สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 008


    สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ ๘

    วันจันทร์ที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๔๕


    ท่านอาจารย์ จิตเป็นวิญญาณขันธ์ รูปเป็นรูปขันธ์ เจตสิก ๕๒ เวทนาซึ่งเป็นสภาพรู้สึกเป็นเวทนาขันธ์ สัญญาคือเจตสิกที่จำเป็นสัญญาขันธ์ นิพพานไม่ใช่ขันธ์ มีข้อสงสัยในเรื่องนี้หรือไม่ ใครไม่มีอุปทานบ้าง ใครไม่มีความยึดมั่นในขันธ์เหล่านี้ มีไหม ไม่ยึดมั่นในรูป ไม่ยึดมั่นในความรู้สึกคือเวทนา ไม่ยึดมั่นในสัญญาความจำ ไม่ยึดมั่นในโลภะ โทสะ สติ ปัญญาหรืออะไรก็แล้วแต่ซึ่งมีอยู่ที่ตัวเอง ไม่มี ใช่ไหม เพราะฉะนั้นก็เป็นอุปาทานขันธ์ แสดงให้เห็นว่าเรารู้จักตัวเราขึ้นใช่ไหมว่าเป็นขันธ์ทั้งหมดแล้วแต่ว่ามีเหตุปัจจัยที่ขันธ์ไหนจะเกิดขันธ์นั้นก็เกิด ถ้ามีคำถามเชิญ

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวว่าเสียงเกิดขึ้นจึงปรากฏ ปรากฏในขันธ์ ๕ ปรากฏอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ปรากฏกับจิตที่ได้ยิน

    ผู้ฟัง ปรากฏกับจิตที่ได้ยิน แล้วเสียงนั้นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ บางท่านก็จะกล่าวถึงเสียงในป่า เสียงในป่าหรือเสียงที่ไหนก็ตามแต่ เสียงในครัว เสียงในห้องน้ำหรือที่ไหนก็ตามแต่ เสียงเกิดขึ้นเพราะของแข็งกระทบกัน เป็นความกังวานหรือเป็นรูปชนิดหนึ่ง ซึ่งโสตปสาททุกคนที่มีรูปพิเศษที่กลางหู สามารถที่จะกระทบเฉพาะเสียง ถ้ามีรูปนี้อยู่แล้วก็มีเสียงกระทบก็จะมีจิตได้ยินเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง แล้วถ้าเราไม่อยากฟัง ไม่อยากได้ยิน

    ท่านอาจารย์ ไม่อยากได้ยินเลยก็เกิดเป็นคนหูหนวก ไม่ต้องได้ยิน แต่ถ้าเป็นคนหูหนวก ปัญญาก็ไม่สามารถจะรู้ความจริงได้ เพราะฉะนั้นบางลัทธิจะสอนว่า ให้ไม่เห็นให้หลับตา ให้ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส จะได้ไม่มีกิเลส แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ทรงแสดงอย่างนั้น สิ่งใดที่มีแล้วไม่รู้ตามความเป็นจริงต้องอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ความจริงจึงจะละได้ เพราะฉะนั้นในพระพุทธศาสนา ปัญญาจะเกิดไม่ต้องหลับตา ขณะที่กำลังมีสิ่งที่ปรากฏ ฟังแล้วก็เข้าใจจริงๆ ว่าขณะนี้เป็นธรรมที่ปรากฏทางตา แล้วก็ต้องมีจิตที่เห็น ถ้าจิตเห็นไม่มี สิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้ก็มีไม่ได้ อย่างในห้องนี้ถ้าเกิดมีคนหลับ จะเห็นไหม ทั้งๆ ที่มีแสงสว่างมีสีสรรอย่างนี้ คนที่ไม่หลับก็มีจิตเห็น แต่คนที่หลับขณะนั้นจิตไม่ได้ทำหน้าที่เห็น เพราะฉะนั้นสิ่งนี้จึงไม่ปรากฏ

    ผู้ฟัง เมื่อสักครู่กล่าวถึงอุปทานคือความยึดมั่นถือมั่น ถึงระดับไหนจึงจะหลุดพ้นจากอุปทานได้

    ท่านอาจารย์ ผู้ที่มีปัญญาที่รู้ความจริงของสภาพธรรมว่าไม่ใช่ตัวตน สามารถที่จะประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไปของสภาพธรรม จะหมดความสงสัยว่าไม่ใช่เรา จะเป็นเราได้อย่างไรเพียงเกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ

    ผู้ฟัง เมื่อสักครู่ได้ยินที่กล่าวกันว่าไม่ว่าจะเป็นสติหรือปัญญาก็เป็นสังขารขันธ์ความต่างกันระหว่างสติกับปัญญานี้ คืออย่างไร

    อ. อรรณพ แม้ว่าสังขารขันธ์จะมีประเภทที่แตกต่างจำแนกแล้วก็เป็น ๕๐ ประเภทท่านอาจารย์ก็กล่าวแล้วว่า เจตสิก ๕๐ เป็นสังขารขันธ์ แต่สติก็เป็นสังขารขันธ์ประเภทหนึ่งซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างจากปัญญา ตรงที่สติเป็นสภาพที่ระลึกได้ และสติเจตสิกเป็นหนึ่งในสังขารขันธ์ที่จะเกิดกับจิตที่เป็นฝ่ายดีงามทุกดวงทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นกุศลจิตหรือจิตอื่นๆ ที่เป็นฝ่ายดีงาม จะต้องมีสติเกิดร่วมด้วยกับจิตดวงนั้นเสมอ ซึ่งเมื่อสติเจตสิกเกิดร่วมด้วยกับจิตดวงใด ก็ปรุงแต่งให้จิตดวงนั้นเป็นสภาพที่ระลึกได้ ด้วยความเป็นกุศลหรือด้วยความที่เป็นสภาพจิตที่ดีงาม เพราะฉะนั้นสติจึงเกิดกับจิตที่ดีงามทุกดวง ส่วนปัญญานั้นเป็นสภาพของเจตสิกธรรมอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นสภาพที่รู้เข้าใจซึ่งก็มีระดับที่แตกต่างกัน ซึ่งปัญญาจะต้องเกิดกับจิตที่เป็นฝ่ายดีงามเหมือนกัน แต่ในบางครั้งปัญญาไม่เกิดแต่สติเกิด จึงมีกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา และกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา แม้กุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วยแต่ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย เช่น ในขณะที่เราอาจจะให้ทานหรือรักษาศีลซึ่งในขณะนั้นอาจจะทำตามผู้อื่นไป ขณะนั้นก็เป็นจิตที่ผ่องใสในขณะที่เราสละวัตถุสิ่งของให้ไป โดยที่อาจจะไม่มีความเข้าใจ อย่างเช่นตอนที่เป็นเด็กๆ เห็นว่าคุณพ่อคุณแม่ทำเช่นนี้ก็มีกุศลกิจที่จะทำอย่างนั้นโดยที่ไม่ได้เข้าใจถึงเหตุผล แต่ขณะนั้นก็เป็นกุศลที่ผ่องใส เป็นสภาพที่ระลึกได้ที่จะไม่เป็นอกุศล ขณะนั้นก็มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ในขณะนั้นอาจจะไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยก็ได้ แต่ในขณะที่มีความเข้าใจอย่างเช่น เข้าใจในเรื่องของกรรม และผลของกรรม เข้าใจในเรื่องของธรรมที่เรากำลังสนทนากันขณะนี้ ขณะนั้นปัญญาเจตสิกก็เกิดร่วมด้วย จึงเป็นจิตที่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยอย่างเช่นในขณะนี้ ซึ่งเราอาจจะไม่รู้ลักษณะของจิต รู้ลักษณะของเจตสิกที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เกิดแล้วก็ดับไป เกิดแล้วก็ดับไป ขณะที่เรามีความเข้าใจในธรรม ในขณะที่เราเข้าใจขณะนั้นมีสติเกิดขึ้นเป็นสภาพที่ระลึกได้ และมีปัญญาเกิดขึ้นรู้ เข้าใจ ในสิ่งที่กำลังพิจารณาหรือในสิ่งที่เป็นอารมณ์ของจิต และเจตสิกในขณะนั้น ซึ่งอารมณ์คือสิ่งที่จิตรู้ เมื่อจิตเกิดขึ้นพร้อมกับเจตสิก จะต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด สิ่งที่จิต และเจตสิกรู้เรียกว่าอารมณ์ เพราะฉะนั้นปัญญากับสติจึงแตกต่างกันแม้ว่าจะเป็นสภาพที่เป็นเจตสิกฝ่ายดีงามด้วยกัน แต่ก็ต่างกัน

