ปุตตมังสสูตร ๔
เมื่อเข้าใจในขั้นการฟัง ก็ไม่ได้หมายความว่าให้ใครไปพยายามรู้เจตสิกแต่ละเจตสิกนั้น แต่หมายความว่า ในขณะนี้สภาพธรรมเป็นนามธรรมและเป็นรูปธรรม ยังไม่ต้องแยกเป็นอะไรเลยทั้งสิ้น เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่าปัญญายังไม่สามารถรู้ชัดในลักษณะที่เป็นนามธรรมว่าเป็นเพียงนามธรรม และยังไม่สามารถรู้ชัดในลักษณะของรูปธรรมว่าเป็นเพียงรูปธรรม
เพราะฉะนั้น การฟังปริยัติก็เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจโดยละเอียด ซึ่งเกื้อกูลต่อการเข้าใจในสภาพที่เป็นอนัตตา แต่ไม่ใช่ไปท่อง หรือไปพยายามรู้สิ่งซึ่งขณะนั้น ไม่สามารถจะรู้ได้ เช่น ในขณะเห็นมีผัสสเจตสิก ในขณะที่ได้ยินก็มีผัสสเจตสิก ในขณะที่คิดนึกก็มีผัสสเจตสิก ไม่ว่าจิตจะเกิดขึ้นขณะใดก็ต้องมีผัสสเจตสิก แต่ยัง ไม่รู้เลยว่า นามธรรมคืออะไร มีลักษณะอย่างไร จะไปรู้ลักษณะเฉพาะของผัสสเจตสิกย่อมไม่ได้
สำหรับสิ่งใดที่ปรากฏ เช่น รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ หรือสังขารขันธ์ หรือวิญญาณขันธ์ อย่างความยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏที่เห็น กับผัสสะ อย่างไหน ที่จะปรากฏ ลักษณะของผัสสะปรากฏ หรือลักษณะของความยินดีพอใจปรากฏ
ผู้ฟัง เวทนาปรากฏ ความยินดีพอใจปรากฏ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น สภาพธรรมใดที่ปรากฏ ควรที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น โดยไม่ขวนขวายไปรู้เจตสิกแต่ละประเภท เพียงแต่ว่าการฟังทำให้สามารถเข้าใจเพื่อเป็นพื้นฐานสะสมทำให้สามารถละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ลักษณะของเจตสิกใด เช่น ถ้าเวทนาเกิดก็สามารถรู้ได้ เพราะว่าปรากฏ และเข้าใจในขณะนั้นสติก็เกิดได้ ถ้าสภาพธรรมใดไม่ปรากฏ ก็ระลึกไม่ได้ เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยการฟังต่อไปอีก สติและปัญญาก็จะค่อยๆ รู้ทีละลักษณะไปว่า ลักษณะของนามธรรมต่างกับรูปธรรม จนกระทั่งสามารถรู้นามธรรม ที่แยกกันอีก ละเอียดขึ้นไปอีก ซึ่งไม่ปนรูปและนามด้วย
ท่านอาจารย์ ข้อสำคัญที่สุด คือ ปัญญา ซึ่งลักษณะของปัญญานั้นรู้แล้วละ เพราะฉะนั้น ใครจะไปละก่อนรู้ไม่ได้ กุศลจิตเกิดจริง แต่กุศลนั้นไม่สามารถดับหรือ ละอกุศลที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ ต้องอาศัยการฟัง จนกระทั่งสามารถเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมบ่อยๆ เนืองๆ และขณะใดที่เกิดความต้องการขึ้น ขณะนั้นถ้าปัญญาไม่เกิดที่จะรู้ว่าเป็นสภาพนามธรรมอย่างหนึ่ง ก็เดือดร้อนมาก เพราะว่าบางคนอาจจะไม่ชอบในลักษณะของโลภะประเภทนั้นๆ ที่เกิดขึ้นกับตน เมื่อไม่ชอบก็พยายามหาทางอื่นที่จะไม่ให้โลภะนั้นเกิด แทนที่จะระลึกและรู้ว่า ลักษณะนั้นก็เป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่อาจหาญ กล้าหาญที่จะรู้ทัน รู้ตามในขณะนั้นได้ว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้น มิฉะนั้นจะทำอย่างอื่นกันทั้งหมด
