ชุดพิเศษ ตอนที่ ๒
ในทางฝ่ายกุศล จึงจะค่อยๆ เพียร ตามความเป็นจริงในชีวิตว่า หลังจากที่ได้ฟังพระธรรมแล้ว ไม่กล่าวถึงในชาติก่อนๆ เฉพาะในชาตินี้ มีความเพียรในทางกุศลเพิ่มขึ้นมากเท่าไร ซึ่งแต่ละคนก็จะรู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า ถ้าขาดความเพียรเสียอย่างเดียว ไม่มีทางที่จะละอกุศลได้เลย แล้วก็จะได้เห็นกำลังของความเพียรว่า ค่อยๆ เพิ่มขึ้นจากกุศล ที่เป็นไปในชีวิตประจำวัน จนกระทั่งถึง การอบรมเจริญปัญญาที่เป็นธรรมที่เป็นฝักฝ่ายในการรู้แจ้งอริยสัจธรรม ต้องใช้กาลเวลานานมาก คือ ต้องเริ่มจากการฟังพระธรรม เพียรฟัง เพียรพิจารณาให้เข้าใจให้ถูก เพียรอบรมเจริญปัญญา เพราะว่าในขณะที่ปัญญาเกิด ขณะนั้นละอกุศล ทีละเล็กทีละน้อย แต่ยังไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้ ถ้าความเพียรนั้น ยังไม่เป็นไปในธรรม ที่เป็นโพธิปักขิยธรรม คือ เป็นธรรมที่เป็นส่วนหรือเป็นฝักฝ่าย ในการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ๔
สำหรับโพธิปักขิยธรรม ๓๗ เป็นสิ่งที่จะว่าไกลก็ไกล จะว่าใกล้ก็ใกล้ ใกล้ คือ สามารถที่จะอบรมเจริญได้ เมื่อมีความรู้ความเข้าใจสภาพธรรม ที่ไกลก็คือ กว่าจะถึงความสมบูรณ์พร้อมครบทั้ง ๓๗ ประการ ที่เป็นองค์ของการตรัสรู้ ก็ต้องเป็นเวลาที่นานมาก จะขาดโพธิปักขิยธรรมประการหนึ่งประการใดใน ๓๗ ประการไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็ขอกล่าวถึงโพธิปักขิยธรรม ซึ่งเป็นธรรมที่เป็นองค์ประกอบ เป็นส่วนของการตรัสรู้ ซึ่งมี ๗ ประเภทคือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรค ๘ ไม่น้อยเลย เพราะเหตุว่าจะต้องค่อยๆ อบรมไปจริงๆ
สำหรับโพธิปักขิยธรรมประเภทที่ ๑ คือ สติปัฏฐาน ๔ สติ เป็นธรรมฝ่ายดี ซึ่งขณะที่เป็นสติปัฏฐาน เป็นสติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ พร้อมด้วยอาตาปีสัมปชาโน เพราะเหตุว่า สติปัฏฐาน เป็นการระลึกลักษณะของกาย เวทนา จิต ธรรม ตามข้อความในพระไตรปิฎก แต่ว่าถ้าจะกล่าวถึงทั่วๆ ไปก็คือว่า ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมใดๆ ที่กำลังปรากฏ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จะไม่พ้นจากกาย หรือเวทนาหรือจิต หรือธรรม แต่ที่ทรงจำแนกเป็นกาย เวทนา จิต ธรรม ก็เพราะเหตุว่าเป็นสิ่งที่เคยยึดถือกายว่าเป็นเรา เวทนาว่าเป็นเรา จิตว่าเป็นเรา ธรรมว่าเป็นเรา หรือของเรา
เพราะฉะนั้นก็จะต้องมีการระลึกรู้ จนกว่าปัญญาสามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม ที่กำลังระลึกนั้นว่า เมื่อไม่ใช่เรา สภาพธรรมนั้นเป็นอะไร ซึ่งการที่จะมีความรู้ที่สมบูรณ์ขึ้นได้ ก็จะต้องมีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่าอาตาปี สัมปชาโน สติมา สำหรับโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ซึ่งมี ๗ ประเภทนั้น