สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 081


    สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ ๘๑

    วันจันทร์ที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๔๕


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นขณะเห็นเป็นวิถีจิต ขณะได้ยินเป็นวิถีจิต ขณะได้กลิ่นเป็นวิถีจิตขณะลิ้มรสเป็นวิถีจิต ขณะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเป็นวิถีจิต ขณะที่กำลังคิดนึกในขณะนี้ก็เป็นวิถีจิต ซึ่งแต่ละคนก็จะทราบได้นะคะ เห็นต้องอาศัยตาเป็นทวาร ได้ยินต้องอาศัยหูเป็นทวาร เป็นทางที่จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้นๆ แต่เวลาที่เห็นแล้วนี่นะคะ จะเกิดโลภะหรือโทสะ ถ้าไม่ใช่พระอรหันต์ต้องเป็นโลภะ หรือโทสะ ขณะนั้นเป็นชวนจิตเกิดดับสืบต่อกัน ๗ ขณะ ตามปกตินะคะ ก็จะมีชวนจิตนี่คะ เกิดดับสืบต่อกัน ๗ ขณะ

    เพราะฉะนั้นในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้นะค่ะ ถ้าเป็นกุศลจิต กุศลจิตเกิดดับสืบต่อ ๗ เท่าของเห็น แล้วเห็นนี่คะมีใครนับได้ไหมคะ จิตเกิดดับสลับกันเร็วมาก ขณะเห็นเพียงนิดเดียวขณะที่กำลังเหมือนกับว่าเห็นโดยที่ไม่มีจิตอื่นคั่นเลย ความจริงก็มีวิถีจิตที่เกิดสืบต่อเช่น โลภะ โทสะพวกนี้นะค่ะ แล้วก็เห็นอีกแล้วก็เกิดโลภะ โทสะ หรือกุศลอีกสลับกันไปอย่างนี้โดยที่ว่านัยของพระสูตรคือไม่แสดงโดยละเอียด เพราะว่าทุกคนสามารถเข้าใจได้ ว่าพอเห็นก็โลภะ หรือโทสะ หรือโมหะซึ่งเป็นอกุศลนะคะ หรือกุศลจิต

    เพราะฉะนั้นแต่ละคนนี่คะ ศึกษาธรรมเพื่อรู้จักตัวเองตามความเป็นจริง แล้วก็เข้าใจในเหตุ ในผลของสภาพธรรม เช่นขณะนี้ที่เห็นเป็นวิบาก แต่เมื่อเกิดแล้วก็ดับไปก็เป็นปัจจัยให้เป็นจิตที่เป็นกุศล หรืออกุศลนี่คะ เกิดต่อ ๗ เท่า เพราะฉะนั้นการสั่งสมก็อยู่ที่ขณะ ที่เป็นชวนจิต ไม่ใช่ขณะเห็นซึ่งเป็นทัสสนจิต ขณะได้ยินซึ่งเป็นสวนกิจนะคะ ขณะได้กลิ่นเป็นฆานกิจ ขณะลิ้มรสก็สายนกิจ ขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสก็เป็นผุสนกิจ

    นี่เป็นกิจของจิตทั้งหมดไม่ใช่เราเลยสักขณะเดียวนะคะ แม้แต่กุศล หรืออกุศลก็เป็นจิต ซึ่งเกิดขึ้นตามการสั่งสมของแต่ละขณะซึ่งผ่านมาแล้วทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นในชาตินี้ หรือในชาติก่อนก็ตามที่ผ่านมา ก็มีกุศล และอกุศลนี้สะสมสืบต่อมา จนกระทั่งเป็นอัธยาศัย

    เพราะฉะนั้นขณะใดก็ตาม หลังเห็นโกรธไหม ติดข้องไหม ถ้าติดข้องก็จะติดข้องไปเรื่อยๆ ถ้าเกิดกุศล ก็เพราะเหตุว่ามีการสั่งสมในอดีตนะคะ เป็นปัจจัย คือบุญแต่ปางก่อนที่ได้กระทำแล้วเป็นปัจจัยให้กุศลจิตเกิดอีก มิฉะนั้นก็จะไม่มีกุศลประการต่างๆ เพราะว่ากุศลก็มีหลายอย่าง นะค่ะ บางคนก็สะสมมาในเรื่องของทานเป็นทานุปนิสัย คือทานกับอุปนิสัยก็เป็นทานุอุปนิสัย

