สุเมธาเถรีคาถา ๒
ต่อไปก็เป็น มรณานุสสติ คือ การระลึกถึงความตาย เป็นอารมณ์หนึ่งที่จะทำให้จิตสงบ
กุศลจิตเกิดได้ถ้ามนสิการ หรือพิจารณาความตายด้วยความแยบคาย แต่ไม่ใช่หมายความว่า ใครก็ตามที่ระลึกถึงความตายแล้วสงบ เป็นไปไม่ได้ จิตที่จะสงบได้ จะต้องประกอบด้วยปัญญาที่รู้ว่า ความตายเป็นสิ่งที่แน่นอน ไม่ควรที่จะมีความยินดี มีความติดข้องในสิ่งหนึ่งสิ่งใด ในตัวตน หรือในบุคคลซึ่งเป็นที่รัก ที่พอใจ ในวัตถุซึ่งเป็นที่รัก ที่พอใจ เพราะไม่มีสิ่งใดเลยที่จะเป็นของเราอย่างแท้จริง แม้แต่สิ่งที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตนของเราก็ไม่เที่ยง อยู่ได้เพียงแค่อายุซึ่งไม่มีใครสามารถจะรู้ได้
บางท่านอาจจะสิ้นชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์ โดยที่ยังเป็นเพียงกลละ คือ ก้อนของรูปซึ่งยังไม่ครบส่วนต่างๆ แต่ว่าเมื่อมีปฏิสนธิแล้ว ก็สามารถที่จะมีการตายหรือจุติได้ ไม่ว่าจะในระยะเวลายาวสั้นมากน้อยแค่ไหน ซึ่งทุกคนไม่มีโอกาสที่จะรู้ได้เลยว่า ชีวิตของท่านจะยาวหรือจะสั้นแค่ไหน
สำหรับท่านที่ระลึกถึงความตายแล้วกลัว ขณะนั้นไม่ใช่มรณสติ เพราะสติไม่เกิดในขณะที่ระลึกถึงความตาย ด้วยเหตุนี้เมื่อคิดถึงแล้วจึงกลัว แต่ถ้าระลึกด้วยปัญญาที่เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง คือ ความไม่เที่ยง การกลัวความตายก็จะน้อยลง แต่ว่าต้องแล้วแต่เหตุปัจจัยด้วย
ทุกคนตอนที่เป็นเด็ก ไม่มีใครที่ไม่กลัวความตาย เด็กทุกคนกลัว บางคนก็คิดว่า ถ้าวันนั้นมาถึงเมื่อไร ก็อยากจะหนีไปให้สุดขอบโลกถ้าสามารถจะเป็นไปได้ แต่เมื่อโตขึ้นก็เห็นว่า ความตายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย เมื่อมีการเกิดขึ้นก็ต้องมีการตาย เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่การอบรมเจริญปัญญาของแต่ละท่านที่จะรู้ว่า ท่านมีการระลึกถึงความตายบ่อยๆ เนืองๆ จนรู้ความจริง จนสามารถที่จะหวั่นไหวน้อยลง ไม่มีการหวาดกลัวความตายเหมือนตอนที่ยังเป็นเด็กหรือตอนที่ยังไม่ได้อบรมเจริญปัญญาแล้วหรือยัง
สำหรับท่านที่กลัว ท่านอาจจะไม่ได้พิจารณาว่า แท้ที่จริงแล้วที่ท่านกลัวความตายนี้ ท่านกลัวอะไร ซึ่งส่วนมากแล้ว กลัวการพลัดพรากจากความเป็นบุคคลนี้ และจากทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งเป็นที่รักเป็นที่พอใจที่ท่านยึดถือ ยึดมั่น เกี่ยวข้องในชีวิตนี้ นอกจากนั้น ยังกลัวความเจ็บ ความปวด ความทรมานต่างๆ ก่อนที่จะตาย ซึ่งบางท่านอาจจะกลัวมากกว่าความตายจริงๆ
สรุปแล้วก็คือ กลัวประจวบกับสิ่งที่ไม่รัก เช่น ความทุกข์ ความทรมานก่อนที่จะตาย หรือว่ากลัวการพลัดพรากจากสิ่งที่รัก คือ จากการเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ ภพนี้ กลัวการที่จะต้องสูญเสียสิ่งที่รักที่พอใจและบุคคลซึ่งเป็นที่รักที่พอใจ แต่ให้ทราบว่า ถึงจะกลัวแค่ไหน ก็ไม่พ้น
เพราะฉะนั้น แทนที่จะกลัว ก็นึกถึงบ่อยๆ ว่า วันหนึ่งต้องจาก ต้องพลัดพราก ต้องเปลี่ยนแปลงแน่นอน ก็จะทำให้รู้สึกชินขึ้นกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว เป็นการพลัดพรากอยู่ทุกขณะ ขณะเมื่อครู่นี้ก็เป็นขณะหนึ่งในสังสารวัฏฏ์ซึ่งจะไม่กลับมาอีก และสำหรับภพนี้ชาตินี้ ก็เป็นแต่เพียงชาติหนึ่งที่มีการเห็น การได้ยินอยู่ในโลกมนุษย์นี้ในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งต่อไปก็ไม่ทราบว่าจะเป็นบุคคลไหน เกิดในภพไหน ในโลกไหน แต่ที่จะไม่เกิดอีกนั้น ไม่มี เพราะฉะนั้น น่ากลัวไหม ความตาย
เพียงแต่เป็นการย้าย หรือเปลี่ยนจากการเป็นบุคคลที่เคยเป็นในชาตินี้ เป็นบุคคลใหม่อีกบุคคลหนึ่งในภพหน้า ในชาติหน้า แล้วแต่ว่าบุญกรรม หรือว่าบาปกรรมจะทำให้ปฏิสนธิในภูมิไหน มีกำเนิดอย่างไร มีชาติ มีตระกูล มีลาภ มียศ มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกายต่างๆ แต่ไม่ผิดจากชาตินี้ เพราะยังจะต้องเป็นเรื่องของการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และการรู้อารมณ์ต่างๆ การคิดนึกทางใจนั่นเอง
เพราะฉะนั้น ชาติหน้าก็ไม่ต่างอะไรกับชาตินี้ ท่านซึ่งมีบุคคลเป็นที่รัก และวัตถุซึ่งเป็นที่รักในชาตินี้ ชาติหน้าท่านก็มีใหม่ เป็นบุคคลใหม่ มีบุคคลซึ่งเป็นที่รักใหม่ และมีวัตถุซึ่งเป็นที่ยินดีที่พอใจใหม่ ดูแล้วก็เหมือนว่า ไม่สูญเสียอะไร แต่ถึงอย่างนั้น การติดในความเป็นบุคคลนี้ในภพนี้ก็มาก จนกระทั่งทำให้ท่านหวั่นกลัว และไม่พอใจเลยที่จะพลัดพราก หรือว่าสูญเสียความเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ไป
เสียดายไหม การที่จะเป็นบุคคลนี้ หรือว่าพร้อม ขณะไหนก็ได้ที่จะเป็นบุคคลอื่นตามบุญกรรม แล้วแต่ว่าจะเป็นใคร เพราะฉะนั้น ต้องเร่งประกอบกรรมดี นี่คือจุดประสงค์ของการที่ระลึกถึงความตาย
สำหรับเรื่องของการกลัวความตาย และไม่กลัวความตาย ไม่ใช่มีแต่เฉพาะในปัจจุบันนี้ หรือในยุคนี้เท่านั้น ใน อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต โยธาชีววรรค ข้อ ๑๘๔ มีเรื่องของบุคคลที่กลัวความตายและไม่กลัวตาย ซึ่งมีข้อความว่า
ครั้งนั้นแล พราหมณ์ชื่อชานุโสณีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้ามีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า สัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมไม่กลัว ไม่ถึงความสะดุ้งต่อความตาย ไม่มี ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร พราหมณ์ สัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมกลัว ถึงความสะดุ้งต่อความตาย มีอยู่ สัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ไม่กลัว ไม่ถึงความสะดุ้งต่อความตาย มีอยู่
ดูกร พราหมณ์ ก็สัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมกลัว ถึงความสะดุ้งต่อความตายเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัด ยังไม่ปราศจากความพอใจ ยังไม่ปราศจากความรัก ยังไม่ปราศจากความกระหาย ยังไม่ปราศจากความเร่าร้อน ยังไม่ปราศจากความทะยานอยากในกามทั้งหลาย มีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องเขา เมื่อเขามีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องแล้ว ย่อมมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า กามอันเป็นที่รักจักละเราไปเสียละหนอ และเราก็จะต้องละกามอันเป็นที่รักไป เขาย่อมเศร้าโศก ย่อมลำบากใจ ย่อมร่ำไร ทุบอกคร่ำครวญถึงความหลงใหล ดูกร พราหมณ์ บุคคลนี้แล ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมกลัว ย่อมถึงความสะดุ้งต่อความตาย ฯ
