สุเมธาเถรีคาถา ๓


    เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ของมรณสติ ไม่ใช่เพื่อที่จะให้จิตสงบโดยที่ไม่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสรู้ และไม่ได้ทรงแสดงหนทาง คือ มรรคมีองค์ ๘ ก็ไม่มีผู้ใดสามารถอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม มีตนเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่งได้ แต่เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงหนทางที่จะอบรมเจริญปัญญา ที่จะมีตนเป็นที่พึ่ง มีตนเป็นเกาะ คือ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นเกาะนั้น จุดประสงค์ก็ไม่ควรจะเป็นความสงบ และควรที่จะรู้ด้วยว่า เวลาที่จิตสงบแล้ว มีความยินดี มีความพอใจในความสงบนั้น หรือว่ามีปัญญาที่จะระลึกรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่สงบนั้นว่า เป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง และไม่หวังสิ่งใด นอกจากอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    ด้วยเหตุนี้ มรณานุสสติสำหรับผู้ที่มั่นคงในการเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญ สติปัฏฐาน ไม่ได้มีความต้องการ หรือว่าไม่ได้มีความพอใจในความสงบที่เกิดขึ้น เพราะระลึกถึงความตายด้วยความแยบคาย ไม่ได้ต้องการเพียงที่จะสงบ หรือว่าจะให้สงบขึ้น แต่รู้ว่า แม้ขณะที่สงบนั้น ก็เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และสติปัฏฐานก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงกับท่านพระอานนท์ เรื่องการปรินิพพานของท่านพระสารีบุตร ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม คือ การอบรมเจริญสติปัฏฐานแก่ท่านพระอานนท์

    ท่านผู้ฟังอยากจะสงบขึ้นอีกหรือเปล่า พอรู้ว่าเป็นสมถภาวนา และจะสงบได้อย่างไร แต่นั่นไม่ใช่จุดประสงค์

    ในชีวิตประจำวัน กุศลมีหลายขั้น แล้วแต่ว่ากุศลขั้นไหนจะเกิดขึ้น บางครั้งเป็นโอกาสของทานกุศล บางครั้งเป็นโอกาสของศีล บางครั้งก็มีการระลึกถึงความตายเกิดขึ้นในเมื่อมีปัจจัยที่จะให้ระลึกถึง จะเป็นความตายที่ท่านได้ยินได้ฟังจากบุคคลที่ท่านรู้จักหรือไม่รู้จักก็ตาม ถ้าเป็นการมนสิการอย่างแยบคาย ขณะนั้นก็เป็นความสงบ เป็นกุศลจิต แต่อย่าลืม สติปัฏฐานควรจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม แม้จิตที่สงบในขณะนั้นว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน อย่าให้เกิดความต้องการที่จะให้สงบขึ้นอีก เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น ขณะนั้นสติปัฏฐานจะไม่เกิด

    ผู้ฟัง พูดถึงเรื่องความสงบ ตามที่ผมศึกษาในพระไตรปิฎก รู้สึกว่า ไม่น่าปรารถนาเลย ในชาดก ฤาษีกว่าจะได้ฌานอภิญญาไม่ใช่ง่าย แสนที่จะยาก แต่พอมาเจอนารียั่วยวนครั้งเดียวเท่านั้น เหาะอยู่กลางอากาศ ตกลงมาในน้ำเลย ทำแทบตาย แค่นี้หมดแล้ว จึงไม่น่าปรารถนา

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ใช่ในกาลสมัยที่ยังมีพระธรรม คำสอนของพระผู้มีพระภาคในเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ก็เป็นโอกาสของการอบรมเจริญกุศลขั้นอื่น แต่เมื่อมีความเข้าใจในเรื่องการเจริญสติปัฏฐานแล้ว ก็ควรจะเป็นผู้ที่มั่นคงในการเจริญสติปัฏฐาน เพราะ โลภะย่อมจะมีโอกาสเกิดอยู่เสมอ ซึ่งสำหรับผู้ที่ไม่เจริญสติปัฏฐาน ก็ย่อมเป็นผู้ที่ยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ ในสมบัติต่างๆ

