สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 084
สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ ๘๔
วันจันทร์ที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๔๕
ท่านอาจารย์ ส่วนอารมณ์อื่นๆ ทั้งหมดนะคะ ที่ไม่สามารถจะรู้ได้ทางทวารทั้ง ๕ เป็นธรรมารมณ์ เพราะเหตุว่าธรรมารมณ์คืออารมณ์ที่รู้ได้เฉพาะทางใจทางเดียว บัญญัติก็เป็นธรรมารมณ์ด้วยนะคะ เพราะเหตุว่าต้องเป็นอารมณ์ของจิตคิดนึกทางใจ
ผู้ฟัง แล้วธัมมธาตุล่ะครับ
ท่านอาจารย์ ขอเชิญคุณอรรณพค่ะ
อ.อรรณพ ครับ ธาตุคือสภาพธรรมที่มีจริงใช่ไหมครับ ท่านแสดงออกเป็นถึง ๑๘ ธาตุนะครับ ถ้าใช้คำว่าธัมมธาตุนี่ก็คือ สภาพธรรมนะครับ ก็ได้แก่เจตสิกทั้งหมดนะครับ รูปในส่วนที่เป็นสุขุมรูปนะครับ เพราะว่าถ้าเป็นรูปที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย นะครับ ก็คือสี เสียง กลิ่น รส เย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหว
อันนั้นก็เป็นธาตุแสดงแยกไปต่างหากนะครับ เพื่อให้เห็นความเป็นสภาพธรรม ความเป็นธาตุ หรือเป็นธรรมแต่ละอย่างครับ ส่วนสุขุมรูปแล้วก็ เจตสิก นิพพาน เป็นธัมมธาตุครับ ก็ในเรื่องธาตุ ๑๘ นี่นะครับ ก็มีสี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนะครับ ก็เป็น ๕ ธาตุนะครับ แล้วก็ตา หู จมูก ลิ้น กายนะครับ ก็คือจักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท แล้วก็กายปสาท เป็นธาตุอีก ๕ ธาตุ นะครับ อันนี้ ๑๐ ธาตุแล้ว
แล้วก็จิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตกระทบสัมผัสนะครับ ก็เป็นวิญญาณธาตุอีก ๕ นะครับ อันนี้ก็เป็น ๑๕ แล้วใช่ไหมครับ แล้วก็มีอีก ๓ ธาตุนะครับ ก็คือมโนธาตุ มโนวิญญาณธาตุ และธัมมธาตุ มโนธาตุก็ได้แก่ สัมปฏิฉันนจิต ๒ ดวง แล้วก็ปัญจทวาราวัชชนจิตอีก ๑ ดวง ซึ่งจิต ๓ ดวงนี้ จะรู้อารมณ์ได้๕ ทางนะครับ แล้วก็มโนวิญญาณธาตุก็คือจิตที่เหลือนะครับ แล้วก็ธัมมธาตุ ก็ได้แก่สุขุมรูป เจตสิกแล้ว ก็นิพพาน ท่านอาจารย์จะเพิ่ม
ท่านอาจารย์ ถ้าพูดถึงเรื่องหนึ่งเรื่องใดนะคะ ก็จะต้องเข้าใจเรื่องนั้น อย่างพูดถึงเรื่องธาตุนี่คะ มีคำว่าธาตุ ธาตุหมายความว่าอะไรคะ สิ่งที่มีจริงนะคะ แล้วก็มีลักษณะเฉพาะ แต่ละอย่างๆ เพราะฉะนั้นอะไรก็ตามทั้งหมดที่มีจริงนี่คะ เป็นธาตุทั้งนั้นเลย สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้มีจริง เป็นธาตุหรือเปล่าคะ เป็น เสียงเป็นธาตุหรือเปล่า โลภะเป็นธาตุหรือเปล่า โทสะเป็นธาตุหรือเปล่า
ทุกอย่างที่มีนะคะ ในพระไตรปิฏกโดยเฉพาะพระสุตตันปิฏกนี่คะ จะแสดงธาตุโดยชื่อ โลภะธาตุ โทสะธาตุ ทุกอย่างเป็นธาตุ เมื่อทุกอย่างเป็นธาตุนะคะ ก็จะประมวลธาตุ ลงเป็นประเภทๆ นะคะ เป็นธาตุ ๑๘ แสดงให้เห็นความต่างของการที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์แต่ละครั้งนะคะ เช่น ขณะนี้นะคะ มีเห็น เป็นธาตุด้วยใช่ไหมคะ ต้องอาศัยจักขุปสาทเป็นธาตุด้วย ต้องอาศัยรูป สีสัน วัณณะที่ปรากฏเป็นธาตุด้วย