จริงไหม ลองนึกถึงความตายเดี๋ยวนี้ กลัวอะไร
เวลาที่นึกถึงการที่จะต้องพลัดพรากจากบุคคลซึ่งเป็นที่รัก หรือว่าทรัพย์สมบัติที่เป็นที่พอใจ ทำให้ไม่อยากจะเป็นอย่างนั้น ใช่ไหม นั่นคือ อาการที่กลัวตาย
กลัวเฉยๆ ไม่มีประโยชน์ เป็นอกุศลจิต เพราะฉะนั้น มรณสติทั้งหมด เป็นอารมณ์ซึ่งจะทำให้จิตสงบเป็นกุศล ถ้ารู้ว่ากลัวอบายภูมิ ก็ต้องอบรมเจริญกุศล และจิตจะสงบจากความกลัว
ประการต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัด ยังไม่ปราศจากความพอใจ ยังไม่ปราศจากความรัก ยังไม่ปราศจากความกระหาย ยังไม่ปราศจากความเร่าร้อน ยังไม่ปราศจากความทะยานอยากในกาม มีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องเขา เมื่อเขามีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องแล้ว ย่อมมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า กายอันเป็นที่รักจักละเราไปละหนอ และเราก็จักละกายอันเป็นที่รักไป เขาย่อมเศร้าโศก ย่อมลำบากใจ ย่อมร่ำไร ทุบอกคร่ำครวญถึงความหลงใหล ดูกร พราหมณ์แม้ บุคคลนี้แล ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมกลัว ถึงความสะดุ้งต่อความตาย ฯ
ในข้อต้น เป็นห่วงกลัวที่จะต้องพลัดพรากจากกามซึ่งเป็นที่รัก ไม่ว่าจะเป็นวัตถุทรัพย์สมบัติ สิ่งของ หรือว่าญาติมิตรบุคคลต่างๆ ซึ่งเป็นที่รัก แต่ว่าอีกบุคคลหนึ่ง มีความติด ความห่วงใยในกายอันเป็นที่รัก เบื่อหรือยังตัวอันนี้ ร่างกายอันนี้ หรือว่ายังพอใจอยู่ ยังไม่อยากจะเปลี่ยนเป็นกายอื่น ตัวอื่น บุคคลอื่นในภพอื่น ยังพอใจอยู่ใช่ไหมในบุคคลนี้ ในร่างกายนี้ ใครได้ร่างกายอย่างไร มีร่างกายอย่างไร ก็พอใจในร่างกายนี้ ไม่ต้องการที่จะให้สูญไป หรือว่าเสียกายนี้ไป
ประการต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไม่ได้ทำความดีไว้ ไม่ได้ทำกุศลไว้ ไม่ได้ทำความป้องกันความกลัวไว้ ทำแต่บาป ทำแต่กรรมที่หยาบช้า ทำแต่กรรมที่เศร้าหมอง มีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องเขา เมื่อเขามีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องแล้ว ย่อมมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า เราไม่ได้ทำความดีไว้ ไม่ได้ทำกุศลไว้ ไม่ได้ทำความป้องกันความกลัวไว้ ทำแต่บาป ทำแต่กรรมที่หยาบช้า ทำแต่กรรมที่เศร้าหมอง ดูกร ผู้เจริญ คติของคนไม่ได้ทำความดี ไม่ได้ทำกุศล ไม่ได้ทำความป้องกันความกลัว ทำแต่บาป ทำแต่กรรมที่หยาบช้า ทำแต่กรรมที่เศร้าหมอง มีประมาณเท่าใด เขาละไปแล้วย่อมไปสู่คตินั้น เขาย่อมเศร้าโศก ย่อมลำบากใจ ย่อมร่ำไร ทุบอกคร่ำครวญถึงความหลงใหล ดูกร พราหมณ์ แม้บุคคลนี้แล ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมกลัว ถึงความสะดุ้งต่อความตาย ฯ
