สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 007


    สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ ๗

    วันจันทร์ที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๔๕


    ท่านอาจารย์ วันนี้ก็ขอต่อที่ได้สนทนาคร่าวๆ ก่อน ธรรมเป็นเรื่องเบาๆ สบายๆ และก็มีโอกาสที่จะได้ฟังเหตุผลจากพระไตรปิฏกที่ทรงแสดงไว้สำหรับทุกชีวิตซึ่งเป็นชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้นคนที่ได้ฟังธรรมบ้าง หรือว่าอาจจะได้ศึกษามาแล้วบ้าง ถ้ามีปัญหาอะไรก็ขอเชิญ เพราะว่าในครั้งแรกๆ ก็คงจะต้องเป็นการสนทนาธรรมกันก่อน

    อ.อรรณพ ในคราวที่แล้ว เราก็ได้ศึกษาธรรมเพื่อที่จะรู้จักตนเองตามความเป็นจริงว่าเป็นเพียงสภาพธรรมเท่านั้น ตั้งแต่เราได้ศึกษากันถึงคำว่าธรรม ซึ่งเป็นสภาพที่มีจริง มีลักษณะ มีสภาวะจริง ไม่ว่าจะใช้คำใดๆ ก็ตามที่เราสนทนาไปแล้วไม่ว่าจะมีคำว่าธรรม ธาตุ อภิธรรม หรือปรมัตถ์ธรรม ซึ่งก็คือสิ่งที่มีจริงมีลักษณะ มีสภาวะจริงๆ ฉะนั้นก็คือ เริ่มทำความเข้าใจตั้งแต่เบื้องต้นตั้งแต่คำว่าธรรมซึ่งแม้ว่าจะใช้คำต่างๆ ก็มีความหมาย หรืออรรถอย่างเดียว คือสิ่งที่มีจริง ซึ่งปรมัตถธรรมมี ๔ ประการที่เราสนทนาไปแล้วก็มี จิต เจตสิก รูป และนิพพาน ซึ่งจิต เจตสิก และรูปเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัยปรุงแต่ง จึงเป็นสภาพที่เกิดดับ ซึ่งถ้าเราจะใช้คำศัพท์ซึ่งเราสนทนาไปแล้วก็คือเป็นสังขารธรรม คือสภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง หรือเป็นสังขตธรรม เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ ส่วนปรมัตถธรรมที่ ๔ คือนิพพานก็คือ สภาพที่ไม่อาศัยปัจจัยปรุงแต่ง ไม่ใช่สภาพที่เกิดดับจึงเป็นวิสังขารธรรมคือไม่อาศัยปัจจัยปรุงแต่ง และเป็นอสังขตธรรมคือไม่เกิดไม่ดับ สิ่งนั้นก็เป็นปรมัตถธรรมทั้ง ๔ ที่เราสนทนา แล้วเราก็มาถึงเรื่องของขันธ์ ซึ่งขันธ์ก็คือสภาพธรรมที่อาศัยปัจจัยปรุงแต่งเกิดดับ เพราะฉะนั้นขันธ์ ๕ ก็ได้แก่สภาพธรรมที่เป็นจิต เจตสิก รูปนั่นเอง เพียงแต่ทรงจำแนกออกเป็นรูปขันธ์คือกองของรูป หรือหมวดหมู่ของรูปซึ่งเป็นสภาพที่ไม่รู้อารมณ์ เวทนาเป็นสภาพของความรู้สึกเป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเป็นสภาพที่จำในอารมณ์ที่จิตรู้เป็นสัญญาขันธ์ และเจตสิกต่างๆ อื่นๆ ทั้งหมดที่ไม่ใช่เวทนาไม่ใช่สัญญาก็เป็นสังขารขันธ์ เพราะฉะนั้นเจตสิก ๕๒ ประเภทก็เป็นเวทนาขันธ์หนึ่ง เป็นสัญญาขันธ์หนึ่ง และอีก ๕๐ ก็เป็นสังขารขันธ์ ส่วนสภาพของจิตปรมัตถ์ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์ก็เป็นวิญญาณขันธ์ นี้ก็เป็นการที่เราได้เข้าใจถึงธรรมที่เป็นสภาพที่เกิดดับอาศัยปัจจัยปรุงแต่งก็คือขันธ์ทั้ง ๕ ซึ่งก็ได้แก่ปรมัตถธรรม ๓ คือจิต เจตสิก รูปนั่นเอง