    บางคนทานท่านอาจจะให้ไม่มาก แต่ว่ากายวาจาของท่านเนี่ยดี ไม่เคยเบียดเบียนใครให้เดือดร้อนด้วยกายด้วยวาจานะคะ ก็เป็นศีลลุปนิสัย แต่ว่าผู้ที่มีการสนใจในการที่จะเข้าใจสภาพธรรม หรือว่ารู้ว่า ทาน ศีล นะคะ ก็เป็นเพียงชั่วขณะที่เป็นกุศล แต่ว่าวันหนึ่งๆ โอกาสของทาน โอกาสของศีลนะคะ ก็ไม่มาก

    เพราะฉะนั้นท่านก็พิจารณาจิตใจ ว่าจิตใจของท่านเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล แล้วก็สามารถที่จะอบรมเจริญความสงบของจิตจากอกุศล หรือว่าอบรมเจริญปัญญาโดยการฟังพระธรรม พิจารณาพระธรรม เข้าใจพระธรรม นี่ก็เป็นภาวนุปนิสสัย ซึ่งไม่ใช่มีกับทุกคนนะคะ บางคนก็มีกุศลเพียงขั้นทาน บางคนก็มีกุศลเพียงขั้นศีล แต่ที่จะถึงภาวนุปนิสัย คือการที่จะอบรมจิตให้เป็นกุศลให้สงบ และก็ให้มีปัญญา สามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมนี้ เมื่อเปรียบเทียบแล้วก็เป็นส่วนน้อย

    เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่จะเข้าใจได้นะคะ ว่าในขณะนี้เอง หลังเห็นแล้วภาวนุปนิสัย หรือเปล่าคะ กำลังฟัง ขณะนี้ค่ะ ถ้าไม่มีการแสดงไว้ บางท่านอาจจะไม่รู้ว่าจิตขณะนี้สงบ เพราะเป็นกุศล เพราะเหตุว่าขณะนั้นสงบจากโลภะ จากโทสะ จากโมหะ มีศรัทธา มีจิตที่ผ่องใสนะคะ ทำให้สภาพของเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมด้วยกับสัทธาเจตสิกนี่คะ ผ่องใสจากอกุศลใดๆ

    เพราะเหตุว่าบางทีแม้ว่าอกุศลจิตเกิด แต่ก็เป็นอกุศลประเภทที่บางเบามาก เป็นประเภทของอาสวะคือจากการที่สะสมมา แล้วก็มีการเห็นก็จะเกิดความติดข้อง โดยไม่รู้ตัวเลยนะคะ เพราะเหตุว่าไม่ใช่ความอยากได้ หรือว่าโลภะอย่างแรง หรือโทสะอย่างแรง ทำให้บางคนเข้าใจว่าขณะนั้นไม่มีอกุศล แต่ความจริงนะคะ มีใครบ้างที่ไม่ติด ไม่ต้องการรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐพพะ

    แม้เพียงลืมตานะคะ เป็นวิถีจิต เห็นแล้วต้องมีจิตที่เป็นกุศล หรืออกุศล เพราะฉะนั้นก็พอที่จะรู้ได้นะคะ ว่าอกุศลที่บางเบานี่คะ ก็เหมือนกับวันนี้นะค่ะ ก็ออกจากบ้านมาแล้วก็กลับบ้าน เราล้างมือถูสบู่ดู เป็นยังไง ดำแต่มองไม่เห็นเลยใช่ไหมคะ ว่าทั้งวันดำแล้ว จนกว่าจะล้างด้วยสบู่ก็จะเห็นได้

    เพราะฉะนั้นอกุศลประเภทที่บางเบานี่นะคะ ก็มีอยู่จนกว่าจะถึงระดับอื่นซึ่งทำให้มีการรู้สึกได้นะคะ ว่าเป็นอกุศลประเภทต่างๆ แต่ยังไงก็ตามค่ะ ให้ทราบว่าธรรมทำให้เราสามารถที่จะเกิดปัญญาจนกระทั่งรู้จักตัวเองเพิ่มขึ้นตามความเป็นจริง แล้วปัญญานั้นก็จะนำไปสู่กุศลอื่นๆ ทุกประการ ที่จะทำให้มีการละคลายอกุศล เช่น ในขณะนี้ที่กำลังฟังนี่คะ

