สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 057


    สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ ๕๗

    วันจันทร์ที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๔๕


    อ.กฤษณา ลิงโง่นั้นก็เอาเท้าข้างหนึ่งจับเพื่อที่จะแกะมือทั้งสองนั้นออก เท้าก็ติดตังอีก ลิงตัวนั้นก็เอาเท้าอีกข้างหนึ่งเข้าไปแกะมือสองมือแล้วก็เท้าอีกข้างหนึ่งที่ติดไปแล้ว ก็ตกลงว่าติดหมดแล้วทั้งมือทั้งเท้า ๔ แล้ว ทีนี้ก็จะเอาอะไรแกะมือสองเท้า สองออก ก็ยังเหลือปาก ก็เอาปากเข้าไปเพื่อที่จะแกะทั้งมือทั้งเท้าออก ลิงโง่ตัวนั้นก็เลยติดตังทั้งมือทั้งเท้าทั้งปาก อันนี้ก็เป็นตัวอย่างที่ท่านอุปมาให้เห็นว่าโลภเจตสิกก็มีสภาพติดข้องในอารมณ์เหมือนกับลิงติดตังนั่นเอง ที่เรากำลังติดกันอยู่ในเวลานี้ในทุกวันนี้ก็เหมือนกับลิงติดตังนั่นเอง นี่ก็เป็นลักษณะของโลภเจตสิกโดยสังเขป

    สำหรับเจตสิกที่เป็นอกุศลเจตสิกประเภทต่อไปก็คือโทสเจตสิก

    อ.ประเชิญ โทสะก็คงจะคุ้นเคยกันดีใช่ไหม ในขณะที่ไม่ได้ดั่งใจ แล้วก็มีความขุ่นใจความไม่พอใจ ความขุ่นเคืองความน้อยใจทั้งหลายเป็นสภาพธรรมที่ประทุษร้ายอารมณ์ ความพยาบาทก็ดี ความโกรธ ความผูกโกรธ ความน้อยใจ ความไม่สบายใจทั้งหลาย นี่คือลักษณะของโทสะ ไม่มีเราเลย ไม่มีคนอื่นด้วย ขณะที่หน้าดำหน้าแดง มีกิริยาอาการที่ไม่งาม นั่นเป็นกิริยาอาการของโทสะที่ออกมาทางกายทางวาจา เพราะฉะนั้นตัวธรรมที่เป็นตัวกิเลสที่ไม่ดี พอออกมาแล้วก็ไม่ดี ซึ่งก็ประทุษร้ายอารมณ์ ก็มีตามกำลัง บางท่านก็เป็นแค่ขุ่นๆ ใจใช่ไหม บางท่านก็ถึงขั้นที่ว่าไม่พอใจแต่ก็ไม่ถึงกับพูดออกมา แต่พอถึงขั้นพูดออกมาก็แสดงว่าจะแรงกว่าคนที่ขุ่นๆ ใจ บางท่านก็ถึงกับลงไม้ลงมือ อันนี้เป็นอาการของโทสะในชีวิตประจำวันของเรา เป็นเจตสิก ไม่มีเรา

    อ.กฤษณา ลักษณะของโทสะมีลักษณะที่หยาบกระด้างแล้วก็ประทุษร้ายอารมณ์ เมื่อโทสะเกิดขึ้นประกอบกับจิตที่เป็นโทสมูลจิตก็จะเบียดเบียนประทุษร้าย ไม่ว่าจะเป็นทางกายหรือทางวาจาก็ตาม ซึ่งลักษณะของโทสะก็เป็นรากชนิดหนึ่งที่เป็นรากที่มีพิษ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่าโทสะเป็นรากที่มีพิษแต่มียอดหวาน คือเมื่อเวลาที่มีความโกรธเกิดขึ้นแล้วก็ประทุษร้ายโดยการที่อาจจะเปล่งวาจาผรุสวาจา หรือว่าเปล่งวาจาที่ไม่น่าฟัง หรือว่าจะประทุษร้ายทางกายก็ตาม ในขณะที่เขาได้กระทำทุจริตกรรมล่วงออกไปทางวาจาหรือทางกาย ในขณะนั้นคือรากที่เป็นพิษ คือโทสะนั้นเป็นเหตุให้กระทำการประทุษร้ายทางกาย หรือทางวาจา เมื่อได้ด่าใครสักคนหนึ่งแล้วได้สะใจสมใจตรงนั้นคือยอดหวาน สะใจที่ได้กล่าวถ้อยคำที่อยากจะด่า หรือว่าอยากจะลงไม้ลงมือกับใครที่เราโกรธสักคน ตรงนั้นเป็นยอดหวานของรากที่เป็นพิษโทสะ อันนี้เป็นลักษณะสภาพของโทสะ ถึงจะมียอดหวานอย่างไร ได้สาใจอย่างไรก็ตามแต่ ก็ยังมีรากที่เป็นพิษที่สามารถที่จะก่อให้เกิดโทสะในอนาคตได้อีก

