สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 092
สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ ๙๒
วันจันทร์ที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๕
ผู้ฟัง แต่รู้ต่างกันอย่างไรบ้าง เช่น ความแข็งที่ปรากฏ ในขณะที่เวทนาดูเหมือนกับเรารู้แต่จิต แต่ว่าขณะนั้นเวทนาต้องรู้ความแข็งด้วย แล้วจิตก็ต้องรู้ความแข็งด้วยขอความรู้
ท่านอาจารย์ รู้โดยกระทบ รู้โดยรู้สึก รู้โดยจำ หรือว่ารู้โดยประการอื่นของลักษณะแต่ละลักษณะของเจตสิก
ผู้ฟัง อย่างถ้าอาการแข็งนี้ เรารู้ว่ามีความแข็ง ขณะนั้นเป็นจิตรู้หรือว่าเป็นสภาพอื่นรู้
ท่านอาจารย์ ใครจะรู้นอกจากจิตเจตสิกซึ่งเป็นสภาพรู้ ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ขณะนั้นก็ต้องเป็นนามธรรมเท่านั้นที่สามารถจะรู้อารมณ์ได้
ผู้ฟัง ก็แสดงว่าขณะนั้นเป็นธรรมที่รู้ แต่ว่าเนื่องจากความเคยชิน เราก็เลยยึดถือว่าในขณะนั้นเรารู้สิ่งต่างๆ ถูกต้องไหม
ผู้ฟัง ขออนุญาตเรียนถามต่อ เมื่อสักครู่ท่านอาจารย์สุจินต์ได้กล่าวถึงทุกข์กายทุกข์ใจ โทมนัสเป็นทุกข์ทางใจ และทุกข์ทางกาย ท่านอาจารย์ช่วยชี้หน่อยได้ไหมว่าอย่างไรจึงจะเป็นทุกข์ทางกาย และอย่างไรจึงจะเป็นทุกข์ทางใจ เพราะว่าถ้าเป็นทุกข์ทั้งกายแล้วนี้ร่างกายไม่น่าจะเป็นทุกข์ได้ นั้นก็เป็นต้องเป็นทุกข์ใจเหมือนกัน แล้วทุกข์ทางใจในลักษณะกายเป็นอย่างไร กรุณาให้รายละเอียด
ท่านอาจารย์ ทางกายคือขณะนั้นกำลังมีรูปกระทบกายเป็นอารมณ์ แต่ทางใจ ไม่มีรูปกระทบกาย เป็นทุกข์หรือเปล่า วันนี้ใครเสียใจบ้างโดยที่ว่ารูปไม่ได้มากระทบกายเลย คิดแต่เรื่องปัญหา ปวดหัว เป็นทุกข์ ขณะนั้นไม่ได้มีอะไรกระทบกายแต่ความรู้สึกขณะนั้นก็เป็นโทมนัส ขุ่นใจ ไม่พอใจ แต่ว่าขณะใดก็ตามที่มีกายอยู่แล้วก็มีสิ่งที่มากระทบ มีกายปสาท ขณะนั้นจะห้ามความรู้สึกที่เป็นสุขหรือเป็นทุกข์อย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้
ผู้ฟัง อย่างนั้นเมื่อเวลาฟังเรื่องทุกข์ทางกายทุกข์ทางใจนี้ จะต้องเข้าใจถึงอารมณ์ของจิตซึ่งเป็นไปในขณะนั้นเป็นทุกข์ทางกายหรือทุกข์ทางใจ
ท่านอาจารย์ การศึกษาทำให้เป็นเรื่องตรง และก็เป็นเรื่องละเอียด แล้วจิตก็เป็นสภาพที่ที่เกิดดับเร็วมาก และก็มีประเภททั้งหมดถึง ๘๙ ประเภท เพราะฉะนั้นแต่ละประเภทก็ต้องมีเวทนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย และก็มีสภาพธรรมที่เป็นสัมปยุตธรรมที่เกิดร่วมกันต่างๆ กันออกไป
ผู้ฟัง ถ้าสมมติว่าเราไม่รู้ผัสสะ แต่ว่าเราไปรู้เวทนาเลย จำเป็นไหมว่าที่เราจะไปพะวงอยู่กับคำว่ารู้ผัสสะ ไม่รู้ผัสสะ แต่รู้เวทนาเลย เราก็ไปกำหนดเวทนาอย่างนี้จะถูกต้องหรือไม่
ท่านอาจารย์ กำหนดอย่างไร
ผู้ฟัง สมมติว่าเวทนาเป็นทุกข์ก็ตามเป็นสุขก็ตาม เราก็รู้ว่าเป็นสภาพธรรมอย่าง หนึ่งเท่านั้นเอง อย่างนี้จะถูกหรือไม่
ท่านอาจารย์ ต้องรู้ลักษณะของความรู้สึกในขณะนั้น โดยไม่ใช่เรารู้ แต่รู้ลักษณะที่สัมมาสติเกิด และระลึกรู้อยู่ที่ลักษณะนั้น