กี่ธาตุแล้วคะ ทางตา ๓ ธาตุ จักขุปสาทเป็นธาตุนะคะ รูปเป็นรูปธาตุ แล้วก็จิตที่เห็นก็เป็นวิญญาณธาตุ ซึ่งชื่อว่าจักขุวิญญาณนะคะ เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งธาตุชนิดนี้จะไม่ทำหน้าที่อื่นเลย เพราะฉะนั้นก็เป็นการประมวลธาตุทั้งหมดนี่คะ แสดงให้เห็นว่าขณะที่มีการรู้อารมณ์แต่ละครั้งเนี่ยนะคะ จะมีธาตุอะไรบ้าง ซึ่งมาจากธาตุทั้งหมดซึ่งแยกเป็นนามธาตุ และรูปธาตุ
เพราะฉะนั้นเวลาที่เข้าใจสภาพธรรม ที่เป็นลักษณะที่ไม่รู้อะไรเลย เป็นรูปธาตุนะคะ แล้วก็ลักษณะของสภาพธรรม ที่เป็นธาตุรู้คือจิตเจตสิกนี่คะ ก็จะแสดงความเป็นธาตุต่างๆ เช่นรูปธาตุมีจริงแล้วก็ปรากฏเมื่อกระทบกับจักขุปสาท แล้วก็มีจักขุวิญญาณเกิดขึ้นในขณะที่เห็นเป็น ๓ ธาตุ ทางหูก็ ๓ ธาตุนะคะ คือโสตปสาทก็เป็นธาตุ แล้วก็เสียงก็เป็นธาตุ โสตวิญญาณก็เป็นธาตุ แสดงให้รู้ว่าจิตที่ได้ยินเสียงจะทำหน้าที่อื่นไม่ได้เลย เกิดขึ้นขณะใดก็ต้องเป็นธาตุได้ยิน
เวลาที่เราใช้คำว่าธาตุนะคะ ต้องไม่ลืมว่าไม่ใช่เรา แต่เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นทำกิจการงาน เช่น จิตได้ยิน เป็นโสตวิญญาณธาตุ ธาตุชนิดนี้มีหน้าที่ได้ยินเท่านั้นเอง จะทำหน้าที่อื่นไม่ได้ นี่คือทางหู ๓ ธาตุ ทางจมูก ๓ ธาตุ เพราะเหตุว่าทุกอย่างเป็นธาตุ เพราะฉะนั้นฆานปสาทก็เป็นธาตุ กลิ่น คันธะก็เป็นธาตุ แล้วก็จิตที่รู้กลิ่นคือฆานวิญญาณก็เป็นธาตุ ทางจมูกอีก ๓ ธาตุ ไม่ใช่เรา
เตือนให้รู้ว่าไม่ใช่เรานะคะ แต่ว่าเป็นธาตุที่ต่างกันแต่ละธาตุนั่นเอง ลิ้มรสนี่คะ รสมีจริงก็เป็นธาตุชนิดหนึ่ง และก็ขณะที่ลิ้นกระทบต้องอาศัยลิ้น รสจึงจะปรากฏได้ ขณะนั้นก็เป็นชิวหาธาตุ แล้วก็มีชิวหาวิญญาณ คือจิตนั้นจะทำหน้าที่อะไรไม่ได้เลยนะคะ นอกจากลิ้มรส วันนี้ จิตนี้เกิดขึ้นหลายครั้งแล้วใช่ไหมคะ เช้า กลางวัน ค่ำ นี่ก็เป็นหน้าที่ของจิตที่จะเกิดขึ้นนะคะ
ทางกายก็คือมีกายปสาท ถ้าส่วนใดของร่างกายไม่มีกายปสาท ก็ไม่สามารถที่จะรับกระทบกับเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวนะคะ ซึ่งก็เป็นโผฏฐัพพธาตุ แล้วก็กายปสาทก็เป็นธาตุนะคะ แล้วก็จิตที่กำลังรู้สิ่งที่เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ก็เป็นกายวิญญาณธาตุ ก็เป็น ๑๕ ธาตุแล้วนะคะ ซึ่งธาตุต่างๆ ๑๕ ธาตุนี่คะ เฉพาะทางๆ จะปะปนกันไม่ได้เลย
แต่ก็มีจิตอื่น นอกจากจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณนะคะ มีจิตที่สามารถจะรู้อารมณ์ทั้ง ๕ ได้ ในขณะที่จักขุวิญญาณทำได้หน้าที่เดียวคือเห็น โสตวิญญาณก็ทำได้หน้าที่เดียวคือได้ยินนะคะ แต่ว่ามีจิตอีก ๓ ประเภทที่สามารถที่จะรู้อารมณ์ได้ ๕ อารมณ์ ได้แก่ปัญจทวาราวัชชนจิตหนึ่ง และก็สัมปฏิฉันนจิต สอง