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 837

    นาที 04:13

    แต่สำหรับผู้ที่ฝักใฝ่ในธรรม ก็ต้องแล้วแต่ความรู้ความเข้าใจของท่าน ถ้าความรู้ความเข้าใจเรื่องการอบรมเจริญสติปัฏฐานยังไม่มั่นคงพอ ก็ยังมีปัจจัยที่จะให้ไขว่เขวคลาดเคลื่อน หรือมีความต้องการเกิดขึ้นในธรรมอื่นๆ เช่น ในความสงบ โดยที่ไม่รู้ความจริงว่า ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน มีบุคคลที่ได้อบรมเจริญสมถภาวนาจนชำนาญแคล่วคล่อง และภายหลังเมื่อได้ฟังธรรม ต้องไม่มีความปรารถนาในความสงบขั้นหนึ่งขั้นใด ต้องเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน แต่เพราะเคยสะสมความชำนาญแคล่วคล่องจากการเจริญสมถภาวนา จึงเป็นปัจจัยให้ความสงบขั้นต่างๆ เกิดขึ้น อาจจะเป็นความสงบขั้นอุปจารสมาธิ หรือว่าอาจจะเป็นความสงบขั้นอัปปนาสมาธิ ซึ่งเป็นฌานจิตแต่ละขั้น แต่แม้กระนั้นผู้ที่มั่นคงในการเจริญสติปัฏฐาน ก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ละความปรารถนา ละความต้องการในสภาพธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้น เห็นว่าสภาพธรรมทั้งหลายเสมอกันจริงๆ จึงจะเป็นปัจจัยให้ปัญญาคมกล้าขึ้นที่จะแทงตลอดในความเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมได้

    แต่ถ้าขาดการศึกษา หรือว่าขาดการพิจารณาโดยถูกต้อง เพียงแต่ท่านอ่านบางสูตรในพระไตรปิฎก ท่านก็อาจจะเข้าใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงสนับสนุนให้เจริญฌาน จนกระทั่งได้อิทธิปาฏิหาริย์ หรือว่าสามารถที่จะระลึกชาติได้ในปฐมยาม สามารถที่จะรู้จุติปฏิสนธิในมัชฌิมยาม และจึงจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมในปัจฉิมยาม แต่ถ้าศึกษาโดยละเอียดจริงๆ ไม่ได้ทรงแสดงให้เจริญความสงบจนกระทั่งถึงฌานขั้น ต่างๆ แต่ที่ทรงโอวาทพร่ำสอนอยู่เสมอ คือ เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน

    ใน สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เจลสูตร มีข้อความว่า

    สมัยหนึ่ง เมื่อท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโมคคัลลานะปรินิพพานแล้วไม่นาน พระผู้มีพระภาคประทับอยู่แทบฝั่งแม่น้ำคงคา ใกล้อุกกเจลนคร ในแคว้นวัชชี กับพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ก็สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคอันภิกษุสงฆ์แวดล้อมแล้ว ประทับนั่งที่กลางแจ้ง ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงชำเลืองดูภิกษุสงฆ์ผู้นิ่งอยู่ แล้วตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็บริษัทของเรานี้ ปรากฏเหมือนว่างเปล่า เมื่อสารีบุตรและโมคคัลลานะยังไม่ปรินิพพาน สารีบุตรและโมคคัลลานะอยู่ในทิศใด ทิศนั้นของเราย่อมไม่ว่างเปล่า ความไม่ห่วงใยย่อมมีในทิศนั้น

