สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 058


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ ๕๘

    วันจันทร์ที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๔๕


    อ.สุภีร์ การตัดกิเลสเป็นสิ่งที่ยากมาก ขั้นการฟังตอนนี้ เห็นเป็นขันธ์ ๕ ที่เห็น แต่ความเป็นจริงที่เรารู้ หรือว่าความสามารถของเราในตอนนี้ก็คือเป็นเรานั่นเองที่เห็น ใช่ไหม เป็นเราที่ยินดี เป็นเราที่ชอบใจ แต่จริงๆ แล้ว ความยินดี ความชอบใจก็เป็นโลภเจตสิกนั่นเอง เป็นเจตสิกไม่ใช่เรา แต่เวลายินดีชอบใจขึ้นมา เป็นใครยินดี เป็นเราที่ยินดี ฉะนั้นความไม่รู้สะสมมานานมาก ดังนั้นการที่จะค่อยๆ รู้ขึ้นจากขั้นการฟังการพิจารณาจนกว่าจะค่อยๆ มั่นคงขึ้น จนกว่าจะมีปัญญาระดับขั้นที่เป็นภาวนามยปัญญาก็เป็นเรื่องที่ยาก แต่ว่าเรื่องที่ยาก ถ้ามีการเริ่มต้นก็จะค่อยๆ ง่ายขึ้นใช่ไหม แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ยากแล้วหนีไปเลยก็จะยากหนักขึ้น ตรวจต่อ

    ผู้ฟัง ขอเรียนถามอาจารย์เกี่ยวกับเรื่องการเจริญสมถภาวนา ถ้าไม่ประกอบด้วยสภาพธรรมที่เป็นโมหะ หรือกล่าวว่าประกอบด้วยปัญญาแล้ว จะทำให้สามารถเจริญให้มากขึ้นได้หรือไม่

    อ.สุภีร์ ไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าการเจริญภาวนาทั้งสองอย่างนี้ ที่เรียกว่าภาวนาเพราะเหตุว่าอะไรที่เจริญขึ้น ก็คือปัญญาที่เห็นโทษของกิเลสระดับขั้นต่างๆ นั่นเองที่เจริญขึ้นเรียกว่าภาวนา เมื่อปัญญาเจริญขึ้น สภาพธรรมที่เกิดร่วมด้วยกับปัญญาก็เจริญขึ้นด้วย ก็คือสติก็เจริญขึ้น วิริยะก็เจริญขึ้น เรียกว่าการอบรมเจริญภาวนา แต่ถ้าเป็นการกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วยความเป็นอกุศล แล้วสั่งสมอกุศลชนิดนั้นมากๆ อย่างนี้ไม่เรียกว่าภาวนา แต่เรียกว่าหมักหมม หมักหมมสารพิษ สมมติว่าไปทำอะไรด้วยความไม่รู้ใช่ไหม ความไม่รู้ก็จะมากขึ้นๆ ๆ แล้วยังมีโลภะที่ชอบใจในความไม่รู้นั้นอีก ฉะนั้นถ้าทำอะไรด้วยความไม่รู้ ความไม่รู้ก็จะหมักหมมมากขึ้นๆ ๆ ไปเรื่อยๆ จะไม่เรียกว่าภาวนาเลย

    ผู้ฟัง สำหรับบางคนที่ไปทำสมาธิ โดยนึกว่าการทำสมาธินี้ได้กุศลสูง แต่ไม่รู้เลยว่าทำไปเพื่ออะไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้นั้นน่าจะรู้จริงๆ ว่ากำลังทำอะไร

    อ.สุภีร์ ตามที่กล่าวไปแล้วว่าการอบรมเจริญต้องประกอบด้วยปัญญาเท่านั้น ก็คือการเข้าใจความจริงเท่านั้น แต่ว่าปัญญาระดับที่เป็นสมถภาวนากับระดับวิปัสสนาภาวนาก็ต่างกัน มีนัยที่ต่างกันคือระดับของปัญญาที่คมกล้านั้นต่างกัน ประการหนึ่งเป็นไปเพื่อความสงบของจิตมากขึ้นเพื่อข่มอกุศล ส่วนอีกประการหนึ่งก็คือที่เป็นวิปัสสนาภาวนาเป็นการอบรมเจริญปัญญา เพื่อรู้ความจริงของสภาพธรรมมากขึ้น แล้วละคลายกิเลสตัดขาดเป็นสมุจเฉท แต่ถ้าทำอะไรด้วยความไม่รู้ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามด้วยความไม่รู้ ก็จะเป็นการสะสมความไม่รู้ให้เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ

    โลภะไม่ติดสภาพธรรมอยู่ ๙ อย่างเท่านั้น คือมรรคจิต ๔ ผลจิต ๔ และพระนิพพาน ๑ แม้เราจะทำอะไรไปด้วยความไม่รู้ แล้วก็เกิดความรู้สึกว่าสบายใจอะไรก็ตาม โลภะก็ติดได้ เพราะว่าโลภะไม่ติดแค่มรรคจิต ๔ ผลจิต ๔ และพระนิพพาน ๑ เท่านั้น ฉะนั้น การที่เราทำอะไรไปแล้วรู้สึกว่าสบายใจชอบใจ ไม่ใช่เครื่องวัดว่ากระทำถูกต้องหรือไม่ แต่เครื่องวัดคือมีความเข้าใจที่ถูกต้องคือปัญญาหรือเปล่าที่จะเป็นการอบรมเจริญสมถะ หรือวิปัสสนาก็ตาม

    ผู้ฟัง อยากขอคำอธิบายถึงความแตกต่างระหว่างสมถะกับกุศลผลบุญที่ได้จากการสวดมนต์ ให้ประโยชน์ต่างกันหรือไม่

    อ.ประเชิญ กุศลธรรมมีหลายขั้นใช่ไหม มีขั้นทานขั้นศีลขั้นภาวนา ซึ่งสามารถที่จะจำแนกกระทำได้ตามความรู้ความเข้าใจตามโอกาสของแต่ละท่าน ซึ่งแต่ละท่านก็คงไม่เหมือนกัน แต่ว่าการกระทำของแต่ละท่านจะถูกต้องตามที่ทรงแสดงไว้หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง การให้ทานเป็นการเสียสละความตระหนี่ ความโลภทั้งหลาย ก็เป็นการเจริญกุศลอย่างหนึ่ง ซึ่งก็เป็นขั้นทานเป็นการเสียสละสิ่งของภายนอก บางท่านก็บูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียน ด้วยของหอม ด้วยผ้า ด้วยข้าวของเครื่องใช้ทั้งหลาย อันนี้ก็เป็นการให้ทานโดยการบูชาเช่นเดียวกัน

    บางท่านเห็นว่าพระผู้มีพระภาค ก็เป็นผู้ที่มีพระคุณที่ยิ่งใหญ่มาก ทั้งการศึกษาประพฤติปฏิบัติตามด้วยการเรียนพระธรรมคำสอนทั้งหมด แล้วก็ประพฤติตามด้วยการรักษาศีลเจริญภาวนา แล้วก็มีการสวดสรรเสริญพระคุณของพระผู้มีพระภาค ที่เรียกกันว่าสวดมนต์ใช่ไหม ซึ่งจริงๆ แล้วในสมัยก่อนการสวดคาถาต่างๆ เพื่อที่จะเป็นการทบทวน และเป็นการสาธยายธรรมที่เคยเรียนมาจะได้ไม่ลืม เป็นการทบทวนคำที่เคยท่องไว้ อีกประการเป็นการสวดสรรเสริญคุณของพระรัตนตรัย ก็เป็นกุศลธรรมขั้นหนึ่ง ท่านสงเคราะห์เป็นขั้นเพียงศีลเท่านั้น ในการที่จะสวดมนต์เพื่อจะบูชาพระรัตนตรัย แต่ว่ากุศลขั้นภาวนาก็เป็นกุศลขั้นที่สูงกว่าขั้นทานขั้นศีล ขั้นศีลก็จะสูงกว่าขั้นทานคือขั้นทานเป็นการสละวัตถุภายนอก แต่ขั้นศีลเป็นการสละความเห็นแก่ตัวในการที่จะให้ความไม่เบียดเบียนคนอื่น ทานให้ของที่เป็นภายนอกกาย แต่ว่าขั้นศีลในการให้ความไม่เบียดเบียน เช่น ในการที่จะไม่ฆ่าสัตว์ เป็นการให้ชีวิตเหมือนกับเป็นมหาทาน เป็นทานที่ใหญ่กว่า ขั้นทาน ขั้นศีล ก็เป็นกุศลระดับหนึ่งที่ไม่ถึงกับภาวนา

