมีน้ำหล่อเลี้ยง ถ้าไม่มีน้ำหล่อเลี้ยงก็จะทำให้ดอกบัวนั้นเหี่ยวแห้งตายไป เพราะฉะนั้นธรรมชาติหรือปรมัตถธรรมที่รักษาสัมปยุตธรรมที่เกิดร่วมกับตน นั่นก็คือชีวิตินทรีย์

    อ.กฤษณา สำหรับเจตสิกประการต่อไป ที่ขาดไม่ได้อีกเช่นกันในการเกิดขึ้นรู้อารมณ์ของจิตทุกๆ ประเภทก็คือมนสิการเจตสิก

    อ.สุภีร์ มนสิการเจตสิกก็เป็นเจตสิกที่กระทำหน้าที่สนใจ หรือว่าใส่ใจในอารมณ์ ก็เหมือนกับเวลาเราจะอ่านหนังสือก็ต้องมีความสนใจในเรื่องนั้นอะไรอย่างนี้ แต่ว่านี่เป็นเจตสิกที่เกิดขึ้นกับจิตทุกประเภท มนสิการเจตสิกทำกิจหน้าที่ใส่ใจ สนใจในอารมณ์นั้น เกิดกับจิตทุกประเภท คำว่ามนสิการเป็นภาษาไทยก็แปลว่ากระทำไว้ในใจ แต่จริงๆ แล้วก็คือเป็นเจตสิกประเภทหนึ่งที่เกิดกับจิตทุกๆ ประเภทเลย ทำกิจหน้าที่รู้อารมณ์เดียวกับที่จิตรู้ แต่ว่ารู้โดยการสนใจอารมณ์ ใส่ใจอารมณ์

    ผู้ฟัง เรียนถามว่าโยนิโสมนสิการกับอโยนิโสมนสิการ เหตุใดมีสองคำนี้ ในเมื่อจิตทุกๆ ดวงต้องมีมนสิการ แตกต่างกันอย่างไร ขอความกระจ่าง

    อ.สุภีร์ โยนิโสมนสิการ และอโยนิโสมนสิการ ถ้าแปลตามศัพท์ โยนิโสมนสิการก็แปลว่าการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย อโยนิโสมนสิการก็แปลว่าการทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย โยนิโสมนสิการ และอโยนิโสมนสิการ ไม่ใช่มนสิการเจตสิก ท่านแสดงไว้เพื่อแสดงเหตุใกล้ให้เกิดของกุศล และอกุศล กุศลมีโยนิโสมนสิการเป็นเหตุใกล้ให้เกิด อกุศลมีอโยนิโสมนสิการเป็นเหตุใกล้ให้เกิด ฉะนั้นเมื่อใดก็ตามที่กุศลจิตเกิด กุศลจิตเกิดเพราะอะไร เพราะโยนิโสมนสิการ การกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย เมื่อใดก็ตามที่อกุศลจิตเกิด อกุศลจิตเกิดเพราะอะไร เพราะอโยนิโสมนสิการ

    ฉะนั้นจึงกล่าวถึงสภาพธรรมหลายๆ อย่างที่เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดกุศลจิต หรืออกุศลจิตเกิดขึ้น จึงใช้ชื่อว่าโยนิโสมนสิการ และอโยนิโสมนสิการ ไม่ได้หมายถึงมนสิการเจตสิกโดยตรง แต่ว่ามนสิการเจตสิกนี้เกิดกับจิตทุกดวงอยู่แล้วใช่ไหม เมื่อกล่าวเช่นนี้ก็หมายรวมไปด้วย แต่ว่าไม่ได้หมายถึงมนสิการเจตสิกโดยตรง แต่หมายถึงสภาพธรรมที่เป็นเหตุปัจจัยให้กุศลจิตเกิดขึ้นเป็นโยนิโสมนสิการ เป็นเหตุปัจจัยให้อกุศลจิตเกิดขึ้นเป็นอโยนิโสมนสิการ