    ผู้ฟัง เคยทราบมาว่าการที่โทสะจะเกิด ก็เหตุเพราะโลภะใช่ไหม จะมีบ้างไหมว่าโทสะ แล้วทำให้โลภะเกิดตาม

    อ.สุภีร์ จริงๆ แล้วสภาพธรรมก็เป็นเหตุปัจจัยด้วยกันนั่นเอง หลายๆ อย่าง ส่วนใหญ่แล้วท่านก็แสดงว่าโทสะที่เกิดขึ้นก็เพราะว่ามีโลภะนั่นเอง เมื่อไม่ได้ตามต้องการ หรือว่าตามที่เราพอใจก็จะเกิดโทสะ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่าเรามีความรักความชอบ หรือว่าความพอใจใน ๑๐๐ สิ่ง ก็จะทุกข์หรือว่าเกิดโทสะ ๑๐๐ สิ่งเหมือนกัน จนกระทั่งรักหรือว่าพอใจชอบใจในสิ่งเดียว ก็จะเกิดทุกข์เพียงอย่างเดียว แล้วจนกระทั่งไม่เหลือเลย

    ฉะนั้นก็เป็นธรรมดานั่นเอง ในชีวิตประจำวันถ้าท่านใดที่ยึดหรือว่าชอบสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาก ก็คงจะเป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้ในชีวิตประจำวันว่าเมื่อสิ่งนั้นหายไปหรือว่าสิ่งนั้นชำรุดไป ก็จะรู้สึกเป็นทุกข์เป็นร้อนหรือว่าเกิดโทสะขึ้นนั่นเอง และโทสะเองก็เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดโลภะหรือว่าความชอบ เช่น กรณีที่เราไม่ชอบใครสักคนหนึ่ง ยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ แต่จริงๆ แล้วก็มีมากมาย มีคนหนึ่งมาว่า หรือว่ามากระทำกับบุคคลที่เราไม่ชอบ เราก็ชอบบุคคลที่มากระทำนั้นใช่ไหม นี่เห็นได้ชัดเลยใช่ไหมว่าโทสะนี้เป็นปัจจัยให้เกิดความรักความชอบ เป็นปัจจัยให้เกิดโลภะ นี้ก็คือในชีวิตประจำวันเรา โดยเฉพาะท่านที่มีลูกมีหลานที่มีปัญหาอะไรบ่อย ก็จะเป็นอย่างนี้บ่อยใช่ไหม ถ้าใครมีปัญหากับลูกหลานตนเอง ถ้าคนนั้นเป็นอะไรไป หรือว่ามีคนอื่นมากระทำให้คนนั้นเสียใจ เราก็ดีใจหรือว่าชอบคนนั้นด้วยอย่างนี้

    ผู้ฟัง เรียนถามว่ามีธรรมชาติอะไรที่ควรเจริญ ที่จะทำให้โทสะน้อยลงหรือว่าหมดไป

    อ.ประเชิญ ที่เป็นปฏิปักษ์โดยตรงกับโทสะก็คือเมตตา อโทสเจตสิก การที่จะละได้เป็นสมุจเฉทจนไม่เกิดอีกเลยนั้นต้องเป็นปัญญา อบรมปัญญาจนถึงขั้นมรรคจิต อนาคามีมรรค แต่ที่เป็นข้าศึกโดยตรงกับโทสะก็ต้องเป็นเมตตา แต่ว่าเป็นเพียงการข่ม ข่มชั่วคราวเท่านั้น ถ้าจะให้ไม่เกิดอีกเลยต้องอบรมปัญญาจนถึงพระอนาคามี โทสะจะไม่เกิดอีกเลย

