ชุดพิเศษ ตอนที่ ๑
ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นก็ขออนุโมทนา ในกุศลศรัทธาที่ทุกท่านได้สะสมมาแล้ว ถึงได้มีโอกาสได้ฟังพระธรรม ที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดง ถึงแม้ว่ากาลเวลาจะล่วงเลยไปถึง ๒,๕๐๐ กว่าปี แต่ผู้ที่ได้สะสมกุศลศรัทธาในการฟังพระธรรม ก็ยังมีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรม
ประการสำคัญที่สุดก็คือว่า ชาวพุทธย่อมทราบว่าพระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดง เป็นธรรมที่บุคคลอื่นไม่สามารถที่จะรู้ได้ ถ้าพระองค์ไม่ทรงแสดง ซึ่งธรรมที่ผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดง เป็นสภาพธรรมที่มีจริง และก็กำลังปรากฏอยู่ทุกขณะ แต่ก็เป็นสิ่งที่ยากแสนยากที่จะรู้ได้ เพราะเหตุว่าการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ทรงตรัสรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ เกิดขึ้น และดับไปทุกขณะ ตามความเป็นจริง ซึ่งสามารถที่จะทำให้ผู้ฟังได้ค่อยๆ พิจารณาจนกระทั่งเข้าใจ แล้วก็สามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุทเฉท ถึงแม้ว่าจะได้ฟังธรรมอื่น แต่ว่าธรรมที่ไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้
เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้จริงๆ ว่า ผู้ที่มีศรัทธาย่อมเป็นผู้ที่ละเอียด แล้วก็เห็นว่ากิเลสเป็นสิ่งที่ดับได้ยาก ไม่ใช่ว่าใครก็ตาม ที่นึกอยากจะให้อกุศลจิต อกุศลธรรมทั้งหลายหมดไป ก็จะหมดไปได้ แต่ต้องอาศัยพระปัญญาคุณ ที่ทรงอบรมพระบารมีถึง ๔ อสงไขยแสนกัป จึงสามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม และทรงแสดงพระธรรมถึง ๔๕ พรรษา เพราะฉะนั้น ผู้ที่เริ่มสนใจธรรม แล้วก็คิดว่าคงจะไม่ต้องศึกษา ก็สามารถที่จะเข้าใจได้ หรือว่าเพียงเข้าใจพระธรรมเพียงนิดหน่อย ก็สามารถที่จะหมดกิเลสได้ ก็ไม่ถูกต้อง เพราะเหตุว่าพระธรรมเป็นสิ่งซึ่งละเอียด เพราะฉะนั้นผู้ศึกษาก็ต้องศึกษาด้วยความละเอียดจริงๆ
เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังได้เห็นว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เป็นสิ่งซึ่งบุคคลอื่นไม่สามารถที่จะรู้ได้ด้วยตนเอง ขอกล่าวถึงอดีตชาติ ที่พระผู้มีพระภาคทรงได้รับคำพยากรณ์จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า ทีปังกร ซึ่งขอย้อนถอยหลังไปถึงเมื่อ ๔ อสงไขยแสนกัป ให้เห็นความยากลำบากว่า กว่าที่จะได้ตรัสรู้ธรรมเป็นสิ่งซึ่งยากจริงๆ และก็ต้องอบรมบารมี จนกระทั่งพร้อมที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม จึงสามารถที่จะบรรลุเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้