    และในคราวที่แล้วก็ได้สนทนาในเรื่องขันธ์เพิ่มเติม ซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นสภาพที่เกิดดับ เกิดขึ้น และก็ดับไปในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นขันธ์ในกายเรา หรือว่าขันธ์ข้างนอก เช่นรูปที่เป็นโต๊ะ เก้าอี้ ภูเขา สิ่งต่างๆ ที่ไม่มีจิตใจก็เป็นรูปขันธ์ ขันธ์ทั้งหมดก็คือสภาพของธรรมที่เกิดขึ้น และดับไป แต่สภาพธรรมที่เป็นที่ยึดติดก็คือขันธ์ ที่เราเรียกว่าอุปาทานขันธ์ ซึ่งคราวที่แล้วอาจารย์สุภีร์ก็ได้อธิบายว่าอุปาทานก็คือสภาพที่ยึดถือยึดมั่น จะยึดในอะไร ก็ยึดในขันธ์ที่กำลังปรากฏนั่นเอง ซึ่งก็ขอให้ท่านอาจารย์ช่วยเสริมตรงนี้ การที่เราไม่เข้าใจว่าขันธ์กับอุปาทานขันธ์นี้ต่างกันอย่างไร ความเข้าใจตรงนี้จะเป็นประโยชน์เกื้อกูลในชีวิตประจำวันของเราอย่างไรบ้าง

