สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 060


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ ๖๐

    วันจันทร์ที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๔๕


    อ.ประเชิญ การที่จะเกิดเป็นผู้หญิงผู้ชายก็ด้วยสาเหตุหลายๆ อย่าง คือ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่ายังติดอยู่ในความเป็นหญิงเป็นชายอยู่ ยังมีความพอใจในความเป็นผู้หญิง หรือว่าบางท่านที่เป็นผู้ชายยังมีความพอใจในความเป็นผู้ชาย อันนี้ก็ทำให้เกิดเป็นผู้หญิงผู้ชายตามอัธยาศัยที่เคยชอบหรือเคยพอใจในอย่างนั้น แต่ถ้าผู้ที่ไม่มีความพอใจในความเป็นหญิงเป็นชายแล้ว ท่านก็จะไม่มีความเป็นหญิงเป็นชาย คือเป็นพรหมบุคคล พรหมบุคคลเป็นเพศที่สูง เป็นเพศที่ประเสริฐก็จะไม่มีภาวะความเป็นหญิงเป็นชายแล้ว อันนี้ท่านไม่พอใจในความเป็นหญิงเป็นชาย ก็ไม่แน่เสมอไป เพราะบางท่านถึงแม้เป็นผู้หญิง ก็เป็นผู้ที่มีปัญญาเป็นผู้ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยบุญบารมีมากมาย อย่างเช่น สาวกสาวิกาของพระผู้มีพระภาคในครั้งพุทธกาล เป็นสตรีก็มีมากมาย เป็นผู้ที่มีบุญญาธิการได้สะสมมา ก็เป็นผู้หญิงเช่นเดียวกัน

    อ.กฤษณา ก่อนที่จะไปถึงกรรมประเภทต่างๆ ขออนุญาตพูดเชื่อมโยงที่ว่าเจตนาเจตสิกนี้เป็นกรรม แล้วก็กรรม กิเลส วิบาก จะเป็นสังสารวัฎอย่างไร เมื่อสักครู่นี้อาจารย์ประเชิญได้พูดถึงเจตนาเจตสิก ซึ่งเป็นกรรมซึ่งก็เจตนาเจตสิกนั้นก็เป็นธรรมชาติที่มีลักษณะตั้งใจจงใจขวนขวายกระทำกิจ และเจตนานั้นก็มีกิจ คือประมวลมาซึ่งกุศลกรรม และอกุศลกรรม ซึ่งเมื่อเพ่งถึงฐานะแห่งการประมวลมาซึ่งกุศลกรรม และอกุศลกรรมแล้ว เจตนาก็จะมีความขวนขวายมีความอุตสาหะพยายามในการกระทำกิจมากกว่าธรรมอื่นๆ ที่เกิดร่วมกันกับตน เพราะฉะนั้น เจตนานั้นจึงเป็นสภาพที่จัดแจงขวนขวาย ซึ่งเจตนาเจตสิกนั้นเป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง ที่เราได้สนทนากันไปในครั้งก่อนๆ เป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก คือเจตสิกที่จะต้องเกิดกับจิตทุกดวง

    เพราะฉะนั้นเมื่อจิตเกิดขึ้นครั้งใดก็จะมีเจตนาเจตสิกเกิดขึ้นพร้อมกับจิตนั้นด้วย และเจตนานั่นเองคือกรรม พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุที่บุคคลมีความตั้งใจเป็นเครื่องกระตุ้น แล้วก็กระทำการงานนั้นๆ สำเร็จลงด้วยกายบ้าง ด้วยวาจาบ้าง ด้วยใจบ้าง ด้วยเหตุนี้ตถาคตจึงกล่าวว่าเจตนานี้เป็นตัวกรรม เพราะเหตุนี้ขณะที่จิตเกิดขึ้นทุกครั้งเจตนาคือกรรมก็เกิดขึ้นด้วย แล้วกรรมนั้นก็มีแบ่งเป็นสหชาตกรรมกับนานักขณิกกรรม