ถ้าไม่ลืมนะคะ ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิตแรกทางปัญจทวาร ก่อนเห็นนี่ค่ะ กำลังเป็นภวังค์อยู่จะเห็นทันทีไม่ได้ ต้องมีวิถีจิตซึ่งเป็นกิริยาจิตเกิดก่อนทำอาวัชชนจิต หมายความว่ารู้สิ่งที่กระทบซึ่งโดยศัพท์เนี่ยจะแปลว่ารำพึงถึง แต่คนไทยที่ใช้คำนี้ก็อาจจะคิดว่ายาวนะคะ รำพึง แต่ความจริงชั่วขณะที่รู้สึกว่ามีสิ่งหนึ่งสิ่งใด กระทบทางหนึ่งทางใด ใน ๕ ทวาร จิตที่ไม่ใช่ภวังค์นี่คะ เป็นวิถีจิตสามารถที่จะรู้อารมณ์ที่กระทบนะคะ ว่ามีอารมณ์กระทบทาง หนึ่งทางใดใน ๕ ทาง
จิตนี้สามารถรู้อารมณ์ได้ ๕ อารมณ์ และก็สามารถที่จะเกิดอาศัยได้ ๕ ทวาร รวมทั้งสัมปฏิฉันนจิตซึ่งเกิดต่อจากจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ สัมปฏิฉันนเป็นกุศลวิบากหรืออกุศลวิบาก เพราะว่าเป็นผลของกุศลกรรมเช่นเดียวกับจักขุวิญญานนะคะ ซึ่งมีกุศลวิบาก และอกุศลวิบาก
เพราะฉะนั้นสัมปฏิฉันนะรับอารมณ์ต่อจากจิตเห็นก็ได้ จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส สัมปฏิฉันนะจึงสามารถที่จะรู้อารมณ์ได้ทั้ง ๕ ทวาร ทั้ง ๕ อารมณ์ จิตที่รู้อารมณ์ได้ทั้ง ๕ ทวาร และ ๕ อารมณ์นะคะ มีอยู่ ๓ ดวงคือ มโนธาตุ ๓ ได้แก่ปัญจทวาราวัชชนจิตหนึ่ง สัมปฏิฉันนจิตสอง
จิตอื่นทั้งหมดนอกจากนี้นะคะ เป็นมโนวิญญาณธาตุ และธัมมธาตุก็คือธรรมที่เหลือทั้งหมดนอกจากที่กล่าวถึงแล้วเป็นธัมมธาตุ ถ้าจะแจกโดยละเอียดก็ทั้งหมดเป็นธาตุแต่ละธาตุนะคะ แต่ถ้ารวม นอกจากนี้แล้วก็คือธัมมธาตุ นิพพานเป็นธาตุไหนค่ะ ธัมมธาตุ
จจผู้ฟัง ถามการใช้คำสักครู่นี้นะ ว่าเรามีคำว่ามโนวิญญาณธาตุคำหนึ่ง กับคำว่าวิญญาณธาตุ ที่ปรากฏในศัพท์ที่ว่าปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาสธาตุ แล้วก็วิญญาณธาตุ วิญญาณธาตุที่ปรากฏในธาตุที่กล่าวเมื่อสักครู่นี้ กับคำที่ว่ามโนวิญานธาตุเนี่ยเหมือนกันหรือไม่
ท่านอาจารย์ จิตทั้งหมดนะคะ เป็นธาตุรู้ค่ะ แต่ว่าจิตแต่ละประเภทก็ต่างกัน ซึ่งจิตบางประเภทรู้อารมณ์ได้อารมณ์เดียวนะคะ ก็มีชื่อเฉพาะเช่นจักขุวิญญาณธาตุ ต่างกับธาตุอื่นทั้งหมด เพราะเหตุว่าไม่สามารถจะรู้อย่างอื่นได้เลย นอกจากสิ่งที่ปรากฏทางตา โสตวิญญาณธาตุ พวกนี้ก็เช่นเดียวกันนะคะ
แต่พอถึงมโนธาตุ ที่ใช้คำว่ามโนธาตุนี่คะ เพราะเหตุว่าอาศัยหทยวัตถุนะคะ แล้วก็สามารถที่จะรู้อารมณ์ได้ ๕ อารมณ์ก็มีชื่อเฉพาะไปว่ามโนธาตุ ส่วนมโนวิญญาณธาตุก็เป็นจิตอื่นที่เหลือทั้งหมด
ผู้ฟัง เมื่อกี้รู้สึกจะถามว่าเรื่องธาตุ ๖ ใช่ไหมครับ เป็นข้อความที่ปรากฏในธาตุวิภังคสูตรใช่ไหมครับ ก็คือจะมีธาตุอยู่ ๖ อย่างนะครับ ที่ท่านแสดงอันนี้เป็นข้อความที่ปรากฏในพระสูตรนะครับ ก็จะมีปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาสธาตุ แล้วก็วิญญาณธาตุใช่ไหมครับ อันนี้ก็คือกล่าวเรื่องของสภาพธรรมที่ควรรู้ในปัจจุบันนั่นเองนะครับ มหาภูตรูปทั้ง ๔ นะครับ ก็คือปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ ส่วนคำว่าอากาสธาตุนะครับ เป็นการกล่าวถึงอุปาทายรูปทั้งหมด