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 836
นาที 12:38
ข้อความต่อไป บุคคลที่กลัวตายประเภทที่ ๔ ซึ่งเป็นประเภทสุดท้าย
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความสงสัยเคลือบแคลง ไม่ถึงความตกลงใจในพระสัทธรรม มีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องเขา เมื่อเขามีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องแล้ว ย่อมมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า เรามีความสงสัยเคลือบแคลง ไม่ถึงความตกลงใจในพระสัทธรรม เขาย่อมเศร้าโศก ย่อมลำบากใจ ย่อมร่ำไร ทุบอกคร่ำครวญถึงความหลงใหล ดูกร พราหมณ์ แม้บุคคลนี้แล มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมกลัว ถึงความสะดุ้งต่อความตาย
ดูกร พราหมณ์ บุคคล ๔ จำพวกนี้แล มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมกลัว ถึงความสะดุ้งต่อความตาย ฯ
ถ้าท่านผู้ใดยังกลัวความตาย ก็เป็นบุคคลหนึ่งในบุคคล ๔ นี้ แต่สำหรับบุคคล ๔ ที่ไม่กลัวต่อความตายก็มี เป็นบุคคลที่ตรงกันข้ามกับบุคคล ๔ จำพวกตามที่ได้กล่าวแล้ว เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ไม่กลัวความตาย ท่านก็เป็นบุคคลหนึ่งในบุคคล ๔ ซึ่งตรงกันข้ามกับบุคคลที่กลัวความตาย
เวลาที่มีความตายเกิดขึ้น คนที่ตายแล้ว ก็เกิดแล้ว เป็นบุคคลใหม่ ลืมเรื่องเก่าหมด ท่านยังจำเรื่องเก่าได้ไหม เป็นใคร ทำอะไร อยู่ที่ไหน มีกุศลกรรม อกุศลกรรมมากน้อยประการใด มีสุข มีทุกข์ เกี่ยวข้องผูกพันกับบุคคลใดอย่างไร มีทรัพย์สมบัติข้าวของมากมายมหาศาล หรือเล็กน้อยอย่างไร ก็ไม่มีใครสามารถที่จะระลึกได้ แต่ว่าทุกท่านหลังจากที่จุติแล้ว ก็จะปฏิสนธิตามกรรมหนึ่งที่ได้กระทำแล้ว ซึ่งจะเป็นกรรมในชาติไหนก็ได้ เหมือนกับที่ท่านได้เกิดแล้วในชาตินี้ ก็ไม่ทราบว่า เป็นผลของกุศลกรรมใดในอดีตอนันตชาติที่ได้กระทำแล้ว
เพราะฉะนั้น สำหรับคนที่ตายแล้ว จะว่าไปแล้วก็หมดเรื่อง ไม่มีการที่จะต้องกลัว ไม่มีการที่จะต้องเศร้าโศก หรือว่าไม่มีการที่จะต้องเสียดาย หรือว่าเสียใจอะไร ความเสียดาย ความอาลัย ความทุกข์ ความกลัว ความเศร้าโศก เกิดก่อนที่จะตาย เพราะความห่วงใยในกาม เพราะความห่วงใยในกาย ในบุคคลซึ่งเป็นที่รัก ในวัตถุซึ่งเป็นที่รัก เพราะฉะนั้น คนที่ตายแล้ว ก็ปฏิสนธิใหม่ เป็นบุคคลใหม่ มีเรื่องใหม่ทันที แต่บุคคลที่อยู่ ยังไม่ลืมเรื่องนั้น ยังไม่ลืมความเกี่ยวข้องผูกพันกับบุคคลซึ่งแท้ที่จริงแล้วก็เป็นบุคคลใหม่ทันที จะไปเป็นบุตรธิดาใครก็ไม่มีใครทราบ เกี่ยวข้องผูกพันกับบุคคลใหม่ โดยที่ไม่สามารถจะกลับมาเกี่ยวข้องกับบุคคลเก่าในภพก่อนในชาติก่อนได้ แต่ว่าบุคคลซึ่งผู้ที่เป็นที่รักจากไป ย่อมเศร้าโศก เพราะว่ามีความอาลัยในบุคคลซึ่งเป็นที่รัก ในความเกี่ยวข้องซึ่งเคยผูกพันกันอยู่