    อ.กฤษณา เมตตานี้โดยสภาพธรรมหรือเจตสิกแล้วก็คืออโทสเจตสิกนั่นเอง ซึ่งก็เป็นรากชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นรากที่ดีงาม เป็นเหตุที่ดีงาม ซึ่งเรียกว่าโสภณเหตุ ซึ่งก็จะอยู่ในเจตสิกในกลุ่มของโสภณเจตสิกที่จะได้กล่าวถึงต่อไป แต่ก็ยังมีเจตสิกที่อยู่ในกลุ่มของอกุศลเจตสิกอีกอย่างหนึ่งที่จะต้องกล่าวถึง ซึ่งเป็นเจตสิกที่สำคัญมากก็คือโมหเจตสิก

    อ.ประเชิญ โมหะ ในภาษาไทยก็ได้ทราบว่าเป็นเรื่องของของความหลง ลุ่มหลง หลงในลาภในยศก็ตาม แต่จริงๆ แล้วโมหะเป็นสภาพที่ไม่รู้อารมณ์ตามเป็นจริง ซึ่งจะมีศัพท์มากมายในทางศาสนา มีชื่อที่ใช้แทนโมหะที่เป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อารมณ์ตามเป็นจริง ชื่อที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ก็คืออวิชชา สภาพธรรมที่ไม่ใช่วิชาคือสภาพที่ไม่รู้ตามเป็นจริงนั่นคือโมหะ เกิดขึ้นมากมายในชีวิตประจำวันของเรา ถ้าไม่เป็นไปในเรื่องของกุศลเรื่องของทาน ศีล ภาวนา แล้ว โมหะก็จะเกิดขึ้น แม้ในโลภมูลจิตก็มีโมหะ โทสมูลจิตก็มีโมหะ เพราะฉะนั้นขณะใดที่ไม่รู้ตามเป็นจริง สภาพที่ไม่รู้ตามเป็นจริงเป็นโมหะ ตรงนี้ก็ไม่มีสัตว์มีบุคคลเลยใช่ไหม เป็นมูลอย่างหนึ่งที่เป็นรากเหง้าที่จะไม่รู้ตามเป็นจริง

    ผู้ฟัง จากประสบการณ์ของตนเอง ถ้ามีโทสะแล้วจะมาเจริญเมตตานี้คงยาก ที่ว่าจะให้ว่าเปลี่ยนมาเป็นเมตตา หรืออะไรเช่นนี้ รู้สึกค่อนข้างยากเพราะเรามีพยาปาทนิวรณ์เป็นพื้นของปุถุชนอยู่แล้ว

    อ.ประเชิญ จริงๆ แล้วก็อย่างที่ท่านผู้ถามได้กล่าวว่าไม่สามารถที่จะเจริญเมตตาได้ง่ายๆ ชีวิตของเราก็เป็นอย่างนั้น เพราะว่าขณะใดที่ถูกโทสะครอบงำแล้ว ก็จะไปเจริญเมตตาก็ไม่สามารถเจริญได้ หรือบางท่านก็ใช้คำว่าแผ่เมตตาใช่ไหม แต่ว่าเมื่อโทสะเกิดขึ้น หรือกิเลสอื่นๆ เกิดขึ้นก็ตาม ท่านก็ได้แสดงธรรมไว้หลายนัย ในการที่จะสงบระงับโทสะ ขณะที่เป็นกุศลเกิดขึ้น ในการที่จะกรุณาเกิด หรือเป็นพรหมวิหารอื่นๆ