    ภาวนานั้นก็มี ๒ อย่างคือสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา สมถภาวนาอย่างที่ได้สนทนาไปแล้วข้างต้นใช่ไหมว่า เป็นการอบรมจิตในขั้นที่เป็นสมถภาวนาที่สูงกว่าขั้นทานขั้นศีลด้วยการมีอารมณ์ ๑ ใน ๔๐ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นการเจริญสมถภาวนา ไม่ได้หมายถึงการเจริญสมาธิ โดยทั่วไปก็เข้าใจว่าการเจริญสมาธิเป็นการอบรมสมถภาวนาแต่ไม่ใช่ ส่วนการเจริญวิปัสสนาตามที่อาจารย์สุภีร์ได้กล่าวแล้ว เป็นการรู้สภาพธรรมตามเป็นจริงซึ่งก็จะสูงที่สุด ที่กล่าวว่าสูงคือสามารถที่จะดับกิเลสประหารกิเลสได้เป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้นกุศลขั้นที่สูงที่สุดก็คือวิปัสสนาภาวนา รองลงมาก็คือขั้นสมถภาวนาที่ทำความสงบของจิต และไปเกิดเป็นพรหม สูงสุดก็เพียงเป็นพรหมบุคคลเท่านั้นเอง ส่วนขั้นศีลก็ไม่ถึงขั้นภาวนาแต่ก็สูงกว่าขั้นทาน ส่วนขั้นทานก็เป็นขั้นที่ต่ำกว่าขั้นศีล เป็นกุศลที่สามารถที่จะสละสิ่งของที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นที่เป็นของภายนอก ฉะนั้นกุศลก็จึงต่างกันเป็นลำดับขั้นอย่างนี้

    ผู้ฟัง จากคำที่พูดกันว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้เอง เลยทำให้เพื่อนของตัวผู้ฟังคิดว่าเขาจะต้องรู้เอง คือจะไม่สนใจเรื่องการเรียนต่างๆ แล้วกลางคืนก็นั่งไปทุกคืน เพื่อจะรู้เอง ตรงนี้จะเป็นไปได้หรือเปล่า

    อ.สุภีร์ เป็นไปไม่ได้ แล้วเอาคำมาไม่ถูกด้วย ตรัสรู้เองแล้วเราจะไปทำเองให้รู้เอง เพราะว่าเราไม่ใช่พระพุทธเจ้า เราเป็นผู้ฟังเท่านั้น เป็นสาวก มีบุคคลที่จะตรัสรู้ชาตินั้นแล้วไม่ต้องฟังจากใคร มี ๒ บุคคลเท่านั้นในชาติที่ตรัสรู้ ก็คือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง และพระปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง บุคคลนอกจากนั้นแล้ว ถ้าจะตรัสรู้ในชาตินั้นต้องฟังจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น เพราะว่าพระปัจเจกพุทธเจ้าไม่ได้ตั้งศาสนา ฉะนั้นที่กล่าวว่าตรัสรู้โดยชอบได้โดยพระองค์เองแล้วเราก็จะไปทำเอง อย่างนี้ไม่ถูกเลย จริงๆ แล้วพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้เองในชาตินี้ ซึ่งเป็นชาติสุดท้ายของพระองค์แล้ว บารมีที่สั่งสมอบรมมาบริบูรณ์ ในชาติก่อนๆ พระองค์ฟังมามากพอที่จะบรรลุแล้ว แล้วมากพอที่จะบรรลุได้ด้วยตนเองด้วย อย่างเราค่อยๆ ฟังใช่ ฟังไปวันละเล็กวันละน้อย ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ก็เป็นการอบรมสั่งสมเหมือนกับพระอริยสาวกทั้งหลายก่อนๆ ที่ได้ทำมาแล้วนั่นเอง