ไม่ขาดความเพียรหรือวิริยะเลย สักประเภทเดียว นี่แสดงให้เห็นว่าเรื่องของความเพียรในชีวิต เป็นสิ่งซึ่งทุกคนควรจะได้พิจารณาจริงๆ ว่าความเพียรที่มีในชีวิตประจำวันนั้นส่วนใหญ่ เป็นความเพียรในอกุศล หรือความเพียรในกุศล หรือเริ่มเป็นความเพียรที่เป็นฝักฝ่าย ในการอบรมเจริญปัญญา ที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม สัมมัปปธาน ๔ ได้แก่ความเพียรโดยตรง ซึ่งมี ๔ อย่างคือ ความเพียรป้องกันบาปอกุศลที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น ความเพียรละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ความเพียรให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ความเพียรให้กุศลธรรมที่เกิดแล้ว เจริญถึงความบริบูรณ์
นี่ก็เป็นเรื่องของความเพียร ซึ่งขณะใดที่เกิดพร้อมกับปัญญา ที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ความเพียรนั้นก็เป็นสัมมัปปธาน คือ เป็นความเพียรชอบ ปะ-ทา-นะ คือ ความเพียร สัมมา คือ ชอบ เพราะฉะนั้นสัมมัปธาน ๔ คือ ความเพียรชอบ เพราะเหตุว่าเพียรป้องกันบาปอกุศลที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิด เพียรละอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เพียรให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น เพียรให้กุศลธรรมที่เกิดแล้วเจริญถึงความบริบูรณ์ ต้องเป็นเรื่องที่ค่อยๆ อบรมไป จนกว่าจะถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรมเมื่อใด โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ก็ครบสมบูรณ์เมื่อนั้น
เพราะฉะนั้นเวลาที่มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นก็มีสัมมัปธาน ๔ ร่วมด้วย อิทธิบาท ๔ คือ ฉันทสมาธิปธานสังขาร ๑ วิริยสมาธิปธานสังขาร ๑ จิตตสมาธิปธานสังขาร ๑ วิมังสาสมาธิปธานสังขาร ๑ ฉันทสมาธิปธานสังขาร คือ มีฉันทะอันยิ่ง คือ เป็นอธิบดี สัมปยุตต์ด้วยสมาธิ สังขารทั้งหลายอันเป็นประธาน ชื่อว่าปธานสังขาร คำว่าปธานสังขารนี้ เป็นชื่อของความเพียร ส่วน อิทธิบาท ๔ ก็ได้แก่ฉันทะ วิริยะ จิตตะ ปัญญา เพราะเหตุว่าเป็นอิทธิบาท คือ เป็นธรรมซึ่งเป็นบาทที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม อินทรีย์ ๕ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ก็มีวิริยะรวมอยู่ด้วย พละ ๕ คือ สัทธาพละ วิริยพละ สติพละ สมาธิพละ ปัญญาพละ ก็มีวิริยะรวมอยู่ด้วย โพชฌงค์ ๗ ย่อมเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ คือ ๑.สติสัมโพชฌงค์ ๒.ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ๓.วิริยสัมโพชฌงค์ ๔.ปีติสัมโพชฌงค์ ๕.ปัทสัทธิสัมโพชฌงค์ ๖.สมาธิสัมโพชฌงค์ ๗.อุเบกขาสัมโพชฌงค์ มรรคมีองค์ ๘ คือ ๑.สัมมาทิฏฐิ ๒.สัมมาสังกัปปะ ๓.สัมมาวาจา ๔.สัมมากัมมันตะ ๕.สัมมาอาชีวะ ๖.สัมมาวายามะ ๗.สัมมาสติ ๘.สัมมาสมาธิ สัมมาวายามะ ก็ได้แก่ ความเพียร จะเห็นได้ว่าไม่ขาดความเพียร ในโพธิปักขิยธรรมทั้ง ๗ ประเภท
เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่แต่ละท่าน แม้ว่าจะได้ยินเพียงชื่อของโพธิปักขิยธรรม ก็จะต้องทราบว่า เป็นการอบรมปัญญา พร้อมด้วยธรรมอื่นๆ ที่เป็นฝ่ายกุศล ที่จะทำให้ค่อยๆ รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะฉะนั้นวิริยะที่กำลังเกิดในขณะนี้ เป็นทางฝ่ายกุศล หรือเป็นทางฝ่ายอกุศล ถ้าเป็นทางฝ่ายอกุศลไม่เป็นบารมีเลย และทุกท่านก็พอจะสังเกตเห็นวิริยะ ซึ่งเป็นไปในโลภะเป็นส่วนใหญ่ เวลาที่มีความต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใดทางตา ปรารถนาที่จะเห็น ขณะนั้นมีวิริยะ ที่จะสร้างสิ่งที่สวยงาม ที่ปรารถนาที่จะดูให้เกิดขึ้น
นี่ก็เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ซึ่งเกิดกับกุศลจิตก็ได้ อกุศลจิตก็ได้ แต่ว่าเมื่อเกิดกับอกุศลจิตเป็นประจำ มานานแสนนานแล้ว ก็ควรจะเห็นประโยชน์ของวิริยบารมีว่า แทนที่จะเพียรในทางอกุศล ก็ควรที่จะเพียร เพื่อที่จะให้วิริยะนั้นเป็นวิริยบารมี เพราะฉะนั้นก็ควรที่จะได้พิจารณาลักษณะของวิริยะ ซึ่งกำลังเกิดอยู่ในขณะนี้ด้วย ข้อความในอัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ มีข้อความว่า วิริยะ มีอุตสาหะเป็นลักษณะ มีการอุปถัมภ์สหชาตธรรมทั้งหลาย เป็นรส คือ เป็นกิจ มีความไม่ท้อแท้ใจ เป็นปัจจุปัฏฐาน มีความสลดใจเป็นปทัฏฐาน ถ้าจะดูวิริยะที่พอจะเห็นได้ คือ ในขณะที่ขยันหมั่นเพียร ซึ่งตรงกันข้ามกับขณะที่เกียจคร้าน แต่ว่าโดยอภิธรรม คือ ธรรมที่ละเอียด ที่ทรงแสดงไว้ ถึงเจตสิกที่เกิดกับจิต แล้วจะเห็นได้ว่า แม้ในขณะที่กำลังเกียจคร้าน ก็มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ว่าเป็นวิริยะในทางเกียจคร้าน ไม่มีใครอยากจะขยันเท่าไร ขี้เกียจสบายกว่า เพราะฉะนั้นแม้ในขณะที่กำลังเกียจคร้าน ก็มีวิริยะที่จะเกียจคร้านต่อไปอีก นี่ก็เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นว่า ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ ที่ควรจะต้องพิจารณาแม้แต่ลักษณะ รส คือ กิจ ปัจจุปัฏฐาน คือ อาการที่ปรากฏ และปทัฏฐาน คือ เหตุใกล้ให้เกิด สำหรับลักษณะของวิริยเจตสิกอีกประการหนึ่ง ซึ่งหลายท่านอาจจะไม่ได้พิจารณา แต่ข้อความในอรรถสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์มีว่า ความเป็นผู้กล้าหาญ คือ การกระทำของคนกล้าหาญ และความไม่ย่อหย่อน นั้นเป็นลักษณะของวิริยเจตสิก มี ๒ คน คนหนึ่งกล้า คนหนึ่งขลาด แม้ว่าโดยอภิธรรม คนขลาดก็ต้องมีวิริยะที่จะขลาด แต่ว่า คนกล้าจะแสดงให้เห็นลักษณะของวิริยะชัดเจน ก็ต้องเป็นผู้ที่มีความเพียรที่จะทำสิ่งนั้นๆ ให้สำเร็จ ไม่ว่าจะมีอุปสรรคหรือว่าจะมีอันตรายอย่างไรก็ตาม ความกล้าหาญนั้นเป็นลักษณะของวิริยเจตสิก