ปุตตมังสสูตร ๑


    ข้อความใน อรรถกถาปุตตมังสสูตร ที่ ๓ มีว่า

    ได้ยินว่า ลาภและสักการะเป็นอันมากเกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาค เหมือนสมัยทรงสร้างสมพระบารมีที่ทรงบำเพ็ญตลอด ๔ อสงไขย จริงอยู่ บารมีทั้งหมดของ พระผู้มีพระภาคนั้นเป็นประหนึ่งประมวลมาว่า เราจักให้วิบากในอัตภาพหนึ่ง จึงยังห้วงน้ำใหญ่คือลาภและสักการะให้บังเกิด เหมือนเมฆใหญ่ตั้งขึ้นแล้วยังห้วงน้ำใหญ่ให้บังเกิดฉะนั้น

    ชนทั้งหลายมีกษัตริย์และพราหมณ์เป็นต้น ต่างถือข้าว น้ำ ยาน ผ้า ระเบียบดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้เป็นต้นมาจากที่นั้นๆ พากันคิดว่า พระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน พระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่ที่ไหน พระผู้เป็นเทพแห่งเทพ ผู้องอาจกว่านระ ผู้เป็นบุรุษเยี่ยงราชสีห์อยู่ไหน ดังนี้แล้ว จึงเสาะหาพระผู้มีพระภาค

    ทุกคนก็คงเคยเสาะหามาแล้วในอดีต เพราะฉะนั้น ในสมัยนี้ก็ยังคงเสาะหา ที่จะได้ฟังพระธรรมที่พระองค์ได้ทรงแสดงไว้แล้ว

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ลำดับนั้น พระศาสดาประทับอยู่ ณ ที่สงัด ทรงพระดำริว่า ลาภและ สักการะใหญ่ได้เป็นของสมควรแม้แก่พระพุทธเจ้าในอดีต ทั้งจะสมควรแก่พระพุทธเจ้า ในอนาคต ภิกษุทั้งหลายประกอบด้วยสติและสัมปชัญญะอันกำหนดเอาอาหาร เป็นอารมณ์ เป็นผู้วางตนเป็นกลาง ปราศจากฉันทราคะ ไม่มีความพอใจและ ความยินดี สามารถบริโภคหรือหนอ หรือจะไม่สามารถบริโภค

    ลาภและสักการะที่เกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาคและแก่สงฆ์นี้ รวมแล้วประมาณไม่ได้ นี่เป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาคทรงปริวิตก เวลาที่ภิกษุสงฆ์มีลาภสักการะมาก การที่จะบริโภคลาภสักการะ จะบริโภคด้วยสติสัมปชัญญะหรือว่าจะเป็นอกุศล ซึ่งแม้แต่ในเรื่องอาหารเรื่องเดียว ก็จะทำให้ปัญญาสามารถพิจารณาสัมพันธ์ไปถึง สภาพธรรมต่างๆ จนกระทั่งปัญญาเกิดตรงต่อสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    พระองค์ได้ทรงเห็นกุลบุตรบางพวกผู้บวชใหม่ ผู้ไม่พิจารณาแล้วบริโภคอาหาร ครั้นพระองค์ทรงเห็นแล้ว ทรงพระดำริว่า เราบำเพ็ญบารมีสิ้นสี่อสงไขยแสนกัป จะได้บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งปัจจัยจีวรเป็นต้นก็หาไม่ แต่ที่แท้บำเพ็ญเพื่อประโยชน์แก่พระอรหัตอันเป็นผลสูงสุด ภิกษุแม้เหล่านี้บวชในสำนักเรา มิได้บวชเพราะ เหตุแห่งปัจจัยมีจีวรเป็นต้น แต่บวชเพื่อประโยชน์แก่พระอรหัตนั่นเอง บัดนี้ ภิกษุเหล่านั้นกระทำสิ่งที่ไม่เป็นสาระนั่นว่าเป็นสาระ และสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์นั่นแลว่าเป็นประโยชน์ ธรรมสังเวชเกิดขึ้นแก่พระองค์ด้วยประการฉะนี้