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแม้เหล่าใด ได้มีมาแล้วในอดีตกาล พระผู้มีพระภาคแม้เหล่านั้น ก็มีคู่สาวกนั้นเป็นอย่างยิ่งเท่านั้น เหมือนกับสารีบุตรและโมคคัลลานะของเรา พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแม้เหล่าใด จักมีในอนาคตกาล พระผู้มีพระภาคแม้เหล่านั้น ก็จักมีคู่สาวกนั้นเป็นอย่างยิ่งเท่านั้น เหมือนกับสารีบุตรและโมคคัลลานะของเรา

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เป็นความอัศจรรย์ของสาวกทั้งหลาย เป็นเรื่องที่ไม่เคยมีมาของสาวกทั้งหลาย สาวกทั้งหลายจักกระทำตามคำสอน และกระทำตามโอวาทของพระศาสดา และจักเป็นที่รักเป็นที่ชอบใจ เป็นที่ตั้งแห่งความเคารพและสรรเสริญของบริษัท ๔ เป็นความอัศจรรย์ของตถาคต เป็นเรื่องที่ไม่เคยมีมาของตถาคต เมื่อคู่สาวกแม้เห็นปานนี้ปรินิพพานแล้ว ความโศกหรือความร่ำไรก็มิได้มีแก่พระตถาคต เพราะฉะนั้น จะพึงได้ข้อนี้แต่ที่ไหน สิ่งใดเกิดแล้ว มีแล้ว ปัจจัยปรุงแต่งแล้ว มีความทำลายเป็นธรรมดา การปรารถนาว่า ขอสิ่งนั้นอย่าทำลายเลย ดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้

    ข้อความต่อไปก็เหมือนข้อความใน จุนทสูตร โดยที่พระผู้มีพระภาคตรัสให้ภิกษุทั้งหลายมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง คือ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ ไม่ใช่ทรงให้บุคคลหนึ่งบุคคลใด ซึ่งไม่ได้เคยอบรมเจริญฌานมา ไปพากเพียรที่จะเจริญความสงบให้จนถึงฌานจิต แต่ว่าพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมให้ภิกษุมีตนเป็นที่พึ่ง โดยมีธรรมเป็นที่พึ่ง คือ พิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม

    ถ้าท่านพิจารณาข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสโดยละเอียด ท่านจะได้ความเข้าใจชัดเจนว่า ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เราได้บอกเธอทั้งหลายไว้ก่อนแล้วไม่ใช่หรือว่า จักต้องมีความจาก ความพลัดพราก ความเป็นอย่างอื่น จากของรักของชอบใจทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น จะพึงได้ในของรักของชอบใจนี้แต่ที่ไหน

    จริงๆ แล้ว ท่านผู้ฟังได้อะไรจากของที่รักที่ชอบใจบ้างหรือเปล่า หรือว่า ที่จะได้แน่ คือ ความพลัดพราก ได้ความติดข้องในความพอใจของท่านเอง แต่ไม่ได้อย่างอื่นเลย เพราะขณะนั้นไม่ได้พิจารณากายในกาย ไม่ได้พิจารณาเวทนาในเวทนา ไม่รู้แม้เวทนาของท่านซึ่งขณะนั้นไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีสิ่งซึ่งกำลังเป็นที่รัก เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ถ้าท่านมีความรู้สึกยินดีพอใจในสิ่งนั้น และสติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะของเวทนา ก็เป็นเพียงความรู้สึกซึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไป เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นยินดีในสิ่งที่น่าพอใจ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล และก็ดับไป

    เพราะฉะนั้น ถ้าปรากฏเป็นความยินดีในสิ่งที่รักที่พอใจ ก็ขอให้พิจารณาจริงๆ ว่า ได้อะไรจากความยินดีพอใจในสิ่งที่รักที่พอใจ นอกจากความติดข้องความยินดีของท่าน ได้ความพอใจเพิ่มขึ้น ได้ความติดข้องเพิ่มขึ้น เพราะไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ที่จะได้จริงๆ คือ การพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่ชอบใจทั้งหมด