เพราะเหตุว่ากล่าวเพียงสิ่งเดียวก็เป็นอันรวมสิ่งอื่นไปด้วยนะครับ เพราะว่าอากาสธาตุนะครับ ก็คือปริเฉทรูปนั้นเอง หรือว่าอากาสรูปนั้นเองนะครับ ซึ่งเป็นอุปาทายรูปนะครับ อุปาทายรูปก็มีอยู่ ๒๔ รูปนะครับ ธาตุ ๕ ข้างต้นนะครับ ก็กล่าวถึงรูป ๒๘ นั่นเองครับ
ส่วนคำว่าวิญญาณธาตุนะครับ ก็คือกล่าวถึงสภาพธรรมที่รู้อารมณ์นะครับ เมื่อกล่าวถึงวิญญาณธาตุนะครับ ก็คือเป็นการกล่าวถึงจิตทั้งหมด เมื่อกล่าวถึงจิตทั้งหมดเรียบร้อยแล้วนะครับ ก็เป็นอันกล่าวถึงเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตด้วยนะครับ อันนี้เป็นนัยยะที่แสดงโดยเทศนาในธาตุวิภังคสูตรนะครับ ซึ่งก็คือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในชีวิตประจำวันก็คือ จิตเจตสิก และรูปนั่นเองครับ แต่ว่าแสดงโดยธาตุ ๖ ก็คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาสธาตุ และก็วิญญาณธาตุนะครับ ก็คือแสดงจิต เจตสิก รูปครับ
ผู้ฟัง ที่นี่ มีที่ใช้อยู่ก็คือ กามธาตุ แล้วก็รูปธาตุ อรูปธาตุ อันนี้เนี้ยจะสงเคราะห์ว่าเหมือนกัน และต่างกันจากธาตุที่กล่าวเมื่อสักครู่อย่างไร
อ.สุภีร์ ถ้าเป็นการกล่าวถึงกามธาตุ รูปธาตุ อรูปธาตุนะครับ ก็เป็นการกล่าวถึงจิต เจตสิกรูป นั่นเองนะครับ แต่ว่าเป็นการกล่าวอีกนัยยะหนึ่งนะครับ คำว่ากามธาตุนี้ครับ ก็คือกล่าวถึงจิตที่เป็นขั้นกามาวจรนะครับ แล้วก็รูปทั้งหมด และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยกับจิต ส่วนรูปธาตุนะครับ ก็คือกล่าวถึงรูปาวจรจิต และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย อรูปธาตุก็คือกล่าวถึงอรูปาวจรจิต และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย อันนี้ก็กล่าวถึงจิต เจตสิก รูป แยกเป็นระดับขั้นนะครับ
ท่านอาจารย์ ค่ะ โดยนัยต่างๆ นะคะ ก็จะทำให้ทราบว่าถ้าเราเข้าใจถูกต้องว่าทุกอย่างเป็นธาตุ แต่ว่าจำแนกโดยนัยยะต่างๆ นั่นเองค่ะ มีคำถามจากท่านฟังนะคะ ขอเชิญคุณอรรณพค่ะ
อ.อรรณพ ครับ มีคำถามว่าอนุสัย และอาสยะ เป็นปัจจัยแก่จิต และเจตสิกให้เกิดขึ้นได้อย่างไรนะครับ อนุสัยคราวที่แล้วเราได้สนทนากันไปแล้วนะครับ ก็คืออกุศลธรรมละเอียดที่ไม่ได้เกิดขึ้นทำกิจการงานนะครับ แต่เป็นพืชเชื้อที่จะทำให้อกุศลจิต และอกุศลเจตสิกเกิดขึ้น เช่นในขณะที่อกุศลจิตเกิดขึ้นนะครับ
ให้รู้เลยว่าเพราะยังมีพืชเชื้อของอกุศลนั้นๆ เช่นโทสะจะเกิดได้นะครับ เพราะว่ามีพืชเชื้อคือปฏิฆานุสัยที่จะทำให้โทสะนั้นครับ เกิดขึ้น ระดับกิเลสที่เป็นอนุสัยกิเลสก็คือ ตามนอนอยู่ในจิตไม่ได้เกิดขึ้นทำกิจการงานนะครับ ซึ่งมีข้อความที่ท่านแสดงไว้มากเลยนะครับ มีอยู่ประโยคหนึ่งว่า อนุสัยเมื่อได้เหตุอันควรนะครับ จึงเกิดขึ้นก็หมายถึงอนุสัยเมื่อได้เหตุปัจจัยอันสมควรนะครับ เพราะทำให้เกิดปริยุฏฐานะขึ้น