    ลำดับนั้น พระองค์ทรงพระดำริว่า ถ้าจักสามารถบัญญัติปัญจมปาราชิกขึ้น ได้ไซร้ เราก็จะพึงบัญญัติการบริโภคอาหารโดยไม่พิจารณาให้เป็นปัญจมปาราชิก แต่ไม่อาจทรงทำอย่างนี้ได้ เพราะว่าอาหารนั้นเป็นที่ส้องเสพประจำของสัตว์ทั้งหลาย แต่เมื่อเราตรัสไว้ ภิกษุเหล่านั้นก็จักเห็นข้อนั้นเหมือนปัญจมปาราชิก เมื่อเป็นเช่นนั้นเราก็จักตั้งการบริโภคอาหารที่ไม่พิจารณานั้นว่า เป็นกระจกธรรม เป็นข้อสังวร เป็นขอบเขต ซึ่งเหล่าภิกษุในอนาคตรำลึกแล้ว จักพิจารณาปัจจัย ๔ เสียก่อน แล้วบริโภค

    นี่ก็เห็นความละเอียดของกิเลส ซึ่งคนธรรมดาคิดว่าเล็กน้อยเหลือเกิน คือ การติดในรสอาหาร ในการบริโภคปัจจัย แต่พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริละเอียดรู้ว่า สิ่งใดเป็นมูลเป็นรากของอกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ถ้าจักสามารถบัญญัติ ปัญจมปาราชิกขึ้นได้ไซร้ ก็จะพึงบัญญัติการบริโภคอาหารโดยไม่พิจารณาให้เป็น ปัญจมปาราชิก

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1966


    นาที 05:37

    สำหรับอาบัติหนักที่จะทำให้พ้นภาวะของการเป็นภิกษุ คือ อาบัติปาราชิก มี ๔ ข้อ ได้แก่ การเสพเมถุน การมีภรรยา ๑ การถือเอาสิ่งของซึ่งไม่ใช่ของที่ถวาย มีราคาตามที่กำหนดไว้ ๑ การฆ่ามนุษย์ ๑ และการอวดอุตริมนุสธรรม ๑ ซึ่งถ้า ภิกษุรูปใดล่วงปาราชิก กระทำปาราชิก ภิกษุรูปนั้นก็พ้นจากภาวะความเป็นภิกษุ แต่สิ่งหนึ่งซึ่งเป็นมูลรากของอกุศล คือ การบริโภคอาหารโดยไม่พิจารณา แต่ แม้กระนั้นพระองค์ก็ทรงพระดำริว่า อาหารนั้นเป็นสิ่งที่ต้องส้องเสพเป็นประจำของ สัตว์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่ทั้งวันบริโภคแล้วบางครั้งจะไม่หลงลืมพิจารณา และถ้าเป็นอย่างนั้นพระภิกษุก็ต้องสิ้นภาวะความเป็นภิกษุ ถ้าทรงบัญญัติ ปัญจมปาราชิก คือ การบริโภคอาหารโดยไม่พิจารณา

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่ฟังพระธรรม ก็ได้เห็นพระกรุณาคุณของพระผู้มีพระภาค ที่พระองค์ไม่ทรงบัญญัติสิกขาบท เช่น ปัญจมปาราชิก แต่ทรงแสดงธรรมซึ่ง เมื่อพระองค์ตรัสไว้ ภิกษุเหล่านั้นก็จะเห็นข้อนั้นเหมือนปัญจมปาราชิก

    ต้องเป็นผู้ที่ฟังพระธรรมแล้วละเอียด โดยเฉพาะผู้ที่จะขัดเกลากิเลสต้องรู้จริงๆ ว่า พระธรรมที่ทรงแสดงไว้มีคุณค่าที่จะช่วยทำให้ปัญญาเจริญขึ้น และกิเลสเบาบางลงได้

    ต่อจากนั้นพระองค์ได้ทรงแสดงโทษของอาหาร ๔ คือ กวฬิงการาหาร ๑ ผัสสาหาร ๑ มโนสัญเจตนาหาร ๑ วิญญาณาหาร ๑ ซึ่งท่านผู้ฟังก็ทราบแล้วว่า กวฬิงการาหาร ได้แก่ อาหารที่เป็นคำๆ ที่บริโภค ผัสสาหาร ได้แก่ ผัสสเจตสิก ซึ่งเกิดกับจิตทุกขณะ ทำกิจกระทบอารมณ์ มโนสัญเจตนาหาร ได้แก่ เจตนาเจตสิกซึ่งเป็นกุศลกรรมและอกุศลกรรม และวิญญาณาหาร ได้แก่ ปฏิสนธิจิตและวิบากจิต