    อ.กฤษณา เพราะฉะนั้นมนสิการเจตสิกก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ที่มีความใส่ใจสนใจในอารมณ์ แต่ว่าจะเป็นโยนิโสมนสิการหรืออโยนิโสมนสิการนั้นก็แล้วแต่ว่าจะเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตใช่ไหม นี่ก็เป็นเจตสิกที่จะต้องเกิดกับจิตทุกประเภททุกดวงทุกขณะ สำหรับเจตสิก ๗ ดวงที่ชื่อว่าสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ซึ่งก็เป็นกลุ่มหนึ่งของอัญญสมานาเจตสิก ยังมีอีก ๖ ประเภทของอัญญสมานาเจตสิกที่ชื่อว่าปกิณกเจตสิก แต่ข้อนี้ขอยกไว้สนทนาคราวต่อไปๆ เพราะว่าจะเป็นเรื่องที่ยาวอีก ๖ เจตสิก

    ดังนั้นจะขอกล่าวถึงอกุศลเจตสิกซึ่งก็เป็นเจตสิกฝ่ายที่ไม่ดีงาม และก็มีอยู่ ๑๔ ประเภท และที่จะขอสนทนาในวันนี้เป็น ๓ ประเภท คือโลภเจตสิก โทสเจตสิก และโมหเจตสิก ซึ่งก็เป็นอกุศลเจตสิกที่สำคัญ เพราะว่าเป็นเหตุด้วยที่ได้สนทนากันไปเมื่อคราวที่แล้วว่า เป็นเหตุที่ไม่ดี เป็นรากที่ไม่ดี ที่ประกอบกับจิตใดแล้ว ก็ทำให้จิตนั้นเป็นจิตที่เศร้าหมองที่เรียกว่าอกุศลจิต สำหรับโลภเจตสิกนั้นก็เป็นธรรมชาติที่มีสภาพความอยากได้ความต้องการความเพลิดเพลินความยินดีความกำหนัดความพอใจความติดข้องในอารมณ์ ลักษณะของโลภเจตสิกคือ ติดข้องในอารมณ์ ท่านกล่าวว่าเหมือนกับลิงติดตัง ตังก็เป็นยางไม้ชนิดหนึ่ง ที่เขาผสมกับสารที่ทำให้เหนียวสำหรับดักสัตว์ มีดักนก ดักลิง เป็นต้น ซึ่งมีเรื่องที่แสดงไว้ในมักกฏสูตร เรื่องลิงติดตัง คือที่ภูเขาหิมพานต์ก็จะเป็นที่ๆ มีภูมิภาคที่น่ารื่นรมย์ก็มี ที่ไม่น่ารื่นรมย์คือเป็นที่ที่ขรุขระที่ไม่น่าเที่ยวไปก็มี แต่ก็มีบางส่วนที่เป็นที่ราบเรียบน่ารื่นรมย์แล้วก็น่าเที่ยวไปทั้งของคน และของลิง พวกนายพรานวางตังเอาไว้ที่ทางเดินของฝูงลิงเพื่อที่จะดักลิง ซึ่งก็มีลิงบางพวกที่เห็นตังนั้นแล้วก็ไม่ลอกแลก แต่ว่าก็รู้ก็หลีกห่างออกไป แต่ก็ยังมีลิงบางพวกที่โง่ลอกแลก ลิงที่โง่นั้นก็เข้าไปใกล้ตังแล้วก็เอามือจับตัง มือก็ติดตังข้างหนึ่งแล้ว มันก็เอามืออีกข้างหนึ่งไปจับโดยคิดว่าจะเอามืออีกข้างหนึ่งไปแกะออก มือข้างที่สองก็ติดตังอีก ลิงโง่นั้นก็เอาเท้าข้างหนึ่งจับเพื่อที่จะแกะมือทั้งสองนั้นออก เท้าก็ติดตังอีก ลิงตัวนั้นก็เอาเท้าอีกข้างหนึ่งเข้าไปแกะมือสองมือ และก็เท้าอีกข้างหนึ่งที่ติดไปแล้ว เป็นอันว่าติดหมดแล้วทั้งมือทั้งเท้า ๔ แล้ว


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 6
    21 ต.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