    ในอาฆาตวินยสูตร ท่านยังแสดงไว้ว่า เมื่อความโกรธเกิดขึ้น พึงเจริญเมตตาในบุคคลนั้น พึงเจริญกรุณาในบุคคลนั้น พึงเจริญอุเบกขา ซึ่งก็แง่มุมต่างๆ ถ้าได้ศึกษาแล้วก็จะทราบได้ว่า แต่ละคนสามารถที่จะเจริญพรหมวิหารข้อใดข้อหนึ่งก็ได้ แล้วแต่แง่มุม หรือว่าจะคิดถึงในเรื่องของความเป็นธาตุใช่ไหม คิดว่าเขาก็เป็นเพียงดินน้ำไฟลม หรือเป็นธาตุอย่างหนึ่งที่ประกอบกันขึ้นมามีวิญญาณธาตุด้วย ไม่มีเขาจริงๆ คิดได้อย่างนี้โทสะก็น้อยลง หรือว่าคิดว่าบุคคลนี้ก็คงจะเคยเป็นญาติเรา อันนี้ก็ทำให้ความโกรธน้อยลงไปได้ เคยเป็นญาติ เคยเป็นผู้ที่มีอุปการะคุณต่อเรา เคยเป็นมารดาบิดา ถ้าเป็นมารดาบิดาท่านก็ต้องเลี้ยงดูเราใช่ไหม มีอุปการคุณ หรือว่าจะคิดในแง่มุมในเรื่องของการที่จะเห็นโทษของโทสะจริงๆ ว่า ถ้าเราโกรธแล้วก็ไม่มีประโยชน์ มีแต่จะร้อนใช่ไหม เดือดร้อนใจประทุษร้ายตัวเอง ไม่สบายใจเลย ก็แง่มุมต่างๆ ที่จะให้โทสะคลาย ก็มีได้หลายแง่มุม แต่ว่าข้าศึกโดยตรงจริงๆ ต้องหมายถึงเมตตา แต่ธรรมอื่นๆ ก็สามารถที่จะบรรเทาละคลายได้

    ผู้ฟัง เรื่องของการเจริญเมตตา ก็เป็นหมวดอยู่ในการทำความเพียรเพื่อให้จิตบริสุทธิ์ ก็คือสมถะ เจริญสมถะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรรมฐาน ๔๐ นี้ การเจริญเมตตาพรหมวิหารอยู่ในหมวดกรรมฐาน ๔๐ ซึ่งการที่จะเจริญจิตตวิสุทธิเพื่อให้จิตบริสุทธิ์ ก็เกี่ยวเนื่องกับศีลวิสุทธิด้วย คือจะต้องศีลก็จะต้องดีก่อน มีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องศีล และจิต การที่ไม่ระมัดระวังเรื่องศีลแล้ว คงจะเจริญเรื่องเมตตาคงเจริญไม่ได้ แต่ก่อนที่จะมาถึงจุดนี้ ก็คงจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องปูพื้นฐานความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับวิปัสสนาภูมิด้วย เรียนถามว่าจะเป็นไปตามขั้นตอนนี้หรือไม่ หรือว่าถ้าไม่เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องวิปัสสนาภูมิ เช่นขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ เป็นต้น หรือธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ ก็ไม่ทราบว่าจะเป็นไปได้ไหมที่จะเจริญศีลแล้วก็ทำให้เจริญเมตตา เจริญสมถะ ไม่ทราบว่าขั้นตอนจะเริ่มอย่างไรก่อน

    อ.สุภีร์ มี ๒ อย่างที่ต้องเข้าใจให้ชัดเจน ก็คือการเจริญสมถะกับการเจริญวิปัสสนา ถ้าเป็นในเรื่องของการอบรมเจริญสมถภาวนา ที่ได้ถามเมื่อสักครู่นี้ ก็คือการอบรมเจริญเมตตา เป็นต้น ซึ่งอยู่ในอารมณ์ ๔๐ ที่ได้กล่าว ที่บอกว่าต้องมีศีลที่บริสุทธิ์ก่อน นี่เป็นการอบรมเจริญสมถภาวนา บุคคลที่จะอบรมเจริญสมถภาวนาต้องเป็นผู้ที่เห็นโทษของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะเหตุไร เพราะเหตุว่าหลังจากเห็นแล้วได้ยินแล้ว ปกติก็จะเป็นอกุศลในชวนะนั่นเอง ฉะนั้นบุคคลที่มีปัญญาพอที่จะรู้ว่าในชวนะนี้ส่วนใหญ่หลังจากเห็นแล้วได้ยินแล้วก็เป็นอกุศล จึงน้อมไปที่จะเจริญสมถภาวนา ก็คือมีอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดเป็นเครื่องยึดมั่นของจิตเพื่อให้จิตเป็นกุศล แทนการเห็นการได้ยินการได้กลิ่นลิ้มรสกระทบสัมผัส นี้เป็นการอบรมเจริญสมถภาวนา