ผู้ฟัง ได้สนทนากับผู้ที่เข้าใจเรื่องสติปัฏฐาน สนทนากันว่า สติปัฏฐานไม่เกิดบ่อย และขณะที่เกิดก็เล็กน้อยเท่านั้นเอง เช่น แข็งปรากฏ รู้เพียงแข็งที่ปรากฏว่า เป็นแข็งเท่านั้น แต่ไม่ได้รู้ไปถึงว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็คิดว่า การปฏิบัตินี้ควรจะยิ่งขึ้นไปอีก ท่านผู้นั้นก็อธิบายว่า ได้มีการสนทนากับท่านอาจารย์ว่า ในขณะที่ลักษณะธรรมอะไรปรากฏ ก็ระลึกที่ลักษณะนั้นเท่านั้นเอง และปัญญา ก็รู้ตามกำลังของปัญญา และลักษณะใดปรากฏอีก ก็รู้ลักษณะนั้นๆ ไปอีก แทนที่จะต้องการให้ปรากฏชัดและคลายการยึดถือสภาพธรรม
ท่านอาจารย์ หนทางเดียว คือ ระลึกแล้วรู้ขึ้น ถ้ายังไม่รู้ ก็ระลึกอีกเนืองๆ บ่อยๆ เรื่องของการเจริญสติปัฏฐานเป็นกุศลขั้นสูงสุดที่ควรจะอบรมในแต่ละภพแต่ละชาติ ที่มีโอกาสได้ฟังเรื่องการอบรมเจริญสติปัฏฐาน แต่ไม่ใช่เข้าใจผิดคิดว่า มีหนทางลัด หรือมีวิธีที่ไม่ต้องอาศัยการอบรมเจริญอะไรเลย เพียงแต่ต้องการก็ใช้ความเพียรมากๆ และจะประจักษ์การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม หรือวิปัสสนาญาณจะเกิดจนกระทั่งสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้
ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า แม้เพียงขั้นการฟัง ก็ฟังเพื่อให้ละคลายความต้องการ ที่จะไปทำอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้เข้าใจจริงๆ ว่า สภาพธรรมมีแล้ว เกิดแล้ว ตามเหตุตามปัจจัย เพียงสติปัฏฐานเกิดระลึกเมื่อไร ก็จะค่อยๆ พิจารณาลักษณะของสภาพธรรมนั้น และจะรู้จริงตรงตามที่ได้ศึกษาทุกอย่าง เป็นเรื่องที่ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ ละความไม่รู้ และค่อยๆ คลายความต้องการ ถ้าใครยังมีความต้องการมากๆ และอยากจะทำวิปัสสนา หรือใช้คำว่า อยากจะเจริญสติปัฏฐาน ผู้นั้นไม่สามารถจะ กั้นกระแสของความต้องการได้
ผู้ฟัง เพราะได้ยินว่า ระลึกแล้วรู้ขึ้น จึงคิดว่า ระลึกทุกครั้งก็ควรจะรู้ขึ้นๆ
ท่านอาจารย์ แต่น้อยมาก ควรจะรู้ขึ้น ไม่ใช่หมายความว่ารู้ขึ้นทันที มิฉะนั้นคงไม่มีข้ออุปมาที่ว่าเหมือนการจับด้ามมีด ข้ออุปมาตรงที่สุด คือ ทุกครั้งที่จับด้ามมีด เห็นหรือเปล่าว่าด้ามมีดสึก เมื่อไม่เห็น และจะให้ทุกครั้งที่ค่อยๆ รู้ขึ้น เป็นความรู้ขึ้นมาว่า รู้ขึ้น ได้อย่างไร
ผู้ฟัง บางครั้งฟังไม่แยบคายพอ ไม่เข้าใจพอ จึงไม่รู้ว่า ขณะที่ระลึกแล้วปัญญาก็รู้เท่านั้น ตามแต่กำลังของปัญญาเท่านั้น
ท่านอาจารย์ ต้องมีความมั่นคงว่า หนทางเดียวที่จะรู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้ ไม่มีวิธีอื่น นอกจากระลึกลักษณะของสภาพธรรมบ่อยๆ ซึ่งบังคับไม่ได้ อาจจะไม่ได้ระลึกก็ได้ แต่เมื่อระลึกเกิดขึ้น ในขณะนั้นก็รู้ว่า ไม่ได้หลงลืมสติ เพราะว่ามีลักษณะของสภาพธรรมให้รู้ แต่จะรู้มากหรือรู้น้อย จะรู้ช้าหรือรู้เร็ว จะรู้ขึ้นทีละน้อยที่สุดจนกระทั่งไม่รู้สึกตัวก็ได้ และค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป จนกระทั่งในที่สุดก็ ค่อยๆ รู้ขึ้นจริงๆ ไม่แสวงหาทางอื่น รู้ว่าหนทางนี้เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้คลายความต้องการด้วย มิฉะนั้นก็ไปทำอย่างอื่น ซึ่งถ้าทำอย่างอื่นจะปิดบังทันที ไม่ทำให้ รู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยตามปกติ ตามความ เป็นจริง