    ผู้ฟัง เรียนถามเกี่ยวกับเรื่องภวังคจิต คือภวังคจิตตามที่ศึกษาหมายความว่าเป็นจิตซึ่งไม่มีเหตุ ไม่ประกอบด้วยเหตุ ดังนั้น เมื่อไม่ประกอบด้วยเหตุก็หมายความว่า ไม่ประกอบด้วยโลภะ ไม่ประกอบด้วยโทสะ ไม่ประกอบด้วยโมหะ และกุศลก็ไม่มีด้วย คำถามคือว่า ขณะที่ภวังคจิตเกิดนั้น อนุสัยคือธรรมชาติที่เป็นกิเลสที่นอนเนื่องในขันธสันดาน มีอวิชชานุสัยเป็นต้น ขณะที่ภวังคจิตเกิด อนุสัยอยู่ที่ใด

    อ.กฤษณา ภวังคจิต จิตที่ทำหน้าที่ภวังคจิต ขอเรียนว่า เป็นจิตที่ประกอบด้วยเหตุก็มี ไม่ประกอบด้วยเหตุก็มี ส่วนเกี่ยวกับเรื่องอนุสัย ขอเชิญอาจารย์สุภีร์กรุณาช่วยตอบ

    อ.สุภีร์ เราต้องทราบระดับของกิเลส มี ๓ ขั้นก็คือระดับที่ ๑ อนุสัยกิเลส ๒ ปริยุฏฐานกิเลส และ ๓ วีติกกัมมกิเลส คำว่าอนุสัยกิเลสก็คือกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน หมายถึงว่ากิเลสนั้นยังตัดไม่ได้ ยังละไม่ได้ เพราะว่ากิเลสชนิดนี้ต้องละด้วยมรรคเท่านั้น ละได้ด้วยมรรค ๔ มรรค คือโสตาปัตติมรรค สกทาคามีมรรค อนาคามีมรรค แล้วก็อรหัตตมรรค นี้เป็นอนุสัยกิเลส กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิตตสันดานเพราะว่ายังละไม่ได้ ต้องเมื่อมีมรรคจิตเกิดจึงจะค่อยๆ ละอนุสัยไปได้ทีละหน่อยทีละหน่อย อย่างเช่นโสตาปัตติมรรค ก็ละได้ ๒ อนุสัยก็คือทิฏฐานุสัย และวิจิกิจฉานุสัย ซึ่งอนุสัยกิเลสนี้จะมีอยู่ ๗ ประเภทด้วยกัน

    กิเลสระดับที่ ๒ ก็คือกิเลสที่เกิดขึ้นในชวนะแล้ว ก็คือปริยุฏฐานกิเลสก็คือกิเลสที่เกิดขึ้นในอกุศลจิต ๑๒ ประเภท ได้แก่ โลภมูลจิต ๘ ประเภท แล้วก็โทสมูลจิต ๒ ประเภท โมหมูลจิต ๒ ประเภทนั่นเอง ถ้ายังไม่มีกำลัง แล้วก็ขณะนั้นไม่เป็นไปในกุศลก็คือ ทาน ศีล สมถะ และวิปัสสนา ขณะนั้นก็เป็นอกุศลที่เกิดในชวนะเป็นปริยุฏฐานกิเลส ถ้าปริยุฏฐานกิเลสนั้นสะสมบ่อยๆ จนมีกำลัง ก็จะเกิดการล่วงทุจริตออกมาทางกาย ทางวาจา อาจจะฆ่าสัตว์ หรือว่าอาจจะว่าร้ายคนอื่น หรือว่าอาจจะทำสิ่งที่ไม่ดี ทำทุจริตต่างๆ อันนี้เป็นวีติกกัมมกิเลส ซึ่งทั้งปริยุฏฐานกิเลสก็ดี และวีติกกัมมกิเลสก็ดี ที่มีอยู่หรือว่าที่เกิดขึ้นนี้ ก็เพราะว่ามีพืชเชื้อคืออนุสัยกิเลสนั่นเอง ถ้าอนุสัยกิเลสไม่มีแล้ว อย่างเช่น ผู้ที่เป็นพระโสดาบันละทิฏฐานุสัยได้แล้ว ฉะนั้น กิเลสที่เกี่ยวเนื่องกับทิฏฐานุสัยคือเกี่ยวกับความเห็นผิดทั้งหลาย ก็จะไม่มีแก่บุคคลผู้ที่เป็นพระโสดาบันเลย แต่ของเรามีครบ ฉะนั้นกิเลสทุกๆ ประการก็สามารถเกิดขึ้นได้