อ.ประเชิญ จิตที่วิจิตรต่างกันเพราะว่าสัมปยุติธรรมที่ต่างกัน ซึ่งเมื่อสักครู่นี้ได้กล่าวกันไปแล้วในเรื่องของเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตทุกขณะ ที่กล่าวไปแล้ว ๒ ประเภท คือ ผัสสะ และเวทนา เจตสิกอีกประเภทหนึ่งที่เกิดร่วมกับจิตทุกๆ ขณะ เมื่อจิตเกิดขึ้นก็คือสัญญา สัญญาเจตสิกเป็นเจตสิกที่เกิดขึ้นทำหน้าที่จำ จำทุกอย่าง เห็น จิตเห็นเกิดขึ้นจำสี จิตได้ยินเกิดขึ้นจำเสียง จิตได้กลิ่นเกิดขึ้นก็จำกลิ่น ทางลิ้นก็จำรส ทางกายก็จำสิ่งที่กระทบสัมผัส ทางใจก็จำเรื่องราว และอารมณ์ทางใจ ซึ่งก็เกิดขึ้นทำหน้าที่จำอารมณ์ทุกๆ อารมณ์ที่เกิดขึ้นที่จิตรู้ สัญญาทำหน้าที่จำ ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ในการจำเลย เป็นสภาพธรรมที่เรียกว่าเจตสิก สิ่งนี้เป็นสัมปยุตธรรมประเภทที่ ๓
ท่านอาจารย์ ทุกคนต้องจำ ใช่ไหม เราอาจจะคิดว่าเราจำไม่ได้แต่ความจริงสัญญาเจตสิกเกิดกับจิตทุกขณะไม่เว้นเลย สัญญาเจตสิกคือสภาพธรรมที่จำสิ่งที่กำลังปรากฏที่จิตกำลังรู้ในขณะนั้น ขณะที่เห็น จำหรือเปล่า ถ้าไม่จำจะรู้ไหมว่าเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นคน เป็นแก้วน้ำ แต่ที่จำได้ เราเคยเข้าใจว่าเป็นเราจำได้ แต่ความจริงเพราะสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งมีกิจมีลักษณะจำ จะไม่ใช่ลักษณะอื่น จะไม่ใช่ลักษณะที่รู้สึก จะไม่ใช่ลักษณะที่กระทบ แต่ว่าเป็นสภาพธรรมที่จำทุกอย่าง ไม่ว่าจิตรู้อารมณ์อะไร สัญญาเจตสิกก็จำอารมณ์นั้น
ผู้ฟัง เคยฟังท่านอาจารย์บรรยายว่าขณะที่ฝันนั้นก็เพราะสัญญา แล้วทำไมสัญญาไปจำแต่ฝันร้าย
ท่านอาจารย์ เลือกให้สัญญาจำแต่สิ่งที่พอใจได้หรือไม่ ก็จะมีตัวเราที่จะเลือก ความจริงขณะที่นอนหลับ แสดงให้เห็นถึงการสะสม การสืบต่อของสัญญา ในฝันนั้น เราจะเห็น เราจะพูดหรือเราจะทำอะไรก็แล้วแต่ เพราะเราจำสิ่งนั้นไว้ แต่ว่าความจำที่จำไว้มากมายเยอะแยะก็เลอะเลือน ปรุงแต่งให้เป็นความฝันซึ่งอาจจะประหลาดประหลาดก็ได้
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นความฝันนี้จะมาเทียบกับในชีวิตประจำวันในขณะที่เราไม่ได้หลับนี้จะเหมือนกันอย่างไร
ท่านอาจารย์ ต้องทราบว่าฝันนี้ ทางทวารไหน ขณะที่กำลังฝัน ไม่เห็น ถูกต้องไหมไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพราะฉะนั้นทวารหรือทางที่จิตจะรู้อารมณ์มี ๖ ทาง ไม่ใช่ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่ขณะนั้นการสะสมของเรื่องราวต่างๆ ที่จำไว้ ก็ทำให้ภวังค์ไหว และเมื่อภวังค์ขณะสุดท้ายที่ระหว่างที่หลับสนิท จิตเกิดขึ้นทำกิจภวังค์โดยตลอด คือไม่ใช่ทำหน้าที่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่คิดนึกด้วยในขณะที่หลับสนิท ทำหน้าที่สืบต่อดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้นไว้ ยังไม่ทำให้สิ้นชีวิต เพราะต้องตื่นด้วยว่าก็ต้องฝัน เพราะฉะนั้นเมื่อภวังคุปัจเฉทะคือภวังค์สุดท้ายดับลง มโนทวาราวัชชนะจิตซึ่งเป็นวิถีจิตแรกก็คิดถึง แล้วแต่ว่าจะฝันถึงอะไรก็ตามแต่ และเมื่อคิดแล้ว จิตเป็นกุศลหรืออกุศล เพราะเหตุว่ายังมีกิเลส