    ขณะใดที่เข้าใจ ละความไม่รู้ ละความไม่เข้าใจ ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งสำหรับชวนจิตก็คงไม่มีปัญหานะคะ ว่าเป็นวิถีจิต และเกิดต่อหลังจากที่มีการเห็น การได้ยินแล้ว คือกุศล และอกุศลจิตนั่นเอง ทุกครั้งที่พูดถึงชวนะหมายความถึงจิตที่เป็นกุศลจิต หรืออกุศลจิตซึ่งเกิดดับสืบต่อกัน ๗ ขณะ มากกว่าวิถีจิตอื่น

    เพราะว่าจักขุวิญญาณเป็นวิถีจิตจริง แต่เกิดขณะเดียว แล้วก็ดับไปนะคะ และก็มีวิถีจิตที่เกิดต่อ ๑ ขณะคือสัมปฏิฉันนะ รับรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาต่อแล้วก็ดับไป หลังจากนั้นก็เป็นวิถีจิตคือสันตีรณะ พิจารณาสิ่งที่รับรู้ต่อจากจักขุวิญญาณคือสิ่งที่ปรากฏทางตานั่นเอง เพียงชั่ว ๑ ขณะแล้วก็ดับไป แล้วก็หลังจากนั้นนะคะ ก่อนที่จะเป็นกุศลหรืออกุศลได้ ก็จะต้องมีกิริยาจิตเกิดขึ้นนะคะ ๑ ขณะ แล้วก็ดับไป หลังจากนั้นก็เป็นกุศลหรืออกุศล ๗ ขณะ

    เพราะฉะนั้นเพียงคร่าวๆ ก็คือว่าหลังเห็นแล้ว ก็มีกุศล และอกุศลจิต ๗ ขณะ หลังได้ยินแล้วก็เป็นกุศลจิต และอกุศลจิต ๗ ขณะ ด้วยเหตุนี้แต่ละบุคคลจึงมีทั้งกุศล และอกุศลที่สะสมสืบต่อ เพราะว่ามีการเห็นอยู่เรื่อยๆ เมื่อมีการเห็นแล้ว ก็มีกุศลอกุศล ก็สะสมเมื่อได้ยิน และก็มีกุศล และอกุศลก็สะสม เมื่อมีการได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ก็สะสมเป็นกุศล และอกุศล

    ความคิดของเราเนี่ยค่ะพอที่จะประมาณได้ไหมคะ ว่าวันนึงๆ เราสะสมกุศลมาก หรืออกุศลมาก คะ อกุศลมาก เพราะเราคิดเรื่องอะไรค่ะ ด้วยจิตอะไร ถ้าไม่เป็นไปในทาน ไม่เป็นไปในศีล ไม่เป็นไปในความสงบของจิต ไม่เป็นไปในการเข้าใจสภาพธรรมนะคะ ขณะนั้นก็เป็นอกุศล

    เพราะฉะนั้นจึงทราบได้เลยว่า กว่าจะขัดเกลา ละคลาย จนกระทั่งดับอกุศลได้ ด้วยปัญญาที่อบรมเจริญขึ้น ไม่ใช่ด้วยความเป็นตัวเราที่อยากไม่มีอกุศล แล้วก็ไปทำอะไรโดยที่ไม่มีปัญญาที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม แล้วคิดว่าขณะนั้นจะดับอกุศลได้ เป็นไปไม่ได้เลย เพราะว่าอาสยานุสยะ คือการสะสมทางฝ่ายกุศล และอกุศล ซึ่งทางฝ่ายอกุศลซึ่งมีกำลังคืออนุสัยจะดับได้ด้วยโลกุตรจิต

    คือการรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยบุคคล จึงจะดับอกุศลได้เป็นสมุจเฉทไม่เกิดอีกเลยตามลำดับขั้น คือเป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกทาคามี เป็นพระอนาคามิ จนถึงความเป็นพระอรหันต์ เป็นได้ ไม่ใช่ไม่ได้ แต่นาน เพราะเหตุว่าผู้ที่ได้อบรมเจริญปัญญาถึงการดับกิเลสเป็นพระอรหันต์มีแล้วเป็นจำนวนมาก