    กิเลสขั้นอนุสัยเป็นกิเลสขั้นที่ละเอียด การที่จะรู้จักว่ามีอนุสัยอยู่ ก็คือประการที่ ๑ รู้จากปริยุฏฐานกิเลส และวีติกกัมมกิเลสที่เกิดขึ้น แล้วอนุมานไปว่ามีพืชเชื้ออยู่ จึงรู้ว่ามีอนุสัยกิเลส นี้ประการที่ ๑ ประการที่ ๒ ก็คือรู้จากการได้ยินได้ฟังที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพราะเหตุว่าบางท่านปริยุฏฐานกิเลสก็ดี วีติกกัมมกิเลสก็ดี ไม่เกิดเลย อย่างเช่น ผู้ที่กระทำฌานอย่างนี้ใช่ไหม ถ้าท่านเหล่านี้ปริยุฏฐานกิเลสไม่เกิดเลย ท่านก็จะไม่รู้ ตอนที่อยู่ในฌานมีแต่กุศลใช่ไหม ฉะนั้นต้องเป็นผู้ที่ฟังจึงรู้ว่าตัวเองยังมีกิเลสขั้นที่ละเอียดกว่านั้นอยู่ ก็คืออนุสัยกิเลสเป็นกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิตตสันดาน เพราะเหตุว่าอนุสัยกิเลสเป็นประเภทของเจตสิก ก็เวลานอนเนื่องก็นอนเนื่องอยู่ในจิตตสันดานนั่นเอง

    อนุสัยกิเลสเป็นกิเลสที่มีอยู่กับบุคคลนั้นตลอดทุกๆ ขณะจิตไป ฉะนั้นขณะที่เป็นภวังคจิต ถ้าเป็นภวังคจิตของปุถุชนก็จะมีอนุสัยกิเลสนอนเนื่องอยู่ในภวังคจิตนั้นเสมอตลอดไป ท่านใช้ศัพท์ที่เรียกกิเลสชนิดนี้ว่ากิเลสที่เป็น ภูมิลัทธุปปันนะ ก็คือกิเลสที่มีภูมิอันได้แล้ว ภูมิก็คือขันธ์ ๕ นั่นเอง ก็คือถ้ายังมีขันธ์ ๕ อยู่ แล้วยังเป็นขันธ์ ๕ ของปุถุชน ก็เป็นภูมิของกิเลสที่เป็นอนุสัยกิเลส สมมติเราเกิดมาปฏิสนธิจิตชาตินี้เป็นครั้งแรกใช่ไหม ก็มาพร้อมกับอนุสัยกิเลสด้วยครบทั้ง ๗ เลย เพราะว่าเป็นปุถุชน ถ้าบุคคลนั้นเป็นพระโสดาบัน อนุสัยกิเลสมี ๗ ใช่ไหม ละแล้ว ๒ เหลือ ๕ พระโสดาบันนั้นท่านเสียชีวิตสิ้นกรรมไป เกิดในภพภูมิใหม่ ปฏิสนธิจิตของท่านก็เหลืออนุสัยเพียง ๕ อนุสัย

    ฉะนั้นในจิตทุกๆ ประเภท ทุกๆ ขณะเลย ก็จะมีอนุสัยกิเลสที่นอนเนื่องอยู่จนกว่าที่จะเป็นพระอรหันต์จึงไม่มีอนุสัยกิเลสเหลืออยู่เลย ฉะนั้นอนุสัยกิเลสเป็นกิเลสขั้นที่ละเอียด มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นที่ทรงรู้ เพราะว่าไม่มีลักษณะอาการปรากฏออกมาให้เห็น ลักษณะของกิเลสที่จะปรากฏอาการออกมาให้เห็น ก็คือปริยุฏฐานกิเลสกับวีติกกัมมกิเลสเท่านั้น อนุสัยกิเลสเป็นกิเลสที่ละเอียดมาก รู้ด้วยญานของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ไม่สาธารณะแก่พระสาวกทั้งหลาย เรียกว่าอาสยานุสยญาณ พระญานที่ทรงรู้อัธยาศัย และอนุสัยของสัตว์ทั้งหลาย ฉะนั้น คนธรรมดาหรือว่าพระสาวกทั้งหลายไม่รู้ลักษณะของอนุสัย ต้องฟังจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า สำหรับบุคคลบางคนที่ไม่มีกิเลสกลุ้มรุมเลยใช่ไหม อย่างเช่นผู้ที่ทำฌานเป็นต้น ก็นึกว่าตัวเองบรรลุแล้ว เพราะเหตุว่าไม่มีกิเลสเกิดเลย แต่จริงๆ มีกิเลสอีกชนิดหนึ่งที่ไม่ได้เกิดเลยก็คืออนุสัยกิเลส