เพราะฉะนั้นก็หลังจากที่คิด เราคิดด้วยจิตอะไร ทุกครั้งที่คิดให้ทราบว่าคิดด้วยจิตอะไร ด้วยกุศลจิตหรือด้วยอกุศลจิต ฝัน ขณะนั้นเป็นกุศลจิตที่ฝันหรือว่าเป็นอกุศลจิตที่ฝัน และความฝันก็อาจจะทำให้เราระลึกได้ว่ายังมีกิเลสมากมายแค่ไหน เพราะว่าฝันแต่ละเรื่องก็คงจะเป็นอกุศลจิตที่ฝันมากกว่ากุศลจิตที่ฝัน ก็เป็นเครื่องเตือนให้รู้ว่ามีกิเลสมากน้อยแค่ไหน พอตื่นขึ้นมาก็มีกิเลสอีกแล้ว ก็หนีไม่พ้นเลย หลับฝันก็เป็นไปด้วยกุศลบ้าง อกุศลบ้าง แต่อกุศลเป็นส่วนใหญ่ ตื่นขึ้นมาก็เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรสส่วนใหญ่ก็เป็นอกุศลอีก เพราะฉะนั้นกว่าที่กุศลจะค่อยๆ เจริญขึ้นก็ต้องอบรมนานมากกว่าจะรู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ได้
อ.ประเชิญ คำว่าสัญญาในภาษาไทยเราเอามาใช้สัญญาเช่าบ้าน สัญญาซื้อขายข้าวของอะไรทั้งหลาย ถ้าไม่ได้ทำสัญญามันก็จะไม่มีสัญญา สัญญาตรงนี้จะตรงกับสภาพธรรมที่ในทางธรรมอย่างไร
อ.สุภีร์ สิ่งนี้ไม่ตรงกัน ก็คนละอย่างกันไปเลย ก็ใช้ตามที่นิยมกัน แต่ว่าเมื่อเราศึกษาในเรื่องของธรรมที่เป็นเจตสิก ๗ ประเภทที่เป็นสรรพจิตตสาธารณเจตสิก มีสัญญาเจตสิกอยู่ด้วย สัญญาเจตสิกก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์เดียวกับที่จิตรู้นั่นเอง แต่รู้อารมณ์โดยการจำอารมณ์นั้นหรือว่าหมายรู้อารมณ์นั้น บางที่บางแห่งก็ใช้คำว่าหมายรู้ก็ได้เช่นเดียวกัน ก็คือจำได้จำอารมณ์นั้นหรือว่าหมายรู้อารมณ์นั้น สิ่งนี้เป็นลักษณะของสัญญาเจตสิก แต่ในภาษาไทย เรามาใช้ก็เป็นความนิยมของภาษา แต่ว่าเวลาเราศึกษาธรรมหรือว่าพูดกันอีกเรื่องหนึ่งก็คนละอย่างกัน
ท่านอาจารย์ โดยมากภาษาไทยก็เอาเค้าของภาษาบาลีมาใช้ ทำไมไม่ใช่เวทนามาทำสัญญา แต่ว่าใช้คำว่า สัญญา เพราะเหตุว่าสัญญานี้ จำ ถ้าเห็นก็จำได้ ถ้าเห็นสัญญาก็ระลึกได้หรือจำได้ แต่ว่าตามความจริงแล้วสัญญาก็เป็นเจตสิกซึ่งเกิดแล้วก็จำโดยที่เราไม่ต้องรู้เนื้อรู้ตัวเลย เช่น ขณะที่เห็น สัญญาเจตสิกก็จำแล้ว ไม่ต้องไปนั่งคิดบอกสัญญาให้จำ เพราะฉะนั้นภาษาไทยก็เอาเค้าของภาษามาลีมาใช้ในทางที่ไม่ตรงตามความหมาย เช่น คำว่าสัญญาก็คงจะเกี่ยวกับจำเหมือนกัน เรียกว่าคำว่าอารมณ์ สิ่งที่ปรากฏเพราะจิตรู้ขณะใด สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จิตกำลังรู้สิ่งนั้นเป็นอารมณ์ แต่คนไทยก็เอามาใช้ปลายเหตุ วันนี้อารมณ์ดีเพราะว่าเห็นดี ได้ยินดี ได้กลิ่นดี ลิ้มรสดี รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสดี ไม่ได้เดือดร้อนอะไร วันนี้สบายใจอารมณ์ดี แต่ว่าภาษาบาลี หรือความหมายในทางพระพุทธศาสนา ตรง คือว่าเป็นสิ่งที่จิตรู้ ขณะที่จิตรู้สิ่งใด สิ่งนั้นเท่านั้นที่เป็นอารมณ์ แม้ว่าเสียงมีจริง นอกถนน นอกห้องนี้ก็มีเสียง แต่จิตรู้หรือไม่ ถ้าจิตไม่รู้ก็เป็นเพียงสัทธะ เป็นสภาพของเสียงที่เกิดขึ้นเพราะการกระทบกันของสิ่งที่แข็ง แต่ขณะใดที่เสียงปรากฏ เสียงนั้นจึงจะเป็นอารมณ์ของจิต เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจ สัททะกับสัททารมณ์ เสียงกับเสียงที่เป็นอารมณ์ของจิตก็หมายเฉพาะรูปหรือว่าสภาพธรรมที่กำลังเป็นอารมณ์ของจิตในขณะนั้น
ผู้ฟัง เรียนถามคุณประเชิญ ขณะที่ลืมสัญญาจำอะไร
อ.ประเชิญ ขณะที่ลืม มีเห็นหรือไม่
ผู้ฟัง มี
อ.ประเชิญ ขณะนั้นสัญญาจำในสิ่งที่จิตเห็น
ผู้ฟัง ไม่เข้าใจ