    ท่านอาจารย์ ธรรมเป็นเรื่องละเอียด และก็คิดว่าเราก็คงจะต้องทบทวนกันบ่อยๆ ข้อสำคัญก็คือเราจะได้ยินศัพท์ใหม่ๆ แล้วเราก็อาจจะยังไม่ค่อยเข้าใจศัพท์นั้นๆ ถ้าเพียงแต่จำเฉยๆ ก็ง่าย แต่ถ้าจะให้เข้าใจจริงๆ ก็จะต้องไตร่ตรองพิจารณา เพราะว่ามีความละเอียดต่างกัน เช่น คำว่าสังขาร คนไทยก็ใช้ใช่ไหม สังขารไม่เที่ยงหมายความถึงอะไร สำหรับผู้ที่ไม่ได้ศึกษาธรรมก็คิดว่าเป็นแต่เพียงร่างกายเกิดมาแล้วก็แก่ แล้วก็เจ็บ แล้วก็ตาย สังขารไม่เที่ยง แต่ความหมายจริงๆ ของสังขาร เมื่อเริ่มศึกษาต้องเป็นผู้ที่เข้าใจความหมายที่ถูกต้อง และความเข้าใจนี้จะเปลี่ยนไม่ได้เลย ไม่ว่าจะศึกษาต่อไปในพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม หรือในอรรถกถาของพระพุทธศาสนาของพระไตรปิฎก ความหมายก็จะต้องเหมือนเดิม แต่ขยายความให้เข้าใจชัดเจนขึ้น เพราะฉะนั้นการศึกษาต้องเริ่มตามลำดับตั้งแต่ตอนแรก แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้นทีละน้อย เพราะฉะนั้นก็ขอทบทวนสำหรับผู้ที่อาจจะเพิ่งมาวันนี้ และสำหรับผู้ที่เคยฟังแล้ว๒-๓ ครั้ง ก็จะได้พิจารณาว่าไม่ต้องไปดูหนังสือที่ไหน เพียงแต่ฟัง แล้วก็พิจารณา แล้วก็เข้าใจก็จำได้ อย่างคำว่า สังขาร ก่อนศึกษาพระพุทธศาสนาเราก็เข้าใจว่าเป็นรูปร่างกาย แต่ว่าความหมายจริงๆ หมายความถึงสิ่งใดก็ตามในขณะนี้ที่กำลังปรากฏ หมายความว่าต้องเกิด ถ้าไม่เกิดจะปรากฏไม่ได้ เช่นเสียง ถ้าเสียงไม่เกิดขึ้นก็จะไม่มีการได้ยินเสียงนั้น เพราะฉะนั้นทุกอย่างในขณะนี้ทางตาหรือทางกายที่กระทบสัมผัส หรือทางใจที่คิดนึก หมายความว่าสภาพธรรมนั้น ต้องเกิดจึงได้ปรากฏ เพราะฉะนั้นความหมายที่แน่นอนของสังขารก็คือสภาพธรรมใดก็ตามที่ปรากฏหมายความว่าต้องเกิดขึ้น และสภาพธรรมที่จะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องมีปัจจัยปรุงแต่ง เราอาจจะไม่รู้เพราะว่าไม่เคยมานั่งคิดพิจารณาเลยว่าโลกทั้งโลกมีอะไรบ้าง และก็ปรากฏทางไหนบ้าง แต่เมื่อไม่ได้ศึกษาธรรมแล้ว โลกก็จะแคบหมายความว่าเป็นโลกเพียง ๖ โลกเท่านั้นเอง ถ้าเราไม่ศึกษาธรรม โลกมีมากมายใช่ไหม มองไปบนฟ้าก็เห็นดาวต่างๆ แต่ว่าตามความจริงแล้วในพระพุทธศาสนา โลกมี ๖ โลก คือขณะนี้กำลังเห็นเป็นโลกหนึ่ง ซึ่งสีสันวรรณะแสงสว่างรูปร่างสัณฐานต่างๆ ปรากฏ ขณะใดก็ตามที่มีการเห็นก็มีการปรากฏของโลกนี้ แต่ถ้าคนนั้นตาบอด โลกมืดสนิท จะไม่มีโลกแสงสว่างหรือว่าสีสันวรรณะต่างๆ ปรากฏเลย เพราะฉะนั้นโลกทางตานี้ก็เป็นโลกหนึ่ง โลกทางหูก็อีกโลกหนึ่ง ที่เราเคยปนรวมกันหมดทั้ง ๖ โลก แต่ถ้าแยกจริงๆ ออกมาเป็นแต่ละโลก ก็จะรู้ได้ว่า ไม่ว่าโลกที่เราคิดว่ากว้างใหญ่ไพศาลหรือกี่โลกก็ตาม ความจริงที่จะปรากฎได้ก็ ๖ ทาง คือทางตาโลกของสีสันวรรณะ ๑ ทางหูโลกของเสียง ทางจมูกโลกของกลิ่น ทางลิ้นโลกของรส ทางกายโลกที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และก็ทางใจก็คือโลกคิดนึก ไม่มีโลกใดๆ ปรากฏทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกาย แต่ใจก็เป็นโลกหนึ่ง ซึ่งคิด เวลาคิดนี้จิตใจเกิดขึ้นจึงได้คิด ถ้าขณะนั้นไม่มีจิตเลยก็ไม่มีสภาพรู้ไม่สามารถจะเห็น ไม่สามารถจะได้ยิน ไม่สามารถจะคิดนึกอะไรได้