ซึ่งถ้าเป็นไปในทางฝ่ายกุศล วิริยะนั้นก็จะถึงฐานะของความเป็นอินทรียะ คือ เป็นวิริยินทรีย์ เมื่อเกิดร่วมกับศรัทธา สติ สมาธิ ปัญญา และเมื่อเป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็เป็นสัมมาวายามะ เป็นความเพียรชอบ ที่จะระลึกศึกษา รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามปกติในขณะนี้ตามความเป็นจริง และเมื่อมีปัญญาเพิ่มขึ้น วิริยะนั้นก็เป็นวิริยพละ มีกำลัง ไม่หวั่นไหวที่จะพิจารณา รู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมทุกเหตุการณ์ ไม่มีการที่คิดว่า ขณะนี้จะรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมไม่ได้
ข้อความในอรรถสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ อธิบายวิริยินทรีย์ เพื่อที่จะให้ทุกท่านได้ตรวจสอบลักษณะของวิริยเจตสิก จากข้อความในอรรถสาลินี ซึ่งมีว่า ความเป็นไปแห่งความกล้าชื่อวิริยะ หรือการกระทำของคนกล้าเป็นวิริยะ วันหนึ่งๆ มีความกล้าอะไรบ้างหรือเปล่า กล้าที่จะพูดในสิ่งที่ถูกหรือเปล่า หรือว่ากล้าที่จะเป็นผู้ที่สุจริต โดยที่ว่าไม่กลัวต่อความเดือดร้อน ความลำบาก ความขัดสน ความยากจน หรือว่าบางท่านกล้าที่จะแสดงเหตุ และผลของธรรม โดยที่ไม่เกรงว่าจะไม่เป็นที่รักของคนพาล หรือว่าอาจจะมีคนที่เข้าใจเจตนานั้นผิดก็ได้
แต่ว่าธรรมก็คือธรรม ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นผู้ที่กล้าจะเห็นการกระทำที่กล้าได้ทุกอย่าง ทั้งในทางโลก และในทางธรรม อีกอย่างหนึ่งชื่อว่าวิริยะ เพราะให้ดำเนินไป คือให้เป็นไปด้วยวิธีโดยนัย โดยอุบาย ซึ่งหมายความถึง ความฉลาด วิริยะนั้นแล ชื่อว่าเป็น อินทรีย์ เพราะอรรถว่าเป็น อธิบดี โดยครอบงำความเกียจคร้านได้ อีกอย่างหนึ่งชื่อว่าเป็นอินทรีย์ เพราะครอบครองความเป็นใหญ่ ในลักษณะของการประคอง วิริยะกำลังเกิดแก่ทุกท่าน แต่ว่าพระธรรมไม่ทรงแสดงไว้ ไม่มีทางที่จะรู้จักลักษณะของวิริยะ โดยนัยประการต่างๆ ได้ แม้แต่ที่ชื่อว่าเป็นอินทรีย์ เพราะครอบครองความเป็นใหญ่ ในลักษณะการประคอง ขณะใดที่กุศลจิตเกิด หรือท่านกำลังทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยความอดทน ความขยัน ให้ทราบว่ามีวิริยเจตสิก ซึ่งกำลังประคองอยู่ในขณะนั้น กิจการงานนั้นจึงกระทำไป โดยที่ไม่ท้อถอยได้ วิริยะนั่นแล เป็นอินทรีย์จึงชื่อว่า วิริยินทรีย์ ก็วิริยะนั้น มีการอุปถัมภ์ค้ำจุนเป็นลักษณะ และมีการประคองเป็นลักษณะ ผู้อบรมเจริญปัญญา ผู้ได้รับความอุปถัมภ์ ด้วยการอุปถัมภ์ คือ วิริยะ ย่อมไม่เสื่อม คือไม่เสื่อมรอบจากกุศลธรรมทั้งหลาย เช่นเดียวกับเรือนเก่า ย่อมทรงอยู่ได้ เพราะมีเครื่องค้ำจุน คือ เสาที่เอาเข้ามาใส่ ฉะนั้น
