ชุดพิเศษ ตอนที่ ๓
ท่านกล่าวว่า ภิกษุพึงพิจารณาตน ด้วยตนเองอย่างนี้ว่า เราเป็นคนมีความปรารถนาลามก ลุอำนาจแห่งความปรารถนาลามกหรือไม่ หากพิจารณารู้อย่างนี้ ว่าเราเป็นคนมีความปรารถนาลามก ลุอำนาจแห่งความปรารถนาลามกจริง ก็ควรพยายามเพื่อที่จะละอกุศล อันชั่วช้านั้นเสีย หากพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่าเราไม่ใช่คนมีความปรารถนาลามก ไม่ลุอำนาจแห่งความปรารถนาลามก ภิกษุนั้นพึงอยู่ด้วยปิติ และปราโมทย์นั้นทีเดียว หมั่นศึกษาทั้งกลางวัน กลางคืน ในกุศลธรรมทั้งหลาย
ข้อความตอนต้น ภิกษุพึงพิจารณาตนด้วยตนเอง จะเห็นได้ว่า ถ้าจะให้คนอื่นมาพิจารณาให้ ถามเขาว่าเราเป็นอย่างไร คนนั้นยังไม่สามารถที่จะพิจารณาได้ละเอียด เท่าตัวของเราเอง เป็นผู้พิจารณาอกุศลของเราเอง เพราะว่าคนอื่นไม่มีทางที่จะรู้ดีกว่า
เพราะฉะนั้น วันนี้ พิจารณาว่าเราเป็นคนมีความปรารถนาลามก ลุอำนาจแห่งความปรารถนาลามกหรือไม่ แล้วก็ต้องเป็นผู้ตรงด้วยที่จะรู้ว่า หากพิจารณารู้อย่างนี้ว่า เราเป็นคนมีความปรารถนาลามก ลุอำนาจแห่งความปรารถนาลามกจริง ก็ควรพยายามเพื่อที่จะละอกุศลธรรมอันชั่วช้านั้นเสีย บางท่านไม่อยากจะพิจารณาอกุศลของตนเองเลย แต่ว่าถ้าจะให้เป็นประโยชน์จริงๆ ที่จะให้วิริยะเจริญขึ้นในทางฝ่ายกุศล ก็ต้องเห็นอกุศลของตนเองด้วย มีข้อสงสัยในเรื่องนี้ไหม
และนอกจากจะพิจารณาว่า เป็นผู้ที่มีความปรารถนาลามกหรือไม่ ข้อต่อไป ท่านพระมหาโมคคัลลานะกล่าวว่า อีกประการหนึ่ง ภิกษุพึงพิจารณาตน ด้วยตนเองอย่างนี้ว่า เราเป็นคนยกตนข่มผู้อื่นหรือไม่ หากพิจารณารู้อยู่อย่างนี้ว่า เราเป็นคนยกตนข่มผู้อื่นจริง ก็ควรพยายามเพื่อที่จะละอกุศลธรรมอันชั่วช้านั้นเสีย หากพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า เราไม่เป็นคนยกตน ไม่ข่มผู้อื่น ภิกษุนั้นพึงอยู่ด้วยปิติ และปราโมทย์นั้นทีเดียว หมั่นศึกษาทั้งกลางวัน กลางคืน ในกุศลธรรมทั้งหลาย
ฟังดูเรื่องของการยกตนข่มผู้อื่น ถ้าไม่พิจารณาโดยละเอียดจริงๆ อาจจะคิดว่าท่านเอง เปล่า ไม่ได้ทำ แต่ลองคิดว่า ขณะใดที่คิดถึงคนอื่น ในความไม่ดีของคนอื่น ด้วยอกุศลจิต ขณะนั้น ยกตน ท่านเป็นคนดีพอที่จะเห็นความไม่ดีของคนอื่น หรือเวลาที่ท่านกล่าวถึงความไม่ดีของคนอื่น เป็นจิตที่เป็นกุศลเป็นไปในเรื่องของธรรม เป็นการที่จะกล่าวถึงธรรม โดยที่ว่าไม่เน้นเรื่องของบุคคล แต่เพื่อที่จะให้เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ธรรมจริงๆ เป็นอย่างนี้ บุคคลเป็นแต่เพียงคำบัญญัติชื่อเรียกธรรมนั้นเท่านั้น ถ้าขณะนั้นจิตเป็นกุศล แล้วก็มุ่งเพื่อที่จะให้เห็นธรรม แม้แต่การที่จะกล่าวถึงอกุศล ขณะนั้น ไม่ใช่การยกตนข่มคนอื่น