    เพราะฉะนั้นเรากำลังจะพูดถึงสิ่งที่มีจริงซึ่งปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเมื่อเกิดขึ้น แต่ถ้าไม่เกิดก็ไม่ปรากฏ นี่คือความหมายของสังขาร สิ่งใดก็ตามที่ปรากฏเป็นสังขารทั้งหมด เป็นธรรมทั้งหมด ซึ่งมีประเภทที่ต่างกันเป็น ๒ อย่าง คือนามธรรมกับรูปธรรม รูปธรรมไม่สามารถที่จะรู้อะไรได้เลย และนามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ สามารถที่จะเห็น สามารถที่จะคิด หิว จำ เบื่อ ทั้งหมดนี้ไม่มีรูปร่าง แต่มีจริง เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีจริง และไม่ใช่สภาพที่จะไปรู้อะไรได้เลย สิ่งนั้นเป็นนามธรรมทั้งหมด เพราะฉะนั้นวันนี้ทั้งวันเลย ทุกขณะที่สภาพธรรมเกิดขึ้น ธรรมแต่ละอย่างที่เกิดเป็นสังขาร หรือจะใช้คำว่าสังขารธรรมก็ได้ เพราะฉะนั้นไม่จำกัดแต่เฉพาะรูปร่างตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า แต่ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง เกิดขึ้นปรากฏเป็นสังขารทั้งหมด ถ้าไม่เกิดไม่ปรากฏ ไม่เกิดจะเป็นสังขารได้ไหม ไม่ได้ แต่สิ่งใดเกิดจะไม่เป็นสังขารไม่ได้ ต้องเป็นสังขาร และความหมายของสังขารจากการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งทรงพระปัญญา สามารถที่จะรู้ความจริงของทุกสิ่งทุกอย่าง ได้ทรงประจักษ์ว่าสิ่งที่เรามองเห็นสืบต่อกันตั้งแต่เช้าจนถึงขณะนี้ ความจริงก็เป็นสภาพธรรมที่เพียงเกิดแล้วก็ดับเกิดแล้วก็ดับสืบต่อกัน อย่างตอนเช้าเราก็อาจจะมีความรู้สึกว่าเฉยๆ แต่พอได้อาหารที่อร่อยความรู้สึกก็เปลี่ยนเป็นชอบ มีความสุขโสมนัส และก็ถ้าเกิดดับก็กลายเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นสภาพธรรมแต่ละอย่างนั้น เพียงเกิดแล้วก็ดับ แต่ว่าเกิดแล้วก็ดับสืบต่อกันเรื่อยๆ แล้วก็เปลี่ยนแปลงไปทุกขณะ ไม่มีขณะไหนเลยซึ่งคงที่

    เพราะฉะนั้นความหมายของสังขารธรรมก็คือว่าสิ่งใดก็ตามที่เกิดในขณะนี้กำลังปรากฏดับทุกขณะ เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ จริงหรือไม่ คือการฟังธรรมต้องฟังจนกระทั่งเป็นความรู้ความเข้าใจของเราเองนั่นเป็นประโยชน์ แม้ว่าจะทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฏกมากมายแต่เป็นปัญญาของผู้ที่ตรัสรู้ทั้งนั้น ตั้งแต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจนถึงพระอรหันต์ทั้งหลายซึ่งได้ทำสังคยานา สืบต่อพระธรรมจารึกเป็นพระไตรปิฎกมาถึงเรา ก็เป็นปัญญาของท่านเหล่านั้นที่ท่านรู้แล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อศึกษาธรรม ก็ต้องพิจารณาจนกระทั่งเป็นความรู้เป็นความเข้าใจของเราเองแม้ว่าน้อยนิด แต่ก็เป็นความเข้าใจที่ถูก และความเข้าใจที่ถูก ก็จะเพิ่มขึ้นเพิ่มขึ้นรู้ชัดเจนยิ่งขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่ฟังธรรม ขอให้เข้าใจคำที่ได้ยินได้ฟังชัดเจน เช่น ธรรมคือสิ่งที่มีจริง ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร เพราะฉะนั้นทุกอย่างเป็นธรรม แต่ธรรมมี ๒ อย่าง คือสภาพธรรมที่เกิด และก็ไม่รู้อะไรเป็นรูปธรรม ส่วนสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งนั้นเป็นนามธรรมเพราะเหตุว่าไม่มีรูปร่าง ถ้าโลกทุกโลกมีแต่รูปธรรม จะมีการเดือดร้อนไหม ฝนจะตกน้ำจะท่วม ไฟจะไหม้ ไม่มีสภาพรู้ ธาตุรู้ ไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน จะไม่มีการเดือดร้อนใดๆ เลย แต่เพราะเหตุว่า มีธรรมหรือธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อเกิดแล้วต้องรู้ ไม่รู้ไม่ได้ เป็นธาตุรู้ เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น ขณะนี้เสียงปรากฏได้เพราะว่ามีสภาพที่ได้ยินเสียงนั้น สามารถได้ยินเสียงทั้งๆ ที่เสียงนั้นไม่มีรูปร่าง มองก็ไม่เห็น แต่ธาตุรู้หรือนามธาตุ สามารถจะได้ยิน เพราะฉะนั้นนามธาตุเป็นธาตุที่ไม่มีรูปร่างสัณฐาน แต่ว่ามีความวิจิตรหลากหลายมาก เริ่มจากการที่ว่าเป็นสภาพรู้ แต่สภาพรู้นี้ จะขยายออกไปอีกมากเป็นประเภทต่างๆ เพราะฉะนั้นก็ให้ทราบว่าธรรมที่เกิดมีลักษณะที่ต่างกันเป็น ๒ อย่าง คือนามธรรมกับรูปธรรม นามธรรมเป็นสังขารหรือไม่ นามธรรมเป็นสังขาร รูปธรรมเป็นสังขารหรือไม่ เป็น นี่คือประโยชน์จากการฟัง ต้องไม่ลืม ต่อไปก็จะมีคำอธิบายให้เข้าใจชัดเจนขึ้น ขณะนี้ก็มีคำว่าสังขาร แต่ก็แยกสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถ์ธรรม ๔ จิต คือจิต เจตสิก รูป และนิพพาน สำหรับสภาพธรรมที่เกิดเท่านั้นที่จะเป็นขันธ์ เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่เป็นขันธ์ได้แก่จิต เจตสิก รูป แต่นิพพานไม่ใช่ขันธ์ เพราะเหตุว่านิพพานไม่มีการเกิดดับ แต่สภาพธรรมที่เกิดเพราะมีปัจจัยปรุงแต่งแล้วดับเป็นขันธ์ทั้งหมด