    พระอริยสาวกทั้งหลายที่ได้บรรลุที่ปรากฏในพระไตรปิฏก ก็คือหลังจากที่ได้ฟังธรรมเทศนาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็ได้บรรลุ ท่านเหล่านั้นก็ได้สั่งสมอบรมบารมีมามากมาย คือฟังพระธรรมแล้วก็อบรมเจริญกุศลประการต่างๆ มาจนพร้อมแล้วที่จะบรรลุ ก็มาเกิดในกาลสมัยแล้วก็ได้บรรลุธรรม ส่วนเราค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป การที่เราจะเหลืออีก ๗ ชาติ มีหนทางเดียว ซึ่งก็คือการอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้ความจริงของสภาพธรรมนั่นเอง การเจริญสมถะไม่ช่วยให้ภพชาติสั้นลงเลย ที่เรามานั่งอยู่ขณะนี้ สิ่งที่เราไม่เคยได้มาเลยก็คือความเป็นพระอริยเจ้า เพราะเหตุว่าถ้าเราได้ถึงความเป็นพระอริยเจ้าเราก็จะเหลืออีก ๗ ชาติ ที่เราไม่เหลืออีก ๗ ชาติเพราะอะไร เพราะว่าเราไม่เคยเป็น แต่ว่าสมถะต่างๆ เราเคยทำมาแล้วทั้งนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสมถะเมื่อให้ผลก็ไปอยู่ที่พรหมโลก เมื่อหมดบุญก็ลงมาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก ทุกท่านก็คงไม่รู้ใช่ไหมว่าท่านอาจจะเคยอยู่ในชาติก่อนแล้วชาตินี้ลงมาที่นี่

    ฉะนั้น การกระทำประการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการอบรมเจริญสมถะก็ตาม อะไรก็ตาม ไม่ได้ช่วยให้เข้าใจความจริง และไม่ได้ช่วยให้ภพชาติสั้นเข้า วิธีเดียวเท่านั้นเองคือการอบรมเจริญวิปัสสนา คือการรู้ความจริงของสภาพธรรมที่เป็นจิตเจตสิกรูป ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แต่ในชีวิตประจำวันการอบรมเจริญวิปัสสนาก็ต้องอาศัยกุศลอื่นๆ เกื้อกูล มีกุศลขั้นทานกุศลขั้นศีล และก็กุศลขั้นสมถภาวนาในชีวิตประจำวัน เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีกุศลขั้นอื่นเกื้อกูลเลย การอบรมเจริญวิปัสสนาหรือว่าการเข้าใจความจริงก็คงจะเป็นไปไม่ได้ อย่างโกรธก็ยังโกรธมากอยู่เหมือนเดิม การอบรมเจริญว่าการพิจารณาธรรมให้เข้าใจความจริงก็คงจะลำบากใช่ไหม หรือว่าถ้ากุศลอื่นๆ ไม่ได้เจริญเกื้อกูลกันไป ก็คงจะไม่สามารถที่จะไปถึงจุดหมายได้ จุดหมายที่เป็นใหญ่จริงๆ ก็คือการอบรมเจริญปัญญา เพื่อให้เข้าใจความจริงนั่นเอง แต่ว่ากุศลขั้นอื่นๆ ก็เกื้อกูลกันไป

    ผู้ฟัง ตามที่ยกประเด็นเรื่องเพื่อนขึ้นมาสนทนานี้ คิดว่าเพื่อนคนนั้นอาจจะเคยสะสมบุญบารมีมาตั้งแต่ชาติก่อนมากแล้วก็ได้ เขาจึงกล้ากล่าวว่าอยากจะรู้เอง

