รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 014
ตอนที่ ๑๔
ท่านอาจารย์ ถ้าจะว่ารู้ชัดในอิริยาบถ ชัด คืออย่างไรที่ว่าชัด อิริยาบถมี คือ เดินบ้าง ยืนบ้าง นั่งบ้าง นอนบ้าง ที่รู้ชัดนั้น คือว่า รู้ชัดในรูปที่ปรากฏในอิริยาบถนั้นๆ
กำลังยืน มีรูปประชุมรวมกัน ที่ทรงอยู่ในลักษณะอาการยืน ก็รู้ชัดในรูปที่ปรากฏในอิริยาบถยืนนั้น
กำลังนั่ง มีรูปมากมายหลายรูปที่ประชุมรวมกันอยู่ เป็นอิริยาบถนั่ง การรู้ชัด ชัด คือ ลักษณะของรูปที่ปรากฏในอิริยาบถนั่ง
นี่เป็นการเตือนให้ระลึก มหาสติปัฏฐานไม่ให้หลงลืมสติ แม้ขณะที่กำลังนั่ง กำลังนอน กำลังยืน หรือกำลังเดิน และคำว่ารู้ชัด คือ มีลักษณะของรูปปรากฏให้รู้ชัดว่าเป็นกายไม่ใช่ตัวตน เคยยึดถือกายที่กำลังนั่งว่าเป็นเรา เป็นตัวตน เพราะเหตุว่า ไม่เคยรู้ลักษณะของรูปใดรูปหนึ่งที่ปรากฏในขณะนั้นเลย จึงได้ยึดถือรูปที่ประชุมรวมกันที่ทรงอยู่ในลักษณะยืนบ้าง นั่งบ้าง นอนบ้าง เดินบ้าง ว่าเป็นเรา ถ้ารูปแตกย่อยกระจัดกระจายเป็นแต่ละรูปแต่ละส่วน จะไม่ยึดถือเลยว่าเป็นเรา แต่เพราะเหตุว่า มาประชุมรวมกันต่างหาก จึงได้ยึดถือว่าเป็นตัวตน
เพราะฉะนั้น การรู้ชัด หมายความว่า ต้องมีลักษณะของรูปปรากฏ จึงจะรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน เพราะว่ามีลักษณะอย่างนั้นๆ เมื่อรูปนั้นปรากฏที่กายที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตน สติระลึกรู้ลักษณะนั้น ปัญญาก็รู้ชัดในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนนั้น
สำหรับพยัญชนะที่ว่า สติกับสัมปชัญญะ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค สติสูตร มีข้อความว่า
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อัมพปาลิวัน ใกล้เมืองเวสาลี ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย แล้วได้ตรัสพระพุทธภาษิตนี้ว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะอยู่ นี้เป็นอนุสาสนีของเรา สำหรับเธอทั้งหลาย
บางท่านอาจจะคิดว่า ท่านกำลังเจริญสติปัฏฐาน มีสติสัมปชัญญะ แต่ถ้าท่านจะตรวจสอบกับพระสูตรนี้ ท่านจะทราบว่า ท่านมีสติสัมปชัญญะตามที่ได้ทรงแสดงไว้หรือไม่
ข้อความต่อไปมีว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้มีสติอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้
พิจารณาเวทนาในเวทนา ... พิจารณาจิตในจิต ... พิจารณาธรรมในธรรม มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีสติ อย่างนี้แล
ผู้ใดชื่อว่าเจริญสติ มีสติ ผู้นั้นพิจารณาเห็นกายในกาย เห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต เห็นธรรมในธรรม ชื่อว่า เป็นผู้มีสติ
ข้อความต่อไปมีว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีสัมปชัญญะอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมกระทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป การถอยกลับ กระทำความรู้ตัวในการเหลียว ในการแล และกระทำความรู้สึกตัวในการคู้เข้า และเหยียดออก กระทำการรู้สึกตัวในการกิน การดื่ม การลิ้ม กระทำการรู้สึกตัวในการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ กระทำการรู้สึกตัวในการเดิน ยืน นั่ง หลับ ตื่น พูด นิ่ง
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีสัมปชัญญะอย่างนี้แล ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะอยู่ นี้เป็นอนุสาสนีของเรา สำหรับเธอทั้งหลาย
ไม่ผิดปกติเลย ไม่ว่าจะกำลังก้าวไป ถอยกลับ เหลียว แล คู้เข้า เหยียดออก กิน ดื่ม ลิ้ม ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ เดิน ยืน นั่ง หลับ ตื่น พูด นิ่ง