    สำหรับรูปทุกชนิดเป็นสภาพที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น ไม่ว่าเสียงในอดีต ๕๐๐๐ ปี สองล้านปีมาแล้ว หรือว่าข้างหน้า เสียงก็คงเป็นเสียงจะเปลี่ยนเสียงให้เป็นอย่างอื่นได้ไหม ไม่มีทางเลย นี่คือสภาพที่เป็นปรมัตถธรรมมีลักษณะเฉพาะของสภาพธรรมนั้นๆ ซึ่งใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะฉะนั้นเสียงเป็นรูปขันธ์ กลิ่นมีจริงๆ เป็นรูปขันธ์หรือนามขันธ์ มองไม่เห็นกลิ่น เป็นรูปขันธ์หรือนามขันธ์ เป็นรูปขันธ์ เพราะเหตุว่าไม่รู้อะไร รสต่างๆ เป็นรูปขันธ์หรือนามขันธ์ รูปขันธ์ เพราะฉะนั้นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ กำลังปรากฏ เกิดหรือเปล่าจึงได้ปรากฏ ต้องเกิด และก็กำลังปรากฏ เป็นขันธ์อะไร สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา รูปขันธ์ อะไรอะไรก็ตามที่ไม่ใช่สภาพรู้ก็เป็นรูปขันธ์ทั้งหมด

