สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 091
สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ ๙๑
วันจันทร์ที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๕
ท่านอาจารย์ ชั่วขณะที่รสเผ็ดปรากฏกับจิต เพียงชั่วขณะนั้น จิตที่ลิ้มรสเป็นอุเบกขา แต่หลังจากนั้นแล้วถ้าเป็นทุกข์เพราะรสนั้น จะเป็นที่ลิ้นหรือว่าจะเป็นที่ไหนก็ตาม ขณะนั้นเป็นกายวิญญาณ ไม่ใช่เป็นจิตที่ลิ้มรสแต่ว่าเป็นจิตที่รู้ความร้อน สภาพร้อนที่ปรากฏ และก็เกิดทุกขเวทนาขึ้น เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่จะต้องตรงกับสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า เมื่อมีปัจจัยที่จะให้สภาพธรรมใดเกิดขึ้น แม้แต่เวทนาก็เปลี่ยนไม่ได้ ก็จะต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยนั้นๆ สำหรับทางกายเท่านั้นที่กายปสาทซึมซาบอยู่ทั่วตัว บางคนก็อาจจะรู้สึกว่าไม่เห็นเดือดร้อน เราก็นั่งอยู่นานก็ไม่ได้เป็นสุขเป็นทุกข์อะไร แต่ว่าถ้ามีความสามารถที่จะรู้ลักษณะสภาพของจิตจริงๆ ขณะนั้นจะรู้ได้ แม้แต่เพียงเส้นผมเส้นเดียวที่กระทบหน้าผาก รำคาญไหม แค่เส้นผมเล็กๆ เส้นเดียว แต่ว่าเวลาที่เราเพลินไปเรื่องอื่นหรือว่าไม่รู้สึกกระทบ และก็เปลี่ยนไปเป็นเรื่องอื่นทันที ความรวดเร็วของจิตไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้เกินกว่าที่จะคาดคะเน เพราะว่าขณะนี้เองสภาพธรรมที่เกิดมีอายุสั้นมาก ถ้าเป็นนามธรรมก็มีอายุเพียง ๓ ขณะคือ อุปาทขณะ ขณะเกิด ฐิติขณะ ขณะที่บ่ายหน้าไปสู่การดับแต่ยังไม่ดับ ตั้งอยู่แล้วก็ขณะที่ดับคือภังคขณะ แต่ทั้ง ๓ ขณะนี้ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้แม้เพียงหนึ่งขณะจิตยังไม่รู้ แล้ว ๓ ขณะจะรู้ได้อย่างไร แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ความจริงของสภาพธรรมทั้งปวงโดยสิ้นเชิง เพราะฉะนั้นจึงทรงแสดงแม้แต่เพียงว่าขณะที่จิตเกิดเป็นปัจจัยให้รูปอะไรเกิดบ้าง ในอุปาทขณะ ในฐิติขณะ และในภังคขณะ เพราะฉะนั้นเรื่องของสภาพธรรมที่มีอยู่ทุกวันนี้ก็ถูกปกปิดด้วยอวิชชาคือความไม่รู้จนกว่าจะได้มีการฟังพระธรรมเมื่อไรก็จะได้รู้ว่าผู้ที่ตรัสรู้จริงๆ ก็ได้ตรัสรู้สภาพธรรมที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเคยยึดถือว่าเป็นเรา เพราะว่าเกิดดับสืบต่อเร็วมากเหมือนภาพที่ลวงตา เป็นใครกำลังนั่งอยู่ในห้องนี้เต็มเลย แต่ความจริงก็คือสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น เพราะว่าหลับตาแล้วก็ไม่มีอะไร ยังเป็นใครที่อยู่ในห้องนี้หรือไม่ เพียงแค่หลับตานิดเดียว พอลืมตาก็เป็นอีก เยอะแยะเลย ใช่ไหม เพราะฉะนั้นการที่จะเข้าใจธรรมได้ก็จะต้องฟังโดยละเอียดแล้วก็พิจารณา และรู้ว่าการที่จะดับกิเลสเป็นพระอริยะบุคคลตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงก็จะต้องอบรมปัญญาตั้งแต่ขั้นการฟัง ค่อยๆ เข้าใจขึ้นจึงสามารถที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ เรื่องของความหลากหลายแล้วก็ความวิจิตรต่างๆ ของอารมณ์ก็มีทุกวันโดยที่ว่าไม่มีใครสามารถที่จะเลือกได้เลยสักขณะเดียว แต่ว่าไม่มีใครสามารถที่จะรู้ความจริงว่าขณะนี้นามธรรมเป็นอย่างไร รูปธรรมต่างกับนามธรรมอย่างไร ในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังคิดนึก เพราะฉะนั้นก็จะต้องฟังไปจนกว่าจะถึงกาลที่ถึงปัญญาอีกระดับหนึ่ง เพราะว่าปัญญาที่เกิดจากการฟังก็เป็นเพียงปริยัติ การฟังเรื่องราวของสภาพธรรมจนกว่าจะถึงกาลของปฏิปัตติ และปฏิเวธ
ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์กล่าวบรรยายมานี้รู้สึกว่า ในชีวิตประจำวันก็มีแต่จิตเจตสิกที่เกิดดับสลับกันอย่างรวดเร็วแต่ละวันแต่ละวันในชีวิตประจำวันก็เป็นอย่างนี้
ท่านอาจารย์ ขณะนี้ก็เป็นจิต เจตสิก รูป ไม่พ้นจากจิตเจตสิกรูปเลยไม่ว่าในสถานการณ์ใดๆ ทั้งสิ้น
ผู้ฟัง ความเข้าใจที่ฟังเรื่องจิต เจตสิกก็คือในขณะนี้เอง ที่ท่านอาจารย์ได้ชี้ให้เห็นว่าในชีวิตประจำวันแม้ในขณะนี้ก็มีแต่จิต เจตสิก รูปซึ่งเราหลงคิดว่าเป็นตัวเราเป็นตัวตนสิ่งนี้เป็นความเข้าใจถูกต้องหรือไม่
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง คุณประเชิญกล่าวเรื่องความวิจิตรของจิตต่ออีก
อ. ประเชิญ จิต วิจิตรด้วยอำนาจของสัมปยุตธรรม ซึ่งเมื่อสักครู่นี้ท่านอาจารย์ก็ได้กล่าวในเรื่องของนายทวาร ในทวารทั้ง ๕ ซึ่งเป็นจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ในทวารทั้ง ๕ ซึ่งก็ต่างกันด้วยอำนาจของทวารแต่ละทวารด้วย ถึงแม้ว่าจะเป็นจิตเหมือนกันแต่ว่าเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่ต่างกัน เกิดขึ้นที่ทวารที่ต่างกัน ก็วิจิตรตามอำนาจของทวาร และอารมณ์ซึ่งก็ต่างกัน แม้แต่เป็นชาติวิบากด้วยกันก็ยังวิจิตรต่างกัน ซึ่งในจิตที่เป็นจิตเกิดขึ้นที่รู้อารมณ์ทางทวารทั้ง ๕ ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ก็ยังต่างกัน ซึ่งวิบากจิตนี้ก็จะมีต่างกันออกไปด้วยอำนาจของสัมปยุตธรรมที่เป็นผลทั้งหลาย ที่เป็นกุศลก็ดี อกุศลก็ดี ก็จะวิจิตรต่างกันเช่นเดียวกัน กุศลนี้ แม้เป็นกุศลด้วยกันแต่ก็จะมีความวิจิตรต่างกันด้วยอำนาจของสัมปยุตธรรมก็คือ กุศลบางประเภทนั้นก็จะเป็นกุศลที่มีกำลัง แล้วก็เวทนาที่เกิดร่วมด้วยกันก็ต่างกันถึงแม้ว่าจะมีกำลังที่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นสัมปยุตยุตธรรมที่มีเกิดร่วมขึ้นในจิตซึ่งเมื่อสักครู่นี้ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึงจิตที่เกิดขึ้นทุกขณะที่มีสัมปยุตธรรมที่น้อยที่สุดก็คือ จิตประเภทของทวิปัญจวิญญาณ คือจิตที่รู้อารมณ์ทาง ๕ ทวาร คือตา หู จมูก ลิ้น กาย เมื่อจิตเกิดขึ้นทุกขณะนี้จะต้องมีเจตสิกเกิดขึ้นด้วยทุกครั้ง แต่จิตที่มีเจตสิกน้อยที่สุด ก็ทางตา ทางหู จมูก ลิ้น กายนี้ซึ่งประกอบด้วยผัสสะเจตสิกประเภทหนึ่งที่กระทำหน้าที่กระทบอารมณ์ ท่านใช้คำว่าผัสสะ ซึ่งก็เป็นเจตสิก ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลในการกระทบอารมณ์นั้นๆ เพราะฉะนั้นในการจำแนกพระธรรมที่ทรงแสดงก็จะทำให้เห็นว่าเป็น ธรรมจริงๆ เป็นจิต และกระทำหน้าที่กระทบอารมณ์นั้นก็เป็นเจตสิก ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลสามารถกระทำได้ สิ่งนี้เป็นสัมปยุตธรรมประเภทที่หนึ่ง ที่เกิดขึ้นทำกิจของตนทุกขณะ ในขณะนี้ก็มีเช่นเดียวกัน สิ่งนี้คือประเภทที่ ๑ ประเภทที่ ๒ คือเวทนาความรู้สึกซึ่งเมื่อสักครู่นี้ท่านอาจารย์ และคุณสุภีร์ก็ได้กล่าวว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้น เป็นไปในชีวิตประจำวันของเรา มีทั้งสุข ทั้งทุกข์ ทั้งไม่ทุกข์ไม่สุข ความดีใจ และเสียใจ ก็มีเกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน เมื่อจิตเกิดขึ้นทุกครั้ง ความรู้สึกก็จะมีทุกครั้ง ในทางตาก็เป็นเพียงอุเบกขาเวทนา คือไม่สุขไม่ทุกข์ สิ่งนี้แม้แต่เป็นจิตด้วยกันเวทนาก็ต่างกัน สิ่งนี้เป็นประเภทที่ ๒
ท่านอาจารย์ คุณสุภีร์จะกล่าวถึงผัสสะเจตสิตเพิ่มเติมอีกหรือไม่
อ.สุภีร์ ผัสสะเจตสิก ผัสสะแปลตามศัพท์ก็แปลว่าการกระทบ ผัสสะเจตสิกก็เป็นสภาพธรรมที่เป็นเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิต และเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่กระทบกับอารมณ์ ผัสสะอย่างเดียวก็แปลว่ากระทบ แต่ว่าผัสสะเจตสิกก็คือ สภาพธรรมหรือว่านามธรรมชนิดหนึ่งที่เกิดร่วมกับจิตแล้วก็รู้อารมณ์เดียวกับจิต แต่ว่ารู้อารมณ์โดยการกระทบกับอารมณ์ คำว่ากระทบที่เป็นหน้าที่ของผัสสเจตสิก ไม่ใช่เป็นการกระทบแบบในภาษาไทย ในภาษาไทยเราคำว่ากระทบก็หมายถึงว่ามีอะไรสองอย่างมาชนกันใช่ไหม เป็นการกระทบ แต่ถ้าเป็นการกระทบของผัสสเจตสิกนี้ เป็นการกระทบกับอารมณ์ ฉะนั้นถ้ามีผัสสะเจตสิกเกิดขึ้น ต้องมีการรู้อารมณ์ด้วย ถ้าไม่มีการรู้อารมณ์จะไม่มีผัสสะเจตสิก ก็คืออย่างเช่น มีของสองสิ่ง ที่เป็นแก้วสองอันกระทบกันอย่างนี้ ไม่เรียกว่าผัสสะ เพราะเหตุว่าไม่มีการรู้อารมณ์เกิดขึ้น เพราะเหตุว่าผัสสะนี้เป็นเจตสิกเกิดขึ้นรู้อารมณ์เดียวกับจิต รู้อารมณ์โดยการกระทบอารมณ์ ฉะนั้นถ้าผัสสะเจตสิกเกิดขึ้นกระทบกับอารมณ์ใด จิตก็รู้อารมณ์นั้น แล้วก็เจตสิกอื่นๆ ที่เกิดขึ้นร่วมกับจิตนั้นก็รู้อารมณ์เหล่านั้นด้วยเช่นเดียวกัน อย่างเวทนาเจตสิกที่กล่าวถึงแล้วเมื่อสักครู่นี้ ก็รู้สึกกับอารมณ์ที่ผัสสะกระทบนั่นเอง ผัสสะเจตสิกเกิดขึ้นทำหน้าที่กระทบกับอารมณ์เป็นเหตุให้จิตรู้อารมณ์นั้น เป็นเหตุให้เวทนาเจตสิกรู้สึกกับอารมณ์นั้น
ผู้ฟัง เคยได้ยินว่ามีการกล่าวว่าถ้าดับผัสสะแล้วทุกอย่างจะดับหมด ตรงนี้นั้นจะถูกต้องอย่างไร
อ.สุภีร์ ดับผัสสะนี้ก็คือหลังจากจุติจิตของพระอรหันต์ เพราะเหตุว่าผัสสะเจตสิกนี้เป็นเจตสิกที่ต้องเกิดร่วมกับจิตทุกประเภท ใช่ไหม ฉะนั้นสัตว์ บุคคลทุกๆ คนอย่างเรานี้ ทุกๆ ขณะจิตมีผัสสะเจตสิกเกิดร่วมด้วยเสมอ แม้แต่ขณะนอนหลับผัสสะเจตสิกก็กระทบกับอารมณ์ที่เป็นอารมณ์ของภวังคจิต ฉะนั้นก็มีผัสสะเจตสิกเกิดร่วมด้วยตลอดไป ฉะนั้นจะดับผัสสะก็คือไม่มีผัสสะเกิดอีกต่อไปนั่นเอง ที่จะไม่มีผัสสะเจตสิกเกิดอีกต่อไปก็คือหลังจากจุติจิตของพระอรหันต์ที่เป็นอนุปาทิเสสนิพพานที่เรียกว่า ปรินิพพานโดยไม่มีขันธ์เหลืออยู่แล้ว ไม่มีเหตุที่จะทำให้เกิดอีกแล้วเป็นเหมือนกับไฟสิ้นเชื้อ ไฟนี้เมื่อยามดับไปแล้วจะไปหาว่าอยู่ที่ไหนก็ไม่ได้ ใช่ไหม ขันธ์ของพระอรหันต์ ผู้ที่ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานก็เช่นเดียวกัน จะไปหาว่ารูปขันธ์ของท่าน เวทนาขันธ์ของท่าน สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ของท่านอยู่ที่ไหนก็หาไม่ได้แล้ว เพราะว่าไม่มีเหตุที่จะทำให้ขันธ์เหล่านั้นเกิดขึ้น