    อ.สุภีร์ เป็นไปไม่ได้ ผิดกาล เพราะเหตุว่ากาลสมัยที่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้ ศาสนาของพระองค์ยังไม่หมด ฉะนั้นจะไม่มีใครตรัสรู้เอง ในเมื่อศาสนาของพระองค์ยังไม่หมด แม้แต่พระปัจเจกพุทธเจ้าก็จะไม่มี เมื่อศาสนาของพระองค์ยังอยู่ ผู้ที่จะรู้ธรรมได้ และเข้าใจธรรมตามความเป็นจริงได้ต้องเป็นผู้ฟังเท่านั้น ถ้าพระปัจเจกพุทธเจ้าจะมาอุบัติแล้วก็ตรัสรู้ได้โดยท่านเอง ท่านจะอุบัติในกาลสมัยที่ไม่มีศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งเท่านั้น

    พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะมาตรัสรู้ในกาลสมัยที่คนมีอายุตั้งแต่ ๑๐๐ ปีจนถึง ๑๐๐,๐๐๐ ปีเท่านั้น ตอนนี้กาลสมัยที่คนมีอายุเพียง ๗๕ ปีเท่านั้น เพราะเหตุว่าถ้าจะตรัสรู้ในกาลสมัยที่คนมีอายุมากกว่า ๑๐๐,๐๐๐ ปี ความตายต่างๆ หรือว่าความสลดใจต่างๆ แทบจะไม่ปรากฏเลย พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้สภาพธรรมแล้วแสดงธรรม ก็แสดงความจริงของธรรมที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตาเท่านั้น แต่กาลสมัยที่คนอายุมากกว่า ๑๐๐,๐๐๐ ปี ความไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตาแทบจะไม่ปรากฏเลย ฉะนั้นผู้ที่ฟังในตอนนั้นก็ไม่เห็นความจริงในข้อนี้ ส่วนสำหรับรุ่นเรา รุ่นที่อายุน้อยกว่า ๑๐๐ ปี เป็นกลุ่มที่มีกิเลสมาก เหตุที่อายุน้อยลงเพราะอะไร ก็เพราะว่าอกุศลธรรมในจิตสันดานมากขึ้น ก็ทำให้อายุลดน้อยลงไปเรื่อยๆ พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงก็หายไปเร็วเหมือนรอยไม้ที่ขีดในน้ำ

    ผู้ฟัง มีคำ ๒ คำอยากจะเรียนถามอาจารย์ คำหนึ่งคือคำว่า สุกขวิปัสสกกับสมถยานิก อันนี้อยากจะเรียนถามว่าสมถยานิกเป็นพระอริยบุคคลหรือไม่

    อ.ประเชิญ ลักษณะของการรู้แจ้งธรรมของพระอริยบุคคลจะมี ๒ ประเภท คือผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมโดยไม่ได้ฌานด้วย ไม่มีฌานประกอบ เป็นสุกขวิปัสสกคือยังกิเลสให้เหือดแห้ง ส่วนบางท่าน ท่านก็เป็นผู้ที่มีบุญญาธิการได้สะสมอบรมทั้งสมถะ และวิปัสสนามา เมื่อท่านได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ท่านก็ได้พร้อมทั้งฌานจิต สุกขวิปัสสกท่านก็รู้แจ้งเหมือนกันแต่ว่าไม่ได้ฌานจิต ไม่มีฤทธิ์อะไรเลย แต่ผู้ที่ได้สะสมบุญญาธิการมาอย่างเช่น อัครสาวกก็ดี มหาสาวกในครั้งพุทธกาล ท่านก็จะเป็นผู้ที่บรรลุธรรมพร้อมทั้งฌานจิตด้วย ในการที่จะอบรมภาวนา ท่านจะใช้คำว่า สมถยานิก และก็วิปัสสนายานิก ประเด็นนี้อาจารย์สุภีร์ช่วยขยายศัพท์ สมถยานิกกับวิปัสสนายานิก ด้วย