    เพราะฉะนั้นก็ต้องอบรมเจริญต่อไป แต่ว่าเป็นปัญญาของตัวเองที่จะต้องเข้าใจขึ้น การฟังธรรม การไตร่ตรองธรรม ทั้งหมดนี้ก็เป็นการที่จะเกิดปัญญาของตัวเอง และแต่ละคนก็ สามารถที่จะเข้าใจได้ว่าเป็นปัญญาระดับขั้นของการฟังเข้าใจ หรือว่า มีปัญญาขั้นสูงกว่านั้นอีก เพราะมีเหตุปัจจัยที่จะให้ปัญญาขั้นนั้นเกิดขึ้น ไม่ทราบมีคำถามอะไรรึเปล่าคะ

    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์สุจินต์ที่เคารพค่ะ ท่านอาจารย์กล่าวบอกว่าเห็นแล้วก็โกรธ ตรงนี้ยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร ก็คือจะโกรธเสียแล้ว

    ท่านอาจารย์ เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ แล้วจะชอบมั้ยค่ะ

    ผู้ฟัง แค่สีเท่านั้นหรือคะ ท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ มีสีที่น่าชม น่าดู น่าพอใจ กับมีสีที่ไม่น่าพอใจด้วย ทุกอย่างค่ะ สีก็มีทั้งที่น่าพอใจ และไม่น่าพอใจ เสียงก็มีทั้งที่น่าพอใจ และไม่น่าพอใจ กลิ่น รส แม้แต่ที่กายที่จะกระสัมผัสนี่คะ ก็มีทั้งที่น่าพอใจ และไม่น่าพอใจ ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ จะให้เกิดโลภะ เป็นไปไม่ได้ จะให้ติดข้องก็ไม่ได้

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ครับ แต่สีก็เป็นสีเดียว ถ้าจะพูดถึงสีที่รวมเป็นสีขาวนี้ก็มีอยู่ ๗ สี เท่าที่เราเห็นก็สีนี้แหละครับแล้วทำไมจะต้องไม่พอใจ หรือพอใจด้วย

    ท่านอาจารย์ สีที่สว่างจ้านะคะ สีอะไรคะ

    ผู้ฟัง สีสว่างจ้าก็ทำให้ตาพร่าไม่อยากมอง

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นเป็นอะไรคะ

    ผู้ฟัง เป็นโทสะครับ ที่ถามต่อจากคุณบงเนี่ยก็คือว่า ขณะที่เราเห็นสีเนี่ย แล้วมันต้องโกรธทันทีเลย ตรงนี้มันต้องไปคิดก่อนไม่ใช่หรอครับว่า สีนี่คือ ตาคนนั้นที่เราไม่ชอบ อะไรอย่างนี้เป็นต้น

    ท่านอาจารย์ เรารู้ตอนที่เป็นตาคนนั้น แต่ก่อนจะเป็นตาคนนั้นเนี่ยค่ะ เฉพาะสีนี่คะ เราสะสมมาที่จะมีความพอใจในสีที่น่าพอใจ และไม่พอใจในสีที่ไม่น่าพอใจ ความไม่พอใจนี่คะ ไม่ใช่ความโกรธอย่างรุนแรง เพียงแต่ขุ่นใจนิดเดียว ขณะนั้นก็เป็นลักษณะของโทสะเจตสิก

    ผู้ฟัง ครับ แต่ว่าขณะที่ที่เราเห็นสีเนี่ย เห็นสีแล้วทันทีเนี่ย ถึงแม้จะเป็นสีที่พอใจกับสีที่ไม่พอใจ อาทิเช่น สีที่สว่างจ้าอย่างนี้ เราไม่พอใจแน่ แต่ถ้าเป็นสีปกติเนี่ย อย่างสีแดง ถ้าไปอยู่ที่ถนนแล้วก็มีสีอื่น ระเนระนาดไปหมดอะไรอย่างเงี้ย เราก็นึกว่า นั้นต้องเป็นอะไรสักอย่าง หนึ่ง ซึ่งเราไม่พอใจอาจจะเป็นเลือด หรือเป็นใครที่จะต้องนอนอยู่ตรงนั้น อะไรก็แล้วแต่อย่างนี้เป็นต้น สีแดงตรงนั้นยังไม่โกรธนี่ครับ ท่านอาจารย์ครับ