    ในคราวก่อนเป็นเรื่องของมรณานุสสติ ซึ่งเป็นกุศลที่เตือนใจอย่างมาก เพราะทุกท่านย่อมทราบว่า ต้องมีการพลัดพราก ต้องมีการสิ้นสุดจากภพนี้ ชาตินี้ และก็จากไปสู่การเป็นบุคคลอื่นในภพอื่นในวันหนึ่ง ซึ่งไม่ทราบว่าจะช้าหรือจะเร็ว เพราะฉะนั้น มรณานุสสติ ก็เป็นอนุสสติอย่างดีที่จะทำให้ทุกท่านคิดถึงการเจริญกุศล

    แต่ข้อความในพระไตรปิฎกแสดงให้เห็นว่า จุดประสงค์ของมรณานุสสตินั้น เพื่อที่จะให้อบรมเจริญปัญญา รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพื่อที่จะได้มีตนเป็นที่พึ่ง มีตนเป็นเกาะ คือ มีธรรมเป็นที่พึ่ง โดยระลึกรู้ลักษณะของกาย ของเวทนา ของจิต ของธรรม

    สำหรับข้อความในพระไตรปิฎก ท่านผู้ฟังจะเห็นจุดประสงค์ของมรณานุสสติ คือ การระลึกถึงความตายว่า พระผู้มีพระภาคทรงมุ่งหมายให้พุทธบริษัทอบรม เจริญสติ ไม่ใช่เจริญฌาน ซึ่งหลายท่านทีเดียวในขณะที่ยังไม่ได้คิดถึงความตาย เวลาที่อกุศลจิตเกิด จิตของท่านที่ไม่มั่นคงในการอบรมเจริญสติปัฏฐาน อาจจะต้องการความสงบ และต้องการให้สงบขึ้นๆ โดยที่ไม่เข้าใจจุดประสงค์ที่แท้จริงว่า เมื่อระลึกถึงความตาย ควรจะเป็นผู้ที่ไม่ประมาทในการที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏที่กาย และเวทนา และจิต และธรรม

    สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค คิลานสูตร ข้อ ๗๐๘ มีข้อความว่า

    ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เวฬุวคาม ใกล้เมืองเวสาลี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วตรัสว่า

    มาเถิด ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงเข้าจำพรรษาในเมืองเวสาลีโดยรอบ ตามมิตร ตามสหาย ตามพวก (ของตนๆ) เถิด เราจะเข้าจำพรรษา ณ เวฬุวคามนี้แล

    ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว เข้าจำพรรษาในเมือง เวสาลีโดยรอบ ตามมิตร ตามสหาย ตามพวก (ของตนๆ) ส่วนพระผู้มีพระภาคทรงเข้าจำพรรษา ณ เวฬุวคาม นั้นแหละ

    เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงเข้าจำพรรษาแล้ว อาพาธกล้าบังเกิดขึ้น เวทนาอย่างหนักใกล้มรณะเป็นไปอยู่ ได้ยินว่า ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคทรงพระดำรงสติสัมปชัญญะ ทรงอดกลั้น ไม่ทรงพรั่นพรึง ครั้งนั้น พระองค์ทรงพระดำริว่า การที่เรายังไม่บอกภิกษุผู้อุปัฏฐาก ยังไม่อำลาภิกษุสงฆ์ แล้วปรินิพพานเสียนั้น หาสมควรแก่เราไม่ ไฉนหนอ เราพึงขับไล่อาพาธนี้เสียด้วยความเพียร แล้วดำรงชีวิตสังขารอยู่ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงขับไล่พระประชวรนั้นด้วยความเพียร แล้วทรงดำรงชีวิตสังขารอยู่ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงหายจากพระประชวรแล้ว ทรงหายจากความไข้ไม่นาน ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้ในร่มแห่งวิหาร

    ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เห็นพระผู้มีพระภาคทรงอดทน ข้าพระองค์เห็นพระผู้มีพระภาคทรงยังอัตภาพให้เป็นไป กายของข้าพระองค์ประหนึ่งจะงอมระงมไป แม้ทิศทั้งหลายก็ไม่ปรากฏแก่ข้าพระองค์ แม้ธรรมทั้งหลายก็ไม่แจ่มแจ้งแก่ ข้าพระองค์ เพราะความประชวรของพระผู้มีพระภาค แต่ข้าพระองค์มาเบาใจอยู่หน่อยหนึ่งว่า พระผู้มีพระภาคยังไม่ทรงปรารภภิกษุสงฆ์ แล้วตรัสพระพุทธพจน์อันใดอันหนึ่ง จักยังไม่เสด็จปรินิพพานก่อน

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อานนท์ ก็บัดนี้ ภิกษุสงฆ์จะยังมาหวังอะไรในเราเล่า ธรรมอันเราแสดงแล้วกระทำไม่ให้มีในภายใน ไม่ให้มีในภายนอก กำมืออาจารย์ในธรรมทั้งหลาย มิได้มีแก่ตถาคต ผู้ใดพึงมีความดำริฉะนี้ว่า เราจักบริหารภิกษุสงฆ์ หรือว่าภิกษุสงฆ์ยังมีตัวเราเป็นที่เชิดชู ผู้นั้นจะพึงปรารภภิกษุสงฆ์ แล้วกล่าวคำอันใดอันหนึ่งแน่นอน

    ดูกร อานนท์ ตถาคตมิได้มีความดำริอย่างนี้ว่า เราจักบริหารภิกษุสงฆ์ หรือว่าภิกษุสงฆ์มีตัวเราเป็นที่เชิดชู ดังนี้ ตถาคตจักปรารภภิกษุสงฆ์แล้วกล่าวคำอันใดอันหนึ่งทำไมอีกเล่า บัดนี้เราก็แก่เฒ่า เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยแล้ว วัยของเราเป็นมาถึง ๘๐ ปีแล้ว เกวียนเก่ายังจะใช้ไปได้ก็เพราะการซ่อมแซมด้วยไม้ไผ่ ฉันใด กายของตถาคตก็ฉันนั้นเหมือนกัน ยังเป็นไปได้ ก็คล้ายกับเกวียนเก่าที่ซ่อมแซมแล้วด้วยไม้ไผ่ ฉะนั้น

    ดูกร อานนท์ สมัยใด ตถาคตเข้าเจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต เพราะไม่กระทำไว้ในใจซึ่งนิมิตทั้งปวง เพราะดับเวทนาบางเหล่าแล้วอยู่ สมัยนั้น กายของตถาคตย่อมผาสุก เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ จงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่เถิด

    ดูกร อานนท์ ก็ภิกษุเป็นผู้มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่อย่างไรเล่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสีย ดูกร อานนท์ ภิกษุเป็นผู้มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ อย่างนี้แล

    ดูกร อานนท์ ก็ผู้ใดผู้หนึ่งในบัดนี้ก็ดี ในเวลาที่เราล่วงไปแล้วก็ดี จักเป็นผู้มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ ภิกษุเหล่าใดเป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา ภิกษุเหล่านั้นจักเป็นผู้เลิศ

    พระผู้มีพระภาคตรัสให้เจริญฌานหรือเปล่า แม้แต่เมื่อทรงพระประชวร และท่านพระอานนท์ได้ไปเฝ้ากราบทูลว่า เวลาที่ท่านเห็นพระผู้มีพระภาคทรงอดทน ยังอัตภาพให้เป็นไป กายของท่านพระอานนท์ประหนึ่งจะงอมระงมไป เป็นชีวิต ประจำวันของท่านพระอานนท์ ซึ่งยังมีเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดอกุศลที่ยังมีอยู่ เช่น ความทุกข์ ความโศกเศร้าต่างๆ แต่พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสให้ท่านพระอานนท์ ภิกษุทั้งหลาย และพุทธบริษัททั้งหลาย อย่าได้หวังอะไรในพระผู้มีพระภาค เพราะธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว กระทำไม่ให้มีในภายใน ไม่ให้มีในภายนอก กำมืออาจารย์ในธรรมทั้งหลายมิได้มีแก่ตถาคต