    อ.สุภีร์ ยานิกก็คือญาน ญานในภาษาไทยเราก็ใช้ก็คือเครื่องไปนั่นเอง สมถยานิกก็คือ ผู้ไปด้วยญานคือสมถ วิปัสสนายานิกก็คือผู้ไปด้วยญานคือวิปัสสนา ทั้งสองท่านนี้เป็นผู้ที่อบรมเจริญวิปัสสนาภาวนา ทั้งสองชื่อเลย คือทั้งสมถยานิก และวิปัสสนายานิก เป็นชื่อของท่านผู้ที่อบรมเจริญวิปัสสนาทั้งนั้น แต่ว่าสมถยานิกนี้สำหรับบุคคลที่อบรมฌานไปด้วย หรือว่าได้ฌานมาแล้วแล้วก็อบรมเจริญวิปัสสนา เรียกบุคคลประเภทนั้นว่าสมถยานิก ส่วนบุคคลทั่วไปก็คือบุคคลที่ไม่ได้ฌาน อบรมเจริญวิปัสสนาอย่างเดียวเรียกว่าวิปัสสนายานิก

    อ.กฤษณา เมื่อยังไปไม่ถึงระดับพระอริยบุคคลก็ยังเป็นปุถุชนอยู่ ซึ่งก็ปุถุชนก็คือผู้หนา หนาด้วยกิเลส ที่หนาด้วยกิเลสเพราะกิเลสก็หมักหมมอยู่นานมาแล้วมากใช่ไหม ซึ่งกิเลสตัวสำคัญที่เราได้สนทนากันไปแล้วก็คือ โลภะ โทสะ โมหะ ก็เป็นเจตสิกฝ่ายที่ไม่ดีงามคืออกุศลเจตสิก ยังมีเจตสิกอีกกลุ่มหนึ่งคือเจตสิกกลุ่มที่เป็นฝ่ายดีงาม คือโสภณเจตสิก โสภณเจตสิกนี้เมื่อเกิดร่วมกับจิตใด จิตนั้นก็เป็นจิตที่ดีงามเรียกว่าเป็นโสภณจิตนั่นเอง และโสภณจิตนั้นก็ไม่ใช่ว่าจะมีแต่กุศลจิตอย่างเดียว เพราะว่าโสภณเจตสิกนั้นนอกจากจะประกอบกับกุศลจิตได้แล้ว ก็ยังสามารถที่จะประกอบกับวิบากจิต ซึ่งจะต้องเป็นวิบากชนิดสเหตุกวิบาก

    คราวที่แล้วเราได้กล่าวถึงสเหตุกจิตกับอเหตุกจิตใช่ไหม สเหตุกจิตก็เป็นจิตที่ประกอบด้วยเหตุมีเหตุเกิดร่วมด้วย อเหตุกจิตก็เป็นจิตที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย สำหรับวิบากจิตชนิดที่เป็นสเหตุกวิบากก็เป็นวิบากจิตที่มีเหตุเกิดร่วมด้วย จะมีกามาวจรสเหตุกวิบาก หรือที่เรียกว่ามหาวิบาก มีรูปวจรวิบาก มีอรูปาวจรวิบาก และมีโลกุตรวิบาก นี่เป็นวิบากจิตที่เป็นสเหตุกวิบาก ซึ่งโสภณเจตสิกสามารถเกิดร่วมด้วยได้ และโสภณเจตสิกนั้นก็ยังสามารถที่จะประกอบกับกิริยาจิตชนิดสเหตุกกิริยาได้ด้วย ซึ่งสเหตุกกิริยาก็คือกิริยาจิตชนิดที่มีเหตุประกอบร่วมด้วย ได้แก่ กามาวจรกิริยาจิต หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่ามหากิริยาจิต รูปาวจรกิริยาจิต และอรูปาวจรกริยาจิต กิริยาจิตพวกนี้เป็นสเหตุกกิริยาจิต ซึ่งจิตต่างๆ เหล่านี้มีโสภณเจตสิกซึ่งเป็นเจตสิกที่ดีงามเกิดร่วมด้วยได้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นจิตที่เรียกว่าเป็นโสภณจิต