    ท่านอาจารย์ ไม่พอใจ หรือพอใจเป็นสิ่งที่เรายั้บยั้งไม่ได้เลยนะคะ เพราะเหตุว่า สีต้องมี ๒ สี คือที่น่าพอใจ และไม่น่าพอใจ ขอเชิญคุณอรรณพให้ตัวอย่างด้วยนะคะ

    อ.อรรณพ ครับ จริงๆ สืบเนื่องจากที่ท่านอาจารย์ได้บรรยายตอนต้นนะครับ ในเรื่องของชวนจิตซึ่งตรงนี้ที่กำลังสนทนานะครับ ก็เป็นความเข้าใจ ในเรื่องของชวนจิต ว่าชวนเนี่ยนะครับ เกิดได้ทั้งทางปัญจทวาร และมโนทวาร ซึ่งในขณะที่วิถีจิตทางตาเกิดขึ้นนะครับ

    เมื่อการเห็นคือจักขุวิญญาณ หรือจิตเห็น ซึ่งเป็นผลของกรรมเป็นวิบากจิตดับไปนะครับ ก็มีวิธีจิตอื่นอีกนะครับ จนกระทั่งมาถึงชวนะ ซึ่งชวนจิตนั้นก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือรูปนั้นเป็นอารมณ์ ซึ่งชวนะนั้นจะเป็นกุศลหรืออกุศลก็แล้วแต่การสะสมในอดีต

    ในกรณีที่เราสนทนากันตรงนี้ ถ้าชวนะเป็นโทสะเนี่ยนะครับ หมายความว่าโดยทั่วไปแล้ว รูปที่กำลังเป็นอารมณ์กับจิตคือชวนจิต ทางตาเนี่ย ขณะนั้นชวนจิตทางตาเป็นโทสะได้ แล้วก็มีสีเฉพาะแค่สีนั้น ยังไม่มีความเป็นสัตว์บุคคล หรือเรื่องราวอะไรเลยนะครับ แต่ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตานั้นน่ะครับมีความประณีตแตกต่างกัน

    ซึ่งเราจะไม่สามารถที่จะรู้จริงๆ ได้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเนี่ยนะครับ เป็นอารมณ์ที่ดี หรืออารมณ์ที่ไม่ดีจริงๆ เนี่ยเรารู้ตรงนั้นไม่ได้ แต่เราสามารถอนุมาน หรือประเมินได้จากอกุศลจิตที่เกิดว่าประกอบด้วยเวทนาที่เป็นความไม่พอใจเป็นโทมนัสเวทนา หรือความติดข้องหรือเปล่า เช่นถ้าเราเห็นภาพอุบัติเหตุ แน่นอนถ้าเราเกิดโทสะขึ้นในขณะที่เรารู้เรื่องราวแล้วนะครับ ว่าเนี่ย เป็นคนถูกฆ่า หรือถูกรถชน มีการบาดเจ็บมีเลือดออกอะไรอย่างนี้นะครับ ขณะนั้นโทสะเกิดขึ้นแล้ว

    ขณะนั้นวิถีจิตเกิดมากมายสลับกันทั้งทางตานะครับ แล้วก็ทางใจ แต่สีคือรูปที่ปรากฏทางตานั้นนะครับ เป็นอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ ภาษาบาลีเราเรียกว่าอนิฏฐารมณ์คืออารมณ์ที่ไม่น่าพอใจนะครับ ซึ่งโดยทั่วไปก็จะเป็นอารมณ์ของโทสมูลจิต คือจิตที่มีความไม่พอใจ ทุกคนเนี่ยใครเห็นภาพที่ไม่น่าดูนะครับ ขณะนั้นสิ่งที่ไม่น่าดูนั้นนะครับ โดยลักษณะสภาพธรรมแล้วนะครับ เป็น รูปอย่างที่ปรากฏทางตา