ผู้ฟัง อาหารคืออะไร เมื่ออาทิตย์ที่แล้วพูดถึงกวฬิงการาหารก็เข้าใจว่า อาหารเป็นคำใส่ปาก และก็มาพูดถึงเอกปริญญา แค่นั้นไม่พอ ต้องเป็นสัพพปริญญา ได้กลิ่น ได้เห็น ได้ลิ้มรส หมดเลย ทำให้เกิดเจตนา และสามารถพิจารณาไปถึงปฏิจจสมุปบาทได้ ก็เข้าใจ แต่วันนี้ขึ้นผัสสาหาร ไม่เข้าใจ และต่อไปคงไม่เข้าใจ ไปเรื่อยๆ อาหารหมายความตรงไหน ถึงได้รวม ๔ อย่างนี้เข้าไป อาหารคืออะไร
ท่านอาจารย์ ธรรมที่เป็นอาหาร พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่ามี ๔ อย่าง ด้วยความหมายว่า เพื่อความดำรงอยู่ของสัตว์โลกที่เกิดมาแล้ว หรือเพื่ออนุเคราะห์แก่เหล่าสัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด ตราบใดที่ยังมีอาหาร ก็ย่อมมีสิ่งที่นำมาซึ่งผล
นาที 03:28
ท่านอาจารย์ อาจารย์สมพรกรุณาให้ความหมายภาษาบาลีของคำว่า อาหาร ได้ไหม
สมพร อาหาร ถ้าแปลก็แปลว่า นำมาซึ่งผล ถ้าโดยความหมาย อาหาร หมายถึงปัจจัย อรรถกถาจารย์ท่านบอกว่า ที่ชื่อว่าอาหารนั้นเพราะเป็นปัจจัย
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1970
เรื่องของกวฬิงการาหารก็คงเข้าใจแล้ว คือ เพื่อความดำรงอยู่ของสัตว์โลกที่เกิดมาแล้ว หรือเพื่ออนุเคราะห์แก่เหล่าสัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด
อาหารมีถึง ๔ อย่าง คือ กวฬิงการาหาร ผัสสาหาร มโนสัญเจตนาหาร และวิญญาณาหาร เป็นอาหารปัจจัย ซึ่งถ้าศึกษาปัจจัยจะเห็นได้ว่า พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงสภาพธรรมแต่ละอย่างเป็นปัจจัยแต่ละประเภท และไม่ใช่ว่าจะขาดปัจจัย อื่นๆ ได้ ปัจจัยอื่นก็ขาดไม่ได้ แต่ทรงแสดงปัจจัยโดยประเภทของสภาพธรรมนั้นๆ ว่า ปัจจัยนี้ขาดไม่ได้โดยสภาพที่เป็นอาหาร เพราะว่านำมาซึ่งผล
สำหรับการพิจารณาสภาพธรรมนั้น ขึ้นอยู่กับขณะที่กำลังพิจารณาว่า จะพิจารณาอย่างไร แต่สภาพธรรมก็เกี่ยวเนื่องกันทั้งหมด เช่น ปฏิจจสมุปบาท ซึ่งแสดงโดยอนุโลม คือ อวิชชา ความไม่รู้ เป็นปัจจัยแก่สังขาร ได้แก่ เจตนา ซึ่งเป็นกรรม คือ กุศลบ้าง อกุศลบ้าง และสังขารซึ่งเป็นกรรมนั้นก็เป็นปัจจัย แก่วิญญาณ คือ เมื่อยังมีสังขารคือกรรมอยู่ตราบใดก็เป็นปัจจัยให้เกิดปฏิสนธิ และเมื่อปฏิสนธิเกิดแล้ว ก็เกิดพร้อมกับเจตสิกและรูปด้วย เพราะฉะนั้น วิญญาณจึงเป็นปัจจัยแก่นามรูป
อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร สังขารเป็นปัจจัยแก่วิญญาณ วิญญาณเป็นปัจจัยแก่นามรูป ผ่านมาแล้วทั้งหมด ใช่ไหม คือ ขณะเกิด ซึ่งก่อนนั้นต้องมีอวิชชา และต้องมีกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด คงไม่มีใครต้องไปนั่งทบทวน และเมื่อเกิดมาแล้ว นามรูปเป็นปัจจัยให้เกิดอายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งเป็นทางที่จะรับกระทบอารมณ์ เพราะถ้าจิตยังเป็นภวังค์อยู่ก็ไม่รู้อารมณ์อื่นนอกจากอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิต แต่เมื่อมีนามธรรมและรูปธรรมแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้เกิดอายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งกระทบกับอารมณ์ภายนอก
อายตนะเป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน การยึดมั่น อุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิดภพ ภพในที่นี้หมายถึงกรรมภพ ภพเป็นปัจจัยให้เกิดชาติ ชาติเป็นปัจจัยให้เกิดชรา มรณะ นี่เป็นปฏิจจสมุปบาทที่ได้ยินได้ฟังกันบ่อยๆ แล้วแต่ว่าในขณะนั้น จะระลึกรู้และพิจารณาเข้าใจส่วนหนึ่งส่วนใดในขณะหนึ่งขณะใด ก็ย่อมทำให้เห็นถึงการสืบเนื่องติดต่อกันไปของสภาพธรรมทั้งหลาย
หรืออาจจะพิจารณาอีกนัยหนึ่ง คือ เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงมีชรา มรณะ คือ สาวไปจากขณะนั้นว่าอะไรเป็นเหตุ ขณะที่เจ็บไข้ได้ป่วย หรือชรา หรือตาย ขณะนั้นจะย้อนไปพิจารณาได้ว่า เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงมีชราและมรณะ และถ้าจะสืบหาเหตุผลว่าเพราะอะไรจึงมีชาติคือการเกิดขึ้นก็จะรู้ว่า เพราะมีกรรมหรือ กรรมภพนั่นเองเป็นปัจจัย และถ้าจะย้อนกลับไปอีกว่าอะไรเป็นปัจจัยให้เกิดกรรมภพ ก็จะรู้ว่า อุปาทาน การยึดมั่นนั่นเองที่ทำให้ยังมีภพอยู่ และถ้าย้อนไปว่าอะไรทำให้เกิดการยึดมั่นก็รู้ว่า เพราะมีความยินดีพอใจในความยึดมั่นนั้นเองเป็นปัจจัย และ ถ้าย้อนกลับไปว่าอะไรเป็นปัจจัยให้เกิดความยินดีคือตัณหาก็จะรู้ว่า เพราะเวทนา ความรู้สึกเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา และถ้าย้อนไปว่าอะไรเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา ก็จะรู้ว่า เพราะผัสสะ การกระทบเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา ถ้าย้อนไปว่าอะไรเป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะก็จะรู้ว่า เพราะอายตนะเป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ และถ้าย้อนไปว่าอะไร เป็นเหตุให้เกิดอายตนะ ก็นามรูปเป็นปัจจัยให้เกิดอายตนะ ย้อนไปอีก ก็อะไรเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป ก็วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป
เพราะฉะนั้น สามารถย้อนไปทั้งขึ้นทั้งลงได้ ด้วยเหตุนี้ไม่ว่าสภาพธรรมใดกำลังปรากฏ ถ้าปัญญาสะสมพื้นฐานที่มั่นคงก็สามารถเข้าใจในเหตุในผลของธรรมนั้น แม้ในขณะที่กำลังบริโภคอาหาร หรือในเรื่องของอาหาร ๔
พ.อ.ชินวุฒิ ต้องขอประทานโทษท่านผู้ฟัง ไม่ทราบว่าผมทำให้ท่านสับสนหรือเปล่า ก็ไม่ทราบ อาหารโดยสรุป อาหารแปลว่านำมาซึ่งผลหรือปัจจัย อาหาร ๔ อย่างนี้ ถ้าจะเอาคำว่า อาหาร มาแปล นำมาซึ่งผล สำหรับกวฬิงการาหาร หมายความว่านำมาซึ่งผลอะไร แล้วก็ผัสสาหารอะไร และตามลำดับ มโนสัญเจตนาหาร วิญญาณอาหาร มันนำมาซึ่งผลแตกต่างกันอย่างไร ถ้าสรุปสั้นๆ ตอนนี้จะได้เข้าใจอาหาร