ขณะนี้ถ้าใครเบื่อ ใครขี้เกียจ ใครง่วง ใครท้อถอย ให้ทราบได้ว่าเหมือนเรือนเก่า ซึ่งกำลังผุพัง เพราะว่าเราไม่สามารถที่จะตั้งอยู่ หรือว่าดำรงอยู่ หรือดำเนินไปในกุศลทั้งหลายได้ เพราะฉะนั้นวิริยเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะอุปถัมภ์ค้ำจุน และมีการประคอง เช่นเดียวกับเรือนเก่า ซึ่งต้องเอาเสาเข้ามาใส่ จึงจะประคองให้เรือนนั้นตั้งอยู่ได้ ในเบื้องแรก พึ่งทราบความว่าวิริยะนั้น มีการค้ำจุนเป็นลักษณะ ท่านทรงแสดงอุปมาหลายอย่าง เพื่อที่จะให้เข้าใจถึงลักษณะสภาพของวิริยเจตสิก ซึ่งกำลังเกิดขึ้นเป็นไปในขณะนี้
เหมือนอย่างว่า เมื่อกองทัพน้อยกับกองทัพใหญ่ทำสงครามกัน กองทัพน้อยถอยร่น ลำดับนั้นเขาก็จะกราบทูลให้พระราชาทรงทราบ พระองค์ก็จะพึงทรงพล และพาหนะไปให้ กองทัพของพระองค์ที่มีพลพาหนะนั้น สนับสนุนพึงยังกองทัพของข้าศึก ให้กลับพ่ายแพ้ได้ ฉันใด วิริยะก็ฉันนั้น ย่อมไม่ทำให้สัมปยุตตธรรมทั้งหลายท้อถอย ท้อแท้ ย่อมยก คือ ประคองสัมปยุตตธรรมเหล่านั้นไว้ เพราะฉะนั้นท่านกล่าวว่า วิริยะมีการประคองไว้เป็นลักษณะ วิริยะประคองให้สนใจในสิ่งที่กำลังฟัง ให้พิจารณา ให้เกิดความเข้าใจขึ้น ตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่ง ในเรื่องของวิริยะ ซึ่งเป็นบริวารของปัญญา
ข้อความในขุททกนิกาย มหานิทเทส อรรถกถาอัฏฐกวรรค กามสุตตนิทเทสที่ ๑ มีข้อความว่า ท่านพระสารีบุตรแสดงการอบรมเจริญบารมี เพื่อดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ถึงความเป็นพระอรหันต์ว่า เหมือนอย่างว่า มีนคร ๒ นคร คือ โจรนคร ๑ เขมนคร ๑ ครั้งนั้นนายทหารใหญ่คนหนึ่ง เกิดความคิดว่า โจรนครนี้ยังตั้งอยู่ตราบใด เขมนครย่อมไม่พ้นภัยอันตรายนั้น เราจะทำโจรนคร ให้ไม่เป็นนคร เขาสวมเกราะ ถือดาบเข้าไปยังโจรนคร เอาดาบฟันเสาระเนียด ซึ่งเขายกขึ้นไว้ที่ประตูนคร ทำลายที่ต่อ บานประตู และหน้าต่าง ถอนลิ่มสลัก ทำลายกำแพง ถมคู เอาธงที่ยกขึ้น เพื่อความสง่างามของนครลง เอาไฟเผานคร แล้วเข้าเขมนคร ขึ้นบนปราสาท แวดล้อมไปด้วยหมู่ญาติ บริโภคโภชนาหารที่มีรสอร่อย ฉันใด ข้ออุปไมยก็ฉันนั้น สักกายทิฏฐิดุจโจรนคร นิพพานดุจเขมนคร เครื่องอบรมเจริญภาวนาดุจนายทหารใหญ่ ที่คิดว่าเครื่องผูกคือสักกายทิฏฐิยังผูกพันอยู่ตราบใด ก็ยังไม่พ้นภัยตราบนั้น ข้อความตอนท้ายที่ว่า สักกายทิฏฐิดุจโจรนคร นิพพานดุจเขมนคร ผู้อบรมเจริญภาวนาดุจนายทหารใหญ่ ที่คิดว่า เครื่องผูก คือ สักกายทิฏฐิยังผูกพันอยู่ตราบใด ก็ยังไม่พ้นภัยตราบนั้น อกุศลธรรมที่จะต้องดับก่อน ก็คือ สักกายทิฏฐิ ที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน
เพราะฉะนั้นต้องเป็นปัญญาที่เห็นจริงๆ ว่าโจรนครกับเขมนครต่างกัน เขมนครนั้นก็สงบ แต่ว่าโจรนครนั้นก็เดือดร้อนวุ่นวาย กระสับกระส่าย เพราะฉะนั้นถ้ายังมีความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคล จะพ้นจากความกระสับกระส่าย ความเดือดร้อน ความกังวล ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ นอกจากนั้นผู้ที่จะอบรมเจริญปัญญา ที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบัน รู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้น อย่างมากอีก ๗ ชาติ ก็จะบรรลุถึงคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ ซึ่งไม่มีการเกิดอีกเลย เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นผู้ที่เห็นว่า กิเลส และความทุกข์ทั้งหลายอยู่ที่อัตภาพ คือที่ นามธรรม และรูปธรรมนี่เอง
เพราะฉะนั้นการที่จะหมดกิเลส หมดทุกข์โดยสิ้นเชิง โดยเด็ดขาด เป็นสมุทเฉจก็คือ ไม่มีนามธรรม และรูปธรรมอีกต่อไป ซึ่งจะเป็นไปได้ด้วยบารมีหนึ่ง ซึ่งขาดไม่ได้ คือ วิริยบารมี ซึ่งจะเป็นประโยชน์มาก ที่จะได้รู้ความจริงว่า วิริยะในวันหนึ่งๆ เป็นกุศลในขณะใด เป็นอกุศลในขณะใด ผู้ที่จะอบรมเจริญปัญญาที่จะมีวิริยะเป็นบารมี มีความเพียรที่จะขัดเกลา ละคลายอกุศล และเจริญกุศลขึ้น ถ้าไม่พิจารณาธรรมที่เกิดกับตน ย่อมไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของวิริยะที่เป็นกุศล และวิริยะที่เป็นอกุศลได้
ตอนท้ายของอรรถกถา อนุมานสูตร มีข้อความว่า โบราณาจารย์ คือ อาจารย์ทั้งหลายในอดีตกล่าวว่า ภิกษุพึงพิจารณาตนเองวันละ ๓ ครั้ง คือ ตอนเช้า ควรพิจารณาว่ากิเลสมีประมาณเท่านี้ของเรา มีอยู่หรือไม่ ถ้าเห็นว่ามี พึงพยายามเพื่อละกิเลสเหล่านั้น ถ้าเห็นว่าไม่มี พึงเป็นผู้มีใจเป็นของตนว่า เราบวชดีแล้ว ตอนกลางวัน ก็พิจารณาอีก ตอนเย็นก็พิจารณาอีก เมื่อไม่อาจพิจารณาถึงวันละ ๓ ครั้ง ก็พึงพิจารณาเพียง ๒ ครั้ง แต่เมื่อไม่อาจถึง ๒ ครั้งก็พึงพิจารณาเพียง ๑ ครั้ง แต่การไม่พิจารณาเลย ไม่สมควร
ท่านเหล่านั้นในอดีต ท่านเป็นบัณฑิต แล้วท่านก็มีหนทางที่จะเตือนตัวของท่านเอง เปรียบเทียบได้กับบุคคลในสมัยนี้ว่า มีความคิดที่จะพิจารณาตนเหมือนบัณฑิตทั้งหลาย ในครั้งอดีตหรือไม่ ซึ่งจะเห็นได้ว่า แม้แต่การที่จะพิจารณาอกุศล และกุศลของตนเอง ก็ต้องอาศัยวิริยะ ตอนเช้า ๑ ครั้ง ตอนกลางวันอีก ๑ ครั้ง ตอนเย็นอีก ๑ ครั้ง ถ้า ๓ ครั้งไม่ได้ก็ ๒ ครั้ง ถ้า ๒ ครั้งไม่ได้ เพียงครั้งหนึ่งก็ยังดี มีกิเลสอะไรของท่าน ซึ่งท่านโบราณาจารย์ในครั้งนั้น ได้เตือนให้พิจารณา
ข้อความในมัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ อนุมานสูตร ข้อ ๒๒๕ มีว่า ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ได้แสดงธรรมที่เป็นคนว่าง่ายกับภิกษุทั้งหลาย ได้กล่าวให้ภิกษุทั้งหลาย พิจารณาตน ภิกษุพึงพิจารณาตน ด้วยตนเอง จะเห็นได้ว่าถ้าจะให้คนอื่นมาพิจารณาให้ ถามเขาว่าเราเป็นอย่างไร คนนั้นย่อมไม่สามารถที่จะพิจารณาได้ละเอียดเท่าตัวของเราเอง เป็นผู้พิจารณาอกุศลของเราเอง เพราะว่าคนอื่นไม่มีทางที่จะรู้ดีกว่า บางท่านไม่อยากจะพิจารณาอกุศลของตนเองเลย แต่ว่าถ้าจะให้เป็นประโยชน์จริงๆ ที่จะให้วิริยะเจริญขึ้นในทางฝ่ายกุศล ก็ต้องเห็นอกุศลของตนเองด้วย