    ซึ่งรูปที่ปรากฏทางตาก็มีทั้งอิฏฐารมณ์คือสิ่งที่น่าพอใจ กับอนิฏฐารมณ์คือสิ่งที่ไม่น่าพอใจนะครับ ซึ่งชวนะทางปัญจทวารคือทางตานะครับ จะเป็นอกุศล หรือกุศลก็แล้วแต่การสะสม ในกรณีที่เป็นอกุศล และเป็นโทสะนะครับ ขณะนั้นมีเพียงสีเท่านั้นเป็นอารมณ์ ยังไม่รู้เลยนะครับ ว่าเป็นรูปร่างอะไรมีความลึก ความตื้น ประมวลเป็นรูปทรงก็ยังไม่รู้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ปรากฏทางตานะครับ ก็มีทั้งที่เป็นอิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์

    ผู้ฟัง เรียนถามท่านอาจารย์ค่ะ ว่าถ้าเกิดสติเกิดแล้ว ตอนที่เห็นสีเมื่อรูปปารมณ์นะคะ กระทบจักขุปสาทรูปนะคะ ซึ่งรูปารมณ์นั้นมีทั้งอนิฏฐารมณ์ และอิฏฐารมณ์ แต่ถ้าเผื่อสติเกิดเนี่ยนะคะ จะเป็นโทสะ หรือโลภะไหมคะ

    ท่านอาจารย์ สติเกิดกับโสภณจิตค่ะ จะไม่เกิดกับอกุศลจิต เท่าที่ได้ฟังมาจะรู้สึกว่ามีเรื่องที่ไม่สามารถจะรู้ได้มากมายเลยใช่มั้ยคะ เพราะว่าจิตเนี่ยค่ะ เกิดดับสลับกันเร็วมาก ที่จะรู้ว่าทันทีที่เห็นแล้วก็เป็นอกุศล หรือเป็นกุศลเนี่ยนะคะ ก็ยาก หรือว่าจะเป็นอกุศลประเภทใดจะเป็นอกุศลประเภทโลภะ หรืออกุศลประเภทโทสะ หรืออกุศลประเภทโมหะ

    เพราะว่าอกุศลมี ๑๒ ดวงนะคะ หรือ ๑๒ ชนิด หรือประเภท ก็แล้วแต่ค่ะ จัดเป็นโลภมูลจิต เกิดกับจิตที่เป็นโลภ ๘ แล้วก็โทสมูลจิต ๒ และก็เป็นโมหมูลจิต ๒ อันนี้เราก็คงจะยังไม่กล่าวถึงในตอนนี้นะคะ แต่ก็จะขอกล่าวถึงหลังจากที่ได้รู้ลักษณะของจิตจริงๆ แล้วก็จะได้รู้จักจิตแต่ละประเภทให้ละเอียดยิ่งขึ้น

    เป็นการยากนะคะ ที่สิ่งที่เกิดดับเร็ว แล้วก็จะไปรู้ความจริงว่าขณะนั้นนะคะ เป็นโลภะหรือโทสะเพราะว่ามีทั้งจิตที่เป็นวิบาก และก็มีจิตที่เป็นกุศล แล้วก็มีจิตที่เป็นอกุศลสืบต่อกันอย่างเร็วมาก แต่โดยหลักที่ว่าถ้าขณะใดไม่เป็นไปในทาน ไม่เป็นไปในศีล ไม่เป็นไปในความสงบ ไม่เป็นการรู้ลักษณะของสภาพธรรมนะคะ ขณะนั้นเป็นอกุศล เช่นเห็นปกติธรรมดาเนี่ยนะคะ พอเห็นแล้วไม่มีการเดือดร้อนใช่ไหมคะ ขณะนั้นนะคะ จะเป็นกุศลหรือเปล่าคะ ขณะที่ไม่เดือดร้อน เห็นแล้วไม่เดือดร้อนเป็นกุศลหรือป่าวค่ะ ค่ะ ไม่เป็นนะคะ

    แต่ว่าเป็นโลภมูลจิตเป็นการติดข้องโดยไม่รู้ตัวเลย ในสิ่งที่ปรากฏ และในเห็น นี่เป็นเหตุที่ทุกคนยังอยากเห็นอยู่นะคะ ยังไม่สามารถที่จะดับไม่ให้มีการเห็นอีกได้เลย เวลาที่เสียงปรากฏจะเป็นเสียงอะไรก็ตามแต่นะคะ ก็มีความพอใจในการได้ยิน แล้วก็ถ้าขณะนั้นนะคะ เป็นโลภมูลจิตก็มีความติดข้องในเสียงที่ได้ยิน

