สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 059
สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ ๕๙
วันจันทร์ที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๔๕
อ.กฤษณา สำหรับการสนทนาในวันนี้ ก็จะขอสนทนาทบทวนถึงเรื่องที่ได้สนทนาไปบ้างแล้วในครั้งก่อนๆ ซึ่งความเป็นไปในชีวิตของเราทุกคนในแต่ละวันในชีวิตประจำวันนั้น ก็เป็นกระแสการเกิดดับของจิต เจตสิก รูป จิต เจตสิก นั้นเป็นนามธรรมที่เกิดดับเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ก็เป็นการเกิดดับของจิตที่ไม่ใช่วิถีจิต และจิตที่เป็นวิถีจิตสลับกันไป สำหรับวิถีจิตก็เป็นจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์เดียวกันทางทวารหนึ่งทวารใดในทวารทั้ง ๖ เพราะฉะนั้นวิถีจิตนั้นจึงเป็นจิตต่างๆ ซึ่งเกิดดับสืบต่อกันรู้อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง โดยอาศัยทางของการรู้อารมณ์ก็คือต้องอาศัยทวารหนึ่งทวารใดนั่นเอง แต่สำหรับจิตที่ไม่ใช่วิถีจิตเป็นจิตที่เรียกว่าพ้นจากวิถี เป็นจิตที่รู้อารมณ์ซึ่งไม่ใช่อารมณ์ของโลกนี้ จะรู้อารมณ์โดยที่ไม่ต้องอาศัยทวาร ได้แก่ ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต และจุติจิต ซึ่งจิตทั้ง ๓ ประเภทนี้เป็นวิบากจิตคือเป็นผลของกรรมนั่นเองที่ได้กระทำไว้แล้วในอดีต
ซึ่งปฏิสนธิจิตนั้นก็ทำหน้าที่สืบต่อภพใหม่ และเป็นจิตขณะแรกของภพนี้ชาตินี้ เกิดขึ้นเพียงขณะเดียวแล้วจะไม่ทำหน้าที่ปฏิสนธิอีก สำหรับภวังคจิตก็เป็นจิตที่ทำหน้าที่ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้นๆ ในภพชาตินั้นๆ เป็นวิบากจิตประเภทเดียวกับปฏิสนธิจิตเป็นผลของกรรมเดียวกัน ส่วนจุติจิตนั้นก็จะทำหน้าที่เคลื่อนจากภพนี้ภูมินี้เมื่อเวลาที่สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ ขณะที่วิบากจิตเกิดขึ้นทำปฏิสนธิกิจ หรือภวังคกิจ หรือจุติกิจ อารมณ์ต่างๆ ในโลกนี้ก็จะไม่ปรากฏเลย เพราะว่าจิตทั้ง ๓ ชนิดนี้จะรู้อารมณ์ของชาติก่อน คือรู้อารมณ์เดียวกันกับชวนจิตสุดท้ายของชาติก่อน ก่อนที่จะจุติของชาติก่อน
ความเป็นไปของชีวิตของเรานั้นก็เป็นกระแสของจิตเจตสิกที่เกิดดับ เป็นภวังคจิตเกิดดับสลับกับวิถีจิต ซึ่งขณะที่วิถีจิตยังไม่เกิดขึ้นนั้น ภวังคจิตก็จะเกิดดับสืบต่ออยู่เรื่อยๆ ทำหน้าที่ดำรงภพชาติ แต่เมื่อใดที่วิถีจิตเกิดขึ้นก็ยับยั้งไม่ได้ที่จะรู้อารมณ์ของโลกนี้คือ สี เสียง กลิ่น รส สัมผัส และเรื่องราวต่างๆ ในโลกนี้ ซึ่งการที่จิตกำลังจะเปลี่ยนอารมณ์จากการรับอารมณ์เก่า คืออารมณ์ของภวังคจิตไปรับอารมณ์ใหม่คืออารมณ์ของวิถีจิต การเกิดดับสืบต่อกันของภวังคจิตในระหว่างที่อารมณ์ใหม่ คืออารมณ์ของโลกนี้ยังไม่ปรากฏนั้น ภวังคจิตนั้นมีอารมณ์เก่าซึ่งเป็นอารมณ์ของชาติก่อนอยู่ แต่เพราะเหตุที่จิตกำลังจะทิ้งอารมณ์เก่า ดังนั้นภวังคจิตจึงรับอารมณ์เก่าไม่มั่นคง ก็ย่อมจะมีการหวั่นไหวขึ้น และการเกิดขึ้นสืบต่อกันของภวังคจิตก็จะดับลงขณะที่อารมณ์ใหม่มาปรากฏโดยทันทีนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ จึงต้องมีภวังคจลนะ คือภวังค์ไหวแล้วก็มีภวังคุปัจเฉทะเกิดต่อจากอตีตภวังค์ ก่อนที่วิถีจิตขณะแรกจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางทวารหนึ่งทวารใด ซึ่งเมื่อภวังคุปัจเฉทะดับไปแล้ว วิถีจิตแรกที่จะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ ถ้าเป็นทางปัญจทวารวิถีก็คืออาวัชชนวิถี ได้แก่ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิตขณะแรกที่เกิดขึ้นน้อมนึกในอารมณ์ทางทวารใดทวารหนึ่ง อาจจะเป็นทางทวารตา หรือทวารหู หรือทางทวารจมูก ลิ้น กาย ก็แล้วแต่ว่าจะเป็นทวารใดทวารหนึ่ง