    สำหรับบุคคลผู้จะเจริญสมถภาวนา ก็ต้องมีปัญญาแล้วก็มีความรู้มีการศึกษาที่ดี แล้วก็มีการที่จะรักษาศีลให้บริสุทธิ์ก่อน สมถภาวนาจึงจะเจริญยิ่งๆ ขึ้นไปได้ ถ้าศีลไม่บริสุทธิ์แล้ว การอบรมเจริญสมถภาวนาให้ถึงขั้นความสงบของจิตก็เป็นไปไม่ได้ ถ้าเป็นเรื่องของการอบรมเจริญสมถภาวนา ทำศีลให้บริสุทธิ์ก่อนก็คือรักษาศีลนั่นเอง แล้วก็เห็นโทษของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ น้อมไปที่จะยึดอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งเพื่อให้จิตเป็นกุศล นี้เป็นการอบรมเจริญสมถภาวนา ซึ่งสมถภาวนาได้สูงสุดถึงอรูปฌาน ชั้นสูงสุดก็คือเนวสัญญานาสัญญายตน แต่ที่กล่าวถึงคือเจริญพรหมวิหาร ถ้าเป็นเมตตาก็ได้ถึงตติยฌานเท่านั้น ถ้าเจริญอุเบกขาพรหมวิหารก็จะได้ถึงจตุตถฌาน การอบรมเจริญในเรื่องของฌาณก็ต้องศึกษาในรายละเอียดอีกขั้นหนึ่ง ครั้งนี้กล่าวเพียงคร่าวๆ นี่เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น

    ส่วนอีกส่วนหนึ่งที่กล่าวถึงมีเรื่องของวิปัสสนาภูมิ มีขันธ์ อายตนะ ธาตุ อินทรีย์สัจจะ ปฏิจจสมุปบาทอย่างนี้ สิ่งเหล่านี้สำหรับบุคคลผู้ที่จะอบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวันเพื่อให้เข้าใจความจริง ต้องค่อยๆ อบรมเจริญก็คือฟังนั่นเอง เพื่อให้เข้าใจว่าจริงๆ แล้ว ขันธ์ ๕ ก็คือมีอยู่ในขณะนี้ เห็นครั้งหนึ่ง ก็ขันธ์ ๕ ครบแล้วใช่ไหม นี้คือจากการศึกษา

    ฉะนั้นปัญญา คือการเข้าใจความจริงจะมีหลายระดับขั้น มีตั้งแต่ขั้นที่เป็นสุตมยปัญญา ก็คือปัญญาขั้นที่เกิดจากการฟัง ขณะนี้ฟังว่าเห็นครั้งหนึ่งเป็นขันธ์ ๕ ไม่ใช่เราเลยที่เห็น ขันธ์ ๕ นี้เกิดเพราะเหตุปัจจัยใช่ไหม เพราะเหตุว่าขันธ์ ๕ เป็นจิต เจตสิกรูป เป็นสังขารธรรม เป็นสังขตธรรม ไม่ใช่เราเลย นี่ปัญญาจากขั้นการฟัง เมื่อฟังก็มีเหตุปัจจัยให้เกิดคิดพิจารณาเป็นปัญญาอีกระดับหนึ่ง เรียกว่าจินตามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการคิดพิจารณาธรรม

    สำหรับปกติในชีวิตประจำวันก็คือ สำหรับท่านใดที่มีความเข้าใจธรรมแล้วจะไม่พิจารณาธรรม หรือว่าไม่คิดถึงหัวข้อธรรมก็คงเป็นไปไม่ได้ใช่ไหม ก็คือ เป็นจินตามยปัญญานั่นเอง ที่หลังจากที่ได้ฟังมาแล้วมีความเข้าใจแล้วเมื่อมีเหตุปัจจัยมีเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้น ก็พอที่จะคิดธรรมหรือว่าคิดหัวข้อธรรมต่างๆ คิดเรื่องความจริงของธรรม คิดเรื่องขันธ์เรื่องธาตุเรื่องอายตนะได้ ค่อยๆ มั่นคงยิ่งขึ้น จนมีปัญญาอีกระดับหนึ่งที่ไม่ใช่ระดับที่เคยมีในชีวิตประจำวันก็คือ ปัญญาที่เกิดจากการอบรมเรียกว่าภาวนามยปัญญา ซึ่งภาวนามยปัญญานี่เอง จะเป็นการอบรมเจริญยิ่งๆ ขึ้นไปเพื่อรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง และก็ดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉทจริงๆ แต่ถ้าเป็นสมถภาวนาเป็นการดับกิเลสที่เป็นการข่มไว้เท่านั้น เพราะเหตุว่าในชีวิตประจำวันอย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัสเรียบร้อยแล้ว ส่วนใหญ่เป็นอกุศล บุคคลนั้นเห็นโทษก็อบรมเจริญสมถะเพื่อข่มอกุศลไว้ แต่ว่าได้สูงสุดถึงอรูปฌานขั้นที่ ๔ เรียกว่า เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน

    ซึ่งบางท่านอาจจะเคยได้ยิน ถ้าฌานไม่เสื่อม ก็ไปเกิดในภพภูมิของตนของตนที่ได้ฌานมา แต่ว่าเมื่อหมดอายุ ก็ต้องกลับลงมาแบบนี้อีก มาขับรถ มาทำงาน ทำอะไรเหมือนเดิม ก็คือไปเกิดเท่าที่กำลังของกุศลขั้นฌานของตนเองจะมี พอหมดอายุหมดบุญแล้ว ก็กลับลงมาเหมือนเดิม มาทำงานมาหาเงินเลี้ยงครอบครัวเหมือนเดิม

    แต่การที่จะละคลายกิเลสได้หมดจริงๆ ก็คือเป็นการอบรมเจริญวิปัสสนาเท่านั้น สมถะในชีวิตประจำวันก็มี แต่ว่าไม่ได้เป็นไปเพื่อให้ได้ถึงขั้นเป็นอัปปนาสมาธิที่จะเป็นฌานระดับขั้นต่างๆ แต่เราก็สามารถอบรมเจริญได้ใช่ไหม อย่างเรื่องโทสะ แล้วมีการ การเจริญเมตตาในชีวิตประจำวันก็สามารถเจริญได้โดยการคิดพิจารณาหัวข้อธรรมต่างๆ พิจารณาเรื่องกรรม และผลของกรรม พิจารณาการเคยเป็นญาติกัน เคยเป็นคนเคยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน หรือว่าเคยอยู่ในสถานที่ที่เดียวกัน ซึ่งการเคยอยู่ในสถานที่ที่เดียวกัน อย่างในสมัยที่ไปเกิดเป็นปลาในทะเล คงจะเคยอยู่ร่วมกันมากมายตอนนั้น อาจจะพิจารณาถึงว่าถ้าโกรธใครขึ้นมาไม่พอใจใครขึ้นมาก็เราเคยอยู่ในสถานที่ที่เดียวกัน เช่น ในทะเล เป็นต้น ตอนเกิดเป็นปลาอย่างนี้

    ผู้ฟัง สมถะเป็นการข่มกิเลส กับวิปัสสนาเป็นการตัดกิเลสเป็นสมุจเฉท ขอคำอธิบายความแตกต่างของทั้งสองคำนี้

    อ.สุภีร์ การระงับกิเลสของสมถภาวนา เรียกว่าวิกขัมพนปหาน วิกขัมพนแปลว่าการข่มไว้ เรียกว่าการข่มไว้ เพราะเหตุว่าในชีวิตประจำวันในชวนะเรามีอกุศลเกิดมากใช่ไหม ก็น้อมไปที่จะมีอารมณ์ของสมถะ ๔๐ ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง เป็นอารมณ์แล้วก็เป็นกุศล จนจิตสงบแนบแน่นเป็นฌานขั้นต่างๆ อกุศลไม่เกิดเลยตอนนั้น เรียกว่าวิกขัมพนปหาน ที่อกุศลไม่เกิดไม่ใช่เพราะอะไร เพราะว่าโดนข่มไว้ด้วยกำลังของฌาน ก็แล้วแต่ว่าใครจะข่มได้นานแค่ไหน บางท่านก็ได้ฌาน แต่ว่าเดี๋ยวพอมีศัตรูของฌานมา ก็อาจจะเสื่อมไปเลยก็ได้ ก็แล้วแต่ว่าจะข่มได้นานเท่าไหร่

