รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 10


    ตอนที่ ๑๐

    ตั้งมั่นเพียงชั่วขณะเดียวที่รู้แจ้งลักษณะที่ไม่เที่ยง นั่นคือการตั้งจิตไว้มั่นโดยนัยของวิปัสสนา ไม่ใช่ให้จิตไปจดจ่อ ไปตั้งไว้เสมอในอารมณ์เดียว โดยลักษณะของสมาธิ แต่ว่าชั่วขณะที่รู้ความไม่เที่ยง ความเสื่อม ไปความสิ้นไป ในขณะนั้น มีเอกัคคตามีความตั้งมั่น ชื่อว่า เป็นผู้ที่มีจิตตั้งมั่น โดยนัยของวิปัสสนา

    เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานไม่ได้หมายความว่า ให้ไปมีตัวตนที่พากเพียรที่จะให้จิตตั้งมั่นอยู่เฉพาะอารมณ์นั้นอารมณ์นี้ ซึ่งเป็นการจำกัดอารมณ์ แต่การเจริญสติปัฏฐานนั้นเพื่อปัญญารู้ชัด ถ้าสมมติว่าขณะนี้ ท่านได้เจริญสติปัฏฐานมาแล้ว ๒๐ ปี ชั่วขณะที่หลงลืมสติก็ต้องมีเพราะเหตุว่าไม่ใช่พระอรหันต์ แต่ว่าพอมีสติระลึกรู้ลักษณะของนามรูป ปัญญาที่ได้เจริญอบรมมาในระหว่าง ๒๐ ปีนั้น ย่อมรู้ชัดมากกว่าวันแรกที่สติเพิ่งเริ่มระลึกรู้ลักษณะของนามหรือรูป แต่ไม่ใช่หมายความว่าไปพากเพียรด้วยตัวตนให้ติดต่อกันไม่ขาดสาย แต่หมายความว่า ปัญญาที่เพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ทุกขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามใดรูปใด ความรู้ชัดในนามนั้นรูปนั้นก็มากขึ้น เพิ่มขึ้น จนกระทั่งอินทรีย์แก่กล้า ก็แทงตลอดลักษณะที่ไม่เที่ยง นั่นคือ การตั้งจิตไว้มั่นโดยนัยของวิปัสสนา

    ส่วนพยัญชนะที่ว่า

    ภิกษุย่อมสำเหนียกว่า เราจักเปลื้องจิต หายใจออก จักเปลื้องจิต หายใจเข้า

    มีข้อความอธิบาย ๒ นัย เช่นเดียวกันคือ

    นัยที่ ๑ ความว่า

    ภิกษุปล่อย ชื่อว่า เปลื้องจิตจากนิวรณ์ทั้งหลายด้วยปฐมฌาน

    ภิกษุนั้นปล่อย ชื่อว่า เปลื้องจิตจากวิตก วิจารด้วยทุติยฌาน

    ปล่อย ชื่อว่า เปลื้องจิตจากปีติด้วยตติยฌาน

    ปล่อย ชื่อว่า เปลื้องจิตจากสุขด้วยจตุตถฌาน

    นั่นโดยนัยของสมถภาวนา

    ส่วนนัยของวิปัสสนานั้นมีว่า

    ก็หรือภิกษุเข้าฌานเหล่านั้น ออกแล้ว พิจารณาจิตอันสัมปยุตต์ด้วยฌาน โดยความสิ้นไป เสื่อมไป ในขณะแห่งวิปัสสนา

    ภิกษุนั้นปล่อย ชื่อว่า เปลื้องจิตจากนิจจสัญญา คือ ความสำคัญว่าเที่ยง ด้วยอนิจจานุปัสสนา

    ภิกษุนั้นปล่อย ชื่อว่า เปลื้องจิตจากสุขสัญญา คือ ความสำคัญว่าเป็นสุข ด้วยทุกขานุปัสสนา

    ภิกษุนั้นปล่อย ชื่อว่า เปลื้องจิตจากอัตตสัญญา คือ ความสำคัญผิดว่าเป็นตัวตน ด้วยอนัตตานุปัสสนา

    ต่อจากนั้นพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสว่า

    สมัยนั้น ภิกษุย่อมเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ข้อนั้นเพราะเหตุใด