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคทรงแสดงทางกันดาร ๕ อย่าง คือ

    … ที่ที่มีโจรภัย ชื่อว่าโจรกันดาร ที่ที่มีสัตว์ร้ายมีราชสีห์และเสือโคร่งเป็นต้น ชื่อว่าพาฬกันดาร ที่ที่มีภัยโดยอมนุษย์ ชื่อว่าอมนุสสกันดาร ที่ที่ไม่มีน้ำดื่มหรืออาบ ชื่อว่านิรุทกกันดาร ที่ที่ไม่มีสิ่งที่จะเคี้ยวหรือกิน โดยที่สุดแม้เพียงหัวเผือกเป็นต้น ก็ไม่มี ชื่อว่าอัปปภักขกันดาร อนึ่ง ในที่ใดมีภัยทั้ง ๕ อย่างนี้อยู่ ที่นั้นชื่อว่ากันดารโดยแท้

    สำหรับโทษของการติดข้องในกวฬิงการาหารที่บริโภคกันทุกวัน ซึ่งหลายท่าน ก็คงไม่ได้พิจารณาเห็นโทษว่า ทำให้มีความติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะด้วย ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงอุปมาด้วยเรื่องสามีภรรยาเดินทางไกล ในที่กันดาร มีข้อความว่า

    ได้ยินว่า สองสามีภรรยาอุ้มลูกเดินทางกันดารประมาณ ๑๐๐ โยชน์ ด้วยเสบียงเล็กน้อย เขาเดินไปได้ ๕๐ โยชน์ เสบียงหมด กระสับกระส่ายเพราะความหิว นั่งที่ร่มไม้ใหญ่

    ลำดับนั้นสามีได้กล่าวกับภรรยาว่า จากนี้ไปโดยรอบ ๕๐ โยชน์ ไม่มีบ้านหรือนิคม ฉะนั้นบัดนี้เราไม่สามารถจะกระทำกสิกรรมและโครักขกรรมเป็นต้น เป็นอันมากที่ผู้ชายจะพึงทำได้ มาเถิด เธอจงฆ่าเรา และกินเนื้อครึ่งหนึ่ง ทำเสบียงครึ่งหนึ่ง แล้วจงข้ามทางกันดารไปพร้อมกับลูก

    ฝ่ายภรรยากล่าวว่า บัดนี้ฉันไม่สามารถจะทำกรรมมีการกรอด้ายเป็นต้น แม้มากที่ผู้หญิงจะพึงทำ มาเถิด ท่านจงฆ่าฉัน และกินเนื้อครึ่งหนึ่ง ทำเสบียงครึ่งหนึ่ง แล้วจงข้ามทางกันดารไปพร้อมกับลูก

    สามีก็กล่าวกับภรรยาอีกว่า ความตายย่อมปรากฏแก่คนสองคน เพราะเมื่อแม่ตาย ลูกอ่อนเว้นแม่เสียแล้วก็ไม่อาจจะมีชีวิตอยู่ได้ แต่ถ้าเราทั้งสองยังมีชีวิตอยู่ เราก็จะพึงมีลูกอีก เอาเถอะ เราจะฆ่าลูกน้อยในบัดนี้ ถือเอาเนื้อกิน ข้ามผ่านทางกันดาร

    ลำดับนั้นแม่กล่าวกับลูกว่า เจ้าจงไปหาพ่อ ลูกก็ไปหาพ่อ

    ครั้งนั้นพ่อของเด็กน้อยกล่าวว่า เราได้รับความทุกข์มิใช่น้อยเพราะกสิกรรมและโครักขกรรมเป็นต้น ก็เพื่อจะเลี้ยงดูลูกน้อย เราไม่อาจฆ่าลูกได้ เธอนั่นแหละ จงฆ่าลูกของเธอ และกล่าวกับลูกน้อยว่า เจ้าจงไปหาแม่ ลูกก็ไปหาแม่