ท่านอาจารย์ ขอกล่าวถึงผัสสะ ทุกคนก็ทราบว่าจิตนี้เป็นสภาพที่รู้อารมณ์ แล้วจิตจะรู้อารมณ์อะไรต้องแล้วแต่ผัสสะเจตสิกกระทบอารมณ์อะไร เลือกได้ไหม เลือกให้จิตเกิดแล้วให้ผัสสะกระทบอารมณ์นั้น อารมณ์นี้ อยากกระทบกับอารมณ์นั้นเหลือเกิน แต่ก็แล้วแต่ผัสสะว่าผัสสะจะกระทบกับอารมณ์อะไร เช่น ในขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตาก็มี เสียงแม้ไม่มีคนพูด เสียงก็มี กายปสาทก็มี ที่จะรู้เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว แต่ขณะที่รู้สิ่งใดแสดงว่าผัสสะเจตสิกกระทบสิ่งนั้น จิตเกิดพร้อมกับผัสสะเจตสิก และก็รู้สิ่งที่ผัสสะเจตสิกกระทบ เพราะฉะนั้นจิตจะขาดผัสสะเจตสิกไม่ได้เลย ด้วยเหตุนี้ผัสสะจึงเป็นอาหารปัจจัย ก็พูดเรื่องปัจจัยเกริ่นๆ ให้พอได้ยินได้ฟังแล้วก็จะได้รู้ว่าสภาพธรรมที่เกิดพร้อมกันเป็นปัจจัยโดยสถานใด เพราะเหตุว่าเมื่อผัสสเจตสิกกระทบจิต และเจตสิกอื่นๆ เกิดพร้อมกันตามประเภทของเจตสิกนั้นๆ เช่นเวลาที่จิตเห็นเกิดขึ้นเพราะผัสสะเจตสิกกระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตา ขณะนั้นไม่ได้กระทบกับเสียง แต่ขณะใดที่จิตได้ยินเสียงก็เพราะขณะนั้นผัสสะเจตสิกกระทบเสียง ทุกคนคงจะจำเรื่องในชีวิตได้มากน้อยต่างกัน เรื่องก็เยอะ แต่เราคิดถึงเรื่องอะไร เพราะผัสสะเจตสิกกระทบอารมณ์นั้น แต่ว่าไม่ได้มีแต่เฉพาะผัสสะเจตสิก เจตสิกเดียวที่เกิดกับจิต อย่างน้อยที่สุดมี ๗ เจตสิก สำหรับผัสสะเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่กระทบอารมณ์ ต้องเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ด้วย แต่อย่างรูปนี้จะกระทบกันอย่างไร รูปก็ไม่ทำให้เป็นสภาพรู้ขึ้นมาได้ เพราะเหตุว่ารูปไม่ใช่สภาพรู้ แต่ผัสสะเป็นเจตสิกเป็นสภาพรู้ เกิดพร้อมจิตดับพร้อมจิต เป็นสัมปยุตธรรม และสำหรับขณะนั้นที่เกิดร่วมกับจิต และเจตสิกอื่นๆ ผัสสะเจตสิกเป็นปัจจัยโดยเป็นอาหารปัจจัยนำมาซึ่งจิต และเจตสิกซึ่งเกิดพร้อมกันในขณะนั้น และเมื่อมีการกระทบอารมณ์แล้วจิตก็รู้อารมณ์ที่ผัสสะเจตสิกกระทบ คนส่วนใหญ่ฟังเผินๆ ก็อาจจะเข้าใจว่าผัสสะกระทบแล้วดับไปแล้วก็จิตก็เกิดขึ้น ซึ่งไม่ใช่อย่างนั้น สภาพธรรมที่เป็นปัจจัยโดยเป็นสหชาตปัจจัยหมายความว่าต้องเกิดพร้อมกัน ถ้าผัสสะเกิดแล้วดับไปจะให้จิตไปรู้ได้อย่างไรอารมณ์อะไรที่ผัสสะกระทบ แต่เพราะเหตุว่าผัสสะในขณะนั้นเกิดกระทบอารมณ์ใด จิตที่เกิดพร้อมกันในขณะนั้นก็รู้อารมณ์นั้น จะคนละขณะไม่ได้ เช่น ในขณะที่เห็น ผัสสะกระทบกับรูปารมณ์คือสิ่งที่กำลังปรากฏสีสันวรรณะต่างๆ ทางตา และจิตก็กำลังเห็น ขณะที่เสียงปรากฏเพราะผัสสะกระทบ และจิตก็ได้ยินเสียง นอกจากนั้นก็ยังมีเจตสิกซึ่งต้องเกิดกับจิตทุกประเภท เพราะว่าเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกประเภทมี ๗ ชนิด ชื่อว่าสรรพจิตตสาธารณเจตสิก ภาษาบาลีก็แปลจากข้างหลังไปใช่ไหม เจตสิกที่เกิดสาธารณะกับจิตทุกชนิด สรรพะจิตตสาธารณเจตสิก