แต่ถ้าในขณะนั้นขาดสติสัมปชัญญะ แล้วก็คิดถึงความไม่ดีของคนอื่นด้วยอกุศลจิต ขณะนั้นแม้ไม่กล่าวด้วยคำพูดหรือกล่าว ขณะนั้นจะเป็นการยกตน แล้วก็ข่มคนอื่นหรือไม่ นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความละเอียดของการที่จะพิจารณาว่า ขณะใดที่เป็นอกุศลไม่พ้น จากความปรารถนาลามกบ้าง หรือว่ายกตนข่มผู้อื่นบ้าง
อีกประการหนึ่ง ภิกษุพึงพิจารณาตนด้วยตนเองอย่างนี้ว่า เราเป็นคนมักโกรธ อันความโกรธครอบงำแล้วหรือไม่ หากพิจารณาอยู่อย่างนี้ว่า เราเป็นคนมักโกรธอันความโกรธครอบงำแล้วจริง ก็ควรพยายามเพื่อที่จะละอกุศลธรรมอันชั่วช้านั้นเสีย หากพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เราไม่เป็นคนมักโกรธ อันความโกรธไม่ครอบงำ ภิกษุนั้นพึงอยู่ด้วยปิติ และปราโมทย์นั้นทีเดียว หมั่นศึกษาทั้งกลางวันกลางคืนในกุศลธรรมทั้งหลาย
พิจารณาได้ไหม เรื่องของกาย เรื่องของวาจา เป็นปกติในชีวิตประจำวัน คำพูด เป็นผู้ที่อันความโกรธครอบงำหรือเปล่า ถ้ากายหรือวาจาเป็นไปเพราะความโกรธครอบงำในวันนี้แล้ว ตอนเช้า ตอนกลางวัน ตอนเย็น พิจารณาตนหรือเปล่า ว่าเป็นผู้ที่ มักโกรธ อันความโกรธครอบงำแล้วจริง ถ้าจริงก็พยายามเพื่อที่จะละอกุศลธรรมอันชั่วช้านั้นเสีย ยังมีการรู้สึกตัว ยังเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี
แต่ถ้าวันนี้ไม่พิจารณาเลย ในสิ่งที่ได้ทำไปแล้วว่าไม่ดี ต่อไปก็จะต้องทำอีกแน่นอน เพราะฉะนั้นก็จะไม่มีการขัดเกลาตนเองเลย แต่ผู้ที่จะละคลายกิเลสจริงๆ ต้องการที่จะดับจริงๆ ต้องการที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมจริงๆ ต้องเป็นผู้ที่มีวิริยะ มีความเพียร ที่จะเห็นอกุศลของตนเอง พอหรือไม่พิจารณาแค่นี้ หรือว่าพิจารณาไม่ครบก็อาจจะเป็นได้ แต่ว่าท่านที่เป็นผู้ละเอียด ท่านก็พิจารณาตัวของท่านละเอียดจริงๆ ในเรื่องของโลภ ในเรื่องของโกรธ ต่อไปก็ยังคงเป็นเรื่องของความโกรธ
ข้อความต่อไปมีว่า อีกประการหนึ่ง ภิกษุพึงพิจารณาตนด้วยตนเองอย่างนี้ว่า เราเป็นคนมักโกรธ ผูกโกรธ เพราะความโกรธเป็นเหตุหรือไม่ หากพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า เราเป็นคนมักโกรธ ผูกโกรธ เพราะความโกรธเป็นเหตุจริง ก็ควรพยายามเพื่อที่จะละอกุศลธรรมอันชั่วช้านั้นเสีย หากพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า เราไม่เป็นคนมักโกรธ ไม่ผูกโกรธ เพราะความโกรธเป็นเหตุ ภิกษุนั้นพึงอยู่ด้วยปิติ และปราโมทย์นั้นทีเดียว หมั่นศึกษาทั้งกลางวัน กลางคืน ในกุศลธรรมทั้งหลาย