อ.ประเชิญ สัญญาเกิดขึ้นทุกๆ ขณะจิต ใช่ไหม เมื่อมีจิตเกิดขึ้น ขณะที่ลืมนึกไม่ได้แต่ว่าขณะนั้นมีเห็นอยู่ก็คือจำในสิ่งที่เห็นนั้น แต่ว่าที่จำเรื่องเก่าไม่ได้ก็นึกไม่ได้ ใช่ไหม ท่านอาจารย์พอนึกไม่ได้ก็บอกว่าจำไม่ได้ อย่างนี้จะตรงไหม
ท่านอาจารย์ ก็ต้องทราบถึงเจตสิกอีกอย่างหนึ่ง คือวิตกเจตสิก เป็นสภาพที่ตรึกไม่ใช่เจตสิกที่จำ
ผู้ฟัง ได้ยินอาจารย์ทางวิทยุก็มีอยู่ ๒ คำ ซึ่งคนทั่วไปก็เข้าใจว่าเป็นคำเดียวกัน คือคำว่าสมาธิกับคำว่าความสงบ ก็เคยเข้าใจว่าสมาธิกับความสงบก็คือสิ่งเดียวกัน แต่ว่าอาจารย์บอกว่าสมาธิไม่ใช่ความสงบ ต่างกันอย่างไร
ท่านอาจารย์ เป็นเจตสิกที่ต่างกัน ขอเชิญคุณสุภีร์กล่าวถึงเจตสิกที่เป็นสมาธิกับที่เป็นความสงบ
อ.สุภีร์ สมาธิกับความสงบนี้ต่างกัน คำว่า สมาธิ นี้ก็เป็นเจตสิกอีกประเภทหนึ่ง เรียกว่าเอกคตาเจตสิกซึ่งเราจะได้สนทนากันต่อไป เอกคตาเจตสิกก็เป็นสภาพธรรม หรือว่าเป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง เป็นนามธรรมชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์โดยการตั้งมั่นในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง เพราะเหตุว่าจิตเกิดขึ้นหนึ่งขณะมีอารมณ์เดียว ใช่ไหม เกิดขึ้นทีละขณะ และรู้อารมณ์ทีละอารมณ์ ก็มีเอกคตาเจตสิกนี้เองที่เกิดขึ้นทำหน้าที่ตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด คือตั้งมั่นในอารมณ์ที่จิตรู้นั่นเอง ตั้งมั่นในอารมณ์ที่ผัสสะเจตสิกกระทบ ตั้งมั่นในอารมณ์ที่เวทนาเจตสิกรู้สึก สิ่งนี้เป็นลักษณะของเอกคตาเจตสิกที่เรียกว่าสมาธิ สมาธิก็เป็นอีกชื่อหนึ่งของเอกคตาเจตสิกนั่นเอง
ในพระไตรปิฏกหรือว่าในพระสูตรส่วนใหญ่ท่านก็แสดงเรื่องของมิชฉาสมาธิ และสัมมาสมาธิ สิ่งนี้ก็กล่าวถึงเอกคตาเจตสิกที่เกิดในชวนจิต ถ้าเกิดในชวนะที่เป็นกุศลก็เรียกว่าสัมมาสมาธิ ถ้าเกิดในชวนะที่เป็นอกุศลก็เรียกว่ามิจฉาสมาธิ คำว่า มิจฉาก็คือผิด ไม่ถูกนั่นเอง สัมมาก็คือถูกต้อง สิ่งนี้ก็เป็นสัมมาสมาธิ มิจฉาสมาธิ แล้วก็คำว่าสมาธิ นี้ก็เป็นชื่อของเอกคตาเจตสิกนั่นเอง
ส่วนคำว่า สมถะ แปลว่า ความสงบจากกิเลสทั้งหลาย หรือว่าจากปฏิปักษ์ทั้งหลายนั่นเอง ซึ่งปฏิปักษ์ของกุศลทั้งหลายก็คือกิเลสทุกๆ ประการนั่นเอง ความสงบจึงเป็นช่วงขณะที่จิตเป็นไปในฝ่ายกุศล เรียกว่าสมถะ การอบรมเจริญสมถะที่ท่านใช้กันเป็นคำว่าสมถภาวนา ไม่ใช่เป็นการอบรมเจริญสมาธิ เป็นการอบรมเจริญความสงบคือเป็นการอบรมเจริญกุศลประเภทนั้นๆ ยิ่งๆ ขึ้นไปนั่นเอง บางท่านก็ใช้คำว่าเจริญสมถะก็คืออบรมเจริญสมาธินั่นเองอย่างนี้ สิ่งนี้ใช้ไม่ถูก เพราะเหตุว่าสมถะนี้หมายถึงขณะที่จิตสงบจากอกุศลทั้งหลาย อกุศลทั้งหลายประเภทใหญ่ๆ ก็คือโลภะ โทสะ โมหะ นั่นเอง สิ่งนี้เป็นสมถะ ถ้าเป็นการอบรมเจริญสมถะก็คือเป็นการอบรมเจริญความสงบในเรื่องใดเรื่องหนึ่งยิ่งๆ ขึ้นไป อย่างเช่น พุทธานุสติ ธรรมานุสติเป็นต้น หรือว่าการอบรมเจริญเมตตาอย่างนี้ ก็เป็นเรื่องของการอบรมเจริญความสงบคือจิตที่เป็นฝ่ายดีงามนั่นเอง ไม่ได้หมายถึงการอบรมเจริญสมาธิ คนละอันกันค
ผู้ฟัง สรุปว่าสมถะนี้เป็นฝ่ายกุศลอย่างเดียว ส่วนสมาธินั้นอาจจะเป็นอกุศลก็ได้ หรือกุศลก็ได้ ใช่หรือไม่