    ทรงแสดงธรรมทั้งหมดแล้ว ควรที่ภิกษุทั้งหลายจะมีตนเองเป็นเกาะ เป็นที่พึ่ง ซึ่งก็ได้แก่การเป็นผู้มีธรรมเป็นที่พึ่ง ด้วยการพิจารณากายในกาย พิจารณาเวทนาในเวทนา พิจารณาจิตในจิต พิจารณาธรรมในธรรม เป็นเรื่องของฌานหรือเปล่า

    ผู้ฟัง อยากจะทราบว่า พระพุทธเจ้าขับไล่อาพาธ ท่านขับไล่อย่างไร

    ท่านอาจารย์ พระผู้มีพระภาคทรงขับไล่พระประชวรนั้น ด้วยความเพียร

    ผู้ฟัง ด้วยความเพียรนั้นทรงทำอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ไม่ว่าจะเป็นพระอรหันต์ หรือว่าผู้ที่ยังไม่ได้บรรลุคุณธรรมเป็น พระอรหันต์ก็ตาม ย่อมเป็นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะ รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    สำหรับข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระอานนท์ว่า ดูกร อานนท์ สมัยใด ตถาคตเข้าเจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต เพราะไม่กระทำไว้ในใจซึ่งนิมิตทั้งปวง เพราะดับเวทนาบางเหล่าแล้วอยู่ สมัยนั้น กายของตถาคตย่อมผาสุก

    ท่านผู้ฟังจะได้ยินคำว่า เจโตวิมุตติ และ เจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต

    เจโตวิมุตติทั้งหมด เป็นเรื่องของฌานจิต ซึ่งสำหรับพระผู้มีพระภาค ท่านผู้ฟังจะเห็นปัจจัยที่ทรงสั่งสมมาประกอบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เป็นผู้เลิศแม้ในเรื่องของฌานสมาบัติและอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ ยิ่งกว่าบุคคลอื่นใดทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น สำหรับพระผู้มีพระภาค ย่อมทรงมีเหตุปัจจัยที่จะให้เข้าเจโตวิมุตติอันไม่มีนิมิต คือ ขณะที่มีนิพพานเป็นอารมณ์นั้นย่อมไม่มีนิมิตของสังขารทั้งหลายปรากฏพร้อมกับฌานจิตขั้นต่างๆ

    สำหรับเจโตสมาธินั้น ได้แก่ ในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม และปราศจากความยึดถือในนิมิตของสิ่งที่ปรากฏนั้นว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน

    จะเห็นได้ว่า เมื่อพระผู้พระภาคทรงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ก็ย่อมมีเหตุปัจจัยที่จะให้ความสงบขั้นต่างๆ เกิดขึ้น ทั้งที่เป็นฌานสมาบัติและผลสมาบัติ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ตถาคตเข้าเจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต เพราะไม่กระทำไว้ในใจซึ่งนิมิตทั้งปวง เพราะดับเวทนาบางเหล่าแล้วอยู่ สมัยนั้น กายของตถาคตย่อมผาสุก แต่ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ จงมีธรรมมีเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่เถิด

    ทั้งๆ ที่พระผู้มีพระภาคทรงประกอบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ทั้งฌานจิตที่เป็นฌานสมาบัติ ผลสมาบัติ และนิโรธสมาบัติ แต่ก็ไม่ได้ทรงโอวาทให้ภิกษุกระทำอย่างอื่นนอกจากตรัสต่อไปว่า เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ซึ่งหมายความถึง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ตามความเป็นจริง

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 838


    หมายเลข 73
    4 พ.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