ปริยุฏฐานะกิเลส คือกิเลสที่เกิดขึ้นกลุ้มรุมจิตใจ ตั้งแต่ในระดับที่บางเบาแทบจะไม่รู้เลยนะครับ คืออาสวะจนไปถึงระดับกุศลธรรมอื่นๆ อุปทานนะครับ ความยึดมั่นถือมั่น หรือนิวรณ์ นิวรณธรรมต่างๆ ซึ่งเป็นเครื่องกลุ้มรุม กางกั้น อันนั้นเป็นอกุศลที่เกิดขึ้นเป็นปริยุฏฐานะกิเลส
ที่นี้ ที่ว่าอนุสัยนะครับ เป็นปัจจัยให้จิต และเจตสิกเกิดขึ้นได้อย่างไร พระอรหันต์ไม่มีอนุสัยหลงเหลืออยู่เลยนะครับ จึงไม่มีพืชเชื้อ ไม่มีสิ่งที่จะทำให้อกุศลจิตเกิดขึ้นได้อีกเลย เพราะฉะนั้นอนุสัยนะครับ ซึ่งเป็นพืชเชื้อของอกุศลนะครับ ถ้ายังไม่ดับด้วยมรรค เมื่อมีเหตุปัจจัยนะครับ ก็จะทำให้อกุศลจิตเกิดขึ้น
ซึ่งขณะที่อกุศลจิตเกิดแต่ละขณะนะครับ ก็เป็นการสะสมอุปนิสัยที่จะมีอกุศลประเภทนั้นๆ ซึ่งในชาดกพระผู้มีพระภาคฯ ได้ทรงแสดงไว้มากเรื่องนะครับ ว่าบุคคลที่เคยทำอย่างนี้ๆ ในกาลนี้นะครับ ในกาลก่อนก็เคยทำอย่างนี้ๆ หรือมีอุปนิสัยอย่างนั้นมาแล้ว
เพราะฉะนั้นในขณะที่อกุศลจิตเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นการสะสมอุปนิสัย หรือเป็นการสะสมอนุสัย ทางฝ่ายดีก็เช่นกันนะครับ ขณะที่กุศลจิตเกิดมีเมตตา หรือเป็นกุศลที่เป็นไปในทาน ในศีล ในภาวนา อย่างใดอย่างหนึ่ง นะครับ ขณะนั้นก็มีการสะสมอุปนิสัยมีการสะสมอาสยะ ครับ ก็คือจริตอัธยาศัยต่างๆ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นอนุสัยซึ่งเป็นพืชเชื้อของฝ่ายอกุศลนะครับ หรือว่าอาสยะ ซึ่งเป็นการสะสมทางฝ่ายดีก็ตามก็เป็นการที่สะสมอุปนิสัยนะครับ
ซึ่งก็จะเป็นอุปนิสสยปัจจัยที่จะทำให้อกุศลจิตเกิดขึ้น จากการที่มีพืชเชื้อคืออนุสัย หรือกุศลจิตที่เป็นไปในทาน ในศีล หรือความสงบของจิต หรือแม้กระทั่งสติปัฏฐานนะครับ ก็เพราะว่ามีการสะสมสิ่งที่ดีเป็นพืชเป็นเชื้อนะครับ อันนั้นก็คือการที่อนุสัย และอาสยะเป็นปัจจัยให้จิต และเจตสิกเกิดขึ้น
ซึ่งถ้าเป็นพระอรหันต์แล้วนะครับ ดับอนุสัยได้แล้ว เมื่อท่านปรินิพพานนะครับ ก็ไม่มีเหตุปัจจัยที่จะทำให้ จิต เจตสิก เกิดขึ้นอีกเลย จุติจิตของพระอรหันต์ ซึ่งเป็นจิตสุดท้ายของสังสารวัฏ จะไม่เป็นปัจจัยที่จะทำให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้นอีกเลยนะครับ ด้วยการที่ดับอนุสัยได้เป็นสมุทเฉทครับ
ท่านอาจารย์ ค่ะ ทุกคนก็มีทั้งอนุสัยนะคะ และอาสยะคือมีการสะสมของทั้งกุศล และอกุศลนี่คะ จริงหรือเปล่าคะ ตามความเป็นจริงเราไม่ได้มีแต่อกุศลตลอด หรือว่าไม่ได้มีแต่กุศลตลอด แต่ทั้งอาสยะ และอนุสัยนะคะ จะเป็นปัจจัยให้เกิดกุศล และอกุศลเมื่อไหร่