    ท่านอาจารย์ ฟังเรื่องสติแล้วไม่ทราบว่าขณะนี้มีสติรึเปล่า ต้องเป็นความเข้าใจจริงๆ เพราะว่าภาษาไทยเราใช้คำภาษาบาลีซึ่งไม่ตรงกับสภาพธรรม เช่น บางคนก็เข้าใจว่าถ้าเดินข้ามถนนไม่หกล้ม หรือทำอะไรไม่ตกหล่นเสียหาย เขาก็บอกว่ามีสติแต่ความจริงไม่ใช่ เราใช้คำว่าสติของเราเอง แต่ถ้าเป็นสติที่เป็นสภาวธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ต้องเป็นเจตสิกไม่ใช่จิต เพราะว่าบางขณะเวลาที่อกุศลจิตเกิดสติเจตสิกจะเกิดไม่ได้ เวลาที่กุศลจิตเกิดไม่ว่าจะเป็นกุศลประเภทใดเท่านั้นที่สติเจตสิกจะเกิด เวลาที่ให้ทานหรือให้สิ่งของที่เป็นประโยชน์กับคนอื่น หรือแม้แต่จะช่วยใครสักคนหนึ่งซึ่งเขากำลังถือของหนักๆ ขณะนั้น จิตอ่อนโยน มีความเป็นมิตรต้องการที่จะเกื้อกูลพร้อมที่จะช่วยเหลือ ขณะนั้นเป็นกุศลจิตต้องมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นวันนึงวันนึงก็จะมีกุศลได้ ถ้าเราเข้าใจว่าขณะไหนเป็นขณะที่เป็นกุศลจิต ขณะไหนเป็นจิตที่เป็นอกุศลก็ต้องศึกษาพอสมควร ไม่ใช่ความหมายเดิมที่เราเคยคิดเคยเข้าใจว่าข้ามถนนไม่หกล้ม รถไม่ทับพวกนั้นจะเป็นสติไม่ได้ แต่ต้องเป็นไปในฝ่ายกุศล เพราะฉะนั้นสภาพธรรมนี้แม้มี แต่รู้ยาก เพราะเหตุว่าเกิดแล้วก็ดับไปเร็วมาก อย่างขณะนี้ถ้าถามว่ามีสติไหม จะตอบว่าอย่างไร รู้จักแล้วว่าสติคืออะไร เพราะฉะนั้นขณะนี้มีสติไหม แน่ใจใช่ไหม คือต้องเป็นตัวเองที่จะตอบ เพราะว่าเป็นจิตของตัวเอง เราจะไปตอบว่าคนนั้นมีสติในได้ไหม ไม่ได้ใช่ไหม ใครจะรู้ใจใครคนอื่นรู้ไม่ได้ ใช่ไหม ต้องเฉพาะตัว เพราะฉะนั้นขณะนี้ ขณะที่ท่านผู้ฟังตอบว่ามีสติเพราะเห็นว่าท่านกำลังฟังธรรม และขณะที่ฟังก็เข้าใจ ขณะนั้นก็คือว่าต้องมีสติ แต่ถ้าฟังแล้วก็ง่วง และก็เบื่อ ทั้งๆ ที่ฟังด้วยกันแล้วจะบอกว่าคนที่กำลังง่วงกำลังเบื่อมีสติได้ไหม ไม่ได้ ต้องเป็นเฉพาะตัวจริงๆ คือต้องสามารถที่จะเข้าใจได้ว่า เมื่อสติเกิดขณะใดก็ต้องเป็นสภาพธรรมฝ่ายดีเป็นไปในทางดีทั้งกายทั้งวาจา

    ผู้ฟัง คนสมัยนี้นิยมที่จะไปทำบุญ ไปวัด ไปทอดกฐิน ทอดผ้าป่า ถวายสังฆทานเหล่านี้ พวกนี้มีสติบ้างไหม ถ้าพอมีแล้วนี้มีปัญญาหรือไม่

    ท่านอาจารย์ เราไม่สามารถที่จะรู้ใจใครได้ สภาพธรรมเกิด และดับไปเร็วมาก เพราะฉะนั้นใจที่จะรู้ได้ก็คือใจของเราเอง คนกำลังโกรธ กำลังใช้วาจาที่ไม่สุภาพ มีสติหรือไม่ขณะนั้น ไม่มี เป็นอกุศล