    ครั้งนั้นแม่ของเด็กน้อยกล่าวว่า เมื่อเราอยากได้ลูก เราได้รับความทุกข์มิใช่น้อยด้วยการบวงสรวงเทวดา ด้วยโควัตรและกุกกุรวัตรเป็นต้นก่อน ไม่ต้องพูดถึง การบริหารครรภ์ เราไม่อาจฆ่าลูกได้ และกล่าวกับลูกน้อยว่า เจ้าจงไปหาพ่อเถิด

    กุกกุรวัตร คือ ความประพฤติเยี่ยงสุนัข โควัตร คือ การประพฤติเยี่ยงโค

    ลูกน้อยนั้นเมื่อเดินไปในระหว่างพ่อแม่นั่นแหละ ตายแล้วด้วยประการฉะนี้ สองสามีภรรยาเห็นดังนั้น คร่ำครวญ ถือเอาเนื้อลูกเคี้ยวกิน เดินทางไปโดยนัยที่กล่าวแล้ว

    อาหารคือเนื้อลูกของสองสามีภรรยานั้น ไม่ใช่กินเพื่อจะเล่น มิใช่กินเพื่อจะ มัวเมา ไม่ใช่กินเพื่อประดับ ไม่ใช่กินเพื่อตบแต่ง เพราะปฏิกูลด้วยเหตุ ๙ ประการ เป็นอาหารเพื่อข้ามผ่านทางกันดารอย่างเดียวเท่านั้น

    หากจะถามว่า เพราะปฏิกูลด้วยเหตุ ๙ ประการ อะไรบ้าง พึงแก้ว่า เพราะเป็นเนื้อของผู้ร่วมชาติ ๑ เพราะเป็นเนื้อของญาติ ๑ เพราะเป็นเนื้อของบุตร ๑ เพราะเป็นเนื้อของบุตรที่รัก ๑ เพราะเป็นเนื้อเด็กอ่อน ๑ เพราะเป็นเนื้อดิบ ๑ เพราะไม่เป็นโครส ๑ เพราะไม่เค็ม ๑ เพราะยังไม่ได้ปิ้ง ๑

    จริงอยู่ สองสามีภรรยานั้นเคี้ยวกินเนื้อบุตรนั้นซึ่งปฏิกูลด้วยเหตุ ๙ ประการเหล่านั้น ด้วยประการฉะนี้ จึงมิได้เคี้ยวกินด้วยความยินดีติดใจ แต่ตั้งอยู่ในภาวะ กลางๆ นั่นเอง คือ ในการบริโภคโดยไม่มีความพอใจและยินดี มีใจแตกทำลาย เคี้ยวกินแล้ว เขาจะได้เอาเนื้อที่ติดกระดูกเอ็นและหนังออกแล้วเคี้ยวกินแต่เนื้อที่ล่ำๆ

    คือเนื้อที่ดีๆ เท่านั้นก็หาไม่ เคี้ยวกินเฉพาะเนื้อที่อยู่ตรงหน้า ไม่ได้เคี้ยวกินตามที่ต้องการจนล้นคอหอย แต่เคี้ยวกินทีละน้อยๆ พอยังชีพให้เป็นไปวันหนึ่งๆ เท่านั้น มิได้หวงกันและกันเคี้ยวกิน เคี้ยวกินด้วยใจที่บริสุทธิ์จริงๆ ปราศจากมลทินคือความตระหนี่ มิได้เคี้ยวกินอย่างงมงายว่า พวกเราเคี้ยวกินเนื้ออย่างใดอย่างหนึ่ง จะเป็นเนื้อมฤคหรือเนื้อนกยูงเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม แต่เคี้ยวกินทั้งที่รู้ว่าเป็นเนื้อของลูกรัก ไม่ได้เคี้ยวกินโดยปรารถนาว่า ไฉนหนอ เราพึงเคี้ยวกินเนื้อลูกเห็นปานนี้อีก แต่เคี้ยวกินโดยไม่ปรารถนา มิได้สั่งสมด้วยตั้งใจว่า เราเคี้ยวกินเพียงเท่านี้ใน ทางกันดาร เมื่อพ้นทางกันดารแล้ว จักเอาเนื้อที่เหลือไปปรุงด้วยรสเค็มรสเปรี้ยว เป็นต้นเคี้ยวกิน