อ.สุภีร์ เป็นได้ทั้ง ๔ ชาติของจิต สมาธินี้เป็นได้ ๔ ชาติ ซึ่งชาติของจิตมี ๔ ชาติ ก็คือ กุศล อกุศล วิบาก กิริยา สมาธินี้เป็นชื่อของเอกัคคตาเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตทุกประเภท ฉะนั้นก็มี ๔ ชาติเช่นเดียวกันก็คือเป็นชาติกุศล อกุศล วิบาก และกริยา เมื่อเป็นคำกลางๆ แต่ถ้าใช้คำว่า มิจฉาสมาธิก็เป็นส่วนที่เป็นอกุศล ใช้คำว่า สัมมาสมาธิก็เป็นส่วนที่เป็นกุศล
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ศึกษาพระธรรมคงจะไม่ทราบว่าสมาธิเป็นเจตสิก ซึ่งต้องเกิดกับจิตทุกดวง เรากล่าวถึงสภาพของสรรพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ไปแล้ว ๔ ดวง ใช่ไหม ผัสสะเจตสิก เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก และขณะนี้ก็พูดถึงเรื่องของเอกัคคตาเจตสิกซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ตั้งมั่นในอารมณ์ ชั่วขณะชั่วขณะที่จิตเกิดขึ้น แล้วแต่ว่าจิตขณะนั้นมีอารมณ์อะไร เอกัคคตาเจตสิกก็ตั้งมั่นในอารมณ์นั้น เพราะฉะนั้นเวลาที่มีการที่ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวนานๆ ลักษณะของสมาธิก็ปรากฏ อย่างที่เราใช้ภาษาไทยว่า คนนั้นมีสมาธิหรือว่าไม่มีสมาธิ อย่างเวลาที่จะเย็บปักถักร้อยหรือว่าจะทำอะไรบางอย่างซึ่งต้องใช้การระวัง บางคนก็บอกว่าต้องมีสติบ้าง ต้องมีสมาธิบ้าง ในความจริงนั้นเป็นภาษาไทย ไม่ใช่สภาพธรรมจริงๆ ถ้าเป็นสภาพธรรมจริงๆ ที่ผู้มีพระภาคทรงใช้คำที่จะเรียกสภาพธรรมแต่ละอย่างต้องตรง คือเอกัคคตาเจตสิกเป็นเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตทุกขณะ และก็เป็นสภาพที่ตั้งมั่นในอารมณ์ เวลาที่เกิดบ่อยๆ ในอารมณ์ใด อย่างบางคนก็อ่านหนังสือ กำลังเพลิน คนอื่นเรียกได้ยินไหม ไม่ได้ยิน ก็แสดงลักษณะอาการของสมาธิหรือว่าเวลาที่กำลังข้ามถนนรถจอแจ แล้วก็ตั้งใจที่จะไม่ให้มีอันตรายเกิดขึ้นระแวดระวังตั้งมั่นขณะนั้นก็เป็นลักษณะของสมาธิ เป็นกุศลหรือไม่ ไม่เป็น
เพราะฉะนั้นก็เริ่มจะเข้าใจความหมายของสมาธิ เพราะสมาธิไม่ใช่หมายความว่าเป็นสิ่งที่เราจะทำ และเราคิดว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่เราต้องรู้ก่อน ไม่ว่าเราจะทำอะไรทั้งหมด คำถามแรกคือ คืออะไร ถ้าไม่รู้แล้วเราก็จะทำอะไรในสิ่งที่ไม่รู้ อย่างบางคนก็ปรารถนานิพพานแล้วก็ถามว่านิพพานเป็นสถานที่หรือเปล่า ก็แสดงว่าคนนั้นยังไม่เข้าใจนิพพาน แต่ว่าปรารถนาที่จะไปนิพพาน เพราะฉะนั้นจะไปไหน เมื่อไม่รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไรก็ย่อมไปไม่ถูกเพราะว่าไม่รู้ว่าเป็นอะไร
ก่อนอื่นทั้งหมด การที่จะศึกษาพระธรรมให้เข้าใจจริงๆ ก็ต้องเริ่มด้วยว่า คืออะไรก่อน เช่น สมาธิคืออะไร สมถะคืออะไร สมถะคือความสงบจากอกุศล เพราะฉะนั้นก็คือทุกขณะที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นสงบจากอกุศล แต่ลักษณะของความสงบที่เป็นกุศลนั้นก็สั้นมาก เพราะเหตุว่าปรกติจิตที่เกิดขึ้นทำกิจการงานก็จะต้องทำกิจการงานตามลำดับ ซึ่งจิตขณะหนึ่งเกิดแล้วดับไปก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด โดยที่จิตทุกขณะเว้นจุติจิตของพระอรหันต์เป็นอนันตรปัจจัย หมายความว่าจะไม่เป็นอนันตรปัจจัยไม่ได้ จะไม่ทำให้สภาพธรรมซึ่งเป็นนามธรรมเกิดสืบต่อไม่ได้ ทันทีที่จิตขณะ หนึ่งดับก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อ โดยอนันตรปัจจัย และสมันตรปัจจัยคือจะต้องเกิดสืบต่อตามลำดับก้าวก่ายกันไม่ได้