สำหรับอิริยาบถบรรพ กับสัมปชัญญะบรรพนี้ต่อเนื่องกัน ขอกล่าวถึงสัมปชัญญะบรรพ มหาสติปัฏฐานสูตร ทีฆนิกาย มหาวารวรรค มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุย่อมทำความรู้สึกตัว ในการก้าว ในการถอย ในการแล ในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ในการทรงผ้าสังฆาฏิ บาตรและจีวร ในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม ในการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ
ย่อมทำความรู้สึกตัว ในการเดิน การยืน การนั่ง การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง ดังพรรณนามา ฉะนี้
ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกาย ในกายภายในบ้าง
พิจารณาเห็นกาย ในกายภายนอกบ้าง
พิจารณาเห็นกาย ในกายทั้งภายในภายนอกบ้าง
พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง
พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง
พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่
อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่
จบสัมปชัญญะบรรพ
ใน อิริยาบถบรรพ ก็ดี ใน สัมปชัญญะบรรพ ก็ดี กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นกาย เป็นเวทนา เป็นจิต เป็นธรรมใดๆ ทั้งสิ้น ก็เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น แล้วปัญญารู้ชัดตามความเป็นจริง ไม่ควรจะหลงลืมสติ ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏที่กายในขณะที่ยืน เดิน นั่ง นอน เป็นอิริยาบถบรรพ ในขณะที่เคลื่อนไหว เหยียด คู้ พูด นิ่ง เป็นสัมปชัญญะบรรพ ไม่ควรหลงลืมสติในขณะที่ก้าว ในขณะที่ถอย ในการแล ในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ไม่ว่ากระทำกิจการงานใดๆ ในชีวิตประจำวัน ก็ต้องมีนั่ง นอน ยืน เดิน มีแล มีเหลียว มีคู้ มีเหยียด ก็ควรจะให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น
ผู้ถาม. เห็นกายในกายนั้นเห็นอย่างไร แล้วเห็นธรรม คือ เกิดขึ้นและเสื่อมไปในกายนั้นเห็นอย่างไร
ท่านอาจารย์ เวลาที่สติระลึกที่กาย จะมีลักษณะของรูปที่ปรากฏที่กาย ไม่ใช่ตัวตนจึงชื่อว่าเห็นกายในกาย ไม่ใช่เห็นตัวตนในกาย รูปที่ปรากฏนั้นเป็นกาย เห็นที่ไหน ก็เห็นที่รูปนั้น คือ ที่กายนั้นลักษณะนั้นว่า ลักษณะนั้นไม่ใช่ตัวตน ที่ว่าเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป ถ้ามีสติระลึกที่รูปนั้น รูปนั้นเกิดแล้วก็เสื่อมไป ทุกรูป ไม่มีรูปไหนที่ตั้งอยู่ได้เลย
วิภังคปกรณ์ ฌานวิภังค์ แสดงความหมายของสัมปชัญญะ คือ การรู้ชัด มีข้อความว่า
ก็ภิกษุเป็นผู้รู้ชัดอยู่โดยปกติ ในการก้าวไปข้างหน้า แล้วถอยกลับมาข้างหลัง
เป็นผู้รู้ชัดอยู่โดยปกติในการแลดูข้างหน้า และเหลียวดูข้างซ้าย ข้างขวา
เป็นผู้รู้ชัดอยู่โดยปกติในการคู้อวัยวะเข้า และเหยียดอวัยวะออก
เป็นผู้รู้ชัดอยู่โดยปกติในการทรงผ้าสังฆาฏิ บาตรและจีวร
เป็นผู้รู้ชัดอยู่โดยปกติในการกิน ดื่ม เคี้ยว และลิ้มรส
เป็นผู้รู้ชัดอยู่โดยปกติในการถ่ายอุจจาระ และปัสสาวะ
เป็นผู้รู้ชัดอยู่โดยปกติในการเดิน ยืน นั่ง หลับ ตื่น พูด และนิ่ง เป็นอย่างไร
ภิกษุในศาสนานี้ มีสติสัมปชัญญะก้าวไปข้างหน้า
มีสติสัมปชัญญะถอยกลับมาข้างหลัง มีสติสัมปชัญญะแลดูข้างหน้า
มีสติสัมปชัญญะเหลียวดูข้างซ้าย ข้างขวา
มีสติสัมปชัญญะคู้อวัยวะเข้า มีสติสัมปชัญญะเหยียดอวัยวะออก
มีสติสัมปชัญญะในการทรงผ้าสังฆาฏิ บาตรและจีวร
มีสติสัมปชัญญะในการกิน ดื่มเคี้ยว และลิ้มรส
มีสติสัมปชัญญะในการถ่ายอุจจาระ และปัสสาวะ
มีสติสัมปชัญญะในการเดิน ยืน นั่ง หลับ ตื่น พูด และนิ่ง
ในบทเหล่านั้น บทว่ามีสติ มีอธิบายว่าสติเป็นไฉน
เวลาที่เจริญสติ ถ้าไม่รู้ว่าสติมีลักษณะอย่างไร อาจจะจดจ้องต้องการ แต่ไม่ใช่เป็นสภาพของสติ เพราะฉะนั้น ข้อความใน วิภังคปกรณ์ ฌานวิภังค์ มีว่า