ในขณะที่กำลังนอนหลับนะคะ ไม่มีทางเลยที่จิตจะเป็นกุศลหรืออกุศลได้ เพราะเหตุว่าขณะนั้นทำกิจภวังค์ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่คิดนึกด้วย เพราะฉะนั้นขณะนั้นนะคะ ก็เป็นผลของกรรม ที่ทำให้จิตที่เป็นผลของกรรมประเภทนั้นนะคะ เกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้น
ในขณะนั้นมีทั้งอาสยะ และอนุสัย แต่ยังไม่มีปัจจัยที่จะทำให้เกิดเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตได้ เพราะเหตุว่าขณะนั้นกำลังเป็นภวังคจิต ต่อเมื่อไหร่นะคะ เป็นวิถีจิตมีการเห็นสิ่งหนึ่ง สิ่งใดก็ตามเมื่อเห็นแล้วขณะหนึ่ง จิตเห็นดับ แล้วก็ขณะที่จิตเห็นกำลังเห็นนะคะ ก็มีทั้งอาสยะ และอนุสัย แต่ว่ายังไม่ใช่เป็นอกุศลจิตรึกุศลจิต เพราะเหตุว่าเพียงเห็นแล้วก็ดับไป
ถ้าจิตเห็นนั้นไม่มีอนุสัยนะคะ หลังจากนั้นแล้วกิเลส หรืออกุศลจิตจะเกิดไม่ได้เลย แต่เพราะมีตั้งแต่ปฏิสนธิสืบต่อมาจนกระทั่งถึงภวังค์จนกระทั่งถึงขณะที่เห็น ขณะนั้นก็มีอนุสัย และอาสยะ แต่ยังไม่มีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นในขณะที่ทำกิจเห็น เมื่อจิตเห็นทำกิจเห็นดับ สัมปฏิฉันนจิตเกิดต่อ ขณะนั้นก็ยังไม่เป็นปัจจัยที่จะให้เป็นกุศลหรืออกุศล ขณะที่สัมปฏิฉันนจิตดับ สันตีรณจิตเกิดต่อ แม้ในสันตีรณจิตก็มีทั้งอาสยะ และอนุสยะ แต่ก็ยังไม่เป็นปัจจัยที่จะให้กุศลจิต หรืออกุศลจิตเกิดนะคะ
จนกระทั่งเมื่อสันตีรณจิตดับ โวฏฐัพพนจิตเกิด และดับไป เมื่อนั้นนะคะ เป็นปัจจัยที่จะทำให้กุศลจิตหรืออกุศลจิตที่สะสมมานี่คะ เกิดขึ้น บางคนได้ยินเสียงที่ก้าวร้าวแต่จิตเป็นกุศลได้ไหมคะ มีขันติ มีความอดทน เพราะเหตุว่าเป็นผู้ที่สะสมอาสยะอัธยาศัยที่จะเป็นผู้ที่สะสมความอดทนมา หรือว่าบางที สิ่งที่ไม่น่าพอใจ อาหารที่ไม่อร่อยนะคะ แต่ก็สามารถที่จะรับประทานด้วยจิตที่ปกติ ไม่เดือดร้อน ไม่โวยวาย ไม่วุ่นวายนะคะ
ก็เพราะเหตุว่าสะสมมาที่จะเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นการสะสมของแต่ละคนนะคะ มาถึงกาลที่ได้เหตุได้ปัจจัยที่จะเกิดขึ้นนะคะ ก็เกิดขึ้นปรากฏ จะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือทางใจ ที่คิดนึกนะคะ ก็ขณะใดที่มีกุศลจิตเกิดหรืออกุศลจิตเกิด ก็ให้ทราบว่าเพราะสะสมมาที่จะเป็นอย่างนั้น
ที่จะคิดอย่างนั้น ที่จะเมตตา ที่จะให้อภัย ที่จะกรุณา หรืออะไรๆ ก็ตามทั้งหมดนะคะ ก็เพราะการสะสม นอกจากจะเป็นการสะสมของจิตนะคะ ก็ยังมีการกระทำทางกายซึ่งเกิดจากจิตด้วย เพราะฉะนั้นเรื่องของธรรมนี่คะ เป็นเรื่องที่ละเอียดมากแม้แต่ว่ากุศลจิตเกิดด้วยกัน
เช่นการไหว้นะคะ การไหว้ที่อ่อนน้อมนะคะ น่าดู กับการไหว้ที่ไม่งาม ก็มีใช่ไหมคะทั้งๆ ที่เป็นกุศลจิตด้วยกัน นี่ก็แสดงถึงความละเอียดของการสะสมนะคะ ของพฤติกรรมทั้งทางกาย และก็ทางใจด้วย นี่ก็เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นว่าต้องมีเหตุ เมื่อได้กาลเมื่อไหร่ถึงจะเกิดได้ แต่ถ้ายังไม่ถึงกาลที่จะเกิดขึ้น เช่น ขณะที่หลับสนิทนี่คะ ก็ไม่มีทางที่จะเป็นกุศลจิต หรืออกุศลจิตได้ มีคำถามอีกข้อหนึ่ง นะคะ ขอเชิญคุณสุภีร์ค่ะ