ภาษาบาลีก็ไม่ยากเกินไปใช่ไหม เราก็ได้ยินบ่อยๆ สรรพ สัพเพพวกนี้ก็ชินหู สาธารณะก็ทั่วไป เพราะฉะนั้นสรรพจิตตสาธารณะ ๗ ดวง หรือ ๗ ชนิดก็ได้ ดวงที่ ๑ คือผัสสะเจตสิก ก็คงไม่มีใครสงสัย แต่ว่ามีใครจะรู้ลักษณะของผัสสะหรือเปล่า เพียงแค่ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรม และรูปธรรมในขณะนี้ก็เข้าใจเพียงชื่อ แต่ยังไม่ถึงกับการประจักษ์ลักษณะของธาตุซึ่งไม่ใช่ตัวตน และก็มีลักษณะเฉพาะอย่างเฉพาะอย่าง ซึ่งจะค่อยๆ รู้ได้โดยสติสัมปชัญญะซึ่งเป็นสติปัฎฐานเท่านั้น ถ้ามิฉะนั้นแล้วก็เพียงฟังเรื่องของผัสสะไปก่อนแล้วก็รู้ว่าก็เป็นสภาพของเจตสิกซึ่งเกิดทุกขณะจิตตั้งแต่เกิดจนตาย ตายแล้วก็เกิดอีกในสังสารวัฏฏิ์ นานแสนนานมาแล้ว แล้วก็จะต่อไปอีกนานแสนนานเท่าไรถ้าไม่รู้ความจริงของลักษณะของสภาพธรรมก็จะต้องเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยเรื่อย ก็จะต้องมีผัสสะเจตสิกเกิดพร้อมกับจิต และเจตสิกอื่นๆ อีก ๖ ดวงสำหรับจิตที่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยน้อยที่สุดคือ ๗ ดวง สรรพจิตตสาธารณเจตสิกหนึ่งคือผัสสะ เป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา ความรู้สึกโดยสหชาตปัจจัยด้วย ไม่ใช่ว่าคนละขณะะ ผัสสะกระทบสิ่งใดจิตรู้สิ่งนั้น เวทนารู้สึกทันทีในสิ่งที่กำลังปรากฏซึ่งก็แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะเป็นปัจจัยให้เกิดอุเบกขาเวทนาหรือว่าโสมนัสเวทนา โทมนัสเวทนา หรือสุขาเวทนา หรือทุกขเวทนา แต่ถ้ากล่าวโดยแยกก็ต้องเป็น ๕ แต่ถ้ากล่าวโดยรวมก็เป็น ๓ คือสุขหนึ่ง ทุกข์หนึ่ง และก็อุเบกขา หรืออทุกขมสุข แต่ถ้าแยกเป็นกาย และใจ เพราะเหตุว่าสำหรับผู้ที่เป็นพระอรหันต์ท่านยังคงมีทุกขเวทนาทางกาย และสุขเวทนาทางกาย แต่ไม่มีโทมนัสเวทนา เพราะฉะนั้นก็ต้องแยกให้ทราบว่าถ้าใช้คำว่า โสมนัสคู่กับสุข ก็คือโสมนัสเป็นทางใจ และสุขเป็นทางกาย โทมนัสก็เป็นทางใจ ทุกข์ก็เป็นทางกาย ส่วนอุเบกขาก็อทุกขมสุข เป็นอีกชื่อหนึ่ง เวลาที่ผัสสะเกิดกับจิตจะรู้อารมณ์ใดก็ตามต้องมีเวทนาเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้งไป
ผู้ฟัง เหตุผลที่มีโลภมูลจิต ๘ ดวงนี้ไม่ทราบว่ามีเหตุผลอย่างไร
อ.สุภีร์ ด้วยอำนาจของสัมปยุตธรรมซึ่งกำลังสนทนากันอยู่ วิจิตรต่างกันด้วยอำนาจของสัมปยุติธรรม สิ่งนี้ก็จำแนกด้วยพระสัพพัญยุตญานไม่ใช่ธรรมดา เพราะว่าเป็นโลภะคือความโลภเหมือนกัน แต่เวทนาต่างกันได้ ใช่ไหม บางครั้งมีความโลภแต่เฉยๆ ก็มี บางครั้งความโลภเกิดขึ้น ดีใจ โสมนัสก็มีสิ่งนี้คือต่างกันอย่างหนึ่ง แต่บางครั้ง ดีใจโสมนัสเหมือนกันแต่กำลังต่างกันก็ได้คือกำลังอ่อนหรือกำลังแรง หรือ กำลังแรงเหมือนกันแต่ประกอบด้วยทิฏฐิก็ได้ ไม่ประกอบทิฏฐิก็ได้ มีมานะก็ได้ ไม่มีมานะก็ได้ เพราะฉะนั้นสัมปยุตธรรมที่เกิดร่วมกับโลภมูลจิตนั้นต่างกัน จึงมีโลภะ ความโลภนี้จึงมีประเภทที่ต่างๆ กันถึง ๘ ประเภท สิ่งนี้ก็พระพุทธองค์ท่านทรงจำแนกไว้ว่าเมื่อความโลภเกิดขึ้นที่เป็นโลภะ ไม่ว่าจะเป็นกับบุคคลใดก็ตามในภพภูมิใดก็ตาม นับแล้วไม่นับอีกรวมแล้วทั้งหมดก็ไม่เกิน ๘ นี้ ไม่เกินจากนี้ คือจะกี่จักรวาลก็ตาม คนจะกี่พันล้านก็ตาม เมื่อความโลภเกิดขึ้นก็ไม่พ้นจาก ๘ ประเภทนี้