    เพราะเราไม่กล่าวซึ่งการเจริญสมาธิอันสัมปยุตต์ด้วยอานาปานสติ สำหรับผู้มีสติหลง ไม่มีสัมปชัญญะ

    ถ้าหลง ไม่มีสัมปชัญญะ เวทนาเกิดก็ไม่รู้ หรือว่าธรรมชาติใดปรากฏก็ไม่รู้

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    เพราะฉะนั้นแหละ อานนท์ สมัยนั้น ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้

    ดูกร อานนท์ สมัยใดภิกษุย่อมสำเหนียกว่า เราจะพิจารณาเห็นความเป็นของไม่เที่ยง หายใจออก หายใจเข้า

    ภิกษุย่อมคลายกำหนัด หายใจออก หายใจเข้า

    ภิกษุจักพิจารณาความดับ หายใจออก หายใจเข้า

    ภิกษุจักพิจารณาความสลัดคืน หายใจออก หายใจเข้า

    สมัยนั้น ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ เธอเห็นการละอภิชฌาและโทมนัสนั้นด้วยปัญญา จึงวางเฉยเสียได้เป็นอย่างดี

    เพราะฉะนั้นแหละ อานนท์ สมัยนั้น ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้

    ดูกร อานนท์ เปรียบเหมือนมีกองดินใหญ่อยู่ที่หนทางใหญ่ ๔ แพร่ง ถ้าเกวียนหรือรถผ่านมาในทิศบูรพา ก็ย่อมกระทบกองดินนั้น ถ้าผ่านมาในทิศประจิม ทิศอุดร ทิศทักษิณ ก็ย่อมกระทบกองดินนั้นเหมือนกัน ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ ย่อมจะกำจัดอกุศลธรรมอันลามกนั้นเสียได้

    ไม่ใช่ให้จำกัด คือ รู้เฉพาะกายานุปัสสนา หรือเวทนานุปัสสนา หรือจิตตานุปัสสนาตามใจชอบ แต่เรื่องของการละ จะต้องรู้จริง รู้ชัด รู้แจ้ง รู้ทั่ว จึงจะละได้

    ถ้าใครยังไม่พิจารณาเวทนา อย่าคิดที่จะประจักษ์การเกิดดับของนามรูป ไม่ใช่ว่าจะรู้กายอย่างเดียวโดยไม่รู้อย่างอื่น ถ้าโดยลักษณะนั้นแล้ว ปัญญาไม่เจริญ ถ้าหลงลืมสติก็ไม่ได้พิจารณารู้เวทนาที่กำลังปรากฏ ถ้าหลงลืมสติก็ไม่ได้พิจารณารู้จิตที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่หลงลืมสติ มีสัมปชัญญะ รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ จึงชื่อว่า เป็นผู้มีสติ

    ในหมวดของอานาปานสติที่ว่า มีอานิสงส์มาก มีผลมาก ย่อมสำเหนียกรู้เวทนา คือ ปีติ สุข จิตสังขาร ย่อมสำเหนียกรู้จิต หายใจออก หายใจเข้า เวลาที่จิตบันเทิงตั้งมั่น หรือว่าเปลื้องจิต นั่นเป็นเรื่องของการพิจารณาจิต

    ดูกร อานนท์ สมัยใด ภิกษุย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง (โดยความเป็นของไม่เที่ยงของขันธ์ทั้ง ๕ ไม่จำกัดขันธ์หนึ่งขันธ์ใดเลย) โดยสภาพของธรรม (เป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฎฐาน) หายใจออก หายใจเข้า

    สมัยนั้น ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้

    ทั้งเวทนา ทั้งจิต ทั้งธรรม ปรากฏได้ในขณะที่หายใจออก หายใจเข้า มีลักษณะของนามรูปปรากฏ แล้วไม่หลงลืมสติ แล้วรู้ชัด ก็รู้ชัดในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม

    อานาปานสติสมาธินั้น จิตสงบ เป็นอุปจารสมาธิ รู้เฉพาะลมหายใจ แล้วก็มีนิมิตของลมหายใจเกิดขึ้น ทำให้ปีติตั้งมั่น รู้ว่าเป็นปีติ หรือว่ามีปีติในขณะนั้น แต่ไม่ได้รู้ความเกิดความดับของปีติ ไม่ได้รู้ลักษณะของปีติ ปัญญาของสมถะ ก็รู้วิธีที่ทำให้จิตสงบเป็นสมาธิ แต่ปัญญาของวิปัสสนา รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏแล้วละการยึดถือว่าเป็นตัวตน แล้วก็ไม่จำกัดบุคคลว่าเคยเจริญสมาธิมาก่อนหรือ ไม่เคยเจริญสมาธิมาก่อน

    เพราะฉะนั้น ทุกท่านขณะนี้ ถ้าลมหายใจไม่ปรากฏ สิ่งอื่นปรากฏ สติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ แล้วก็ไม่ต้องเป็นห่วงลมหายใจ วันดีคืนดีเคยสะสมอบรมมา สติจะระลึกรู้นามใดละเอียด สุขุมสักเท่าไร ก็ได้ แต่ไม่ใช่ด้วยความจงใจ ที่จะจดจ้อง เลือกเฟ้นที่จะรู้รูปนั้น เพราะเหตุว่า ลมหายใจเป็นสภาพที่ละเอียดมาก บางคนไม่กล้าที่จะเจริญ บางคนก็ใคร่ที่จะเจริญ เพื่อจะได้หายสงสัย แต่ว่า การเจริญวิปัสสนา การเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่เลือกอารมณ์ ถ้าเลือกอารมณ์ตราบใด ก็เป็นลักษณะของตัวตนตราบนั้น แต่ว่า สติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏเนืองๆ บ่อยๆ แต่ว่าสติสามารถที่จะรู้ลักษณะของรูปที่ละเอียดชนิดใด นามละเอียดชนิดใด นั่นก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลที่สะสมมา ไม่ใช่เป็นเรื่องจงใจให้เหมือนกันทุกคน

    ตราบใดที่มีสติ ก็คือว่า ลักษณะของอารมณ์ปรากฏ เวลานี้ ทางตา มีนาม มีรูป กำลังเห็น มีสีปรากฏ ทางหู มีได้ยิน มีเสียง ทางใจมีคิดนึก มีสุข มีทุกข์ ชอบ ไม่ชอบ ทางกายมีเย็นบ้าง ร้อนบ้าง อ่อนบ้าง แข็งบ้าง แต่ว่า ขณะใดที่มีสติ ขณะนั้นลักษณะหนึ่งลักษณะใดปรากฏ ปรากฏชัดเพราะสติระลึกรู้ลักษณะนั้น เย็นนิดหนึ่ง เห็นหน่อยหนึ่ง ได้ยินหน่อยหนึ่ง เสียงหน่อยหนึ่ง เป็นลักษณะของหลงลืมสติ ไม่ได้ระลึกในลักษณะหนึ่งลักษณะใด แต่ที่จะเป็นการระลึกในลักษณะหนึ่งลักษณะใดก็คือ สภาพที่ปรากฏในขณะนั้น ชัดเพราะสติระลึกที่ลักษณะนั้น กำลังเย็น รู้ชัดที่ตรงเย็น นั่นคือสติระลึกที่ลักษณะนั้นแล้ว ไม่ต้องมีตัวตนเอาสติไประลึกที่นั่น แต่หมายความว่า ลักษณะใดที่ปรากฏ เพราะสติระลึกที่ลักษณะนั้น กำลังเห็นด้วย เย็นด้วย แต่ลักษณะที่เย็นปราฏกเพราะสติระลึกที่นั่น แต่ว่าถ้าไม่ระลึกที่นั่น จะระลึกว่าที่กำลังเห็นนั้นก็เป็นสภาพรู้อันหนึ่ง ก็ระลึกได้หมดทั้ง ๖ ทาง แล้วแต่ว่าจะเป็นทางไหน ทีละอย่าง โดยที่ไม่จำกัด แล้วก็ไม่ต้องคิดว่า รวดเร็วเหลือเกิน สับสนมาก จะไปจับอันนั้นอันนี้ เพราะเหตุว่าถ้าจะไปจับอันนั้นอันนี้ ก็ไม่ใช่การเจริญสติ แต่การเจริญสติ เพียงระลึกลักษณะหนึ่งลักษณะใดได้ทั้งนั้น ไม่ผิดปกติเลย ปกติทุกอย่าง คนอื่นไม่รู้ ไม่ใช่ว่าจะไปเจริญสติให้คนอื่นรู้