อ.สุภีร์ ครับ มีท่านผู้ฟังเขียนคำถาม มาถามนะครับ คำถามมีว่า การส่งกระแสจิตข้ามทวีป และทำให้อีกคนหนึ่งที่รับกระแสจิตโทรศัพท์ไปหาผู้ที่ส่งกระแสจิต เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ หรือไม่นะครับ อันนี้ถามตรงนี้นะครับ ผมก็ไม่ทราบว่าคำว่ากระแสจิตนี้หมายความว่ายังไงนะครับ
เพราะว่าจริงๆ แล้ว จิตเป็นสภาพธรรมที่รู้แจ้งอารมณ์เท่านั้นนะครับ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเลยนะครับ มีอายุ ถ้าแยกโดยละเอียดก็คือมีอายุเท่ากับ ๓ อนุขณะเท่านั้นนะครับ ก็คือขณะเกิดเรียกว่าอุปาทขณะ ขณะที่ตั้งอยู่นะครับ เรียกว่าฐีติขณะ ขณะที่คล้อยไปสู่การดับแล้วดับไป เรียกว่าภังคขณะนะครับ
อันนี้นะครับ ท่านบอกว่าเป็นกระแสจิตนะครับ ซึ่งถ้าท่านแปลนะครับ ก็สามารถแปลมาจากภาษาบาลีที่ใช้คำว่าสันตานะ หรือว่าสันตติก็ได้นะครับ ที่แปลว่ากระแสนะครับ แต่จริงๆ แล้วนะครับ คำว่าสันตานะ หรือสันตตินะครับ ก็เป็นคำเดียวกันนั่นเองแปลว่าการสืบต่อนะครับ ก็คือ จิตดวงเก่าดับไปเป็นปัจจัยให้จิตดวงใหม่เกิดขึ้นนะครับ เรียกว่าสันตานะ หรือว่าสันตตินะครับ เป็นการเกิดดับสืบต่อกันของจิตนั่นเองนะครับ
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 061
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 062
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 063
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 064
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 065
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 066
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 067
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 068
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 069
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 070
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 071
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 072
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 073
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 074
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 075
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 076
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 077
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 078
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 079
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 080
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 081
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 082
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 083
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 084
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 085
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 086
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 087
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 088
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 089
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 090
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 091
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 092
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 093
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 094
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 095
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 096
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 097
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 098
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 099
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 100
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 101
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 102
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 103
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 104
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 105***
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 106
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 107
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 108
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 109
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 110
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 111
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 112
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 113
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 114
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 115
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 116
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 117
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 118
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 119
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 120