    แต่ถ้าเป็นเสียงที่น่าตกใจมากนะคะ เสียงระเบิดดังๆ เสียงที่จะทำให้จิตใจกระทบกระเทือนหวั่นไหว ขณะนั้นนะคะ ก็เป็นลักษณะของอกุศลที่เป็นโทสมูลจิตเป็นจิตประเภทที่มี โทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นปัญญาของเราสามารถที่จะฟังพระธรรมแล้วก็เริ่มที่จะเข้าใจเพียงเล็กๆ น้อยๆ นะคะ

    ถ้าอ่านพระไตรปิฏกจะรู้ได้ ว่าเราเริ่มที่จะเข้าถึงพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงแสดงสภาพธรรมทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะในโลกนี้ค่ะแต่ทั่วทุกจักรวาลก็จะไม่พ้นจากธรรมไม่พ้นจากนามธรรม และรูปธรรม โดยละเอียด โดยประการทั้งปวง เพราะฉะนั้นการที่เราจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    เราก็จะเห็นความห่างไกลของการที่เราสะสมปัญญามาเพียงที่จะเริ่มเข้าใจบางส่วนของสภาพธรรมที่มีจริงๆ จนกว่าจะอบรมเจริญปัญญาสามารถที่จะประจักษ์แจ้งความจริง โดยการที่ได้เข้าใจพระธรรมเพิ่มขึ้น และก็อบรมเจริญปัญญาตามหนทางที่ทรงแสดงแล้ว เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าเราสามารถที่จะรู้เรื่องของอกุศลจิตที่เกิดสืบต่อจากการเห็น การได้ยิน อย่างรวดเร็วได้มากมาย เพียงแต่ว่าในบางครั้งบางขณะ

    เช่นในขณะนี้ที่เห็น จะเป็นกุศลหรือเป็นอกุศลจิต บอกไม่ได้เลยใช่ไหมคะ ถ้ามีเสียงเพียงนิดเดียวค่ะ เสียงออดแอดเกิดมานี่นะคะ หลังจากที่ได้ยินเสียงนั้นแล้วเป็นกุศล และอกุศล เห็นไหมคะ เพียงเท่านี้เราก็ผ่านไปทั้งวันๆ เนี่ยเราผ่านไปๆ โดยเห็นแล้วก็เป็นกุศล อกุศล แล้วก็ผ่านไปโดยได้ยินแล้วก็เป็นอกุศล หรือกุศล

    โดยปัญญาไม่ได้เกิดที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมนั้น จนกว่าจะมีการเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นเห็นความห่างไกลนะคะ ของผู้ที่ดับกิเลสเป็นสมุทเฉท เช่นพระอรหันต์ทั้งหลายนี่คะ หลังเห็นแล้วไม่มีกุศลจิต ไม่มีอกุศลจิตเลย ไม่มีเชื้อที่จะทำให้เกิดกรรม ที่จะทำให้มีปฏิสนธิต่อไป

    ต้องเป็นปัญญาระดับไหนคะ เพราะฉะนั้นกิเลสที่มีนะคะ ๓ ขั้น คืออนุสัยกิเลสที่ละเอียดมากนะคะ เป็นกิเลสที่ไม่เกิด แต่ว่าอยู่ในจิตทุกขณะ จะดับได้เวลาที่โลกุตรจิตเกิด เมื่อรู้แจ้งอริยสัจธรรม มีอยู่เสมอค่ะ นอนก็มี ตื่นก็มี จะทำกิจการงานใดๆ ก็มีอนุสัยกิเลสที่ยังไม่ได้ ดับ แต่ว่าเมื่อมีเหตุปัจจัย เมื่อได้ปัจจัยก็เกิดขึ้นเป็นอกุศลที่ปรากฏเช่นเกิดโกรธ หรือเกิดโลภพวกนี้นะคะ ก็เป็นกิเลสอีกระดับหนึ่ง ชื่อว่าปริยุฏฐานะกิเลส เกิดร่วมกับจิตทำกิจการงาน แล้วก็อีกระดับหนึ่ง ก็เป็นกิเลสขั้นหยาบคือวีติกัมมกิเลสคือขั้นประทุษร้ายเบียดเบียนคนอื่นให้เดือดร้อน ฯ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 7
    7 ก.ย. 2567

    ซีดีแนะนำ