    ถึงแม้ว่าคิด สติก็ระลึกรู้ได้ว่า คิด ก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้น เพื่อจะให้ชิน แล้วก็ละคลายการที่กระวนกระวาย อึดอัด ระอา คิดว่าเป็นตัวตน เพราะว่าความจริง ความคิด ไม่ใช่ตัวตน อาศัยเหตุปัจจัยก็คิดขึ้น

    ความสำคัญก็คือ ปัญญา กับ สติ ต้องละเอียดขึ้น ต้องมากขึ้น มากคือรู้ลักษณะของนามและรูปเพิ่มขึ้น ไม่ใช่ไปรู้อันเดียวมากๆ ไปจดจ้องอย่างนั้นไม่ใช่

    ขณะนี้สติเกิดบ้างไหม เกิดได้ และคงจะเกิดบ้าง อย่าไปคิดว่าจะต้องเป็นสติที่เกิดติดต่อกันตลอดเวลา เพราะเหตุว่าสติเป็นสังขารธรรม เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แล้วก็เกิดอีก แล้วก็ดับไปอีก แล้วแต่ว่าจะระลึกได้ในขณะใดก็เป็นสติที่เกิดขึ้นในขณะนั้น แล้วก็ดับ แล้วก็หลงลืมสติ จึงต้องเจริญอบรมให้ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปโดยไม่จำกัดสถานที่ โดยไม่จำกัดเวลาจึงจะเป็นการรู้ว่า สติเป็นอนัตตา ไม่อย่างนั้นแล้วก็จะเป็นอัตตาที่ไปส่งเสริม ไปทำ ไปสร้าง แล้วก็เข้าใจว่าสามารถที่จะบังคับให้สติเกิดได้ แต่โดยมาก ผู้เจริญสติปัฏฐานไม่พอใจที่สติเกิดขึ้นวันละนิดวันละหน่อย รู้สึกว่าน้อยมาก อยากจะให้มีสติมากๆ ติดต่อกันนานๆ อยากจะบังคับให้ได้เยอะๆ แต่ข้อสำคัญที่สุด ปัญญารู้อะไร ถ้าปัญญาไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามหรือรูปที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ไม่ใช่มรรคมีองค์ ๘ โดยมากอวิชชาความไม่รู้ในข้อปฏิบัติ กับ ความต้องการผลของการปฏิบัติ จะชักนำให้ไปทำขึ้น แต่ว่าไม่มีโอกาสที่ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏเกิดแล้วในขณะนี้เลย พอนึกว่าจะทำวิปัสสนา รู้ลักษณะของนามและรูปที่เกิดปรากฏในขณะนี้ไหม ไม่ ขณะที่คิดว่า “จะทำ” ไม่มีโอกาสที่ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏในขณะนี้เลย แล้วก็ถ้าทำจริงๆ ก็ยิ่งบังไว้ตลอดเวลา ไม่มีโอกาสที่ระลึกรู้นามและรูปที่เกิดปรากฏตามปกติในชีวิตประจำวันเลยสักขณะเดียว เพราะเหตุว่าต้องทำ แล้วก็เลิกทำ แล้วก็ต้องทำ แต่ตอนเลิกทำ เป็นปกติไหม เป็นของจริงไหม เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยไหม บังคับไม่ให้เกิดได้ไหม นามในขณะนี้ ใครบังคับว่าอย่าให้เกิด รูปในขณะนี้ ใครบังคับได้ว่าอย่าให้เกิด บังคับไม่ได้เลย เมื่อบังคับไม่ได้ สติก็ควรจะระลึกรู้สภาพความเป็นอนัตตา ของนามและรูป ที่เกิดปรากฏเพราะเหตุปัจจัย ในขณะนี้เอง