    อ.กฤษณา ขออนุญาตเพิ่มเติมขยายความที่พูดถึงภวังคจิตเมื่อสักครู่ว่า ที่ประกอบด้วยเหตุก็มี ไม่ประกอบด้วยเหตุก็มี คือภวังคจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุเป็นอเหตุกจิต ก็ได้แก่ อุเบกขาสันตีรณะ ๒ ดวง ที่เป็นอกุศลวิบากดวงหนึ่ง และที่เป็นกุศลวิบากดวงหนึ่ง แล้วก็ภวังคจิตที่ประกอบด้วยเหตุนั้นก็มีเหตุคือ อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ ประกอบกัน ถ้าเป็นในกามาวจรภูมินี้ก็ได้แก่มหาวิบากจิต ถ้าเป็นรูปาวจรภูมิก็ได้แก่รูปาวจรวิบากจิต แล้วก็ถ้าเป็นอรูปาวจรภูมิก็ได้แก่อรูปาวจรวิบากจิต ซึ่งภวังคจิตทำหน้าที่ดำรงภพชาตินั้น ก็เป็นวิบากจิตซึ่งเป็นผลของกรรมกรรมเดียวกับที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด เพราะฉะนั้นภวังคจิตนั้นเป็นจิตประเภทเดียวกับปฏิสนธิจิต ถ้าปฏิสนธิจิตมาด้วยวิบากจิตชนิดใด ภวังคจิตก็ทำหน้าที่ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้นด้วยจิตประเภทเดียวกับปฏิสนธิจิต

    ผู้ฟัง จากที่ฟังอาจารย์เหมือนกับว่าเหตุที่เป็นอกุศลจิตนี้จะไม่เป็นภวังคจิตเลยใช่ไหม

    อ.กฤษณา อกุศลเหตุเกิดประกอบกับอกุศลจิตเท่านั้น ซึ่งอกุศลจิตนั้นไม่ใช่วิบากจิต แต่เป็นจิตที่กระทำเหตุคือกระทำกรรม แต่ว่าผลของกรรมซึ่งเป็นวิบากจิตนั้นก็เป็นอกุศลวิบากที่เป็นอเหตุกจิตไม่ประกอบด้วยเหตุ

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นเหตุที่เป็นกุศลเหตุทั้ง ๓ ก็สามารถเกิดได้กับทั้ง ๓ ชาติ คือ กุศล วิบาก กิริยา

    อ.กฤษณา ใช่

    ผู้ฟัง กุศลในชวนะที่เป็นกุศลหรืออกุศล ถ้าอารมณ์เป็นอนิฏฐารมณ์ ก็จะมีตทาลัมพนะ ถ้าเป็นกิริยาจะลงภวังค์ไหม

    อ.สุภีร์ อันนี้กล่าวถึงวิถีจิตอีกวิถีหนึ่งที่ต่อจากชวนวิถีก็คือตทาลัมพนวิถี หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าตทาลัมมณวิถี ตทาลัมพนจิตนี้เป็นวิบากจิต วิบากจิตจะเป็นจิตที่รับรู้อารมณ์ต่อมาจากชวนวิถี เพราะเหตุว่ารูปยังไม่ดับใช่ไหม ถ้าเป็นทางปัญจทวาร เพราะเหตุว่ารูปนี้มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ในเมื่ออายุของรูปยังไม่หมด ก็มีจิตอื่นที่กระทำหน้าที่รู้รูปนี้ต่อ เรียกว่าตทาลัมพนกิจ ซึ่งตทาลัมพนจิตก็เป็นชาติวิบากเท่านั้นเอง ถ้าเป็นรูปที่ไม่ดีที่เป็นอนิฏฐารมณ์ ตทาลัมพนจิตที่เกิดขึ้นก็เป็นอกุศลวิบากที่เกิดขึ้นรับรู้อนิฏฐารมณ์นั้น ถ้าเป็นอารมณ์ที่ดีเรียกว่าอิฏฐารมณ์ ตทาลัมพนจิตที่เกิดขึ้นก็เป็นส่วนของกุศลวิบากที่เกิดขึ้น เพราะเหตุว่าจิตชาติวิบากจะแบ่งแยกกันรู้อารมณ์ ถ้าเป็นอารมณ์ที่เป็นส่วนของอิฏฐารมณ์จะเป็นจิตที่เป็นกุศลวิบากเท่านั้นรู้อิฏฐารมณ์ ถ้าเป็นอนิฏฐารมณ์ก็เป็นอกุศลวิบากเท่านั้นที่รู้ แต่ถ้าเป็นกิริยา หรือว่ากุศลอกุศลอย่างนี้รู้ได้ทั้งรูปที่เป็นอิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์ ไม่เหมือนกัน