ในสมัยที่ทรงพระชาติเป็นสุเมธดาบส เมื่อ ๔ อสงไขยแสนกัป และก็ได้รับคำพยากรณ์จากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า ทีปังกร ว่าอีก ๔ อสงไขยแสนกัป ท่านจะได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า โคตมะ ผู้ที่ได้รับคำพยากรณ์อย่างนั้นจะรู้สึกอย่างไร อีก ๔ อสงไขยแสนกัป แต่ว่าทรงมีพระมหากรุณา ที่จะมีความเพียร ที่จะอบรมเจริญ มีความดีทุกประการ เพื่อที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะเหตุว่าถ้ายังมีกิเลสมากๆ แล้วก็ไม่มีการขัดเกลากิเลสเลย ไม่มีทางที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้
ส่วนมากบางคนอาจจะคิดว่า ไม่ต้องขัดเกลากิเลส ไม่ต้องอบรมเจริญกุศล เมื่อได้ฟังธรรมแล้ว ก็ปฏิบัตินิดๆ หน่อยๆ ก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่นั่นไม่เป็นความจริง เพราะเหตุว่าผู้ที่จะรู้ได้ ต้องเป็นผู้ที่ เป็นผู้ละเอียด เช่น หนทางที่พระโพธิสัตว์ได้ดำเนินมาแล้ว
เมื่อท่านสุเมธดาบสได้รู้ว่า จะบรรลุพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านทำอะไร ท่านใคร่ครวญด้วยปัญญาว่า ธรรมใดเป็นพุทธการกธรรม คือ ธรรมอันทำให้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วก็รู้ว่า ธรรม ๑๐ ประการ เป็นพุทธการกธรรม เป็นบารมีที่จะให้ถึงฝั่ง จากความเป็นปุถุชน ไปสู่ฝั่งของการที่ดับอกุศลทั้งปวงได้ เพราะฉะนั้นการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็ต้องเป็นสิ่งที่สมควรแก่เหตุ หมายความว่า ถ้าเหตุไม่พร้อม ก็ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้
พุทธการกธรรมซึ่งเป็นบารมีที่ ๑ คือ ทานบารมี ทุกท่านคงจะชินกับบารมีทั้ง ๑๐ แต่ก็ให้ทราบว่า ทานบารมี เป็นกุศลซึ่งไม่ได้หวังสิ่งตอบแทนใดๆ เลยทั้งสิ้น เพราะเหตุว่าไม่ได้ต้องการภพชาติ ไม่ได้ต้องการลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ไม่ต้องการแม้เพียงความคุ้นเคยสนิทสนม แต่ว่าต้องเป็นไปเพื่อการละความติดข้องในวัตถุทั้งปวง เพราะฉะนั้นทานของแต่ละคน ก็สามารถจะพิจารณาได้ว่า เป็นแนวทางของการที่จะทำให้ละความติดข้อง และก็สามารถที่จะเจริญปัญญาที่จะเห็นโทษของความติดข้อง และก็อบรมทานบารมี เท่าที่สามารถจะกระทำได้
บารมีที่ ๒ คือ ศีลบารมี ศีลบารมี ก็คือ การละเว้นกาย วาจา ซึ่งทำให้คนอื่นเป็นทุกข์เดือดร้อน ซึ่งศีลเป็นที่ตั้งของกุศลทุกอย่าง เพราะว่าขณะใดที่เป็นกุศล ขณะนั้นก็ไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้บุคคลใดทั้งสิ้น มีแต่จะนำประโยชน์สุขเกื้อกูลแก่บุคคลอื่น ซึ่งเป็นกุศลประการอื่นๆ ต่อไป