เพราะฉะนั้นการที่เวลาที่สภาพธรรมเกิดขึ้นก็จะต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยด้วยขณะใดที่กุศลจิตเกิดขณะนั้นสงบจากอกุศล แต่ว่าสั้นเพราะเหตุว่าจิตเกิดขึ้นทำชวนกิจในขณะที่เป็นกุศลหรืออกุศล
ก็ขอทบทวนถึงกิจต่างๆ ของจิตที่ได้กล่าวไปแล้ว เพื่อที่จะได้ทราบว่าขณะไหนจิตเกิดมาก บ่อยครั้ง มากครั้งกว่า เช่น ปฏิสนธิจิตหนึ่งขณะ สองขณะไม่ได้ เกิดเป็นอะไรในชาตินี้ก็เกิดแล้ว จะไปเป็นเกิดอีก เกิดใหม่ โดยที่ยังไม่ตายไม่ได้ ก็จะต้องเป็นปฏิสนธิจิตทำปฏิสนธิกิจหนึ่งขณะ จิตนี้จะไม่มีอีกเลยในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่
กิจที่สอง คือ ภวังคจิตเกิดสืบต่อนับไม่ถ้วนคือวิบากจิตประเภทเดียวกับปฏิสนธิจิตนั่นเอง เกิดขึ้นทำภวังคกิจหลายครั้ง แต่เวลาที่จะรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะต้องเป็นวิถีจิตเพราะเหตุว่าต้องอาศัยทางที่จะรู้ เช่น อาศัยตาเห็น อาศัยหูได้ยินอาศัยจมูกได้กลิ่น อาศัยลิ้นลิ้มรส อาศัยกายกระทบสัมผัส รู้สิ่งที่เย็นร้อนอ่อนแข็ง และอาศัยใจนั่นเองเป็นทางคิดนึกโดยที่ไม่มีสิ่งใดไม่กระทบเลย
เพราะฉะนั้นวิถีจิตแรกคือถ้าทางตา หู จมูก ลิ้น กาย จิตแรกคือปัญจัทวาราวัชชนะ จิต พึ่งรู้ว่ามีอารมณ์กระทบทางหนึ่งทางใด จิตนี้เกิดขึ้นขณะเดียว หลังจากนั้นแล้วก็จะมีจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แล้วแต่ว่าจะเป็นทางหนึ่งทางใดในห้าทาง เกิดขึ้นขณะเดียว เพราะฉะนั้นก็จะได้รู้ว่าจิตแต่ละประเภท บางอย่างบางประเภทก็เกิดขึ้นน้อยครั้ง บางประเภทก็เกิดขึ้นมากครั้ง สำหรับจิตเห็นจิตได้ยินพวกนี้เกิดขึ้นครั้งเดียวแล้วก็ดับไปหลังจากนั้นก็มีจิตที่สืบต่อรับอารมณ์เดียวกันรู้อารมณ์เดียวกันเพราะเหตุว่ารูปจะมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 061
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 062
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 063
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 064
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 065
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 066
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 067
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 068
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 069
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 070
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 071
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 072
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 073
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 074
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 075
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 076
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 077
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 078
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 079
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 080
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 081
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 082
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 083
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 084
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 085
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 086
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 087
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 088
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 089
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 090
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 091
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 092
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 093
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 094
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 095
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 096
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 097
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 098
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 099
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 100
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 101
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 102
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 103
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 104
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 105***
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 106
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 107
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 108
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 109
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 110
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 111
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 112
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 113
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 114
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 115
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 116
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 117
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 118
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 119
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 120