    แต่เมื่อล่วงกันดารไปแล้วคิดว่า พวกชนในเมืองจะเห็น จึงฝังไว้ในดินหรือ เอาไฟเผา มิได้ถือตัวหรือโอ้อวดว่า ใครอื่นจะได้เคี้ยวกินเนื้อบุตรเห็นปานนี้อย่างเรา แต่เคี้ยวกินโดยขจัดความถือตัวและโอ้อวดเสียได้ มิได้เคี้ยวกินอย่างดูหมิ่นว่า ประโยชน์อะไรด้วยเนื้อนี้ซึ่งไม่เค็ม ไม่เปรี้ยว ยังไม่ได้ปิ้ง มีกลิ่นเหม็น แต่เคี้ยวกินโดยปราศจากความดูหมิ่น ไม่ดูหมิ่นกันและกันว่า ส่วนของท่าน ส่วนของเรา บุตรของท่าน บุตรของเรา แต่มีความพร้อมเพรียงบันเทิงเคี้ยวกิน

    … สองสามีภรรยานั้นเมื่อเคี้ยวกินเนื้อลูกรักซึ่งเป็นของปฏิกูล ไม่ได้เคี้ยวกินด้วยความยินดีติดใจ แต่ตั้งอยู่ในภาวะกลางๆ นั่นเอง คือ ในการบริโภคโดยไม่มีความพอใจและยินดีเคี้ยวกินแล้วฉันใด พึงบริโภคอาหารโดยไม่มีความพอใจและยินดี ฉันนั้น

    เหมือนอย่างว่า สองสามีภรรยานั้นจะได้เอาเนื้อที่ติดกระดูกเอ็นและหนังออก เคี้ยวกินแต่เนื้อที่ล่ำๆ คือเนื้อที่ดีๆ เท่านั้นก็หาไม่ แต่เคี้ยวกินเนื้อที่หยิบถึงเท่านั้น ฉันใด ภิกษุไม่พึงใช้หลังมือเขี่ยข้าวแห้งและกับข้าวแข็งเป็นต้นออก ไม่แสดงความเจาะจงดุจนกกระจาบและดุจไก่ มิได้เลือกเฉพาะโภชนะที่ดีซึ่งผสมเนยใสและเนื้อ เป็นต้นในที่นั้นๆ บริโภค พึงบริโภคตามลำดับดุจราชสีห์ฉันนั้น

    เหมือนอย่างว่า สองสามีภรรยานั้นมิได้เคี้ยวกินตามที่ต้องการจนล้นคอหอย แต่เคี้ยวกินทีละน้อยๆ พอยังชีพให้เป็นไปในวันหนึ่งๆ เท่านั้น ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น ไม่บริโภคตามที่ต้องการจนเรอ ดุจพวกพราหมณ์ที่มีอาหารอยู่ในมือเป็นต้นบางคน เว้นโอกาสสำหรับคำข้าว ๔ - ๕ คำไว้ แล้วบริโภคดุจพระธรรมเสนาบดี

    เล่ากันว่า พระธรรมเสนาบดีเถระนั้น (คือ ท่านพระสารีบุตร) ดำรงความเป็นภิกษุอยู่ ๔๕ พรรษา กล่าวว่า แม้วันหนึ่งเราก็มิได้ฉันอาหารจนสำรอกออกมาเป็น รสเปรี้ยวภายหลังฉันอาหาร ดังนี้ เมื่อบันลือสีหนาทได้กล่าวคาถานี้ว่า

    ภิกษุงดฉันคำข้าว ๔ - ๕ คำ พึงดื่มน้ำ พอที่จะอยู่อย่างสบายสำหรับภิกษุ ผู้มีใจเด็ดเดี่ยว เหมือนอย่างว่า สองสามีภรรยานั้นจะได้หวงกันและกันเคี้ยวกินก็หาไม่ แต่เคี้ยวกินด้วยใจที่บริสุทธิ์จริงๆ ปราศจากมลทินคือความตระหนี่ ฉันใด ภิกษุก็ ฉันนั้นเหมือนกัน ได้บิณฑบาตแล้วไม่ตระหนี่ คิดว่า เมื่อภิกษุรับบิณฑบาตนี้ ได้ทั้งหมด เราก็จักให้ทั้งหมด เมื่อรับได้ครึ่งหนึ่ง เราจักให้ครึ่งหนึ่ง ถ้าจักมีบิณฑบาตเหลือจากที่ภิกษุรับไป เราจักบริโภคเอง ดังนี้ ตั้งอยู่ในสาราณียธรรมมั่นคงบริโภค