สำหรับผู้ที่จะไม่เศร้าโศก เมื่อบุคคลซึ่งสนิทสนมคุ้นเคยพลัดพรากไปด้วยความตาย ก็จะมีแต่ผู้ที่เป็นพระอนาคามี และพระอรหันต์ แต่สำหรับผู้ที่ยังเป็นปุถุชน หรือว่าเป็นพระเสขบุคคล ขั้นพระโสดาบัน พระสกทาคามี ก็ยังมีปัจจัยที่จะให้เกิดความโศกเศร้า ความเสียใจ ซึ่งใน สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค จุนทสูตร มีข้อความว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็ในสมัยนั้น ท่านพระสารีบุตรอยู่ ณ บ้านนาฬกคาม ในแคว้นมคธ อาพาธ เป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา สามเณรจุนทะเป็นอุปัฏฐากของท่าน ครั้งนั้นท่านพระสารีบุตรปรินิพพานด้วยอาพาธนั่นแหละ
ครั้งนั้น สามเณรจุนทะถือเอาบาตรและจีวรของท่านพระสารีบุตร เข้าไปหาท่านพระอานนท์ยังพระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี นมัสการท่านพระอานนท์แล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านพระสารีบุตรปรินิพพานแล้ว นี้บาตรและจีวรของท่าน
ท่านพระอานนท์กล่าวว่า
ดูกร อาวุโสจุนทะ นี้เป็นมูลเรื่องที่จะเฝ้าพระผู้มีพระภาค มีอยู่ มาไปกันเถิด เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วกราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระองค์
สามเณรจุนทะรับคำของท่านพระอานนท์แล้ว
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์กับสามเณรจุนทะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สามเณรจุนทะรูปนี้ได้บอกอย่างนี้ว่า ท่านพระสารีบุตรปรินิพพานแล้ว นี้บาตรและจีวรของท่าน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กายของข้าพระองค์ประหนึ่งจะงอมระงมไป แม้ทิศทั้งหลายก็ไม่ปรากฏแก่ข้าพระองค์ แม้ธรรมก็ไม่ แจ่มแจ้งแก่ข้าพระองค์ เพราะได้ฟังว่า ท่านพระสารีบุตรปรินิพพานแล้ว
แม้แต่ท่านพระอานนท์ ท่านเป็นพระโสดาบันบุคคล แต่เพราะความสนิทสนม ความเคารพ ความคุ้นเคยในท่านพระสารีบุตรเป็นอย่างมาก เมื่อท่านได้ทราบว่า ท่านพระสารีบุตรปรินิพพานเสียแล้ว กิเลสซึ่งท่านยังไม่ได้ดับหมดเป็นสมุจเฉท ก็ยังมีอยู่พอที่จะทำให้ท่านเกิดความโศกเศร้า ธรรมไม่แจ่มแจ้งในขณะนั้น กายของท่านก็งอมระงมไปด้วยความทุกข์ที่ได้ทราบข่าวการปรินิพพานของท่านพระสารีบุตร
เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังก็เปรียบเทียบกับตัวของท่านเอง พระโสดาบันบุคคลยังเป็นอย่างนี้ ยังมีปัจจัยที่จะให้เกิดความทุกข์ ความโศก และขณะที่ความทุกข์ ความโศกเศร้าเกิดขึ้น ธรรมย่อมไม่แจ่มแจ้ง สติและปัญญาไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมขณะนั้นตามความเป็นจริง
สำหรับผู้ที่ไม่ได้เป็นพระโสดาบันบุคคล แม้กิเลสมี ก็ไม่รู้ตัว เป็นปกติ เป็นประจำวัน ยังไม่เห็นความเป็นนามธรรมและรูปธรรม ยังไม่เห็นความเกิดดับของสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จะมีความยึด จะมีความหลงมากกว่าท่านพระอานนท์สักแค่ไหน
เพราะฉะนั้น มรณสติจะทำให้ท่านเป็นผู้ที่ไม่ประมาทในการที่แม้สติจะเกิดชั่วขณะเล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ ก็ให้ทราบว่า ขณะที่สติเกิดเท่านั้นที่ปัญญาจะเจริญได้ ถึงสติจะเกิดน้อย หรือชั่วขณะสั้นๆ ก็เป็นขณะที่ปัญญาจะเจริญ เพราะขณะใดที่สติปัฏฐานไม่เกิด ขณะนั้นปัญญาย่อมเจริญไม่ได้ ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท
ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคได้ทรงโอวาท เตือนท่านพระอานนท์
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า
ดูกร อานนท์ สารีบุตรพาเอาศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ วิมุตติขันธ์ หรือวิมุตติญาณทัสสนขันธ์ ปรินิพพานไปด้วยหรือ
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า
หามิได้ พระเจ้าข้า ท่านพระสารีบุตรมิได้พาศีลขันธ์ปรินิพพานไปด้วย ฯลฯ มิได้พาวิมุตติญาณทัสสนขันธ์ปรินิพพานไปด้วย ก็แต่ว่าท่านพระสารีบุตรเป็นผู้กล่าวแสดงให้เห็นชัด ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริง ไม่เกียจคร้านในการแสดงธรรม อนุเคราะห์เพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย ข้าพระองค์ทั้งหลายมาตามระลึกถึง โอชะแห่งธรรม ธรรมสมบัติ และการอนุเคราะห์ด้วยธรรมนั้น ของท่านพระสารีบุตร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร อานนท์ ข้อนั้น เราได้บอกเธอทั้งหลายไว้ก่อนแล้วไม่ใช่หรือว่า จักต้องมีความจาก ความพลัดพราก ความเป็นอย่างอื่น จากของรักของชอบใจทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น จะพึงได้ในของรักของชอบใจนี้แต่ที่ไหน สิ่งใดเกิดแล้ว มีแล้ว ปัจจัยปรุงแต่งแล้ว มีความทำลายเป็นธรรมดา การปรารถนาว่า ขอสิ่งนั้นอย่าทำลายไปเลย ดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้
ดูกร อานนท์ เปรียบเหมือนเมื่อต้นไม้ใหญ่ มีแก่น ตั้งอยู่ ลำต้นใดซึ่งใหญ่กว่าลำต้นนั้นพึงทำลายลง ฉันใด เมื่อภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ซึ่งมีแก่น ดำรงอยู่ สารีบุตรปรินิพพานแล้ว ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น จะพึงได้ในข้อนี้แต่ที่ไหน สิ่งใดเกิดแล้ว มีแล้ว ปัจจัยปรุงแต่งแล้ว มีความทำลายเป็นธรรมดา การปรารถนาว่า ขอสิ่งนั้นอย่าทำลายไปเลย ดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้ เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่เถิด
ดูกร อานนท์ ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่อย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ... ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ... ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ดูกร อานนท์ ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง อยู่อย่างนี้แล
ดูกร อานนท์ ก็ภิกษุพวกใดพวกหนึ่ง ในบัดนี้ก็ดี ในกาลที่เราล่วงไปก็ดี จักเป็นผู้มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ พวกภิกษุเหล่านี้นั้น ที่เป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา จักเป็นผู้เลิศ
ในพระสูตรนี้ เป็นเรื่องของความตาย คือ การปรินิพพานของท่านพระสารีบุตร ซึ่งนำความทุกข์ ความโศกเศร้ามาสู่ท่านพระอานนท์ แต่พระผู้มีพระภาคทรงนำไปสู่การมีธรรมเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ การอบรมเจริญสติปัฏฐาน
ที่มา ...