ในบทเหล่านั้น บทว่ามี สติ มีอธิบายว่า สติ เป็นไฉน
เพื่อจะให้แยกถึงความต่างกันของ สติ และ สมาธิ
สติ คือ ความตามระลึก ความหวนระลึก
สติ คือ กิริยาที่ระลึก ความทรงจำ ความไม่เลื่อนลอย ความไม่ลืม
สติ สตินทรีย์ สติพละ สัมมาสติ อันใด นี้เรียกว่า สติ
บทว่า มีสัมปชัญญะ มีอธิบายว่า สัมปชัญญะ เป็นไฉน
ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ความวิจัย ความเลือกสรร ความวิจัยธรรม ความกำหนดหมาย ความเข้าไปกำหนดเฉพาะ ภาวะที่รู้ ภาวะที่ฉลาด ภาวะที่รู้ละเอียด ความรู้แจ่มแจ้ง ความค้นคิด ความใคร่ครวญ ปัญญาเหมือนแผ่นดิน ปัญญาเครื่องทำลายกิเลส ปัญญาเป็นเครื่องนำทาง ความเห็นแจ้ง ความรู้ชัด
ปัญญาเหมือนปฏัก ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ปัญญาเหมือนศาสตรา ปัญญาเหมือนปราสาท ความสว่าง คือ ปัญญา แสงสว่าง คือ ปัญญา ปัญญาเหมือนประทีป ปัญญาเหมือนดวงแก้ว ความไม่หลง ความวิจัยธรรม สัมมาทิฏฐิอันใด นี้เรียกว่า สัมปชัญญะ
ภิกษุเป็นผู้เข้าไปถึงแล้ว และประกอบด้วยสติสัมปชัญญะนี้ ด้วยประการฉะนี้ ด้วยการปฏิบัติอย่างนี้ ภิกษุชื่อว่ามีสติสัมปชัญญะก้าวไปข้างหน้า ถอยกลับมาข้างหลัง แลดูข้างหน้า เหลียวดูข้างซ้ายข้างขวา
ข้อความต่อไปก็เหมือนกับที่กล่าวแล้ว
ข้อความที่ว่า สติเป็นไฉน พยัญชนะมีว่า สติ ความตามระลึก
ถ้าใช้คำว่า ความตามระลึก หมายความถึงตามระลึกสิ่งที่เกิดแล้วปรากฏ ไม่ใช่หวังสิ่งข้างหน้าที่ยังไม่เกิดแล้วจะทำขึ้น ถ้าเป็นสิ่งข้างหน้าที่ยังไม่เกิดแต่จะทำให้เกิดเพื่อจะให้รู้ อย่างนั้นจะชื่อว่าตามระลึกได้ไหม อย่างนั้นจะไม่ตรงกับบทพยัญชนะที่ว่าสติ คือ ความตามระลึก
ตามระลึก ต้องหมายความว่าสิ่งนั้นต้องเกิดแล้วปรากฏ สติตามระลึกถึงสิ่งที่เกิดแล้วปรากฏในขณะนั้นจึงชื่อว่า ตามระลึก ถ้าจะไปทำให้เกิดเพื่อจะรู้ นั่นไม่ใช่การตามระลึก แต่การตามระลึก คือ ขณะนี้มีเห็นไหม มี เกิดแล้ว มีได้ยินไหม มี กำลังได้ยินปรากฏ ตามระลึก สติ คือ ความตามระลึก ความหวนระลึก
นี่ก็โดยอรรถเดียวกัน เวลานี้กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังคิดนึก หวนระลึกถึงสภาพเห็นที่กำลังเห็นในขณะนี้ หรือกำลังคิดนึก หวนระลึกถึงลักษณะที่กำลังคิดกำลังนึกในขณะนี้
สติ กิริยาที่ระลึก ไม่ใช่ตัวตน เพราะว่าสติ คือ กิริยาที่ระลึก ความทรงจำความไม่เลื่อนลอย ความไม่ลืม นี่เป็นลักษณะของสติ หรือว่า สติ ก็ดี สตินทรีย์ สติพละ สัมมาสติ อันใดนี้เรียกว่า สติ
สำหรับปัญญานั้น คือ กิริยาที่รู้ชัด ความวิจัย ถ้าไม่วิจัย คือ ไม่พิจารณาธรรม จะรู้ได้ไหมว่าขณะนั้นเป็นสภาพของนาม หรือเป็นสภาพของรูป ซึ่งปัญญาจะต้องวิจัย คือ พิจารณารู้ความต่างกันของนามและรูป เพราะฉะนั้น สัมปชัญญะ มีความหมาย ๒ อย่าง
สัมปชัญญะบรรพ คือ การรู้สึกตัวในขณะที่เคลื่อนไหว เหยียดคู้ แล เหลียว กิน ดื่ม เคี้ยว
สัมปชัญญะที่เป็นปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ความวิจัย ความเลือกสรร ความวิจัยธรรม ความกำหนดหมายลักษณะของนามและรูป ภาวะที่ฉลาด ภาวะที่รู้ละเอียด คือ ทางตาก็มีนามกับรูป ปัญญารู้ เป็นภาวะที่รู้ละเอียด คือ รู้ความต่างกันของนามและรูปทางตา รู้ความต่างกันของนามและรูปทางหู รู้ความต่างกันของนามและรูปทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ความรู้แจ่มแจ้ง นั่นเป็นลักษณะของปัญญา
ความค้นคิด จนกว่าจะรู้ชัด เวลานี้ได้ยิน สติระลึกได้ ตามระลึกในขณะที่กำลังได้ยิน ถ้าไม่ค้นคิดจะรู้ชัดไหมว่า ลักษณะนี้นาม หรือว่าลักษณะนั้นรูป ไม่มีทางที่จะรู้ชัดได้เลย แต่ที่จะรู้ชัดได้นั้นเป็นเรื่องของปัญญาที่จะต้องเป็นลักษณะที่ค้นคิด เป็นความใคร่ครวญ ปัญญาเหมือนแผ่นดิน หนักแน่นไม่เปลี่ยน ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลน เพราะเหตุว่ารู้ชัด ปัญญาเครื่องทำลายกิเลส ปัญญาเป็นเครื่องนำทาง เป็นความเห็นแจ้ง