    เหมือนอย่างว่า สองสามีภรรยานั้น มิได้เคี้ยวกินอย่างงมงายว่า พวกเรา เคี้ยวกินเนื้ออย่างใดอย่างหนึ่ง จะเป็นเนื้อมฤคหรือเนื้อนกยูงเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม แต่เคี้ยวกินทั้งที่รู้ว่าเป็นเนื้อของลูกรัก ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ได้บิณฑบาตแล้วพึงคิดว่า กวฬิงการาหารย่อมไม่รู้ว่าเราทำกายที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ ให้เจริญ แม้กายก็ไม่รู้ว่ากวฬิงการาหารทำเราให้เจริญ ดังนี้ พึงละความงมงายบริโภค ด้วยอาการอย่างนี้ จริงอยู่ กวฬิงการาหารนี้ ภิกษุพึงเป็นผู้ไม่งมงายบริโภคแม้ด้วยสติสัมปชัญญะ

    เป็นเรื่องของสามีภรรยาที่บริโภคเนื้อของลูก เปรียบเทียบให้เห็นถึงการไม่ควรติดในรสอาหาร เพราะว่าควรบริโภคอาหารเพียงเพื่อให้ร่างกายเป็นไปได้ และสำหรับ ผู้มีปัญญาก็จะรู้ว่า ในขณะที่บริโภคนั้น รูปมีลักษณะอย่างไร และการบริโภคอาหาร ก็เพื่อกายที่จะดำรงอยู่ ซึ่งกายก็เป็นรูปและไม่รู้ว่า แม้อาหารที่เข้าไปสู่ร่างกายนั้น ทำให้ร่างกายนั้นเจริญ เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของปัญญาซึ่งจะค่อยๆ ดำเนินไป แม้ในขณะที่บริโภคปัญญาก็สามารถเกิดได้ แล้วแต่ว่าจะเป็นโดยนัยใด

    ข้อความต่อไปมีว่า

    เหมือนอย่างว่า สองสามีภรรยานั้น ไม่เคี้ยวกินด้วยตั้งความปรารถนาว่า ไฉนหนอ เราพึงเคี้ยวกินเนื้อลูกเห็นปานนี้แม้อีก แต่พอพ้นความปรารถนาไปแล้ว ก็เคี้ยวกิน ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ได้โภชนะอันประณีตแล้วคิดว่า ไฉนหนอ เราพึงได้โภชนะเห็นปานนี้ในวันพรุ่งนี้ก็ดี ในวันต่อไปก็ดี ก็แลครั้นได้โภชนะที่ เศร้าหมองก็คิดว่า วันนี้เราไม่ได้โภชนะอันประณีตเหมือนวันวาน มิได้ทำความปรารถนาหรือเศร้าใจ เป็นผู้ปราศจากความอยาก ระลึกถึงโอวาทนี้ว่า

    ชนทั้งหลายย่อมไม่เศร้าโศกถึงอาหารที่เป็นอดีต ย่อมไม่พะวงถึงอาหารที่เป็นอนาคต ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยอาหารที่เป็นปัจจุบัน ฉะนั้น ผิวพรรณจึงผ่องใส พึงบริโภคด้วยคิดว่า จักยังอัตตภาพให้เป็นไปด้วยอาหารอันเป็นปัจจุบันเท่านั้น