    เพราะฉะนั้นรูปในชีวิตประจำวันก็คือ ๑ สิ่งที่ปรากฏทางตา ๒ เสียงที่ปรากฏทางหู ๓ กลิ่นที่ปรากฏทางจมูก ๔ รสที่ปรากฏทางลิ้น ส่วนที่ปรากฏทางกาย ขณะนี้ลองดูว่ามีอะไรที่กายที่กระทบแล้วก็ปรากฏ แข็งหรืออ่อน เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว เพราะฉะนั้นรูปทั้งหมดที่ทรงแสดงไว้ มี ๒๘ รูป แต่รูปที่ปรากฏในชีวิตประจำวันจริงๆ เพียงแค่ ๗ รูป ที่เป็นอารมณ์ทางตา ๑ ทางหู ๑ ทางจมูก ๑ ทางลิ้น ๑ ทางกาย ๓ ลองนับดูก็ได้ ๗ ใช่ไหม ๗ รูป ปรากฏทุกวันมีใครบ้างที่รูป ๗ รูปนี้ไม่ปรากฏ ทางตาลืมตาขึ้นมาก็ปรากฏแล้วรูปหนึ่ง เปิดวิทยุฟังได้ยินเสียง เสียงก็เป็นอีกรูปหนึ่ง เวลารับประทานอาหารก็มีกลิ่นก็อีกรูปหนึ่ง รสก็อีกรูปหนึ่ง ขณะที่นั่งรับประทานอาหารก็แค่เย็นร้อนอ่อนแข็งตึงไหว เท่านี้เอง แต่ว่าเป็นที่ตั้งของความยินดี ความปรารถนาหรือความต้องการตลอดชีวิต ถึงจะอยู่ที่ไหนตายแล้วเกิดอีก ก็ติดในรูปที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะฉะนั้นรูปขันธ์นี้ เป็นรูปูปาทานขันธ์ หมายความว่าเป็นที่ตั้งของความยึดถือ มีใครบ้างที่ไม่ยึดถือรูป ไม่มี เพราะฉะนั้นพอได้ยินคำว่าอุปาทาน คือความยึดถือ ก็ต้องรู้ว่ายึดถือในอะไร ต้องมีสิ่งที่ถูกยึดถือ ใช่ไหม เพราะฉะนั้นก็ยึดถือในรูป สละรูปไหม สิ่งที่มีอยู่ที่บ้าน รูปต่างๆ ที่มีอยู่ที่บ้านนี้สละไหม ไม่สละ ยึดถือ สละได้บ้างบางกาล แต่ไม่สามารถที่จะสละให้หมดได้ เพราะฉะนั้นการสะสมหรือการเข้าใจธรรมจึงมีต่างระดับ อย่างคฤหัสก็จะต่างกับเพศบรรพชิต ถ้าเป็นบรรพชิตท่านก็เห็นว่าการติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรสในสัมผัส ซึ่งใช้คำว่าโผฏฐัพพะ ธาตุดินน้ำไฟลมซึ่งกำลังปรากฏ ภาษาบาลีใช้คำว่าโผฏฐัพพะ เป็นสิ่งที่จริงๆ แล้วยิ่งติดมากเท่าไรก็ยิ่งนำความทุกข์มาให้เท่านั้น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงหนทางที่จะทำให้ดับทุกข์จริงๆ ไม่ใช่เพียงมีบ้างไม่มีบ้าง หรือว่าหายไปบ้างกลับมาบ้าง แต่ว่าสามารถที่จะดับทุกข์ได้จริงๆ แต่เป็นหนทางที่ยาก แต่ว่าเป็นไปได้ แต่ต้องอาศัยการฟังพระธรรมให้เข้าใจว่าหนทางนั้นคืออย่างไร

    แต่ก่อนอื่นก็ไม่มีใครที่จะไปบอกให้ใครสละอะไรหมด แต่ว่าให้รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือว่าพระธรรมทำให้คนที่ได้ฟัง พิจารณา และก็รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง ถ้ารู้จักตัวเองตามความเป็นจริง รู้จักคนอื่นไหม เหมือนกันไหม ความโกรธของเรากับความโกรธของเด็กเล็กๆ กับความโกรธของสุนัขเหมือนกันไหม เหมือน เพราะเป็นธรรม ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เป็นสภาพธรรมที่เมื่อมีปัจจัยก็เกิดขึ้น เดี๋ยวนี้มีหรือเปล่า เดี๋ยวนี้ไม่มีก็หมายความว่าไม่มีเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดขึ้น แต่จะเกิดเมื่อมีเหตุปัจจัย บังคับบัญชาไม่ได้ ทุกคนอยากเป็นคนดีแสนดี ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ แต่ก็ต้องมีเพราะเหตุว่ามีเหตุที่จะให้เกิดขึ้น แต่อย่างน้อยที่สุดเริ่มเข้าใจว่าทุกอย่างเป็นธรรม ก็จะทำให้เราละคลายการไม่เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวันซึ่งเกิดปรากฏตลอดเวลาแล้วก็ยึดถือว่าเป็นเรา สิ่งนี้ก็เป็นเรื่องที่จะเข้าใจคำว่ารูปขันธ์ ส่วนเวทนาขันธ์ได้แก่ความรู้สึก ทุกคนยึดมั่นในความรู้สึกอย่างมากต้องการสุขเวทนา โสมนัสเวทนา ไม่มีใครต้องการทุกข์ ไม่มีใครต้องการโทมนัส โศกเศร้าเสียใจแต่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อมีเหตุที่จะให้ความรู้สึกนั้นเกิดขึ้น ความรู้สึกนั้นก็เกิด