บารมีที่ ๓ คือ เนกขัมมบารมี การออกจากความติดข้องในกาม เพราะถึงแม้ว่าจะให้ทานแล้ว แต่ก็ยังมีการติดข้องในสิ่งต่างๆ และถึงแม้ว่าจะมีศีล มีการละเว้นทุจริต ไม่ทำให้กาย วาจา ของตนเอง ทำให้คนอื่นเดือดร้อน แต่ก็ยังติดข้องอยู่ในสิ่งต่างๆ เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า ถ้าไม่เห็นโทษว่า มีความติดข้องมาก โดยที่ทาน และศีล ก็ไม่สามารถที่จะทำให้ความติดข้องนั้นหมดไปได้ ก็จะมีการเพียรพยายามที่จะค่อยๆ ละ ค่อยๆ คลาย จากการติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในธรรมอื่นๆ ทั้งหลาย เช่น ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ตามกำลังที่จะเป็นไปได้ ซึ่งก็จะเป็นไปได้ทีละเล็กทีละน้อย
ไม่ใช่ว่าใครสามารถที่จะหมดความติดข้อง ในทุกสิ่งทุกอย่างได้โดยรวดเร็ว ถึงแม้ว่าจะออกจากเรือนเป็นบรรพชิต ซึ่งเป็นเนกขัมมะอย่างสูง คือ การสละอาคารบ้านเรือน แต่ถ้าปัญญาไม่ได้อบรมพอ และบารมีทั้งหลายไม่ได้อบรมพอ ก็ไม่สามารถที่จะละคลายความติดข้องได้ ซึ่งความติดข้องก็มีมานานแสนนาน เพราะฉะนั้นกว่าจะละได้ ก็ต้องใช้เวลาที่นานมาก ในการที่จะละความติดข้องได้ เพราะเหตุว่าผู้ที่จะละความติดข้องในทุกสิ่งทุกอย่าง ในภพ ในชาติ ในการเกิด ต้องเป็นผู้ที่เห็นโทษของความติดข้อง ในรูปที่กำลังปรากฏทางตา ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ซึ่งเป็นอย่างนี้ตลอดมาทุกชาติ ติดข้องอยู่ตลอด ถ้าไม่มีปัญญาหรือบารมีที่ได้อบรมจริงๆ ก็เป็นไปไม่ได้เลย ที่จะละความติดข้องได้
เพราะฉะนั้นถ้าตราบใดที่ยังไม่มีความรู้สึกว่า ความติดข้องในภพ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในทุกสิ่งทุกอย่างนั้น เหมือนกับคนที่อยู่ในที่คุมขัง ซึ่งไม่มีทางที่จะออกไป จากความติดข้องในสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้เลย ก็จะไม่มีการพากเพียรที่จะอบรมเจริญบารมี ที่จะออกจากสังสารวัฏฏ์ได้ เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องละเอียด เป็นเรื่องใหญ่ ที่พุทธศาสนิกชนต้องฟัง และก็ใคร่ครวญแล้วก็พิจารณา ด้วยความละเอียดจริงๆ
บารมีที่ ๔ คือ ปัญญาบารมี ปัญญา เป็นสภาพธรรมที่เห็นถูก เข้าใจถูก รู้ถูก ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ว่าสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ปัญญาจะมีได้อย่างไร ถ้าไม่มีการเพียรที่จะพยายามฟังพระธรรม จากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพียรอย่างอื่นไม่สามารถที่จะเกิดปัญญา รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้ นี่คือความเพียรของผู้ที่เป็นสาวก คือ ผู้ฟัง แต่ถ้าเป็นความเพียรของผู้ที่จะอบรมถึงขั้นความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องมีความเพียรมากกว่านี้ มากทีเดียว