    ผู้ฟัง เวลานี้ก็มีปัญหากับตัวเองอยู่คือไม่อยากจะโกรธใคร แต่ก็โกรธ ไม่อยากจะโกรธเขาเลยก็โกรธ

    ท่านอาจารย์ มีใครอยากโกรธบ้าง ไม่ใช่คุณบุษบงรำไพคนเดียวที่ไม่อยากโกรธใครๆ ก็ไม่อยากโกรธ ต้องเป็นพระอนาคามีบุคคล

    ผู้ฟัง หนักใจอย่างนี้เราก็ไม่อยากจะโกรธเลย

    ท่านอาจารย์ นี้แสดงความรักตัว อุปาทานขันธ์ ในเวทนาขันธ์ ในสัญญาขันธ์ ในสังขารขันธ์ ในวิญญาณขันธ์ ไม่มีใครเลยสักคน แต่ว่าเมื่อมีสภาพธรรมนี้เกิดขึ้นด้วยความไม่รู้ก็ยึดถือว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้นต้องการทุกอย่างที่ดีที่สุดสำหรับเราคนนี้ เช่น ให้มีจิตที่เป็นกุศลบ้าง ให้ไม่โกรธบ้าง อะไรที่ดีๆ ก็อยากจะให้คนนี้ แต่ด้วยความยึดมั่นว่าเป็นเรา ตราบใดที่มีความยึดมั่นก็ยังมีความเห็นแก่ตัวอยู่ เราสามารถที่จะเป็นคนดีอย่างที่เราต้องการได้ไหม ถ้าเรายังมีความยึดมั่นในตัวของเราอย่างหนาแน่น เหนียวแน่น เราจะเป็นคนดีอย่างที่เราต้องการได้ไหม ไม่ได้เลย ต่อเมื่อไรที่เราละคลายความยึดมั่นในความเป็นเรา เริ่มจะคิดถึงคนอื่น ทำทุกสิ่งเพื่อคนอื่น ขณะนั้น ไม่ใช่เพื่อเรา เราก็จะเป็นคนดีในทุกๆ ทาง เพราะฉะนั้นคนดี หรือว่าต้องการสิ่งที่ดี เช่น ไม่โกรธ ก็ไม่ใช่หมายความว่ายังมีความเป็นเราอยู่เต็มที่แล้วก็จะเป็นอย่างที่ต้องการได้

    ผู้ฟัง คนที่มีนิสัยโน้มเอียงไปในทางโทสะให้เจริญเมตตา คนที่มีนิสัยไปในทางราคะ ต้องเจริญอสุภะ ขอให้อาจารย์อธิบาย