    ฉะนั้นการที่บุคคลนั้นจะกระทำฌาน และข่มอกุศลได้นานๆ ต้องไปอยู่ไกลๆ ข้าศึก แต่ว่าต้องเป็นคนที่มีปัญญาพอที่จะรู้กุศลอกุศลในชีวิตประจำวันแล้ว และเห็นโทษของการเห็นได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส เพราะเหตุว่าสิ่งเหล่านี้เมื่อได้รับมาแล้วส่วนใหญ่ก็จะเป็นอกุศล ซึ่งเหมือนเราตอนนี้ ก็คือเห็นแล้ว ได้ยินแล้ว ส่วนใหญ่ก็เป็นอกุศลใช่ไหม จนกว่าจะเห็นโทษของสิ่งเหล่านี้ บุคคลนั้นจึงจะเจริญอบรมสมถะได้ คือหลังจากเห็นโทษแล้ว เป็นคนมีปัญญาด้วย แล้วก็รู้อัธยาศัยของตนเอง แล้วก็มีอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ต้องศึกษาละเอียดยิ่งขึ้นไปอีก

    ส่วนการดับกิเลสที่เป็นวิปัสสนาภาวนา เรียกการดับกิเลสชนิดนั้นว่าสมุจเฉทปหาน สมุจเฉทแปลว่าตัดขาด ก็คือการปหานกิเลสด้วยการตัดขาดเลย กิเลสชนิดนั้น ถ้าโดนตัดขาดเรียบร้อยแล้วจะไม่มาเกิดอีกเลย จะไม่มีกิเลสชนิดนั้นๆ หรือว่ากิเลสที่มีกิเลสชนิดนั้นๆ เป็นพืชเชื้ออยู่ จะไม่มาเกิดอีกเลย เช่น บุคคลที่เป็นพระโสดาบัน ตัดกิเลสด้วยโสตาปัตติมรรคจิต ทิฏฐานุสัย วิจิกิจฉานุสัยโดนตัดไป ฉะนั้นความเห็นผิดของพระโสดาบันว่าเป็นสัตว์บุคคลตัวตนจะไม่มีเลย ความสงสัยในเรื่องของสภาพธรรมก็จะไม่มีหลงเหลืออยู่เลย

    ฉะนั้นการตัดภพชาติจริงๆ มีหนทางเดียวเท่านั้น ก็คือการอบรมเจริญวิปัสสนา ถ้าบุคคลใดที่เป็นพระโสดาบันแล้ว อย่างมากที่สุดก็จะเหลืออีก ๗ ชาติเท่านั้น แต่บุคคลใดก็ตามที่อบรมเจริญสมถะได้สูงถึงขั้นไหนก็ตาม ยังไม่กำหนดชาติ ชาติยังนับได้อีกเป็นอเนก แต่ถ้าเป็นพระโสดาบัน ด้วยกำลังของการอบรมเจริญวิปัสสนาเหลืออีกเพียง ๗ ชาติ

    ผู้ฟัง ในปุถุชนขณะที่เรากำลังดำรงชีวิตประจำวัน โอกาสที่จะตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทคงยาก ข่มไว้ก็ดี ข่มไว้ก็อยู่

    อ.สุภีร์ การตัดกิเลสเป็นสิ่งที่ยากมาก ขั้นการฟัง ตอนนี้เห็นเป็นขันธ์ ๕ ที่เห็น แต่ความเป็นจริงที่เรารู้ หรือว่าความสามารถของเราในตอนนี้ก็คือเป็นเรานั่นเองที่เห็นใช่ไหม เป็นเราที่ยินดีเป็นเราที่ชอบใจ แต่จริงๆ แล้วความยินดีความชอบใจก็ดี ก็เป็นโลภเจตสิกนั่นเอง เป็นเจตสิกไม่ใช่เรา


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 6
    22 ต.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