ซึ่งท่านสุเมธดาบส ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ ก็ได้สอนตนเองอย่างนี้ว่า ท่านไม่พึงเว้นคนชั้นต่ำ ชั้นกลาง และชั้นสูงไรๆ เข้าไปหาบัณฑิตทุกท่าน แล้วถามปัญหา เช่นเดียวกับอาหารบิณฑบาต ไม่เว้นตระกูลทั้งหลายเลย ทั้งตระกูลชั้นต่ำ ตระกูลชั้นกลาง และตระกูลชั้นสูง นี่แสดงให้เห็นความเพียรของบุคคล ที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า แม้ปัญญาก็ไม่ใช่ว่า จะไม่มีโดยการฟัง ไม่ว่าจะฟังใครทั้งนั้น ก็จะต้องเก็บทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เป็นความเห็นถูก เป็นความเข้าใจถูก จากการฟัง จึงจะเป็นผู้ที่เป็นพหูสูต คือ ผู้ที่ฟังมาก ไตร่ตรองมาก
เมื่อท่านสุเมธดาบสได้ฟังคำพยากรณ์ที่จะได้เป็นพระพุทธเจ้า จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ทีปังกร แล้ว ท่านก็ได้เฝ้าแล้วก็ ได้ฟังพระธรรมจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอีก ๒๓ พระองค์ ซึ่งถ้ารวมทั้งพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงพระนามว่า ทีปังกร แล้วก็เป็น ๒๔ พระองค์ ก็เป็นเวลาที่ยาวนานมาก เป็นจิรกาลภาวนา
บารมีที่ ๕ คือ วิริยบารมี ความเพียรไม่ท้อถอยในสิ่งที่แม้จะยากลำบากสักเท่าไรก็ตาม ซึ่งทุกคนที่เพียรในเรื่องอื่น มีความสามารถในเรื่องอื่นมาแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า ไม่มีอะไรที่จะยากกว่าความเพียร ที่จะละความชั่ว ประพฤติดี และชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอกุศล
เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าความสำเร็จทุกอย่าง ทั้งในทางโลก และทางธรรม ถ้าไม่มีความเพียรแล้ว ก็ไม่มีทางที่จะสำเร็จได้เลย แต่ความเพียรในทางโลก ซึ่งเต็มไปด้วยความต้องการ กับความเพียรในกุศล ซึ่งจะขัดเกลากิเลส ความเพียรในกุศลซึ่งขัดเกลากิเลส ก็ย่อมจะต้องมีความเพียรมากกว่า เพราะเหตุว่าปกติแล้วก็เป็นผู้ที่เพียรในอกุศล เป็นผู้ที่เพียรในอกุศล คือ เพียรด้วยความติดข้อง ต้องการในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ซึ่งทุกคนก็พิสูจน์ได้ว่า เพียรอย่างนี้มาตลอด คือเพียรที่จะได้รูป ด้วยความต้องการในรูปนั้น เพียรที่จะได้ลาภ ได้ยศ ได้สรรเสริญ ได้สุข
เพราะฉะนั้นกว่าจะมีกำลังในความเพียร ที่จะละไม่ใช่เพียรที่จะได้ แต่เพียรที่จะละความติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในทุกอย่าง ในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ สุข ก็จะเห็นได้ว่า ต้องเป็นเวลาที่ยาวนานมาก กว่าจะเปลี่ยนจากความเพียรในทางอกุศล เป็นความเพียรที่เป็นกุศล ขอกล่าวถึงความเพียรอย่างยิ่งยวด ของพระโพธิสัตว์ในพระชาติที่เป็นพระมหาชนก พระมหาชนกได้ทูลลาพระมารดา แล้วลงเรือเพื่อไปค้าขายสินค้าที่เมืองไกล คือ ในสุวรรณภูมิ ในระหว่างทางเกิดพายุใหญ่ คลื่นซัดจนเรือจวนจะแตก เมื่อพระมหาชนกทรงทราบ ว่าเรือจะจม ก็เสวยอาหารจนอิ่ม แล้วทรงนุ่งผ้าที่ทรงชุบน้ำมันจนชุ่มอย่างแน่นหนา เมื่อเรือจม ผู้ที่อยู่ในเรือก็จมน้ำเป็นอาหารของสัตว์น้ำไป แต่พระมหาชนกทรงมีกำลังจากอาหารที่เสวย และผ้าทรง ที่ชุบน้ำมันจนชุ่ม ก็ทำให้ลอยตัวอยู่ในน้ำได้ดี ป้องกันภัยจากสัตว์น้ำทั้งหลายได้ พระองค์ทรงมีความเพียร ไม่ย่อท้อ ทรงว่ายไปในทะเลนานถึง ๗ วัน นางมณีเมขลาซึ่งเป็นเทพธิดาเห็นเช่นนั้น ก็ลองพระทัย โดยถามว่า ใครหนอว่ายน้ำอยู่ได้ถึง ๗ วัน ทั้งๆ ที่มองไม่เห็นฝั่ง ก็จะทนว่ายไปทำไม พระมหาชนกตรัสตอบว่า ความเพียรย่อมมีประโยชน์ แม้จะมองไม่เห็นฝั่ง เราก็จะว่ายไป จนกว่าจะถึงฝั่งเข้าสักวันหนึ่ง นางมณีเมขลากล่าวว่า มหาสมุทรนี้กว้างใหญ่นัก ท่านจะพยายามว่ายสักเท่าไร ก็คงไม่ถึงฝั่ง ท่านคงจะตายเสียก่อนเป็นแน่ พระมหาชนกตรัสตอบว่า คนที่ทำความเพียรนั้น แม้จะต้องตายไป ในขณะที่กำลังทำความเพียรพยายามอยู่ ก็จะไม่มีผู้ใดมาตำหนิติเตียนได้ เพราะได้ทำหน้าที่เต็มกำลังแล้ว นางมณีเมขลาถามต่อว่า การทำความพยายาม โดยมองไม่เห็นทางบรรลุเป้าหมายนั้น มีแต่ความยากลำบาก อาจจะถึงตายได้ จะต้องเพียรพยายามไปทำไมกัน
พระมหาชนกตรัสว่า แม้จะรู้ว่าสิ่งที่กำลังกระทำนั้น ไม่อาจสำเร็จก็ตาม ถ้าไม่เพียรพยายาม แต่กลับหมดความเพียรเสีย ย่อมได้รับผลร้ายของความเกียจคร้านอย่างแน่นอน ย่อมไม่มีวันบรรลุถึงจุดหมายที่ต้องการ บุคคลควรมีความเพียรพยายาม แม้การนั้นอาจไม่สำเร็จก็ตาม เพราะเรามีความพยายาม ไม่ละความตั้งใจ เราจึงยังมีชีวิตอยู่ได้ ในทะเลนี้ เมื่อคนอื่นตายกันไปหมดแล้ว เราจะพยายามจนสุดกำลัง เพื่อไปให้ถึงฝั่ง ให้จงได้ นางมณีเมขลาได้ฟังดังนั้นก็สรรเสริญความเพียรพยายาม ของพระมหาชนก และอุ้มพระมหาชนกไปจนถึงฝั่ง เมืองมิถิลา
นี่เป็นพระชาติหนึ่ง ซึ่งจะได้เห็นความเพียรพยายามอย่างไม่ย่อท้อ ซึ่งยาก เพราะเหตุว่าเพียงการเพียรข้ามมหาสมุทร ถ้ายังทำไม่ได้ การเพียรที่จะข้ามโอฆะ คือ ห้วงน้ำของกิเลส จะมีได้อย่างไร เพราะฉะนั้นกว่าจะอบรมคุณธรรมทางฝ่ายที่เป็นบารมี ที่จะให้ถึงฝั่ง ไม่ใช่เรื่องที่เล็กน้อยเลย เพราะทุกคนก็ทราบว่า ทุกคนกำลังมีกิเลส และจะให้ละกิเลสที่กำลังมี กำลังเกิดขึ้น แม้เพียงในสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ก็ยากแสนยากที่จะเป็นไปได้ เช่น ขณะที่กำลังสนุกสนานรื่นเริง ด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดก็ตาม บอกว่าหยุดเสีย อย่าต้องการ เลิกเสีย ไม่ว่าจะเป็นหนัง ละคร โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ หรืออะไรก็ตามแต่ ใครทำได้ ในขณะนั้น ในขณะที่โลภะกำลังเกิดขึ้นติดข้องในสิ่งนั้น