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1972
นาที 10:10
ท่านอาจารย์ กวฬิงการาหารนำมาซึ่งผลคือร่างกายดำรงอยู่ได้ ทำให้ร่างกายดำรงอยู่ได้
พ.อ.ชินวุฒิ แล้วผัสสาหาร
ท่านอาจารย์ ผัสสาหารนำมาซึ่งเวทนา นามธรรมและรูปธรรม เพราะเหตุว่าเวลาที่จิตเกิดพร้อมผัสสะมีรูปเกิดด้วย
พ.อ.ชินวุฒิ แต่เป็นผลให้เกิดเวทนาใช่ไหมครับ
ท่านอาจารย์ นำมาซึ่งเวทนา ประการสำคัญที่สุดของสังสาวัฎฏ์ซึ่งไม่จบ เพราะเหตุว่าเมื่อมีการกระทบอารมณ์แล้ว ทำให้เกิดความรู้สึกอย่างหนึ่งอย่างใดในอารมณ์นั้น และความรู้สึกพอใจไม่พอใจนั้นก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดธรรมประการอื่นๆ
พ.อ.ชินวุฒิ กวฬิงการาหารเป็นปัจจัยให้เกิดความเจริญเติบโตของร่างกาย
ท่านอาจารย์ ทำให้ร่างกายดำรงอยู่ได้
พ.อ.ชินวุฒิ ร่างกายเจริญดำรงอยู่ได้ พอถึงผัสสาหารก็เป็นปัจจัยที่นำมาซึ่งผลคือเวทนา แล้วมโนสัญเจตนาหารครับ
ท่านอาจารย์ กรรมนำมาซึ่งปฏิสนธิจิต
พ.อ.ชินวุฒิ แล้ววิญญาณอาหาร
ท่านอาจารย์ ปฏิสนธิจิตและวิบากจิต
พ.อ.ชินวุฒิ คือผมกำลังจะไปชนกับขันธ์ ๕ มันไม่ชนกันนะครับ
ท่านอาจารย์ พ้นจากขันธ์ ๕ ไม่ได้เลย ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จะปราศจากขันธ์ ๕ ไม่ได้เลย ทุกขณะนี้ครบ ๕ ขันธ์
พ.อ.ชินวุฒิ สำหรับอาหารเป็นคำๆ กวฬิงการาหาร มันเกี่ยวโยงกับขันธ์ ๕ เหมือนกันใช่ไหมครับ หรือเฉพาะตัวรูปนั้น
สุ. กวฬิงการาหารเป็นรูป รูปส่วนรูป แต่ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ นามธรรมจะเกิดโดยไม่มีรูปไม่ได้เลย แม้แต่การจะบริโภคอาหาร ไม่มีรูปแล้วจะรับประทานอาหารได้ไหม
พ.อ.ชินวุฒิ เวลานี้เราพูดถึงอาหาร จะพูดอาหาร ไม่ได้ถึงพูดถึงรูปตัวนี้นะครับ
ท่านอาจารย์ ถ้ารูปคืออาหารอยู่ในจาน มีความหมายอะไร รูปก็ส่วนรูป รูปเป็นรูปโดยสิ้นเชิง แต่สำหรับในภูมิที่มีขันธ์ ๕ หมายความว่าทั้ง ๕ ขันธ์ ไม่ได้แยกกัน นั่นพูดถึงนามธรรมและรูปธรรม ไม่ได้พูดถึงรูปเปล่าๆ โดยสิ้นเชิงซึ่งไม่เกี่ยวกับนามธรรม
ท่านอาจารย์ อย่างต้นไม้มีกี่ขันธ์
พ.อ.ชินวุฒิ มีขันธ์เดียวครับ
ท่านอาจารย์ ต้นไม้มีขันธ์เดียว นี่แสดงให้เห็นแล้วว่าเรื่องของรูปเป็นรูปเท่านั้นสิ้นเชิง ไม่เกี่ยวข้องกับนามธรรมใดๆ ทั้งสิ้น แม้แต่รูปที่ร่างกายของเรา ก็จะต้องมีปัญญาที่รู้ชัดจริงๆ ว่าเป็นรูปโดยสิ้นเชิง ไม่ได้ต่างอะไรกับรูปภายนอกเลย เมื่อใดที่เราพิจารณาเห็นหญ้าที่พระเชตะวันกับรูปร่างกายนี้เหมือนกัน หรือจะเป็นต้นไม้ จะเป็นอะไรก็ตามแต่ ซึ่งเป็นรูปกับรูปที่ร่างกายแล้วเสมอกันคือ เป็นรูปเท่านั้น หมายความว่า รูปไม่ใช่สภาพรู้ทั้งสิ้น รูปไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ถ้าเข้าใจอย่างนี้จริงๆ ก็จะรู้ว่ารูปนี้เป็นแต่เพียงสภาพที่เป็นธาตุอย่างหนึ่ง คือรูปธาตุ ไม่ใช่เราและไม่ใช่นามธรรมด้วย