    ผู้ฟัง สงสัยคำว่า จดจ้อง อาจารย์กล่าวว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้น เราจะต้องเจริญไปตามธรรมชาติ ไม่ให้จดจ้องในนามหรือรูปอันใดอันหนึ่ง สมมติว่าเราฟังธรรม ถ้าสติเราไม่จดจ้องในเสียงที่พระท่านแสดง หรือตามที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดบรรยายก็ดี เราจะไม่รู้ทั่วถึงธรรมนั้น หมายความว่าเดี๋ยวเราก็เอาสติไปกำหนดรูปอื่นนามอื่น ไม่กำหนดเสียงพระที่ท่านบรรยายนี้ คำว่าจดจ้องในที่นี้มีความหมายแค่ไหน ท่านอาจารย์ช่วยอธิบายด้วย

    ท่านอาจารย์ เวลาที่กำลังฟัง ก็รู้เรื่องด้วยเรื่อยๆ ตั้งแต่ต้นจนกระทั่งบัดนี้ แต่สติที่เป็นสติปัฏฐานสามารถที่จะเกิดระลึกขึ้นได้บางขณะ อาจจะระลึกว่า ที่กำลังได้ยินนี้ก็เป็นสภาพรู้ชนิดหนึ่งทางหู หรือระลึกว่า ที่กำลังรู้เรื่องนี้ก็เป็นสภาพนามธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้นเอง แล้วก็ได้ยินต่อไป รู้เรื่องต่อไปตามปกติ ไม่ใช่ผิดปกติ และไม่ใช่บังคับไม่ให้สติปัฏฐานเกิด มิฉะนั้นแล้วจะฟังไม่รู้เรื่อง หรือไม่ใช่จดจ้องว่า ต้องให้มีสติทุกๆ คำพูด ทุกๆ ขณะที่ได้ยิน ทุกๆ ขณะที่รู้เรื่อง

    ไม่ใช่มีตัวตนที่ไปบังคับอย่างนั้น เพียงแต่ว่า เมื่อมีการฟังเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน มีการฟังเรื่องให้เกิดวิริยะความเพียร เพราะเหตุว่า ชีวิตนี้ก็ไม่มีใครทราบว่าจะยาว จะสั้น จะมากน้อยแค่ไหน ความตายจะเกิดขึ้นเมื่อไร ขณะไหน ได้ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น โอกาสที่มีค่าที่สุด ก็คือ สติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป บ่อยๆ เนืองๆ ทุกๆ ขณะ สะสมเจริญให้มากขึ้น นี่เป็น วิริยกถา

    เพราะฉะนั้น เวลาที่ได้ฟังการเจริญสติปัฏฐาน เรื่องของการควรเจริญความเพียรระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ก็เป็นปัจจัยให้สติระลึกได้ มากน้อยแล้วแต่โอกาส แต่ไม่ใช่มีตัวตนต้องการที่จะจดจ้อง ที่จะให้สติเกิดเรื่อยๆ ติดต่อกัน หรือว่าจะยับยั้งไม่ให้สติเกิด

    ที่บางท่านเข้าใจว่า ถ้าไม่ตั้งใจฟัง ก็ไม่รู้เรื่อง เวลานี้ ทุกท่านก็ฟังมาแล้ว ก็คงจะรู้เรื่อง แต่ว่า ถ้าสติไม่เกิด รู้เรื่องนั้นก็เป็นตัวตน ฟังรู้เรื่อง แต่ก็เป็นตัวตนที่กำลังรู้เรื่อง แต่ถ้าสติระลึกได้ ก็รู้ว่า ที่รู้เรื่องนี้ก็เป็นแต่เพียงสภาพนามธรรมชนิดหนึ่ง แล้วก็หมดแล้ว ไม่ใส่ใจ ไม่พะวง ไม่ห่วงใย ไม่กังวล สติก็ระลึกรู้นามและรูปใหม่ที่กำลังปรากฏเกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัย ต่อไปเรื่อยๆ ทุกๆ ขณะ ไม่พะวงถึงอดีตที่ผ่านไปแล้ว นามรู้เรื่องก็หมดไปแล้ว แล้วก็ขณะที่กำลังรู้เรื่องนี้ ถ้าระลึกได้บ่อยๆ ก็จะทราบว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้น ระลึกเนืองๆ บ่อยๆ ก็จะไม่มีอะไรไปขัดขวาง ไปทำความกังวล แม้ในขณะที่รู้เรื่อง แต่ตรงกันข้าม ถ้าคิดว่า ขณะที่รู้เรื่อง ไม่ใช่สติปัฏฐาน จะมีความกังวล ติดข้อง ไม่กล้าที่จะให้สติเกิดขึ้น และการยึดถือการรู้เรื่องว่าเป็นตัวตน ก็ยังคงมีตลอดไปเรื่อยๆ เพราะสติไม่เคยระลึกได้ แม้ชั่วครั้งชั่วคราว