    ส่วนจิตอื่นๆ นอกจากนี้ไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นจึงเป็นจิตที่เรียกว่าอโสภณจิต อะแปลว่าไม่ ก็คือหมายถึงจิตที่ไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยนั่นเอง ซึ่งก็ได้แก่ อกุศลจิตทั้งหมด อกุศลจิตเป็นจิตที่ไม่ดีงาม เพราะฉะนั้นไม่สามารถที่จะมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยได้แน่นอน อกุศลจิตทุกประเภทจึงเป็นอโสภณจิต มีจิตอีกประเภทหนึ่งที่เป็นอโสภณจิต คือ อเหตุกจิตทุกประเภท อเหตุกจิตคือจิตที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย ซึ่งก็มีจิตที่เกิดทางปัญจทวารทั้ง ๑๐ ดวง มีจักขุวิญญาณที่เป็นกุศลวิบาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง เป็นต้น จนถึงกายวิญญาณกุศลวิบาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง นี่ก็เป็น ๑๐ ดวง หรือ ๑๐ ชนิดแล้วที่เป็นอเหตุกจิตคือจิตที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย

    นอกจากนั้นก็ยังมีจิตที่เรียกว่าสัมปฏิจฉันนจิตที่กระทำสัมปฏิจฉันนกิจ คือ รับอารมณ์ต่อจากพวกปัญจวิญญาณ ก็ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยก็เป็นอเหตุกจิต และนอกจากนั้นก็ยังมีสันตีรณจิต ซึ่งทำสันตีรณกิจพิจารณาอารมณ์ต่อจากสัมปฏิจฉันนกิจ ก็เป็นจิตประเภทที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย ก็เป็นอเหตุกจิต และก็ยังมีจิตที่ทำอาวัชชนกิจคือจิตที่รำพึงถึงอารมณ์ ทั้งปัญจทวาราวัชชน ซึ่งรำพึงถึงอารมณ์ทั้งปัญจทวาร และมโนทวาราวัชชนซึ่งรำพึงถึงอารมณ์ทางมโนทวาร ก็เป็นอเหตุกจิตคือจิตที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย และอีกประเภทหนึ่งก็คือจิตที่เพียงทำให้เกิดการแย้มยิ้มของพระอรหันต์ที่เรียกว่าหสิตุปปาทจิต ก็เป็นอเหตุกจิต เป็นจิตที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย อเหตุกจิตทุกประเภทเป็นอโสภณจิต เพราะไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยนั่นเอง

    เพราะฉะนั้นถ้าจะถามว่าพระอรหันต์มีอโสภณจิตหรือไม่ พอจะตอบได้ใช่ไหม มีไหม พระอรหันต์มีอโสภณจิตไหม มี ก็คือหสิตุปปาทจิต และแม้ปัญจทวาราวัชชนจิตมโนทวาราวัชชนจิตก็มีได้ เพราะฉะนั้นพระอรหันต์มีอโสภณจิตคือจิตที่ไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยได้ แต่ถ้าถามว่าพระอรหันต์มีอกุศลจิตไหม ไม่มีแน่นอน เพราะว่าพระอรหันต์ดับกิเลสหมดสิ้นเป็นสมุจเฉท กิเลสทุกประการหมดแล้ว เพราะฉะนั้นพระอรหันต์จึงไม่มีอกุศลจิต แต่อโสภณจิตนั้นได้แก่อกุศลจิต และอเหตุกจิต รวมแล้วทั้งหมดก็เป็น ๓๐ ประเภท เพราะอกุศลจิตมี ๑๒ ประเภท และอเหตุกจิตมี ๑๘ ประเภท

    นี่ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับโสภณเจตสิกที่ประกอบกับจิต แล้วก็จิตนั้นเป็นโสภณจิต ซึ่งโสภณเจตสิกนั้นมีทั้งหมด ๒๕ ประเภทที่สำคัญๆ ที่ขอกล่าวเป็นตัวอย่าง เช่นศรัทธาเจตสิก สติเจตสิก อโลภะ อโทสะ ปัญญาเหล่านี้ เป็นต้น สำหรับวันนี้ก็สมควรแก่เวลา ขออนุโมทนาทุกท่าน


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 6
    30 ม.ค. 2568

    ซีดีแนะนำ