ผู้ฟัง ก่อนจะไปถึงเจตสิกอื่นขอสอบถาม และทำความเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับผัสสะเจตสิกหน่อย คือตามที่ได้ศึกษามา อารมณ์ต่างๆ ที่มากระทบทางตา ทางหู ทางจมูกทางลิ้น ทางกาย แล้วก็ทางใจล้วนแต่ต้องมีผัสสะเจตสิก เป็นธรรมชาติที่กระทบอารมณ์ไม่อย่างนั้นจิตรู้ไม่ได้ ขอยกตัวอย่างในชีวิตประจำวันที่พอจะศึกษาได้ แต่จะเข้าใจถึงผัสสะเจตสิกนั้นเข้าใจได้ยากมาก เช่น ขณะที่ร่างกายหรือขาเราเตะก้อนหินเป็นต้น มีความรู้สึกว่ามีความแข็งมากๆ แล้วก็ความปวดมากๆ ในขณะนั้น แต่ไม่เห็นผัสสะเจตสิก เราจะรู้ได้อย่างไรว่าขณะนั้นมีผัสสเจตสิกในขณะนั้น
ท่านอาจารย์ ทั้งหมดนี้รู้จากการฟังก่อน ไม่ใช่ว่าจะไปรู้โดยการที่สามารถจะรู้ลักษณะของผัสสะเจตสิกได้ทันที ขณะที่กระทบแข็งแสดงว่าแข็งปรากฏลักษณะของรูปปรากฎซึ่งจะต้องรู้ว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ขณะที่กระทบแข็งมากๆ แล้วก็เจ็บ ลักษณะที่เจ็บก็ไม่ใช่ลักษณะที่แข็ง เพราะฉะนั้นในชีวิตประจำวันทุกขณะก็จะเป็นลักษณะของสภาพธรรมนั่นเองแต่ละอย่างที่เกิดขึ้นปรากฏ แต่ว่าเร็วมาก เพราะว่าเกิดปรากฏแล้วก็หมดไป เพราะฉะนั้นก็ยากที่จะรู้ความจริงว่าเป็นแต่เพียงธรรมมะซึ่ง ต้องเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นขณะที่จิตรู้แข็งหรือว่าจะเป็นทวารหนึ่งๆ นั้นไม่ใช่อารมณ์มากระทบจิตโดยตรง แต่ว่ากระทบที่ผัสสะแต่จิตเป็นธรรมชาติที่รู้ ถูกต้องหรือไม่
ท่านอาจารย์ ทั้งหมดรู้อารมณ์เดียวกันไม่ว่าจะเป็นผัสสะเจตสิกหรือว่าจิตหรือว่าเจตสิกอื่นๆ เช่นเวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก ก็ต้องรู้อารมณ์เดียวกัน
ผู้ฟัง แต่รู้ต่างกันอย่างไรบ้าง เช่น ความแข็งที่ปรากฏในขณะที่เวทนาดูเหมือนกับเรารู้แต่จิต แต่ว่าขณะนั้นเวทนาต้องรู้ความแข็งด้วย แล้วก็จิตก็ต้องรู้ความแข็งด้วย
ท่านอาจารย์ รู้โดยกระทบ รู้โดยรู้สึก รู้โดยจำหรือว่ารู้โดยประการอื่นๆ ของลักษณะแต่ละลักษณะของเจตสิก
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 061
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 062
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 063
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 064
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 065
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 066
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 067
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 068
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 069
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 070
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 071
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 072
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 073
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 074
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 075
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 076
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 077
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 078
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 079
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 080
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 081
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 082
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 083
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 084
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 085
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 086
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 087
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 088
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 089
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 090
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 091
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 092
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 093
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 094
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 095
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 096
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 097
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 098
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 099
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 100
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 101
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 102
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 103
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 104
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 105***
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 106
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 107
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 108
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 109
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 110
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 111
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 112
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 113
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 114
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 115
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 116
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 117
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 118
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 119
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 120