เมื่ออาวัชชนจิตคือปัญจทวาราวัชชนจิตได้กระทำกิจหน้าที่ของตนดับไปแล้ว ปัญจวิญญาณดวงใดดวงหนึ่งมีการเห็นเป็นต้น เรียกว่าจักขุวิญญาณ ก็เกิดขึ้นรู้อารมณ์ต่อจากปัญจทวาราวัชชนจิต ซึ่งจักขุวิญญาณนั้นก็เป็นผลของกรรมใดกรรมหนึ่ง เป็นจิตที่เป็นผลคือเป็นวิบากจิตนั่นเอง จะเป็นกุศลวิบากหรืออกุศลวิบากก็แล้วแต่กรรมที่ได้กระทำไว้แล้วในอดีต เมื่อจักขุวิญญาณหรือว่าปัญจวิญญาณดวงใดดวงหนึ่งรู้อารมณ์ดับไปแล้ว ก็มีจิตที่เกิดรู้อารมณ์สืบต่อคือสัมปฏิจฉันนจิต ซึ่งก็เป็นวิบากจิตเหมือนกัน เป็นจิตที่เกิดจากกรรมเดียวกัน เมื่อสัมปฏิจฉันนจิตซึ่งรับอารมณ์ต่อจากปัญจวิญญาณดับไปแล้ว สันตีรณจิตก็เกิดขึ้นทำหน้าที่ต่อไป คือทำหน้าที่พิจารณาอารมณ์อารมณ์เดียวกันนั่นเอง แล้วก็ดับไป สันตีรณจิตนั้นก็เป็นวิบากจิตเหมือนกัน เมื่อสันตีรณจิตดับไปแล้ว โวฏฐัพพนจิตซึ่งเป็นจิตชาติกิริยา เพราะว่าโวฏฐัพพนจิตนั้นก็คือการทำหน้าที่โดยมโนทวาราวัชชนจิต มโนทวาราวัชชนจิตที่ทำหน้าที่ทางปัญจทวารนั้นจะทำหน้าที่โวฏฐัพพนกิจ แต่ว่าเมื่อทำหน้าที่โวฏฐัพพนกิจก็เลยได้ชื่อว่าโวฏฐัพพนจิต โวฏฐัพพนจิตเกิดสืบต่อจากสันตีรณจิตกระทำทางให้กุศลจิตหรืออกุศลจิตของผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์เกิดดับสืบต่อทำชวนกิจ หรือว่ากิริยาจิตของพระอรหันต์ก็ทำชวนกิจ
เพราะฉะนั้นชวนกิจก็เป็นกิจหน้าที่ของชวนจิตซึ่งเป็นกุศลจิต หรืออกุศลจิต หรือกิริยาจิต ซึ่งเกิดสืบต่อจากโวฏฐัพพนจิต ซึ่งตามปกติแล้วในการทำชวนกิจของกุศลจิต หรืออกุศลจิต หรือกิริยาจิตนั้นก็จะเกิดสืบต่อกัน ๗ ขณะ ทำหน้าที่แล่นไปในอารมณ์ หรือเสวยอารมณ์นั่นเอง เมื่อชวนจิตดวงที่ ๗ หรือขณะที่ ๗ ดับไปแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้จิตดวงต่อไปคือตทาลัมพนจิตเกิดขึ้นรับอารมณ์เดียวกันนั้นอีก ๒ ขณะจิต เมื่อตทาลัมพนจิตดับลงแล้วปัญจทวารวิถีก็เกิดครบทุกวิถี เมื่อปัญจทวารวิถีจิตรู้อารมณ์ทางปัญจทวารทวารหนึ่งทวารใดดับไปแล้ว ภวังคจิตก็เกิดดับสืบต่อคั่นก่อนที่มโนทวารวิถีจิตจะเกิดขึ้น มโนทวารวิถีจิตก็คือจิตที่อาศัยใจ คือภวังคุปัจเฉทะเป็นทางรู้อารมณ์ ก็เกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่ปัญจทวารวิถีจิตเพิ่งจะรู้แล้วดับไปนั่นเอง ก่อนรู้อารมณ์ทางมโนทวารก็เป็นภวังค์ที่เกิดขึ้นคั่นหลายขณะ ซึ่งไม่มีอตีตภวังค์เพราะว่าการรู้อารมณ์ทางมโนทวารนั้นไม่มีการกระทบกันของปสาทรูปกับรูปที่จะเป็นอารมณ์ เช่นรูปารมณ์ เป็นต้น เพราะฉะนั้นก็มีแต่ภวังคจลนะเกิดขึ้นไหวตามอารมณ์นั้นแล้วดับไป แล้วภวังคุปัจเฉทะก็เกิดขึ้นทำหน้าที่เป็นภวังค์ดวงสุดท้าย ก่อนที่วิถีจิตแรกทางมโนทวารจะเกิดขึ้น มโนทวารวิถีจิตวิถีแรกก็คือมโนทวาราวัชชนวิถีจิต เป็นกิริยาจิต กระทำอาวัชชนกิจทางมโนทวาร คือรำพึง หรือน้อมนึกถึงอารมณ์ เมื่อมโนทวาราวัชชนวิถีจิตดับไปแล้ว ชวนวิถีจิต ก็ได้แก่กุศลจิตหรืออกุศลจิตของผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ หรือกิริยาจิตสำหรับพระอรหันต์ ก็เกิดดับสืบต่อซ้ำกันเป็นจิตประเภทเดียวกัน ๗ ขณะ แล้วก็ดับไป เมื่อชวนวิถีจิตขณะที่ ๗ ดับไปแล้ว ตทาลัมพนวิถีจิตก็เกิดขึ้น ถ้าเป็นอารมณ์ทางใจที่ปรากฎชัดเจน ตทาลัมพนวิถีก็เกิดต่ออีก ๒ ขณะ