    นี่คือปัญญาในชีวิตประจำวันจริงๆ ซึ่งทุกคนก็บริโภควันละหลายครั้ง และ ทุกครั้งที่บริโภค บริโภคด้วยกุศลหรือด้วยอกุศล หรือด้วยปัญญาที่พิจารณาในขณะที่บริโภค แสดงให้เห็นว่า กว่ากุศลจิตจะค่อยๆ เกิด ค่อยๆ เจริญขึ้น ค่อยๆ มีปัญญาตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมจนกระทั่งเป็นปัญญาขั้นต่างๆ ที่จะถึงความรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ต้องอาศัยการฟัง การพิจารณา ฟังแล้วก็ฟังอีก วันนี้กลับไปบริโภคอาหาร คงไม่คิดอย่างนี้แน่ๆ ใช่ไหม ทั้งๆ ที่ได้ฟังแล้ว แสดงให้เห็นว่า บังคับบัญชาไม่ได้ เพราะว่าพระธรรมที่ทรงแสดงเป็นสัจจธรรม แต่เมื่อปัญญาของบุคคลนั้นยังไม่เจริญถึงขั้นที่จะเห็นตามความเป็นจริงอย่างนั้น ก็ต้องอาศัยการฟังอีก พิจารณาอีก อบรมเจริญไปอีก จนกว่าจะเห็นธรรมในชีวิตประจำวันโดยตลอดว่าเป็นสัจจธรรม ไม่ว่าจะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งทางลิ้น ก็ต้องมีการบริโภคเป็นประจำ และหลงลืมสติเป็นประจำ ไม่ได้พิจารณาเป็นประจำ เพราะฉะนั้น จึงต้องอาศัยพระธรรม คือ ฟังแล้วฟังอีกนั่นเอง

    ข้อความต่อไปมีว่า

    อนึ่ง สองสามีภรรยานั้น มิได้สั่งสมด้วยคิดว่า เราจักเคี้ยวกินเนื้อลูกเท่านี้ในทางกันดาร ล่วงทางกันดารไปแล้ว จักเอาเนื้อลูกส่วนที่เหลือไปปรุงด้วยรสเปรี้ยวเป็นต้นเคี้ยวกิน แต่เมื่อล่วงทางกันดารไปแล้วคิดว่า พวกชนในเมืองนั้นจะเห็น จึงฝังไว้ในดินหรือเอาไฟเผา ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ระลึกถึงโอวาทนี้ว่า

    ได้ข้าวหรือน้ำก็ตาม ของเคี้ยวหรือผ้าก็ตาม ไม่พึงสั่งสม เมื่อไม่ได้สิ่งเหล่านั้นก็ไม่พึงสะดุ้ง ถือเอาพอยังอัตภาพให้เป็นไปจากปัจจัย ๔ ตามที่ได้นั้นๆ ส่วนที่เหลือแจกจ่ายแก่เพื่อนสพรหมจารี เว้นการสั่งสมบริโภค

    อนึ่ง สองสามีภรรยานั้นมิได้ถือตัวหรือโอ้อวดว่า ใครอื่นจะได้เคี้ยวกินเนื้อบุตรเห็นปานนี้อย่างเรา แต่เคี้ยวกินโดยขจัดความถือตัวและความโอ้อวดเสียได้ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ได้โภชนะอันประณีตแล้ว ไม่พึงถือตัวหรือโอ้อวดว่า เราได้จีวรและบิณฑบาตเป็นต้น พึงพิจารณาว่า การบวชนี้มิใช่เหตุแห่งจีวรเป็นต้น แต่ การบวชนี้เป็นการบวชเพราะเหตุแห่งพระอรหัต แล้วพึงบริโภคโดยปราศจากความ ถือตัวและโอ้อวดทีเดียว

    คฤหัสถ์ก็บริโภคอย่างนี้ได้ ขณะที่กำลังรับประทานอาหารก็รับประทาน โดยปราศจากความถือตัวและความโอ้อวดเวลาที่กุศลจิตเกิด แต่เวลาที่หลงลืมสติ และอกุศลจิตเกิด บางท่านอาจจะมีการสะสมที่มีความโอ้อวดในอาหารที่รับประทาน ก็ได้ เพราะเป็นอาหารที่ปรุงอย่างประณีต ขณะนั้นก็มีความรู้สึกว่า อาหารนี้เป็นอาหารที่ประณีตกว่าอาหารอื่นๆ

    อนึ่ง สองสามีภรรยานั้นมิได้เคี้ยวกินอย่างดูหมิ่นว่า ประโยชน์อะไรด้วยเนื้อที่ไม่เค็ม ไม่เปรี้ยว ยังไม่ได้ปิ้ง มีกลิ่นเหม็น แต่เคี้ยวกินโดยปราศจากความดูหมิ่น ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1967



    หมายเลข 70
    10 พ.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