ขณะนี้นึกออกไหมว่า โกรธใครอยู่บ้างหรือเปล่า ขณะที่เรื่องผ่านไปแล้ว แต่ยังไม่ลืม ยังไม่พอใจ ยังขุ่นเคืองใจ ยังโกรธอยู่ นั่นคือผูกโกรธ เพราะฉะนั้นก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า เราเป็นคนมักโกรธ ผูกโกรธ จริงหรือเปล่า ขณะนั้น ขณะที่ไม่ลืมความโกรธ ไม่อภัย ไม่เมตตา กุศลทั้งหลายก็เจริญเป็นบารมีไม่ได้
ข้อต่อไปก็ยังเป็นเรื่องของความโกรธอีก เพราะว่าวันหนึ่งๆ หลายท่านก็คงจะโกรธบ่อยๆ มีเรื่องที่จะให้โกรธอยู่ทุกวัน เพราะว่าใครเลยจะทำสิ่งที่ทุกท่านพอใจ โดยที่ว่าไม่มีความโกรธ ไม่มีความขุ่นเคืองใจได้เลยตลอดทั้งวัน
ข้อความต่อไป ท่านพระมหาโมคัลลานะกล่าวว่า อีกประการหนึ่ง ภิกษุพึงพิจารณาตนด้วยตนเองอย่างนี้ว่า เราเป็นคนมักโกรธ มักระแวงจัดเพราะความโกรธเป็นเหตุหรือไม่ เห็นไหม ถ้าไม่มีข้อความนี้ จะไม่ส่องไปถึงใจของแต่ละท่านในชีวิตประจำวันเลยว่า ท่านเป็นบุคคลที่มีลักษณะอย่างนี้หรือเปล่า เพราะเหตุว่าบางคนก็โกรธ แล้วก็ถูกความโกรธครอบงำ ทำให้กาย วาจา เป็นไปด้วยความโกรธนั้น บางคนก็โกรธ แล้วก็ผูกโกรธยังไม่ลืม แต่บางคนมักโกรธ มักระแวงจัด เพราะความโกรธเป็นเหตุ เพราะฉะนั้นก็ต้องพิจารณาว่า เราเป็นคนมักโกรธ มักระแวงจัด เพราะความโกรธเป็นเหตุหรือไม่ หากพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า เราเป็นคนมักโกรธ มักระแวงจัด เพราะความโกรธเป็นเหตุจริง ก็ควรพยายามเพื่อที่จะละอกุศลธรรมอันชั่วช้านั้นเสีย หากพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่าเราไม่เป็นคนมักโกรธ ไม่มักระแวงจัด เพราะความโกรธเป็นเหตุ ภิกษุนั้นพึงอยู่ด้วยปิติ และปราโมทย์นั้นทีเดียว หมั่นศึกษาทั้งกลางวัน กลางคืน ในกุศลธรรมทั้งหลาย
ท่านผู้ฟังเคยคิดว่า ท่านเป็นคนขี้ระแวงหรือเปล่า ถ้าเป็นมิตรกัน ไม่ต้องระแวงเลย มีความหวังดีต่อกัน มีความเชื่อมั่น ไม่ต้องระแวงเลย แต่ว่าเวลาที่จะระแวงหมายความว่า ท่านก็มีความไม่พอใจ มีความขุ่นใจบางอย่าง บางประการที่ทำให้ท่านเป็นผู้ที่ระแวง และการระแวงก็จะต้องเกิดจากความไม่พอใจ ซึ่งเป็นความโกรธ ถ้าเป็นคนที่ท่านพอใจ ไว้ใจ เป็นมิตร จะไม่มีความระแวงเลย แต่ว่าถ้าเป็นคนที่ท่านไม่พอใจ เพียงเห็นนิดเดียว ความระแวงหรือคิดระแวง ทำให้เป็นผู้ที่ระแวงจัดด้วยจิตวิปลาส เพราะเหตุว่าเพียงเห็น ก็ระแวงไปสารพัด เคยระแวงคนในบ้านไหม คนที่ท่านไม่พอใจ จะเป็นคนที่อยู่ด้วยกัน หรือว่าคนที่มาช่วยรับใช้ในบ้านก็ตาม ถ้าเป็นผู้ที่มีความประพฤติดี เรียบร้อย ไม่มีอะไรที่ท่านจะระแวง แต่ว่าเวลาที่ท่านมีความระแวงเกิดขึ้น หมายความว่ามีความไม่พอใจบางสิ่งบางประการในบุคคลนั้นว่า จะทำสิ่งที่จะทำให้ท่านไม่พอใจยิ่งกว่านั้นอีก