การได้ทราบเรื่องราวของวิถีจิตทำให้ทราบว่าแต่ละขณะจิตที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นเพื่อที่จะไปเท่านั้น ไป ไปดับไป ไปก็คือไปสู่อารมณ์ต่างๆ โดยจิตที่เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง เป็นวิบากบ้าง เป็นกิริยาบ้าง กระทำหน้าที่ของจิตนั้นๆ ต่างๆ กันไป ซึ่งก็มีอยู่ ๑๔ กิจ ซึ่งในบรรดากิจต่างๆ ของจิตทั้ง ๑๔ กิจนั้น ชวนกิจนั้นเป็นกิจหน้าที่ที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะว่าชวนวิถีจิตทำหน้าที่เสพอารมณ์ แล่นไปในอารมณ์ ซึ่งการทำหน้าที่ของชวนจิตตรงนั้น เป็นการสั่งสมสันดานด้วยอำนาจชวนวิถี และทำให้เกิดเป็นบุญ เป็นบาป เป็นกรรมสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ แต่สำหรับท่านที่เป็นพระอรหันต์ท่านก็ไม่ได้กระทำกรรมไม่ได้เป็นบุญเป็นบาปไม่ได้เป็นกรรมแล้ว เพราะว่าท่านดับกิเลสได้หมดสิ้นเป็นสมุจเฉทแล้ว สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ในขณะที่ชวนวิถีจิตทำหน้าที่คือทำชวนกิจนั้น ถ้าเป็นอกุศลชวนะแล้วก็จะมีอกุศลเหตุก็คือโลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ เกิดประกอบร่วมด้วยกับอกุศลชวนะนั้นๆ ตามสมควรแก่อกุศลชวนะนั้นๆ ถ้าเป็นกุศลชวนะก็จะมีโสภณเหตุก็คืออโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ เกิดประกอบร่วมด้วยตามสมควรแก่กุศลชวนะนั้นๆ
ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ตรัสธรรมว่าด้วยเหตุเกิดของกรรมไว้ในนิทานสูตรอังคุตตรนิกาย มีใจความว่า ธรรมต้นเหตุ ๓ เพื่อความเกิดขึ้นพร้อมมูลแห่งกรรมคือโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้นเหตุเพื่อความเกิดขึ้นพร้อมมูลแห่งกรรม กรรมที่บุคคลทำเพราะโลภะ เพราะโทสะ เพราะโมหะ เกิดแต่โลภะ โทสะ โมหะ มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้นเหตุ มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นแดนเกิดอันใด กรรมอันนั้นย่อมให้ผลในที่ที่อัตภาพของบุคคลนั้นเกิด กรรมนั้นให้ผลในอัตภาพใด บุคคลนั้นย่อมได้เสวยผลของกรรมนั้นในอัตภาพนั้นบ้าง คือหมายถึงเป็นอัตภาพปัจจุบันบ้าง ให้ผลในอัตภาพหน้าบ้าง หรือให้ผลในอัตภาพต่อๆ ไปบ้าง เปรียบเหมือนพืชทั้งหลายที่ไม่ขาดไม่เน่าไม่เฉา ให้แก่นได้ มีรากฝังอยู่ดีปลูกไว้ในแผ่นดินที่ทำไว้ดีแล้ว หรือในไร่นาที่ดี ฝนก็หลั่งดี เมื่อเป็นเช่นนี้พืชเหล่านั้นก็ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ฉันใด กรรมที่บุคคลทำเพราะโลภะ เพราะโทสะ เพราะโมหะ ก็ย่อมให้ผลในอัตภาพนี้บ้าง หรือให้ผลในอัตภาพหน้าบ้าง หรือให้ผลในอัตภาพต่อๆ ไปบ้างฉันนั้นเหมือนกัน นี่ก็เป็นต้นเหตุ ๓ เพื่อความเกิดขึ้นพร้อมมูลแห่งกรรม และพระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงธรรมอันเป็นต้นเหตุอีก ๓ เพื่อความเกิดขึ้นพร้อมมูลแห่งกรรม นั่นก็คือ อโลภะ อะโทสะ อโมหะ เป็นต้นเหตุเพื่อความเกิดขึ้นพร้อมมูลแห่งกรรม ซึ่งกรรมที่บุคคลทำเพราะอโลภะ อโทสะ อโมหะ เกิดแต่ อโลภะ อโทสะ อโมหะ มีอโลภะ อโทสะ อโมหะ เป็นต้นเหตุ เป็นแดนเกิด กรรมนั้นๆ ก็ย่อมให้ผลในอัตภาพปัจจุบันบ้าง เป็นต้น หรือว่าให้ผลในอัตภาพต่อไป หรืออัตภาพอื่นๆ ซึ่งเมื่อโลภะ โทสะ โมหะ สิ้นไปแล้ว กรรมนั้นก็เป็นอันว่าเขาละได้แล้ว มีมูลคือรากขาดแล้ว ถูกทำให้เหมือนกับตาลยอดด้วน ถูกทำให้ไม่มีในภายหลังแล้ว มีอันที่จะไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา เพราะว่าถูกเผาด้วยไฟคือมรรคญานแล้ว ท่านก็เปรียบเหมือนพืชทั้งหลายที่ไม่ขาดไม่เน่าไม่เฉา ให้แก่นได้ มีรากฝังอยู่ดี แล้วก็บุรุษเอาไฟเผาพืชเหล่านั้นเสียจนเป็นผุยผง เผาแม้กระทั่งราก แล้วก็โปรยเสียในลมแรง หรือว่าสาดเสียในกระแสน้ำอันเชี่ยว ซึ่งเมื่อเป็นอย่างนี้พืชเหล่านั้นก็เป็นอันว่ารากนั้นขาดแล้ว ก็ทำให้ไม่มีในภายหลัง ก็มีอันที่จะไม่เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดาฉันใด กรรมที่บุคคลทำเพราะอโลภะ อโทสะ อโมหะ ก็มีอันไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดาฉันนั้นเหมือนกัน นี้ก็หมายถึงสำหรับท่านพระอริยบุคคลที่ท่านดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉทถึงเป็นพระอรหันต์ ท่านก็ไม่กระทำกรรมอะไรอีกต่อไป ก็จะเป็นเพียงกิริยาเท่านั้น
ซึ่งในพระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสธรรมเพื่อความเกิดขึ้นพร้อมมูลแห่งกรรม ซึ่งก็คือเหตุ ๖ ก็ได้แก่โลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ ซึ่งบรรดาเหตุ ๖ เหล่านี้ ก็ชื่อว่าเหตุ เหตุ หมายถึงเหตุที่เป็นมูลนั่นเอง และในบรรดาเหตุ ๖ เหล่านั้น โมหเหตุ โลภเหตุ โทสเหตุซึ่งเป็นอกุศลเจตสิกเป็นกิเลสด้วย กิเลสนั้นก็เป็นสภาพธรรมที่เป็นเครื่องทำให้เศร้าหมองไม่บริสุทธิ์ไม่ผ่องแผ้ว เพราะว่าเป็นมลทินนั่นเอง และธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นมลทินอย่างยิ่งก็คืออวิชชา อวิชชาก็คือโมหะเป็นโมหกิเลส ซึ่งก็ได้แก่โมหเจตสิกนั่นเอง โมหเจตสิกนั้นก็เป็นธรรมชาติที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่รู้สภาพธรรมที่แท้จริงของอารมณ์ที่แม้กำลังปรากฏ แม้ว่ากำลังเผชิญหน้าอยู่กับอารมณ์ในขณะนี้ก็ไม่รู้อารมณ์นั้นๆ ตามสภาพที่เป็นจริง นี่ก็เป็นลักษณะของโมหะ ซึ่งโมหเหตุคืออวิชชานี้นอกจากจะเป็นเหตุที่เป็นมูลรากแล้ว ก็ยังเรียกว่าเป็นสาธารณเหตุด้วย ก็คือเป็นเหตุทั่วไปแก่สังขารทั้งหลาย ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าอวิชชานี้เป็นปัจจัยแก่สังขารทั้งหลาย นั่นก็คืออวิชชาเป็นสาธารณปัจจัยแก่สังขารที่เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง ซึ่งสังขารโดยนัยของธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นนั้น ก็ได้แก่เจตนาเจตสิกที่เป็นอกุศลเจตนาบ้าง เป็นกุศลเจตนาบ้าง ซึ่งก็เป็นอภิสังขาร อภิสังขารก็คือธรรมที่มีสภาพปรุงแต่งอย่างยิ่ง
เพื่อที่จะได้เข้าใจในลักษณะของจิตประการที่ ๓ ที่ชื่อว่าจิตเพราะอรรถว่าอันกรรมกิเลสสั่งสมวิบาก กรรมก็คือเจตนาเจตสิก ขอเรียนเชิญคุณประเชิญได้กล่าวถึงลักษณะของเจตนาเจตสิก
อ.ประเชิญ ธรรมมีชื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภวังค์ก็ดี เหตุ กรรม เจตนา หรือชื่ออื่นๆ เป็นเรื่องราวของชีวิตของเรานั่นเอง พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติให้มีศัพท์ต่างๆ ที่จะเป็นการสื่อกันให้เข้าใจความจริง จริงๆ แล้วมีอยู่แต่เราไม่ทราบ กรรมหรือเจตนาในภาษาไทยบางท่านอาจจะใช้คำว่าเจตนา แต่ภาษาบาลีตรงๆ คือเจตนา เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เป็นเจตสิก เจตนาไม่ใช่จิต ไม่ใช่รูป เป็นปรมัตถธรรมประเภทเจตสิก เกิดร่วมกับจิต มีลักษณะที่จงใจตั้งใจ ซึ่งอย่างที่เราเข้าใจกันทั่วไปคือคนนี้มีการจงใจมีการตั้งใจที่จะทำ นี้คือเจตนา ซึ่งก็จะมีการออกมาทางกายทางวาจาทางใจ เป็นกรรมที่ทั้งดี และไม่ดี ตั้งใจทำดี จงใจทำดี เป็นกรรมคือกรรมดี ตั้งใจหรือจงใจทำไม่ดี ก็เป็นกรรมที่ไม่ดี ซึ่งเรื่องกรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก
คำสอนของพระผู้มีพระภาคจะกล่าวได้ว่าเป็นศาสนาที่สอนเรื่องของกรรม คือกรรมวาทีนั่นเอง เพราะว่าในพระธรรมคำสอนของพระองค์ที่มีจารึกเป็นพระไตรปิฏก ไม่ว่าจะเป็นพระวินัยพระสูตรพระอภิธรรมก็ได้กล่าวเรื่องของกรรมไว้มากมาย ก็จะไม่พ้นเรื่องของกรรมเลย บางท่านอาจจะไม่เชื่อว่ามีกรรมอยู่จริง แต่ถ้าเราได้ทราบเรื่องของปรมัตถธรรม และเหตุผลที่พระองค์ทรงแสดงแล้ว ก็จะทราบว่ากรรมเป็นสิ่งที่มีจริง เพราะว่ากรรมคือปรมัตถธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ขณะใดที่ตั้งใจทำนั่นคือกรรม ซึ่งเราจะสังเกตจากสัตว์โลกทั้งหลายที่เป็นไปว่า กรรมมีจริงอย่างไรก็ดูที่ผลด้วย เพราะว่าความหมายของคำว่าสัตว์โลก คือเป็นที่ดูบุญ และบาป หรือว่าเป็นที่ดูผลของบุญ และบาปนั่นเอง ซึ่งบุญ และบาปนั่นก็เป็นกรรม เพราะฉะนั้นสัตว์โลกที่ต่างกันโดยฐานะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผิวพรรณ วรรณะ ยศถาบรรดาศักดิ์ หรือว่ารูปร่างหน้าตาอะไรทั้งหลาย ก็ล้วนแต่ต่างกันทั้งนั้นเลย
เพราะฉะนั้นก็จะเป็นสิ่งที่ส่องให้เห็นว่า ในอดีตที่เคยทำมานั้นต่างกัน เพราะฉะนั้นผลที่ออกมาจึงต่างกัน ก็เป็นสภาพที่ชี้ หรือว่าส่องให้เห็นว่าเพราะมีเหตุคือกรรมที่ต่างกัน กรรมจึงมี ผลของกรรมจึงมี ซึ่งในนิทานสูตรได้แสดงเรื่องของกรรม และในอรรถกถาท่านก็ขยายความละเอียดของกรรม พร้อมทั้งในที่อื่นๆ อย่างเช่น ในมหากัมมวิภัง จูฬกัมมวิภังก็ดี ในปฏิสัมภิทามรรคท่านก็จะกล่าวในเรื่องของกรรมนี้ไว้มากมายทีเดียว ซึ่งเราก็จะได้สนทนาตามลำดับว่ากรรมบางประเภทก็จะมีหน้าที่ของกรรมหลายๆ ประเภท หรือลำดับการให้ผลของกรรมก็มีหลายๆ ประเภท
ผู้ฟัง การที่สัตว์หรือคนเกิดมานี่ก็เป็นผลของกรรมใช่ไหม เรียนถามว่าการที่จะเกิดมาเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย รู้สึกว่ากรรมต่างกัน ไม่ทราบว่ากรรมใครจะดีกว่ากันจึงเกิดเพศต่างกัน
อ.ประเชิญ อิตถีภาวรูป ปุริสภาวรูป เป็นผลของกรรม เกิดมาจากกรรม เป็นกัมมชรูป โดยปรมัตถธรรมเป็นรูปที่เกิดจากกรรม ไม่ได้เกิดมาจากอุตุ หรืออาหาร เป็นรูปที่เกิดจากกรรมโดยเฉพาะ การที่จะเกิดเป็นผู้หญิงผู้ชาย ก็ด้วยสาเหตุหลายๆ อย่าง คือส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่ายังติดอยู่ในความเป็นหญิงเป็นชายอยู่ ยังมีความพอใจในความเป็นผู้หญิง หรือว่าบางท่านที่เป็นผู้ชาย ยังมีความพอใจในความเป็นผู้ชาย นี้ก็ทำให้เกิดเป็นผู้หญิงผู้ชายตามอัธยาศัยที่เคยชอบ หรือเคยพอใจอย่างนั้น
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 001
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 002
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 003
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 004
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 005
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 006
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 007
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 008
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 009
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 010
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 011
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 012
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 013
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 014
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 015
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 016
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 017
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 018
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 019
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 020
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 021
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 022
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 023
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 024
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 025
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 026
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 027
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 028
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 029
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 030
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 031
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 032
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 033
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 034
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 035
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 036
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 037
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 038
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 039
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 040
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 041
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 042
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 043
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 044
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 045
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 046
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 047
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 048
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 049
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 050
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 051
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 052
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 053
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 054
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 055
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 056
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 057
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 058
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 059
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 060