    กว่าที่จะรู้ชัดว่า เป็นแต่เพียงนาม เป็นแต่เพียงรูปนั้น การระลึกได้ ก็จะต้องมีบ่อยขึ้น มากขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าต้องให้มีติดต่อกันตลอดเวลา ถ้าให้ติดต่อกันตลอดเวลา ก็เป็นการจงใจ ที่จะให้เฉพาะได้ยิน แล้วก็ไม่ให้รู้เรื่อง นั่นก็เป็นการไปบังคับวิถีจิต เป็นอัตตาที่บังคับไว้ แต่รู้เรื่องก็หมดไปแล้ว เวลานี้เห็นกำลังมี สติก็ระลึกถึงนามรูปที่กำลังปรากฏต่อไปได้

    ข้อสำคัญคือว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ทุกอย่างไม่เว้น ขณะที่รู้เรื่องก็รู้ว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ไม่ควรรู้

    ที่ว่าจดจ้อง หรือจงใจนั้น เป็นเพราะเข้าใจผิดคิดว่า เฉพาะนามนั้นเท่านั้นที่เป็นสติปัฏฐาน รูปนี้เท่านั้นที่เป็นสติปัฏฐาน ถ้ามีความเข้าใจผิดอย่างนี้จะหวั่นไหว จะมีตัวตนที่รีบหันกลับมาพิจารณาเฉพาะนามนั้นรูปนั้นที่คิดว่าเป็นสติปัฏฐานเท่านั้น เป็นการจำกัดปัญญา ไม่ใช่เป็นการละคลายเพราะว่ารู้มากขึ้น ข้อสำคัญที่สุด คือ การฟังธรรมแล้วสงเคราะห์ธรรม ทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ

    โดยการฟังทราบว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่มีอะไรเลยที่เป็นอัตตา นามที่รู้เรื่องก็เป็นของจริง ขณะใดที่รู้เรื่องก็เป็นแต่เพียงนามธรรม เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน โดยการปฏิบัติ ธรรมทั้งหลายก็ต้องเป็นอนัตตาเช่นกัน แต่สติระลึกรู้ลักษณะของธรรมนั้นๆ ด้วย ที่ยังไม่เคยระลึกก็จะต้องระลึกแล้วก็รู้มากขึ้น เพิ่มขึ้น ทั่วขึ้น ชัดขึ้น

    ขณะที่กำลังฟังรู้เรื่องก็ระลึกได้ว่า เป็นเพียงนามชนิดหนึ่งเท่านั้นที่รู้ สภาพรู้เรื่องก็เหมือนกับสภาพที่คิดนึก เป็นนามธรรม เกิดขึ้นทางมโนทวารหรือว่าทางใจ ไม่ใช่เห็นสี ไม่ใช่ได้ยินเสียง ไม่ใช่รู้กลิ่น แต่เป็นสภาพที่รู้เรื่องราวต่างๆ เป็นสภาพที่รู้ความหมายต่างๆ เวลาคิดนึกก็เป็นสภาพที่รู้ไปคิดไปในเรื่องต่างๆ ก็เหมือนกัน ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้น

    เวลาฝัน ตื่นขึ้น ขณะนั้นถ้ามีสติ เป็นแต่เพียงสภาพที่คิดเท่านั้น ขณะที่ความคิดของบางคนแม้ไม่ใช่ฝันก็ปรากฏเป็นรูปร่างได้ แล้วแต่คิดมากน้อยชัดเจนถึงรูปร่างลักษณะหรือเปล่า แต่สภาพที่คิด ฝันไปนั้นเป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง

    ขณะที่อ่านหนังสือ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 8
    19 ก.พ. 2565

    ซีดีแนะนำ