    ท่านอาจารย์ เจริญเมตตา เจริญอสุภะโดยไม่มีปัญญา ได้ไหม เพราะฉะนั้นก่อนอื่น ไม่ใช่เพียงแต่ว่าเราเจอข้อความใดในพระไตรปิฎก และเราก็มานั่งทำเองโดยที่ไม่มีความเข้าใจ อย่างเจริญเมตตา บางคนเขาก็ไปท่อง ใช่ไหม สัพเพสัตตา แต่อยู่ในมุมมืด อยู่ในห้อง พอออกมาก็โกรธ อย่างนั้นเรียกว่าเจริญเมตตาหรือเปล่า มีผู้ที่เล่าให้ฟัง ผู้นั้นก็เป็นชาวต่างประเทศ เขาก็ไปที่วัดต่างจังหวัดก็มีพระภิกษุรูปหนึ่งที่นั่น ท่านก็เจริญเมตตาเป็นประจำ ก็มีคนที่ไปหาท่าน ท่านไม่มีความสุขเลยเพราะมารบ กวนการเจริญเมตตาของท่าน อย่างนี้เป็นเมตตาหรือเปล่า เพราะฉะนั้นทุกอย่างจะถูกต้องได้ด้วยความเห็นถูกความเข้าใจถูก ถ้าไม่มีความเห็นถูกความเข้าใจถูกเพียงอ่าน พระพุทธศาสนาไม่ใช่เป็นสิ่งที่เพียงอ่านแล้วจะเข้าใจ แต่ต้องเป็นผู้ที่ศึกษาทุกคำ เข้าใจทุกคำละเอียด เช่น คำว่าธรรม ปรมัตถธรรม อภิธรรม อุปาทานหรือขันธ์ หรือว่าอะไรก็ตาม ทุกอย่างสังขารธรรม สังขารขันธ์พวกนี้ ต่อไปก็จะต้องรู้ว่าต้องเป็นคนที่ละเอียดจริงๆ จึงสามารถที่จะเข้าใจธรรมได้ เพราะฉะนั้นก็คงจะไม่สนับสนุนให้ใครทำอะไรโดยที่ไม่มีปัญญา เพราะเหตุว่าในพระพุทธศาสนาเป็นคำสอนของผู้ตรัสรู้ ผู้ตื่นจากความไม่รู้ ผู้เบิกบานเพราะเหตุว่าไม่มีกิเลส ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ใครไม่อยากโกรธ ใครอยากจะมีเมตตาก็ไปนั่งทำอะไรกันโดยที่ไม่มีความรู้อะไร ให้ทราบว่า ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามจะมีความสนใจในคำสอนในหนังสืออะไรอะไรก็ตามที่เข้าใจว่าเป็นประโยชน์ แต่ถ้าไม่สามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏได้ สื่งนั้นไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้แต่เรื่องของการเจริญเมตตา ต้องมีปัญญาที่จะรู้ว่าอบรมเจริญอย่างไร เมตตาคืออะไรก่อน ก่อนอื่น การศึกษาธรรมก็คือว่าพอได้ยินคำอะไรให้ทราบจริงๆ ว่าคืออะไร อย่างเมตตาคืออะไร เป็นธรรมนี้แน่นอนแล้วใช่ไหม เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม เป็นนามธรรม เป็นขันธ์อะไร สังขารขันธ์ แล้วเมตตาเป็นปรมัตถธรรมอะไร เป็นเจตสิก ได้แก่อโทสเจตสิก สภาพที่ไม่โกรธแต่ต้องมีสัตว์บุคคลเป็นอารมณ์ จึงจะเป็นเมตตาได้ เพราะฉะนั้นความหมายของเมตตาก็เหมือนกับที่เราได้ยินได้ฟังบ่อยๆ ความเป็นมิตร ความเป็นเพื่อน ความหวังดี พร้อมที่จะเกื้อกูลทำประโยชน์ให้ นี่คือมิตร เพราะเหตุว่าคำว่ามิตรนี้ไม่ใช่เป็นแต่เพียงคำพูดที่เราบอกว่าเป็นเพื่อนกัน แต่ความจริงต้องเป็นปรมัตถธรรม เป็นเพื่อนหมายความว่าหวังดี มิตรนี้จะไม่มีการแก่งแย่ง ไม่มีการแข่งดี ไม่มีความหวังร้าย นั้นจึงจะเป็นสภาพธรรมที่เป็นมิตรแท้ หรือมิตรจริงๆ ไม่ใช่มิตรเทียม เพราะฉะนั้นความเป็นมิตรก็คือสภาพธรรมที่เป็นอโทสะ แล้วก็มีความเป็นเพื่อน ความเป็นเพื่อนความหมายของเพื่อนนั้นไม่ใช่เพียงแค่คำ แต่จะต้องมีความจริงใจด้วย ว่าเพื่อนก็คือผู้ที่เราพร้อมที่จะช่วยเหลือ เพราะฉะนั้นขณะใดที่เรามีความรู้สึกเป็นมิตรกับใคร ขณะนั้นคือลักษณะของเมตตา บางคนก็แผ่เมตตาไกลเลย ถึงข้างใต้ ข้างบน ทางขวางอะไรอย่างนี้ แต่ว่าพอเห็นหน้าคนอื่น เป็นอย่างไร บางคนหน้าตาอาจจะรู้สึกว่าน่ากลัว ใช่ไหม แต่ความจริงเขาอาจจะใจดีก็ได้ แต่คนที่เห็นงู เห็นสัตว์ร้าย เห็นคนที่หน้าตาน่ากลัว ใจขณะนั้นเป็นมิตรหรือเปล่า ถ้าเป็นมิตร สามารถที่จะยิ้ม ช่วยเหลือ ทักทาย ด้วยอะไรก็ได้ ด้วยความจริงใจพร้อมที่จะให้คนนั้นมีความสุขนั่นคือเมตตา เพราะฉะนั้นต้องมีเมตตาในชีวิตประจำวัน เมื่อเข้าใจลักษณะของเมตตาแต่ไม่ใช่โดยไม่เข้าใจลักษณะของเมตตาก็พยายามไปท่อง ท่องเสร็จแล้วก็ตกใจ บางคนเห็นงูแล้วก็แผ่เมตตา จริงๆ หรือเปล่า หรือว่ากลัวงูก็เลยแผ่เพื่อที่งูจะได้ไม่กัด นี้ก็ไม่ตรง ธรรมเป็นสิ่งที่ตรง และเป็นความเข้าใจจริงๆ เพราะฉะนั้นถ้ายิ่งเข้าใจธรรม เราก็เป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเอง และก็ตรงต่อบุคคลอื่นด้วย และก็เป็นผู้ที่เข้าใจจริงๆ ไม่เอาอกุศลมาเป็นกุศลเพราะเหตุว่ากลัวแท้ๆ ก็ยังบอกว่าเมตตา แล้วก็ท่องไปกลัวไปก็เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ต่อไปนี้จะเมตตาใครไม่ยากใช่ไหม เป็นเพื่อนแท้ และก็หวังดี พร้อมที่จะเกื้อกูลไม่ว่าจะเป็นคนรู้จักหรือไม่รู้จัก หรือเป็นคนแปลกหน้าหลงทางมาอย่างไรก็ได้ เพราะว่าอย่าไปคิดถึงเรื่องสัตว์ที่เราจะไปแผ่เลย เพียงแต่คนด้วยกันที่เราเห็นกันก็ควรที่จะมีเมตตา เจริญอสุภะ อสุภะคืออะไร