    ฉะนั้น ตทาลัมพนจิตก็เป็นจิตชาติวิบากเท่านั้นเอง ถ้าทุกท่านได้ฟังมาเรื่อยๆ ก็คือจะมีการพูดถึงการรับวิบากที่เป็นการเห็นได้ยินได้กลิ่นลิ้มรสกระทบสัมผัส ไม่เคยพูดถึงการรับวิบากทางใจเลยใช่ไหม ก็คืออันนี้ถ้าจะกล่าวถึง แต่ว่าไม่ปรากฏชัดเจนเท่านั้นจึงไม่กล่าวถึง รู้ไม่ได้ในชีวิตประจำวัน เวลามโนทวารวิถีใช่ไหม ก็จะมีอยู่ ๓ วิถีก็คือ ๑ อาวัชชนวิถี ๒ ชวนวิถี และ ๓ ตทาลัมพนวิถี ตทาลัมพนวิถีในทางมโนทวารก็เป็นชาติวิบากนั่นเอง ฉะนั้น เมื่อจะกล่าวถึงการรับวิบากทางมโนทวารมีไหม ก็มี ก็คือในตทาลัมพนจิตนั่นเอง แต่ว่าไม่ได้ปรากฏชัดเจนในชีวิตประจำวันเหมือนกับการเห็นได้ยินได้กลิ่นลิ้มรสกระทบสัมผัส ซึ่งเราสามารถรู้ได้ เพราะเหตุว่าเป็นการรู้อารมณ์ที่เป็นโคจรรูป หรือว่าวิสยรูป ๗ รูป ซึ่งรูปทั้ง ๗ รูปนี้สามารถปรากฏได้ในชีวิตประจำวัน

    ผู้ฟัง ที่บอกว่าเป็นกิริยาจิต กิริยาจิตที่เป็นของพระอริยบุคคลก็จะไม่มีตทาลัมพนะใช่ไหม เพราะตทาลัมพนะบ่งบอกถึงกามบุคคล แล้วมันต้องไปลงที่ภวังคจิตใช่ไหม

    อ.สุภีร์ ถ้าเป็นตทาลัมพนจิตที่เกิดต่อจากชวนะที่เป็นกิริยาของพระอรหันต์ ก็ยังเหมือนเดิม เพราะเหตุว่าพระอรหันต์ ถ้าเป็นท่านที่ยังอยู่ในภูมิที่มีรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ก็มีการรับรู้อารมณ์ที่เป็นรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะเหมือนกับพวกเราทั่วไป วิบากจิตนี้เหมือนกันเลย แต่ว่าชวนะเท่านั้นเองที่ไม่เหมือนกัน อย่างของเราชวนะเป็นกุศลอกุศล แต่พระอรหันต์เป็นกิริยาเท่านั้นเอง นอกนั้นเหมือนกันหมด

    ผู้ฟัง แล้วจะลงที่ตทาลัมพนะได้หรือ

    อ.สุภีร์ ก็หลังจากที่ชวนจิตที่เป็นชาติกิริยาของพระอรหันต์ครบ ๗ ขณะแล้วต่อไปก็เป็นตทาลัมพนะ