เพราะฉะนั้นชีวิตแต่ละวันก็เป็นอย่างนี้ คือว่ามีความติดข้องในทุกสิ่งทุกอย่างทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วก็จะให้ละความติดข้อง ในสภาพที่กำลังติดข้องนั้น ถ้าไม่มีปัญญาที่รู้ความจริงของสภาพธรรม ไม่สามารถที่จะละอกุศลได้ และการละอกุศลได้ก็ต้องเป็นไปตามลำดับ ไม่ใช่ตามความต้องการว่า จะละโลภะก่อน แต่ว่าต้องละตามลำดับขั้นของอกุศล คือ ละความเห็นผิด ที่เห็นว่าสภาพธรรมเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล
บารมีที่ ๖ คือ ขันติบารมี ไม่พอเลย แม้ว่าจะมีบารมีถึง ๕ ประการแล้ว ก็ยังไม่พอที่จะทำให้สามารถที่จะดับกิเลสได้ ต้องอาศัยบารมีอื่นประกอบอีก คือบารมีที่ ๖ ขันติบารมี ความอดทนต่อความทุกข์ ความสุข ความยากลำบาก อดทนในการยกย่อง ในการดูหมิ่นของคนทั้งปวงได้ เพื่อละความติดข้องในตัวตน เพราะเหตุว่าเมื่อยังมีเรา ก็จะต้องมีความติดข้องในคำสรรเสริญ ในการยกย่อง หรือว่ามีความขุ่นเคืองใจ เมื่อผู้อื่นดูหมิ่น เพราะฉะนั้นความอดทน ต้องอดทนทุกอย่างในชีวิต ทั้งในสุข ทั้งในทุกข์ ทั้งในความยากลำบากต่างๆ อุปมาเหมือนกับแผ่นดิน ซึ่งทนต่อสิ่งของที่เขาทิ้งลงมา ทั้งของที่สะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง
เพราะฉะนั้นชีวิตของทุกท่านในระหว่างที่กำลัง ฟังพระธรรม ก็จะต้องมีความอดทนที่จะเพียรต่อไป ในสังสารวัฏฏ์ ไม่ว่าในชาติไหนจะได้รับสุขทุกข์อย่างไร หรือว่าจะมีความทุกข์ยากต่างๆ อย่างไร สำหรับชีวิตในชาตินี้ก็อาจจะเห็นได้ว่า ถ้าขณะที่กำลังเพลินไป ขณะนั้นไม่ทำกุศล เพราะเหตุว่ากำลังติดข้อง คิดว่าจะทำ แต่ถ้าอกุศลจิตเกิด ไม่ทำเลย ไปเที่ยวหรือว่าทำอย่างอื่น ซึ่งไม่ใช่การกุศล
บารมีที่ ๗ สัจจบารมี เป็นผู้ที่ตรง และจริง ไม่ทำหรือพูดที่ผิดจากความจริง เวลาที่ทำความดีกับใคร ก็ไม่ได้หวังสิ่งใดตอบแทน เพราะว่าเป็นเรื่องความจริงของการที่ทำดีจริงๆ ไม่ใช่ทำเพื่อสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ใช่หลอกลวงหรือเสแสร้ง เพราะว่าถ้าเป็นการกระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์กับคนอื่น แต่ว่าทำไปด้วยความต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ใช่ด้วยความจริงใจ ในขณะนั้นก็เหมือนการเสแสร้ง หรือเป็นการหลอกลวง เพราะเหตุว่าเป็นการทำเพื่อหวังประโยชน์ของตนเอง ไม่ใช่เพื่อหวังประโยชน์แก่คนอื่น
ซึ่งเรื่องของสัจจะ ความเป็นผู้ตรง มีข้ออุปมาว่า เหมือนยาชนิดใดก็แก้โรคชนิดนั้น ไม่ว่าจะเป็นขิง ดีปลี พริก ก็รักษาตรงกับโรคนั้นๆ ไม่ออกนอกทางไปทางอื่น คือแล้วแต่ว่าเป็นยาประเภทใด ก็รักษาตรงตามลักษณะของโรคประเภทนั้นๆ เพราะฉะนั้นถ้าผู้ใดที่หวังที่จะให้กุศลเป็นบารมี การทำกุศลก็ต้องเป็นการตรง เพื่อกุศลจริงๆ ไม่ใช่เพื่อเหตุอื่น