    อ. อรรณพ อสุภะคือสิ่งที่ไม่น่าพอใจ สิ่งที่ไม่สวยงาม แต่ถ้าเราจะเข้าใจจริงๆ ส่วนใหญ่เราได้ยินคำนี้เราก็มุ่งที่จะไปเจริญอสุภะเพื่อที่จะไม่ให้เกิดราคะ ความกำหนัดต้องการ ใช่ไหม สิ่งนั้นก็คือเป็นตัวตนหรือเปล่าที่มุ่งที่จะไปทำสิ่งหนึ่ิ่งสิ่งใดเพื่อจะไม่ให้กิเลสอีกอย่างหนึ่งเกิด แต่จริงๆ อสุภะซึ่งเป็นความไม่งาม จะต้องรู้ได้ด้วยปัญญาจริงๆ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ความต้องการความอยากจะทำด้วยตัวตนที่จะไปทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งเราจะลืมคำเดียวไม่ได้ว่าสภาพทั้งหมดเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นไม่มีตัวตนที่คิดจะทำเมตตาเพื่อที่จะไม่ให้โกรธ คิดจะทำอสุภะกรรมฐานเพื่อที่จะไม่ให้เกิดราคะ แต่จริงๆ แล้วสภาพธรรมเป็นไปตามเหตุปัจจัย แม้ว่าความจริงที่ว่าในขณะที่เกิดเมตตา ในขณะนั้นเป็นอโทสะ เป็นสภาพที่ตรงข้ามกับโทสะ ในขณะที่มีปัญญาพิจารณาถึงความไม่งาม ตั้งแต่ความไม่งามของร่างกาย ความปฏิกูลต่างๆ แต่โดยขั้นต้นๆ เช่น ความไม่งาม เช่นเห็นซากศพ จริงๆ ตรงต่อตัวเองหรือไม่ บางคนพยายามที่จะไปดูศพไปดูสิ่งที่ไม่น่าดู เพื่อที่จะข่มโลภะ หรือข่มราคะ ซึ่งในขณะนั้นต้องตรงกับตัวเองว่าในขณะเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจก็คือ เห็นสิ่งที่ไม่สวยงามนั้นแล้ว จิตเป็นกุศลหรือว่าเป็นอกุศลหรือเป็นโทสะ ไม่รู้เลยใช่ไหม ถ้าไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมคือจิตที่เกิดขึ้นในขณะนั้น หรือว่าสภาพนามธรรม ความกลัวหรือโทสะที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ขณะนั้นก็เป็นความไม่รู้ ไม่รู้ในสภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็คิดที่จะทำสิ่งหนึ่ง สิ่งใดด้วยอกุศล ขณะนั้นก็เป็นการไปดูสิ่งที่เป็นปฏิกูล ซึ่งไม่รู้เลยว่าขณะนั้นเป็นอกุศลจิตหรือเปล่า ซึ่งก็ไม่ใช่หนทางที่จะดับราคะได้จริงๆ