    ผู้ฟัง ตทาลัมพนะไม่ใช่เป็นของกามบุคคลเท่านั้นหรือ

    อ.สุภีร์ คำว่ากามบุคคล รวมพระอริยเจ้าทุกประเภท คำว่ากามบุคคลนี้ก็คือบุคคลที่เกิดในภพภูมิที่เกี่ยวกับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ได้แก่บุคคล หรือว่าสัตว์ต่างๆ ที่เกิดในภูมิ ๑๑ ภูมิ พระอรหันต์ถ้าเกิดในโลกมนุษย์ อย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ก็เป็นกามบุคคลนั่นเอง ถ้าเกิดในสวรรค์ ๖ ชั้น มนุษย์ แล้วก็อบายภูมิ ๔ อันนี้เป็นกามบุคคลหมด ถ้าเป็นพระอริยเจ้าที่เกิดในรูปพรหม ๑๖ แล้วก็อรูปพรหมอีก ๔ นั้น ก็ไม่ใช่กามบุคคล แต่ถ้าเกิดใน ๗ ภูมินี้ก็เป็นกามบุคคลเหมือนกัน

    ผู้ฟัง อาจารย์พูดเหมือนกับว่าตทาลัมพนะจะเกี่ยวกับรูปสีกลิ่นรส เช่นนั้นภูมิที่เกี่ยวกับพวกรูปพรหมหรืออรูปพรหมจะไม่มีตทาลัมพนะ หรืออย่างไร

    อ.สุภีร์ เฉพาะการรู้รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะเท่านั้นจึงมีตทาลัมพนะ ถ้าเป็นนอกจากนั้นแล้ว การรู้อารมณ์ของภูมิอื่นๆ ถ้าเป็นรูปพรหมก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับการรู้รูปนิมิตต่างๆ อันนั้นก็ไม่มีตทาลัมพนะ อรูปพรหมก็เช่นเดียวกันก็ไม่มีตทาลัมพนะ จะเกี่ยวข้องกับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะเท่านั้น

    ผู้ฟัง อยากจะเรียนถามคำว่าจิตประภัสสร คำถามก็คือว่าจิตประภัสสรจะเกิดขึ้นกับบุคคลที่เป็นปุถุชนได้หรือไม่

    อ.สุภีร์ เกิดขึ้นได้ จิตประภัสสรมี ๒ ประเภท คำว่าประภัสสรนี้จะใกล้เคียงกับคำว่าปัณฑระ ประภัสสระ ปัณฑระ ปัณฑระแปลว่าบริสุทธิ์ หมายถึงจิตทุกประเภทเลย เพราะเหตุว่าจิตทุกประเภทมีลักษณะที่รู้อารมณ์เท่านั้น ฉะนั้นว่าโดยตัวของจิตแล้วจิตจะบริสุทธิ์ แต่ว่าที่เราบอกว่าจิตที่เป็นโลภะนี้เศร้าหมอง จิตที่เป็นโทสะนี้ขุ่นเคืองอะไรอย่างนี้ อันนั้นเราพูดถึงเจตสิกที่ประกอบร่วมด้วย แต่ถ้าเป็นตัวจิตแล้วเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์เท่านั้น ฉะนั้นตัวจิตนี้บริสุทธิ์ จิตทุกประเภทจึงเป็นปัณฑระ แปลว่าบริสุทธิ์

    ส่วนจิตประภัสสร ประภัสสระก็คือการผ่องใสของจิต จิตที่ผ่องใสมีอยู่ ๒ ประเภทก็คือ ๑ เป็นภวังคจิตเป็นจิตที่ผ่องใส เพราะว่าไม่มีอกุศลเจือปนเลย แล้วก็จิตอีกประเภทหนึ่ง ก็คือจิตที่เป็นกุศล เป็นจิตที่เป็นประภัสสร อย่างปุถุชนทั่วไปก็มีกุศลด้วยใช่ไหม ฉะนั้นก็มีจิตที่ประภัสสรด้วย

    ผู้ฟัง เมื่อสักครู่นี้อาจารย์สุภีร์กล่าวว่าในจิตแต่ละดวงนี้ยังมีอนุสัยอยู่ ทีนี้จะบอกว่าภวังคจิตเป็นประภัสสร จะขัดกันหรือเปล่า