บารมีที่ ๘ คือ อธิษฐานบารมี เป็นผู้ที่มั่นคงในการเจริญกุศล เพื่อขัดเกลากิเลส เพื่อรู้แจ้งอริยสัจธรรม ซึ่งบางคนอาจจะมีความคิดที่จะเจริญปัญญา หรือว่ามีความตั้งใจ ว่าชาตินี้หรือชีวิตนี้ จะบำเพ็ญตนเป็นประโยชน์อย่างไร แต่ถ้ามีอกุศล เกิดขึ้นเมื่อไร ความมั่นคงของกุศลนั้น ก็จะคลอนแคลนได้ แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีความมั่นคงจริงๆ ในชีวิตที่ตั้งไว้ ว่าจะทำกุศลประเภทใด ก็เป็นผู้ที่ไม่คลอนแคลน ในการที่จะให้ชีวิต ดำเนินไปตามความต้องการที่จะขัดเกลากิเลส ซึ่งข้อนี้อุปมาว่า แม้ลมพัดมากระทบทุกทิศ ก็ไม่คลอนแคลน สำหรับผู้ที่มีความตั้งใจที่มั่นคง เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาตนเองจริงๆ ในเรื่องของการขัดเกลากิเลส ในเรื่องของการที่จะถึงฝั่ง คือการดับกิเลสได้
บารมีที่ ๙ คือ เมตตาบารมี คำนี้ใช้กันบ่อยๆ แต่ว่าจิตที่เมตตานั้น เกิดบ่อยมากน้อยแค่ไหน เพราะเหตุว่าทุกคนใช้คำต่างๆ ได้ แต่ว่าต้องพิจารณาสภาพจิตจริงๆ ว่าเมื่อเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ควร ที่จะมีเมตตา คือ มีความเป็นเพื่อน มีความหวังดีที่จะเกื้อกูลบุคคลอื่น ชีวิตประจำวันเป็นอย่างนี้บ้างหรือเปล่า หรือว่าเพียงแต่เป็นสิ่งซึ่งใช้คำนี้ ให้ทุกคนมีเมตตาต่อกัน ให้ทุกคนมี แต่ว่าในขณะที่ตนเองกำลังประสบกับบุคคลหนึ่งบุคคลใด ก็อาจจะลืมพิจารณาว่า ขณะนั้นมีเมตตาหรือเปล่า
สิ่งหนึ่งซึ่งทุกคนจะพิจารณาก็คือว่า ถ้าจะมีเมตตากับคนที่เป็นคนดี มีประโยชน์เกื้อกูลก็ไม่ยาก แต่ว่าการที่จะมีเมตตากับคนที่ไม่มีประโยชน์เกื้อกูล คือ คนที่ไม่ดีนั้น รู้สึกว่าจะทำได้ยาก แต่เมตตาไม่ควรจะจำกัด เพราะเหตุว่าผู้ที่อบรมเจริญเมตตา ก็จะต้องเมตตาทั่วไปหมด ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นคนดี หรือว่าเป็นคนชั่ว ไม่ใช่ว่า ถ้าเป็นคนชั่วแล้วก็ไม่เมตตา เมตตาแต่เฉพาะคนดี ถ้าอย่างนั้นก็จะไม่เป็นบารมี เพราะเหตุว่าไม่สามารถที่จะชำระความขุ่นเคืองใจของตนเองได้ เพราะเหตุว่าในขณะที่ไม่เมตตาคนอื่น ขณะนั้นก็ยังคงมีความขุ่นเคืองในบุคคลนั้น อุปมาเหมือนกับน้ำ ที่ย่อมเอิบอาบทำความเย็น แก่ที่ๆ น้ำผ่านไป
เพราะฉะนั้นบุคคลใดก็ตามที่มีความเมตตา แก่คนทั้งปวง ไม่ว่าจะพบเห็นบุคคลใด ทั้งคนดี และคนชั่ว ขณะนั้นจึงจะเป็นเหมือนกับน้ำที่เอิบอาบ ทำความเย็นแแก่ทุกคน ที่ผ่านไปในชีวิต ซึ่งขณะนั้นก็จะทำให้จิตคลายจากอกุศล คือ โทสะ เพราะว่าถ้าขณะใดที่เมตตาไม่เกิด ขณะนั้นก็อาจจะขุ่นเคืองในบุคคลอื่นได้
บารมีที่ ๑๐ คือ อุเบกขาบารมี เป็นสิ่งที่เพิ่มความยากขึ้น เพราะเหตุว่าอุเบกขาบารมี หมายความถึง ความเป็นกลางทั้งในสุข และในทุกข์ คือไม่หวั่นไหว เห็นว่าสุข และทุกข์ก็เหมือนกัน คือเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป ไม่มีใครเป็นเจ้าของความสุข และความทุกข์ได้เลย เพราะเหตุว่าทุกอย่างเป็นธรรม เพราะฉะนั้นสำหรับผู้ที่มีอุเบกขา ก็เสมือนกับผู้ที่ถือตาชั่งซึ่งมีสุข และทุกข์ และตาชั่งนั้นก็ตรง คือ เสมอกัน ไม่ว่าจะเป็นสุขหรือเป็นทุกข์
นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งจะเห็นได้ว่า แม้ว่าทุกคนจะรู้จักบารมีทั้ง ๑๐ ว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ว่าชีวิตจริงๆ ไม่ใช่สามารถที่จะมีบารมีได้ทุกโอกาส เพราะเหตุว่ายังมีอกุศลมาก ที่จะต้องอาศัยบารมีหนึ่ง ซึ่งขาดไม่ได้เลย คือ วิริยบารมี ถ้าใครรู้ว่าสิ่งใดดี แต่ไม่มีความพากเพียรที่จะทำ อย่างไรๆ ก็สำเร็จไม่ได้ แต่ถ้ารู้ว่าเป็นสิ่งที่ดี และไม่ท้อถอย ยังเพียรต่อไปอีก ในสังสารวัฏฏ์ที่อีกยาวนาน กว่าทุกคนจะหมดกิเลสได้ ก็จะต้องรู้ว่าบารมีหนึ่งที่สำคัญ ที่เกื้อกูลบารมีทั้งหลาย ก็คือ วิริยบารมี
ซึ่งตามความเป็นจริง เมื่อได้ศึกษาพระธรรมแล้ว ก็จะได้ทราบว่าวิริยะ ในชีวิตเกิดขึ้นเกือบทุกขณะ ความเพียรเกิดขึ้นกับจิตเกือบทุกประเภท คือ หลังจากที่เห็น มีความเพียรเกิดขึ้นแล้ว หลังจากที่ได้ยิน มีความเพียรเกิดขึ้น ในขณะที่เห็นแล้วคิด ขณะที่คิด มีความเพียรเกิดร่วมด้วย คือ คิดดีหรือคิดไม่ดี หลังจากที่ได้ยิน แล้วก็คิด ในขณะที่คิด หลังจากที่ได้ยินแล้ว ก็มีความเพียรเกิดร่วมด้วย ในขณะที่คิดดีหรือไม่ดี
เพราะฉะนั้นในชีวิตวันหนึ่งๆ นอกจากเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ก็มีความเพียรเกิดกับความคิดตลอดมา แต่ว่าความเพียรในชีวิตประจำวัน เป็นความเพียรที่เป็นไปกับความเป็นอยู่ ไม่ว่าจะในเรื่องของทางโลก ในการอาชีพต่างๆ แล้วก็เพียรตั้งแต่เกิดจนตาย ก็เป็นไปในเรื่องของชีวิตในความเป็นอยู่ ซึ่งไม่ใช่แต่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว หลายๆ ชาติ ตลอดกี่แสนชาติ แสนโกฎกัปมาแล้ว ความเพียรที่เกิดหลังจากที่เห็นแล้ว ได้ยินแล้ว ได้กลิ่นแล้ว ลิ้มรสแล้ว รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสแล้ว ก็เพียรไปเพียงในเรื่องของความเป็นอยู่ของชีวิตในวันหนึ่งๆ
เพราะฉะนั้นเมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า กว่าจะค่อยๆ เปลี่ยน หรือว่าเพิ่มวิริยะ ความเพียร จากความเพียรในอกุศล เป็นความเพียรในกุศล จากความเพียรที่เป็นมิจฉาชีพ หรือว่ามิจฉาวาจา มิจฉากัมมันตะ จากอกุศลกรรมทั้งหลาย เป็นความเพียรที่ค่อยๆ เป็นไปในกุศลธรรมทั้งหลาย จนกว่าจะเป็นความเพียรในโพธิปักขิยธรรม นี่จะเห็นได้ว่าธรรมทุกอย่าง จะต้องค่อยๆ เจริญขึ้น ถ้าเป็นทางฝ่ายอกุศลที่สะสมมาแล้ว ก็เป็นไปตามกำลังของอกุศลนั้นๆ ซึ่งไม่ใช่การสะสมฝ่ายกุศล เพราะฉะนั้นธรรมฝ่ายอกุศล ก็ย่อมมีกำลังมาก ซึ่งต้องอาศัยความเพียรอย่างมาก