    เพราะฉะนั้นสำหรับปรมัตถธรรม ๓ คือจิต เจตสิก รูป แยกเป็นขันธ์ ๕ คือรูปทุกชนิดทุกประเภทไม่ว่าในอดีตปัจจุบันอนาคตก็คือประเภทของรูปนั่นเอง เป็นรูปขันธ์ สำหรับเวทนาคือความรู้สึก ไม่ใช่จิตแต่เป็นเจตสิก แต่ก็มีความสำคัญมาก เราแสวงหารูปทำไม เพื่อเวทนาจะได้รู้สึก โสมนัส ดีใจ เสียงอีก กลิ่นอีก รสอีก แสวงมาเพื่อเวทนาทั้งนั้น แต่เวทนาก็ไม่เที่ยง เกิดขึ้น และก็ดับไป เพราะฉะนั้นทุกอย่างชั่วคราว มีจริงชั่วขณะที่ปรากฏ แต่เมื่อไม่ปรากฏแล้วอยู่ที่ไหน ไม่มีที่อยู่เลย ดับไม่กลับมาอีกเลย เพราะฉะนั้นทุกขณะก็คือสภาพธรรมที่มีเหตุปัจจัยเกิดแล้วก็ดับคือเกิด และก็ไป ไป ไป ไปตลอดเวลา ก่อนนี้ก็ไปแล้วใช่ไหม ขณะก่อน ขณะนี้ก็กำลังไปต่อไปก็คือไป ไม่หยุดที่จะไป นี่คือสังสารวัฎ แต่ให้ทราบว่าแท้ที่จริงก็คือจิต เจตสิก รูป ซึ่งแยกเป็นรูปขันธ์ เวทนาเจตสิกเป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิกเป็นสัญญาขันธ์ เจตสิกที่เหลือเท่าไหร่ ๕๐ เป็นสังขารขันธ์ เป็นเราหรือเปล่า ถ้าบอกว่าเป็นสังขารขันธ์ ต้องไม่ใช่เรา เวลาที่ขยัน มีจริงๆ หรือเปล่า ความขยันมีจริง เป็นจิตหรือเป็นเจตสิก เป็นเจตสิก เป็นขันธ์อะไร สังขารขันธ์ คือถ้ายกรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ออกไป ที่เหลือคือสังขารขันธ์ทั้งหมด โลภะก็เป็นสังขารขันธ์ สติเป็นขันธ์อะไร สังขารขันธ์ ปัญญาเป็นขันธ์อะไร สังขารขันธ์ เพราะฉะนั้นชีวิตเราทั้งหมดที่เราบอกว่าคนนั้นดี ไม่โลภก็คือสังขารขันธ์คืออโลภเจตสิกเกิด เพราะฉะนั้นในขณะนั้นก็เป็นสภาพที่เกิดแล้วก็ดับไป ก็เป็นขันธ์ทั้งนั้นเลยทุกอย่างชั่วคราว ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นมีปรากฏเพียงชั่้วคราวแล้วก็ดับไป ก็คงจะไม่มีข้อสงสัยเรื่องขันธ์ ๕ ได้ยินที่ไหนก็รู้ได้แก่จิตเป็นวิญญาณขันธ์ รูปเป็นรูปขันธ์ เจตสิก ๕๒ เวทนาซึ่งเป็นสภาพรู้สึกเป็นเวทนาขันธ์ สัญญาคือเจตสิกที่จำเป็นสัญญาขันธ์ นิพพานไม่ใช่ขันธ์ มีข้อสงสัยในเรื่องนี้หรือไม่ ใครไม่มีอุปทานบ้าง ไม่มีความยึดมั่นในขันธ์เหล่านี้มีหรือไม่ ไม่ยึดมั่นในรูป ไม่ยึดมั่นในความรู้สึกคือเวทนา ไม่ยึดมั่นในสัญญาความจำ ไม่ยึดมั่นในโลภะ โทสะ สติ ปัญญา หรืออะไรก็แล้วแต่ซึ่งมีอยู่ที่ตัวเอง ไม่มี ใช่ไหม เพราะฉะนั้นก็เป็นอุปาทานขันธ์


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 6
    24 พ.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