    อ.สุภีร์ ไม่ขัดกัน เพราะเหตุว่าอนุสัยกิเลสเป็นกิเลสขั้นที่ละเอียด ฉะนั้นจะไม่ได้เป็นการนำกิเลสชนิดนี้มาพิจารณาว่าจิตเศร้าหมองหรือไม่เศร้าหมอง เพราะว่าไม่มีอาการปรากฏให้เห็น อนุสัยกิเลสนี้จะไม่มีอาการปรากฏให้เห็นเลย ถ้าเกิดขึ้นใช่ไหม ถ้าเป็นโลภมูลจิต ถ้าเป็นละเอียดเราก็อาจจะยังไม่รู้ ถ้าเป็นแรงๆ มีอาการปรากฏให้เห็นใช่ไหม ถ้ามีกำลังมากก็ทำให้ล่วงอกุศลต่างๆ ได้ อันนี้มีลักษณะให้เห็น แต่ว่าอนุสัยกิเลสไม่มีลักษณะให้เห็นเลย เพราะว่าเป็นกิเลสที่ละเอียดมาก ต้องอาศัยปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นจึงจะมีการเจริญธรรมเพื่อละอนุสัย ถ้าเป็นบุคคลที่มีปัญญาระดับหนึ่งที่เขาสามารถทำฌานได้ ที่ไม่ใช่ในกาลที่เป็นพุทธกาล สามารถที่มีบุคคลมีปัญญาที่เห็นโทษของปริยุฏฐานกิเลส และวีติกกัมมกิเลสได้ แล้วก็ข่มกิเลสเหล่านี้ไว้ แต่ไม่มีปัญญาพอที่จะรู้จักอนุสัยกิเลส

    ฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติของผู้ที่มีปัญญาที่เห็นอนุสัยกิเลส กับไม่เห็นอนุสัยกิเลสนี้จึงต่างกัน สำหรับบุคคลที่มีปัญญามากแต่ว่าไม่รู้จักอนุสัยกิเลส เช่นพวกดาบสนอกศาสนาสมัยก่อนๆ ที่เขามีความเข้าใจเรื่องกุศลอกุศล เขารู้ว่าหลังจากเห็นแล้วได้ยินแล้วได้กลิ่นลิ้มรสกระทบสัมผัสเรียบร้อยแล้วส่วนใหญ่ก็จะเป็นอกุศล วิธีการที่จะไม่เป็นอกุศลก็คือไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่กระทบสัมผัส อันนี้เป็นวิธีการของบุคคลผู้ที่ไม่เห็นอนุสัยกิเลส ไม่เป็นไปเพื่อละอนุสัย เป็นเพียงการข่มกิเลสที่เกิดขึ้นไว้เท่านั้น เมื่อไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่กระทบสัมผัส ก็หาอารมณ์ให้ทางมโนทวารคือใจยึดเพื่อให้เป็นกุศล นี่เป็นวิธีการสมัยก่อนที่เขาทำกันมาแล้วก็ได้ขั้นสูงสุดคือเนวะสัญญานาสัญญายตนะ แต่วิธีการของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ใช่อย่างนั้น เพราะว่าเป็นไปเพื่อละอนุสัยกิเลสจริงๆ เป็นการละที่เหตุ เห็นได้ยินได้กลิ่นลิ้มรสกระทบสัมผัสแล้วเกิดกิเลส ไม่ใช่ให้ละการเห็น ไม่ใช่ให้ละการได้ยิน ไม่ใช่ให้ละการได้กลิ่น ไม่ใช่ให้ละการลิ้มรส ไม่ใช่ว่าให้ละการกระทบสัมผัส แต่ให้ละเหตุที่เมื่อเห็นแล้วเกิดกิเลสขึ้น เหตุคืออะไร ก็คืออนุสัยที่นอนเนื่องอยู่ในจิตนั่นเอง

    ฉะนั้นการละกิเลสของบุคคลที่มีปัญญาถึงระดับที่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ากับบุคคลภายนอกที่มีปัญญาเพียงเห็นโทษของกิเลสที่เป็นปริยุฎฐานะ และวีติกัมมะจึงแตกต่างกัน

    ผู้ฟัง อยากเรียนถามว่าฌานลาภีบุคคล เวลาเข้าฌาน แล้วคือเกิดแต่ชวนะ ชวนะชวนะ ได้ไม่รู้จบใช่ไหม ถึงได้ไม่มีตทาลัมพนะ และในกรณีที่ว่าเป็นกามบุคคล ต้องเป็นอติปริตรตารมณ์ ถึงจะไปที่ตทาลัมพนะอีก ๒ ขณะใช่ไหม ถึงแม้จะเป็นพระอริยบุคคล ถ้าเผื่ออารมณ์นั้นชัดเจน ก็ต้องไปลงที่ตทาลัมพนะด้วยใช่ไหม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 6
    30 ม.ค. 2568

    ซีดีแนะนำ