    ท่านอาจารย์ คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จะต่างกับคำสอนของบุคคลอื่นโดยสิ้นเชิง เพราะว่าทรงพระปัญญาที่จะเป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าชื่อนี้ ตามพระคุณธรรม ใครก็ตั้งให้ไม่ได้ หรือใครจะมีชื่ออย่างนี้อีกสักคนก็เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าเป็นคุณธรรม เป็นคุณนาม เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าทุกคนที่มีกิเลส ก็ไม่อยากจะมีกิเลส ก็พยายาม ยิ่งเห็นโทษของกิเลสก็ยิ่งไม่อยากมี แต่ตราบใดที่ไม่มีปัญญาที่จะรู้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ก็ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้ เพราะเหตุว่าก่อนการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็มีผู้ที่มีปัญญาระดับที่ว่าเขาสามารถที่จะเข้าใจได้ว่าเมื่อเห็นแล้ว จะเกิดยินดียินร้าย เมื่อได้ยินเสียงก็ยินดียินร้ายในเสียง ไม่ว่าอะไรจะกระทบตา หู จมูก ลิ้น กายก็จะเกิดอกุศล คือยินดียินร้าย มีปัญญาที่สามารถที่จะรู้ว่า ถ้าเขาคิดหรือตรึกถึงสภาพธรรมบางอย่าง จิตของเขาก็จะเป็นกุศล เพราะฉะนั้น ถ้ากุศลจิตเกิดมากขึ้น ก็จะทำให้จิตสงบ ที่ใช้คำว่าสงบหรือสมถะ ก็หมายความว่าสงบจากอกุศล ไม่ใช่สงบปล่าๆ อยู่ดีๆ บอกสมถะ สมถะ และสมถะคืออะไร ถ้าแปลมาว่าสมถะคือสงบ ก็สงบเปล่าๆ อีก แต่ต้องให้รู้ความจริงว่าสงบคือสงบจากอกุศล คนที่มีอกุศล และก็รู้ว่าถ้าเขาสามารถที่จะตรึกถึงอารมณ์ที่ทำให้จิตของเขาเป็นกุศลเพิ่มขึ้นจนกระทั่งถึงระดับของอุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิก็ชั่วคราว เพราะเหตุว่าไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้จริงๆ เป็นสมุจเฉทคือไม่เกิดอีกเลย ถ้าอ่านในพระไตรปิฏก ก็จะมีชีวิตของผู้ที่เห็นโทษของการติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ อบรมเจริญฌานเกิดในพรหมโลก เมื่อสิ้นอายุของการเป็นพรหมก็กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก ตอนแรกๆ ก็ไม่ได้สนใจ ติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่นในรสเหมือนอย่างที่ชาวบ้านเป็น แต่ว่าจริงๆ แล้วก็ต้องมีความพอใจเล็กๆ น้อยๆ แต่ว่าภายหลังก็มีปัจจัยที่ทำให้เกิดราคะ หรือว่าความติดข้องอย่างมากมายในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ก็แสดงให้เห็นว่าถึงแม้ว่าเราจะระงับไว้ก็ไม่สามารถที่จะดับเป็นสมุจเฉท นี่คือความต่างของคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ากับคำสอนอื่น เพราะฉะนั้นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมให้ผู้ที่เข้าใจธรรม อบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งสามารถที่จะดับกิเลสได้ถึงความเป็นพระอนาคามี ไม่มีกิเลสประเภทนั้นเกิดอีกเลย ไม่มีความติดข้องในรูปเสียงกลิ่นรสโผฎฐัพพะ เพราะฉะนั้นก็เห็นถึงคำสอนที่ต่างกัน คำสอนให้ระงับชั่วคราวแต่ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้กับคำสอนซึ่งเป็นผู้ที่อาจหาญร่าเริงที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีในขณะนี้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 6
    3 มิ.ย. 2567

    ซีดีแนะนำ