เมื่อรู้ลักษณะของนามได้ยิน รู้ลักษณะของเสียง เห็นแจ้งแล้วก็ไม่สงสัยว่า นี่เป็นนาม หรือว่านั่นเป็นรูป เพราะว่ามีความรู้แจ้งเป็นความรู้ชัด
ปัญญาเหมือนปฏัก ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ปัญญาเหมือนศาสตรา ปัญญาเหมือนปราสาท ความสว่าง คือ ปัญญา แสงสว่าง คือ ปัญญา ปัญญาเหมือนประทีป ปัญญาเหมือนดวงแก้ว ความไม่หลง ความวิจัยธรรม สัมมาทิฏฐิอันใด นี้เรียกว่า สัมปชัญญะ
ขอตอบปัญหาจากท่านผู้ฟัง จากบ้านเลขที่ ๘๑/๑ ถนนวิสุทธิ์กษัตริย์
ถามว่า ขณะที่มีสติระลึกรู้ทันลักษณะของสิ่งที่ปรากฏแต่ละทาง เช่น ระลึกรู้ลักษณะของเสียง ถ้าเสียงสิ้นลงไป นามที่ได้ยินก็ดับพร้อมกัน เช่นนี้ จะใช่เห็นรูปนามดับหรือไม่
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 01
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 02
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 03
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 04
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 05
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 06
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 07
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 08
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 09
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 10
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 011
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 012
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 013
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 014
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 015
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 016
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 017
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 018
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 019
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 020
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 021
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 022
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 023
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 024
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 025
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 026
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 027
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 028
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 029
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 030
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 031
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 032
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 033
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 034
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 035
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 036
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 037
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 038
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 039
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 040