เพราะฉะนั้นขณะใดที่เกิดระแวง ระลึกถึงจิตวิปลาส ซึ่งคิดไปมากมายในเรื่องต่างๆ โดยที่ว่า ขณะนั้นก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏ และก็ดับไปเท่านั้นเอง แต่เมื่อมีโมหะ มีความไม่รู้ มีการยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ ก็ทำให้จิตวิปลาส เกิดคิดระแวงไปเป็นเรื่องราวต่างๆ มากมาย ซึ่งความจริง เรื่องนั้นก็ไม่เกิด หรือว่าความระแวงนั้น ก็เป็นแต่เพียงความคิดของท่านเท่านั้นเอง
ชีวิตประจำวันเป็นอย่างนี้หรือเปล่า พิจารณาว่าท่านเป็นผู้ที่มีจิตวิปลาส คือเป็นผู้ที่มักระแวงจัดหรือเปล่า ถ้าเป็นก็ควรที่จะละอกุศลธรรมอันชั่วช้านั้นเสีย เพราะเหตุว่าไม่มีประโยชน์เลย อีกประการหนึ่งภิกษุพึงพิจารณาตนด้วยตนเองอย่างนี้ว่า เราเป็นคนลบหลู่ ตีเสมอหรือไม่ อีกประการหนึ่งภิกษุพึงพิจารณาตนด้วยตนเองอย่างนี้ว่า เราเป็นคนริษยา เป็นคนตระหนี่หรือไม่ อีกประการหนึ่งภิกษุพึงพิจารณาตนด้วยตนเองอย่างนี้ว่า เราเป็นคนโอ้อวด เจ้ามายาหรือไม่ หากพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า เราเป็นคนโอ้อวด เจ้ามายาจริง ก็ควรพยายามเพื่อที่จะละอกุศลธรรมอันชั่วช้านั้นเสีย หากพิจารณารู้อยู่ว่าเราไม่เป็นคนโอ้อวด ไม่เป็นคนเจ้ามารยา ภิกษุนั้นพึงอยู่ด้วยปิติ และปราโมทย์นั้นทีเดียว หมั่นศึกษาทั้งกลางวัน กลางคืน ในกุศลธรรมทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุพึงพิจารณาตนด้วยตนเองอย่างนี้ว่า เราเป็นคนกระด้าง ดูหมิ่นผู้อื่นหรือไม่ อีกประการหนึ่งภิกษุพึงพิจารณาตนด้วยตนเองอย่างนี้ว่า เราเป็นคนถือเอาแต่ความเห็นของตน ถือรั้น ถอนได้ยากหรือไม่ หากพิจารณารู้อยู่อย่างนี้ว่า เราเป็นคนถือเอาแต่ความเห็นของตน ถือรั้น ถอนได้ยากจริง ก็ควรพยายามเพื่อที่จะละอกุศลธรรมอันชั่วช้านั้นเสีย หากพิจารณาอยู่รู้ว่า เราไม่เป็นคนถือเอาแต่ความเห็นของตน ไม่ถือรั้น ไม่ถอนได้ยาก ก็พึงอยู่ด้วยปิติ และปราโมทย์นั้นทีเดียว หมั่นศึกษาทั้งกลางวัน กลางคืนในกุศลธรรมทั้งหลาย
ไม่ทราบมีใครจะพิจารณาบ้างหรือเปล่า หรือว่าฟังไปแต่ไม่ขยันที่จะพิจารณาเพราะว่าเป็นเรื่องของวิริยะที่จะพิจารณาตนเอง แล้วก็ต้องเป็นผู้ที่ตรง คือไม่เข้าข้างตนเองด้วย สำหรับผู้ใดที่พิจารณาอย่างนี้ แล้วก็มีความเพียรที่จะละอกุศลเหล่านี้ เป็นผู้ที่ว่าง่าย แต่ถ้าผู้ใดมีธรรมฝ่ายตรงกันข้าม คือว่าเป็นจริงอย่างนี้ แต่ว่าไม่เพียรเพื่อที่จะละ ก็มีธรรมซึ่งทำให้เป็นผู้ที่ว่ายาก
เพราะฉะนั้นเรื่องที่จะไปคิดดับกิเลสหมด ไม่มีกิเลสเลย ก็จะต้องทราบว่า จะยากกว่านี้ไหม เพียงแต่การที่จะพิจารณาตนเองจริงๆ แม้ว่าสติปัฎฐานไม่เกิด แต่กุศลขั้นอื่นก็เกิดได้ แล้วก็ถ้าทำไม่ได้วันละ ๓ ครั้ง ๒ ครั้งได้ไหม ๑ ครั้งได้ไหม หรือว่าหลายๆ วันครั้งหนึ่ง นี่ก็เป็นเรื่องของวิริยเจตสิกทั้งหมด